เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 [3] 4 5 ... 14
  พิมพ์  
อ่าน: 71389 คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 30  เมื่อ 18 ก.ค. 12, 16:58

คำฟ้องของอัยการ ศาลพิเศษ(ศาลที่รัฐบาลจะแต่งตั้งใครให้เป็นผู้พิพากษาก็ได้โดยไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฏหมาย และจำเลยไม่ได้รับอนุญาตให้มีทนายแก้ต่าง คำพิพากษาถือว่าสิ้นสุด ไม่มีอุทธรณ์ฎีกา)

คดีกบฏนายสิบ ประเด็นฟ้องมีดังนี้

1) ภายหลังที่ประเทศสยามได้เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากราชาธิปไตย มาเป็นประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญเป็นต้นมา จำเลยต่าง ๆ ซึ่งมีตำแหน่งตามบัญชีท้ายฟ้องนี้กับพวกที่ยังจับตัวไม่ได้ ได้บังอาจสมคบร่วมคิดตระเตรียม โดยมีแผนการทำลายล้มล้างรัฐธรรมนูญและพระมหากษัตริย์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และรัฐบาล เพื่อเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของประเทศสยามให้เป็นอย่างอื่น
2) ด้วยเจตนาดังกล่าวแล้วในข้อ 1) ระหว่างเดือนมิถุนายน จนถึงวันที่ 3 สิงหาคม ศกนี้ จำเลยกับพรรคพวกได้ยุยงเกลี้ยกล่อมส้องสุมผู้คน ตระเตรียมสรรพศัตราวุธในกองทัพสยามและที่ต่าง ๆ กัน แบ่งหน้าที่จำเลยกับพวกเข้ากำกับในการทหาร และที่ทำการต่าง ๆ ของรัฐบาลเพื่อยึดอำนาจการปกครองโดยฆ่าผู้บังคับบัญชาและจะได้จับนายพันเอกหลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กับนายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ผู้บัญชาการทหารบกและนายกรัฐมนตรีไว้เป็นประกันก่อน ถ้าขัดขวางไม่ยินยอมหรือจำเลยกับพวกคนใดคนหนึ่งถูกประทุษร้ายก็ให้ฆ่าบุคคลทั้งสองนั้นเสีย แต่หลวงประดิษฐมนูธรรมให้จับตาย แล้วตั้งตนเองและพรรคพวกขึ้นครองตำแหน่งบัญชาการแทน และจัดกำลังไปทำการยึดสถานที่ทำการของรัฐบาลกับรักษาสถานทูตต่าง ๆ
3) เพื่อให้สำเร็จตามความมุ่งหมายของจำเลยกับพวก จำเลยจะประหารชีวิตข้าราชการในรัฐบาลบางจำพวกให้หมดเสี้ยนหนามหรือศัตรูขัดขวางแก่พวกจำเลยต่อไป ทั้งจะปลดปล่อยนักโทษการเมืองเมื่อ พ.ศ.2476 ซึ่งต้องโทษอยู่ในเรือนจำมหันตโทษทั้งหมด
4) ในการเปลี่ยนแปลงการปกครองนี้ จำเลยจะขับไล่พระมหากษัตริย์ในรัชกาลปัจจุบันออกจากราชสมบัติ และฆ่าพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพยอาภา ขณะทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระเจ้าอยู่หัวรัชการปัจจุบัน และหม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ ตลอดทั้งสกุลวรวรรณ แล้วอัญเชิญพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 กลับขึ้นครองราชสมบัติแทนต่อไป
5) การกระทำของจำเลยยังไม่สำเร็จลุล่วงไปตามแผนการทั้งหมดโดยรัฐบาลได้ล่วงรู้เสียก่อน จึงเริ่มทำการจับกุมเมื่อวันที่ 3 เดือนนี้
6) การกระทำของจำเลยดังกล่าวแล้ว มีความผิดฐานกบฎภายในราชอาณาจักร และประทุษร้ายต่อพระบรมราชตระกูล และก่อการกำเริบให้เกิดวุ่นวายถึงอาจเกิดเหตุร้ายในบ้านเมือง แล้วยังทำให้ประชาชนเสื่อมความนิยมและเป็นที่หวาดหวั่นต่อการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญ กับทำให้ทหารไม่พอใจเพื่อความกระด้างกระเดื่องไม่กระทำตามคำสั่งข้อบังคับของทหาร หมิ่นประมาทแสดงความอาฆาตมาดร้ายผู้บังคับบัญชา ละเลยไม่กระทำตามหน้าที่ ทั้งหย่อนวินัยและสมรรถภาพแก่กรมกองทหารให้เสื่อมลง
7) จำเลยทั้งหมดถูกขังในศาลว่าการกลาโหมตั้งแต่วันที่ถูกจับ อัยการพิเศษได้ไต่สวนแล้ว คดีมีมูล จึงส่งจำเลยมาฟ้องยังศาลนี้ เหตุเกิดในกองรถรบ วังปารุสกกวัน กองพันทหารราบที่ 1 ,2,3,4, และบริเวณสนามหลวงกับที่อื่น ๆ ในจังหวัดพระนคร เป็นต้น

คำขอท้ายฟ้อง
การที่จำเลยได้กระทำตามข้อความที่กล่าวมาในฟ้องนั้น โจทก์ถือว่าเป็นความผิดล่วงพระราชอาญาตามพระราชบัญญัติจัดการป้องกันรักษารัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2476 มาตรา 3 ประมวลกฎหมายมทหารมาตรา29,30,31,32,33,41,42, และพระราชบัญญัติแก้ไขประมวลกฎหมายลักษณะอาญาทหาร พ.ศ.2476 มาตรา 52 กฎหมายลักษณะอาญามาตรา 97,102,63,64,65, และพระราชบัญญัติแก้ไขกฎหมายลักษณะอาญา พ.ศ.2470 มาตรา 3,4,

ลงนาม นายพันเอกพระขจรเนติยุทธ นายร้อยเอกขุนทอง สุนทรแสง นายร้อยเอกขุนโพธัยการประกิต นายดาบกิม ศิริเศรษโฐ นายดาบไสว ดวงมณี นายสำราญ กาญจนประภา นายทิ้ง อมรส

ศาลพิเศษมีคำพิพากษาในวันที่ 30 กันยายน พุทธศักราช 2478 ประเด็นสำคัญมีดังนี้

ให้ประหารชีวิต  ส.อ.สวัสดิ์ มหะหมัด จำเลยที่ปฏิเสธตลอดข้อหา
จำคุกตลอดชีวิต 8 คน คือ ส.ท.ม.ล.ทวีวงศ์ วัชรีวงศ์ ส.อ.เข็ม เฉลยทิศ ส.อ.ถม เกตุอำไพ ส.อ.เท้ง แซ่ซิ้ม ส.อ.กวย สินธุวงศ์ ส.ท.แผ้ว แสงสูงส่ง ส.ท.สาสน์ คลกุล จ่านายสิบสาคร ภูมิทัต
จำคุก 20 ปี 3 คน คือ ส.อ.แช่ม บัวปลื้ม ส.อ.ตะเข็บ สายสุวรรณ ส.ท.เลียบ คหินทพงษ์
จำคุก 16 ปี 1 คน คือ นายนุ่ม ณ พัทลุง

ส.อ.สวัสดิ์ มะหะมัด จึงเป็นนักโทษประหารในคดีการเมืองคนแรกของไทยในสมัยประชาธิปไตย โดยนำไปยิงเป้า ณ ป้อมพระจุลจอมเกล้า ในตอนเช้าวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2478


บันทึกการเข้า
visitna
นิลพัท
*******
ตอบ: 1724


ความคิดเห็นที่ 31  เมื่อ 18 ก.ค. 12, 17:37

เข้าทำนองที่ว่า อำนาจเป็นสิ่งชั่วร้าย ยิ่งมีอำนาจมากยิ่งชั่วร้ายมาก
power is corrupt ,absolute power is absolute corrupt
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 32  เมื่อ 18 ก.ค. 12, 17:44

ภาพที่คุณหนุ่มสยามนำมาลงไว้ในความเห็นที่ ๑๗ นั้น ยังคงเป็น นายร้อยโท แปลก  ขีตะสังคะ เป็นนายทหารสังกัดกรมเสนาธิการ 
ดูได้จากอินทรธนูถ้ามีแถบเล็กๆ พาดกลางตามทางยาวจะเป็นชั้นนายพันครับ  และจักรที่ติดบนอินทรธนู ๒ จักรนั้นแสดงว่าเป็นนายร้อยโท
ถ้าเป็นนายร้อยเอกจะติดจักรเพิ่มอีกดวงตรงต้นคอ  ในภาพนี้ท่านคล้องสายเสนาธิการที่บ่าขวา  และกลางอินทรธนูข้างซ้ายประดับรูป
คชสีห์เงิน  ความหมายคือเป็นนายทหารสังกัดกรมบัญชาการกระทรวงกลาโหม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 33  เมื่อ 19 ก.ค. 12, 07:49

การวางแผนผิดพลาดที่นำไปสู่ความหายนะของกบฏนายสิบ ก็คือพวกนี้ไม่มีรถถัง หรือพรรคพวกที่อยู่ในกรมรถรบ    รถถังเป็นอาวุธสำคัญในการรัฐประหาร   ฝ่ายไหนกุมพลังรถถังไว้ในมือได้ก็เท่ากับชนะไปแล้วค่อนตัว     นายสิบผู้ก่อการจึงต้องไปหาสมัครพรรคพวกที่อยู่ในกรมรถรบมาสมทบด้วย   ผู้ที่ทำหน้าที่ทูตเจรจาเกลี้ยกล่อมคือ ส.ท.หม่อมหลวงทวีวงศ์ วัชรีวงศ์ ที่ข้ามไปฝั่งกองพันทหารราบที่ 3  ซึ่งมีกรมรถรบสังกัดอยู่

นายสิบจากกรมรถรบที่ฝ่ายกบฏนายสิบคิดว่าจะเป็นไม้เด็ดในการยึดอำนาจนี้เอง ที่เป็นผู้เปิดประตูพาพวกเขาเข้าตะแลงแกง

กบฏนายสิบเผลอมองข้ามความจริงไปว่า รถถังหรือรถรบเป็นกองกำลังอารักขาคณะราษฎร์มาแต่แรก  เพราะพวกนี้รู้ฤทธิ์พิษสงของมันดี กลุ่มผู้ก่อการ 2475 จึงมอบหมายให้เฉพาะพรรคพวกในกลุ่มเท่านั้นที่คุมกำลังรถรบเหล่านี้ ไม่ปล่อยให้หลุดมือไปหาฝ่ายตรงข้ามได้ โดยเฉพาะกองพันที่กลุ่มนายสิบไปหาเป็นพรรคพวกนั้นก็ไม่ใช่ใคร  ผู้บังคับกองพันคือนายพันตรีทวน วิชัยขัทคะ อดีตนายร้อยเอกทหารม้าผู้ร่วมขบวนไปจับเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต    เมื่อนายสิบเข้าไปล้วงเนื้อออกจากปากเสือขนาดนั้น จะไปเหลืออะไร
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 34  เมื่อ 19 ก.ค. 12, 08:08

    ในเมื่อได้รับคำชักชวนให้ก่อกบฎ  นายสิบรถถังก็ไม่ได้กระโตกกระตากอะไรให้ไก่ตื่น    ก็ทำเอออวยไปด้วยงั้นๆ  แต่แล้วก็ลอบไปรายงานผู้บังคับบัญชา   พอนายระดับต้นรู้ก็ส่งข่าวตรงขึ้นไปหาหลวงพิบูลฯทันที   ว่าวันที่ 5 สิงหาคม 2478 นี่แหละนายสิบจะยึดอำนาจแล้วครับผม
    นับเป็นเคราะห์สาหัสของกลุ่มนายสิบ  ที่หลวงพิบูลฯมิได้รู้สึกแม้แต่น้อยว่า..เฮ่ย..ข่าวโคมลอยมั้ง    พวกนี้ก็ตัวเล็กๆ กันทั้งนั้น มันจะมีปัญญาทำอะไรของมัน      หรือคิดว่า..ตัดปัญหายุ่งยากไม่ให้บ้านเมืองต้องเจอรัฐประหารซ้ำซาก  เราลาออกดีกว่าเรื่องจะได้จบ    อย่างที่ผู้ใหญ่ในยุคก่อนหน้านี้คิดกัน  เป็นเหตุให้หลวงพิบูลฯรอดมาได้จนเป็นใหญ่เป็นโตในบ้านเมือง      
    ตรงกันข้าม   หลวงพิบูลฯเห็นเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย ที่จะต้องปราบเสี้ยนหนามให้สิ้นซาก  จึงวางแผนซ้อนแผน  ชิงลงมือจู่โจมจับตัวผู้ก่อการเสียก่อนผู้ก่อการจะชิงลงมือจู่โจมจับหลวงพิบูลฯและพรรคพวก

    ตามแผน   นายสิบผู้ก่อการทุกคนจะมานอนที่กองร้อยตั้งแต่ตอนเย็นวันที่ 5 สิงหาคม เตรียมทหารลูกหมู่พร้อมอาวุธประจำกายและกระสุนที่มีอยู่ตามอัตราปกติในกองร้อย   เมื่อถึงเวลา 03.00 น.ของคืนนั้น  ก็ให้นำหมู่แยกย้าย    จู่โจมเข้าควบคุมตัวผู้บังคับกองพันและนายทหารทุกคนที่บ้านพัก   การจับกุมต้องกระทำแบบเฉียบขาด ใครขัดขืนให้ยิงทันที
    เมื่อควบคุมกองพันได้แล้ว   ขั้นตอนต่อไปคือนำกำลังซึ่งประกอบด้วยหมู่ปืนกลหนักจากกองร้อยที่ 4 และหมวดเครื่องยิงลูก  ระเบิดไปสมทบกับกำลังจากหน่วยอื่นและนำรถรบไปล้อมวังปารุสก์ไว้  เพื่อบังคับให้บุคคลสำคัญมอบตัว    

    แต่เวลาเย็นตามที่นัดหมายกันก็ ไม่มีวันมาถึง  
  
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 35  เมื่อ 19 ก.ค. 12, 08:13

  ทางระดับบน    หลวงพิบูลฯพอได้รับข่าวลับ  ก็เรียกประชุมระดับแกนนำทันที ในฐานะรองผบ.ทบ. ออกคำสั่งลับไปยังผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 2 และ 3 ให้ชิงลงมือจับนายสิบที่ต้องสงสัยในกองพันของตนได้ในวันที่ 3 สิงหาคม 2478 เวลา 12.00  น. คุมตัวไว้  เพื่อตัดหน้าก่อนที่จะมีการลงมือ
    ส่วนนายสิบประจำกรมรถรบที่เป็นผู้รายงานข่าวลับให้ผู้บังคับบัญชา  ก็ได้รับคำสั่งลับแผนซ้อนแผนกลับมาว่าให้เออออกับฝ่ายกบไปก่อนเพื่อไม่ให้ฝ่ายนั้นรู้ตัว แต่ให้ไปตกลงกับแกนนำกบฏนายสิบว่า เขาสามารถนำรถรบออกมาได้อย่างเดียว ไม่มีอาวุธออกมาด้วย      เพราะมีสิทธิ์ถือกุญแจแค่ที่เก็บรถรบเท่านั้น ไม่มีกุญแจคลังอาวุธ ให้เอาไปแต่รถเปล่า ซึ่งกลุ่มผู้ก่อการก็ไม่รู้จะทำไงต้องตกกระไดพลอยโจนยอมรับแค่รถถังเปล่าๆ

    นายพันตรีหลวงประหารริปูราบ ผู้บังคับการกองพันทหารราบที 2 เมื่อได้รับคำสั่งลับที่สุด ด่วนมาก จากผบ.ทบ.     แล้วก็เรียกประชุมนายทหารเป็นการด่วน สั่งนายทหารทุกคนเตรียมรับมือ   เพราะแผนของกลุ่มนายสิบกำหนดไว้ว่าจะจับนายทหารทุกคน หากขัดขืนก็จะใช้ความรุนแรงถึงขั้นยิงทิ้ง ไม่เห็นแก่หน้าอินทร์หน้าพรหม    
  
   เหตุการณ์ตอนนั้นตึงเครียดมาก ทั้งฝ่ายนายสิบที่จะจู่โจมทำรัฐประหาร  และฝ่ายนายทหารที่จะชิงจู่โจมก่อน   หลวงพิบูลฯมองเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่เพราะระแวงว่าพระยาทรงสุรเดชอยู่เบื้องหลัง  จึงประเมินขีดความสามารถของกบฏไว้สูงมาก เกรงทหารเรือจะหนุนหลัง    
   ต่างฝ่ายต่างระมัดระวังกันเต็มที่  แถมยังต้องทำใจเย็นทำพิรุธกระโตกกระตากไม่ได้อีกต่างหาก อย่างนายร้อยเอกวุฒิ วีรบุตร ผู้บังคับกองร้อย 2 ของกอง    พันทหารราบที่ 2 เตรียมรับสถานการณ์ด้วยการพกปืนถึง 2 กระบอกในกระเป๋ากางเกงทั้งซ้ายและขวา เผื่อเอะอะอะไรขึ้นมาก็กะสู้ตาย เพราะรู้ตัวว่าในฐานะผู้บังคับกองร้อยต้นตอก็น่าจะเป็นเป้าหมายแรกที่กลุ่มนายสิบจะเข้าจับกุมตัว
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 36  เมื่อ 19 ก.ค. 12, 08:21

ทีแรกว่าจะเล่าเรื่องนี้เพียงสั้นๆ  แต่ไปอ่านแล้ว มีฉากเหตุการณ์ตื่นเต้นระทึกใจยิ่งกว่าหนังสงคราม   ก็เลยเก็บรายละเอียดมาเล่าสู่กันฟังทั้งหมด

    บนกองร้อย 2 เวลา 12.30 น.ของวันที่ 3 สิงหาคม 2478 นายร้อยเอกวุฒิ ผู้บังคับกองร้อยได้เรียกประชุมทั้งกองร้อยไม่ให้ใครขาดแม้แต่คนเดียว มีนายทหารผู้บังคับหมวด 3-4 คนและจ่ากองร้อย นายสิบเวรประจำวัน และทหารยามเกร่ไปมาอยู่หน้าห้อง พอได้เวลาก็พากันก้าวตามหลังผู้บังคับกองร้อยเข้าไปในห้อง

   นายร้อยเอกวุฒิหันไปสั่งทหารยามด้วยเสียงดังเฉียบขาดว่า "ยามบรรจุกระสุน" มีเสียงกระชากลูกเลื่อนปืนดังขึ้นจากยาม และนายสิบ 3-4 คน แล้วก็เดินเข้ามาในห้องประชุม ทุกคนตกตะลึงไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้น  เพราะบรรยากาศเคร่งเครียดขึ้นฉับพลัน โดยเฉพาะผู้ก่อการที่รู้ตัวแล้วว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ไม่ทันได้คิดอะไรได้อีกก็มีเสียงคำสั่งของนายร้อยเอกวุฒิดังขึ้นอีก

"สิบโทแผ้ว แสงส่งสูง ยืนขึ้น" สิ้นเสียงคำสั่ง สิบโทแผ้วก็ยืนตรงขึ้นตามลักษณะทหาร และแล้วคำพูดที่ไม่อยากได้ยินมากที่สุดก็ดังขึ้นประหนึ่งสายฟ้าที่ฟาดลงมากลางกระหม่อมอย่างเลี่ยงไม่ได้
"รัฐมนตรีกลาโหมสั่งให้จับลื้อฐานกบฏ"
สิ้นเสียงคำสั่ง ทหารยามก็เข้ามาควบคุมตัวสิบโทแผ้วไว้ทันที ส่วนที่ยืนอยู่ก็ยกปืนประทับบ่าเตรียมพร้อมหากเกิดอะไรที่ไม่ชอบมาพากลขึ้นก็พร้อมที่จะยิงทันที และเมื่อนายร้อยเอกวุฒิเข้าค้นตัวแล้วไม่พบอาวุธหรือหลักฐานใดในตัว ก็สั่งให้ทหารยามคุมตัวลงมาที่สนามหญ้าหน้ากองร้อย
และที่นั้นเองที่สิบโทแผ้วได้พบกับเพื่อนร่วมคิด ร่วมก่อการที่ถูกจู่โจมเข้าจังพร้อมกันยืนรออยู่ก่อนแล้ว ทั้งสิบเอกถม เกตุอำไพ สิบเอกเท้ง แซ่ซิ้ม สิบเอกตะเข็บ สายสุวรรณ สิบโทหม่อมหลวงทวีวงศ์ วัชรีวงศ์ ขาดแต่สิบเอกเข็ม เฉลยทิศ ที่ออกไปทำธุระนอกหน่วย กับสิบเอกกวย สินธุวงศ์ ที่ลาบวชหน้าศพยายที่เมืองนนท์ไปก่อนหน้านั้นไม่นานเท่านั้น

และเมื่อรวบรวมเหล่าผู้เตรียมการกบฏได้ครบหมดแล้ว ก็มีรถบรรทุกพร้อมทหารยามติดอาวุธครบมือคุมขึ้นรถไปทันทีที่ผู้บังคับกองร้อยออกคำสั่ง
"ไปกลาโหม"
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 37  เมื่อ 19 ก.ค. 12, 08:29

   เพียงครึ่งชั่วโมง  กบฏนายสิบชุดแรกก็ถูกส่งตัวเข้าไปในที่คุมขังบริเวณชั้น 3 ของกระทรวงกลาโหม ที่ทำขึ้นเพื่อขังกบฏบวรเดชโดยเฉพาะ   ตกบ่ายกลุ่มที่ 2 ที่ถูกจับจากกองพันทหารราบที่ 3 ก็ถูกส่งตัวมาถึงบ้าง  ผู้ถูกจับรอบนี้ คือ จ่านายสิบสาคร ภูมิทัต สิบเอกสวัสดิ์ มหะหมัด ส่วนกองพันทหารราบที่ 1 ก็จับจ่านายสิบสวัสดิ์ ภักดีและสิบเอกสวัสดิ์ ดิษยบุตรมาเพิ่มเติม
    2 คนหลังนี่นับได้ว่าเป็นแพะ  เพราะไม่ได้ร่วมมือมาแต่แรก   แต่มีรายชื่อพลัดเข้าไปในลิสต์ของสายลับที่รายงานข่าว ทำให้เข้าปิ้งไปด้วยอย่างไม่รู้อีโหน่อีเหน่อะไรเลย
      ส่วนคนสุดท้ายที่ถูกส่งมาในวันที่ 3 นั้นคือสิบโทสาสน์ คชกุล และอีก 2 วันที่เคยกำหนดไว้ให้เป็นวันดีเดย์ แต่กลับกลายมาเป็นวันที่ถูกกวาดล้างจับกุมแทน ก็มีนายสิบจากกองพันที่ 2 ถูกจับเพิ่มอีก2 คน คือ สิบเอกเข็ม เฉลยทิศ และสิบเอกแช่ม บัวปลื้ม และที่น่าสลดใจที่สุดคือสามเณรสิบเอกกวย สินธุวงศ์ที่ไปบวชหน้าศพยาย   ต้องถูกลากมาจากวัดส่งตัวเข้าคุกทั้ง ๆ ที่ยังครองผ้าเหลืองอยู่ เลยต้องปลดผ้าเหลือง "สึก"ตัวเองในห้องขังนั่นเอง  
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 38  เมื่อ 19 ก.ค. 12, 08:29

     ความระส่ำระสายเกิดขึ้นกับครอบครัวทุกคนที่พักอาศัยอยู่ในเขตทหาร  ถูกคำสั่งให้ย้ายออกไปในทันที  ไม่รู้ว่าจะไปไหนก็ต้องไป    คนที่พลอยโดนหางเลขไปด้วยคือนายร้อยตรีวิสัย เกษจินดา ผู้เห็นใจความยากลำบากของครอบครัวอดีตลูกน้องที่ต้องขนย้ายข้าวของกันทุลักทุเล เลยสั่งให้ลูกน้องของตนไปช่วยขนด้วยจิตเมตตา ทำให้เขาถูกเพ่งเล็งจากผู้บังคับบัญชาว่าเกี่ยวพันกับกบฏกลุ่มนี้    สุดท้ายก็ถูกจับในคดีกบฏเมื่อปี 2481 หรือที่เรียกว่ากบฏพระยาทรง และยังเป็น 1 ใน 18 คนที่ถูกประหารด้วย

      การจับกุมกวาดล้างยังดำเนินต่อไปไม่หยุดยั้ง   ผู้ถูกจับเพิ่มขึ้นอีก คือ สิบโทเลียบ คหินทพงษ์ สิบโทชื้น ชะเอมพันธ์ สิบโทปลอด พุ่มวัน จ่านายสิบแฉ่ง ฉลาดรบ จ่านายสิบริ้ว รัตนกุล สิบโทเหมือน พงษ์เผือก พลทหารจินดา พันธุ์เอี่ยม สิบเอกเกิด สีเขียว และพลทหารฮก เซ่ง และพลเรือนคนเดียวของกลุ่ม นายนุ่น ณ พัทลุง ที่เคยเป็นนายสถานีรถไฟในกบฏบวรเดช  อำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายทหารทางรถไฟ

      พวกที่ไม่ได้ถูกจับเลยแม้แต่คนเดียว คือนายสิบจากกองร้อยรถรบที่เป็นผู้ส่งข่าวนี้ให้กับผู้บังคับบัญชานั่นเอง ซึ่งเหล่าบรรดานายสิบที่ถูกจับไปแล้วนั้น รู้เรื่องเกลือเป็นหนอนก็เมื่อได้เผชิญหน้ากันในศาลฐานะพยานโจทก์นั่นเอง
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 39  เมื่อ 19 ก.ค. 12, 09:33

พยานโจทก์ที่มาเผชิญหน้ากันในศาล คือ สิบตรีเอื้อม ภาระการมณ์  และ สิบตรีหรั่ง นนทสุตร

เมื่อจับกบฏนายสิบได้   รัฐบาลรีบร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลพิเศษขึ้นมาเพื่อพิจารณาคดี  ให้สภาฯประทับตราผ่านโดยเร็ว  ระหว่างรอพ.ร.บ.ผ่าน  ผู้ต้องหาก็ถูกทยอยนำตัวมาสอบสวนทีละคน  นอกจากถูกสอบตามขั้นตอนการสอบสวนปกติแล้ว ยังได้รับคำถามพิเศษอีกคำหนึ่งคือ
"พระยาทรงสุรเดชเป็นหัวหน้าใช่ไหม"
มีเงื่อนไขว่า ใครตอบว่าใช่ จะถูกกันให้เป็นพยานทันที แปลว่ารอดจากคุกไปได้    แต่เมื่อความจริงมันไม่ใช่ ก็เลยไม่มีใครกล่าวซัดทอดเลยแม้แต่คนเดียว นับว่าเป็นทหารที่ใจเด็ดจริง ๆ     ภายหลังที่นักโทษบางส่วนได้รับการอภัยโทษออกมา  ก็ไม่ปรากฏว่ามีใครมากลับคำกล่าวอ้างว่ามีนายทหารคนไหนอยู่เบื้องหลัง

เพียง 9 วัน  อัยการก็ทำสำนวนเสร็จ ส่งผู้ต้องหาทั้งหมดฟ้องศาลทันที    โดยมีหลักฐานอย่างเดียวคือคำบอกเล่าของพยานโจทก์-นายสิบรถรบที่ถูกกันไว้เป็นพยานนั่นเอง    ไม่มีหลักฐานเอกสาร ไม่มีหลักฐานการกระทำอย่างอื่น
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 40  เมื่อ 19 ก.ค. 12, 09:41

   วันที่ 27 สิงหาคม 2478 เป็นวันไต่สวนที่อัยการกล่าวข้อหาไล่กันรายตัว    ไม่มีทนายจำเลย   จำเลยเกือบทั้งหมดยอมรับสารภาพ เพราะเชื่อว่าคงติดคุกไม่เกิน 10 ปีเท่านั้น    ขืนไม่สารภาพโทษก็จะหนักกว่านี้
   มีรายเดียวที่ยืนกรานปฏิเสธ  คือสิบเอกสวัสดิ์ มหะหมัด  เพราะในข้อกล่าวหา ระบุว่ากบฏกลุ่มนี้ปรึกษาหารือและวางแผนกันในร้านเหล้าในกองพัน   สิบเอกสวัสดิ์เป็นมุสลิม  ตามหลักศาสนาของเขาไม่อนุญาตให้กินเหล้าอยู่แล้ว  เขาจึงเชื่อว่าจะรอดจากถูกกล่าวหาไปได้   ในเมื่อคำปรักปรำขัดกับข้อเท็จจริงดังกล่าว
   สวัสดิ์หารู้ไม่ว่านั่นคือการคิดที่ผิดอย่างมหันต์   เพราะในเมื่อเขาเป็นจำเลยรายเดียวที่ไม่รับสารภาพ  ศาลซึ่งใช้คำให้การของพยานเป็นน้ำหนัก จึงลงโทษขั้นสูงสุด คือประหารชีวิต
   ทำให้หลักฐานชั้นหลังบางแห่ง เมื่อเล่าเรื่องกบฏนายสิบ  บอกว่าสวัสดิ์เป็นหัวหน้ากบฏ เพราะเป็นคนเดียวที่ถูกประหารชีวิต   ความจริงเป็นเพราะเขาไม่ยอมรับสารภาพในสิ่งที่ขัดกับการประพฤติปฏิบัติในศาสนาของเขานั่นเอง

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 41  เมื่อ 19 ก.ค. 12, 09:56


จำคุกตลอดชีวิต 8 คน คือ ส.ท.ม.ล.ทวีวงศ์ วัชรีวงศ์ ส.อ.เข็ม เฉลยทิศ ส.อ.ถม เกตุอำไพ ส.อ.เท้ง แซ่ซิ้ม ส.อ.กวย สินธุวงศ์ ส.ท.แผ้ว แสงสูงส่ง ส.ท.สาสน์ คลกุล จ่านายสิบสาคร ภูมิทัต
จำคุก 20 ปี 3 คน คือ ส.อ.แช่ม บัวปลื้ม ส.อ.ตะเข็บ สายสุวรรณ ส.ท.เลียบ คหินทพงษ์
จำคุก 16 ปี 1 คน คือ นายนุ่ม ณ พัทลุง

ส.อ.สวัสดิ์ มะหะมัด จึงเป็นนักโทษประหารในคดีการเมืองคนแรกของไทยในสมัยประชาธิปไตย โดยนำไปยิงเป้า ณ ป้อมพระจุลจอมเกล้า ในตอนเช้าวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2478
ฝ่ายจำเลยไม่มีใครคิดว่าจะเจอการลงโทษหนักถึงขนาดนั้น    เพราะจะว่าไปก็ยังไม่มีการกระทำใดๆเกิดขึ้น  ไม่มีความเสียหายเกิดขึ้นกับฝ่ายใด     แต่ก็ไม่มีใครทำอะไรได้  ศาลพิเศษไม่เปิดโอกาสให้อุทธรณ์ฏีกา ตัดสินแล้วก็ตัดสินเลย 
ออกจากศาล  นักโทษทั้งหมดถูกส่งไปคุกบางขวาง ซึ่งเป็นคุกมหันตโทษสำหรับนักโทษเด็ดขาด   พอเข้าไปก็ต้องถูกตีตรวนทันที   สวัสดิ์ ที่โดนคำสั่งประหารถูกตีตรวนถึงขนาด 8 หุนแถมต้องถูกส่งตัวไปอยู่แดน 1 ซึ่งเป็นแดนสำหรับนักโทษชั้นเลว ข้อหาฉกรรจ์ทั้งนั้น

เหตุการณ์เล็กๆในตอนหนึ่งที่เล่าไว้ในเรื่องนี้ ที่ขอนำลงในกระทู้  เพราะอ่านแล้วสะเทือนใจ  คิดว่าท่านที่เข้ามาอ่านก็คงรู้สึกคล้ายคลึงกัน  คือกบฏนายสิบเจอนักโทษขังเดี่ยวคนหนึ่งนั่งซึมอยู่ก่อนหน้านั้นแล้ว
คำแรกที่นักโทษผู้นี้ทักทายกลุ่มกบฏก็คือ

"ทนเอาหน่อยน้องชาย ฉันก็ต้องตายที่นี่เหมือนกัน ฉันพระยาธรณีนฤเบศร์"

 ทราบเรื่องราวของนายพันตำรวจเอกพระยาธรณีนฤเบศร์เพียงเท่านี้    จากนั้นก็ไม่พบหลักฐานในบั้นปลายชีวิตของท่านอีก    ไม่ทราบว่าท่านได้รับอภัยโทษกลับมาสู่อิสรภาพได้หรือว่าไม่มีโอกาส
แต่ก็ขอบันทึกถึงท่าน ด้วยความสงสารจับใจ  และเห็นใจในการทำหน้าที่อย่างซื่อตรงและถูกต้อง    อย่าลืมว่าทั้ง 2 ครั้งที่ท่านรายงานต่อผู้ใหญ่  ทั้งสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ฯ และพระยามโนฯ นายกรัฐมนตรี    เป็นรายงานที่ถูกต้องตรงตามความจริงทั้งนั้น   
เคราะห์ร้ายเกิดขึ้น เพราะว่าผู้ใหญ่ไม่ได้พิจารณารายงานของท่านอย่างหลวงพิบูลฯพิจารณารายงานของนายสิบรถถัง
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 42  เมื่อ 19 ก.ค. 12, 10:10

ขอบพระคุณท่านอาจารย์เทาชมพูที่นำมาเผยแพร่ เรื่องราวของกบฏนายสิบหาอ่านได้ยากมาก อาจเป็นเพราะผู้ต้องโทษทุกคนเป็นนายทหารชั้นผู้น้อย ไม่มีสุ้มเสียงอะไร และรัฐบาลสมัยนั้นก็จัดการอย่างเด็ดขาดเงียบเชียบ เหมือนเรื่องที่ทะเลาะกันในโรงทหารและจบกันไปที่นั่น

สิบเอกสวัสดิ์ มะหะหมัด หนึ่งเดียวที่ถูกประหารชีวิต ถูกผูกเรื่องให้คนเชื่อว่าเป็นหัวหน้ากลุ่มก่อการกบฏ เขาถูกนำนั่งเรือไปไกลถึงป้อมพระจุล เพื่อประหาร แล้วนำศพใส่เรือกลับมาให้ญาติจัดการฝังตามศาสนาประเพณี
บันทึกการเข้า
art47
องคต
*****
ตอบ: 739


ความคิดเห็นที่ 43  เมื่อ 19 ก.ค. 12, 10:42


จำคุกตลอดชีวิต 8 คน คือ ส.ท.ม.ล.ทวีวงศ์ วัชรีวงศ์ ส.อ.เข็ม เฉลยทิศ ส.อ.ถม เกตุอำไพ ส.อ.เท้ง แซ่ซิ้ม ส.อ.กวย สินธุวงศ์ ส.ท.แผ้ว แสงสูงส่ง ส.ท.สาสน์ คลกุล จ่านายสิบสาคร ภูมิทัต



สมัยเรียนมัธยมจำได้ว่ามีเพื่อนร่วมชั้นเรียนคนหนึ่ง นามสกุล "แสงส่งสูง"

ครั้นเราไปถามว่ารู้จักกับ ผู้หมู่ แผ้ว คราวกบฏนายสิบหรือไม่

เพื่อนคนนั้นก็ตอบว่า "อ่อ ปู่กูเอง"

สืบความได้ว่า พอได้รับพระราชทานอภัยโทษแล้ว ผู้หมู่ก็ย้ายสำมะโนครัวกลับบ้านเดิมที่นครไทย เมืองสองแคว

และลูกหลานเหลนก็ยังคงอยู่ที่นั่นสืบมาจน ณ บัดนี้
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 44  เมื่อ 19 ก.ค. 12, 10:52

การเมืองในช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองมีช่วงมืดอยู่หลายครั้งด้วยกัน     กบฏนายสิบก็เป็นหนึ่งในนั้นค่ะ

แกะรอยพบอีกนิดหน่อยว่า สองคนในกบฏนายสิบคือสิบโทม.ล.ทวีวงศ์ วัชรีวงศ์  และสิบโทสาสน์ (หรือศาสตร์)คชกุล  เป็นนักโทษการเมืองที่ถูกส่งไปคุมขังที่เกาะนรกตะรุเตา  จนกระทั่งเกิดสงครามแปซิฟิคขึ้น   นักโทษเหล่านี้ก็ถูกย้ายไปเกาะเต่า  สิบโทสาส์นเสียชีวิตที่เกาะเต่านี้เอง    ส่วนม.ล. ทวีวงศ์ วัชรีวงศ์ยังรอดมาได้
หนึ่งในเพื่อนร่วมชะตากรรมของม.ล. ทวีวงศ์  ที่เกาะเต่า คือม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตน

ปลายสงครามโลกครั้งที่ 2   จอมพลแปลก พิบูลสงคราม จำต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพราะแพ้คะแนนเสียงในรัฐสภา เรื่องการสร้างนครเพชรบูรณ์เป็นเมืองหลวง  นายควง อภัยวงศ์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทน
หนึ่งในผลงานแรกๆของคณะรัฐมนตรีใหม่คือ ได้มีมติให้กราบบังคับทูลขอพระราชทานอภัยโทษแก่นักโทษการเมือง ทั้งในคดีกบฏบวรเดช พ.ศ.2476 คดีกบฏ พ.ศ.2481 รวมกบฏนายสิบด้วย   ทางการจึงมีการปลดปล่อยนักโทษการเมืองที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในวันที่ 20 ตุลาคม 2487  
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 [3] 4 5 ... 14
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.051 วินาที กับ 19 คำสั่ง