เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
    
ตอบ: 33477
ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม
|
ความเป็นมา
วรรณคดีเรื่องอิเหนาเป็นที่รู้จักกันดีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย มีคำเล่าสืบทอดกันมาว่าเจ้าฟ้ากุณฑลกับเจ้าฟ้ามงกุฎ พระราชธิดาของพระเจ้าบรมโกศกับเจ้าฟ้าสังวาลย์นิพนธ์เป็นบทละคร จากคำบอกเล่าของนางข้าหลวงมลายูที่มาจากปัตตานีเล่าถวาย เจ้าฟ้ามงกุฎนิพนธ์เรื่องอิเหนา ส่วนเจ้าฟ้ากุณฑลนิพนธ์เรื่องดาหลัง หรืออิเหนาใหญ่ อิเหนาใหญ่หรือดาหลังไม่เป็นที่นิยมนัก แต่ยังเหลือรอดมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ส่วนอิเหนาของเจ้าฟ้ามงกุฏเป็นที่นิยมกันแพร่หลายในตอนปลายอยุธยา แต่ต้นฉบับขาดหายไปตอนเสียกรุง แต่ก็ยังมีผู้จดจำเรื่องราวได้ จึงมีการแต่งขึ้นมาใหม่เฉพาะตอน ในสมัยธนบุรี ตือ อิเหนาคำฉันท์ โดยหลวงสรวิชิต(ต่อมาคือเจ้าพระยาพระคลัง(หน) อิเหนาที่แต่งเป็นฉันท์มีขึ้นอีกครั้งในรัชกาลที่ ๕ เป็นพระบวรราชนิพนธ์ในกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ
ส่วนอิเหนาบทละคร นอกจากในสมัยปลายอยุธยาแล้ว เมื่อสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงพระราชนิพนธ์ไว้เป็นตอนๆ รวม ๗ เล่มสมุดไทย เข้าใจว่าเป็นสำนวนเดิมจากสมัยอยุธยา
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
    
ตอบ: 33477
ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม
|
ความคิดเห็นที่ 1 เมื่อ 31 ก.ค. 12, 17:18
|
|
ส่วนอิเหนาฉบับใจความสมบูรณ์ ไพเราะยอดเยี่ยมด้านภาษาและการประพันธ์บทละคร คืออิเหนาพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2
วิกิพีเดีย รวบรวมอิเหนาฉบับต่างๆเอาไว้ตามนี้
บทละครเรื่องอิเหนาครั้งกรุงเก่า. สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงได้มาจากเมืองนครศรีธรรมราช มีอยู่ตอนเดียว เข้าใจว่าเป็นสำนวนครั้งกรุงเก่า อิเหนาคำฉันท์. งานนิพนธ์ของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) แต่งในสมัยธนบุรี จับตอนอิเหนาลักบุษบาไปซ่อนไว้ในถ้ำ บทละครเรื่องอิเหนา. พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก บทละครเรื่องดาหลัง. พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก บทละครเรื่องอิเหนา. พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย บทมโหรีเรื่องอิเหนา. ของเจ้าพระยาวงศาสุรศักดิ์ (แสง) ในรัชกาลที่ 2 นิราศอิเหนา. ของสุนทรภู่ ตอนลมหอบ บทสักวาเรื่องอิเหนา. แต่งในสมัยรัชกาลที่ 3 อิเหนา. พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตอนอุณากรรณ อิเหนาคำฉันท์ พระนิพนธ์กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ ในรัชกาลที่ 4 ตอนเข้าห้องจินตะหรา บทเจรจาละครเรื่องอิเหนา. พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ รวม 68 บท บทละครพูดเรื่องอิเหนา. พระนิพนธ์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ตอนศึกกระหมังกุหนิง บทละครดึกดำบรรพ์เรื่องอิเหนา. พระนิพนธ์ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ตอนใช้บน บทสักวาเรื่องอิเหนา เล่นถวายในรัชกาลที่ 5 ตอนเสี่ยงเทียน ตอนชนไก่ และตอนสึกชี หิกะยัต ปันหยี สมิรัง. พระนิพนธ์แปล ของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงแปลจากต้นฉบับภาษามลายู อิเหนาฉบับอารีนครา. แปลจากอิเหนาชวา ผู้แต่งชื่ออารีนครา ขุนนิกรการประกิจ เป็นผู้แปล ปันหยี สะมิหรัง คำกลอน. น.อ.หลวงสำรวจวิถีสมุทร ประพันธ์จากเรื่อง หิกะยัต ปันหยี สมิรัง เล่าเรื่องอิเหนา รศ. วิเชียร เกษประทุม
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
    
ตอบ: 33477
ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม
|
ความคิดเห็นที่ 2 เมื่อ 02 ส.ค. 12, 21:24
|
|
ส่วนอิเหนาฉบับสมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงแปลเมื่อครั้งทรงพำนักอยู่ที่เมืองบันดุง ประเทศอินโดนีเซีย เจ้าฟ้าพระองค์นี้แม้ว่าทรงสำเร็จวิชาการทหารจากเยอรมนี แต่โปรดศิลปะทั้งด้านดนตรีและวรรณคดี เมื่อทรงมีเวลาว่าง จึงสร้างสรรค์พระนิพนธ์เรื่องนี้ขึ้นมา จากต้นฉบับภาษามลายู เรื่อง"หิกะยัต ปันหยี สะมิหรัง" ซึ่งแปลมาจากต้นฉบับภาษาชวาอีกทีหนึ่ง ต้นฉบับแรก เป็นหนังสือเก็บไว้ในห้องสมุดของสมาคมศิลปวิทยาเมืองบะตาเวีย( ปัตตาเวีย) เรื่องนี้ มีเค้าลงรอยกับเรื่องอิเหนาก็ตรงชื่อเมืองที่คล้ายกัน ชื่อคนและวงศ์วาร ดูออกว่ามาจากที่เดียวกัน แต่ว่าเนื้อเรื่องแตกต่างกันไป เดิมเราเข้าใจกันว่าอิเหนาเป็นเรื่องพงศาวดารของชวา แต่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ฯทรงพบว่า เรื่องปันหยี สะมิหรังนี้เป็นนิทาน ไม่ใช่พงศาวดาร
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
    
ตอบ: 33477
ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม
|
ความคิดเห็นที่ 3 เมื่อ 02 ส.ค. 12, 22:00
|
|
สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ฯ ทรงแถลงถึงวิธีการแปลว่า " ในการแปลหนังสือนี้ ข้าพเจ้ามิได้ใช้วิธีแปลด้น ได้พยายามที่สุดที่จะแปลให้ตรงคำ ตรงความตลอดไป เพื่อผู้อ่านจะได้เห็นสำนวนหนังสือของกวีชวา ซึ่งอ่านโดยพิจารณาจะเห็นได้ว่าสำนวนที่เขาใช้นั้นก็มีท่วงทีนักเลงในเชิงกวีอยู่ไม่น้อย" อย่างไรก็ตาม ศัพท์ที่ต้นฉบับเดิมออกเสียงเพี้ยนไปจากของไทยเล็กน้อย ถ้าคำไหนเป็นคำที่ไทยใช้กันแพร่หลายในพระราชนิพนธ์ "อิเหนา" ก็ทรงเลือกออกเสียงแบบไทย
ตอนต้นของเรื่อง เล่าถึงที่มาว่าเกิดขึ้นในสมัยที่โลกมนุษย์ยังมีประชากรไม่มากนัก จึงมีชาวสวรรค์หรือเทวดาพร้อมใจกันจุติลงมาในโลกมนุษย์ เพื่อจะให้เกิดเป็นละครและตำนานสืบต่อมา เทวดาทั้ง 4 องค์ก็จุติมาเกิดเป็น ระตู คำนี้ในเรื่องนี้หมายถึงกษัตริย์วงศ์อสัญแดหวาหรือวงศ์เทวดา แต่ในอิเหนา ระตูหมายถึงเจ้าเมืองชั้นต่ำๆคือวงศ์ธรรมดาที่ไม่ใช่วงศ์เทวดา สี่องค์ที่ว่าคือระตูกุรีปั่น (อิเหนาเรียกว่ากุเรปัน) ระตูดาหา ระตูกากะหลัง (อิเหนาเรียกว่ากาหลัง) ส่วนองค์ที่สี่เป็นหญิง มีพระนามว่าพระนางบุตรีบีกู คันฑะส้าหรี
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
    
ตอบ: 33477
ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม
|
ความคิดเห็นที่ 4 เมื่อ 04 ส.ค. 12, 18:05
|
|
เรื่องราวของระตู (ในอิเหนาเรียกว่าระเด่น) ทั้งสี่นี้ ก็กลายมาเป็นนิทานให้พวกดาลัง( คนเชิดหนัง)นำไปเล่นกัน ตามจุดมุ่งหมายในการจุติของเทวดาทั้ง ๔ องค์ นิทานเรื่องนี้ต่างจากอิเหนาตรงที่ วงศ์อสัญแดหวาของอิเหนามี 4 เมืองด้วยกัน แต่ในเรื่องนี้มีแค่ 3 เมืองเพราะเทพองค์ที่ 4 เป็นผู้หญิง ไม่ครองเมืองแต่ไปบวชเป็น "บิกู" หรือนักบวชหญิงอยู่บนภูเขา ความเข้มข้นของเนื้อเรื่องอยู่ที่สองเมืองแรกคือกรุงกุรีปั่น และกรุงดาหา คล้ายกับชื่อเมืองในอิเหนา คือกุเรปันและดาหา แต่ตัวเอกดูจะเป็นท้าวดาหามากกว่าท้าวกุรีปั่น แม้ว่าท้าวกุรีปั่นเป็นพ่อของพระเอก ผู้มีนามว่าระเด่นอินู กรตะปาตี เป็นเจ้าชายสิริโฉมงดงามตามแบบพระเอกในนิทานทั้งหลาย สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ ทรงทำเชิงอรรถไว้ตลอดในเรื่องนี้ แสดงว่าทรงค้นคว้าเรื่องภาษามาอย่างละเอียดลออ ท้ั้งฉบับมลายูและอิเหนาฉบับไทย ชื่อของพระเอกในเรื่อง ทรงระบุว่า อินู ก็คืออิเหนา ส่วนกรตะปาตี ตรงกับกะรัตปาตี ซึ่งเป็นสร้อยของชื่ออิเหนาฉบับไทย กรตะแปลว่าสงบก็ได้ แปลว่าเมืองก็ได้
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
    
ตอบ: 33477
ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม
|
ความคิดเห็นที่ 5 เมื่อ 05 ส.ค. 12, 20:09
|
|
ระเด่นอินูพระเอกเรื่องนี้ เหมือนอิเหนาตรงที่รูปงามเป็นที่พึงพอใจของทั้งชายและหญิง แต่นิสัยไม่เหมือนกัน เพราะระเด่นอินูนอกจากไม่เจ้าชู้แล้วยังเป็นคนใจบุญ ชอบทำทาน พูดจาไพเราะอ่อนหวานและประพฤติตัวดีงาม เป็นที่รักของประชาชน ส่วนที่เหมือนอิเหนากลับไม่ใช่นิสัย แต่เป็นตัวประกอบคือมีพี่เลี้ยง 4 คนเหมือนอิเหนา ชื่อยะรุเดะ ปูนตา การะตาหลา และประสันตา โดยเฉพาะประสันตา เป็นคนตลกขบขันเจ้าคารมเหมือนกัน
ตัวละครสำคัญอีกคนหนึ่งที่ไม่มีในฉบับอิเหนาของไทยคือพระโอรสเมืองที่สาม คือเมืองของสังระตู กากะหลัง เจ้าชายทรงพระนามว่าระเด่นสิงหะมนตรี มีนิสัยตรงกันข้ามกับพระเอก คือเป็นเด็กสปอยล์ เอาแต่ใจ ชอบให้คนสรรเสริญเยินยอ ส่วนระตูพระบิดาก็เอาแต่ตามใจพระโอรส จะข่มเหงรังแกใครก็ไม่ว่าไม่เตือน เจ้าชายจึงเติบโตมาเป็นคนก้าวร้าวหยาบคาย
ส่วนเมืองที่สองคือเมืองดาหา ระตูดาหาไม่มีพระโอรส มีแต่พระธิดา 2 องค์ องค์โตประสูติจากประไหมสุหรี พระบุตรีทรงพระนามว่า ก้าหลุ จันตะหรา กิระหนา เป็นหญิงงามหาผู้เสมอเหมือนมิได้ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ฯทรงถอดจากภาษามลายู บรรยายว่า
" นาสิกดุจกลีบกระเทียม นัยเนตรดุจดวงดาราทิศบูรพา ขนเนตรงอนพริ้ง นิ้วหัตถ์เรียวประดุจขนเม่น เพลาน่องดังท้อง(อุ้ง)เมล็ดข้าวเปลือก สันบาทดังฟองไข่นก ปรางดังมะม่วงป่าห้อยอยู่ ขนงโค้งดังงากุญชร ริมโอษฐ์ดังโค้งมะนาวตัด เป็นอันยากที่จะเล่าแถลงให้พิสดารกว่านี้"
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
    
ตอบ: 33477
ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม
|
ความคิดเห็นที่ 6 เมื่อ 06 ส.ค. 12, 09:10
|
|
โวหารกวีในแต่ละประเทศ มีมาตรฐานความงามของหญิงสาวกันคนละแบบ ทำให้เกิดการเปรียบเทียบแปลกๆ แตกต่างไปจากนางงามของไทย อย่างข้างบนนี้ กวีชวามองจมูกนางว่างามเหมือนกลีบกระเทียม คงนึกออกเวลาแกะกระเทียมว่ากลีบเป็นแบบไหน เห็นทีจมูกนางเอกของอิเหนาจะเป็นสันโค้ง อย่างที่คนไทยเรียกว่าจมูกขอ ขอในที่นี้คือตะขอ หรือตาขอ ไม่ใช่"ขอ" ที่เป็นคำกริยา ของไทยเราก็นิยมจมูกตะขอเหมือนกัน เห็นได้จากกลอนกลบทที่ว่า "เจ้างามนาสายลดังกลขอ" ถ้านึกไม่ออกว่าจมูกตะของามอย่างไรขอให้นึกถึงพักตร์ของพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ทรงชมนางของพระองค์ไว้ว่า นาสาอ่าแลเลิศ งามประเสริฐเกิดด้วยบุญ เหมือนของามลมุน ลม่อมเจ้าเพราเพริศจริง
ในนิทานเวตาลของน.ม.ส. ซึ่งเป็นฉบับแปลมาจากภาษาอังกฤษ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ทรงชมนางงามไว้อีกแบบหนึ่ง แตกต่างจากกวีชวาว่า
"นางนั้นมีหน้าเหมือนพระจันทร์วันเพ็ญ มีผมดังเมฆสีนิลโลหิตซึ่งอุ้มฝนห้อยอยู่บนฟ้า มีผิวซึ่งเย้ยดอกมะลิให้ได้อาย มีตาเหมือนเนื้อทรายซึ่งระแวงภัย ริมฝีปากเหมือนดอกทับทิม คอเหมือนคอนกเขา มือเหมือนสีแห่งท้องสังข์ เอวเหมือนเอวเสือดาว บาทเหมือนดอกบัว พร้อมด้วยลักษณะนางงามอย่างแขก ซึ่งไทยเราแต่งกาพย์กลอนก็พลอยเอาอย่างมาเห็นงามไปด้วย "
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
    
ตอบ: 33477
ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม
|
ความคิดเห็นที่ 7 เมื่อ 06 ส.ค. 12, 11:35
|
|
ส่วนพระธิดาองค์เล็กของระตูดาหา ชื่อก้าหลุ อาหยัง เกิดจากมเหสีอันดับสาม เรียกตามตำแหน่งว่า ลิกู ตรงกับในอิเหนาของไทย ลิกูในอิเหนาไทยไม่มีบทบาทและไม่มีปากไม่มีเสียงอะไรในเรื่อง แต่ลิกูในอิเหนาฉบับนี้มีพิษสงร้ายกาจคล้ายๆเมียน้อยในนิทานพื้นบ้านของไทยหลายเรื่อง เดิมนางเป็นหญิงชาวบ้านร้านตลาด ไม่มีเชื้อสายเทือกเถาเหล่ากอ แต่ว่าคงจะเป็นหญิงงามจึงได้ขึ้นมาเป็นนางในวัง และยังสาวอยู่มาก พระสวามีจึงโปรดปรานและเกรงใจ จะทำฤทธิ์ทำเดชอย่างไรก็ไม่ห้ามปราม ทั้งแม่ทั้งลูกก็เลยร้ายพอกัน ลูกสาวชอบออกฤทธิ์ตีโพยตีพายถ้าไม่ได้ดังใจ ถึงขั้นลงนอนดิ้น ในพระนิพนธ์ใช้คำว่า " เธอก็มักจะกันแสงกลิ้งไปกลิ้งมาที่พื้น" มีนิสัยช่างฟ้อง ชอบแย่งของคนอื่น โดยเฉพาะพี่สาว น้องสาวมีนิสัยเลวเท่าใด พี่สาวก็ดีงามน่ารักมากเท่านั้น สงบเสงี่ยม เรียบร้อย ยิ่งโตเป็นสาวก็ยิ่งงาม ทำให้น้องสาวริษยา ทะเยอทะยานจะแข่งขัน ชิงดีชิงเด่นอยู่เสมอ ส่วนระตูดาหา เป็นพ่อที่ใช้ไม่ได้ในหลายเรื่อง เรื่องหนึ่งก็คือลำเอียงรักลูกสาวคนเล็กจนออกนอกหน้า ลูกคนเล็กอยากได้อะไรเป็นต้องได้ พ่อตามใจตะพึดตะพือไม่รู้ผิดรู้ถูก รู้แต่ว่าลูกร้องขึ้นมาจะเอาโน่นเอานี่ก็ยอมทุกอย่าง แม้ว่าจะเป็นการเบียดเบียนพี่สาว พ่อก็ไม่ถือสา
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
    
ตอบ: 33477
ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม
|
ความคิดเห็นที่ 8 เมื่อ 08 ส.ค. 12, 18:20
|
|
วันหนึ่งก็มีราชทูตจากกรุงกุรีปั่นนำพระราชสาส์นและเครื่องราชบรรณาการมาเจริญพระราชไมตรีกับระตูดาหา ขอเป็นทองแผ่นเดียวกัน ระหว่างระเด่นอินูราชบุตรกุรีปั่นและระเด่นจันตะหรา กิระหนา ระตูดาหาก็ชื่นชมโสมนัสยกลูกสาวให้ลูกชายของพี่ชายด้วยความเต็มใจ ส่วนก้าหลุ อาหยังก็เป็นธรรมดา เดือดดิ้นเป็นไฟท่วมตัวขึ้นมาว่าตัวเองไม่ดีตรงไหน ทำให้ลิกูผู้เป็นแม่พลอยเดือดดาลไปด้วย เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ เกินกว่าระตูดาหาจะหาทางตามใจลูกสาวคนเล็กได้อีก เพราะระเด่นอินูมิใช่ข้าวของที่พ่อจะสรรหามาให้ได้ ทั้งแม่ทั้งลูกเกิดริษยาระเด่นจันตะหราและประไหมสุหรีขึ้นมาจนระงับไม่อยู่อีกต่อไป ลิกูก็เลยวางแผนทำข้าวหมัก หรือที่ไทยเรียกว่าข้าวหมาก ขึ้นมา เจือยาพิษลงไปในนั้น แล้วนำไปถวายประไหมสุหรี โดยหวังว่าประไหมสุหรีและพระธิดาอาจจะเสวยด้วยกัน จะได้ตายพร้อมกันไปเสียทั้งคู่ให้หมดเสี้ยนหนาม
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
    
ตอบ: 33477
ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม
|
ความคิดเห็นที่ 9 เมื่อ 09 ส.ค. 12, 09:00
|
|
ก่อนวางยาพิษ ลิกูหาทางหนีทีไล่ให้ตัวเองพ้นผิดจากระตูดาหา ด้วยการเรียกน้องชายชื่อมนตรีมาพบแล้วสั่งให้ไปหาหมอเวทมนตร์ในการทำเสน่ห์ให้พบ นางจะได้ทำเสน่ห์ให้พระสวามีหลงใหลโงหัวไม่ขึ้น ทั้งๆเดิมก็เป็นที่โปรดปรานอยู่แล้ว ก็ยังต้องการให้มากกว่านี้อีก มนตรีก็ออกเดินทางดั้นด้นไปตามป่าเขาลำเนาไพรจนพบนักพรตบำเพ็ญตบะบนยอดเขา ก็เข้าไปเล่าเรื่องให้ฟัง นักพรตนั้นก็ยินดีจะทำให้ ด้วยการคายชานหมากให้มนตรีห่อผ้าเช็ดหน้าเก็บไว้ มนตรีก็ลากลับมาหาพี่สาว ส่งชานหมากพร้อมกับเล่าเรื่องให้ฟัง ลิกูก็เก็บชานหมากไว้ใต้หมอน พร้อมกับอธิษฐาน เป็นอันลุล่วงไปขั้นหนึ่ง
แผนชั่วของลิกูเป็นผลสำเร็จ ประไหมสุหรีเสวยข้าวหมากเข้าไปก็ประชวรหนัก ถึงกับสิ้นพระชนม์ แต่ระเด่นจันตะหรามิได้เสวยด้วยจึงรอดไปได้ ระตูดาหาพิโรธหนัก ให้สอบสวนทวนความถึงสาเหตุว่าเกิดอะไรขึ้น บรรดานางกำนัลก็ให้การตรงกันว่าลิกูนำข้าวหมากมาถวาย เมื่อประไหมสุหรีเสวยเข้าไปก็อาเจียนประชวรหนักจนสิ้นพระชนม์ ระตูดาหาก็พิโรธหนักว่าลิกูเป็นตัวการ ถือดาบเดินขึ้นตำหนักตั้งพระทัยจะไปประหารนางเสียให้สมกับความผิด
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
    
ตอบ: 33477
ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม
|
ความคิดเห็นที่ 10 เมื่อ 11 ส.ค. 12, 22:12
|
|
พระนางผู้ทรงตำแหน่งลิกูมิได้ครั่นคร้ามเพราะว่ามีชานหมากเสน่ห์เป็นเครื่องรางคุ้มกันภัยอยู่ชั้นหนึ่งแล้ว แต่เพื่อให้แน่ใจว่าปลอดภัย ๑๐๐% นางก็ขึ้นนอนบนพระแท่น เปลื้องผ้าออกเผยให้เห็นส่วนสำคัญ ตอนนี้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ฯ ทรงถอดจากภาษามลายูอย่างสละสลวยตามสำนวนต้นฉบับ มีวรรณศิลป์เสียจนบรรดาเด็กวิทย์ในเรือนไทยอาจจะไม่รู้ว่าหมายถึงอะไร ต้องดูบริบทเป็นหลัก
" พลางเผยออกอุระประเทศอันประดับด้วยคู่หนึ่งซึ่งวาปีกษิรากร ตลอดไปถึงมธุวารีชลาลัย"
เสน่ห์ก็ทำงานได้ผล ระตูดาหามือไม้อ่อน ดาบร่วงจากพระหัตถ์ โทสะเหือดหายไปกลายเป็นอารมณ์รักใคร่เอ็นดูทั้งแม่และลูกสาว ลืมประไหมสุหรีเสียสิ้น ถือว่าตายแล้วก็จบกันไป ก็เลยทรงค้างอยู่ในตำหนักของลิกู ปล่อยให้ระเด่นจันตะหราคร่ำครวญอยู่กับพระศพพระมารดาเพียงผู้เดียว เมื่อระตูเสด็จกลับพระราชมณเฑียร ก็โปรดให้เชิญพระศพปประไหมสุหรีไปฝัง ณ สุสานตามพระเกียรติยศ ดูท่าทีพระองค์ก็มิได้ทรงอาลัยเท่าใดนัก ยังคงหลงใหลลิกูเช่นเก่าหรือหนักขึ้นกว่าเก่า ทำให้พระมเหสีที่สองคือมหาเดหวีเกิดสงสารเวทนาระเด่นจันตะหรา ก็เลยรับมาเลี้ยงดูใกล้ชิดเหมือนเป็นพระธิดา ระเด่นจันตะหราก็รักและเคารพมหาเดหวี ยึดเอาแทนพระมารดาที่ล่วงลับ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
    
ตอบ: 33477
ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม
|
ความคิดเห็นที่ 11 เมื่อ 14 ส.ค. 12, 20:01
|
|
ตั้งแต่กำจัดประไหมสุหรีไปได้ ระตูสวามีก็อยู่ในมนต์เสน่ห์จนโงหัวไม่ขึ้น พระชายาลิกูก็กำเริบวางอำนาจยกตนเองเป็นใหญ่ที่สุดในวัง กดขี่ข่มเหงข้าราชบริพารไม่เว้นแต่ละวัน ลูกสาวลิกูก็ใช่ย่อย ไม่ได้ดังใจก็ลงนอนดิ้นพราดให้พ่อโอ๋พะเน้าพนอตามใจ แม่ก็ถือหางลูก กริ้วกราดสนมกำนัลใหญ่น้อยทุกอย่าง จนข่าวเลื่องลือระบือไปถึงระตูกุรีปั่น ได้ข่าวนี้ก็พิโรธน้องชายและสงสารหลานสาวคือระเด่นจันตะหรามาก ว่าคงอยู่อย่างไม่มีความสุข จึงหาทางช่วยด้วยการส่งของกำนัลไปปลอบใจ ระตูกุรีปั่นก็สั่งช่างให้ทำตุ๊กตาทองคำ ประดับด้วยเพชรพลอย งดงามเป็นที่พึงใจทุกคนที่เห็น อีกตัวหนึ่งเป็นตุ๊กตาเงิน เสร็จแล้วก็ให้ระเด่นอินูพระโอรสนำไปถวายระตูดาหา เพื่อมอบให้พระธิดาผู้เป็นคู่หมั้น แต่ก่อนจะถวายก็จัดการห่อตุ๊กตาทั้งสองเสียมิดชิดด้วยผ้าต่างชนิดกัน ตุ๊กตาเงินห่อด้วยผ้าไหมเทศจากอินเดีย ปักไหมทองผูกด้วยแพรชมพู ส่วนตุ๊กตาทองคำห่อด้วยผ้าเก่าคร่ำคร่าเนื้อเลว เสร็จแล้วก็สั่งเสนามนตรีจำนวนหนึ่งเชิญของประทานแห่เป็นขบวนไปกรุงดาหา
เมื่อระตูดาหาทราบว่ามีบรรณาการจากพระเชษฐามาให้ก็คอยรับขบวนเชิญของประทานด้วยความยินดี เมื่อเห็นห่อผ้าทั้งสอง ก็เป็นธรรมดาอยู่เองที่พ่อรักลูกสาวคนเล็กมากกว่า และรู้ฤทธิ์ดีว่าถ้าไม่ให้เลือกก่อนนางจะต้องออกฤทธิ์เดช ก็บอกให้ก้าหลุอาหยังเลือกก่อน ก้าหลุอาหยังเห็นของพระราชทานห่อผ้าไหมราคาแพงห่อหนึ่ง และห่อผ้าเก่าๆอีกห่อ เป็นธรรมดาก็คว้าห่อแรก ที่เหลือเดนเลือกแล้วส่งให้พี่สาว
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
    
ตอบ: 33477
ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม
|
ความคิดเห็นที่ 12 เมื่อ 16 ส.ค. 12, 11:45
|
|
ในตอนแรกเมื่อได้รับของกำนัลเป็นห่อผ้าเก่าคร่ำคร่าที่น้องสาวไม่เอาแล้ว ระเด่นจันตะหราก็โทมนัสน้อยใจในวาสนาตัวเอง จนคลี่ผ้าออกดู จึงเห็นเป็นตุ๊กตาทองคำตัวงาม ดวงตาประดับเพชร ความน้อยใจก็เปลี่ยนเป็นปีติยินดี อุ้มตุ๊กตาเล่นไม่วางมือ ใช้สไบของประไหมสุหรีสะพายตุ๊กตาเหมือนสะพายเด็ก ตามธรรมเนียมของชาวชวาที่ใช้สไบห่อให้เด็กนั่ง แล้วสะพายเฉียงไหล่ข้างหนึ่ง สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ฯทรงถอดบทขับร้องของระเด่นจันตะหราในภาษามลายูออกมาเป็นบทขับร้องไทย โดยทรงรักษาเนื้อความและฉันทลักษณ์แบบมลายูไว้ คือชุดหนึ่งมีสี่วรรค และสัมผัสตรงท้ายคำในแต่ละวรรค เว้นแต่บทต้น สัมผัสเป็นคู่สลับวรรค ๑ กับ ๓ และ ๒ กับ ๔ ขอยกมาให้อ่านกันค่ะ "ลูกแม่คือแสงนัยนา นานแล้วแม่นี้โศกจาบัลย์ เช้าค่ำเมามัวถวิลจินดา เฉกเมฆปกคลุมดวงบุหลัน นาสิกกลบิดานั้น พ่อดีลูกนี้รูปงามครัน เยี่ยงแม่ใจบุญสุนทร์ธรรม์ รู้ประพฤติหลักแหลมเลอสรร เยี่ยงชนกผู้เลิศเผ่าพันธุ์"
|
|
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 17 ส.ค. 12, 20:25 โดย เทาชมพู »
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
    
ตอบ: 33477
ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม
|
ความคิดเห็นที่ 13 เมื่อ 17 ส.ค. 12, 20:37
|
|
พี่สาวเพลิดเพลินกับเห่กล่อมตุ๊กตา จนก้าหลุอาหยังน้องสาวแอบดู ก็เห็นเข้า ตอนแรกเล่นตุ๊กตาเงินพออกพอใจดีอยู่ แต่พอรู้ว่าพี่สาวได้ตุ๊กตาทองคำก็เกิดอิจฉาตามนิสัย หมดความอยากของเล่นของตัว จึงเข้าไปขอแลกตุ๊กตาเอาดื้อๆ ก็เป็นธรรมดาอยู่เองที่ระเด่นจันตะหราจะไม่ยอม ก้าหลุอาหยังก็กลับมาที่ตำหนักของตัวเอง ร้องไห้ตีโพยตีพายกับแม่จะเอาตุ๊กตาให้ได้ พอดีระตูดาหาเสด็จมาถึง เห็นพระธิดาร้องห่มร้องไห้เป็นการใหญ่ก็ซักถามถึงสาเหตุ ถึงตรงนี้เห็นจะต้องตำหนิระตูดาหามากกว่าตำหนิลิกู เพราะแม่เองแม้ว่าจะเชียร์ลูกสาวแต่ก็ไม่ถึงกับลุแก่อำนาจ ส่วนพ่อพอรู้ว่าลูกสาวอยากได้ตุ๊กตาจากพี่สาวก็ไม่ยั้งคิดว่าควรหรือไม่ควร ระตูดาหาสั่งนางกำนัลให้ไปตำหนักพระธิดาองค์ใหญ่ทันที เพื่อให้ส่งตุุ๊กตาทองคำมามอบให้ ระเด่นจันตะหราเห็นนางกำนัลจากตำหนักลิกูมา ยังไม่ทันทูลก็รู้แล้วว่ามาเรื่องอะไร จึงชิงตรัสเสียก่อนว่า " ฉันไม่ให้ แม้ว่าพระบิดาจะประหารก็ตามพระทัย ตายเสียก็ดี จะได้ไปอยู่กับพระมารดาในสุสาน สิ้นท่านเสียแล้วเหลือตัวคนเดียวก็มิรู้จะไปปรับทุกข์กับใคร ถูกฆ่าตายยังดีกว่า" นางกำนัลก็กลับไปทูลตามนั้น ระตูดาหาก็พิโรธเป็นฟืนเป็นไฟ แถมถูกลูกยุจากลิกูซ้ำเข้าไปอีก ก็เลยลุแก่โทสะฉวยกรรไกรเสด็จไปที่ตำหนักของระเด่นจันตะหรา
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
    
ตอบ: 33477
ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม
|
ความคิดเห็นที่ 14 เมื่อ 18 ส.ค. 12, 10:43
|
|
เมื่อไปถึง ระตูดาหาก็ยื่นคำขาดกับพระธิดาองค์โตให้มอบตุ๊กตาทองคำให้พระธิดาองค์เล็ก โดยไม่ต้องหาเหตุผลใดๆมาประกอบทั้งสิ้น เพราะไม่มี มีแต่คำขู่ว่าถ้าไม่ให้ก็จะลงโทษกล้อนผมเสียเดี๋ยวนั้น ไม่ว่าระเด่นจันตะหราจะให้เหตุผลและกอดพระบาทร่ำไห้ อ้อนวอนเพียงใดก็ไม่ฟัง ในที่สุด ก็จับเกศาพระธิดา ใช้กรรไกรหั่นผมลงไปติดหนังหัว เส้นเกศาหล่นกระจายลงบนพื้น ระเด่นจันตะหราก็สิ้นสติสมประดีไปตรงนั้น แต่พ่อจะเวทนาลูกสาวสักน้อยก็หาไม่ ขณะนั้นก็เกิดอาเพท แผ่นดินไหวสะเทือนขึ้นมา ไก่ขันระงมเหมือนจะทักท้วงการกระทำของระตูดาหา หมู่สัตว์สี่เท้าสองเท้าต่างก็เงียบงันไม่ติงไหวเหมือนตกตะลึงกับความโหดร้ายของบิดากระทำต่อธิดากำพร้าแม่ เมื่อระตูดาหากลับออกไป หมู่นางสนมกำนัลก็เข้าประคองช่วยกันแก้ไขจนระเด่นจันตะหราฟื้นคืนสติขึ้นมา นางก็เฝ้าแต่คร่ำครวญโศกศัลย์ทั้งเสียใจทั้งเจ็บแค้นกับการกระทำนี้ จนล่วงเข้าค่ำมืด ก็ตัดสินใจว่าเป็นตายอย่างไรไม่ขออยู่เมืองนี้อีกต่อไปแล้ว แต่จะออกไป "มะงัมบาหรา" ตรงกับคำว่า มะงุมมะงาหราในพระราชนิพนธ์อิเหนา หมายถึงสัญจรไปอย่างไม่มีจุดหมาย พอตัดสินใจได้ ระเด่นจันตะหราก็ปรึกษาพี่เลี้ยง เป็นอันตกลงใจพร้อมกัน รวมทั้งข้าราชบริพารและสนมกำนัล ยกขบวนกันลอบออกจากตำหนักไปทางท้ายเมือง เดินทางหนีจากเมืองดาหาในคืนนั้น โดยที่ระตูดาหา ลิกูและก้าหลุอาหยังมิได้ล่วงรู้หรือเฉลียวใจเลยว่าพระธิดาหนีไปแล้ว
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
|