เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 4 5 [6] 7 8 ... 14
  พิมพ์  
อ่าน: 71388 คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 75  เมื่อ 20 ก.ค. 12, 19:07

ผมกระอักกระอ่วนใจเหลือจะกล่าวที่จะเขียนความเห็นของตนลงไป เพราะมีแต่ความเห็นที่ตรงกันข้ามกับศาล เลยต้องขออนุญาตสแกนจากที่อื่นมาลงไว้ดีกว่า อย่างชุดนี้มาจากหนังสือประวัติของพระยาฤทธิ์อัคเนย์ ท่านถูกซัดทอดกับเขาด้วย ดีแต่ว่าพระยาพหลขอไว้ ให้ท่านหนีไปมลายูก่อน มิฉะนั้นคงโดนประหารชีวิตไปกับเขาด้วย




บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 76  เมื่อ 20 ก.ค. 12, 19:09

ต่อครับ




บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 77  เมื่อ 20 ก.ค. 12, 19:17

คือตำรวจเอาเรื่องที่ตั้งแต่๒๔๗๖ถึง๒๔๘๑มาให้พยานปรักปรำจำเลย โดยระบุวันเดือนปีสถานที่เวลา และพยานวัตถุที่จำเลยไม่เคยเห็น จำเลยถึงกับเข่าอ่อนทุกคน เพราะจำไม่ได้เลยว่าวันนั้นวันนี้จำเลยกำลังอยู่กับใครที่ไหน หรือรู้จักพยานตั้งแต่เมื่อไหร่ ทนายก็ไม่มีให้ปรึกษา

ศาลจึงเลือกเชื่อสันติบาลนั่นแหละ เพราะจำเลยไม่สามารถหาอะไรมาค้านให้ศาลเชื่อได้ นอกจากให็การปฏิเสธโดยอ้างตนเองเป็นพยาน

คดีจึงจบลงด้วย ปุ ปุ ปุ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 78  เมื่อ 20 ก.ค. 12, 19:39

ไม่รู้ว่าตัวเองเข้าใจกระบวนการพิจารณาในศาลพิเศษนี้ถูกต้องหรือเปล่า     เท่าที่อ่านจากที่คุณนวรัตนนำมาลง  ดูเหมือนจะไม่มีใครซักค้านคำให้การของทางฝ่ายพยานโจทก์เลยว่าพูดจริงมากน้อยแค่ไหน   และมีหลักฐานอื่นใดประกอบคำให้การหรือไม่
เท่าที่อ่าน  พยานโจทก์อ้างว่าผู้ใหญ่คนนั้นคนนี้จ้างวานมาให้ฆ่าหลวงพิบูล    เงินก็จ่ายเป็นเงินสด   มีหลักฐานแค่คำบอกเล่าล้วนๆศาลเชื่อ     แต่พอถึงจำเลย มีหน้าที่หาหลักฐานหรือให้การแก้ข้อหาให้หลุด   บอกเล่าเฉยๆศาลไม่เชื่อ

เรียกได้ว่าฝ่ายกล่าวหาไม่ต้องพิสูจน์ว่าตัวเองพูดจริง     ฝ่ายถูกกล่าวหาต้องมีหน้าที่พิสูจน์ว่าตัวเองพูดจริง ให้ศาลเชื่อ ถ้าศาลบอกว่าไม่เชื่อ   ก็เสร็จเรียบร้อยโรงเรียนการเมือง
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 79  เมื่อ 20 ก.ค. 12, 20:03

จำเลยไม่ได้รับอนุญาตให้มีทนาย แต่ตัวจำเลยสามารถซักค้านพยานได้

ในคดีหนึ่งที่พระแสงสิทธิการเป็นจำเลย พยานมาปรักปรำว่าเห็นจำเลยนั่งรถสามล้อไปพบคนนั้นคนนี้ในวันที่นั้นเวลานี้ ซึ่งพระแสงปฏิเสธว่าไม่ได้ไป ศาลถามว่าจำเลยมีอะไรมาหักล้าง พระแสงตอบว่าในปีดังกล่าว กรุงเทพยังไม่มีรถสามล้อเลย รถสามล้อเพิ่งจะมีปีกว่าหลังจากนั้น แต่ศาลไม่ยอมจด โดยบอกว่าเรื่องมันนานมาแล้ว พยานอาจจะลืมไปบ้าง สุดท้ายพระแสงถูกตัดสินประหารชีวิต

เรื่องที่จำเลยซักค้านตก จะไม่ปรากฏในสำนวนของศาล เกล็ดเล็กเกล็ดน้อยดังกล่าวข้างต้นมาจากหนังสือ "ชีวิตแห่งการกบฏสองครั้ง" ของม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตน
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 80  เมื่อ 21 ก.ค. 12, 11:46

^
ขออภัยครับ เมื่อวานเร็วเกินไปหน่อย ข้อเท็จจริงจึงเพี้ยนไปนิด หนังสือที่นำมาอ้างอิงมีใจความดังนี้ครับ



บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 81  เมื่อ 21 ก.ค. 12, 12:10

V_Mee
อ้างถึง
ท่านเจ้าคุณเทพหัสดินนั้นได้ชื่อว่าเป็นอาจารย์วิธียุทธศาสตร์ยุทธวิธีคนสำคัญของโรงเรียนเสนาธิการทหารบกในสมัยรัชกาลที่ ๖
ก่อนไปสงครามได้เป็นเป็นผู้บัญชาการมณฑลทบทหารบกที่ ๔  ที่เป็นหน่วยทหารที่ได้ชื่อว่าทันสมัยที่สุด  และมีขีดความสามารถในการรบสูงสุดในยุคพัฒนากองทัพ  จนเป็นกองพลเดียวที่ขึ้นการบังคับบัญชาตรงต่อเสนาธิการทหารบก 
แล้วคนที่ได้ชื่อว่าเชี่ยวชาญในตำหรับพิชัยสงครามมาตกม้าตายตามข้อกล่าวหาประหลาดๆ แบบนี้  ดูแล้วผู้ที่ตั้งข้อหาให้ท่านเจ้าคุณฯ ช่างเป็นผู้มีความสามารถสูงยิ่งในการนั่งเทียนเสียจริงๆ

ต้องขอขอบคุณคุณวีหมีที่กรุณามาช่วยเป็นพยานจำเลยให้พลโท พระยาเทพหัสดินทร์ด้วยครับ

ผู้อ่านจะได้เข้าใจว่าการเมืองสมัยเผด็จการที่อ้างว่าเป็นประชาธิปไตยนั้น เขาเล่นกันอย่างไร ด้วยวิธีไหน ในสมัยนั้นคนที่มีความเข้าใจอย่างคุณวีหมีก็ไม่กล้าแสดงความเห็น เพราะกลัวสันติบาลจะมายัดข้อหากบฏเอาเข้าปิ้งไปด้วย บรรดาผู้ที่มาให้การเป็นพยานจำเลยในศาล จึงมีแต่ลูกเมียของจำเลย คนรู้จักที่มาด้วยความเกรงใจก็จะตอบแบบกลัวๆกล้าๆไม่หนักแน่นให้แสลงใจศาล
เมื่อผลของการพิพากษาออกมา คนส่วนใหญ่ของประเทศก็พร้อมจะเชื่อ เหตุผลหนึ่งก็คือหลวงพิบูลตอนนั้นราวกับเทวดา ท่านกำลังนำพาชาติไทยไปสู่มหาอำนาจ ไม่นานเกินรอ ท่านก็ทำให้ไทยชำระแค้นฝรั่งเศสได้ดินแดนกลับมา ดังนั้น ใครที่เป็นศัตรูของหลวงพิบูล ผู้นั้นก็เสมือนเป็นศัตรูของชาติ



บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 82  เมื่อ 21 ก.ค. 12, 17:42

ที่ท่านอาจารย์ใหญ่ตั้งข้อสังเกตถึงกระบวนพิจารณาในศาลพิเศษไว้ในความเห็นก่อนหน้านี้นั้น
น่าจะอธิบายได้ว่า เพราะเมื่อจัดระเบียบการศาลในสมัยรัชกาลที่ ๕ นั้น  ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕
ทรงตัดสินพระราชหฤทัยให้ศาลใช้ระบบของอังกฤษในการพิจารณาคดี  โดยถือว่าผู้ถูกกล่าวหา
ตงเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าฝ่ายที่กล่าวหาจะนำหลักฐานการกระทำความผิดของผู้ถูกกล่าวหามาแสดง
ให้ศาลเชื่อว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดจริง  ซึ่งต่างจากระบบฝรั่งเศสที่ผู้ถูกกล่าวหาต้องนำหลักฐาน
มาแสดงต่อศาลเพื่อพิสูจน์ตนเองว่าไม่ผิด 

เนื่องจากหลวงพิบูลย์และสมาชิกคณะราษฎรส่วนใหญ่ท่านเป็นนักเรียนฝรั่งเศส  จึงคงจะไม่ชื่นชอบ
วิธีดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลยุติธรรมที่ยากที่จะเอาผิดผู้ถูกกล่าวหา  ท่านจึงหันไปตั้งศาลพิเศษ
และใช้กระบวนพิจารณาแบบฝรั่งเศส  และเมื่อผู้ถูกกล่าวหาถูกคุมขังในระหว่างพิจารณา  แล้วจะไปหา
หลักฐานที่ไหนมาหักล้างข้อกล่าวหาของฝ่ายโจทก์  ฉะนั้นจึงไม่แปลกที่จำเลยในศาลพิเศษจะถูกตัดสิน
ว่ากระทำผิดตั้งแต่ยังไม่เริ่มสืบพยาน 
 
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 83  เมื่อ 21 ก.ค. 12, 18:02

ศาลสถิตยุติธรรมจักมีความเป็นธรรมต่อโจทก์และจำเลย ไม่ว่าจะโดยหลักการใด แต่ศาลพิเศษของเผด็จการไม่จำเป็น เพียงแต่อ้างคำว่าศาลมาใช้ในการกำจัดศัตรูทางการเมืองให้ดูเหมือนว่ามีอารยะ ความจริงแท้นั้น เหยื่อทั้งหลายถูกกำหนดไว้แล้ว จะให้คนนั้นตาย คนนี้รอด คนโน้นติดคุก

เหยื่อเหล่านี้ไม่มีความผิดร้ายแรงอะไร เพียงแต่เคยหรือถูกเข้าใจว่าเป็นพรรคพวกของศัตรูทางการเมืองของท่านผู้นำ แต่เมื่อจับตัวจริงได้กลับเลือกให้ถูกเนรเทศ ส่วนลูกน้อง ถูกกำหนดให้ตายเป็นการเชือดไก่ให้ลิงดู
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 84  เมื่อ 22 ก.ค. 12, 08:13

ไก่ทั้งหลายถูกเชือดกันหลายวิธี     บางคนถูกผู้มีอำนาจเห็นว่าจับกุมไปก็ยืดเยื้อเสียเวลาพิจารณาโทษ    ดูโหงวเฮ้งแล้วน่าจะอายุสั้น    เหตุการณ์ก็เป็นไปตามที่ผู้มีอำนาจคาดคะเน  คือรายงานของสันติบาลแจ้งว่าบุคคลเหล่านี้ล้วนแล้วแต่คิดสั้น กระทำการต่างๆราวกับนัดกันไว้  ให้ตัวเองพบจุดจบเร็วมากทั้งสิ้น

แถลงการณ์ของรัฐบาลในวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๔๘๑ (ถ้านับอย่างปัจจุบันน่าจะเป็น ๒๔๘๒  เพราะตอนนั้นมกราคมยังเป็นช่วงปลายปีอยู่) ประกาศออกมาว่า

" ด้วยเมื่อเช้าวันนี้เวลา ๔.๓๐ น.  ทางราชการได้ดำเนินการสั่งจับกุมบุคคลที่คิดจะก่อความไม่สงบแก่ชาติ  และประทุษร้ายต่อสมาชิกคนสำคัญๆ แห่งรัฐบาลนี้หลายท่านด้วยกัน    เพื่อจะเปลี่ยนแปลงรัฐบาลนี้    แต่เนื่องจากในการจับกุมคราวนี้   เท่าที่ทางราชการได้รับรายงานมาแล้วในวันนี้  ได้มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นบ้าง    บางรายถึงแก่ชีวิตและบาดเจ็บ คือ
   ๑ พ.ต.หลวงราญรณกาจ   นายทหารกองหนุน   ได้ยิงเจ้าหน้าที่บาดเจ็บสองคนในขณะเข้าทำการจับกุม    ฝ่ายเจ้าหน้าที่ได้ยิงป้องกันตัว    พ.ต.หลวงราญรณกาจได้ถูกยิงถึงแก่กรรม
   
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 85  เมื่อ 22 ก.ค. 12, 08:24

กรณีของหลวงราญรณกาจ อยู่ในกระทู้ หลวงอดุล-หลวงพิบูล คู่รัก, พล.ต.อ อดุล-จอมพล ป. คู่แค้น

รัฐบาลหลวงพิบูลสงครามเข้าบริหารราชการได้เพียงเดือนเดียว  ก็เริ่มปฏิบัติการกวาดล้างเสี้ยนหนามทางการเมืองทันที โดยพันเอกหลวงอดุลยเดชจรัส เพื่อนร่วมรุ่นโรงเรียนนายร้อยของหลวงพิบูล ซึ่งเป็นอธิบดีกรมตำรวจ และรัฐมนตรีมหาดไทย ออกคำสั่งให้ลงมือปฏิบัติการพร้อมกันทุกสายในเช้ามืด ของวันที่ 29 มกราคม2482 ให้ทำการจับกุมผู้ต้องสงสัย จำนวน 51 คน และจับตายผู้ที่คิดว่าเป็นสายเจ้า หรือสายพระยาทรง3คน

คนแรก พันตรีหลวงราญรณกาจ อยู่บ้านข้างวัดโสมนัส เพิ่งจะตื่นนอนอยู่ในชุดโสร่งเมื่อตำรวจ ภายใต้การนำของร้อยตำรวจเอกหลวงจุลกะรัตนากรไปถึง หลวงราญออกมาเปิดประตูต้อนรับตำรวจด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม เมื่อเชิญให้เข้ามาในบ้าน หลวงจุลกะก็ยื่นหมายจับให้ หลวงราญให้นั่งรอในห้องรับแขกก่อน ขอเวลาให้ตนได้เปลี่ยนเสื้อผ้า แถลงการณ์ของรัฐบาลออกมาว่าหลวงราญหายเข้าไปข้างในแล้วกลับออกมายิงตำรวจสองคนได้รับบาดเจ็บ ตำรวจจึงยิงป้องกันตัวด้วยปืนกลมือ ถูกหลวงราญล้มลงขาดใจตาย
อ้างถึง


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 86  เมื่อ 22 ก.ค. 12, 08:26

ดิฉันเขียนต่อไว้ว่า
มีเกร็ดเล็กๆเกร็ดหนึ่งซึ่งไม่เป็นที่สนใจของนักประวัติศาสตร์      ก็รู้กันแต่เฉพาะคนไม่กี่คน    บังเอิญพอจะเกี่ยวกับกระทู้นี้บ้าง จึงขอบันทึกลงไว้
ในวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕   เมื่อคณะราษฎร์นำโดยพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา เรียกทหารที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่มารวมกันที่ลานพระบรมรูปทรงม้าได้  ก็อ่านประกาศปฏิวัติให้ฟัง  แล้วถามความสมัครใจประกอบปืน ชี้ถามนายทหารแต่ละคนว่าจะร่วมด้วยไหม   เจอเข้าแบบนี้ใครจะตอบปฏิเสธ
ในจำนวนนั้นมีนายทหารรักษาพระองค์ยศพันตรีคนหนึ่ง  อยู่แถวหลัง  ไม่ยอมเข้าด้วย  ก็แอบหลบออกจากตรงนั้นไปได้  ออกไปทางสนามเสือป่าแล้วกลับเข้าไปในกรมทหารรักษาพระองค์   รายงานผู้บังคับบัญชาชื่อพันเอกพระยาสุรเดชให้ทราบ
พระยาสุรเดชตั้งใจจะขัดขืน   แต่มาได้ข่าวว่าฝ่ายปฏิวัติจับกรมพระนครสวรรค์ไปคุมขังไว้ได้แล้ว   ก็เลยไม่กล้าทำการโดยพลการ    แต่เมื่อพระยาพหลฯเรียกไปพบในฐานะเพื่อนเก่าด้วยกัน เพื่อเกลี้ยกล่อมให้เป็นพวก
พระยาสุรเดชฯก็ปฏิเสธ   จึงถูกปลดออกจากราชการ
ส่วนนายทหารยศพันตรีคนนั้นยังอยู่ในราชการต่อมาอีกระยะหนึ่งแล้วถูกปลดเป็นทหารกองหนุน    จนถึงเกิดการจับกุมกวาดล้างครั้งใหญ่ ปี ๒๔๘๑ ที่กรมขุนชัยนาทฯโดนร่างแหเข้าไปด้วย     ตำรวจขึ้นลิสต์นายทหารคนนี้ว่าอยู่ในข่ายปรปักษ์ของรัฐบาล     ก็ไปถึงบ้านเพื่อจับกุมเอาตัวไปสอบสวน
ตอนนั้นเช้ามาก ยังไม่ได้แต่งตัว  เขาตอบว่าขอเข้าห้องไปแต่งกายให้เรียบร้อยก่อน    พอเดินเข้าไปในห้อง ตำรวจก็ตามเข้าไป แล้วยิงตายตรงนั้นเอง  ต่อหน้าลูกเมีย   โดยไม่มีการต่อสู้หรือสอบสวนอย่างใดเลย
นายทหารคนนั้นคือ พันตรีหลวงราญรณกาจ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 87  เมื่อ 22 ก.ค. 12, 08:38

แถลงการณ์ของรัฐบาลเป็นอย่างไรก็ตาม     มันก็เป็นไปไม่ได้อยู่แล้วที่พันตรีนายทหารกองหนุน ตำแหน่งในกองทัพก็ไม่มี อิทธิพลเส้นสายเงินทองก็ไม่มี    ต้อนรับตำรวจด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม เชื้อเชิญเข้าไปในบ้านด้วยดี  แสดงว่าไม่ได้อีโหน่อีเหน่เลยว่าตัวเองเข้าชะตาร้าย
แต่พอรู้ว่าถูกหมายจับ  ก็เปลี่ยนใจควงปืนสั้นกระบอกเดียว มาดวลกับปืนกลมือ ๒ กระบอกของตำรวจ  ทั้งที่นุ่งโสร่งอยู่ผืนเดียวอย่างนั้น


ชื่อของหลวงราญรณกาจถูกอ้างอีกครั้งในศาลพิเศษ    โดยพันจ่าตรีทองดี ผู้ที่สารภาพว่าส่งสารหนูให้แม่ครัวของหลวงพิบูลฯวางยาพิษนาย    โดยซัดทอดไปว่าผู้จ้างวานคือร้อยโทณ เณร   รู้จักกันจากการแนะนำของพันตรีหลวงราญรณกาจ   
ถ้าแปลกันง่ายๆอีกทีก็คือหลวงราญรณกาจเป็นเพื่อนฝูงพวกพ้องของร้อยโทณ เณร

ตามปากคำของพันจ่าตรีทองดี   ร้อยโทณ เณรผู้จ้างวานพันจ่าตรีทองดีส่งห่อกระดาษบรรจุยาผงสีขาวให้ห่อหนึ่ง พร้อมด้วยเงิน ๑๕ บาทให้พันจ่าตรีทองดีไปโรยลงในอาหารให้รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมกิน     พันจ่าตรีทองดีก็รับงานอย่างว่าง่าย  ราวกับอีกฝ่ายวานให้ไปจ่ายตลาด   ไปบอกแม่ครัวซึ่งเป็นแฟนกันว่าให้ใส่ลงในอาหารของนาย    
สรุปว่าด้วยเงิน ๑๕ บาทเท่านั้นก็กล้าวางยาพิษท่านรัฐมนตรีกลาโหม  ไม่ยักกลัวว่าจะถูกลงโทษหนักถ้าถูกจับได้    ก็นับว่าคิดถูกจริงๆคือ  ทั้งแม่ครัวและพันจ่าตรีทองดีวางยาพิษเสร็จก็ไม่ได้หลบหนีไปไหน  ยังอยู่ในบ้านตามปกติ   ตำรวจก็ไม่ได้จับกุมเป็นจำเลย แต่กันไว้เป็นพยานโจทก์    
เมื่อขึ้นศาล ให้การไปอย่างข้างบนนี้ ศาลก็เชื่อ   ตัดสินประหารชีวิตร้อยโทณ เณร   ส่วนคนวางยาพิษรอดไปได้ทั้งสองคน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 88  เมื่อ 22 ก.ค. 12, 09:03

    หมายเลข ๒ ที่อายุสั้นในคดีนี้   เป็นนายตำรวจชื่อพ.ต.ต. หลวงวรณัสฤชฌ์  หรือในกระทู้เก่าเรียกชื่อว่าหลวงรณสฤษดิ์ ผู้บังคับการกองตำรวจปากพนัง
    เป็นคนที่มีประวัติน้อยมาก  ลุงเกิ้ลเองก็ไม่รู้จัก   รู้แต่ว่าเดิมคุณหลวงท่านนี้ถูกกรมตำรวจเพ่งเล็งด้วยข้อหาอะไรสักอย่าง ทำนองว่าไม่ไว้วางใจ เกรงว่าจะก่อความไม่สงบ  จึงเด้งไปแม่ฮ่องสอน   สมัยนั้นข้าราชการคนไหนถูกย้ายไปแม่ฮ่องสอนก็เหมือนกับถูกย้ายไปนอกฟ้าป่าหิมพานต์   เท่ากับถูกลบชื่อไปจากสารบบราชการ    
    แต่คุณหลวงท่านนี้ไม่ได้ถูกลืมอยู่ที่แม่ฮ่องสอน   ต่อมาท่านถูกย้ายไปรับตำแหน่งที่ปากพนัง   นครศรีธรรมราช    แสดงว่ากรมตำรวจยังหาข้อหาผิดอะไรกับท่านจนถึงให้ออกจากราชการไม่ได้    ท่านยังรับราชการตำรวจอยู่ตามปกติ   แต่มีคำสั่งลับจากระดับสูงของกรมตำรวจ ที่เราอาจจะพอเดาได้ว่าจากใคร  ไปถึงผู้บังคับการตำรวจภูธรเขต ๘   ว่าห้ามคุณหลวงวรณัสฯ เดินทางออกนอกเขตนครศรีธรรมราช  เว้นแต่จะได้คำสั่งเฉพาะกรมตำรวจ
    เมื่อเกิดเรื่องกวาดล้างฝ่ายปรปักษ์หลวงพิบูลฯ ขึ้นมา    หลวงวรณัสฯผู้อยู่ไกลถึงนครศรีธรรมราช และไม่มีทางกระดิกกระเดี้ยออกนอกจังหวัดมานานแล้ว  ก็มีตำรวจสันติบาลลงไปเชิญตัวขึ้นมากรุงเทพฯ    ระหว่างเดินทางมาถึงจังหวัดชุมพร   ก็เกิดเหตุที่ทางการแถลงทางวิทยุกระจายเสียงเพียงสั้นๆว่า
   " พ.ต.ต.หลวงวรณัสสฤชฌ์ได้ทำลายชีวิตตนเองเสีย"
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 89  เมื่อ 22 ก.ค. 12, 09:18

หมายเลข ๓ ที่อายุสั้นในกรณีนี้อีกคนหนึ่ง คือพ.ต. หลวงสงครามวิจารณ์
คุณหลวงสงครามเป็นนายทหารนอกราชการ ที่หันอาชีพไปทำมาค้าขายตั้งบริษัทยะลาการค้าอยู่ที่ตลาดนิบง จังหวัดยะลา    ถึงอยู่ไกลขนาดนั้น ก็ยังไม่วายโดนคำสั่งทางการจากกรุงเทพให้ไปจับกุม ในวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๔๘๒ ที่เป็นวันดีเดย์ของทางฝ่ายกวาดล้าง
นายตำรวจที่ไปจับหลวงสงครามฯ เป็นมือปราบคนดัง  หลังจากนั้นอีกประมาณ ๕๐ ปีก็ดังขึ้นมาอีกครั้งจากเหรียญจตุคามรามเทพ  คือร.ต.อ.ขุนพันธรักษ์ราชเดช
หลวงสงครามวิจารณ์ถูกนำตัวจากบ้านมาฝากขังไว้ที่สถานีตำรวจปัตตานีตั้งแต่คืนวันที่ ๒๙    พอตีสาม ก็ถูกนำตัวออกจากห้องขังไปสถานีโคกโพธิ์เพื่อจะไปฝากขังต่อที่สงขลา
เมื่อรถยนต์ตำรวจมาถึงหลักก.ม. ที่ ๑๕     ตามรายงานของหลวงสุนาวินวิวัฒน์   ข้าหลวงประจำจังหวัดปัตตานี(คงจำได้ว่าท่านนี้คือเลขานุการรัฐมนตรีกลาโหมที่ปัดปืนนายพุ่มให้พ้นนาย) มีมาถึงกระทรวงมหาดไทย ว่า

"ได้มีผู้ร้ายจำนวน ๙ คน  มีอาวุธครบมือเข้าแย่งตัวผู้ต้องหา    พ.ต.หลวงสงครามวิจารณ์ได้ฉวยโอกาสนั้นเข้าแย่งปืนตำรวจ  จึงเกิดการต่อสู้กัน   ผลคือพ.ต.หลวงสงครามวิจารณ์ถูกยิงตาย   ส่วนตำรวจถูกยิงที่เข่า"
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 4 5 [6] 7 8 ... 14
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.092 วินาที กับ 19 คำสั่ง