เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 3 4 [5] 6 7 ... 10
  พิมพ์  
อ่าน: 33534 สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 60  เมื่อ 30 ก.ค. 12, 20:55

อ้างถึง
ถ้าเราได้รับพระราชทานประชาธิปไตย ไม่ได้เรียนลัดเปลี่ยนเอาแบบทันทีทันใดในปี 2475

ผมว่าประชาธิปไตยแบบไทยๆ ก็ยังคงเป็นแบบตอนนี้หรือไม่แตกต่างจากตอนนี้มากนักครับ

คุณประกอบครับ ยังมีถ้าอีกหลายถ้า

อย่าลืมว่า อีกไม่กี่ปีหลัง๒๔๗๕ สงครามโลกก็เกิด
ผมไม่อยากเดาว่า รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตอนนั้นจะเลือกฝ่ายใด และจะเกิดอะไรขึ้นหลังจากนั้น ประเทศนี้อาจจะไม่ได้ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ แต่ไปคล้ายกับประเทศข้างๆบ้านก็ได้
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 61  เมื่อ 30 ก.ค. 12, 22:07

มาวิจารณ์หนังสารคดีที่ว่าต่อดีกว่า

ผู้ก่อการในคณะราษฎรมีอยู่ด้วยกันหลายสายพันธุ์ มีจุดมุ่งหมายที่ต่างกัน ที่ผ่านมาได้รวมตัวอย่างหลวมๆเฉพาะกิจ ส่วนหนึ่งเห็นว่าที่ได้รัฐธรรมนูญและรัฐสภามาง่ายๆก็ดีแล้ว ในขณะที่อีกส่วนหนึ่งเห็นว่ายังไม่พอ จึงเป็นที่มาของ “เค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ” เสนอโดยหลวงประดิษฐ์มนูธรรมขึ้น และนำไปสู่ข้อขัดแย้งกับพระมหากษัตริย์ในฐานะที่พระองค์ทรงมีหน้าที่จะต้องเห็นชอบด้วย ที่สุดแล้วก็นำความแตกแยกมาสู่คณะราษฏรเอง

ท่านอาจารย์สุลักษณ์ยกย่องเค้าโครงเศรษฐกิจนี้ในทีวีเหลือเกินว่าจะช่วยลดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนในสังคมสยามแน่นอน แต่น่าเสียดายที่ถูกคณะเจ้าต่อต้าน จึงทำให้ทุกวันนี้สังคมไทยจึงยังมีความเหลื่อมล้ำต่ำสูงอยู่มากมาย


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 62  เมื่อ 30 ก.ค. 12, 22:11

เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงแสดงความเห็นอย่างชัดๆว่าที่ทรงไม่เห็นด้วยกับเค้าโครงเศรษฐกิจนี้เพราะเป็นวิธีการของพวกคอมมิวนิสต์ หลวงประดิษฐ์ไปลอกนายสตาลินมา ถ้าหลวงประดิษฐ์ยืนยันว่าไม่ได้ลอก ก็คงจะเป็นนายสตาลินเอง ที่ลอกหลวงประดิษฐ์ไปใช้ในรัสเซีย

ผมไม่มีสติปัญญาพอจะวิเคราะห์เรื่องนี้ได้ ขออ้างอิงความเห็นนักวิชาการคนดังๆจะดีกว่า

จากเว็บของสถาบันพระปกเกล้าฯ

http://www.kpi.ac.th/wiki/index.php/%E0%B9%80%E0%B8%84%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B9%82%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%A8%E0%B8%A3%E0%B8%A9%E0%B8%90%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%88%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%94%E0%B8%B4%E0%B8%A9%E0%B8%90%E0%B9%8C_%E0%B8%A1%E0%B8%99%E0%B8%B9%E0%B8%98%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เสนอว่า “เค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ” ของปรีดี พนมยงค์นั้น เสนอในสิ่งใหม่สุดของสังคมสยาม นั่นคือการที่รัฐบาลจะใช้พันธบัตรซื้อที่ดินสำหรับการเพาะปลูกทั้งหมด ยกเว้นที่อยู่อาศัย ดังนั้น ชาวไร่ชาวนาก็จะกลายเป็นลูกจ้างของรัฐบาล ได้รับเงินเดือน รัฐบาลคุมกิจการค้าใหญ่ที่สุดของประเทศ คือ ข้าว ทั้งในด้านการผลิตและในด้านการค้าขาย เป็นการตัดคนกลาง ในขณะเดียวกัน ระบบกำไรขาดทุนก็จะถูกขจัดออกไป ประชาชนจะซื้อข้าวของเครื่องใช้จากร้านค้าของรัฐบาล หากพิจารณาตามตัวอักษร แผนการเศรษฐกิจดังกล่าวเป็นเรื่องใหญ่โตมาก เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ในการผลิตและปัจจัยการผลิตของคนทั้งชาติ และที่สำคัญที่สุดก็คือ มีผลกระทบโดยตรงและรุนแรงต่อเจ้าและขุนนางในระบอบเก่าซึ่งส่วนใหญ่มีฐานทางเศรษฐกิจจากการเป็นเจ้าของที่ดินจำนวนมาก อันจะนำมาซึ่งการต่อต้านอย่างรุนแรง

ขณะที่ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เสนอว่า แม้ปรีดี พนมยงค์จะยืนกรานว่า “เค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ” ของเขา “ดำเนินวิธีละม่อม”, “อาศัยการร่วมมือระหว่างคนมั่งมีและคนจน” และ “ไม่ประหัตประหารคนมั่งมี”, “ถ้าหากพวกคอมมิวนิสต์มาอ่าน จะติเตียนมากว่ายังรองรับคนมั่งมีให้มีอยู่” ก็ตาม แต่ข้อเสนอใน “เค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ” ของ ปรีดี พนมยงค์ ไม่เพียงแต่เป็นหลักการที่ปฏิบัติไม่ได้เท่านั้น หากยังไม่สมควรปฏิบัติด้วย ทั้งนี้เนื่องจากมีลักษณะที่อาจเรียกตามภาษาสมัยใหม่ว่า “ซ้ายจัด” คือ “ซ้าย” ยิ่งกว่าพวกบอลเชวิคในรัสเซียก่อนสมัยสตาลินเสียอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นโยบายต่อชาวนา เนื่องจากหัวใจสำคัญที่สุดของ “เค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ” คือการทำให้ชาวนารวมหมู่โดยการบังคับ เห็นได้ชัดจากการที่ ปรีดี พนมยงค์ เสนอให้รัฐบาลใช้อำนาจบังคับ “ซื้อ” ที่ดินทำกินทั้งหมดของชาวนามาเป็นของรัฐ ชาวนาสามารถมีกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลได้เฉพาะที่ตั้งบ้านอยู่อาศัยเท่านั้น และเมื่อที่ดินทำกินกลายเป็นของรัฐแล้ว พวกเขาก็จะกลายเป็นคนงานของรัฐไปด้วย
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 63  เมื่อ 30 ก.ค. 12, 22:17

อ้างถึง
ถ้าเราได้รับพระราชทานประชาธิปไตย ไม่ได้เรียนลัดเปลี่ยนเอาแบบทันทีทันใดในปี 2475
ผมว่าประชาธิปไตยแบบไทยๆ ก็ยังคงเป็นแบบตอนนี้หรือไม่แตกต่างจากตอนนี้มากนักครับ



พิมพ์ตอบไว้ยาว พอคลิกส่ง เน็ตขัดข้องเลยหายหมด  เอาคืนไม่ได้  ร้องไห้
ลองพิมพ์ใหม่
ดิฉันมีความเห็นคล้ายๆคุณประกอบแต่คงไม่ตรงกันหมดเสียทีเดียว     ที่ว่าคล้ายๆคือเชื่อว่า ต่อให้ไม่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในพ.ศ. 2475  ก็ต้องมีปฏิวัติเกิดขึ้นอีกในพ.ศ.ใดพ.ศ.หนึ่งหลังจากนั้น      มันมีช่องว่างทางความคิดห่างไกลกันพอสมควรระหว่างทหารและปัญญาชนรุ่นใหม่   กับเจ้านายซึ่งกลายเป็นคนรุ่นเก่าไปโดยปริยาย    
จะเห็นได้ว่าความเข้าใจของคนสองกลุ่มนี้ไม่ได้ทันกันเลย     เมื่อกลุ่มคนรุ่นใหม่คบคิดกันปฏิวัติ  เรื่องนี้ก็จะเรียกว่าลับก็ไม่ได้   เพราะรั่วไหลขนาดพระยาอธิกรณ์ประกาศอธิบดีตำรวจแน่ใจ  ถึงขั้นไปทูลสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ฯ ในฐานะเสนาบดีมหาดไทย  ขอประทานพระอนุญาตจับกุม   กรมพระนครสวรรค์ฯกลับมิได้ระแวงแม้แต่น้อย     แม้แต่จะให้สอบสวนสักนิดก็ยังไม่มี   ก็แสดงว่าด้วยน้ำพระทัยสะอาด ปราศจากโทสาคติ  และภยาคติ   มิได้ทรงนึกเลยว่าความคิดของนายทหารใต้บังคับบัญชานั้นออกนอกทางไปถึงไหนๆแล้ว
เมื่อผู้ปกครองกับผู้ใต้ปกครองมีความคิดที่ห่างไกลต่อการรับรู้กันขนาดนี้    ดิฉันจึงคิดว่าถึงไม่มี 2475  ก็น่าจะมีปีไหนสักปีที่เกิดปฏิวัติขึ้นมาจนได้    และทำได้สำเร็จด้วย
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 64  เมื่อ 30 ก.ค. 12, 22:25


ท่านอาจารย์สุลักษณ์ยกย่องเค้าโครงเศรษฐกิจนี้ในทีวีเหลือเกินว่าจะช่วยลดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนในสังคมสยามแน่นอน แต่น่าเสียดายที่ถูกคณะเจ้าต่อต้าน จึงทำให้ทุกวันนี้สังคมไทยจึงยังมีความเหลื่อมล้ำต่ำสูงอยู่มากมาย


เค้าโครงเศรษฐกิจแบบปรีดี  จะดีงามอย่างไรพอมองเห็นตัวอย่างได้จากประเทศจีนแผ่นดินใหญ่สมัยเหมาเจ๋อตุง  ที่ชาวนาไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน   รัฐเป็นเจ้าของ  โดยใช้แรงงานชาวนาผลิต     ทุกคนได้รับแบ่งสันปันส่วนเท่ากัน  ไม่มีความเหลื่อมล้ำด้านรวยจน  เพราะทุกคนจนเท่ากันหมด 
เมื่อสิ้นสุดยุคประธานเหมา   เติ้งเสี่ยวผิงผงาดขึ้นมาแทน  โครงสร้างเศรษฐกิจของจีนก็เปลี่ยนไปทันตาเห็น     เดี๋ยวนี้มีคนจีนคนไหนอยากกลับไปอยู่แบบเดิมกันบ้าง
ความเหลื่อมล้ำต่ำสูงในสังคมไทยปัจจุบันนี้ เป็นข้ออ้างที่ถูกยกขึ้นมาบ่อยมากเวลาโจมตีฝ่ายตรงข้าม     แต่ก็ประหลาดว่าคนโจมตีนั้นหลายคนก็ไม่ได้อยู่อย่างคนจนเลยสักนิด   
บันทึกการเข้า
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


ความคิดเห็นที่ 65  เมื่อ 30 ก.ค. 12, 22:26

กลับมาที่เค้าโครงเศรษฐกิจฉบับหลวงประดิษฯ  ผมได้ยินมานานแต่เพิ่งได้อ่านจริงๆ จังๆ จากกระทู้นี้นี่แหละครับ ต้องขอบพระคุณท่านอาจารย์อีกครั้ง
โดยความเห็นส่วนตัวผม มันก็คอมมิวนิสต์จริงๆ นั่นแหละ ให้รัฐเป็นเจ้าของ ชาวนาเป็นลูกจ้าง
ไม่แปลกที่จะโดนถล่มยับ

นายปรีดีเองคงไม่ใช่คอมมิวนิสต์ หรือผู้นิยมคอมมิวนิสต์หรอกครับ  แต่ขณะที่เสนอร่างนี้ เป็นช่วงเวลาที่แกเพิ่งมีอำนาจ แต่ยังไม่รู้จักคน ไม่รู้จักสังคมไทย ไม่เข้าใจกิเลสของมนุษย์
ยังเป็นหนุ่มใสซื่อ มุ่งหวังจะสร้างสังคมที่เป็นธรรมขึ้นมา  เพราะแกยังไม่เข้าใจโลกพอนี่เอง เรื่องประสบการณ์ ความเข้าใจโลกของผู้ผ่านโลกมานานกว่าจึงสำคัญจริงๆ
ช่วงหลังๆ แก่วัดขึ้น เข้าใจโลกขึ้น ไม่เคยเห็นแกจะพยายามเอาแนวความคิดเก่าๆ ตอนหนุ่มๆ มาปัดฝุ่นเท่าไหร่เลย อาจจะรู้แล้วว่ามันเป้นไปไม่ได้
บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 66  เมื่อ 30 ก.ค. 12, 22:32

นั่นน่ะซีครับท่านทั้งสอง

ผมเองไม่เข้าใจว่า ถ้าทำตามเค้าโครงเศรษกิจนี้บ้านเมืองจะหลีกเลี่ยงทุรยุคไปได้อย่างไร การบังคับซื้อที่ดินจากประชาชนด้วยพันธบัตรอายุ๑๐ปี หมายความว่าประชาชนเสียที่ดินทำกินในวันนี้แลกกับกระดาษ๑ใบ อีก๑๐ปีข้างหน้าจึงจะได้เงินที่ระบุตามหน้าพันธบัตร แต่จะได้หรือเปล่าก็ไม่รู้ ส่วนได้มาแล้วเงินดังกล่าวจะมีอำนาจซื้อเท่ากับวันนี้หรือไม่ คำตอบมีอยู่แล้วว่าไม่ แต่จะเลวร้ายแค่ไหนยังไม่อาจระบุได้ ยิ่งถ้าเอาเรื่องจริงไปเทียบ สิบปีต่อมาเป็นภาวะสงคราม เงินบาทมีค่าเหมือนเศษกระดาษเพราะญี่ปุ่นพิมพ์ออกมาใช้เองได้ ถ้าเกิดอภิวัติเศษฐกิจขึ้นจริงคนไทยคงจะเป็นบ้าตายกันทั้งประเทศ ที่ยังไม่ตายก็จนเท่ากันหมด สมกับที่ท่านอาจารย์สุลักษณ์หวัง

และผมก็ไม่เข้าใจว่าทำไม หลวงประดิษฐ์จึงไปมุ่งจะเอาที่ดินที่มีเจ้าของ ในขณะที่สมัยนั้น ที่รกร้างว่างเปล่าสามารถพัฒนาได้ยังมีอีกเยอะแยะมากๆ รัฐจะจิ้มนิ้วลงไปตรงไหนก็ได้ ตั้งงบหลวงบุกเบิกเอามาจัดสรรเป็นคอมมูนให้ชาวนาได้เลย ไม่ต้องเสียเวลาทะเลาะกับใคร

แต่บนเวทีคืนนั้น ไม่ยักมีใครขัดคอท่านอาจารย์สุลักษณ์แฮะ


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 67  เมื่อ 30 ก.ค. 12, 22:48

อยากให้ท่านเข้าไปอ่านในตัวเชื่อมที่ผมทำไว้ให้เหมือนคุณประกอบน่ะครับ จะทำให้เข้าใจอะไรๆดีขึ้น บทความที่ว่านั้นส่งท้ายดังนี้

นอกจากนี้ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ยังเสนอด้วยว่า ความสำคัญของสภาพการณ์ดังกล่าวก็คือ เมื่อคณะราษฎรยึดอำนาจในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2475 นั้น มีความเป็นไปได้ที่จะวางรากฐานให้กับการเมืองแบบรัฐสภาที่มีเสถียรภาพ ที่มีการเลือกตั้ง และที่พลเรือนมีบทบาทนำ เนื่องจากถ้าไม่นับความขัดแย้งที่มีต่อ “เค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ” แล้ว โดยแท้จริงหาได้มีความขัดแย้งในลักษณะที่สำคัญระหว่างผู้ก่อการด้วยกัน และระหว่างผู้ก่อการ, ขุนนางอาวุโส กับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่อย่างใด กล่าวอีกอย่างก็คือ มีความเป็นไปได้ที่จะสร้างแนวร่วมที่กว้างขวางที่สุดในหมู่ผู้นำไทยในขณะนั้น เพื่อวางรากฐานให้แก่ระบอบรัฐสภาประชาธิปไตย แต่วิกฤตการณ์อันเกิดจาก “เค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ” ของ ปรีดี พนมยงค์ ทำให้ความเป็นไปได้นี้ หมดไป แม้จะเป็นความจริงที่ว่า ปรีดี พนมยงค์ มีสิทธิเต็มที่ที่จะเสนอความคิดเห็นและแผนการทางเศรษฐกิจของตนได้ แต่ถ้าอภิปรายถึงเรื่องนี้ในฐานะที่เป็นวิจารณญาณทางการเมืองของ ปรีดี พนมยงค์ แล้ว ข้อสรุปก็ควรเป็นว่า “ปรีดีได้ทำความผิดพลาดทางการเมืองครั้งสำคัญทางประวัติศาสตร์”
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 68  เมื่อ 30 ก.ค. 12, 22:53

คนที่สนับสนุนลัทธิคอมมูนอย่างสุดตัวนั้น ก็ไม่เห็นว่าในชีวิตเขาจะยอมพาลูกเมียและตัวเองไปดำเนินชีวิตอยู่ในคอมมูนอย่างชาวไร่ชาวนาเลยนี่คะ   มันคงมีไว้ให้ชาวบ้านอย่างเราๆอยู่กันเท่านั้นมั้ง

อ้างถึง
แต่บนเวทีคืนนั้น ไม่ยักมีใครขัดคอท่านอาจารย์สุลักษณ์แฮะ
ถ้าคุณนวรัตนอยู่หน้าเวทีในคืนนั้น ดิฉันก็คงขอให้นั่งเฉยๆ     ก็สติปัญญาท่านออกปราดเปรื่อง  ขืนไปเถียงท่านเข้า   เกิดปราดเปรื่องขึ้นมาใกล้เคียงท่าน  เดี๋ยวจะกลับเรือนไทยลำบาก  
คุณประกอบก็จะเสียอาจารย์ไปหนึ่งคนน่ะซีคะ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 69  เมื่อ 30 ก.ค. 12, 23:02

โห ข้าน้อย มิบังอาจ มิบังอาจ


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 70  เมื่อ 31 ก.ค. 12, 08:10

ถ้าให้ผมไปเถียงกับท่านอาจารย์สุลักษณ์บนเวทีผมคงไม่กล้าหรอกครับ เพราะท่านมีความจำได้หมายมั่นของท่านบรรจุไว้เต็มสมอง ส่วนผมมีแต่ความจำเลอะๆเลือนๆ ครั้นได้ฟังท่านบางเรื่องที่เคยผ่านตามาว่าไม่ใช่อย่างนี้นี่นา แต่จริงแล้วเป็นอย่างไรก็จำรายละเอียดไม่ได้หมด ต้องกลับมาย้อนอ่านอีกนานจึงจะแย้งท่านได้

อย่างเช่น ท่านบอกทำนองว่านายปรีดีถูกพวกเจ้าใส่ร้ายเรื่องคดีสวรรคต จนต้องเนรเทศตนเองไปอยู่เมืองจีนและฝรั่งเศสและไม่มีโอกาสกลับมาเมืองไทย ครั้นท่านเสียชีวิต ประธานองคมนตรีคนปัจจุบัน ก็บอกเพียงว่าเสียใจ…

คำพูดเช่นนี้มีนัยยะแฝงเร้นไปถึงเจ้าระดับไหนไม่อยากเดา ผมจึงอยากเสนอข้อมูลอีกด้านหนึ่งให้ท่านอ่าน แล้วเลือกกันเอาเองว่าจะเชื่ออะไร
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 71  เมื่อ 31 ก.ค. 12, 08:21

ปีพ.ศ.๒๔๙๐ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่๙ ยังกำลังทรงศึกษาอยู่ในสวิสเซอร์แลนด์ คณะรัฐประหารประกอบด้วยพล.ท.ผิณ  ชุณหะวัน  พ.อ.กาจ  กาจสงคราม  พ.ท.ขุนจำนงภูมิเวทฯ  ซึ่งมีพ.อ.สฤษดิ์  ธนะรัชติ์  ผู้อาวุโสน้อยแต่เป็นคุมกองกำลังทหารสำคัญร่วมมือด้วย  ได้ทำการยึดอำนาจสำเร็จ  และออกแถลงการณ์ว่า  ประเทศกำลังเผชิญวิกฤติหลายด้าน เช่น ของแพง  ศีลธรรมเสื่อมโทรม ฯลฯ จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข

นายปรีดี ได้เล่าเหตุการณ์การรัฐประหารจนถึงการลี้ภัยไปพำนักที่ประเทศจีนเป็นเวลา ๒๑ ปี ไว้ดังต่อไปนี้


“เมื่อเดือน พ.ย. ๒๔๙๐ เกิดการรัฐประหารของฝ่ายทหารโดยการสนับสนุนของพวกอนุรักษ์นิยมขวาจัด  และพวกคลั่งชาติ  โค่นล้มรัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมายของพล.ร.ต.ถวัลย์ฯ  ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นพรรคพวกของข้าพเจ้า  พวกรัฐประหารบุกเข้าไปในบ้าน เพื่อจะเอาชิวิตข้าพเจ้า รวมทั้งภรรยาและบุตรเล็กๆ โดยกล่าวหาว่าข้าพเจ้าเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดในกรณีสวรรคต 

จอมพล ป.ซึ่งถูกปล่อยตัวก่อนหน้านั้นไม่กี่เดือนเพราะกฎหมายอาชญากรสงครามไม่มีผลย้อนหลัง  ได้รับแต่งตั้งจากคณะรัฐประหารให้เป็นผู้บัญชาการทหารแห่งประเทศไทย 

คณะรัฐประหารได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่  โดยมีหัวหน้าคณะรัฐประหารเป็นผู้รับสนองพระราชโองการ รัฐบาลใหม่ประกอบด้วยพวกอนุรักษ์นิยมขวาจัดเป็นส่วนใหญ่  แต่ต่อมาไม่กี่เดือนทหารก็จี้ให้รัฐบาลชุดนี้ลาออก  และจอมพล ป.ก็เข้าดำรงตำแหน่งนายกฯอีกครั้ง 

คืนเดียวกันที่เกิดรัฐประหาร ข้าพเจ้าได้หลบหนีทหารที่ล้อมรอบบ้านพักไปได้อย่างหวุดหวิด   และข้าพเจ้าได้ไปพักอยู่กับเพื่อนทหารเรือที่สัตหีบอยู่ระยะหนึ่ง เพื่อลี้ภัยไปสิงคโปร์ก่อน แม้ว่ารัฐบาลอังกฤษจะให้สิทธิแก่ข้าพเจ้าในการลี้ภัยทางการเมือง  ...ข้าพเจ้าก็ทราบดีว่าสิทธิดังกล่าวนี้จะมีอยู่ตราบเท่าจนกว่าอังกฤษจะรับรองระบอบการปกครองใหม่ของสยามเท่านั้น

... ดังนั้นข้าพเจ้าจึงเดินทางออกจากสิงคโปร์ไปยังฮ่องกง  จากฮ่องกงเราเดินทางต่อไปยังเซี่ยงไฮ้  เราคิดกันว่าจะเดินทางไปเม็กซิโกโดยเดินทางผ่านซานฟรานซิสโก ขณะที่เรายื่นหนังสือเดินทางแก่เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองของจีนอยู่นั้น  ได้มีชาวอเมริกันหนุ่มคนหนึ่ง ชื่อนอร์แมน  ฮันนาห์  ซึ่งเป็นรองกงสุลอเมริกาประจำเซี่ยงไฮ้ ได้ตรงเข้ามากระชากหนังสือเดินทางของข้าพเจ้าจากมือเจ้าหน้าที่จีนผู้นั้น  และได้ขีดฆ่าวีซ่าอเมริกา

ข้าพเจ้าจึงตระหนักว่ารองกงสุลอเมริกาหนุ่มผู้นี้ช่างมีอำนาจเหนือเจ้าหน้าที่จีน และแม้กระทั่งเอกอัครราชทูตเอง  ..อิสริยาภรณ์และคำประกาศเกียรติคุณที่รัฐบาลสหรัฐฯมอบให้แก่ข้าพเจ้า  ไม่มีค่าอันใดเลย เพราะข้าพเจ้ากลับถูกมองว่าเป็นอาชญากรสงครามเสียด้วยซ้ำ  อันเป็นข้อกล่าวหาที่สร้างขึ้นโดยผู้ที่เป็นศัตรูระหว่างสงครามของสหรัฐเอง  ทั้งนี้โดยการปฏิเสธไม่ให้ข้าพเจ้าแวะผ่านผืนแผ่นดินอเมริกา

...ต่อมาไม่นานนายนอร์แมน  ฮันนาห์  กงสุลอเมริกาประจำเซี่ยงไฮ้ได้ย้ายไปกรุงเทพฯ  องค์กรซี.ไอ.เอ.นี้เอง  ที่เป็นผู้สนับสนุนให้ตำรวจสันติบาลไทยจับกุมภรรยาและบุตรชายคนโตข้าพเจ้า  ภรรยาของข้าพเจ้าถูก “ควบคุมตัว” ที่สันติบาลเป็นเวลา๘๔วัน ส่วนปาลบุตรชาย ซึ่งขณะนั้นอายุ๒๐ปี ถูกตัดสินจำคุก๒๐ปี  โดยข้อหากบฏในพระราชอาณาจักร  ปาลได้รับการปล่อยตัวตามกฎหมายนิรโทษกรรมเมื่อคราวครบรอบกึ่งพุทธกาล๒๕๐๐

ต่อมาในปี๒๕๑๓  ข้าพเจ้าได้ข่าวว่านายฮันนาห์ได้พ้นจากตำแหน่งในกรุงเทพฯ และเดินทางกลับไปสหรัฐแล้ว  ข้าพเจ้าไม่ได้มีความโกรธเคืองนายฮันนาห์เพียงแต่อยากให้ผู้เสียภาษีชาวอเมริกันตระหนักว่า เงินค่าใช้จ่ายของพวกสายลับซี.ไอ.เอ.นั้น  บางทีก็สูญเสียไปกลับรายงานที่บิดเบือน 

วันที่๑ ต.ค.๒๔๙๑ ข้าพเจ้าได้ข่าวว่ารัฐบาลจอมพล ป. ได้จับกุมนายทหารและนักการเมืองหลายคนซึ่งวางแผนจะก่อการยึดอำนาจรัฐบาล กบฏครั้งนี้เรียกชื่อว่า “กบฏ ๑ต.ค.๒๔๙๑ ”  ส่วนคนที่หลบหนีการจับกุมได้ส่งตัวแทนของเขามาพบข้าพเจ้าเพื่อก่อการอภิวัฒน์โค่นรัฐบาล  เราได้ตกลงกันว่าจะให้ข้าพเจ้าเป็นผู้นำก่อการอีกครั้งหนึ่ง  โดยร่วมมือกับเพื่อนๆทหารเรือ นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง  ผู้รักชาติประชาธิปไตย  ...”


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 72  เมื่อ 31 ก.ค. 12, 08:28

“วันที่๒๖ก.พ. ๒๔๙๖  เวลา๒๑น. ข้าพเจ้าพร้อมด้วยบรรดามิตรได้ออกจากบ้านที่ข้าพเจ้าหลบซ่อนอยู่ในกรุงเทพฯเพื่อมุ่งหน้าไปยังมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง ซึ่งผู้ร่วมขบวนการอันประกอบด้วยลูกศิษย์ลูกหาของข้าพเจ้าจำนวนหนึ่ง และผู้รักชาติคนอื่นๆ  ข้าพเจ้าได้สั่งให้กองหน้าเข้าไปปลดกองทหารซึ่งรักษาพระบรมมหาราชวัง  เพื่อที่เราจะได้เข้าไปตั้งกองบัญชาการขึ้นที่นั่น

...พร้อมกันนั้นก็ได้มีการยิงต่อสู้กันโดยฝ่ายขบวนการได้ใช้ปืนครกยิงสู้กับรัฐบาล เรายึดสถานีวิทยุกระจายเสียงและกรมประชาสัมพันธ์ไว้ได้  เวลา๖โมงเช้าของวันที่๒๗ก.พ. ทหารฝ่ายรัฐบาลภายใต้บังคับบัญชาของพล.ต.สฤษดิ์ฯ ได้รับคำสั่งให้ยิงถล่มที่มั่นของฝ่ายขบวนการ  เมื่อเห็นว่าฝ่ายสนับสนุนมาไม่ทัน ข้าพเจ้าได้สั่งถอย  การก่อการในวันที่๒๖ก.พ. ๒๔๙๒ของข้าพเจ้า จึงประสบความพ่ายแพ้  ซึ่งต่อมาเรียกกันว่า “กบฏวังหลวง”...”


คือ การเมืองฉากสุดท้ายที่นายปรีดีท่านแสดงไว้ในประเทศไทยนั้น คือท่านเป็นผู้นำในการใช้กำลังทหารมาปฏิวัติจอมพล ป.แต่ไม่สำเร็จ และตกอยู่ในฐานะกบฏครับ ไม่หนีก็ติดคุกหรือโดนเขายิงตาย

และหลังจากนั้น นายปรีดีก็มิได้กลับมาเมืองไทยอีกเลย


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 73  เมื่อ 31 ก.ค. 12, 08:37

ถามว่า อดีตผู้ก่อการคณะราษฎรเช่น พล.ท.ผิณ  ชุณหะวัน  พันเอกกาจ  กาจสงคราม  พ.ท.ขุนจำนงภูมิเวทฯ  แม้จะมีพ.อ.สฤษดิ์  ธนะรัชติ์เข้าร่วมด้วย และเป็นกำลังสำคัญยึดอำนาจจากรัฐบาล แล้วผลสุดท้ายไปคุกเข่าส่งให้จอมพลป.นั้น เป็นพวกเจ้าหรือครับท่านอาจารย์

การที่หัวหน้าผู้ก่อการสำคัญของคณะราษฎรสายพลเรือนถูกกำจัดออกไปคราวนี้ ถามว่าใครได้ประโยชน์โดยตรงขอรับกระผม
 
ถามอีกว่า การที่๔รัฐมนตรีสายนายปรีดีถูกสังหารหลังจากหัวหน้าผู้ก่อการกบฏเผ่นหนีไปแล้ว ทั้งๆที่อยู่ในสภาพผู้ต้องหามีตำรวจคุมตัวไป โดยอ้างว่าเป็นฝีมือโจรจีนนี้ ท่านไม่ทราบหรือว่าเป็นฝีมือใคร และไอ้โม่งตัวนี้เป็นพวกเจ้ากระนั้นหรือครับ ท่านจึงเอาชื่อนายเตียง ศิริขันธ์ส.ส.จังหวัดอุบลราชธานี  นายจำลอง ดาวเรือง ส.ส.จังหวัดมหาสารคาม มายกย่องต่อจากประโยคและอนุประโยคที่ท่านป้ายพวกเจ้า

ผมว่า การที่นายปรีดีท่านกลับมาเมืองไทยไม่ได้ เพราะท่านมีศัตรูทางการเมืองแยะมาก และผมก็เชื่อว่า ท่านก็เห็นแก่ความสงบสุขของประชาชนในชาติ ยอมรู้แพ้รู้ชนะ นั่นเป็นคุณธรรมของท่าน ไม่เกี่ยวอะไรกับคดีสวรรคตที่ท่านและนายสุพจน์ ด่านตระกูลศิษย์ผู้กตเวฑิตาของท่านสู้ยิบตาโดยใช้อำนาจศาลเป็นที่พึ่ง ลงโทษผู้กล่าวหาจนไม่มีใครกล้าพูดกล้าเขียนอะไรพล่อยๆอีกแล้ว เรื่องนี้ท่านอาจารย์สุลักษณ์จะเอาเรื่องนี้ไปใช้ประโยชน์อะไรอีก การตายของนายปรีดี พลเอกเปรมท่านจะเสียใจ หรือเฉยๆ มันก็เป็นเรื่องส่วนตัวของปัจเจกบุคคล น่าจะเข้าใจว่า พระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยนั้น ท่านอยู่เหนือความขัดแย้งทางการเมืองภายใน และหากนายปรีดีเคยมีเรื่องกับหม่อมราชวงศ์ที่เป็นนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามคนใด ก็ว่ากันไป อย่าพูดกำกวมให้คนฟังตีความว่านายปรีดีขัดแย้งกับพวกเจ้า เพราะมันอาจจะเพี้ยนไปจากความจริงก็ได้

ผมมิอาจใช้คำว่า"กระล่อน" อันเป็นคำที่ท่านชอบใช้ด่ากราดคนอื่น  แต่เกรงว่าวันหนึ่ง“ความกล้าหาญทางจริยธรรม” ที่ท่านอ้างเสมอจะถูกตั้งข้อสงสัยเข้าให้บ้างเท่านั้น



บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 74  เมื่อ 31 ก.ค. 12, 09:07

ทบทวนความทรงจำ
จำได้ว่าประโยคที่คุณสุลักษณ์พูด  และมีคนอื่นๆพูดตามกันแพร่หลาย  ดิฉันได้ยินครั้งแรกเมื่ออยู่อเมริกา  เป็นช่วงหลังวันที่ 14 ต.ค. 2516     ในยุคที่ประชาธิปไตยเบ่งบาน   อย่านึกว่าคนไทยในอเมริกาอยู่ไกลปืนเที่ยงไม่รู้อะไรในเมืองไทย  ตรงกันข้าม อะไรที่พูดกันไม่ได้ในไทย ออกข่าวไม่ได้ในไทย  เขาทำกันได้ที่อเมริกา   แม้แต่ข่าวสารคดีในทีวีอเมริกันข่าวหนึ่งก็ออกอากาศอย่างเปิดเผยถึงขบวนการค้ายาเสพติดในไทยที่มีนักการเมืองสำคัญเข้าไปเอี่ยวด้วย
ส่วนหนังสือพิมพ์ไทยในอเมริกาก็ลงข่าวอะไรต่อมิอะไรได้มากกว่าไทยรัฐเดลินิวส์     จึงมีคำพูดขึ้นมาอย่างแพร่หลาย เชิดชูท่านปรีดี พนมยงค์  และเน้นว่าคนดีๆแบบนี้อยู่ในประเทศไทยไม่ได้เพราะถูกใส่ร้ายป้ายสีกรณีสวรรคต    มีนักเขียนแก่คนหนึ่งที่เคยติดคุกมาแล้ว   ไปตะโกนคำนี้อยู่ในชุมชนคนไทย    ตอนนั้นกรณีสวรรคตถูกปลุกขึ้นมาอีกครั้ง เพื่อเป็นเรื่องชี้นำให้คิดอะไรคงไม่ต้องบอก
ตอนนั้นชื่อเสียงของท่านปรีดีถูกเชิดชูถึงขนาดที่ว่าเป็นผู้นำคณะราษฎร์   ชื่อพระยาพหลฯ พระยาทรงฯ คุณหลวงประศาสน์ฯ พระยาฤทธิ์ฯ หายไปเลยรวมทั้งหลวงพิบูลด้วย   เหมือนท่านปรีดีท่านทำของท่านอยู่คนเดียว      ท่านเป็นผู้นำด้านประชาธิปไตย  ท่านเป็นผู้นำเศรษฐกิจสังคมนิยม    ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงถูกใส่ร้ายป้ายสีด้วยผู้เสียประโยชน์จนอยู่เมืองไทยไม่ได้   
พวกที่เชิดชูท่านปิดปากเงียบเรื่องกบฎวังหลวง    ไม่เคยพูดเลยว่าท่านปรีดีผู้มีจิตวิญญาณประชาธิปไตย  เป็นผู้นำเสรีไทย   นั้นก็เคยแก้ปัญหาการเมืองด้วยการทำรัฐประหาร
แปลกมากที่พวกนี้ไม่รู้สึกเลยว่าศัตรูการเมืองของท่านปรีดีคือจอมพลป. อย่างเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์บันทึกเอาไว้    จอมพลป.ท่านถูกมองข้ามไปเลยเหมือนไม่เคยเกี่ยวข้องอะไรกัน       น่าน้อยใจแทนท่านจอมพลนัก
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 3 4 [5] 6 7 ... 10
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.108 วินาที กับ 19 คำสั่ง