เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 5 6 [7] 8 9 ... 14
  พิมพ์  
อ่าน: 71416 คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 90  เมื่อ 22 ก.ค. 12, 10:05

บรรดาผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฏถูกจับกุมเฉพาะวันแรกวันเดียว จำนวนถึงห้าสิบกว่าคน มีทั้งทหาร ตำรวจและพลเรือน ผู้ที่ถูกจับเป็นอดีตรัฐมนตรีในสมัยพระยาพหลที่เพิ่งพ้นตำแหน่งหมาดๆหลายคน และบางคนก็ยังเป็นส.ส.ประเภทสองอยู่ เช่น พลโทพระยาเทพหัสดิน พระยาอุดมพงษ์เพ็ญสวัสดิ์ พระวุฒิภาคภักดี พวกนี้คือพวกที่เคยอภิปรายตำหนิรัฐบาล พ.อ.พระสิทธิเรืองเดชพล นายทหารสายพระยาทรงสุรเดช พ.ท.พระสุรรณชิต นายทหารสายสืบ ร.อ.หลวงภูมิภาค ร.ท.ชิต ไทยอุบล หลวงสิริราชทรัพย์ ซึ่งผมไม่ทราบเหมือนกันว่าเป็นพวกใคร แต่หลวงพิบูลบอกว่าไม่ใช่พวกกูก็แล้วกัน

เมื่อตำรวจเข้าค้นบ้าน ร.ท. ณ เณร ตาละลักษณ์ ส.ส. จังหวัดพระนคร ในขณะที่เจ้าตัวกำลังอยู่ที่สงขลา ตามข่าวว่าแถลงว่าได้พบขวดเข้าใจว่าจะเป็นยาพิษ ซึ่งความจริงก็เป็นแค่ขวดหมึกแดง ณ เณร เมื่อทราบข่าวก็รีบเดินทางเข้ากรุงเทพ พอถึงบ้านแถวผ่านฟ้า ก็ถูกสันติบาลจับใส่กุญแจมือ นำไปฝากขังใว้ที่สถานีตำรวจบุบผาราม
 
ในวันดีเดย์ออกจับผู้ที่ไม่ใช่พวกกูดังกล่าว หลวงพิบูลได้ออกคำสั่งปลดนายทหารแบบไม่มีเบี้ยหวัดเบี้ยบำนาญ๑๒นาย ตั้งแต่พันเอก พระยาทรงสุรเดช ไปจนนายทหารสังกัดโรงเรียนรบที่ท่านตั้งขึ้น หนึ่งในนี้มีหลานชายพันเอกพระยาฤทธิ์อัคเนย์ซื่อ ร.อ. ชลอ เอมะศิริ รวมอยู่ด้วย พวกที่ถูกจับที่กรมทหารราชบุรี ทหารรัฐบาลควบคุมตัวเดินทางโดยรถไฟเข้ากรุงเทพ ส่วนตัวพระยาทรงและร.อ.สำรวจ กาญจนสิน นายทหารคนสนิทนั้น ให้เลยไปเขมรเสียทีเดียว โดยมีตำรวจสันติบาลหลายนายประกบตัวไปส่งถึงชายแดนด้านอรัญประเทศ

ผู้ที่ถูกจับตายทั้งสามคน ล้วนมีประโยชน์ในทางทำคดีของตำรวจการเมืองยิ่งนัก เพราะจะได้โยงใยแพะที่ยังเป็นๆอยู่ให้เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย โดยผู้ที่ถูกอ้างถึงนั้นเสียชีวิตแล้ว ไม่สามารถเปิดปากปฏิเสธได้
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 91  เมื่อ 22 ก.ค. 12, 10:45

ศาลพิเศษนั้น คือศาลที่ตั้งโดยรัฐบาล เพื่อฟังคำสั่งของรัฐบาล คราวที่รัฐบาลจัดตั้งศาลพิเศษครั้งแรกเพื่อพิพากษาโทษคดีกบฏบวรเดชนั้น หลวงพิบูลก็ได้เข้าไปเหยียบศาลเพื่อสำแดงอิทธิฤทธิ์ให้ประจักษ์ดังนี้


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 92  เมื่อ 22 ก.ค. 12, 11:19

ผู้ต้องหาที่ถูกกวาดล้างทั้งหลายเป็นเพียงแพะตัวเล็กตัวน้อย ถ้าเป็นหนามก็เพียงเสี้ยนตำเนื้อชิ้นเล็กๆ   แต่ตัวหัวหน้าใหญ่ที่ถูกมองว่าเป็นขวากหนามชิ้นสำคัญคือนายพันเอกพระยาทรงสุรเดช    ผู้เป็นคู่แข่งทางการเมืองของหลวงพิบูลฯ

หลวงพิบูลฯก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกฯ  มีสาเหตุสืบเนื่องมาจากพระยาพหลประกาศยุบสภาเพราะแพ้การลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจ จากเงื่อนงำที่รัฐบาลเอาที่ดินของพระคลังข้างที่ออกมาขายให้พวกเดียวกันเองในราคาถูกเหมือนแจกฟรี แถมโปรโมชั่นคือผ่อนส่งได้อีกด้วย    ส.ส.ที่มาจากเลือกตั้งจึงยอมไม่ได้   ในจำนวนนี้ร้อยโทณ เณร ตาละลักษณ์ ส.ส.พระนคร เจ้าของหนังสือพิมพ์ชุมชน ประกาศตนเป็นฝ่ายค้านรัฐบาลอย่างไม่เกรงกลัวอิทธิพล   มิหนำซ้ำยังออกโรงเชียร์พระยาทรงโดยเปิดเผยว่าเป็นบุคคลที่เหมาะสมจะเป็นนายกรัฐมนตรีที่สุด 
เมื่อเลือกตั้งใหม่เสร็จ เมื่อได้ส.ส.ใหม่เข้าสภาแล้ว ได้จัดให้มีการประชุมลับเฉพาะส.ส.ประเภท 1 เพื่อหยั่งเสียงว่าจะเลือกใครเป็นนายกรัฐมนตรีแทน มีผู้เสนอชื่อพระยาทรงคู่กับหลวงพิบูล ปรากฎว่าคะแนนพระยาทรงชนะขาดถึง 37 ต่อ 5 วันรุ่งขึ้นนสพ.ชุมชนตีภาพพระยาทรงกับหลวงพิบูลขึ้นหน้าหนึ่งคู่กันโดยพาดหัวว่า สภาลงคะแนนลับให้พระยาทรง 37 คะแนน หลวงพิบูล 5 แต้ม

ไม่ต้องสงสัยว่าหลวงพิบูลฯได้อ่านแล้วจะรู้สึกอย่างไรกับร้อยโทณ เณร

อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงเวลาที่สภาลงมติจริง กลับไม่มีใครเสนอชื่อพระยาทรง เพราะเห็นว่าท่านไม่เอาด้วย หลวงพิบูลจึงไร้คู่แข่ง พระยาพหลก็ประกาศเสนอชื่อหลวงพิบูลให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่  รวมเสียงส.ส.ประเภท2 หรือที่เรียกในปัจจุบันนี้ว่าสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งเป็นคนของรัฐบาลทั้งนั้น ลงมติรวมกับเสียง ส.ส.ประเภท 1 จากการเลือกตั้ง ปรากฏว่าหลวงพิบูลได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีอย่างท่วมท้น
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 93  เมื่อ 22 ก.ค. 12, 11:27

เมื่อร้อยโทณ เณรถูกจับข้อหาหนักว่าจ้างวานให้ผู้อื่นวางยาพิษหลวงพิบูลฯ   พระยาทรงฯหรือจะรอดข้อหาไปได้     แต่ก็ยังดวงดีพอที่จะเอาชีวิตรอดข้ามพรมแดนไปได้เพราะมีสันติบาลอำนวยความสะดวกพาไปส่งพ้นชายแดนไทยทางเขมร      และดวงดีพอที่จะไม่มีโจรจีนหรือพรรคพวกที่ไหนมาชิงตัวกลางทาง  จนเป็นเหตุให้ถูกกระสุนลูกหลงตาย โดยตำรวจไทยปลอดภัย

สาเหตุที่พระยาทรงสุรเดชรอดไปได้   ว่ากันหลายทาง  ทางหนึ่งบอกว่าพระยาทรงสุรเดชก็มีคนนิยมไม่ใช่น้อย   หลวงพิบูลฯจึงไม่จับส่งศาลให้ประหารชีวิต  แต่อีกทางบอกว่าพระยาพหลฯเป็นผู้ขอชีวิตได้    เพราะสาบานกันไว้ในหมู่ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาด้วยกันว่าจะไม่ทำร้ายกันถึงชีวิต

สาเหตุที่ต้องมาสาบานกัน  ก็ต้องย้อนไปถึงเหตุการณ์วันที่ 24 มิถุนายน 2475  จากบันทึกของพลโทประยูร ภมรมนตรี เมื่อบุกวังบางขุนพรหมเอาปืนไปจี้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ฯเป็นตัวประกันในการยึดอำนาจ

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 94  เมื่อ 22 ก.ค. 12, 11:29

วลา 08.00 น. วันที่ 24 มิ.ย. หลวงพิบูลสงครามและคณะ ได้นำจอมพลสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์...มาในรถถัง ส่งให้ที่หน้าประตูพระที่นั่งอนันตสมาคม
ข้าพเจ้าถวายคำนับ เชิญเสด็จฯ ทรงจ้องข้าพเจ้าด้วยพระเนตรดุเดือด   ตรัสว่า
"ตาประยูร แกเอากับเขาจริง ๆ พระยาอธิกรณ์ประกาศบอกฉันไม่เชื่อ ฉันตั้งชื่อทำขวัญให้แกเมื่อเกิด ฉันเลี้ยงแกมาตั้งแต่เด็ก โกรธฉันที่ไม่ไปเผาศพพ่อแกใช่ไหม"

ข้าพเจ้าเร่งให้เสด็จลงจากรถถัง ทรงสำทับถาม "จะเอาฉันไปไหน อย่าเล่นสกปรกนะ"
เมื่อเข้าไปประทับในที่ประทับด้านหน้า ข้าพเจ้าสำนึก วางปืนก้มกราบขอพระราชทานอภัย
ทรงรับสั่งถาม "ใครเป็นหัวหน้า พระองค์บวรเดชใช่ไหม?"
"ยังกราบทูลไม่ได้พ่ะย่ะค่ะ" ทรงกริ้ว รับสั่งหนักแน่นว่า "ตาประยูร แกเป็นกบถ โทษถึงต้องประหารชีวิต"
ทรงรับสั่งถามต่อไป "พวกแกที่ยึดอำนาจนี้ ต้องการอะไร มีความประสงค์อะไร ต้องการปาลีเมนต์ มีคอนสติติวชั่นใช่ไหม" ข้าพเจ้ากราบทูลว่า "ใช่"
ทรงนิ่งชั่วครู่ แล้วรับสั่งถามว่า "แล้วมันจะดีกว่าที่เป็นอยู่เวลานี้หรือ ตาประยูร"
"อารยประเทศทั่วโลกก็มีปาลีเมนต์กันทั่วไป ยกเว้นอาบิสซีเนีย" ข้าพเจ้ากราบทูล
ทรงถามว่าข้าพเจ้าอายุเท่าไร เมื่อข้าพเจ้ากราบทูลว่า 32 ก็รับสั่งว่า "เด็กเมื่อวานซืนนี้เอง นี่แกรู้จักคนไทยดีแล้วหรือ  แกจะต้องเจอปัญหาเรื่องคน พระราชวงศ์จักรีครองเมืองมา 150 ปีแล้ว รู้ดีว่าคนไทยนี่ปกครองกันได้อย่างไร อ้ายคณะของแกจะเข็นครกขึ้นเขาไหวรึ"
ทรงถามถึงการศึกษา เมื่อกราบทูลว่าเรียนรัฐศาสตร์จากปารีส ทรงสำทับ "อ้อ มีความรู้มาก แกรู้จักโรเบสเปีย มารา และกันตอง เพื่อนน้ำสบถฝรั่งเศสดีแน่ ในที่สุดมันผลัดกันเอากิโยตีน เฉือนคอกันทีละคน จำได้ไหม ฉันสงสาร ฉันเลี้ยงแกมา นี่แกเป็นกบถ รอดจากอาญาแผ่นดิน ไม่ถูกตัดหัว แต่จะต้องถูกพวกเดียวกันฆ่าตาย แกจำไว้"
ข้าพเจ้ากราบทูลว่า "ตามประวัติศาสตร์ มันจะต้องเป็นเช่นนั้น"
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 95  เมื่อ 22 ก.ค. 12, 12:14

อ้างถึง
สาเหตุที่พระยาทรงสุรเดชรอดไปได้   ว่ากันหลายทาง  ทางหนึ่งบอกว่าพระยาทรงสุรเดชก็มีคนนิยมไม่ใช่น้อย   หลวงพิบูลฯจึงไม่จับส่งศาลให้ประหารชีวิต  แต่อีกทางบอกว่าพระยาพหลฯเป็นผู้ขอชีวิตได้    เพราะสาบานกันไว้ในหมู่ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาด้วยกันว่าจะไม่ทำร้ายกันถึงชีวิต

นอกจากพระยาทรง ยังมีพระยาฤทธิ์อัคเนย์ และพระประศาสตร์พิทยายุทธ ผู้ก่อการของคณะราษฎร์ที่ถูกขอให้ปล่อยไปอยู่ต่างด้าวต่างแดน

ส่วนผู้ก่อการอีกคนนึง ตัวเล็กไปหน่อย คือหลวงชำนาญยุทธศิลป์ เขาจึงเอาไว้ติดคุกไม่ให้ไปไหน  เป็น๑ใน๒๑คนที่ถูกศาลพิเศษตัดสินประหารชีวิต แต่ศาลบอกว่าเคยกระทำความดีในอดีต(คือร่วมปฏิวัติ๒๔๗๕) และอีก๒ท่าน คือกรมขุนชัยนาทนเรนทร และพลโทพระยาเทพหัสดิน เคยกระทำความดีคนทั้งแผ่นดินเห็นประจักษ์ ศาลจึงลดโทษประหารชีวิตให้ เหลือเป็นจำคุกตลอดชีวิต แต่ถอดจากยศถาบรรดาศักดิ์ เป็นนักโทษชายรังสิต(เสด็จในกรมชัยนาท) นักโทษชายผาด(เจ้าคุณเทพ) และนักโทษชายเชย(หลวงชำนาญ)ส่งเข้าคุกบางขวาง

สามท่านหลังนี้ พระยาพหลก็เป็นผู้ขอไว้จากหลวงพิบูลและหลวงอดุล
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 96  เมื่อ 22 ก.ค. 12, 12:29

    เรื่องที่สั่นสะเทือนจิตใจของประชาชนจำนวนมากที่ยังจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็คือการจับกุมเจ้านายชั้นผู้ใหญ่พระองค์เดียวที่ยังทรงอยู่ในสยาม   มิได้เสด็จลี้ภัยการเมืองไปนอกประเทศอย่างพระองค์อื่นๆก่อนหน้านี้   คือสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาชัยนาทนเรนทร หรือตอนนั้นดำรงพระยศเป็นกรมขุนชัยนาทนเรนทร
    พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ กรมขุนชัยนาทนเรนทร ทรงเป็นพระเจ้าลูกยาเธอในรัชกาลที่ 5    เสด็จไปศึกษาชั้นมัธยม ณ เมืองฮัสเบอรสตัด ประเทศเยอรมนี ในปี พ.ศ. 2442 จากนั้นทรงเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยไฮเดลแบร์กโดยทรงพระประสงค์ที่จะศึกษาวิชาแพทย์ แต่ในระยะแรกทรงศึกษาวิชากฎหมาย ตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาจึงทรงเปลี่ยนไปเรียนวิชาการศึกษา และยังทรงเข้าเรียนวิชาที่เกี่ยวกับการแพทย์บางอย่างเป็นส่วนพระองค์กับศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัยนั้นด้วย
   เมื่อสำเร็จการศึกษา  ทรงกลับเข้ารับราชการในตำแหน่งอธิบดีกรมมหาวิทยาลัย และอธิบดีกรมสาธารณสุขอยู่ระยะเวลาหนึ่ง แต่ต่อมา  พระอนามัยอ่อนแอลง  มีอาการประชวรเป็นโรคหืด   กำเริบมากจนกราบบังคมทูลลาออกจากตำแหน่ง เพราะทรงเกรงว่าถ้าทรงทำงานต่อไปจะมีผลเสียหายต่องานที่ทรงรับผิดชอบอยู่    จากนั้นก็มิได้ทรงรับราชการอีกทั้งในรัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 7      แต่โปรดที่จะเสด็จไปตามหัวเมืองที่อากาศแห้งและเย็น  ซึ่งเป็นผลดีกับพระโรคหอบหืดเรื้อรัง
    เมื่อเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ทั้งหลายเสด็จลี้ภัยการเมืองออกไปนอกประเทศหลัง 2475 เป็นต้นมา   ทีละองค์สององค์จนหมด  ก็เหลือกรมขุนชัยนาทที่เป็นเจ้านายระดับพระราชโอรสของพระเจ้าแผ่นดินเท่านั้นที่ยังทรงอยู่ในสยามตามปกติ      เพราะทรงเห็นว่ามิได้เกี่ยวข้องอย่างใดกับราชการมานมนานเป็นสิบปีแล้ว   พระอนามัยก็ไม่ค่อยดี   อยู่ในเมืองหลวงก็ไม่ค่อยได้อยู่   แต่เสด็จไปอยู่หัวเมืองโดยเฉพาะทางเหนือให้บรรเทาพระอาการของโรค
   ที่ไหนได้    ทรงกลายเป็นหัวหน้ากบฏไปโดยไม่มีใครคาดคิด แม้แต่พระองค์เอง

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 97  เมื่อ 22 ก.ค. 12, 12:33

  ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้บันทึกเหตุการณ์วันนั้นไว้ว่า

    “...ในครั้งนั้นเสด็จในกรมทรงว่างราชการ จึงทรงเสด็จประพาสตามต่างจังหวัดต่างๆ จังหวัดทางภาคเหนือเป็นที่โปรดปรานมาก เพราะเป็นที่สูงและมีอากาศแห้งถูกกับพระอาการที่ประชวรอยู่ด้วยโรคหืดเป็นประจำ ... คืนวันหนึ่ง ผู้เขียนนั่งฟังวิทยุจากกรุงเทพฯ อยู่ครู่หนึ่ง เสด็จในกรมก็มาประทับฟังด้วย คืนนั้นมีข่าวผู้ที่ถูกจับกุมทางปักษ์ใต้คนหนึ่ง หลบหนีเจ้าพนักงานแล้วถูกยิงตาย เสด็จในกรมทรงฟังข่าวต่างๆ โดยดุษฎี บางทีจะไม่ทรงทราบเลยเลยว่าในเวลาไม่กี่ชั่วโมงหลังจากนั้น พระองค์เองจะกลายเป็นข่าวสำคัญ

รุ่งขึ้นอีกวันหนึ่งเป็นวันเสด็จกลับจากกรุงเทพฯ โดยขบวนรถด่วน มีรับสั่งให้ผู้เขียนไปบุ๊ครถนอนถวายไว้ล่วงหน้า วันนั้นรถด่วนขาล่องออกจากสถานีลำปาง เวลาบ่ายโมงเศษ เสด็จในกรมเสวยพระกระยาหารกลางวันราวๆ เที่ยง แล้วก็รับสั่งว่าจะบรรทมพักผ่อนสักครึ่งชั่วโมงก่อนที่จะเสด็จไปสถานี
ในระหว่างที่บรรทมอยู่นั้นเอง เจ้าพนักงานตำรวจสันติบาลที่ขึ้นไปจากกรุงเทพฯ ก็ขอเฝ้าโดยด่วน เมื่อได้เฝ้าก็ทูลเชิญเสด็จกลับกรุงเทพฯ มีรับสั่งถามว่า
“มีเรื่องอะไร”
นายตำรวจผู้นั้นก็ทูลว่า “ผู้บังคับการตำรวจสันติบาลจะขอเข้าเฝ้าที่กรุงเทพฯ”
เสด็จในกรมรับสั่งถามต่อไปว่า “ใครเป็นผู้บังคับการตำรวจสันติบาล”
นายตำรวจกราบทูลต่อไปว่า “ขุนศรีศรากร”
ในกรมมีรับสั่งว่า “เอ ฉันไม่รู้จัก”
เมื่อนายตำรวจทูลถามว่าทรงมีปืนหรือไม่ ก็รับสั่งตอบว่า “ไม่เคยมีเลยแม้แต่ปืนยิงนก”
แล้วก็เสด็จออกจากพระที่แต่งพระองค์เสด็จไปสถานีรถไฟ มีนายตำรวจนั่งไปหน้ารถและมีผู้เขียนเรื่องนี้ตามไปส่งเสด็จด้วย ตั้งแต่เวลาที่ตำรวจเข้าไปจับหรือเชิญเสด็จ ตลอดจนถึงเวลาที่เสด็จขึ้นรถด่วนเข้าไปในห้อง มีเจ้าพนักงานยืนคุมหัวรถท้ายรถ
เสด็จในกรมมิได้มีพระอาการผิดปรกติหรือสะทกสะท้านแม้แต่น้อย คำว่า “ขัตติยมานะ” นั้น ผู้เขียนเคยได้ยินคนพูดบ่อยครั้ง และตีความหมายกันไปมากมาย แต่ผู้เขียน (มร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช) ได้เคยเห็นของจริงก็ในคราวนั้นครั้งเดียว...”

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 98  เมื่อ 22 ก.ค. 12, 12:36

     หม่อมเจ้าปิยะรังสิต รังสิต พระโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทฯ ทรงเขียนถึงเหตุการณ์ที่ถือว่าเป็น “เคราะห์กรรม” ของครอบครัวพระองค์ไว้ว่า

    “...พ.ศ. 2482 ปีมหาอุบาทว์ ปีที่มี 9 เดือนเท่านั้น ใกล้เข้ามาแล้ว สองเดือนก่อนถึงวันที่ 1 เมษายน 2482 ซึ่งเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทยแบบเก่าครั้งสุดท้าย เสด็จพ่อถูกตำรวจของรัฐบาลพลตรีหลวงพิบูลสงคราม จับในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ และในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2481 พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา กับเจ้าพระยาพิชเยนทร์โยธิน สองผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ก็ลงชื่อในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลพิเศษ... โดยพลตรี หลวงพิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม เป็นผู้มีอำนาจตั้งผู้พิพากษาของศาลพิเศษ ทั้งอำนาจตั้งอัยการประจำศาลผู้ทำหน้าที่เป็นโจทก์ (แต่จำเลยไม่มีสิทธิ์ตั้งทนาย)
      ศาลพิเศษนี้ผู้พิพากษาเป็นนายพลเพื่อนนายกรัฐมนตรีส่วนใหญ่ ตั้งขึ้นเพื่อพิจารณาพิพากษาคดีเดียวคือคดีที่เสด็จพ่อทรงติดร่างแหไปด้วย     นักกฎหมายทุกคนเห็นว่าเป็นการผิดหลักนิติธรรมที่ประเทศซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นประชาธิปไตย มีรัฐธรรมนูญ มีสภานิติบัญญัติ และอยู่ในภาวะปกติไม่มีสงครามหรือการจลาจลได้ออกกฎหมายพิเศษให้รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมผู้ที่มีอำนาจตั้งโจทก์ ตั้งผู้ว่าคดี และตั้งผู้พิพากษาเองทั้งหมด เป็นเรื่องซึ่งทำให้คนไทยผู้ไม่ได้กระทำผิด เพียงแต่อาจไม่เห็นด้วยกับนโยบายบางประการถูกประหารชีวิต 18 คน ถูกจับคุกหลายสิบคน รวมทั้งเสด็จพ่อด้วย
       ทีแรก “เชิญเสด็จ” ไปที่พระราชวัง(หมายถึงโรงพักพระราชวัง) แล้วลหุโทษ(เดี๋ยวนี้เรียกว่าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ หรือคลองเปรม) แล้วในที่สุด “บางขวาง” เมื่อปลายปี พ.ศ. 2484 ปีที่พอ 1 มกราคม ก็เปลี่ยนเป็น 2483 ให้ตรงกับการขึ้นปีใหม่ฝรั่ง...”

จากพระนิพนธ์ "เกิดวังไม้" ของ ม.จ. ปิยะรังสิต รังสิต
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 99  เมื่อ 22 ก.ค. 12, 13:10

จากชีวิตแห่งการกบฏสองครั้ง



บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 100  เมื่อ 22 ก.ค. 12, 13:13

การจับกุมคุมขังพระราชโอรสของพระเจ้าแผ่นดิน เป็นเรื่องน่าสลดใจอย่างยิ่ง เพราะใครๆก็ย่อมดูออกว่าเป็นไปไม่ได้ที่กรมขุนชัยนาทฯผู้ทรงอยู่นอกราชการมานานหลายปี  ไม่เคยยุ่งเกี่ยวกับเหตุการณ์บ้านเมืองมาแต่ไหนแต่ไร    ซ้ำพระอนามัยก็อ่อนแอ  จะกลายเป็นจอมบงการอยู่เบื้องหลัง ทำได้ทั้งก่อกบฎ ลอบยิง จ้างคนยิง จ้างคนวางยาพิษ ฯลฯ  ซ้ำคนที่เป็นเป้าหมายก็มีอยู่คนเดียว คือหลวงพิบูล   ขณะที่บุคคลสำคัญอื่นๆแม้แต่พระยาพหลฯ ก็อยู่กันปลอดภัยดี
แต่ในเวลานั้น  ไม่มีใครกล้าจะหือขึ้นมา  เพราะเกรงว่าจะกลายเป็นไก่ตัวต่อไปที่ถูกเชือดให้ลิงดู  

เหล่านี้ถูกสงสัยว่าพยายามที่รวบรวมพวกพ้อง และตลอดจนลอบฆ่าหลวงพิบูลฯ แต่พระยาทรงสุรเดชและพวกพ้องต้องได้เงินมาใช้เตรียมการจากแหล่งใดแหล่งหนึ่ง ความสงสัยจึงฉวัดเฉวียนไปทางพระราชวงศ์ชั้นสูง อาทิ พระปกเกล้าฯ และกรมพระนครสวรรค์ แต่โดยที่ใครๆ ก็ทราบว่า ... พระยาทรงฯ ไม่เคยมีโอกาสได้เฝ้าเจ้านายชั้นสูงเช่นที่ออกพระนามแล้ว แต่มีเจ้านายชั้นสูงอีกพระองค์หนึ่งที่โปรดเสด็จประพาสในที่ต่างๆ ทั้งในสยามและต่างประเทศ นั่นคือกรมขุนชัยนาทฯ ซึ่งมีโอกาสที่ใครจะพบได้ง่าย ทั้งปรากฏด้วยว่าพระองค์เสด็จประพาสเชียงใหม่ จึงน่าจะเป็นโอกาสให้พระยาทรงฯ ได้เข้าเฝ้า กรมขุนชัยนาทฯ จึงถูกสงสัยว่าได้ประทานอุปการะแก่การคิดกบฏของพระยาทรงฯ...”

จากบันทึกของ ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน

เพียงแต่ข้อสงสัยเท่านั้น ก็สามารถส่งพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์หนึ่งไปถึงขั้นประหารชีวิต
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 101  เมื่อ 22 ก.ค. 12, 13:32

นอกจากจะมีแพะรับบาปกันเป็นแถวแล้ว   ยังมีการจับแพะจนแกะกันอยู่อีกหลายเรื่องด้วยกันค่ะ
เห็นได้จากข้อสงสัยที่กลายเป็นข้อกล่าวหาก็คือกรมขุนชัยนามฯเคยเสด็จเชียงใหม่  พระยาทรงฯก็อยู่เชียงใหม่  น่าจะมีโอกาสได้เข้าเฝ้า ดังนั้นจึงน่าจะทรงเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้พระยาทรงสุรเดช  เพราะ น่าจะเป็นว่าทรงอยากได้อำนาจคืนให้สมเด็จพระปกเกล้าฯ



บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 102  เมื่อ 22 ก.ค. 12, 13:37

ถ้าถามว่ากรมขุนชัยนาทฯ เสด็จไปเชียงใหม่ทำไม   คำตอบก็มี ไม่ใช่ไม่มี

จากคำบอกเล่าของหลวงอายุรกิจโกศล เขียนเล่าไว้ว่า

“... ในปี ๒๔๘๑ ระหว่างเดือนสิงหาคม หรือกันยายน จำไม่ได้แน่ เสด็จในกรมได้เสด็จไปจังหวัดเชียงใหม่ ก่อนเสด็จได้มีลายพระหัตถ์ถึงข้าหลวงประจำจังหวัด แจ้งพระประสงค์ว่า เพื่อทรงศึกษาลู่ทาง ที่จะให้หม่อมเจ้าสนิทประยูรศักดิ์ รังสิต พระโอรสพระองค์เล็กซึ่งทรงศึกษาวิชามนุษย์ไปสอบสวน และศึกษาเรื่องชาวละว้าซึ่งทางเหนือเรียกว่าลัวะเพื่อนำไปทำวิทยานิพนธ์เสนอมหาวิทยาลัยซูริคในประเทศสวิสเซอร์แลนในสิ้นปีหน้า และส่งลายพระหัตถ์ฉบับเดียวกันถึงผู้เขียนด้วยข้อความเดียวกัน กับสั่งให้จองโรงแรมรถไฟให้ด้วยสองห้องสำหรับเป็นที่ประทับ

    เมื่อเสด็จถึง ได้ทรงปรารภเรื่องนี้พร้อมกับข้าหลวงประจำจังหวัดอีกครั้งหนึ่ง ... รับสั่งว่า ... จะให้ท่านชายเล็กไปพบ ม.ร. ฮัทจิสัน เพื่อขอทราบเรื่องเหล่านี้บ้าง (เรื่องการศึกษาเผ่าละว้า - ผู้เขียน) รับสั่งว่าจะเสด็จกลับกรุงเทพฯ แต่เพียงพระองค์เดียว เพื่อให้ท่านชายได้เดินทางไปบ่อหลวงเพื่อดูลาดเลาเสียครั้งหนึ่งก่อนสักสองสามวัน แล้วจึงกลับไปเตรียมตัวเตรียมเครื่องมือเครื่องใช้สำหรับการนี้ให้พร้อมแล้ว จึงกลับมาทำการสอบสวนให้เต็มรูปแบบอีกครั้งหนึ่ง ... เมื่อได้ตกลงเรื่องของท่านชายเล็กเสร็จเรียบร้อยแล้ว เสด็จในกรมก็เสด็จกลับกรุงเทพฯ หม่อมเจ้าสนิทประยูรศักดิ์และคณะเดินทางไปฮอด และบ้านบ่อหลวง บ้านบ่อสะหลี เป็นเวลาเกือบ ๒ อาทิตย์จึงกลับเชียงใหม่แล้วกลับกรุงเทพฯ...”
     จากนั้นอีกประมาณ 2 อาทิตย์ ก็เสด็จกลับไปเชียงใหม่อีกครั้ง เพื่อส่งหม่อมเจ้าสนิทประยูรศักดิ์ รังสิต และเสด็จประพาสที่เชียงใหม่อยู่ระยะหนึ่ง จึงได้เสด็จไปประทับกับ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่ลำปาง ซึ่งก็ทรงไปประทับด้วยอยู่บ่อยครั้ง จนกระทั่งถูกจับ โดยสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยได้ประกาศในคืนวันนั้นว่า “เจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลได้ควบคุมพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร ที่สถานีรถไฟลำปางเพื่อนำส่งกรุงเทพฯ”
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 103  เมื่อ 22 ก.ค. 12, 13:47

อย่างไรก็ตาม ศาลพิเศษที่ตั้งขึ้นมาเป็นพิเศษเพื่อพิจารณาคดี  มีคณะผู้พิพากษาซึ่งไม่ใช่ผู้พิพากษาอาชีพในกระทรวงยุติธรรมก็ได้ตัดสินว่า

“…คดีเป็นอันฟังได้ว่า จำเลยทั้งหมดในคดีนี้ได้สบคบกันกระทำการประทุษร้ายเพื่อทำลายรัฐบาล มีความผิดฐานกบฏตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 101…
  อาศัยเหตุดังกล่าวแล้ว จึงต้องพิพากษาให้ประหารชีวิต แต่นายพลโท พระยาเทพหัสดินทร กรมขุนชัยนาทนเรนทร และพันเอก หลวงชำนาญยุทธศิลป จำเลยทำความดีมาก่อน ประกอบกับเมื่อได้ระลึกถึงเหตุผลที่ว่าๆ ไปแล้ว ควรได้รับความปรานี จึงลดโทษให้ 1 ใน 3 ตามมาตรา 59 และมาตรา 37 (1) คงให้จำเลยทั้ง 3 นี้ ไว้ตลอดชีวิต…”

  
การพิจารณาในครั้งนี้ได้ตัดสินประหารชีวิตนักโทษการเมือง 21 คน และมี 3 คนที่ได้รับการลดโทษ คือ พระยาเทพหัสดินทร กรมขุนชัยนาทนเรนทร หลวงชำนาญยุทธศิลป
เคยมีผู้สัมภาษณ์จอมพล ป. พิบูลสงครามว่าทำไมไม่ขออภัยโทษให้กับนักโทษที่ถูกตัดสินให้ประหารชีวิต เมื่อท่านอยู่ในฐานะที่ทำได้   จอมพล ป. ตอบว่าหลวงอดุลเดชจรัส อธิบดีกรมตำรวจไม่ยินยอม  จึงขอได้เพียง 3 คนเท่านั้น   ถ้าเป็นไปตามนี้  หลวงอดุลฯผู้เป็นอธิบดีตำรวจก็ต้องมีอำนาจเหนือนายกรัฐมนตรี     และรับไปผู้เดียวเต็มๆกับชีวิตจำเลย 18 คนที่สูญสิ้นไปกับหลักประหาร

เมื่อถูกพิพากษาตัดสินให้จำคุกตลอดชีวิตแล้ว พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทฯ ถูกคุมขังในเรือนจำกลางบางขวาง   จากพระอิสริยยศพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระราชโอรสของพระเจ้าแผ่นดิน  คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซึ่งรวมพระองค์เจ้าอาทิตยทิพยอาภาด้วยก็ถอดฐานันดรศักดิ์ และเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทั้งหมด   โดยให้ออกนามใหม่ว่า
  “นักโทษชายรังสิต”
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 104  เมื่อ 22 ก.ค. 12, 13:57

คดีเสด็จในกรม ศาลพิเศษโปรยหัวว่าดังนี้


บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 5 6 [7] 8 9 ... 14
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.047 วินาที กับ 19 คำสั่ง