เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 28 29 [30] 31 32 ... 35
  พิมพ์  
อ่าน: 197217 รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 435  เมื่อ 05 พ.ค. 21, 18:35

ขอแสดงความเสียใจในความเศร้า
ที่เพิ่งเข้าสู่ครอบครัวและลูกหลาน
ขอคุณครูชาลีสุขสราญ
ในสถานสุคติพิมานแมน


บันทึกการเข้า
nathanielnong
อสุรผัด
*
ตอบ: 13


ความคิดเห็นที่ 436  เมื่อ 06 พ.ค. 21, 05:52

ส่งคำถามครับ

ดาวรุ่งสุนทราภรณ์ (ยุค Golden age) รุ่นสุดท้ายมีนักร้องหญิงคนหนึ่ง  ชื่อแปลกคือ  มีแต่ชื่อไม่มีนามสกุล   คือ โสมอุษา

มีใครทราบประวัติบ้างครับว่า ชื่อเต็ม ๆ ของเธอคืออะไร  เท่าที่เสาะหามา  ในที่สุดเธอเคยมีอาชีพพยาบาล  ไปอยู่ต่างประเทศและเสียชีวิตไปนานแล้ว

เพลงโปรดตลอดกาลของผม





หลังจากออกจากวง ฯ  เธอเป็นนักร้องอิสระพักหนึ่ง  เพลงนี้หูผมบอกว่า เพราะมาก



เดี๋ยวนี้ไม่มีใครผลิตเพลงแบบนี้อีกแล้ว  โชคดีจังที่เกิดมาทัน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 437  เมื่อ 06 พ.ค. 21, 08:05

หาประวัติได้น้อยมาก   รู้แต่ว่าเธอชื่อโสมอุษา สรัคคานนท์  เคยเป็นพยาบาลอยู่ร.พ. ราชวิถี   เข้ามาเป็นนักร้องดาวรุ่งของสุนทราภรณ์ ในช่วงที่รวงทอง ทองลั่นธม ลาออกจากวงไป  
ครูเอื้อต้องการนักร้องใหม่ที่น้ำเสียงสไตล์รวงทอง   จึงตั้งโครงการดาวรุ่งขึ้น  มีนักร้องใหม่เข้ามาหลายคน เช่นคุณโสมอุษา และคุณช่อชบา ชลายลนาวิน
ได้ข่าวว่าเธอถึงแก่กรรมแล้วค่ะ


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 438  เมื่อ 06 พ.ค. 21, 11:52

 The People

ชาลี อินทรวิจิตร: ที่มาของเพลงจำเลยรัก “เพลงนี้จะดังที่สุด ถ้าไม่ดัง ผมเลิกแต่งเพลงเลย”
.
วันที่ 4 พฤษภาคม 2564 ชาลี อินทรวิจิตร ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง ประจำปี 2536 จากไปอย่างสงบ
.
ประมาณปี 2503 ชาลี อินทรวิจิตร กำลังเป็นหนุ่มวัยฉกรรจ์อายุ 37 ปี เขาเติบโตและมีชื่อเสียงในฐานะนักแต่งเพลงประจำวงดนตรีชั้นนำในยุคสมัยนั้น นั่นคือ “วงดนตรีประสานมิตร” ซึ่งอยู่ในความควบคุมของ พ.ต.อ.พุฒ บูรณะสมภพ และ พิบูล ทองธัช วงดนตรีวงนี้ เป็นที่รวมของนักแต่งเพลงฝีมือดีหลายคน โดย ชาลี ได้พบและร่วมงานกับ สมาน กาญจนะผลิน ซึ่งเป็นนักแต่งเพลงที่เขามีโอกาสร่วมงานกันมากที่สุด บทเพลงที่รังสรรค์ขึ้นโดยบุคคลทั้งสอง ล้วนได้รับความนิยมและได้รับรางวัลเป็นจำนวนมาก
.
วันหนึ่งของปีนั้น ระหว่างชาลีนั่งเล่นรัมมี่กับทีมงานอย่างสบายอารมณ์ รอคิวว่างอยู่หน้าห้องสตูดิโอแห่งหนึ่ง เพื่อเตรียมอัดเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง “จำเลยรัก” (ต่อมา ภาพยนตร์เรื่องนี้ออกฉายในปี 2506) ชาลี อินทรวิจิตร ได้กระซิบบอก สมาน กาญจนะผลิน ด้วยอหังการของคนหนุ่ม ว่า
.
“เพลงนี้จะดังที่สุด ถ้าไม่ดัง ผมเลิกแต่งเพลงเลย!”
.
ตามคำบอกเล่าของ ชาลี ในหนังสือ “บันเทิง บางที กับ ชาลี อินทรวิจิตร” เจ้าตัวเล่าว่า วิธีการแต่งเพลงของเขา กับ สมาน ไม่ค่อยจะเหมือนใคร ปกติแล้ว สมานจะถนัดในการนำเนื้อเพลงไปใส่ทำนอง ไม่ใช่เอาทำนองไปใส่เนื้อ เพลง “จำเลยรัก” ที่จะอัดเสียงกันในวันนั้น ก็เริ่มต้นแบบนั้นเช่นกัน
.
เมื่อสมานมาตามเนื้อ ระหว่างรอคิวห้องอัดว่าง ชาลี เริ่มต้นเขียนท่อนแรกว่า
.
“เจ็บแค้นเคืองโกรธ โทษฉันใย ฉันทำอะไร ให้เธอเคืองขุ่น ปรักปรำ ฉันเป็นจำเลยของคุณ นี่หรือพ่อนักบุญ แท้จริงคุณคือคนป่า”
.
ผ่านไป 20 นาที สมานกลับมาพร้อมแอคคอเดียน แล้วบรรเลงทำนองท่อนแรกให้ฟัง ชาลี ถึงกับขนลุกซู่ด้วยความไพเราะ อีกครึ่งชั่วโมงต่อมา เนื้อเพลงท่อนที่สองก็เสร็จเรียบร้อย
.
“ไม่ขอคุกเข่า เฝ้าง้องอน แม้ใจขาดรอน ขอตายดีกว่า ไม่ขอร้องใครให้กรุณา ไม่ขอเศร้าโศกา หรือบีบน้ำตา อ้อนวอนใคร ๆ”
.
มาถึงตรงนี้ ชาลี มีไอเดียใหม่ขึ้นมา เพราะเป็นท่อนที่สาม หรือเป็นท่อนแยกของเพลงพอดี (ตามฟอร์มเพลง AABA) ชาลีจึงบอกให้สมาน ลองใส่ทำนองมาก่อนบ้าง แล้วเขาจะใส่เนื้อตามทีหลัง เมื่อสมานแต่งทำนองท่อนแยกกลับมา ชาลีไม่ชอบ บอกว่าไม่เพราะ เพราะทำนองคล้ายสองท่อนแรก ด้านสมานก็เถียงว่า เพลงเป็นบันไดเสียงไมเนอร์ (minor) ท่อนแยกก็ควรจะเป็นไมเนอร์
.
ชาลีเถียงกลับว่า “เปลี่ยนเป็นเมเจอร์ (major) ไม่ได้เชียวหรือ ผิดกฎหมาย ถูกตัวหัวคั่วแห้งหรือเปล่า”
สมานบอก “มันต้องทำสะพานทั้งเข้าทั้งออก ไม่งั้น คนร้องจะล่ม”
.
เขาหมายถึงการปรับจากไมเนอร์เป็นเมเจอร์จะต้องมีชั้นเชิง มีการเชื่อมแนวทำนองให้สละสลวย เปรียบได้กับ “สะพาน” ไม่งั้นจะกลายเป็นเรื่องยากลำบากสำหรับนักร้อง
.
“ถ้างั้น น้าหมาน ไปสร้างสะพานเพชร สะพานทอง สะพานไม้ได้เลย ผมต้องการท่อนแยกเป็นเมเจอร์”  ชาลี สำทับแกมสั่ง
.
ครึ่งชั่วโมงต่อมา ทำนองท่อนแยกที่พลิ้วหวานจากคอร์ดเมเจอร์ก็กังวานขึ้น คราวนี้ ชาลี เขียนท่อนแยกด้วยความประทับใจสุด ๆ ด้วยเนื้อหาที่สะท้อนถึงความสง่างาม ทรนง และความมีศักดิ์ศรี สอดรับกับภาคดนตรีดียิ่งนัก
.
“เชิญคุณลงทัณฑ์ บัญชา จนสมอุรา จนสาแก่ใจ ไม่มีวันที่ฉันจะร้องไห้ ร่ำไร เพราะฉันมิใช่ หญิงเจ้าน้ำตา”
ถึงตอนนี้ล่ะ ที่ชาลีกระซิบกับสมาน กลางวงรัมมี่ว่า
“เพลงนี้จะดังที่สุด ถ้าไม่ดัง ผมเลิกแต่งเพลงเลย”
.
สมานได้ที ถือโอกาสถามต่อ “แล้วท่อนสุดท้าย เมื่อไหร่จะเสร็จล่ะ”
.
ชาลีเล่าว่า แกหลิ่วตาให้สมานอย่างกระหยิ่มใจแทนคำตอบ เพราะตอนนั้น ชาลีกำลังคั่วไพ่สเปโตอยู่ ใครทิ้งสเปโต แกน็อกมืด แต่แล้วเกมนั้นก็พลิกผัน ชาลีกลับถูกลบมืด เพราะมือเหนือเขา “กัก” สเปโตไว้ ด้วยความฉับไวตามประสากวี เนื้อเพลงท่อนสุดท้ายก็วาบขึ้นในสมองทันที
.
“กักขังฉันเถิด กักขังไป ขังตัว อย่าขังหัวใจดีกว่า อย่าขัง หัวใจให้ทรมา ให้ฉันเศร้าโศกา เหมือนว่าฉันเป็นเช่นดังจำเลย”
.
‘ชาลี’ ชื่อตัวละคร สู่ชีวิตจริง
.
สง่า อินทรวิจิตร เกิดเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2466 ที่ท่าฉลอม สมุทรสาคร เป็นพี่คนโตในจำนวนพี่น้อง 3 คน เข้าเรียนระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนพร้อมวิทยามูล ข้างเวทีมวยราชดำเนิน แล้วไปต่อระดับมัธยมที่โรงเรียนอำนวยศิลป์ พระนคร จนจบชั้นมัธยมปีที่ 6 จึงเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนวิศวกรรมรถไฟ รุ่น 1
มีบันทึกไว้ว่า ด้วยเหตุที่บ้านอยู่ท่าฉลอม ทำให้เด็กชายสง่าต้องมีน้ำอดน้ำทนในการเดินทาง เพราะต้องขึ้นรถไฟจากมหาชัยมาวงเวียนใหญ่ ก่อนจะต่อรถสาธารณะเข้าสู่พระนครชั้นใน
.
ด้วยความรักในการแสดงและเสียงเพลง สมัยเป็นวัยรุ่น สง่า ใฝ่ฝันจะเป็นนักร้อง เขามีความชื่นชอบ สถาพร มุกดาประกร นักร้องประจำวงดนตรีทรัพย์สินของ ครูนารถ ถาวรบุตร เป็นพิเศษ โดยแอบไปดูประจำที่โรงหนังโอเดียน จากนั้นขึ้นเวทีประกวดร้องเพลง ประจำจังหวัดสมุทรสาคร จนได้รับรางวัลชนะเลิศ โดยหนึ่งในคณะกรรมการที่ตัดสินวันนั้น คือ ครูล้วน ควันธรรม ที่ต่อมาเขาขอฝากตัวเป็นลูกศิษย์ สง่าจึงได้ไปอาศัยบ้านครูแถวโบสถ์พราหมณ์ มีโอกาสรู้จักลูกศิษย์คนอื่น ๆ ของครูล้วน เช่น สุรสิทธิ์ สัตย์วงศ์ ซึ่งชักนำให้เขาก้าวเข้าสู่วงการแสดงในเวลาต่อมา
.
ปี 2492 สง่า เปลี่ยนชื่อ เป็น ชาลี อินทรวิจิตร อันเป็นผลสืบเนื่องจากการแสดงในละครเรื่อง “เคหาสน์สีแดง” ของคณะละครศิวารมณ์ ละครเรื่องนี้ มี สุรสิทธิ์ สัตย์วงศ์ และ สุพรรณ บูรณะพิมพ์ เป็นนักแสดงนำ ผู้แต่งเพลงประกอบคือ สง่า อารัมภีร และ สุนทรียา ณ เวียงกาญยน์ โดย สง่า อินทรวิจิตร รับบทเป็น “นักเรียนนายเรือชาลี” ด้วยเหตุนี้ ท่านหญิงดวงดาว (หม่อมเจ้าสวาสดิ์วัฒโนดม ประวิตร) เจ้าของบทประพันธ์ จึงได้ประทานชื่อนี้ ชาลี ให้ใช้ตลอดไป
เกี่ยวกับการเปลี่ยนชื่นนี้ สง่า อารัมภีร บันทึกไว้ว่า
.
“ชาลี แต่เดิม ชื่อ สง่า อินทรวิจิตร เมื่อเขามาแสดงเรื่องเคหาสน์สีแดงของท่านดวงดาว ท่านทรงพอใจมาก เรียกชาลีไปหาที่ร้านหยกฟ้า หน้าศาลาเฉลิมนคร บอกว่า เธอแสดงเป็นนาวาโทชาลี สมบทบาทในนวนิยายเหลือเกิน ฉันขอมอบชื่อ ชาลี ให้แทนชื่อ สง่า จะได้ไม่พ้องกับหัวหน้าวงดนตรี ซึ่งเป็นนักแต่งเพลง...”
.
จาก ‘นักร้อง’ เป็น ‘นักแต่งเพลง’
.
จากคณะละครศิวารมณ์ ชาลี ย้ายไปอยู่กับคณะละครเทพศิลป์ เขาผ่านงานเล่นละคร และทำหน้าที่เป็นนักร้องสลับหน้าม่านละคร ทั้งนี้ คีตา พญาไท ผู้สันทัดเพลงลูกกรุง วิเคราะห์ว่า สาเหตุที่ ชาลี อินทรวิจิตร หันมาแต่งเพลงมากกว่าที่จะเป็นนักแสดง หรือนักร้อง น่าจะมาจากเหตุผลสำคัญ คือการเกิดขึ้นของนักร้องรุ่นใหม่ 2 คนนั่นเอง
.
“ครูไสล ไกรเลิศ นำเด็กหนุ่มมาสู่วงการเพลงสองคน ถ้าจะเปรียบกับสมัยนี้ ก็วัยจ๊าบ สดและซิงจริง
ๆ คนหนึ่งเสียงร้องนุ่มนวล หวานซึ้ง ไพเราะเหมือนลมกระซิบคลื่น สุเทพ วงศ์กำแหง อีกคนหนึ่ง... กังวาน เสียงแจ่มชัด จัดจ้าน พลิ้วโหยสูงสุดต่ำสุดได้โดยไม่ต้องอาศัยลูกคอช่วย เขาคือ ชรินทร์ งามเมือง (เปลี่ยนนามสกุลเป็น นันทนาคร ในเวลาต่อมา) ผมฟังเสียงเขาร้อง แม้กายจะสงบนิ่ง ไม่เคลื่อนไหว แต่หัวใจฉันเดินทางไปสุดปลายฟ้า ผมสัญญากับวัน เวลาและฤดูกาล กับดวงดาวกระพริบ ในท้องฟ้าใสของคืนแรม ผมจะเลิกร้องเพลง หันมาแต่งเพลง”
.
ชาลี อินทรวิจิตร และ สมาน กาญจนะผลิน แต่งเพลง “สวรรค์มืด” เพลงประกอบภาพยนตร์ชื่อเดียวกัน จากบทประพันธ์ของ รพีพร เพื่อให้ สุเทพ วงศ์กำแหง ร้อง ตามด้วยบทเพลงที่สร้างชื่อเสียงให้เขาอีกมากมาย อาทิ “เท่านี้ก็ตรม” , “รักอย่างรู้คลาย” , “บ้านเรา” , “ครวญ” ส่วน ชรินทร์ นันทนาคร ก็ไม่ยิ่งหย่อนกัน ชาลี มีเพลงอย่าง “อาลัยรัก” , “ไกลบ้าน” , “เรือนแพ” , “ท่าฉลอม” , “แสนแสบ” และ ฯลฯ
.
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพลง “อาลัยรัก” นับเป็นเพลงที่สะท้อนถึงความเป็น ชาลี อินทรวิจิตร ในด้านนักอ่านที่พร้อมจะเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา แม้จะไม่ได้มีพื้นฐานจากการเป็นนักอักษรศาสตร์มาก่อนหน้าก็ตาม โดยที่มาของเพลงนี้ มาจากนวนิยาย “สงครามชีวิต” ของศรีบูรพา ที่เพื่อนรักนักประพันธ์และนักต่อสู้ทางการเมือง สุวัฒน์ วรดิลก (รพีพร) ส่งมาให้อ่าน โดยชาลี สร้างสรรค์บทเพลงนี้จากถ้อยความไม่กี่บรรทัดในบทสุดท้ายของนวนิยายเรื่องนี้
.
“แม้มีปีก โผบิน ได้เหมือนนก อกจะต้องธนู เจ็บปวดนัก ฉันจะบิน มาตาย ตรงหน้าตัก ให้ยอดรักเช็ดเลือดและน้ำตา”
.
ครั้งหนึ่ง ชาลี อินทรวิจิตร เคยแสดงทัศนะต่อความเป็นไปของวงการเพลงอย่างแหลมคมว่า
.
“ทุกอย่างเป็นของง่ายหมด ใครที่แม้ขาดความรู้ทางดนตรีก็โอ้อวดว่าข้าแต่งทำนองเองได้ โดยไม่รู้จักโน้ตแม้แต่ตัวเดียว อนิจจา กลกบเกิดในสระจ้อย ผลที่ออกมาน่ะหรือ ก็ร้อยเนื้อทำนองเดียวอยู่นานปีดีดักแล้ว ถึงวันนี้ ฉันกำลังถูกเจ๊กลากไป ญี่ปุ่นลากมา หาความเป็นสัญลักษณ์ของตัวเองไม่พบ แล้วอย่างนี้ จะไม่ให้ฉันอาทรได้อย่างไร”
.
กลางดึกวันที่ 4 พฤษภาคม 2564 ชาลี อินทรวิจิตร ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ผู้ประพันธ์คำร้อง-ผู้กำกับภาพยนตร์) ประจำปี 2536 จากไปอย่างสงบด้วยโรคชรา วัย 98 ปี โดยฝากผลงานประพันธ์คำร้องเกือบ 1,000 เพลง, ผลงานการแสดง และผลงานกำกับภาพยนตร์/อำนวยการสร้างภาพยนตร์เป็นจำนวนมาก

https://www.facebook.com/thepeoplecoofficial
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 439  เมื่อ 06 พ.ค. 21, 12:20

              ได้ยินชื่อครูชาลี ตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็ก เพราะพ่อรู้จักทั้งครูและคู่ชีวิต(นักแสดงมากฝีมือ ศรินทิพย์ ศิริวรรณ)
พ่อจะเรียก หง่า ตามชื่อเดิมของครู - สง่า ซึ่งข้อมูลระบุว่า ท่านดวงดาวผู้ประพันธ์เรื่อง เคหาสน์สีแดง ประทานชื่อชาลีให้
ตามชื่อตัวละครที่ครูรับบท เพื่อจะได้ไม่ซ้ำกับครู สง่า อารัมภีร
              ครูมีพี่น้อง ซึ่งคงไม่ประสงค์จะเป็นที่ถูกถามถึงว่าเป็นอะไรกับคนดังจึงได้แปลงนามสกุลไปหน่อยเพื่อจะไม่ซ้ำกัน
(ไม่แน่ใจว่าเป็น ให้ออกเสียงว่า อิน ทอน แทน อิน ทะ ระ หรือ แปลง ทร เป็น พร)
              ครูเป็นนักร้อง และ นักแสดงด้วย เคยดูครูจากละครช่อง ๔ บางขุนพรหม

ครู ในละครเรื่อง ลูกทาส


บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 440  เมื่อ 06 พ.ค. 21, 12:27

              บทกลอนของคุณชมัยพร กล่าวถึงเพลงที่ครูแต่ง รวมถึง น้ำตาแสงไต้ - ไม่ได้เป็นผลงานของครู เนื้อร้องเป็นของ
ครู มารุต เนรมิตร(สองผกก.) และ ครูสง่าอารัมภีร ซึ่งให้ทำนองด้วย จากบทความ  เพลงผีบอก ที่มาของเพลง ”น้ำตาแสงไต้”

เว็บ https://www.tnews.co.th/religion/301366/เพลงผีบอก!-ครูสง่าเผย-น้ำตาแสงใต้-แต่งเพลงจบเพราะมีผีมาเล่นดนตรีให้ฟัง-ที่มาขนหัวลุกของบทเพลงอมตะหวานปนเศร้า!
 
              ขอข้ามเพลง เมื่อเธอจากฉันไป ที่ครูแต่งรำลึกถึงคู่ชีวิต(ศ ศ)ที่จากไปโดยใช้ทำนองเพลง Aubrey ของวง Bread
มาเป็นเพลงไพเราะประทับใจเฉพาะกลุ่ม ที่ไม่ค่อยได้ฟังหรือได้ยินใครกล่าวถึง คือ เพลง ไทรรัก ประกอบละคร แผลเก่า
ครูให้คำร้อง ทำนองโดยครูสมาน กาญจนผลิน เสียงร้องของคุณเพลินพรรณ เกียรตินิยม

บันทึกการเข้า
nathanielnong
อสุรผัด
*
ตอบ: 13


ความคิดเห็นที่ 441  เมื่อ 06 พ.ค. 21, 14:36

หาประวัติได้น้อยมาก   รู้แต่ว่าเธอชื่อโสมอุษา สรัคคานนท์  เคยเป็นพยาบาลอยู่ร.พ. ราชวิถี   เข้ามาเป็นนักร้องดาวรุ่งของสุนทราภรณ์ ในช่วงที่รวงทอง ทองลั่นธม ลาออกจากวงไป   
ครูเอื้อต้องการนักร้องใหม่ที่น้ำเสียงสไตล์รวงทอง   จึงตั้งโครงการดาวรุ่งขึ้น  มีนักร้องใหม่เข้ามาหลายคน เช่นคุณโสมอุษา และคุณช่อชบา ชลายลนาวิน
ได้ข่าวว่าเธอถึงแก่กรรมแล้วค่ะ

ขอบคุณมาก ๆ ครับ  เพียงพอแล้ว
บันทึกการเข้า
nathanielnong
อสุรผัด
*
ตอบ: 13


ความคิดเห็นที่ 442  เมื่อ 06 พ.ค. 21, 15:17

บอกความในใจว่า ...

ชอบ วรนุช อารีย์ มาก ๆ  ถึงขนาดควาญหาเบอร์โทรศัพท์แล้วโทร. ไปหาเพื่ออยากพบ  ป้านุชน่ารัก  คุยสนุก  ตอนฟังผมพล่าม  แกหัวเราะเอิ๊กอ๊าก  เลี้ยงข้าวด้วย



บันทึกการเข้า
nathanielnong
อสุรผัด
*
ตอบ: 13


ความคิดเห็นที่ 443  เมื่อ 06 พ.ค. 21, 15:20

             
              ขอข้ามเพลง เมื่อเธอจากฉันไป ที่ครูแต่งรำลึกถึงคู่ชีวิต(ศ ศ)ที่จากไปโดยใช้ทำนองเพลง Aubrey ของวง Bread
มาเป็นเพลงไพเราะประทับใจเฉพาะกลุ่ม ที่ไม่ค่อยได้ฟังหรือได้ยินใครกล่าวถึง คือ เพลง ไทรรัก ประกอบละคร แผลเก่า
ครูให้คำร้อง ทำนองโดยครูสมาน กาญจนผลิน เสียงร้องของคุณเพลินพรรณ เกียรตินิยม


ยกมือ ครับ...

ชอบสุดขีด

รวมถึงเพลงนี้



แล้วก็เพลงนี้



แล้ว... ขอคิดก่อน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 444  เมื่อ 07 พ.ค. 21, 09:47

บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 445  เมื่อ 07 พ.ค. 21, 11:55

            ครูชาลีมีผลงานคำร้องกับวงสุนทราภรณ์หนึ่งเพลง คือ จันทร์จูบฟ้า ครูเอื้อใส่ทำนอง บรรเลง
ในแนวสังคีตสัมพันธ์ เสียงร้องโดยคุณวินัย และ ชวลีย์
            เป็นอีกหนึ่งเพลงของครูชาลีที่ แตกต่าง ไปจากเพลงส่วนมากของครู

บันทึกการเข้า
paganini
องคต
*****
ตอบ: 406

ทำงาน


ความคิดเห็นที่ 446  เมื่อ 07 พ.ค. 21, 20:52

ขอไว้อาลัยท่านปรมาจารย์นักแต่งเพลงไทย ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล

"หยั่งทะเลพอคะเนดูได้ แต่ความรักเกินครวญใคร่ ลึกเท่าไหร่ไม่รู้หยั่งถึง"

วรรคทองเช่นนี้หาไม่ได้อีกแล้ว
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 447  เมื่อ 08 พ.ค. 21, 10:03

มาช่วยเพิ่มวรรคทองค่ะ
"ความรักก็คือบุปผา  ผลิดอกที่ตา แล้วมาบานเบ่งที่ใจ"
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 448  เมื่อ 09 พ.ค. 21, 08:59

คอนเสิร์ต “ที่นี่มีเพลง...ที่นี่มีรัก” วันอาทิตย์ที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๕๒ ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 449  เมื่อ 12 พ.ค. 21, 11:43

ฝีไม่ลายมือคุณชาลี ในบทนายแพทย์ผู้อำนวยการก็ไม่เบาเหมือนกัน   แม้เป็นบทเรียบๆแต่ก็ดึงบุคลิกภูมฺิฐาน ใจดี  น่านับถือออกมาให้เห็นได้ชัด
ในหนังระดับตำนาน " นวลฉวี"

บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 28 29 [30] 31 32 ... 35
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 1.09 วินาที กับ 19 คำสั่ง