เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 3 [4] 5 6 ... 10
  พิมพ์  
อ่าน: 33420 สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 45  เมื่อ 30 ก.ค. 12, 15:48

ก่อนจะถึงอนาคตเราต้องเข้าใจอดีต   ผมอยากแสดงความเห็นในเรื่องนี้บ้าง  แต่บอกอีกครั้งหนึ่งว่าผมไม่ใช่นักวิชาการ หรือเป็นอาจงอาจารย์ตามที่อุปโลกย์กันในเว็บ หากจะเป็นอะไรกับเขาบ้างในเรื่องของประวัติศาสตร์แล้ว ผมก็คงเป็นแค่นักอ่านและนักเขียนเรื่องจริงแบบสนุกๆแบบเล่าสู่กันฟัง พอให้ได้สาระและบันเทิงควบคู่กันไปเท่านั้น 

อันว่าประชาธิปไตยไทยตั้งแต่จุดเริ่มต้นที่เขาอยากให้เรียกว่าอภิวัติ๒๔๗๕แทนคำว่าปฏิวัตินั้น ผมก็เห็นด้วยนะ ถ้าไม่หลงๆลืมๆก็จะพยายามใช้ต่อไป  เพราะอย่างไรเสียผมก็นึกถึงบุญคุณของคณะราษฎรในเรื่องของความกล้าหาญ และความคิดของพวกท่านที่จะไม่ล้างเจ้าดังที่ผู้ก่อการสายทหารคนสำคัญเสนอที่ปารีส แบบที่ท่านอาจารย์สุลักษณ์บอกในทีวีว่านายปรีดีเล่าให้ท่านด้วยตนเองและทำท่าเอานิ้วปาดคอประกอบด้วยนั่นแหละ
การเลือกให้สยามมีรัฐธรรมนูญโดยพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขนั้น ถูกต้องกับขนบวัฒนธรรมประเพณีและจริตของคนไทยมากกว่าการเป็นสาธารณรัฐ ซึ่งถ้าจะเอาอย่างนั้นจริงก็คงต้องฆ่ากันเลือดท่วมแผ่นดินเหมือนกับที่เกิดในเขมรและลาว และที่แน่ๆคือ พวกคณะราษฏรนั่นเองแหละก็ใช่จะรอดด้วย


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 46  เมื่อ 30 ก.ค. 12, 15:53

ในฐานะที่ผมเป็นวัยรุ่นในยุค๑๔ตุลา ยังจำถึงบรรยากาศทางการเมืองหลังจากที่รัฐบาลถนอมประภาสขึ้นมาครองอำนาจแทนจอมพลสฤษฎ์ได้ดี  แรกๆก็พอทนอยู่หรอก แต่พอนานเข้าๆ ข่าวเรื่องการโกงกินผ่านสมุนบริวารก็เริ่มถี่ขึ้นและหนักขึ้น ลูกท่านหลานเธอจะทำอะไรก็ใหญ่คับฟ้า ที่เลวร้ายที่สุดคือการพยายามจะสืบสันตติวงศ์ โดยจัดให้พันเอกณรงค์ ลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของคนหนึ่งแต่งงานกับลูกสาวของอีกคนหนึ่ง พันเอกณรงค์คนนี้ติดยศจ่อนายพลในขณะที่เพื่อนๆส่วนใหญ่ยังเป็นนายร้อยกันอยู่หรืออย่างสูงก็แค่พันตรี ความรู้ความสามารถถ้าไม่มีพ่อก็คงจะอยู่หางๆแถว แต่มีตำแหน่งทั้งทางทหารและทางการเมืองปูทางไปสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอย่างใสแจ๋ว พันเอกณรงค์มีนิสัยเสียหลายอย่างที่คนทั้งหลายรับไม่ได้ จึงทำลายความดีที่พ่อพอจะมีอยู่บ้างจนแทบจะไม่เหลือหรอ และบ่มวิญญาณปฏิวัติให้เกิดขึ้นในใจปัญญาชนทุกคนเมื่อคิดว่าหน้าอย่างนี้แหละหรือ จะเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 47  เมื่อ 30 ก.ค. 12, 16:05

คืนวันหนึ่งในปีท้ายๆของการเป็นนิสิต ได้ยินข่าววิทยุว่าได้เกิดการปฏิวัติขึ้นแล้ว แต่ตอนนั้นยังไม่ทราบนะว่าใครปฏิวัติ  พวกเราก็กระดี๊กระด๊ารอฟังประกาศกัน  ตอนนั้นคิดว่าจะเป็นใครก็ได้ที่กล้าไล่ถนอมประภาสไปเสียที ครองอำนาจมาสิบกว่าปีแล้ว  พอข่าวภาคค่ำวิทยุทุกสถานี ทีวีทั้งสองช่องก็ออกอากาศพร้อมกัน ข้อความตอนต้นก็เดิมๆน่าสังหรณ์ใจอยู่แล้ว พอลงท้ายว่าจอมพลถนอมเป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติเท่านั้นแหละ ทุกคนก็โห่ออกมาดังๆ

ครั้งนั้นจอมพลถนอมปฏิวัติรัฐบาลที่ตัวเองเป็นนายกรัฐมนตรี โดยอ้างว่าทนฤทธิ์เดชของพวกส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้ง ปากอ้างประชาชนแต่แบมือขอโน่นขอนี่แลกกับการชูแขนให้ในสภาไม่ไหว จึงปฏิวัติล้างสภาแล้วเอาพวกที่ตนคิดว่าจะควบคุมได้เข้าไปนั่งแทน มีหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งดองกันไปดองกันมาทำให้เห็นชัดๆว่า ไม่ต้องการให้มีการเลือกตั้งอีกไม่รู้ว่าจะนานสักกี่ชาติ  นี่แหละเป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่การปฏิวัติของนิสิตนักศึกษาในเดือนตุลาคม ๒๕๑๔

ที่ข้ามไปเล่าถึงตอนนี้ก็เพราะพยายามจะเข้าใจความรู้สึกของคณะราษฏรซึ่งอ้างว่ารอไม่ได้ที่จะให้รัฐธรรมนูญพระราชทานลงมาเองจากเบื้องบน ซึ่งนอกจากไม่ทราบว่าจะเป็นเมื่อไรแล้ว เงื่อนไขจะเป็นอย่างไรก็เดาทางไม่ถูกอีกด้วย


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 48  เมื่อ 30 ก.ค. 12, 16:19

เรามาดูหน่อย คำว่าประชาธิปไตยมีองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดอย่างไร

ตามความเข้าใจของผม หนึ่งคือ ทุกคนมีเสรีภาพเท่าเทียมกันที่จะแสดงความคิดเห็นของตนในที่ประชุมที่มีความเห็นแตกต่างกัน และเคารพมติของที่ประชุม ที่ต้องผสมผสานความคิดของคนส่วนใหญ่เป็นหลักโดยไม่ให้มีปัญหากับประเด็นที่คนส่วนน้อยกลัว
 
และสอง ทุกคนมีเสรีภาพเท่าเทียมกันที่จะเลือกใครคนใดคนหนึ่ง ให้เป็นผู้แทน หรือหัวหน้า หรือผู้นำ หรือประธาน สุดแล้วแต่ระดับไหน เพื่อทำหน้าที่ที่บัญญัติไว้

หากสองข้อนี้ใช่องค์ประกอบสำคัญ พระพุทธศาสนาก็ไม่ใช่ประชาธิปไตยโดยนัยยะดังกล่าว ด้วยความเคารพ ความจริงแล้วแนวทางที่ใช้ในพระพุทธศาสนาไม่สมควรจะถูกทำให้ด้อยลงด้วยการไปเรียกว่าประชาธิปไตยด้วยซ้ำ พระพุทธศาสนามีความลงตัวโดยสมบูรณ์แบบอยู่แล้วจึงผ่านพ้นวัฏจักรมาได้กว่า๒๕๕๕ปี  ไม่จำเป็นต้องไปอ้างอิงวิทยาศาสตร์หรือทฤษฎีการเมืองใดๆเพื่อเรียกร้องความเชื่อถือศรัทธาเลย


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 49  เมื่อ 30 ก.ค. 12, 16:23

ถ้ามองประชาธิปไตยในมุมมองที่คณะเจ้าและคณะราษฎร์ต่างก็มีความเห็นเดียวกันว่า พื้นฐานของพลเมืองสยามยังด้อยในเรื่องที่จะยืนขึ้นมาแสดงความคิดเห็นในการปกครองตนเอง หรือมีความรู้เข้าใจไม่พอที่ควรจะเลือกคนอย่างไรเข้าสภามาเป็นผู้แทนของตน  เรื่องนี้ คณะเจ้าได้ตัดสินใจที่จะเลื่อนเวลาที่จะมีสภาผู้แทนไปก่อน จนกว่าพลเมืองจะพร้อม ซึ่งเลื่อนลอยมากว่าแล้วเมื่อไหร่จะพร้อม ขณะที่คณะราษฎร์ตัดสินใจทำทันที แล้วเลือกคนเข้าสภาไปทำหน้าที่โดยไม่ต้องมีการเลือกตั้ง เพราะคณะราษฎร์ก็เห็นว่าพลเมืองไม่พร้อมเหมือนกัน ถึงกับมีบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญสยามฉบับแรกว่าห้ามจัดตั้งพรรคการเมืองไว้ก่อนทีเดียว

แต่ผลก็ครือกัน คณะราษฎร์โดนนินทาด้วยข้อหาเดียวกับที่เคยนินทาคณะเจ้าว่าเลือกเอาแต่คนของตนไปใช้งาน(ทั้งในสภาและหน้าที่ราชการ)โดยไม่ได้คัดเลือกความเหมาะสม และไม่เป็นประชาธิปไตย


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 50  เมื่อ 30 ก.ค. 12, 16:29

ถามว่า ถ้าเช่นนั้น หากคณะเจ้าได้ตัดสินใจตั้งสภาผู้แทนขึ้นมาก่อน โดยใช้วิธีการแต่งตั้งแทนเลือกตั้งดังเช่นที่คณะราษฏร์ทำแล้ว  จะหลีกเลี่ยงการปฏิวัติ เอ้ย.ขอโทษ อภิวัติได้ไหม

ผมก็เห็นว่า คงไม่ได้อยู่ดี เพราะติดที่บทพระราชอำนาจในรัฐธรรมนูญนี่แหละ

ผมเคยเขียนไว้แล้ว การเมืองเป็นเรื่องของอำนาจและผลประโยชน์  อันเป็นกิเลศตัวใหญ่ๆของมนุษย์ทั้งนั้น ผู้ที่ยังทิ้งกิเลศอย่างไม่ใยดีมิได้ก็ต้องต่อสู้แย่งชิงกันไป ผมจึงไม่อยากให้เอาพระพุทธศาสนาไปเปรียบเทียบกับทฤษฎีการเมืองไง เพราะที่สุดของพระพุทธศาสนาก็คือการไม่เอา แต่การเมืองคือการเอาให้ได้มากที่สุด เชื่อเถอะ แม้นักการเมืองบางคนมิได้มุ่งประโยชน์เพื่อตน แต่ก็ไม่พ้นเพื่อพวกพ้อง ไปจนถึง เพื่อชนชาติพันธุ์เดียวกับตนนั่นแล

จึงไม่มีวันหรอกที่คณะราษฎร์จะยอมให้พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจเหนือพวกตน และเป็นที่มาของพระราชหัตถเลขาที่ว่า

"ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใด โดยเฉพาะเพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร"


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 51  เมื่อ 30 ก.ค. 12, 17:47

ถ้าหากว่าคณะราษฎร์ยึดอำนาจไม่สำเร็จ   สยามอยู่มาจนถึงเวลาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ พระราชทานรัฐธรรมนูญด้วยพระองค์เอง   เราคงได้เรียนรู้ประชาธิปไตยในอีกแบบหนึ่งก็เป็นได้

ย้อนมาถึงเรื่องพุทธศาสนา  ดิฉันเข้าใจจากที่อ่านบทความของพระมหาประเสริฐในค.ห. 32 ว่าประชาธิปไตยในกลุ่มพระสงฆ์สมัยพุทธกาล  หมายถึงการดำเนินงานด้านพระวินัย   ไม่ใช่จุดมุ่งหมายของพุทธศาสนา      กล่าวคือการจะกำหนดพระวินัยขึ้นมาสักข้อก็ต้องฟังเสียงของที่ประชุมสงฆ์ว่าเห็นพ้องต้องกันหรือไม่    ไม่ใช่เป็นการกำหนดจากเบื้องบนคือพระพุทธองค์ลงมาให้เบื้องล่างคือพระภิกษุทั้งหลายปฏิบัติ
บันทึกการเข้า
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


ความคิดเห็นที่ 52  เมื่อ 30 ก.ค. 12, 17:53

แวะเข้ามาหลังจากไม่ได้มาซะหลายวัน ง่า ท่านอาจารย์นวรัตนไม่ยอมเป็นอาจารย์ซะแล้ว ยังไงผมก็ถือว่าเป็นศิษย์หละ ฮ่าฮ่า

อ่านบางข้อความที่ปราชญ์ตะวันตกว่าไว้เกี่ยวกับประชาธิปไตย หันมามองบ้านเรา  แบบนี้นี่แปลว่าไทยแลนด์เรากำลังเข้าสู่จุบจบของประชาธิปไตยแล้วใช่ไหมครับนี่
เพราะเราแจก แจก แจก กันเหลือเกิน เอาเงินในอนาคตมาแจกกันซะตั้งแต่วันนี้ แจกทั้งทางตรงทางอ้อมผ่านนโยบายต่างๆ  โดยมีนักการเมืองระดับต่างๆ กินหัวคิวไปด้วยเป็นชั้นๆ กันไป ไชโย


ง่า อ่านเรื่องพันเอกณรงค์   อดไม่ได้ต้องคิดถึงยุคนี้ ซึ่งก็มีการปูทางให้ลูกชายกันแบบไม่เกรงหน้าอินทร์หน้าพรหม โจ๋งครึ่มกันเหลือเกิน เป็นนายทหารกันได้ง่ายๆ ย้ายเหล่ากันได้ง่ายดาย
แล้วก็สงสัย ทำไมลูกคนดังๆ  ไม่ได้จบนายร้อย ไม่ได้จบมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงด้วยซ้ำ ได้เข้ารับราชการเป็นทหารตำรวจกันได้ง่ายๆ เหลือเกิน เค้าเปิดรับกันตอนไหนนี่
แถมคนเหล่านี้ไปอเมริกาบ้าง ไปโน่นนี่บ้างกันได้คราวละนานๆ ไม่รู้ว่าต้องลาราชการหรือเปล่า เห็นบางคนตามภรรยาดาราตามลูกไป ตปท ทีเป็นเดือนๆ
สงสัยจริงๆ ว่างานราชการนี่ เคยต้องเซ็นชื่อหรือนั่ง office บ้างไหม  เห็นมีลูกคนดัง ประเภทพ่อเป็นปลัดกระทรวงเก่า นายทหารใหญ่ หรือมาเฟียยักษ์ ส่งลูกเป็นนายทหารกันนับได้มากมาย
อำนาจนี่มันหอมหวล ดลบันดาลอะไรต่างๆ นาๆ ได้ง่ายจริงๆ เค้าถึงแย่งชิงกันนัก
บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 53  เมื่อ 30 ก.ค. 12, 18:16

อ้างถึง
ย้อนมาถึงเรื่องพุทธศาสนา  ดิฉันเข้าใจจากที่อ่านบทความของพระมหาประเสริฐในค.ห. 32 ว่าประชาธิปไตยในกลุ่มพระสงฆ์สมัยพุทธกาล  หมายถึงการดำเนินงานด้านพระวินัย   ไม่ใช่จุดมุ่งหมายของพุทธศาสนา      กล่าวคือการจะกำหนดพระวินัยขึ้นมาสักข้อก็ต้องฟังเสียงของที่ประชุมสงฆ์ว่าเห็นพ้องต้องกันหรือไม่    ไม่ใช่เป็นการกำหนดจากเบื้องบนคือพระพุทธองค์ลงมาให้เบื้องล่างคือพระภิกษุทั้งหลายปฏิบัติ

ไม่มีครับ พระพุทธองค์ทรงบัญญัติพระวินัยหลังจากที่มีผู้มาฟ้องว่าพระสงฆ์ประพฤติไม่ชอบเช่นนั้นเช่นนี้ เมื่อทรงเห็นด้วยก็ทรงบัญญัติห้ามทีละข้อสองข้อ จนเป็น๒๒๗ข้อ โดยไม่เคยให้คณะสงฆ์โหวตเอาหรือไม่เอาเลย

ครั้งหนึ่งเทวทัตเคยเสนอให้ทรงบัญญัติข้อห้ามสี่ข้อ ทรงไม่เห็นด้วย เทวทัตก็แยกตัวออกไปพร้อมสงฆ์จำนวนหนึ่ง ก็ทรงปล่อยไป ซึ่งก็ถูกแล้ว หากเห็นว่าสังคมนี้ไม่น่าอยู่ก็ออกไปได้ไม่มีใครว่า แต่ถ้าจะอยู่ก็ต้องทำตามข้อบัญญัติของพระองค์

พุทธศาสนาเลือกคนที่จะเข้ามาบวชเป็นพระภิกษุ มีข้อแม้หลายประการ ถ้าผ่านจึงจะยอมให้บวช แต่ถ้ามีสงฆ์ค้านแม้แต่องค์เดียวระหว่างการบวช ก็ถือว่าเป็นโมฆะ ปัจจุบันเวลาพระสวดญัตติ องค์อื่นที่นั่งหัตถบาตจะต้องอยู่ในอาการนิ่งสำรวม ถ้าขยับตัวยุกยิก ท่านจะหยุดเพื่อถามว่าท่านคัดค้านหรือ หากไม่ก็ต้องเริ่มต้นสวดกันใหม่

วิธีการเช่นนี้ ไม่ถือว่าใช่ประชาธิปไตยนะครับ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 54  เมื่อ 30 ก.ค. 12, 18:19

ส่วนคุณประกอบ ถือว่าแวะมาทักทาย และบ่นไปด้วยตามสมัยนิยม ไม่มีคำถามด้านประวัติศาสตร์ให้ตอบนะครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 55  เมื่อ 30 ก.ค. 12, 18:44

งั้นดิฉันเข้าใจผิดเอง  เพราะอ่านจากบทความใน
ทั้งอธิกรณ์และการระงับต้องทำเป็นการสงฆ์เป็นส่วนใหญ่ ดุจการตั้งกรรมาธิการฝ่ายต่างๆ ฉะนั้นจึงเป็นการทำงานเป็นกลุ่มเป็นทีม และในการประชุมทำกรรมต่างๆ เป็นการสงฆ์นั้น ต้องมีมติเป็นเอกฉันท์ จริงๆ ถ้ามีข้อข้องใจมีสิทธิ ยับยั้ง (Veto) ได้
แม้เพียงเสียงเดียวสงฆ์ทั้งหมดก็ต้องฟังดังท้ายกรรมวาจาว่า

"ยสฺสายสฺมโตขมติ...
.........โส ตุณฺหสฺสยสฺส น ขมติ โส ภาเสยฺย"
"ถ้ากรรมนี้ ชอบใจต่อท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเงียบ ถ้าไม่ชอบใจต่อท่านผู้ใดท่านผู้นั้นพึงพูดขึ้น"
อนึ่งการทำกรรมอันใดก็ตาม พระวินัยจะต้องพร้อมเพรียงกัน ดังคำขึ้นต้น ของกรรมวาจาว่า
"ยทิ สงฺฆสฺสปตฺตกลฺลํ"
ซึ่งแปลว่า "ถ้าความพรั่งพร้อมของสงฆ์ พร้อมแล้ว... สงฆ์พึงทำ..." ดังนี้

แต่ไม่ใช่การบัญญัติพระวินัย  ซึ่งพระพุทธองค์ทรงบัญญัติแต่ผู้เดียว ไม่ได้ถามความเห็นคณะสงฆ์
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 56  เมื่อ 30 ก.ค. 12, 18:55

อ้างถึง
ถ้าหากว่าคณะราษฎร์ยึดอำนาจไม่สำเร็จ   สยามอยู่มาจนถึงเวลาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ พระราชทานรัฐธรรมนูญด้วยพระองค์เอง   เราคงได้เรียนรู้ประชาธิปไตยในอีกแบบหนึ่งก็เป็นได้

ผมไม่นิยมที่จะถกกันด้วยเรื่องอจินไตย คือเรื่องที่เริ่มต้นด้วยคำว่า ถ้า หรือประโยคที่ฝรั่งเรียกว่า if-clause เพราะมันยังต้องประกอบด้วยปัจจัยอีกหลายอย่าง บางที่ อาจจะโชคตะตาของบ้านเมืองก็ได้ ที่มีเหตุทำให้ชาติอยู่รอดมาถึงวันนี้ แต่เป็นแบบนี้

ในสมัยโน้น ศัตรูของระบอบสมบูรณาณาสิทธิราชไม่ใช่ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นพระประมุข แต่เป็นระบอบสาธารณรัฐ และที่เลวร้ายที่สุดคือระบอบคอมมิวนิสต์ที่แสดงความโหดเหี้ยมให้เห็นแล้วในรัสเซีย นักเรียนไทยในฝรั่งเศสตอนนั้นมีพวกที่นิยมสองลัทธินี้อยู่พอๆกัน และได้กลายมาเป็นพวกผู้ก่อการด้วยจำนวนหนึ่ง ภัยจากลัทธิคอมมิวนิสต์นี้มีจริงดังจะเห็นได้จากพ.ร.บ.ป้องกันคอมมิวนิสต์ที่รัฐบาลพระยามโนรีบออกมาอย่างด่วน ซึ่งโดนท่านอาจารย์สุลักษณ์สับแหลกในทีวี

ผมว่า คณะราษฎรได้เป็นกันชนให้คณะเจ้าในเรื่องนี้ได้มาก แม้จะไม่ได้ตั้งใจก็ตาม
บันทึกการเข้า
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


ความคิดเห็นที่ 57  เมื่อ 30 ก.ค. 12, 19:28

ถ้าเราได้รับพระราชทานประชาธิปไตย ไม่ได้เรียนลัดเปลี่ยนเอาแบบทันทีทันใดในปี 2475

ผมว่าประชาธิปไตยแบบไทยๆ ก็ยังคงเป็นแบบตอนนี้หรือไม่แตกต่างจากตอนนี้มากนักครับ ในแง่ที่ว่าชนชั้นนำยังคือผู้มีบทบาทหลักในการกำหนดทิศทางการเคลื่อนไหวของประเทศ
สิ่งที่ต่างกันคือที่มาของชนชั้นนำที่มาเป็นผู้ปกครอง ซึ่งอาจจะมีจำนวนของพวกที่สืบเชื้อสายกันมา เป็นพวกผู้ดีมีตระกูล มากกว่าผู้ที่เป็นนักการเมืองผ่านการเลือกตั้งแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน


ปัญหาหนึ่งที่ผมนั่งเทียนคิดเอาเองในเรื่องประชาธิปไตยของไทยเรา ผ่านการอ่านนิยายไทย วรรณคดี และละครหลังข่าวที่สะท้อนตัวตนและวิธีคิดแบบไทยๆ ก็คือ เรามีการปลูกฝังเรื่องการยอมรับอำนาจที่เหนือกว่า  มีระบบชนชั้นแบบกลายๆ  การยอมรับลัทธิดลบันดาลที่ผู้มีอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นเทพเจ้า เทวดา หรือคนที่มีอำนาจเหนือกว่า บันดาลสิ่งต่างๆ ให้ตามความประสงค์ โดยที่เราไม่ต้องลำบากเสาะหาหรือพึ่งพาตัวเองในการได้มา   ทำให้คนไทยมีแนวโน้มที่จะยอมตามผู้มีอำนาจเหนือกว่าได้ง่าย ไม่ค่อยโต้แย้ง โดยเฉพาะยิ่งถ้าผู้มีอำนาจนั้นสามารถให้คุณให้โทษตัวเราได้โดยตรง เราจะยิ่งไม่กล้าค้านหรือขัดมากยิ่งขึ้น


ดังนั้น ถ้าผู้มีอำนาจ ไม่ว่าจะมีที่มาอย่างไร  ไม่สำคัญว่าจะมาอย่างมีความชอบธรรมแค่ไหน โดยทั่วไปคนส่วนใหญ่มักจะมีแนวโน้มยอมรับและยอมปฏิบัติตามได้ง่ายอยู่แล้ว ไม่ค่อยกล้าคัดค้านหรือไม่เห็นด้วยมากนัก  การผัดเปลี่ยนผู้นำ มักจะมาจากการแย่งชิงอำนาจกันเอง มากกว่าจากการเคลื่อนไหวของมวลชน  เพราะแม้มีการเคลื่อนไหวของมวลชนเป็นตัวเร่ง สุดท้ายการเปลี่ยนแปลงก็มาจากชนชั้นนำเช่นเดิม  เพียงแต่อาจจะเป็นการเปลี่ยนแค่กลุ่มอำนาจเท่านั้น


นอกจากนั้นเราถูกสอนให้ยอมรับเรื่องความเชื่อ หรือสิ่งที่สั่งสอนกันมา แม้มันจะไม่มีเหตุผลก็ตาม มากกว่าการใช้เหตุและผลตรึกตรอง ชั่งน้ำหนักข้อดีข้อเสียอย่างมีเหตุมีผล ดังนั้นเวลามีความขัดแย้งในสังคม โดยเฉพาะเรื่องที่มีความสลับซับซ้อน คนส่วนใหญ่มักจะไม่เข้าใจ  และเลือกที่จะเชื่อฝ่ายที่ตัวเองถูกใจ หรือพูดในสิ่งที่ตัวอยากรู้อยากฟังมากกว่า ดังนั้นฝ่ายใดที่สามารถปลูกฝังความเชื่อให้มวลชนได้ ก็จะได้ฐานมวลชนเป็นกำลังสนับสนุนของตัว 


ส่วนเรื่องศาสนาพุทธ ผมเห็นด้วยกับท่าน(อาจารย์)นวรัตนนะครับว่าศาสนาพุทธ ถ้าใช้นิยามคำว่าประชาธิปไตยแบบสมัยปัจจุบัน ศาสนาพุทธคงไม่ใช่ศาสนาประชาธิปไตย  เพราะไม่ได้ใช้หลักความเห็นของคนหมู่มากในการตัดสินทุกสิ่งทุกอย่าง
แต่สิ่งที่ต่างกันคือศาสนาพุทธจะเป็นศาสนาแห่งการใช้เหตุผล  อย่างพระวินัยต่างๆ ที่พระพุทธองค์บัญญัติขึ้น  บัญญัติขึ้นอย่างไม่เป็นประชาธิปไตย คือพระพุทธองค์ไม่ได้ถามความเห็นจากคณะสงฆ์  ไม่มีการโหวตหรืออภิปราย แต่ทุกข้อจะมีที่มาที่ไป และทรงมีเหตุผลกำกับเสมอ ว่าเพราะเหตุใดจึงต้องทรงบัญญัติพระวินัยข้อนั้นๆ ขึ้นมา

ถ้ามีประชาธิปไตย แต่ไม่มีเหตุผล สุดท้ายสังคมประชาธิปไตยนั้นก็ต้องล่มสลายไป ดูตัวอย่างการขึ้นครองอำนาจของฮิตเลอร์ได้ ขึ้นมาจากระบอบประชาธิไตย แต่สุดท้ายคนส่วนใหญ่ในสังคมไม่มีเหตุผล ไม่มีสติ เป็นที่มาของการฆ่าฟันนองเลือดเดือดร้อนไปทั้งโลก

แต่ถ้าทั้งสังคมใช้แต่เหตุผล  ทุกคนมองผลประโยชน์ของส่วนรวมก่อนเป็นหลัก เคารพซึ่งกันและกัน  ประชาธิปไตยก็ไม่ใช่สิ่งจำเป็นสำหรับสังคมนั้นๆ
บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 58  เมื่อ 30 ก.ค. 12, 19:47

ขอเชิญอ่านลิ้งค์ข้างล่างนี้

ธรรมาธิปไตยไม่มา จึงหาประชาธิปไตยไม่เจอ- พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

ขอยกตัวอย่างบางตอน
อำนาจตัดสินใจ เป็นหัวใจของระบบการปกครอง    ใครมีอำนาจตัดสินใจสูงสุด นั่นคือตัวกำหนดระบบการปกครองนั้น
ถ้าเป็นระบบเผด็จการ ก็คือบุคคลเดียว ที่เรียกว่าผู้เผด็จการหรือผู้นำ มีอำนาจในการตัดสินใจ
ถ้าเป็นคณาธิปไตย ก็คือหมู่คณะหรือกลุ่มบุคคล เป็นผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ
ถ้าเป็นประชาธิปไตย ก็คือ ประชาชนมีอำนาจในการตัดสินใจ   หรือว่า ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจตัดสินใจ
ทีนี้ ใครมีอำนาจในการตัดสินใจ ก็ต้องให้คนนั้นตัดสินใจบนฐานของธรรมาธิปไตย คือตัดสินใจด้วยเกณฑ์ของธรรมาธิปไตย

ตัดสินใจด้วยปัญญา โดยมีเจตนาเป็นธรรม คือ ธรรมาธิปไตย
เมื่อเป็นประชาธิปไตย หลักบอกว่าอำนาจตัดสินใจอยู่ที่ประชาชน  
เมื่ออำนาจตัดสินใจอยู่ที่ประชาชน ก็ต้องให้ประชาชนตัดสินใจอย่างถูกต้อง คือต้องมีธรรมาธิปไตย
ก็จึงต้องมีการพัฒนาคุณภาพของประชาชน เพื่อให้ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจในการตัดสินใจนั้น ทำการตัดสินใจด้วยปัญญา
โดยมีเจตนาที่เป็นธรรม และตรงนี้แหละคือ ธรรมาธิปไตย
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 59  เมื่อ 30 ก.ค. 12, 20:45

^
สาธุ ที่ปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาองค์นี้กล่าวนั้นชอบแล้ว

นี่เป็นเหตุหนึ่งที่พระปฐมบรมราชโองการที่ประกาศว่า

"เราจักปกครองแผ่นดินโดยธรรม"

จึงโดนใจปวงชนชาวไทย
และเป็นฐานแห่งพระราชอำนาจที่ไม่มีตัวตน แต่มีเดชานุภาพที่รัฐธรรมนูญมิอาจกำหนดได้
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 3 [4] 5 6 ... 10
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.071 วินาที กับ 20 คำสั่ง