เพลงนี้ได้ยินและชอบร้องมาตั้งแต่เด็ก
ที่มาของเพลงวิหคเหินลม โดย คีตา พญาไท
พ.ศ. ๒๔๙๔ ครูสุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ ได้แต่งเพลงวิหคเหินลม ร่วมกันกับครูสมาน กาญจนะผลิน แล้วมอบให้เพ็ญศรี พุ่มชูศรี เป็นผู้ขับร้อง ซึ่งเป็นเพลงที่สร้างชื่อเสียงให้กับเพ็ญศรี พุ่มชูศรี มากอีกเพลงหนึ่ง นอกเหนือไปจากเพลงความรักเจ้าขา เพลงรักประดับชีวิน ฯลฯ
เพลงวิหคเหินลม
คำร้อง สุนทรียา ณ เวียงกาญจน์/ทำนอง สมาน กาญจนะผลิน
แสนสุขสม นั่งชมวิหค
อยากเป็นนก เหลือเกิน
นกหนอนกเจ้าหกเจ้าเหิน
ทั้งวันนกเจ้าคงเพลิน เหินลอยละลิ่วล่องลม
แม้นเป็นนักได้ ดังใจจินตนา
ฉันคงเริงร่า ลอยลม
ขอเพียงเชยชม ดังใจจินตนา
ให้สุดขอบฟ้า สุขาวดี
ฉิมพลี วิมานเมืองฟ้า
ค่ำคืน จะทนฝืนบิน
เหินไป ทั่วถิ่นที่มันมีดารา
เพราะอยากจะรู้ เป็นนักเป็นหนา
ดารา พริบตาอยู่ไย
ยั่วเย้า กระเซ้าหรือไร
หรือดาว ยั่วใคร เหตุใดดาวจึงซน
(บันทึกแผ่นเสียงโดยเพ็ญศรี พุ่มชูศรี พ.ศ. ๒๔๙๔)
เป็นเพลงที่บรรเลงในแนวสังคีตประยุกต์ เป็นเพลงแรกของครูสมาน กาญจนะผลิน ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน ครั้งที่ ๑ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๗
สุภัทร สวัสดิรักษ์ บรรณาธิการบริหารของ นิตยสารสกุลไทย ผู้ล่วงลับไปแล้ว บอกว่า
"...เพลงของพี่โจ๊วที่ฉันประทับใจมากเพลงหนึ่ง คือ เพลงวิหคเหินลม เพราะตรงใจที่เนื้อร้องและท่วงทำนอง บ่งบอกความหมายถึงชีวิตอิสรเสรีของนก เสียงเพลงของพี่โจ๊ว เป็นเสียงที่ให้อารมณ์ และมโนภาพที่งดงาม มองเห็นนกครั้งใด ก็เหมือนได้ยินเสียงเพลงของพี่โจ๊วกังวานอยู่ในใจทุกครั้ง ..."
ครูสุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ เขียนเล่าถึงเพลงวิหคเหินลม ไว้ในหนังสือ ๑๐๐ ปี เกษม พินิจดุลอัฎว่า
"...เพลงนี้เดิมทีเดียว เนื้อร้องไม่ได้เป็นอย่างนี้ ที่แต่งไว้ครั้งแรกเป็นเพลงผู้หญิงร้องกระแนะกระแหนผู้ชายว่าเจ้าชู้ ชอบหลอกลวง เชื่อไม่ได้ ไว้ใจอะไรไม่ได้ อะไรทำนองนั้น
แต่เวลาไปอัดแผ่นเสียงซ้อมเท่าไหร่ๆ ก็ฟังดูไม่ดีสักที พอดีผู้แต่งไปอยู่ที่ห้องอัดเสียงด้วย ท่านเจ้าของห้องอัดเสียงฟิลิปส์ซึ่งเป็นผู้อัดเสียงเพลงนี้เป็นครั้งแรกได้เดินมาบอกว่า เพลงนี้เป็นอย่างไรก็ไม่รู้ ฟังดูไม่ดีสักที ลองเปลี่ยนเนื้อร้องใหม่ได้ไหม เผื่อจะดีขึ้น
เลยตอบไปว่า ลองดูก็ได้ แต่ต้องขอเวลาหน่อย ระหว่างนี้ อัดเพลงอื่นไปก่อนก็แล้วกัน
ขอกระดาษเขียนหนังสือมา ๒ แผ่น ออกมานั่งหน้าห้องอัดเสียง ลักษณะเป็นห้องเล็ก ๆ มีหน้าต่างรอ บๆ สั่งโอเลี้ยงมาแล้ว ๑ แก้ว นั่งคิดไปคิดมาว่า จะเขียนอย่างไรดี พล็อตเดิมใช้ไม่ได้แล้ว ต้องเปลี่ยนเรื่องใหม่หมด
มองไปนอกหน้าต่าง เห็นนกหลายตัวเหมือนกัน บินไปบินมาอย่างสนุกสนาน (ห้าสิบกว่าปีก่อน แถบถนนสาทร ยังมีนกบินอยู่) เลยได้ความคิดขึ้นมาว่า เป็นนกดีกว่า
ออกมาเป็น "วิหคเหินลม" ใช้เวลาประมาณเกือบหนึ่งชั่วโมง
พอแต่งเสร็จ โอเลี้ยงหมดแก้วพอดี ต่อมาเลยได้ฉายาจาก ส. อาสนจินดา (นักประพันธ์ชื่อดังในสมัยนั้น) ว่า "นักแต่งเพลงโอเลี้ยงแก้วเดียว"
เพลงนี้สุวัฒน์ วรดิลก นักประพันธ์ใหญ่ของไทย บอกเอาไว้ในหนังสือ อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายสมาน กาญจนะผลิน ในคอลัมน์ "ผู้รู้วันตาย" ไว้ว่า
"..."น้าหมาน" ซึ่งพัฒนาตัวเองอยู่เป็นอาจินต์ได้นำเอาดนตรีสากลบรรเลงผสมกับดนตรีไทย (วงปี่พาทย์) ขอให้ผู้เขียนตั้งชื่อ การแสดงดนตรีประเภทนี้
เราหารือกันที่บ้าน สง่า อารัมภีร ผู้เขียนได้เสนอชื่อ "สังคีตประยุกต์"
เพลงแรกคือ "วิหคเหินลม" เพ็ญศรี พุ่มชูศรี ขับร้อง น้าหมาน สร้างทำนองมาจากเพลงไทย "ลาวลอดค่าย"(บ้างก็ว่า ลาวดอย)
สุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ แต่งเนื้อร้อง (ผู้เขียน คิดว่าเป็นเนื้อเพลงไทยสากลที่ดีที่สุดอีกเพลงหนึ่งของวงการเพลงเมืองไทย) เพลงวิหคเหินลม กลายมาเป็นเพลงอมตะจนทุกวันนี้..."
