เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 [3] 4 5 ... 10
  พิมพ์  
อ่าน: 33428 สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 30  เมื่อ 28 ก.ค. 12, 18:27

๓. เกิดมีคนจำพวก ๑  ซึ่งเอาการบ้านเมือง (ปอลิติค) เปนทางหาชื่อเสียง  เอาเปนงานประจำสำหรับทำ เอาเปนทางเลี้ยงชีพทีเดียว  ที่มีบุคคลทำเช่นนี้ได้ถนัดก็เพราะเหตุผลอันได้กล่าวมาแล้วในข้อ ๒  คือโดยเหตุที่ประชาชนโดยมากมีธุระและกิจการประจำต้องกระทำอยู่  ไม่มีเวลาพอที่จะดูแลฤาดำริหในทาง “ปอลิติค”  จึ่งยอมให้ผู้ที่เฃามีเวลาจะดำริห์ทาง “ปอลิติค” นั้น  นึกแทนพูดแทนไป  การที่มีบุคคลจำพวก ๑  ซึ่งทำการคิดการทาง “ปอลิติค” ขึ้นนี้  ถ้าจะว่าไปตามตำราก็ต้องว่าไม่สมควร  เพราะตำราว่าการบ้านเมืองให้เปนไปตามแต่ประชาชนจะเห็นชอบพร้อมกันต่างหาก  การที่มีบุคคลจำพวก ๑ ซึ่งหาชื่อทาง “ปอลิติค” มาเปนผู้คิดแทนดังนี้  ก็กลายเปนอำนาจอยู่ในมือคนจำพวกนี้โดยเฉภาะ  จำพวกอื่นถึงจะต้องการอะไรๆ ก็ไม่ได้สมประสงค์  นอกจากที่ความปรารถนาจะไปตรงเฃ้ากับพวกนักเลงปอลิติค  ถ้าจะเถียงว่า  การที่เปนเช่นนี้มีทางแก้ได้ง่ายๆ คือจัดหาคนที่ไม่ใช่พวก “ปอลิติเชียน”  เฃ้าไปรับเลือกเสียบ้างก็แล้วกัน  ฉนี้ไซร้ก็ต้องตอบว่า  ขอให้ดูความเปนจริงว่าเปนไปได้ฤาไม่  บุคคลที่เรียกตนว่า “อิศระ” (อินดิเปนเดนท์)  คือไม่ได้อยู่ในปาร์ตีใดปาร์ตี ๑ นั้นนานๆ จะหลุดเฃ้าไปนั่งเปนสมาชิกแห่งรัฐสภาได้สักคน ๑ ฤา ๒ คน  แต่ถึงเฃ้าไปได้แล้วก็ไม่เฃ้าไปทำประโยชน์อะไร เพราะการงานใดๆ ที่จะบรรลุถึงซึ่งความสำเร็จได้ก็โดยปรากฏว่าคนโดยมากเห็นชอบพร้อมกัน  คือเมื่อตั้งเปนปัญหาขึ้นในที่ประชุมปาร์ลิยเมนต์แล้ว  เมื่อถึงเวลาลงคะแนนกัน  ก็ต้องเปนไปตามความเห็นของคะแนนฃ้างมากเสมอ  ก็ผู้ที่จะลงคะแนนนั้น  โดยมากก็คงจะลงคะแนนตามๆ กัน  สุดแต่หัวน่าแห่งคณะฃองตนจะบอกให้ลงทางไหน  ผู้ที่เรียกตนว่า “อิศระ” นั้น  ไม่มีพวกมีพ้องที่จะนัดจะแนะกัน  เพราะฉนั้นถึงแม้ว่าจะมีความคิดความเห็นดีปานใดก็ตาม  แต่ก็คงไม่สามารถจะบันดาลให้การเปนไปตามความคิดความเห็นของตนได้  เมื่อการเปนอยู่เช่นนี้แล้ว  จะหาผู้ที่สมัคเฃ้าไปเปนสมาชิกอิศระเช่นนั้นก็ยาก  ผู้ที่ประสงค์เฃ้าปาร์ลิยเมนต์โดยมากจึ่งมักแสดงตนว่าเปนผู้เห็นพ้องด้วยปาร์ตีใดปาร์ตี ๑  แล้วแต่จะเปนการสดวกและตรงความเห็นของตนในขณะนั้น  ลักษณะปกครองเช่นนี้จึ่งมีนามปรากฏว่า “ปาร์ตี สิสเต็ม” (ลักษณะปกครองด้วยคณะ)  คณะผลัดเปลี่ยนกันเฃ้ารับน่าที่ปกครอง  ฤาเรียกตามภาษาของเขาว่าเปน “รัฐบาล” (เคาเวอร์นเมนต์)  อีกคณะ ๑ เรียกว่าเปน “ผู้คัดค้าน” (ออปโปสิชั่น)  คณะที่เปนรัฐบาลนั้นคือคณะที่มีพวกมากในที่ประชุมปาร์ลิย์เมนต์  สามารถที่จะเชื่อใจได้อยู่ว่าการใดๆ ที่จะคิดจัดขึ้น  แม้ว่าจะเกิดเปนปัญหาขึ้นในที่ประชุมบ้าง  ก็สามารถที่จะท้าให้ลงคะแนนกันได้  โดยไม่ต้องวิตกว่าจะต้องแพ้กันในทางจำนวนคะแนน  พอเมื่อใดไม่มีความเชื่อได้แน่นอนในข้อนี้แล้ว  ฤาเมื่อท้าลงคะแนนกันแล้วแพ้ฃ้างฝ่ายผู้คัดค้าน ฝ่ายรัฐบาลก็ลาออกจากตำแหน่ง  ผู้คัดค้านเฃ้ารับตำแหน่งแทนต่อไป  กลับกันไปมาอยู่เช่นนี้  อีกประการ ๑  ในขณะเมื่อปาร์ตีใดได้รับน่าที่ปกครอง  ฤาพูดตามศัพท์อังกฤษว่า “ถืออำนาจ” (อินเปาเวอร”)  ปาร์ตีนั้นก็เลือกเอาแต่คนที่มีความเห็นพ้องกับตนไปตั้งแต่งไว้ในตำแหน่งน่าที่ต่างๆ ในรัฐบาล  เปนทางรางวัลผู้ที่เปนพวกพ้องและที่ได้ช่วยเหลือปาร์ตีในเมื่อกำลังพยายามหาอำนาจอยู่นั้น  พอเปลี่ยนปาร์ตีใหม่ได้เฃ้าถืออำนาจ  เจ้าน่าที่ต่างๆ ก็เปลี่ยนไปด้วยทั้งชุด  ตั้งแต่ตัวเสนาบดีลงไป  การเปลี่ยนเจ้าน่าที่ทำการงานของรัฐบาลทั้งชุดเช่นนี้  ถ้ายิ่งเปลี่ยนบ่อยเท่าใดก็ยิ่งชอกช้ำมากเท่านั้น  การงานก็อาจที่จะเสียหายไปได้มากๆ  เพาะบางทีคนพวก ๑ ได้เริ่มคิดไว้แล้ว  แต่ยังมิทันจะได้กระทำไปให้สำเร็จก็มีคนอื่นเฃ้ามารับน่าที่เสียแล้ว  จึ่งต้องจัดให้มีคนจำพวก ๑  ซึ่งเรียกว่า “ฃ้าราชการประจำ” (“เปอรมะเนนต์ ออฟฟิเชียล”) ไว้ในกระทรวงและกรมต่างๆ ทุกแห่ง  เพื่อเปนผู้ดำเนินการงานของรัฐบาลไปตามระเบียบเรียบร้อย  ซึ่งไม่ผิดอะไรกันกับวิธีจัดระเบียบราชการในรัฐบาลแห่งเมืองอันพระเจ้าแผ่นดินมีอำนาจเต็มเปนผู้ปกครองนั้นเอง  เสนาบดีฤาพวกหัวน่ากรมกระทรวงที่ผลัดกันเฃ้าออกอยู่นั้น  เปนแต่ผู้คิดทางการที่จะดำเนินต่อไปอย่างไร  เมื่อคิดแล้วก็ต้องมอบให้พวกฃ้าราชการประจำเปนผู้ทำต่อไป  จะทำได้แค่ไหนก็แค่นั้น  พวกฃ้าราชการประจำเหล่านี้คือผู้ที่ต้องเหน็จเหนื่อยจริง กรากกรำลำบากจริง  นั่งออฟฟิซจริง  ทำการงานของรัฐบาลจริง  แต่พวกเหล่านี้ฤาได้รับบำเหน็จรางวัลลาภยศฤาถานันดรศักดิ์  หามิได้เลย  ผู้ที่ได้รับบำเหน็จรางวัลคือผู้ที่มาขี่หลัง  คือผู้ที่เฃ้ามาครอบ  คือผู้ที่เปนพวกพ้องของหัวน่าปาร์ตีที่ถืออำนาจ  ถ้าแม้ว่าใครๆ ที่มีความรู้พอและพยายามพอที่จะอ่านหนังสือพิมพ์ต่างประเทศอยู่เนืองๆ  และหมั่นตรวจดูอยู่ว่าผู้ที่ได้รับบำเหน็จมีเลื่อนยศ  รับยศใหม่  รับตรา เปนต้นเหล่านี้  คือใครบ้าง  แล้วและสืบสาวดูว่าบุคคลนั้นๆ  ได้กระทำความชอบแก่บ้านเมืองอย่างไร  คงจะได้แลเห็นว่า  ในจำพวกที่รับบำเหน็จนั้น  มีผู้ที่ปรากฏว่าได้ทำประโยชน์แก่ชาติบ้านเมืองจริงๆ เปนส่วนน้อย  (และทหารบกทหารเรือนานๆ จะมีนามอยู่ในหมู่ผู้รับบำเหน็จสูงๆ สักคราว ๑)  โดยมากเปนผู้มีทรัพย์เท่านั้น  ซึ่งเห็นได้ว่าการมีทรัพย์นั้นแลเปนเครื่องที่จะบันดาลให้คนได้รับบำเหน็จ  ดูๆ ไปก็คล้ายๆ ซื้อบำเหน็จกันได้  วิธีซื้อนั้น  ไม่ใช่ซื้อกันตรงๆ มักเปนไปทางอ้อม  คือทางส่งเงินไปเฃ้าเรี่ยรายในเงินกองกลางของปาร์ตี  ปาร์ตีใช้เงินกองกลางนี้สำหรับใช้จ่าย  ในเมื่อจัดให้คนพวกของตนไปรับเลือกเปนเมมเบอร์ปาร์ลิยเมนต์  นับว่าเปนอันได้ช่วยโดยทางอ้อมเพื่อให้ปาร์ตีได้ถืออำนาจ  ยกเอาว่าเปนความชอบแก่รัฐบาล  จึ่งให้บำเหน็จเพื่อแสดงความพอใจของปาร์ตี  เมื่อเปนเช่นนี้แล้ว  ก็ไม่ผิดอะไรกันกับเจ้าแผ่นดินบำเหน็จรางวัลแต่พวกพ้องของตนที่ประจบประแจง  บำเหน็จรางวัลก็คงเปนอันไปได้แก่คนหัวประจบอีก  ไม่ใช่ได้แก่ผู้ที่ทำการงานจริงๆ  คราวนี้ก็จะต้องแก้ขึ้นว่าถึงแม้ว่าจะเปนไปได้เช่นนั้นก็ตาม  แต่ถ้าเมื่อใดปรากฏขึ้นว่าคณะซึ่งเปนรัฐบาลมีความลำเอียงฤาประพฤติไม่เปนยุติธรรม  ราษฎรก็อาจจะร้องขึ้นได้  และอาจที่จะร้องให้คณะนั้นออกจากน่าที่รัฐบาลเสียได้  เพราะฉนั้น คณที่เปนรัฐบาลจำจะต้องระวังอยู่  ข้อนี้จริงและถูกต้องทุกประการตามตำรา  แต่ตามความจริงนั้นเปนอยู่อย่างไร?  ประชาชนจะร้องทักท้วงขึ้นได้ก็โดยอาไศรยปากแห่งผู้แทนซึ่งได้เลือกให้เข้าไปเปนสมาชิกแห่งรัฐสภาอยู่แล้ว  ก็ในที่ประชุมปาร์ลิยเมนต์นั้น  แล้วแต่คะแนนมากและน้อยมิใช่ฤา  พวกรัฐบาลเฃามีอยู่มาก  ถึงใครๆ จะร้องจะว่าเฃาอย่างไรๆ  เมื่อท้าลงคะแนนกันเฃ้าเมื่อใดก็ต้องแพ้เฃาเมื่อนั้น  อีกประการ ๑ การให้บำเหน็จรางวัลผู้ที่ให้เงิน “ลงขัน” กองกลางของปาร์ตีนั้น  มิใช่ว่าจะกระทำอยู่แต่เฉภาะปาร์ตีเดียว  ย่อมจะกระทำอยู่ด้วยกันทุกปาร์ตี  เพราะฉนั้นปาร์ตีใดจะร้องติเตียนอีกปาร์ตี ๑  ก็ไม่ใคร่ถนัด  เปนเรื่อง “ไก่เห็นตีนงู  งูเห็นนมไก่” อยู่ฉนี้  จึ่งเปนการยากที่จะแก้ไขให้หายไปได้  ข้อที่แสดงมาแล้วนี้  ก็นับว่าร้ายอยู่แล้ว  แต่ยังมีต่อไปอีกขั้น ๑ คือ
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 31  เมื่อ 28 ก.ค. 12, 18:28

๔. คณะฤาปาร์ตีทั้ง ๒ ฝ่ายต่างตกลงกันเสียว่าจะผลัดเปลี่ยนกันเฃ้าเปนรัฐบาล  ผลัดเปลี่ยนกันมีโอกาศได้อุดหนุนพวกพ้องของตน  เมื่อได้ตกลงกันเช่นนี้แล้วเมื่อใด  ก็แปลว่าถึงที่สุดแห่งความเลวทราม  เพราะเปนอันหมดทางที่แก้ไขได้  ในระหว่างที่ปาร์ตี “ก” เปนรัฐบาล  ก็อุดหนุนพวกพ้องของตนเสียเต็มที่  ฝ่ายปาร์ตี “ข”  ก็ไม่คัดค้านจริงจังอันใด  จะคัดค้านบ้างก็แต่พอเปนกิริยา  เพราะนึกอยู่ว่าไม่ช้าก็จะถึงคราวฝ่ายตนได้เฃ้าไปนั่งกินบ้าง  ความเสียหายอันนี้มีอยู่แก่ปาร์ลิยเมนต์แทบทุกเมือง  แม้แต่ที่เมืองอังกฤษซึ่งนิยมกันว่าเปนประเทศซึ่งมีปาร์ลิย์เมนต์อันดีที่สุด  ก็ยังมีคนอังกฤษเองร้องติอยู่ว่า ในเรื่อง “ฃายบำเหน็จ” นั้น  ถึงแม้ใครๆ จะร้องขึ้นในปาร์ลีย์เมนต์ก็ไม่เปนผลอันใด  เพราะทั้งคณะลิเบอรัลและคอนเซอร์วะติฟพากันตัดรอนปัญหาเสีย  มิได้ทันต้องถึงได้ปฤกษากันฤาลงคะแนนกันเลย  ฝ่ายพระเจ้าแผ่นดินนั้น  ถึงแม้ว่าจะทรงทราบเรื่องนี้  ก็ไม่มีอำนาจจะทรงแก้ไขอย่างใดได้  การที่จะประทานบำเหน็จรางวัลแก่ผู้ใด  ก็ต้องเปนไปตามความแนะนำของเสนาบดีเปนพื้น  จะมีที่เลือกประทานเองได้บ้างก็แต่พวกฃ้าราชการในราชสำนักนี้เท่านั้น  ก็เมื่อในประเทศอังกฤษเปนเช่นนี้แล้ว  ในประเทศอื่นจะเปนอย่างไร
การมีปาร์ลีย์เมนต์  ฤาเปนรีปับลิคไม่ตัดการฉ้อโกงฤาการไม่สม่ำเสมอให้หมดได้  แต่ว่า-ข้อความที่ได้กล่าวมาแล้วนี้  ก็เปนแต่หัวข้อบางข้อ  ซึ่งตามความเห็นของเราเห็นว่าเปนสำคัญ  และโทษทั้งปวงที่ได้แสดงมาแล้วนั้น  อาจจะมีได้ไม่เฉภาะแต่ที่ในประเทศซึ่งใช้ลักษณปกครองเปน “ลิมิเต็ดมอนาร์คี”  ถึงในประเทศที่ใช้ลักษณปกครองเปน “รีปับลิค” ก็มีได้เหมือนกัน  การมีปาร์ลิยเมนต์ก็ดี  ฤาถึงแม้ว่าจะเปลี่ยนลักษณปกครองเปนรีปับลิคไปทีเดียวก็ดี  ไม่ตัดการฉ้อโกงฤาการไม่สม่ำเสมอให้หมดไปได้เลย  ถ้าผู้ถืออำนาจยังมีทางที่เลือกให้บำเหน็จรางวัลแก่ใครๆ ได้ตามใจอยู่ตราบใด  คนสอพลอและหัวประจบก็คงยังต้องมีอยู่ตราบนั้น  จะผิดกันก็แต่ชื่อที่เรียกผู้มีอำนาจเท่านั้น  แต่ว่ามันก็มีข้อที่ควรคำนึงต่อไปอยู่บ้าง  และถึงแม้ว่าจะเปนข้อที่ไม่พึงใจก็จำจะต้องมองดูตรงๆ คือ
“เสียงประชาคือเสียงของเทวดา”   ความนิยมของคนโดยมากในสมัยนี้ทั่วไปมีอยู่ว่า  การที่มอบอำนาจไว้ในมือบุคคลคนเดียว  ให้เปนผู้จัดการปกครองชาติบ้านเมืองคนเดียวนั้น  ต้องได้คนที่ ดีจริง เก่งจริง สามารถจริง  จึ่งจะควรไว้ใจให้เปนผู้ครอบครองได้  โดยไม่ต้องเกรงว่าบุคคลผู้นั้นจะใช้อำนาจในที่ผิดและไม่เปนประโยชน์ฤาความศุขแห่งประชาชน  แต่การที่จะหาคนเช่นนี้ก็มิใช่ง่าย  และถ้าพระเจ้าแผ่นดินไม่เปนผู้ที่เหมาะแก่น่าที่แล้ว  จะเปลี่ยนตัวก็ยาก  นอกจากที่เจ้าแผ่นดินนั้นเองจะมีความรู้สึกว่าตนไม่มีความสามารถพอที่จะทำน่าที่ได้  และมีความรักชาติพอ  มีใจเด็ดเดี่ยวพอที่จะสละอำนาจ  สละลาภยศและราไชสวรรย์จึ่งหลีกไปเสีย  เพื่อให้ผู้ที่ประชาชนนิยมมากกว่าได้มีโอกาศทำการเพื่อบังเกิดผลอันใหญ่ยิ่งขึ้นแก่ชาติบ้านเมือง  แต่เจ้าแผ่นดินที่จะรู้สึกตัวว่าไม่สามารถนั้นก็หายาก  และถึงแม้ว่าจะมีบ้าง  การที่จะออกจากน่าที่ก็ใช่ว่าจะทำไปได้โดยง่าย  อาจจะมีเครื่องขัดขวางอยู่หลายประการ  เมื่อเปนเช่นนี้แล้ว  มหาชนจึ่งได้พากันค้นหาทางแก้ไขความไม่แน่นอนแห่งลักษณปกครองโดยมีเจ้าแผ่นดินถืออำนาจสิทธิ์ฃาดนั้นโดยวิธีใดวิธี ๑  บางเมืองก็แก้ไปทางมี “คอนสติตูชั่น” ขึ้น  และตัดอำนาจเจ้าแผ่นดินเสียทั้งหมด  คงเหลือให้ไว้แต่อำนาจที่จะห้ามกฎหมาย (“วีโต”) บางครั้งบางคราว  กับการทำสงครามและเลิกสงคราม  แต่ถึงแม้อำนาจทั้ง ๓ นี้  ก็ไม่ได้ใช้โดยลำพัง  คงต้องใช้ได้ด้วยความแนะนำของคณะเสนาบดีโดยมาก  แต่ถึงแม้ตัดอำนาจเจ้าแผ่นดินลงไปปานนี้แล้ว  บางชาติก็เห็นไม่พอ  จึ่งเลยเปลี่ยนเปนรีปับลิคไปอีกชั้น ๑  จึ่งเห็นได้ว่า  ความนิยมของมหาชนเวลานี้เดินไปหาทางประชาธิปตัย  คือทางให้อำนาจอยู่ในมือของประชาชนเอง  ต้องการที่จะมีเสียงฤามีส่วนในการปกครองชาติบ้านเมืองของตนเองให้มากที่สุดที่จะเปนไปได้  และเมื่อความเห็นของคนมากๆ ตรงกันเฃ้าแล้ว  ก็ยากที่จะทัดทานฤาคัดค้านไว้ได้  คงจะต้องเปนไปตามความเห็นอันนั้นคราว ๑  จะผิดกันก็แต่เวลาจะช้าฤาเร็วเท่านั้น  นักปราชญ์โรมันจึ่งได้แสดงเปนภาษิตไว้ว่า “Vox populi vox dei”  แปลว่า “เสียงประชาคือเสียงเทวดา”  ขยายความว่าเทวดาเปนผู้ที่นิยมกันว่ามีอานุภาพใหญ่สามารถจะบันดาลให้สิ่งทั้งปวงเปนไปตามปรารถนาทุกประการ  อันประชาชนซึ่งมีความประสงค์ตรงกันอยู่แล้วโดยมาก  และได้แสดงความประสงค์อันนั้นให้ปรากฏชัดแล้ว  ก็ไม่มีผู้ใดจะสามารถทัดทานได้  จึ่งนับว่ามีอานุภาพเปรียบด้วยเทวดาฉนี้  เมื่อปรากฏอยู่เช่นนี้แล้ว  ก็ไม่มีข้อควรสงไสยเลยว่า  เมืองไทยเรานี้คงจะต้องเปนไปอย่างประเทศอื่นๆ ได้เปนมาแล้ว  คงจะต้องมี “คอนสตูติชั่น”  อัน ๑ เปนแน่แท้  ถึงแม้การมี “คอนสตูติชั่น” จะมีโทษเช่นที่กล่าวมาแล้วก็ตาม  แต่ลักษณะปกครองโดยมอบอำนาจไว้ในมือพระเจ้าแผ่นดินผู้เดียวก็มีโทษอยู่เหมือนกัน  (ซึ่งในเวลาบัดนี้มีผู้แลเห็นและรู้สึกอยู่หลายคน!)  จึ่งตกอยู่ในปัญหาว่าจะเลือกเอาอย่างไหน  และคำตอบปัญหาอันนี้  ก็มีอยู่ว่าแล้วแต่ประชาชนจะเห็นชอบและประสงค์ทั่วกันเถิด  ส่วนตัวเราเองนั้นย่อมรู้สึกอยู่ดีว่า  การเปนเจ้าแผ่นดินมีความลำบากปานใด  คับใจเพียงใด  ที่ยังคงอุส่าห์ทำการไปโดยเต็มสติกำลังและความสามารถก็โดยหวังใจให้บังเกิดผลอันดีที่สุดแก่ชาติบ้านเมืองของเราเท่านั้น  การใดๆ ที่เราจะทำไปให้บรรลุถึงซึ่งความสำเร็จได้  ก็ด้วยอาไศรยความพร้อมใจแห่งฃ้าราชการอันเปนผู้รับน่าที่ทำการงานของรัฐบาล  ตั้งแต่เสนาบดีลงไปจนถึงผู้มีตำแหน่งน่าที่น้อยๆ  อาไศรยความไว้ใจแห่งท่านเหล่านี้อันมีอยู่ในตัวเรา  ไว้ใจว่ามีความมุ่งดีและมีความสามารถพอที่จะเปนหัวน่าเปนนายเหนือเฃาทั้งหลายได้  ถ้าเมื่อใดความไว้ใจอันนี้เสื่อมถอยลงไป  ฤาสิ้นไปแล้ว  ตัวเราก็เท่ากับท่อนไม้อัน ๑  ซึ่งบุคคลได้ทำขึ้นไว้เปนเตว็ดตั้งไว้ในศาล  จะมีผู้เคารพนับถือก็แต่ผู้ที่มีปัญญาถ่อยปราศจากความคิดเท่านั้น.
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 32  เมื่อ 28 ก.ค. 12, 20:26

 V_Mee
อ้างถึง
ประชาธิปไตยในทางพระพุทธศาสนาที่เราถือปฏิบัติกันมานับร้อยนับพันปี
ผมยังไม่ค่อยแจ้งในคำอธิบายของคุณวีหมี จึงได้เข้าไปค้นคว้าต่อในเน็ทและเจอบทความนี้ อ่านแล้วค่อยเข้าใจความที่ท่านพยายามสื่อ ขออนุญาตเอามาลงให้อ่านกัน แต่ทั้งนี้มิใช่หมายความว่าผมได้เห็นด้วยกับประชาธิปไตย(หรือควรจะเรียกว่าสังฆาธิปไตย)ที่ท่านว่าทั้งหมด

ประชาธิปไตยในพุทธศาสนา
พระมหาประเสริฐ ธมฺมเสฏฺโฐ

เมื่อสองอาทิตย์ที่ผ่านมาได้รับนิมนต์เป็นวิทยากรในหัวข้อ"ประชาธิปไตยในพุทธศาสนา"ของสภาเด็กและเยาวชน อ.ไชยปราการ  ในตอนแรกที่ได้รับทราบหัวข้อที่ต้องบรรยายก็รู้สึกว่า เอ.. จะบรรยายยังไงดีหนอ  ก็มานั่งขบคิดปัญหาพิจารณาเรื่องราวในพุทธศาสนา  จึงทำให้กระจ่างแจ้งว่า อ้อ..ที่จริงประชาธิปไตยนี้มีในพุทธศาสนาตั้ง ๒,๐๐๐ กว่าปีผ่านมาแล้ว  
ประชาธิปไตยหรือ "Democracy"เป็นคำที่ใช้มานานตั้งแต่สมัยกรีกโบราณรุ่งเรือง ซึ่งมุ่งแสดงถึงการปกครองที่ให้เสรีภาพแก่ประชาชนในการแสดงออก มีส่วนร่วมในการปกครองโดยเลือกผู้แทนเข้าไปนั่งในสภาบริหารและสภานิติบัญญัติ  ผู้ให้คำนิยามแก่การปกครองแบบประชาธิปไตยที่กระชับและสั้น คือ ลินคอล์น ที่ว่าประชาธิปไตย คือ การปกครองของประชาชน  โดยประชาชน และเพื่อประชาชน
ในพุทธศาสนานั้นพระพุทธเจ้าเองทรงปกครองดูแลเหล่าพุทธสาวกด้วยประชาธิปไตยเช่นกัน แม้ในยุคสมัยนั้นมีการแบ่งชั้นวรรณะกันอย่างรุนแรง  แต่เมื่อพระองค์ก็ทรงเลือกที่จะให้เหล่าพุทธสาวกที่มาจากต่างชนชั้นกันอยู่ร่วมกันอย่างผู้ที่มีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมเสมอกัน  ด้วยพระองค์ทรงเห็นว่า มนุษย์มีศักยภาพที่จะพัฒนาตนเสมอกันไม่ว่าจะยากดีมีจนอย่างไร  พระองค์จึงทรงบัญญัติพระวินัยเพื่อเป็นแนวในการประพฤติปฏิบัติของพระสงฆ์ แต่การบัญญัติวินัยนั้นก็ทรงบัญญัติเป็นพระสงฆ์มิได้บัญญัติตามลำพัง ต้องให้เกิดเรื่องก่อน แล้วประชุมสอบสวนแล้วบัญญัติพระวินัยท่ามกลางพระสงฆ์ ด้วยความเห็นชอบของพระสงฆ์ต่างพร้อมใจกันนำไปปฏิบัติ การทำกรรมต่างๆ ของสงฆ์ ยกเว้นอปโลกนกรรม ล้วนให้ทำเป็นการสงฆ์ทั้งสิ้น กล่าวคือ
ญัตติกรรม-ทำด้วยสงฆ์จตุวรรค คือ ๔ รูปขึ้นไป เช่นการสวดปาติโมกข์              
ญัตติทุติยกรรม-ทำด้วยสงฆ์ปัญจวรรคคือ ๕ รูปขึ้นไป เช่น เรื่องกฐิน
ญัตติจตุตถกรรม-ทำด้วยสงฆ์ ทสวรรค คือ ตั้งแต่ ๑๐ รูปขึ้นไปยกเว้นในที่กันดาร เช่นการอุปสมบท
การให้มานัตต์ การสวดอัพภาน ก็ต้องใช้สงฆ์ตั้งแต่ ๒๑ รูปขึ้นไป จึงกล่าวได้ว่า
พระวินัย คือ รัฐธรรมนูญ และกฎหมายต่างๆ
พระสงฆ์ คือ สมาชิกสภาผู้แทน
คุณสมบัติของพระสงฆ์ คือ คุณสมบัติของสมาชิก
อำนาจพระสงฆ์ คือ อำนาจอธิปไตย

อธิกรณ์สงฆ์ทั้ง ๔ คือ

ก. วิวาทาธิกรณ์-การขัดแย้งกันเกี่ยวกับธรรมวินัย
ข. อนุวาทาธิกรณ์-การโจทก์กันด้วยอาบัติต่างๆ
ค. อาปัตตาธิกรณ์-การละเมิดอาบัติต่างๆ
ง. กิจจาธิกรณ์-กิจของสงฆ์ที่เกิดขึ้นที่จะพึงทำด้วยสงฆ์จำนวนต่างๆ

ต่างก็จะต้องระงับด้วยวิธีการที่เรียกว่า อธิกรณสมถะ ๗ คือ

๑. สัมมุขาวินัย ระงับต่อหน้าสงฆ์ต่อหน้าบุคคลต่อหน้าวัตถุ
๒. สติวินัย การระงับด้วยการให้เกียรติแก่พระอรหันต์ ผู้มีสติสมบูรณ์
๓. อมูฬหกวินัย การระงับเหตุด้วยการยกเว้นให้แก่ผู้ทำผิดในขณะที่เป็นบ้า คือได้หลงไปแล้ว
๔. เยภุยยสิกา ระงับด้วยเสียงข้างมากลงมติ
๕. ปฏิญญาตกรณะ ระงับด้วยการทำตามปฏิญญา
๖. ตัสสปาปิยสิกากรรม ระงับด้วยการลงโทษศัตรูผู้ถูกสอบสวนแล้วพูดไม่อยู่กับร่องกับรอย ให้การรับแล้วปฏิเสธ ปฏิเสธแล้วรับเป็นต้น
๗. ติณวัตถารกวินัย ระงับด้วยการประนีประนอมทั้งสองฝ่าย ดุจเอาหญ้าทับสิ่งสกปรกไว้ไม่ให้มีกลิ่น
 ทั้งอธิกรณ์และการระงับต้องทำเป็นการสงฆ์เป็นส่วนใหญ่ ดุจการตั้งกรรมาธิการฝ่ายต่างๆ ฉะนั้นจึงเป็นการทำงานเป็นกลุ่มเป็นทีม และในการประชุมทำกรรมต่างๆ เป็นการสงฆ์นั้น ต้องมีมติเป็นเอกฉันท์ จริงๆ ถ้ามีข้อข้องใจมีสิทธิ ยับยั้ง (Veto) ได้
แม้เพียงเสียงเดียวสงฆ์ทั้งหมดก็ต้องฟังดังท้ายกรรมวาจาว่า
"ยสฺสายสฺมโตขมติ...
.........โส ตุณฺหสฺสยสฺส น ขมติ โส ภาเสยฺย"
"ถ้ากรรมนี้ ชอบใจต่อท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเงียบ ถ้าไม่ชอบใจต่อท่านผู้ใดท่านผู้นั้นพึงพูดขึ้น"
อนึ่งการทำกรรมอันใดก็ตาม พระวินัยจะต้องพร้อมเพรียงกัน ดังคำขึ้นต้น ของกรรมวาจาว่า
"ยทิ สงฺฆสฺสปตฺตกลฺลํ"
ซึ่งแปลว่า "ถ้าความพรั่งพร้อมของสงฆ์ พร้อมแล้ว... สงฆ์พึงทำ..." ดังนี้

นี่แหละคือ ประชาธิปไตยที่มีในพุทธศาสนามาเนิ่นนานแล้ว
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 33  เมื่อ 28 ก.ค. 12, 21:51

เนื่องจากมีงานนอกเรือนไทยเข้ามาคั่นเป็นระยะ กว่าดิฉันจะตามดูคลิปทั้ง 2 ตอนได้กระทู้ก็วิ่งฉิวไปไหนๆ จนถึงหน้า 3 เข้าไปแล้ว 
ดูแล้ว คลิปในตอนแรกตัดต่อเร็วมาก อาจเป็นเพราะเป็นตอนเกริ่นเข้าสู่เรื่อง  ก็เลยตัดคำพูดของนักวิชาการแต่ละท่านเหลือคนละ 2-3 ประโยค   บางทีก็เหมือนยังพูดไม่จบ  เลยฟังไม่ค่อยจะรู้เรื่องว่าตัดต่อเร็วไปหรือท่านพูดผิดกันแน่

ขอต่อพรุ่งนี้นะคะ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 34  เมื่อ 29 ก.ค. 12, 08:06

ตอนที่๓ครับ

บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 35  เมื่อ 29 ก.ค. 12, 09:14

ผมนั่งดูสารคดีทั้งสามตอนนี้อย่างมีสมาธิ และพยายามคิดตามไปกับวิทยากรทุกท่าน ซึ่งมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่ใช่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับจุดยืนแต่ละท่านนั้นโดยสิ้นเชิง

อย่างไรก็ดี พอถึงบทสรุปของสารคดีนี้ ไฉนจึงมาตรงกับที่ผมเห็นด้วยอย่างหมดจรด ซึ่งผมพยายามจะสื่อออกไปในกระทู้ที่ผมเขียนๆมาโดยตลอด ก็ไม่ทราบได้เหมือนกัน

ขอบคุณThai PBSและผู้นำเสนอสารคดีดีๆชุดนี้ครับ


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 36  เมื่อ 29 ก.ค. 12, 10:02

ดูครบทั้ง 3 ตอนแล้วค่ะ
ดูตอนแรกค่อนข้างอึดอัด   เพราะฟังผู้ให้สัมภาษณ์บางท่านแล้วตะหงิดๆในใจ    แต่ยกประโยชน์ให้ว่า มีการตัดต่อจนเหลือประโยคสั้นๆอาจทำให้คนดูฟังไม่ถนัด  ได้ใจความไม่ครบ เลยฟังเหมือนพูดผิดไป
เช่นคุณสุลักษณ์พูด( นาทีที่ 32.16 ) ถึงการมองจากข้างบนกับข้างล่างว่าไม่เหมือนกัน  ข้างบนพระราชกรณียกิจดูดี  มีพระมหากษัตริย์ที่ประเสริฐ แต่ข้างล่างเราไม่มีสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ซึ่งเป็นข้อเสียเปรียบข้อหนึ่งของสนธิสัญญาเบาริง   จากนั้นก็ตัดไป
เลยฟังเหมือนกับว่า สิทธิสภาพนอกอาณาเขตเป็นขยะซุกใต้พรม เป็นปัญหาหนึ่งในสังคมที่ไม่ยอมรับโดยผู้บันทึกประวัติศาสตร์รุ่นเก่า จนนำไปสู่ปฏิบัติ 2475   แต่ความจริงในรัชกาลที่ 7 เรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไปแล้ว เพราะสยามได้สิทธิสภาพกลับคืนมาตั้งแต่รัชกาลที่ 6   หลังสยามตัดสินใจเข้ากับฝ่ายพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่ 1    ทหารไทยไปร่วมเดินสวนสนามอยู่ที่ประตูชัยของฝรั่งเศส    แม้ไปเอาตอนเขารบกันเสร็จก็ถือว่าเราส่งทหารไปร่วมกับฝ่ายชนะ เลยได้ผลดี ยกเลิกสนธิสัญญาเบาริงได้

ความอึดอัดอีกอย่างคือ  รู้สึกว่านักวิชาการหลายๆท่าน มองประชาธิปไตยตรงแค่ถ้อยคำ   เช่นกบฏ ร.ศ. 130 ก็ถือกันว่าเป็นการเรียกร้องประชาธิปไตยขั้นนำร่องของ 2475   แต่ไม่ได้มองลึกลงไปว่า ที่เรียกว่าประชาธิปไตยนั้น มันจริงหรือเปล่า     
ที่มาของกบฏพวกนี้ ก็เห็นชัดจากคำให้การเมื่อแผนแตกเพราะเกลือเป็นหนอน ว่าเกิดจากความไม่พอใจพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นส่วนตัว     จึงคิดล้มล้างด้วยการวางแผนลอบปลงพระชนม์  และวางแผนจะยกสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกฯขึ้นนั่งบัลลังก์แทน    แต่ในเมื่อตัวเองเป็นคนก่อการ จะยกกษัตริย์พระองค์ใหม่ให้มีอำนาจแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็ทำไม่ได้อยู่ดี  หัวจะขาดกันหมด    จึงตั้งข้อแม้ว่าเป็นระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ คือถูกจำกัดพระราชอำนาจ   แล้วเรียกระบอบใหม่นี้ว่าประชาธิปไตยซึ่งเป็นระบบศิวิลัยซ์ในตะวันตกในยุคนั้น
ทั้งหมดนี้พวกกบฏเพียงแต่พูดถึงประชาธิปไตยอย่างผิวเผิน   ไม่ได้มีการวางแผนว่า ทำอย่างไรอำนาจการปกครองจะกระจายไปถึงชาวบ้านชาวเมือง  ด้วยวิธีการอย่างเป็นรูปธรรม   กล่าวคือไม่ได้เน้นตรงนี้เป็นหลัก  หากไปเน้นการเปลี่ยนแปลงจากพระเจ้าอยู่หัวพระองค์เก่าเป็นหลัก
นอกจากนี้ ก็ไม่มีใครพูดว่าเมื่อพวกนี้ได้รับอภัยโทษแล้ว ก็เขียนหนังสือสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และทำบุญถวายประจำปีทุกปี     
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 37  เมื่อ 29 ก.ค. 12, 10:05

วิทยากรเกือบจะชุดเดียวกัน พูดกันแบบเต็มๆ

บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 38  เมื่อ 29 ก.ค. 12, 12:02

เรื่องการเจรจาแก้ไขสิทธิสภาพนอกอาณาเขตนั้น  เื่องจากสนธิสัญญาที่ทำไว้กับ ๑๔ ชาติโดยใช้สัญญาเบาริงเป็นต้นแบบนั้น  เป็นสนธิสัญญาที่ไม่มีกำหนดสิ้นสุด  ไม่เปิดช่องให้แก้ไข  ในการแก้ไขแต่ละครั้งในสมัยรัชกาลที่ ๕ จึงต้องมีการให้ประโยชน์แลกเปลี่ยนกับการแก้สัญญาทุกครั้ง

ในสมัยรัชกาลที่ ๖ เมื่อสยามเป็นหนึ่งในชาติผู้ชนะสงคราม  จึงได้เปิดเจรจาขอแก้ไขสนธิสัญญากับทั้ง ๑๔ ประเทศนั้น  และได้มีการลงนามในสนธิสัญญาฉบับใหม่ที่มีเงื่อนไขว่า ทั้ง ๑๓ ประเทศยินยอมยกเลิกอำนาจศาลต่างประเทศหรือศาลกงสุลเมื่อสยามประกาศใช้ประมวลกฎหมายคือ ประมวลกฎหมายอาญา  ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  และประมวลกฎหมายวิธีความอาญา ครบทั้ง ๔ ฉบับแล้ว  อีก ๑ ประเทศคือเยอรมันนั้นได้มีการทำสัญญาฉบับใหม่ยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตไปตั้งแต่การเจรจาสงบศึกหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ แล้ว

สนธิสัญญาฉบับใหม่ที่ทำกันมาในสมัยรัชกาลที่ ๖ นั้นติดพันมาจนถึงต้นรัชกาลที่ ๗  จึงได้มีการให้สัตยาบันสนธิสัญญา ๒ ฉบับสุดท้ายในวันที่  ๓๐  มีนาคม  พ.ศ. ๒๔๖๙  และในวันนั้นล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๗ ได้จัดให้มีการพระราชทานเลี้ยงวันเสมอภาคของกรุงสยามที่พระที่นั่งอัมพรสถาน  โดยโปรดเกล้าฯ ให้เชิญพระบรมอัฐิในรัชกาลที่ ๔ ที่ ๕ และที่ ๖ ซึ่งทรงร่วมกันดำเนินพระบรมราชวิเทฌศบายในการแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมนี้มาทรงเป็นพยานในการฉลองครั้งนั้นด้วย

เมื่อรัฐบาลสยามประกาศใช้ประมวลกฎหมายทั้ง ๔ ฉบับครบถ้วนใน พ.ศ. ๒๔๗๗ แล้ว  ต่อมาวันที่ ๑ ตุลาคม  พ.ศ. ๒๔๗๘ จึงมีการตราพระธรรมนูญศาลยุติธรรมฉบับใหม่  ที่มีผลให้ยกเลิกศาลต่างประเทศหรืออีกนัยหนึ่งคือเป็นการยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตไปจากอป่นกินไทยโดยสมบูรณ์  และบรรดาคดีความที่ค้างอยู่ในศาลต่างประเทศได้โอนมาพิจารณาต่อในศาลยุติธรรม

เมื่อยกเลิกศาลต่างประเทศไปแล้ว  เพื่อให้ผลของการแก้ไขสนธิสัญญาในสมัยรัชกาลที่ ๖ มีผลสมบูรณ์  รัฐบาลในสมัยประชาธิปไตยจึงมีการเจรจาทำสนธิสัญญาฉบับใหม่กับ ๑๓ ประเทศโดยเดินตามสนธิสัญญาที่รัฐบาลรัชกาลที่ ๖ ทำกับเยอรมันเมื่อเจรจาสงบศึก  และมีการลงนามและให้สัตยาบันเสร็จสมบูรณ์ใน พ.ศ. ๒๔๘๒  จึงมีการฉลองประเทศพ้นจากสิทธิสภาพนอกอาณาเขตในวันที่  ๒๔  มิถุนายน  พ.ศ. ๒๔๘๒ เป็นการใหญ่โต  และมีประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาว่า การแก้ไขสนธิสัญญาเพื่อยกเลิกสิทธินอกอาณาเขตครั้งนี้เป็นผลงานอันใหญ่ยิ่งของหลวงประดิษฐมนูธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

เพราะเหตุดังได้กล่าวมา  จึงเป็นคำตอบที่ท่านอาจารย์ใหญ่กล่าวไว้ว่า " สิทธิสภาพนอกอาณาเขตเป็นขยะซุกใต้พรม เป็นปัญหาหนึ่งในสังคมที่ไม่ยอมรับโดยผู้บันทึกประวัติศาสตร์รุ่นเก่า"
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 39  เมื่อ 29 ก.ค. 12, 12:15

หรืออีกนัยหนึ่ง   
มีการถือว่าเป็นผลงานยิ่งใหญ่ของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม  ไม่ใช่ผลงานที่พยายามแก้ไขกันมาตั้งแต่รัชกาลที่ 5  จนสัมฤทธิ์ผลเป็นครั้งแรกในรัชกาลที่ 6   และมีการฉลองความสำเร็จไปแล้วเมื่อพ.ศ. 2469   หกปีก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 40  เมื่อ 29 ก.ค. 12, 12:37

คลิปทั้ง 3 ชุดนี้ ชุดที่ 3 ดีที่สุดในความเห็นดิฉัน   ตอบอะไรหลายอย่างได้กระจ่าง แม้ว่าออกมาในรูปความเห็น  แต่ก็เป็นความเห็นที่ให้คำตอบชัดเจน
ความคิดที่เกิดขึ้นจากการดูตอนท้ายๆ ฟังความเห็นของคุณรสนา โตสิตระกูลและผู้บรรยาย ก็เกิดความคิดขึ้นมา(ซึ่งเคยกล่าวไว้ ณ ที่ใดที่หนึ่งในเรือนไทยก่อนหน้านี้แล้ว ) ว่า ถ้าเราเปลี่ยนคำว่าระบอบประชาธิปไตย เป็นระบอบรัฐสภา (parliamentary system) บางทีจะมองเห็นภาพในอดีตชัดกว่านี้ ว่าคณะราษฎร์ทำอะไร   และเหตุการณ์ทางการเมืองในยุคต่อๆมา คืออะไรกันแน่

ทั้งนี้เพราะประชาธิปไตย เป็นคำที่ขลังและศักดิ์สิทธิ์ในความรู้สึกของคนไทย     เป็นคำที่ยกขึ้นมาครั้งใดก็ให้ความรู้สึกที่ดีงามน่าเลื่อมใส   ไม่มีใครกล้าคัดค้านหรือพูดว่าไม่เอา   เพราะเชื่อว่าประชาธิปไตยเป็นระบอบดีที่สุดของการปกครอง   แม้แต่คอมมิวนิสต์เองก็บอกว่าเป็นระบอบของมวลชน  คือประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดิน     ถ้าพูดอย่างนี้คอมมิวนิสต์ก็เป็นประชาธิปไตยเหมือนกัน เช่นเดียวกับประชาธิปไตยของไทย      ส่วนทางปฏิบัติเป็นอย่างไร เหมือนกันหรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

แต่ถ้าดิฉันลองเปลี่ยนคำนี้เป็นระบอบรัฐสภา   อย่างแรกคือความรู้สึกยึดมั่นในความขลังก็จะหายไป    ทำให้ออกความเห็นได้สะดวกใจขึ้น
ก็จะลองใช้คำนี้อธิบายเหตุการณ์ 2475 ดูสักครั้ง  หลังจากดูคลิปชุดนี้จบแล้ว

นักเรียนไทยหนุ่มๆอายุ 26-29 กลุ่มหนึ่งชุมนุมกันที่ฝรั่งเศส แล้วเห็นว่าระบบการเมืองของไทยที่ตระกูลเดียวปกครองกันมาหนึ่งร้อยกว่าปี  ล้าสมัยไปแล้ว  ถึงเวลาที่จะต้องเปลี่ยนเป็นปกครอง กระจายไปในกลุ่มคนที่ไม่ได้มาจากตระกูลเดียวกัน    แต่เป็นคนต่างกลุ่ม ต่างอาชีพ ต่างอะไรกันหลายๆอย่าง เข้ามามีส่วนร่วมในการปกครองบ้านเมือง เรียกว่ารัฐสภา  เพื่อไม่ให้เกิดการผูกขาด เพื่อประโยชน์ของคนกลุ่มเดียว   แต่จะเป็นประโยชน์ที่กระจายกว้างออกไป
ต่อมาเมื่อนักเรียนไทยกลุ่มนี้ทำสำเร็จอย่างง่ายดาย     ก็พยายามตั้งรัฐสภาขึ้น   แต่พบว่ามันไม่ง่ายอย่างที่คิด  คือเลือกคน กระจายจากอาชีพการงานและถิ่นที่อยู่ต่างๆ มาช่วยบริหารบ้านเมืองจริงก็ได้   แต่ก็ต้องไม่ลืมพรรคพวกที่เสี่ยงเป็นเสี่ยงตายร่วมงานกันมาด้วยว่า เมื่อทำสำเร็จแล้วจะทอดทิ้งกันได้กระไร   ก็ต้องดึงกันมาช่วยงานต่อไป
นอกจากนี้ก็นึกขึ้นได้ว่า ประชาชนทั่วไปยังไม่รู้จักไม่เข้าใจระบบใหม่นี้เลย    จึงต้องให้เรียนระยะยาวเสียก่อน  ยังเอาตัวเข้ามาบริหารบ้านเมืองไม่ได้เพราะเขายังไม่รู้จักกันด้วยซ้ำว่ามันคืออะไร   ระหว่างนี้ก็ต้องเอาคนมีวิชาความรู้มาช่วยงานไปก่อน  จนกว่าประชาชนจะพร้อม

รัฐสภาใหม่จึงมีทั้งสภาที่แต่งตั้งและสภาที่เลือกตั้ง   เพราะความจำเป็นที่มารู้กันภายหลังเมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองเสร็จแล้ว  ผ่านมา 80 ปี  ความจำเป็นนี้ก็ยังดำรงอยู่  เพราะก็ยังมี 2 สภาเหมือนเดิม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 41  เมื่อ 29 ก.ค. 12, 13:15

จากนั้น   ผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองบางท่านพบว่า สืบเนื่องจากการยึดอำนาจเป็นสิ่งง่ายกว่าที่คิด    การรักษาอำนาจใหม่ไว้ก็ง่ายเหมือนกัน  เห็นได้จากความล้มเหลวในการยึดอำนาจกลับไประบอบเก่าในปีพ.ศ.  2476      บางคนจึงค้นพบว่าคำตอบอยู่ที่"อำนาจ"  ไม่ใช่ "รัฐสภา"    ความคิดเรื่องอำนาจนิยมจึงงอกงามขึ้น  ส่วนระบอบรัฐสภาเป็นเพียงตัวเสริม
ประกอบกับเหตุการณ์ทางโลกตะวันตกก่อนถึงสงครามโลกครั้งที่ 2   อำนาจนิยมเฟื่องฟูเป็นความหวังใหม่อยู่ในเยอรมนีและอิตาลี   ก็มีส่วนจุดประกายความคิดขึ้นมาเช่นกัน    จากนั้น การชิงอำนาจจึงเกิดขึ้น เพราะใครได้ "อำนาจ" คนนั้นก็พาประเทศไปตามความประสงค์ได้รวดเร็วทันใจกว่าหลายๆคนคิดกันไปคนละทางสองทางอย่างระบอบรัฐสภา
   
ส่วนบรรดาผู้ที่อยู่ในระบอบรัฐสภา ก็ไม่รู้เท่าทันว่าบัดนี้กระแสการเมืองเปลี่ยนไปแล้ว  ยังนึกว่าตราบใดยังมีรัฐสภาอยู่ให้เห็นโต้งๆ   ประเทศก็ต้องอยู่ในระบอบนี้   ที่จริงแล้ว การปกครองมันเปลี่ยนไปโดยไม่ได้ประกาศเป็นทางการ   มารู้ชัดๆ เมื่อระบอบอำนาจนิยมแสดงตัวให้เห็นในเหตุการณ์กบฏพระยาทรงสุรเดช และประกาศผลอย่างเป็นทางการในคดีนักโทษประหาร 2482   จึงได้รู้กันว่าระบอบรัฐสภาต้องหลีกทางให้อำนาจนิยมแล้ว

จาก พ.ศ.2482  ถึงพ.ศ. 2516  ระบอบอำนาจนิยมก็เข้ามาแทนที่   รัฐสภาก็มีบ้างไม่มีบ้าง คั่นอยู่เป็นช่วงๆ    ถึงมีรัฐสภา ก็มีบทบาทไม่กี่มากน้อย   เพราะอำนาจนิยมเป็นตัวนำมากกว่า    ผู้ใช้อำนาจจะเป็นผู้ชี้ถูกชี้ผิดเองว่าอะไรดีอะไรไม่ดีสำหรับประชาชน
จากพ.ศ. 2516-2519 ประชาชนเริ่มแสดงสิทธิ์แสดงเสียงว่าต้องการอะไรบ้าง    แต่ความเห็นของประชาชนก็แตกออกเป็น 2 ส่วน  จนเกิดขวาพิฆาตซ้ายกันขึ้น   จากนั้นระบอบรัฐสภาก็มีบ้างไม่มีบ้างเช่นในอดีตกันเรื่อยมา  จนถึงปัจจุบัน

นี่คือประวัติศาสตร์ของระบอบรัฐสภาของเราเอง ซึ่งไม่จำเป็นต้องไปซ้ำกับแม่แบบรัฐสภาของตะวันตกที่ผู้ก่อการฯไปได้แนวคิดมา   กระแสของโลกคือทุนนิยมในปัจจุบันก็มีผลกระทบต่อสังคมไทยอยู่เช่นกัน     ส่วนจะทำให้ระบอบรัฐสภาเดินต่อไปในแนวไหน  สะท้อนความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่หรือไม่   และข้อสำคัญเป็นผลดีต่อประเทศมากกว่าผลเสียหรือไม่   เราก็ต้องรอดูผลนี้ด้วยกัน  ไม่มีใครตอบล่วงหน้าได้
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 42  เมื่อ 29 ก.ค. 12, 16:48

ขอบคุณ อ. NAVARAT.C อีกตครั้งหนึ่งที่นำมาให้ชม

การพระราชทานคอนสติติ้วชั่นในสยาม ทรงมีพระราชกระแสจะพระราชทานในเดือน กรกฎาคม ๒๔๗๕ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่ให้องค์พระมหากษัตริย์มาอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ และหรือ มีคณะรัฐมนตรีมาช่วยแบ่งเบาพระราชาภาระในการบริหารประเทศนั้นมีแนวคิดแบบนี้มานานแล้ว แต่ผมว่าน้ำพระทัยของรัชกาลที่ ๗ นั้นหากศึกษาดี ๆ แล้วจะพบว่าพระองค์เลือกที่จะคิดดี ทำดีต่อบ้านเมืองและประชาชนเป็นที่ตั้ง แม้ว่าบางอย่างพระองค์จะสงวนสิทธิ์แห่งพระเกียรติยศบ้างในบางเรื่องก็ตาม

พระองค์ทรงพระกรรแสงและพระวาโยกว่าสองวัน ทรงเสียพระทัยในเรื่องที่คณะราษฎร์ทำการณ์นี้ เนื่องจากพระองค์ก็ทรงมีแนวคิดเช่นเดียวกัน ควรจะหารือกันได้เสมือนการหักหน้ากัน พระองค์ทรงมองราษฎรของพระองค์ยังไม่ค่อยมีความรู้เรื่องประชาธิไตยดีเท่าที่ควร แต่การณ์นั้นได้พลิกผันไปเสียแล้วเมื่อ ๖.๐๕ ย่ำรุ่ง ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 43  เมื่อ 29 ก.ค. 12, 17:32

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๐ จอมพล สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ได้มีลายพระหัตถ์กราบบังคมทูลล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ ขอให้ทรงรือฟื้น "รัฐมนตรีสภา" ที่เคยตั้งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ อีกครั้ง
ลายพระหัตถ์กราบบังคมทูลและพระราชหัตถเลขาทรงตอบนั้นมีความยืดยาวมาก  ขอคัดมาให้อ่านบางตอนที่แสดงถึงแนวพระราชดำริในรัชกาลที่ ๖ ดังนี้

“ถึงน้องชายเล็ก
จดหมายลงวันที่  ๒๐  เมษายน  ได้รับแล้ว,  ขอตอบเปนข้อๆ ตามความเห็นดังต่อไปนี้  แลจะพูดความจริงไม่อำพราง.

ข้อ ๑ ขอให้เข้าใจว่า  ในส่วนตัวฉันไม่มีความตั้งใจที่จะเกี่ยงหรือหวงอำนาจอย่างหนึ่งอย่างใดเลย,  แลฉันเองก็รู้ดียิ่งกว่าใครๆ ว่าราชการในสมัยนี้มีมากกว่าแต่ก่อนเปนอันมาก,  แลสมัยที่จะใช้แบบปกครองอย่างที่เคยใช้กันมาแล้วใกล้จะล่วงเลย.
อีกประการ ๑  ฉันขอบอกตามตรงแลไม่บอกเธอเปนคนแรกด้วยว่า  อาศรัยเหตุที่ฉันได้เคยไปศึกษาในสำนักนิ์อังกฤษ,  ได้เรียนลัทธิปกครองตามแบบอังกฤษ,  แลลัทธิอันนั้นฝังอยู่แน่นในใจ,  จนรู้สึกว่าเปนลัทธิดีที่สุดที่จะใช้ได้สำหรับเมืองราชาธิปตัย,  แลไม่ใช่พึ่งคิดขึ้นเช่นนี้,  ได้คิดมาตั้งแต่รัชการที่ ๕ แล้ว.

ข้อ ๒. ฉันได้รำพึงมามากแล้ว  ว่าเมื่อไรจะควรจัดให้เมืองไทยมีปาร์ลิเมนต์ขึ้นได้,  ถ้าฉันจะดันเอาตามลัทธิ (          )  ไม่เหลียวดูทางการ (         )  ฉันคงจะประกาศ (         ) เสีย ๕ ปีมาแล้ว,  แต่มีปัณหาสำคัญอยู่อย่างหนึ่งซึ่งจะหลับตาเสียไม่คำนึงดูไม่ได้,  คือ คนไทยเราโดยทั่วไป (ไม่ใช่จำเภาะคนหมู่ ๑ ซึ่งชอบเล่นกับหนังสือพิมพ์) พร้อมอยู่หรือยังที่จะใช้อำนาจเลือกผู้แทนของตัวเองทำการปกครองตนเอง,  มีความเสียใจที่ยังแลไม่เห็นว่าจะทำการเช่นนั้นสำเหร็จได้,  เพราะแม้แต่เลือกกรรมการศุขาภิบาลประจำตำบลซึ่งเปนคั่นแรกแห่งการเลือกผู้ปกครองตนเองก็ยังทำไปไม่ได้จริงจัง,  เจ้าน่าที่ฝ่ายเทศาภิบาลต้องคอยเซี่ยมสอนอยู่ทุกแห่งไป,  การเลือกกำนันผู้ใหญ่บ้าน  ซึ่งต่ำลงไปกว่านั้นแลทำได้ง่ายกว่านั้น,  ก็ยังทำกันเหมือนเล่นลครตลก.

ข้อ ๓. การที่จะให้รัฐมนตรีสภากลับได้มีงานทำขึ้นอีกนั้น,  กล่าวโดยลัทธิก็พอดูได้,  แต่ปัณหาก็คงยังมีอยู่ว่า,  ถ้าหากว่าคนไทยเราต้องการมีเสียงในการปกครองหรือในการปฤกษากฎหมายจริงๆ  การที่จะจัดให้มีรัฐมนตรีสภาซึ่งสมาชิกเปนผู้ที่พระเจ้าแผ่นดินทรงตั้งเอาตามพระไทย  หรือซึ่งทรงตั้งตามคำแนะนำของนายกแห่งรัฐมนตรีสภานั้น  จะเปนการเพียงพอละหรือ,  ผู้ที่ตั้งตัวเปนปากราษฎรอยู่เวลานี้,  ต้องการจะเห็นสภาอะไรอันหนึ่งมีอำนาจกัดพระเจ้าแผ่นดินหรืออย่างน้อยก็กัดเสนาบดี,  เพราะฉนั้นถ้าหากว่ารัฐมนตรีสภาปฤกษาร่างพระราชบัญญัติตกลงไปเสมอๆ  คงไม่เว้นการถูกด่าว่า “ป.จ.” หรืออีกนัยหนึ่งก็คงกล่าวอีกว่า  ฉันเลือกตั้งเอาแต่คนที่ฉันรู้ว่าอยู่ในเงื้อมมือของฉัน,  ไม่ได้คำนึงถึงความต้องการหรือความนิยมของประชาชน,  พวกรัฐมนตรีจึงได้แต่มานั่งพยักหงับๆ อยู่ไม่มีประโยชน์อไร,  ไม่ได้ตั้งใจระวังผลประโยชน์ของประชาชนเลยจนนิดเดียว,  มัวแต่หวงผลประโยชน์ของตัวที่จะได้รับในตำแหน่งรัฐมนตรี,  จึงมัวแต่ระวังไม่ให้ต้องถูกถอดจากตำแหน่งเท่านั้น.

ข้อ ๔. การที่ระงับเรื่องรัฐมนตรีที่พูดมาครั้งก่อนนั้น,  เปนเพราะกรมหลวงราชบุรีขัดข้องอย่างหนึ่ง,  กับอีกอย่างหนึ่งซึ่งเธอจะทราบหรือไม่ทราบก็ไม่แน่,  คือพระยากัลยาณไมตรี ซึ่งเวลานั้นเปนที่ปฤกษาราชการทั่วไปได้สแดงความเห็นคัดค้านไม่เห็นชอบด้วย  โดยกล่าวย่อๆ ว่าไม่พอหรือมากเกินไป (                     )  รวมความว่าถ้ายังจะมีปาร์ลิเมนต์ไม่ได้แล้ว,  ก็ไม่ควรจะมีอะไรที่เปนของเลียน (               ) ขึ้นไว้สำหรับตบตา,  เพราะคนที่เขารู้จริงว่าปาร์ลิเมนต์เปนอย่างไร,  เขาก็ไม่เชื่อว่าของนั้นจะแทนปาร์ลิเมนต์ได้,  และผู้ที่ไม่เข้าใจเสียเลยถึงวิธีปกครองอย่างคอนสติตูชั่นก็คงไม่เข้าใจเช่นนั้น,  ว่าประโยชน์ของรัฐมนตรีนั้นอะไร,  นี่เปนความเห็นของพระยากัลป์ยาณไมตรี  ซึ่งฉันเล่ามาตามที่เขาพูดเท่านั้น,  ไม่ใช่สำหรับยกมาเปนข้อคัดค้านความคิดของเธอหามิได้

ในวงเล็บที่เว้นว่างไว้เป็นไปตามต้นฉบับ 
พระยากัลยาณไมตรีในพระราชหัตถเลขาคือ เจนส์ ไอ. เวสตเตนการ์ด  ที่ปรึกราชการแผ่นดินชาวอเมริกัน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 44  เมื่อ 30 ก.ค. 12, 10:02

แปดสิบปีที่ผ่านมา  ถามตัวเองว่าการที่รัฐสภาไทยล้มลุกคลุกคลานขาดหายไปเป็นช่วงๆ นี้ เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนไทยมองว่าระบอบรัฐสภาไม่เข้มแข็งพอจะเป็นที่พึ่งของประชาชนหรือเปล่า    หรือว่าเป็นเพราะรัฐสภามีข่าวออกมาในแต่ละยุคซ้ำๆกันว่า เกิดการคอรัปชั่นกันอยู่เสมอ   ทำให้ประชาชนไม่ผูกพันพอจะลุกขึ้นปกป้องรัฐสภา  จะเห็นได้ว่าการรัฐประหารแต่ละครั้งทำกันง่ายมาก  
คำถามนี้ก็ขอทิ้งไว้ให้ตอบกันเอง   อาจได้ความคิดหลากหลายขึ้น

ประชาธิปไตย หมายความว่าอำนาจอยู่กับประชาชน  ความจริงก็มีวิธีหลายวิธีที่ทำได้ ไม่ใช่มีแต่รัฐสภาอย่างเดียว  เช่นทำให้อำนาจกระจายไปถึงท้องถิ่น  ทำให้ชุมชนท้องถิ่น (หรือแม้แต่ในเมือง) เข้มแข็งขึ้น   สามารถสร้างระบบจัดการและดูแลตัวเองได้    เมื่อก่อนนี้ แม้หลัง 2475 เราก็ยังใช้ระบบรวมอำนาจจากศูนย์กลาง คือกระทรวงในเมืองหลวง แล้วปกครองท้องถิ่นให้ขึ้นกับศูนย์กลาง  จำกัดประชาธิปไตยให้อยู่ที่เลือกผู้แทนไปนั่งในรัฐสภา      ส่วนท้องถิ่นก็ขึ้นกับจังหวัด  จังหวัดขึ้นกับมหาดไทย  มหาดไทยขึ้นกับรัฐบาล  
ตอนนี้ อำนาจกระจายลงไปถึงองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นแล้ว    ประเทศไทยอาจได้ประชาธิปไตยในอีกแบบหนึ่ง ตามแบบของตัวเองก็ได้ค่ะ   
ตัวแปรเท่าที่นึกออกตอนนี้คือ AEC ที่คุณ Naitang  ตั้งไว้ในอีกกระทู้หนึ่ง   การอพยพย้ายถิ่นอย่างเสรีของคนต่างถิ่นเมื่อเปิดเสรีอาเซียน อาจทำให้มีคนต่างชาติอพยพเข้ามาในชุมชนท้องถิ่นมากขึ้น    ถ้าชุมชนเดิมเข้มแข็ง ผู้มาใหม่ก็จะมาเป็นกำลังให้เป็นปึกแผ่น  มีเสียงต่อรองมากขึ้น    แต่ถ้าชุมชนเดิมไม่แข็งพอ   คนอพยพย้ายถิ่นก็จะทำให้ทิศทางของชุมชนเดิมเป๋ไป    ในอนาคตอาจมีทั้ง 2 แบบ  ต้องรอดูภายใน 5 ปีว่าจะเป็นแบบไหนมากกว่ากัน
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 [3] 4 5 ... 10
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.127 วินาที กับ 19 คำสั่ง