ถามถึงครูล้วน ควันธรรมแล้ว ประวัติท่านหาได้ยากเอาการครับ ผมเลยขอเอามาจากบ้านคนรักสุนทราภรณ์ซะเลย แฮะๆ (พอดียังมีภารกิจการงานที่โรงเรียนอีกครับ เจียดเวลาหาความสุขสักนิด ชีวิตจะสดใส เลยแอบโพสต์ตอนกลางคืนนี่แหละครับ

)
อาจารย์ล้วน ควันธรรม เป็นบุตรคนโตของนายลายและนางเฟื่อง ควันธรรม เกิดที่ธนบุรี เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2455 มีพี่น้องร่วมมารดาเดียวกันและต่างมารดา รวมทั้งสิ้น 7 คน
การศึกษา ประถมต้นที่โรงเรียนวัดสะพานสูง ประถมปลายที่โรงเรียนอัสสัมชัญบางรัก ชั้นมัธยมที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล
ชีวิตครอบครัว ได้ทำการสมรสกับ คุณนันทา พันธุ์พฤกษ์ บุตรีขุนจำรูญภักดี และนางตุ๊กตา พันธุ์พฤกษ์ เมื่อ พ.ศ.2499 มีบุตรธิดา รวมทั้งสิ้น 6 คน
ประวัติการทำงาน
- รับราชการกรมฝิ่น (กรมสรรพสามิต)
- รับราชการกรมโฆษณาการ (กรมประชาสัมพันธ์)
- กองดุริยางค์ทหารอากาศ
- และ ทำงานส่วนตัว สอนหนังสือ และประพันธ์เพลง จัดรายการวิทยุ-ทีวี ตลอดมาจนกระทั่งถึงแก่กรรม
อาจารย์ล้วน ควันธรรม เป็นบุตรคนโต คุณพ่อรับราชการอยู่กรมฝิ่นในสมัยนั้น เมื่อคุณแม่ถึงแก่กรรม เมื่ออาจารย์ล้วนอายุได้ 11 ปี เนื่องจากมีนิสัยเป็นคนอยู่ไม่สุข ชอบคิดค้นคว้า วัยรุ่นเป็นนักมวยด้วยความจำเป็น เพราะถูกรังแก มีพลอากาศเอกบุญชู จันทรุเบกษา เป็นเพื่อนคู่หู ผลัดกันเป็นพี่เลี้ยงสมัยชกมวย ถ้าชนะได้รางวัลมาก็จะนำเงินมาซื้อของเลี้ยงเด็กๆ แล้วจึงหันมาร้องเพลง ถ้าร้องเพลงได้เงินมาก็จะนำมาเลี้ยงเพื่อนฝูงและเด็กๆ ชีวิตรักก็ธรรมดาๆ ประสาคนหนุ่มสมัยโน้น ด้วยความน้อยใจในผู้หญิง จึงเอาความนั้นมาผูกเป็นเพลง แต่มิใช่ดังข่าวที่เขาร่ำลือกันว่า รักกับคุณจุรี อุทัยกร ซึ่งเป็นเรื่องตรงกันข้ามขาวกับดำเลยทีเดียว รับราชการมาก็หลายที่ ร้องเพลงประกวดได้รางวัลหลายแห่ง เป็นคนปากร้ายแต่ใจดี โอบอ้อมอารี รักพวกพ้อง เรื่องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์เป็นเรื่องใหญ่ ใครๆ ชอบล้อว่าขวาจัด อยู่กับเด็กๆ ตลอดมา รับเลี้ยงเด็กยากจน เด็กกำพร้าขาดผู้ปกครอง ด้วยความใจดีนี่แหละ ทำให้คุณล้วนและครอบครัวลำบาก ยากจน เพราะถ้าใครมาขอให้ช่วยเรื่องใดคุณล้วนจะช่วยทันทีหลายต่อหลายราย เพราะความใจดีนี่แหละ จึงเป็นเรื่องที่ต้องทุกข์ใจมาตลอดและมีโรคหัวใจติดตัว
อาจารย์ล้วน ควันธรรม มีชีวิตอยู่ท่ามกลางการต่อสู้ แม้นว่าจะมีชื่อเสียงโด่งดัง แต่ท่านก็ยังคงดิ้นรนต่อสู้อยู่เสมอ บทเพลงและเสียงเสน่ห์ก้องกังวานทั่วประเทศ แต่หากเบื้องหลังชีวิตของท่าน น่าเห็นอกเห็นใจยิ่งนัก ใครๆ ก็ชอบเสียงของท่าน ครั้งหนึ่งเราเคยได้ยินเสียงของท่าน ดินแดนแห่งดอกบัวงาม … พอย่างเข้าเขตหน้าหนาว ลมหนาวก็โชยพัดกระหน่ำ … แหวนที่เคยประดับนิ้วก้อย … และบางซื่อมันไม่ซื่อเหมือนบาง ฉันคิดถึงนางแล้วต้องร้องไห้ …
สนใจวิชาดนตรีตั้งแต่เป็นเด็กนักเรียน เริ่มด้วยหีบเพลงปากซึ่งบรรเลงได้ดีมากสมัยที่คณะละคร "จันทโรภาส" ของ "พรานบูรพ์" กำลังรุ่งโรจน์ชอบติดตามไปหัดร้องเพลงข้างๆ หลืบ เมื่อภาพยนตร์พูดเสียงในฟิล์มเรื่องแรกเข้าฉายเมืองไทย - ริโอริต้า - มีคนนิยมร้องเพลงฝรั่งกันมาก จึงได้ซื้อแผ่นเสียงของนักร้องมีชื่อมาฝึกฝน เช่น คิด เพาเวล , จอน โบลท์ และ ลอเรนซ์ ทิเบต ระยะต่อมาท่านนิยมเสียงเทนเน่อร์ ของ เนลสัน เอดดี้ ฝึกจากเพลง Rose Mary จนกระทั่ง ล้วน ควันธรรม ได้ฉายาว่า " เนลสัน เอดดี้ " เมืองไทย และต่อมาได้ศึกษาการเรียนโน้ตสากลจาก " ครูสริ ยงยุทธ " เพลงแรกที่แต่งชื่อเพลง " วิมานในฝัน " เมื่อ พ.ศ. 2477 ตั้งแต่นั้นเรื่อยมาเป็นเวลา 32 ปี ท่านได้แต่งเพลงทั้งคำร้องและทำนองประมาณ 300 เพลง สำหรับเพลงที่ท่านแต่งคำร้องเข้ากับทำนองเพลงสากลประมาณ 30-40 เพลง
เมื่อราว พ.ศ.2482 กรมโฆษณาการได้รับสมัครนักร้อง ท่านได้ยื่นใบสมัครด้วยคนหนึ่งปรากฏว่า " สอบได้ " นักร้องยุคแรกนั้นคือ รุจี อุทัยกร , มัณฑนา โมรากุล และ ล้วน ควันธรรม คนริเริ่มตั้งวงดนตรีกรมโฆษณาการ คือ หลวงสุขุม นัยประดิษฐ์ สมัยคุณวิลาศ โอสถานนท์ เป็นอธิบดี ก่อนเข้าทำงานกรมโฆษณาการได้รู้จักกับ ร.ท.ประสิทธิ์ ยังปรีดา ร.น. และ ร.ท.เขียน ธีมากร ซึ่งแนะนำให้ท่านเข้าไปร้องเพลงที่วิทยุศาลาแดง หรือ 7 พี.เจ.
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ไม่กี่ปี ท่านก็ได้ตัดสินใจลาออกจากราชการนักร้อง นักแต่งเพลงโดยจัดวงดนตรีให้ชื่อว่า CHAMBER MUSIC ใช้นักดนตรี 4 คน แสดงครั้งแรกที่ศาลาเฉลิมกรุง และตระเวนเล่นดนตรีที่วิกชั้น 1 อื่นๆ อีกประมาณ 4 ปี สมัยนั้นมีคู่แข่งสำคัญคือ "วงดุริยะโยธิน"
ระหว่างที่ทำงานอยู่กรมโฆษณาการ ได้แต่งละครวิทยุ 30-40 เรื่อง เพลงที่เด่นในยุคนั้นมีอยู่ด้วยกันหลายเพลง เช่น แหวนประดับก้อย , คำปฏิญาณ , เสียงกระซิบสั่ง , ค่ำแล้วในฤดูหนาว , ผีเสื้อกับดอกไม้ , เพลินเพลงเช้า , ระกำดวงจิต และ ใจเป็นห่วง ฯลฯ
นอกจากเรื่องที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นนั้น สิ่งหนึ่งที่ไม่ควรจะลืมท่าน คือ ท่านเป็นผู้ให้กำเนิดจังหวะเพลง " ตะลุงเทมโป้ " โดยใช้ลีลาการเชิดหนังตะลุงของชาวใต้ให้เข้ากับจังหวะเพลงสากล ปรากฏว่า " ตะลุงเทมโป้ " ครื้นเครงดี และสร้างเพลงมาร์ช " ปฐพีไทย " จากคำปราศรัยของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ฟังแล้วขนลุกขนพองด้วยเพลงเลือดแห่งความรักชาติ
ชื่อเสียงของ " ล้วน ควันธรรม " ยังไม่ตาย … บทเพลง ท่วงทำนอง และเสียงอันเป็นเสน่ห์ของท่าน ยังคงเป็น "อมตะ" และนิรันดร มัจจุราชไม่เว้นใครทั้งนั้น 27 มกราคม 2522 ท่านจึงจากไปอย่างไม่มีวันกลับ ...
แหวนที่เคยประดับนิ้วก้อย... เพราะมากครับเพลงนี้
ผีเสื้อกับดอกไม้ อีกเพลงที่เป็นเหมือนลายเซ็นของครูล้วนครับ