เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 8 9 [10] 11 12 ... 14
  พิมพ์  
อ่าน: 71439 คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 135  เมื่อ 04 ส.ค. 12, 18:37

^
น่าสนใจว่าอาจารย์ชัยอนันต์เขียนคำนิยมว่าอะไร ในหนังสือเล่มนี้คะ
บันทึกการเข้า
visitna
นิลพัท
*******
ตอบ: 1724


ความคิดเห็นที่ 136  เมื่อ 04 ส.ค. 12, 19:16

เชิญอาจารย์ลองพิจารณาดู แต่ถ้าได้อ่านทั้งเล่มสนุกครับ


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 137  เมื่อ 04 ส.ค. 12, 19:41

น่าสนใจมากทีเดียวค่ะ  ขอบคุณที่สแกนมาให้อ่านกัน    
จอมพลป.เขียนบอกนายปรีดีว่า การที่นายปรีดีต้องออกไปนอกประเทศเป็นการกระทำของพระยาทรงสุรเดชฯ  คงจะหมายถึงช่วงที่คณะราษฎร์ยังมีอำนาจอยู่     ท่านปรีดีต้องออกนอกประเทศไปครั้งแรก  เพราะนโยบายเศรษฐกิจตามแนวของท่านเป็นพิษขึ้นมา  
ไม่ได้หมายถึงการออกนอกประเทศครั้งสุดท้ายในพ.ศ. 2492 หลังกบฏวังหลวง ซึ่งเป็นการหนีเอาชีวิตรอดจากข้อหากบฏภายในพระราชอาณาจักร   โทษของการทำผิดข้อนี้น่าสะพึงกลัวขนาดไหนดูเมื่อ 10 ปีก่อนเป็นตัวอย่าง

ในบั้นปลายของทั้งสอง  คนหนึ่งอยู่ในยุโรป อีกคนหนึ่งอยู่ในญี่ปุ่น   อำนาจทางการเมืองผ่านไปสู่ผู้นำคนใหม่คือจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ที่มีอเมริกาหนุนหลังอย่างแข็งแกร่ง      ญี่ปุ่นที่เป็นพันธมิตรดีของจอมพลป. หมดอำนาจไปตั้งแต่พ่ายแพ้สงคราม   ส่วนประเทศจีนคอมมิวนิสต์ที่เคยให้ท่านปรีดีพำนักอยู่ด้วยชั่วระยะหนึ่ง  ก็ยืนอยู่ตรงกันข้ามกับอเมริกา  และหนุนหลังพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศไทยให้ต่อต้านรัฐบาลไทยแต่ไม่ประสบผลสำเร็จ  
อดีตผู้นำทั้งสองจะหันมาเป็นมิตรกันในวัยชราก็นับว่าสมควรอย่างยิ่งในฐานะพุทธศาสนิกชน ที่ถือว่าเวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร

แต่ที่เขียนข้างบนนี้เป็นเพียงความคิดที่ผุดขึ้นมาเมื่ออ่านคำนิยมของดร.ชัยอนันต์ตามที่คุณ visitna เอื้อเฟื้อสแกนมาให้อ่าน   อาจจะสรุปเองเร็วไปหน่อยก็ได้ค่ะ    เพราะจอมพลป. ท่านอาจจะถือว่าท่านไม่ได้ก่อเวรอะไรให้ท่านปรีดีเลยก็เป็นได้    เคราะห์กรรมที่เกิดกับท่านปรีดีนั้น ท่านทราบว่าคนอื่นเป็นผู้ก่อทั้งสิ้น  
บันทึกการเข้า
visitna
นิลพัท
*******
ตอบ: 1724


ความคิดเห็นที่ 138  เมื่อ 04 ส.ค. 12, 19:56

หนังสือเล่มนี้เล่าความตั้งแต่เกิดคณะราษฏร์ในฝรั่งเศส
กล่าวถึงความสัมพันธ์ของสอง ป. ป.แปลก กับ ป.ปรีดี
และแทรกด้วยการสร้างสัมพันธไมตรีระหว่างไทยกับจีน  ในยุคที่ คอมมูนิสต์ ยังฮิต
สุดท้ายท่านทั้งสองยังเจอข้อครหาที่หนักหนาติดตัวไปยังสัมปรายภพ
คือการมาคืนดีกันครั้งสุดท้ายของสองท่านเพื่อสร้าง สาธารณรัฐไทย

อันนี้แหละที่สาหัส

ท่านทั้งสองจะต้องไปแก้ข้อกล่าวหานี้เอาเอง
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 139  เมื่อ 04 ส.ค. 12, 20:13


สุดท้ายท่านทั้งสองยังเจอข้อครหาที่หนักหนาติดตัวไปยังสัมปรายภพ
คือการมาคืนดีกันครั้งสุดท้ายของสองท่านเพื่อสร้าง สาธารณรัฐไทย


อ้าว........เดาผิดหมด  นึกว่ามาคืนดีกันเพื่ออโหสิกรรมให้กันเสียอีกค่ะ
 
จอมพลป. ท่านเกิดเมื่อพ.ศ. 2440  ท่านปรีดีเกิดเมื่อพ.ศ. 2443   จอมพลป.ออกจากประเทศไทยเมื่อพ.ศ. 2500  อายุ 60 ปี  ถึงแก่กรรมเมื่อพ.ศ. 2507 อายุ 67 ปี  ส่วนท่านปรีดีอายุ 64 ปีในปีที่ไม่มีโอกาสพบหน้าจอมพลป.อีกแล้ว
คุณเจริญ กนกรัตน์ประสานงานให้ทั้งสองได้พบกัน เพื่อจะสร้างสาธารณรัฐไทย  แปลว่าจอมพลป. จะดำเนินงานการเมืองขั้นยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ต่อไปในวัยใกล้ 70  แต่ถึงแก่อสัญกรรมเสียก่อน   ส่วนท่านปรีดีถ้าเป็นข้าราชการก็เกษียณอายุมาแล้ว 4 ปี

ท่านจะรอเห็นผลงานเมื่ออายุเท่าไหร่ละนี่    เพราะคนอายุ 60 เมื่อครึ่งร้อยปีก่อน  พอเกษียณราชการถ้าไม่ป่วยกระเสาะกระแสะ  ก็เข้าวัดเข้าวา   อยู่บ้านก็เลี้ยงบอนเลี้ยงโกสนแก้เหงา  หรือไม่ก็เลี้ยงหลาน    ไม่มีใครวางโครงการอะไรเพื่ออนาคตของตัวเองอีกแล้ว
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 140  เมื่อ 04 ส.ค. 12, 20:53

ขออนุญาตเรียบเรียงเหตุการณ์ที่อาจารย์ชัยอนันต์ท่านเขียนไว้ตามลำดับที่เกิดขึ้นก่อนหลังดังนี้

๑ การที่นายปรีดีต้องถูกออกไปนอกประเทศครั้งแรก เป็นผลมาจากการเสนอเค้าโครงเศรษฐกิจที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงมีความเห็นว่าเป็นแบบคอมมิวนิสต์ ดังนั้น เพื่อลดการเผชิญหน้า พระยาทรงสุรเดชจึงขอร้อง(แกมบังคับ)ให้นายปรีดีออกไปอยู่เมืองนอกชั่วคราว ตรงนี้ทั้งสองท่านเป็นพ้องต้องกันว่า พระยาทรงสุรเดชเป็นพวกเจ้า

๒ จากนั้นไม่นาน จอมพลป. ซึ่งยังเป็นพันโทหลวงพิบูลสงคราม ได้ใช้กำลังทหารขู่บังคับให้นายกรัฐมนตรี พระยามโนฯลาออก เพราะเป็นพวกเจ้า แล้วสนับสนุนให้พันเอก พระยาพหลฯเป็นนายกแทน  หลังจากนั้นจึงโทรเลขเรียกนายปรีดีกลับมาเมืองไทย ทำให้พระองค์เจ้าบวรเดชเอาข้อนี้ไปอ้างในการกบฏ พระยาพหลและหลวงพิบูลจึงจับมือกันปราบพวกเจ้าอย่างรุนแรง และเรื่อยมาจนถึงคราวกบฏพระยาทรงที่ไม่มีใครก่อกบฏจริงๆด้วย

๓ ความขัดแย้งภายในยุติลง เกิดความขัดแย้งกับต่างประเทศ จอมพลป.สนับสนุนให้นายปรีดีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในระหว่างสงครามและประเทศตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของญี่ปุ่น แต่นายปรีดีกลับจัดตั้งขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นขึ้นในทางลับ ซึ่งตอนหลังเรียกว่าเสรีไทยสายในประเทศ โดยส่งคนเข้าไปติดต่อฝ่ายสัมพันธมิตรผ่านจีน แต่ก็ไม่เป็นมรรคเป็นผลเท่าไร  นายปรีดีเริ่มเพาะความรู้สึกเป็นศัตรูกับจอมพลป.ในช่วงหลังๆที่ญี่ปุ่นตกเป็นฝ่ายรับและทำท่าจะแพ้สงคราม แต่จอมพลป.ยังไม่รู้สึกรู้สา นายปรีดี ตอนนั้นประสานกับเสรีไทยสายนอกประเทศได้แล้ว จึงเดินเกมด้วยการร่วมมือกับ ฝ่ายค้าน สั่งให้ส.ส.ในมุ้งของตนยกมือสวนเมื่อรัฐบาลเสนอพรบ.ย้ายเมืองหลวงไปอยู่เพชรบูรณ์ ทำให้แพ้การลงมติและจอมพลป.ต้องลาออกจากตำแหน่งแบบแค้นเคืองนายปรีดีมาก แถมยังผลักผลักดันนายควงให้เป็นนายกแทนตน

๔ สงครามยุติ ฝรั่งเข้ามาเต็มเมือง ไทยรีบปรับตัวโดยนายควงลาออก เปิดทางให้ม.ร.ว.เสนีย์ หัวหน้าเสรีไทยสายอเมริกาเป็นนายก เพื่อเจรจาให้ไทยรอดพ้นจากฐานะผู้แพ้ วิธีการหนึ่งที่ทำไปก็คือ จับจอมพลป.แล้วตั้งข้อหาว่าเป็นอาชญากรสงครามเพราะนำประเทศเข้าร่วมรบกับญี่ปุ่น
จอมพลป.ต้องติดคุกอยู่นานจนบรรยากาศดีขึ้นแล้ว ศาลอาชญากรสงครามของไทยก็พิพากษาให้จำเลยทุกคนพ้นผิด ด้วยเทคนิกทางกฏหมายซึ่งนายปรีดีวางหมากไว้แต่ต้น

๕ นายปรีดีขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีพลเรือน ในขณะที่คณะทหารอยากให้จอมพลป.กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีเช่นกัน
หลังเกิดเหตุการณ์สวรรคต นายปรีดีก็โดนกระทำการรัฐประหารที่เล่นกันรุนแรงจนต้องหนีออกไปตั้งหลักนอกประเทศ คณะรัฐประหารชูคนอื่นมาเป็นนายกแบบขัดตาทัพ เมื่อทุกอย่างปลอดโปร่งแล้ว จอมพลป.จึงได้รับเชิญจากคณะทหารการเมืองให้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีตัวจริงต่อไป
เมื่อนายปรีดีเกิดฮึดสู้ แอบกลับมาจะยึดอำนาจคืนบ้าง แต่คราวนี้แพ้ยับและกลายเป็นกบฏไป ลูกน้องคนสำคัญๆก็ถูกตำรวจฆ่าตัดตอนไปหมดสิ้นแบบไม่ต้องถึงศาล

นายปรีดีจึงต้องลี้ภัยไปหลายประเทศก่อนไปปักหลักที่ฝรั่งเศสโดยไม่ได้กลับบ้านเกิดเมืองนอนอีกเลย
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 141  เมื่อ 04 ส.ค. 12, 21:01

อ้างถึง
สุดท้ายท่านทั้งสองยังเจอข้อครหาที่หนักหนาติดตัวไปยังสัมปรายภพ
คือการมาคืนดีกันครั้งสุดท้ายของสองท่านเพื่อสร้าง สาธารณรัฐไทย

อันนี้แหละที่สาหัส

ท่านทั้งสองจะต้องไปแก้ข้อกล่าวหานี้เอาเอง

 
ข้าพเจ้าอายุ ๓๒ ปี พวกเราได้ทำการอภิวัฒน์ แต่ข้าพเจ้าก็ขาดความจัดเจน และครั้นข้าพเจ้ามีความจัดเจนมากขึ้น ข้าพเจ้าก็ไม่มีอำนาจ

(ต้องต่อว่า) เพราะเพื่อนร่วมอุดมการณ์ของข้าพเจ้า ได้แย่งชิงอำนาจของข้าพเจ้าไปเสียแล้ว
 
 
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 142  เมื่อ 04 ส.ค. 12, 21:43

ในวัย 67 และ 64  ท่านทั้งสองจะกลับมาจับมือกันในวัยชรา   เพื่อสานฝันครั้งใหญ่กว่าที่เคยทำมาในตอนหนุ่ม
ข่าวจริงหรือข่าวลือ?
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 143  เมื่อ 04 ส.ค. 12, 22:14

http://www.komchadluek.net/detail/20120411/127661/%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%B6%E0%B8%81%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B8%B9%E0%B8%95%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%9A.html
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 144  เมื่อ 04 ส.ค. 12, 22:32

คัดบางตอนจากข่าวในคมชัดลึกข้างบนนี้

      เบื้องหลังการทำรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ใครก็ทราบว่า มาจากการสนับสนุนของกลุ่มอนุรักษนิยม และสหรัฐอเมริกา เนื่องจากชนชั้นนำหวั่นไหวในความเปลี่ยนแปลงหลังม่านไม้ไผ่ และหวาดกลัวภัยคอมมิวนิสต์
     
      ระหว่างจอมพล ป. ลี้ภัยอยู่ในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น และ ปรีดี พนมยงค์ ลี้ภัยอยู่ในสาธารณรัฐประชาชนจีน เจริญ กนกรัตน์ คนสนิทของ สังข์ พัธโนทัย รับหน้าที่เป็นคนเดินสารเชื่อมความสัมพันธ์ของสองผู้ก่อการ 2475
     
      ภารกิจลับนี้ดำเนินไปอย่างเงียบกริบ เจริญหวังที่จะเพื่อนเก่าได้พบกันอีกครั้ง แต่ความหวังของเขาก็จบสิ้น จอมพล ป.ถึงแก่อสัญกรรม เมื่อเดือนมิถุนายน 2507
     
      ทั้งที่ก่อนหน้านั้น จอมพลสฤษดิ์ถึงแก่อสัญกรรม เมื่อปลายปี 2506 ก็มีข่าวลือแพร่สะพัดในเมืองไทยว่า จอมพล ป.จะกลับเข้าประเทศ
     
      ในบทบันทึกของ เจริญ กนกรัตน์ ตอนที่ชื่อ "ซากามิโอโนะ-กว่างโจว ในความทรงจำ" ได้ถ่ายทอดความในใจของจอมพล ป. ก่อนสิ้นชีวิตไว้ว่า
     
      "ผมถูกสฤษดิ์เขาทำรัฐประหารเพราะเหตุอะไร ผู้สันทัดกรณีก็ย่อมรู้ การเมืองมันลึกลับซับซ้อนแค่ไหน?
     
      "การที่คณะราษฎรทำการปฏิวัติ นำประชาธิปไตยมาสู่ประชาชนไทยนั้น แม้จะเป็นความสำเร็จก็ตาม แต่เราต้องยอมรับว่า คณะเราส่วนใหญ่ยังมีฐานะเป็นไก่อ่อนสอนหัดอยู่ เราจึงถูกมรสุมซัดเอาถึงขั้นแพแตก คณะราษฎรจึงถูกแบ่งแยกออกเป็นฝักเป็นฝ่าย"
     
      จอมพล ป.ยอมรับว่า คณะก่อการ 2475 มาจากเงื่อนไขทางสังคมที่แตกต่างกัน แต่ก็มีความกล้าหาญที่จะร่วมกันเขียนประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทย
     
      "เราร่วมงานกันได้ ก็เพราะความรักระหว่างเพื่อนฝูงโดยแท้ แต่คณะเราก็ได้ปฏิบัติจนเป็นผลสำเร็จ"
     
      ในบทเดียวกันนี้ "เจริญ" ยังเก็บข้อคิดความเห็นจากปากคำของปรีดี เมื่อครั้งที่พบท่านรัฐบุรุษอาวุโสในกว่างโจว มาถ่ายทอดไว้เช่นกัน
     
      "คำว่าประชาธิปไตยนั้น มักจะเข้าใจความหมายกันผิดๆ ประชาธิปไตยแปลว่า ประชาชนเป็นใหญ่
     
      "ระบอบประชาธิปไตย เป็นระบอบที่ปกครองโดยประชาชน และเพื่อประชาชน ประชาธิปไตยที่เราเห็นอยู่นี้ส่วนใหญ่ก็โดยประชาชน แต่ขาดหลักการ เพื่อประชาชน เพราะพวกชนะเลือกตั้ง มักละทิ้งหลักการเพื่อประชาชนไปเสีย กลายเป็นเพื่อตนเองและเพื่อนพ้องไปฉิบ"
     
บันทึกการเข้า
Diwali
มัจฉานุ
**
ตอบ: 96


ความคิดเห็นที่ 145  เมื่อ 04 ส.ค. 12, 23:58

เข้ามาลงชื่อว่าตามอ่านอยู่นะครับ

ถ้ามีกระทู้นี้ เมื่อสักประมาณสิบห้าปีก่อน
สมัยเมื่อผมยังเป็นนักเรียนที่คณะรัฐศาสตร์ธรรมศาสตร์
ผมคงตอบข้อสอบได้คะแนนดีๆ ในหลายๆวิชาแน่ๆ

ความรู้ความคิดเห็นจากท่านผู้อาวุโสทุกท่าน ช่วยเปิดสมองเป็นอย่างยิ่ง


ขอบพระคุณคุณครูทุกๆท่านครับผม
 ยิงฟันยิ้ม ยิงฟันยิ้ม ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 146  เมื่อ 05 ส.ค. 12, 08:23

ดีแล้วที่ไม่ได้อ่านสมัยเรียน    สังหรณ์ว่าคำตอบของดิฉันอาจจะทำให้คุณ Diwali ได้ F ในบางวิชาไปเลยก็ได้นะคะ   ยิ้ม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 147  เมื่อ 05 ส.ค. 12, 08:36

ข่าวจากคมชัดลึก ช่วยจุดประกายให้คิดต่อเรื่อยเปื่อยไปอีกค่ะ
สมมุตินะ  สมมุติว่าแผนการณ์นี้วางกันจริง   โดยมีคุณเจริญช่วยประสานงาน ให้ท่านผู้อาวุโสทั้งสองช่วยกันก่อตั้งสาธารณรัฐ    ก็เลยสงสัยต่อว่าวิธีก่อตั้งนั้นจะทำอย่างไร     
อย่างแรกก็คือต้องล้มเลิกระบอบการปกครองที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำรัฐบาล  แล้วมีประธานาธิบดีแทน ถูกไหม 
อย่างที่สอง   วิธีล้มเลิกจะทำอย่างไร   สมัยพ.ศ. 2506-2507 แม้จอมพลสฤษดิ์ถึงแก่อนิจกรรมไปแล้ว  ผู้ขึ้นมาเป็นนายกฯแทนคือจอมพลถนอม  กิตติขจร ก็ไม่เห็นมีท่าทีว่าจะสละตำแหน่ง  ซ้ำท่านยังปฏิวัติตัวเองกลายเป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติ กวาดส.ส.ออกจากรัฐสภากลับไปอยู่บ้านทั้งหมด
ท่านผู้อาวุโสทั้งสองจะรณรงค์ให้ประชาชนลงประชามติทั่วประเทศ เลือกระบอบใหม่   ก็ไม่เห็นทางว่าจะทำได้   เพราะประชามติ หรือประชาธิปไตยโดยตรงไม่ผ่านรัฐสภา  ในสมัยโน้นยังไม่มีใครคิดกันเป็น     ถึงคิดกันเป็นก็เจอตอจากรัฐบาล  ทำไม่ได้อยู่ดี   

มันก็เหลือทางเดียว คือเปลี่ยนแปลงด้วยอำนาจ
เอ่อ..แล้วถ้าอย่างนั้น ประชาธิปไตยที่ท่านผู้เฒ่าทั้งสองอภิวัฒน์กันมาตั้งแต่พ.ศ. 2475   ตั้งแต่ท่านอายุสามสิบกว่าๆจนเกือบเจ็ดสิบ   มันก็ยังมาไม่ถึงประเทศไทยอยู่ดีน่ะซีคะ

คิดอย่างนี้แล้ว โดยส่วนตัวดิฉันก็เลยเชื่อว่าบุคคลที่มีจิตวิญญาณต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยย่อมจะไม่ยอมทำตามแผนนี้แน่นอน  ต่อให้ใครกี่คนไปขอก็ไม่ทำ    จึงขอไม่เชื่อเรื่องนี้ค่ะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 148  เมื่อ 05 ส.ค. 12, 08:48

   
อ้างถึง
"ระบอบประชาธิปไตย เป็นระบอบที่ปกครองโดยประชาชน และเพื่อประชาชน ประชาธิปไตยที่เราเห็นอยู่นี้ส่วนใหญ่ก็โดยประชาชน แต่ขาดหลักการ เพื่อประชาชน เพราะพวกชนะเลือกตั้ง มักละทิ้งหลักการเพื่อประชาชนไปเสีย กลายเป็นเพื่อตนเองและเพื่อนพ้องไปฉิบ"
     
    คำกล่าวนี้น่าจะถูกนำลงในหนังสือพิมพ์เพียงส่วนเดียว   ยังไม่หมด    เพราะเมื่อพูดถึงหลักการเพื่อประชาชนให้หมดจดครบถ้วน  ก็ต้องพูดต่อไปว่า   
    "  พวกที่ปฏิวัติเองก็ทิ้งหลักการเพื่อประชาชน กลายเป็นเพื่อตนเองและเพื่อนพ้องด้วยเช่นกัน   เห็นได้จากเมื่อพระยาพหลแพ้ลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจ จากเงื่อนงำที่รัฐบาลเอาที่ดินของพระคลังข้างที่ออกมาขายให้พวกเดียวกันเองในราคาถูกเหมือนแจกฟรี แถมโปรโมชั่นคือผ่อนส่งได้อีกด้วย    ส.ส.ที่มาจากเลือกตั้งจึงยอมไม่ได้   ในจำนวนนี้ร้อยโทณ เณร ตาละลักษณ์ ส.ส.พระนคร เจ้าของหนังสือพิมพ์ชุมชน ประกาศตนเป็นฝ่ายค้านรัฐบาลอย่างไม่เกรงกลัวอิทธิพล   มิหนำซ้ำยังออกโรงเชียร์พระยาทรงโดยเปิดเผยว่าเป็นบุคคลที่เหมาะสมจะเป็นนายกรัฐมนตรีที่สุด "

กลับไปอ่านได้ในค.ห. 92 ค่ะ

ผู้ต้องหาที่ถูกกวาดล้างทั้งหลายเป็นเพียงแพะตัวเล็กตัวน้อย ถ้าเป็นหนามก็เพียงเสี้ยนตำเนื้อชิ้นเล็กๆ   แต่ตัวหัวหน้าใหญ่ที่ถูกมองว่าเป็นขวากหนามชิ้นสำคัญคือนายพันเอกพระยาทรงสุรเดช    ผู้เป็นคู่แข่งทางการเมืองของหลวงพิบูลฯ

หลวงพิบูลฯก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกฯ  มีสาเหตุสืบเนื่องมาจากพระยาพหลประกาศยุบสภาเพราะแพ้การลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจ จากเงื่อนงำที่รัฐบาลเอาที่ดินของพระคลังข้างที่ออกมาขายให้พวกเดียวกันเองในราคาถูกเหมือนแจกฟรี แถมโปรโมชั่นคือผ่อนส่งได้อีกด้วย    ส.ส.ที่มาจากเลือกตั้งจึงยอมไม่ได้   ในจำนวนนี้ร้อยโทณ เณร ตาละลักษณ์ ส.ส.พระนคร เจ้าของหนังสือพิมพ์ชุมชน ประกาศตนเป็นฝ่ายค้านรัฐบาลอย่างไม่เกรงกลัวอิทธิพล   มิหนำซ้ำยังออกโรงเชียร์พระยาทรงโดยเปิดเผยว่าเป็นบุคคลที่เหมาะสมจะเป็นนายกรัฐมนตรีที่สุด 
เมื่อเลือกตั้งใหม่เสร็จ เมื่อได้ส.ส.ใหม่เข้าสภาแล้ว ได้จัดให้มีการประชุมลับเฉพาะส.ส.ประเภท 1 เพื่อหยั่งเสียงว่าจะเลือกใครเป็นนายกรัฐมนตรีแทน มีผู้เสนอชื่อพระยาทรงคู่กับหลวงพิบูล ปรากฎว่าคะแนนพระยาทรงชนะขาดถึง 37 ต่อ 5 วันรุ่งขึ้นนสพ.ชุมชนตีภาพพระยาทรงกับหลวงพิบูลขึ้นหน้าหนึ่งคู่กันโดยพาดหัวว่า สภาลงคะแนนลับให้พระยาทรง 37 คะแนน หลวงพิบูล 5 แต้ม

ไม่ต้องสงสัยว่าหลวงพิบูลฯได้อ่านแล้วจะรู้สึกอย่างไรกับร้อยโทณ เณร

อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงเวลาที่สภาลงมติจริง กลับไม่มีใครเสนอชื่อพระยาทรง เพราะเห็นว่าท่านไม่เอาด้วย หลวงพิบูลจึงไร้คู่แข่ง พระยาพหลก็ประกาศเสนอชื่อหลวงพิบูลให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่  รวมเสียงส.ส.ประเภท2 หรือที่เรียกในปัจจุบันนี้ว่าสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งเป็นคนของรัฐบาลทั้งนั้น ลงมติรวมกับเสียง ส.ส.ประเภท 1 จากการเลือกตั้ง ปรากฏว่าหลวงพิบูลได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีอย่างท่วมท้น
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 149  เมื่อ 05 ส.ค. 12, 10:18

คิดเรื่อยเปื่อยเหมือนกัน

อ้างถึง
สมมุตินะ  สมมุติว่าแผนการณ์นี้วางกันจริง   โดยมีคุณเจริญช่วยประสานงาน ให้ท่านผู้อาวุโสทั้งสองช่วยกันก่อตั้งสาธารณรัฐ    ก็เลยสงสัยต่อว่าวิธีก่อตั้งนั้นจะทำอย่างไร

 
ผมไม่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ก็ไม่อยากจะวิจารณ์ในเนื้อหา แต่เท่าที่เห็นในกระทู้นี้ ดูเหมือนว่า มีคนอยากจะเชื่อมโยงทั้งสองท่านให้มาร่วมมือกันจริง เพราะหากสำเร็จแม้แม้แต่เพียงในนาม ก็จะมีประโยชน์ต่อกลุ่มของตนอย่างมหาศาล

สมัยจอมพลสฤษดิ์เป็นต้นมา รัฐบาลไทยเดินแต้มเข้าแอบอิงกับอเมริกันอย่างออกหน้าออกตา ในขณะที่คนไทยอีกส่วนหนึ่ง กำลังประสานขบวนการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินกับคอมมิวนิสต์สายโซเวียต และอีกส่วนหนึ่งก็เข้าอยู่ในร่มเงาของคอมมิวนิสต์สายจีน ทั้งสองสายนี้ไม่ถูกกัน แต่ร่วมมือกันอย่างหลวมๆเพื่อเป้าหมายเดียวกัน คือปลดปล่อยประเทศไทยจากจักรวรรดินิยมอเมริกัน

ในภูมิภาคอุษาคเนย์ที่กษัตริย์เป็นใหญ่ในประเทศต่างๆนั้น สถาบันกษัตริย์ถูกบ่อนทำลายจนสิ้นความนิยมทั้งจากเจ้าอาณานิคมและอำมาตย์ใกล้ตนที่โกงกิน ชาติไม่เจริญเท่าที่ควร คอมมิวนิสต์จึงเติบโตในหมู่ประชาชนผู้ยากไร้ได้ดี ถึงกระนั้น เมื่อถึงจุดเปลี่ยนแปลงเลือดก็ยังท่วมแผ่นดินทั้งเวียตนาม เขมร ลาว แม้แต่พม่า ส่วนมาเลเซียนั้นรอดไปเพราะแผ่นดินของเขาไม่มีพระมหากษัตริย์ มีแต่สุลต่านแห่งรัฐต่างๆที่ไม่สู้จะเข้มแข็งเท่าองค์กรการเมืองของเอกชนที่อังกฤษหนุนหลังในขณะนั้น
ในช่วงเดียวกัน ประเทศไทยเท่านั้นมีพระมหากษัตริย์ที่เป็นหลักชัยของคนในชาติ สร้างความลำบากใจให้กับพวกนิยมคอมมิวนิสต์มาก เพราะแม้จะสร้างเรื่องราวต่างๆขึ้นมาในทางลบมากมายเพื่อบั่นทอนความนิยมของพระองค์ในหมู่ประชาชน แต่ก็ไม่ได้ผลเท่ากับในประเทศเพื่อนบ้าน

อีกจุดหนึ่งที่สำคัญคือ ทางพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยคือใครก็ไม่รู้ เพราะไม่มีตัวชูเช่นโฮจิมินห์อย่างเช่นญวน เจ้าสุวรรณภูมาเชื้อพระวงศ์ลาวที่นิยมคอมมิวนิสต์ หรือเจ้านโรดมของเขมรที่โดนนายพลลอนนอลซึ่งซีไอเอหนุนหลังอยู่ทำการรัฐประหาร ทำให้ต้องหนีไปจีนและร่วมมือกับคอมมิวนิสต์ศัตรูเก่า จัดตั้งขบวนการเขมรแดงเข้ามาปลดปล่อยเขมรแบบล้างเผ่าพันธุ์  ดังนั้น จะเป็นไปไม่ได้หรือที่พวกคอมมิวนิสต์ไทยจะไม่นึกถึงนายปรีดีและจอมพลป. จะดูหรูทีเดียวหากว่าทั้งสองยอมจับมือกันเพื่อแสดงตนเป็นหัวหน้าขบวนการล้มเจ้าในประเทศไทย แต่หลังจากนั้นก็ พี่แก่แล้วไม่ต้องน้องแสดงเอง

สมมุติ ถ้าจริงเช่นนั้นผมก็คิดว่า ท่านทั้งสองฉลาดพอที่จะไม่เล่นด้วยกับละครบทนี้
แต่หลักฐานการติดต่อก็คงมีอยู่ พอให้เอามาเขียนหนังสือเป็นเล่มได้ ส่วนทีเด็ดจริงๆคงไม่กล้าเขียนไว้
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 8 9 [10] 11 12 ... 14
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.073 วินาที กับ 19 คำสั่ง