เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 6 7 [8] 9 10 ... 14
  พิมพ์  
อ่าน: 71468 คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 105  เมื่อ 22 ก.ค. 12, 13:58

พยานโจทก์ที่ศาลให้น้ำหนักมากที่สุดคือนายอุ๊ เป็นคนขับรถของเจ้าคุณท่านหนึ่งที่อ้างตนว่าเป็นเพื่อนกับนายเพิ่ม (ซึ่งนายเพิ่มปฏิเสธว่าเพียงพูดคุยกันแค่สองครั้ง ตอนที่นายอุ๊ขับรถให้นายมาเฝ้าเสด็จในกรมที่วังเท่านั้น) นายอุ๊ให้การว่านายเพิ่มบอกกับตนว่าได้รับหน้าที่จากกรมขุนชัยนาทให้หาพวกกรรมกรรถยนต์ที่เป็นนักเลงหัวไม้และไว้ใจได้ให้มากๆ เพื่อนำมาใช้เป็นกำลังพาหนะในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง นายอุ๊อ้างว่านายเพิ่มนำตนเข้าเฝ้าก็ทรงบอกกับนายอุ๊ว่าดีแล้ว ขอบใจขอให้ถือว่าร่วมมือกันกู้ชาติ นายอุ๊จึงไปเล่าให้นายวัน ซึ่งเป็นตำรวจยามของรัฐสภา(และเป็นสายลับให้สันติบาลคอยรายงานพฤติกรรมของนักการเมือง)ฟัง นายวันก็ไปรายงานให้ขุนศรีศรากร ผู้บัญชาการตำรวจสันติบาลทราบ นายอุ๊ยังให้การอีกว่า ต่อมานายเพิ่มมาบอกว่ากรมขุนชัยนาทจะเสด็จไปชวาเพื่อเฝ้ากรมพระนครสวรรค์ เพื่อขอทุนมาดำเนินการ และจะเลยไปเข้าเฝ้าพระปกเกล้าที่อังกฤษเพื่อจะอัญเชิญให้กลับมาครองราชย์หากดำเนินการสำเร็จด้วย (พระองค์เสด็จไปจริงและโดยเปิดเผยเมื่อ๒๔๗๙ สองปีมาแล้ว)

ครั้นเสด็จกลับมาก็มีรับสั่งให้นายเพิ่มมาถามนายอุ๊ว่าหาพวกกรรมกรได้กี่คนแล้ว เพราะรอช้าไม่ได้ หลวงพิบูลกำลังจะขึ้นมาเป็นผู้เผด็จการ พระองค์จะรีบขึ้นไปเชียงใหม่เพื่อเร่งให้พระยาทรงลงมือดำเนินการโดยเร็ว นายอุ๊ ก็พานายวัน และนายสวัสดิ์มาเฝ้า ทรงประทานเงินให้คนละ๑๐๐บาทเป็นค่าดำเนินการ ศาลกล่าวว่าทรงนินทาว่าร้ายรัฐบาลต่างๆนาๆฯลฯ ให้คนพวกนี้ฟังด้วย

บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 106  เมื่อ 22 ก.ค. 12, 14:00

นายวัน นายสวัสดิ์ก็มาให้การทำนองเดียวกันนี้ มีกระทั่งบ้านใกล้เรือนเคียงมาให้การว่ารู้จักกับนายเพิ่ม นายเพิ่มเล่าให้ฟังว่ากรมขุนชัยนาทรับสั่งกับตนว่า พระปกเกล้า ต่อไปจะเป็นพระเวียนเกล้า ซึ่งพยานเข้าใจว่าพระปกเกล้าจะเวียนกลับมาเป็นพระเจ้าแผ่นดินอีก เป็นต้น เรื่องบ้าๆอย่างนี้ศาลก็บันทึกไว้ในสำนวน

ทั้งเสด็จนายกรมและนายเพิ่มปฏิเสธว่าไม่เคยรู้จักและพูดจาหรือให้เงินอะไรกับคนเหล่านี้ แต่ศาลหาได้เชื่อจำเลยทั้งสองไม่

ทรงรับว่าในประมาณเดือนตุลาคม ได้เสด็จไปอำเภอเชียงดาวเพื่อพาพระโอรสไปเก็บข้อมูลทำวิทยานิพนธ์เสนอมหาวิทยาลัยในเยอรมันนี และได้แวะตลาดเพื่อจะถ่ายรูปพวกมูเซอร์ ได้เห็นรถยนต์หลายคันจอดอยู่ก่อนและทรงทราบว่าเป็นรถของพระยาทรงแต่ก็มิได้ใส่พระทัย และไม่พบเห็นตัวพระยาทรงที่นั่น อัยการเบิกตัวคนขับรถของเจ้าแก้วนวรัฐที่ให้ยืมรถในวันนั้น คนขับรถก็ให้การตรงกันทั้งหมด เว้นแต่บอกว่าไม่ทราบว่าเมื่อเสด็จลงจากรถเข้าไปในตลาดแล้วจะทรงพบผู้ใดบ้าง เช่นเดียวกับสัสดีอำเภอ พยานโจทก์อีกคนหนึ่งที่ให้การสอดคล้องว่าเห็นบุคคลทั้งสอง แต่ปฏิเสธคำถามของอัยการว่าไม่ทราบว่าทั้งคู่จะพบกันหรือไม่ เพราะตนขึ้นไปบนอำเภอก่อน มีพยานคนเดียวคืออดีตทหารเก่าชื่อนายตัน ที่เห็นพระยาทรงสุรเดชที่ตลาดก็จำได้ พระยาทรงกำลังคุยกับชายคนหนึ่งซึ่งตนไม่รู้จัก ทราบทีหลังเมื่อเห็นรูปในหนังสือพิมพ์ที่พนักงานสอบสวนมาให้ดู และมาเห็นเมื่อกำลังเบิกความในศาลนี้ว่าคือกรมขุนชัยนาทเรนทร

แต่ในที่สุดศาลก็เชื่ออย่างสนิทใจจากปากเดียวนี้ว่าเสด็จในกรมทรงดั้นด้นไปถึงเชียงใหม่ เพื่อวางแผนการณ์ล้มล้างรัฐบาลกับพระยาทรงสุรเดชกลางตลาดสดของอำเภอเชียงดาวนั้นเอง

เรื่องนี้ถ้าเอาไปทำหนังไทย ก็จะเป็นหนังตลกปัญญาอ่อนสมบูรณ์แบบ ผู้ร้ายเป็นถึงโอรสพระเจ้าแผ่นดิน คิดจะแก้แค้นพวกพระเอกนักปฏิวัติผู้รักชาติ ด้วยการจะยึดอำนาจรัฐคืนโดยคบคิดกับคนขับรถของตน ให้ระดมพลอยู่ปีกว่า ได้ไพร่พลระดับทหารเลวมาตั้งสามคน จ่ายค่าจ้างคนละ๑๐๐บาท เสร็จสรรพก็นัดไปวางแผนปฏิบัติการกับหัวหน้าผู้ก่อการร้ายระดับ๕ดาวอีกคนหนึ่ง โดยอุตส่าห์ดั้นด้นขึ้นไปถึงเชียงใหม่กับลูกชาย แล้วต่างคนต่างนั่งรถคันโก้ไปจอดเป็นขบวนอยู่ที่ตลาดบ้านนอกอย่างที่เชียงดาวที่ชาวบ้านยังขี่เกวียนกัน  แล้วประชุมกันกลางตลาดมันซะเลย ช่างไม่เกรงแม้แต่จะตกเป็นเป้าสายตาของชาวบ้านร้านตลาด หรือเกรงจะเข้าหูสายสืบของรัฐที่หูตาเป็นสับปะรด ในที่สุดก็ให้เสียท่า ถูกหนานตันรายงานข่าวกรองมาให้พวกพระเอกจับได้ นำตัวผู้ร้ายไปขึ้นศาล หลักฐานหนาแน่นฉกาจฉกรรจ์จนศาลตัดสินให้ประหารชีวิต ด้วยความกรุณาของพระเอกก็ลดโทษให้ผู้ร้ายตั้งเยอะ เหลือแค่จำคุกตลอดชีวิต เท่ากับคนขับรถคู่ใจเท่านั้นเอง

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 107  เมื่อ 22 ก.ค. 12, 14:20

ท่านผูู้อ่านสังเกตไหมคะ  ว่า การปรักปรำจำเลยมักจะลงแพทเทิร์นเดียวกัน   คือได้ยินได้เห็นจำเลยกระทำผิดขณะอยู่กลางแจ้งท่ามกลางผู้คนมากหน้าหลายตา      ทั้งนี้เพราะพยานเหล่านี้  สันติบาลไปได้ตัวมาจากคนที่ไม่ใช่คนใกล้ชิดกับจำเลยในชีวิตจริง    นายอุ๊เองก็ไม่ใช่มหาดเล็กหรือคนขับรถในวังของกรมขุนชัยนาทฯ    มาขึ้นศาลก็มาให้การฉอดๆว่ากรมขุนชัยนาทฯรับสั่งกับตัวเองว่าขอบใจที่มาช่วยกันกู้ชาติ  ทั้งๆในความเป็นจริง  ถ้าทรงกระทำการใหญ่ขนาดนี้จริง จะทรงไว้ใจอะไรได้กับบ่าวขับรถของคนอื่นซึ่งมิได้ทรงรู้จักมาก่อน
ส่วนนายตันนั้นยิ่งแย่ใหญ่   เพราะแกคงเป็นชาวบ้านอยู่ไกลปืนเที่ยง   จึงต้องสร้างฉากว่าเห็นกรมขุนชัยนาททรงทักทายกับพระยาทรงสุรเดชอยู่กลางตลาด  ปานประหนึ่งทั้งหนึ่งพระองค์และหนึ่งท่านนั้นต้องการโชว์ตัวการรู้จักมักคุ้นให้เป็นเป้าสายตาผู้คน    ก่อนจะลงมือทำการใหญ่    ไม่คิดจะปกปิดการคบคิดกันแต่อย่างใด

ช่างเป็นฉากที่ซ้ำซากกับฉากพระสุวรรณชิต ขนาดเป็นสายลับของสันติบาล วันดีคืนดีก็จัดเลี้ยงเชิญคณะพรรคผู้ก่อการ รวมทั้งมีผู้หญิงด้วย ๑ คน  (ช่างไม่กลัวหล่อนได้ยินแล้วจะเอาไปปากโป้งเม้าท์กับเพื่อนบ้านตามประสาผู้หญิง) รวมทั้งมือปืนก็นัดไปให้เห็นพรรคพวกกันพร้อมหน้าว่ามีใครบ้าง    
เมื่อพาทั้งหมดไปกินอาหารจีนอยู่ในร้านยังไม่พอ  ยังคุยโขมงโฉงเฉงเสียงลั่นว่ากำลังเตรียมการทำเรื่องคอขาดบาดตายอยู่    อวดโต๊ะข้างๆให้ได้ยินกันเต็มหูจนไปบอกตำรวจสันติบาลได้     ช่างเป็นสายลับที่ทำงานไม่สมอาชีพเอาเสียเลย
แต่อย่างว่าละค่ะ     ศาลก็ตัดสินแล้วว่าน้ำหนักพยานเหล่านี้น่าเชื่อถือจริงๆเสียด้วย  ส่วนคำปฏิเสธของจำเลยและคนอื่นๆที่ใกล้ชิดกับจำเลย  ที่บอกว่าคำปรักปรำนั้นไม่จริง   ศาลกลับเห็นว่าคำปฏิเสธฟังไม่ขึ้น
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 108  เมื่อ 22 ก.ค. 12, 14:41

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาหม่อมราชวงศ์เนื่อง สนิทวงศ์ หลังพระประสูติกาล๑๒ วัน เจ้าจอมมารดาของพระองค์ก็ถึงแก่อนิจกรรม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงอุ้มพระราชโอรสมาพระราชทานสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ด้วยพระองค์เอง พร้อมกับตรัสว่า “ให้มาเป็นลูกแม่กลาง”

พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ ทรงมีพระชนมายุใกล้เคียงกับเจ้าฟ้ามหิดลอดุยเดช สมเด็จพระพันวสาทรงเลี้ยงดูเหมือนกับพระราชโอรสที่ประทานกำเนิดด้วยพระองค์เอง และพระองค์เจ้ารังสิตก็ทรงมีความรู้สึกผูกพันต่อพระองค์เฉกเช่นเดียวกัน

พระบรมฉายาลักษณ์ข้างล่าง  เสด็จในกรม(ในกระจก)ทรงฉายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล และพระราชอนุชาเสด็จไปเฝ้าสมเด็จย่าของพระองค์ที่วังสระปทุม เมื่อเสด็จนิวัติประเทศไทยครั้งแรก

เมื่อยุวกษัตริย์น้อยๆทั้งสองพระองค์เสด็จกลับยุโรปไปแล้วไม่กี่เพลา ความสุขของราษฎรไทยยังไม่ทันจางหาย จอมเผด็จการและสมุนบริวารก็เอาพระญาติผู้ใหญ่ของพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นี้ไปเป็นนักโทษของตนซะ ให้รู้กันเสียบ้าง แผ่นดินนี้ใครใหญ่


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 109  เมื่อ 22 ก.ค. 12, 14:57



ดิฉันสะดุดใจนิดหนึ่งตรงที่ศาลพิเศษใช้คำว่า เพื่อเป็นกำลังทำลายล้างรัฐบาล
ความจริงตั้งแต่เริ่มแรก การลอบยิงและวางยาพิษหลวงพิบูลนั้น ถ้าหากว่าเกิดขึ้นจริง ก็เป็นการประทุษร้ายต่อตัวบุคคล   หาใช่รัฐบาลทั้งชุดไม่   การอ้างว่าเตรียมคนไปทำร้ายพระยาพหลฯและนายปรีดี ก็คือประทุษร้ายต่อตัวบุคคลเช่นกัน  
ที่ตลกคือ หลังจากลงมือไม่สำเร็จ  ผู้วางแผนก็ดูเหมือนว่าจะเลิกเอาใจใส่คนสำคัญคนอื่นอีก  ทำหนเดียวเลิกคิดทำไปเลย  หันมาตั้งหน้าตั้งตาประทุษร้ายหลวงพิบูลฯคนเดียว
  
สมมุติว่า  ต่อให้เกิดตายกันขึ้นมาจริงๆ ทั้งพระยาพหลฯ หลวงพิบูลฯและนายปรีดี    ก็มิใช่ว่ารัฐบาลจะล้ม จนต้องกลับสู่ระบอบสมบูรณาฯ   เพราะรัฐมนตรีที่เหลือ กับส.ส.ทั้งสภาเขาก็ต้องหาคนใหม่ในคณะรัฐมนตรีขึ้นมาเป็นนายกฯรักษาการณ์จนได้  ใครจะยอมสละตำแหน่งล้มเลิกรัฐบาลทั้งคณะ และล้มสภากันไปง่ายๆ
ก็ทีประธานาธิบดีลินคอล์นถูกยิงตายเอย  ประธานาธิบดีเคนเนดี้ถูกลอบสังหารเอย  ก็ไม่เห็นรัฐบาลอเมริกันชุดนั้นจะล้มกันสักครั้งเดียว

ด้วยเหตุนี้หรือเปล่าจึงต้องมีการเสริมข้อหาให้กลายเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐบาล  เพราะข้อหามุ่งสังหารหลวงพิบูลฯคนเดียวยังไม่หนักแน่นพอ     จึงมีการกล่าวหาเพิ่มเติม โดยเล็งเป้าหมายที่กรมขุนชัยนาทฯว่า คิดการล้มล้างรัฐบาลชุดนี้ เพื่อจะเชิญเสด็จสมเด็จพระปกเกล้าฯกลับมาแล้วให้พระยาทรงสุรเดชเป็นนายกรัฐมนตรี   ทั้งๆตามคำกล่าวหาและพยานบุคคล ผู้ร่วมมือที่จะลงมือกับเสด็จในกรมฯ ก็มีแต่คนขับรถชาวบ้านกิ๊กก๊อกสองสามคนเท่านั้น  
ราวกับว่าไม่มีหลวงพิบูลฯเสียคนเดียว   ผู้ก่อการทั้งหลายตลอดจนนายทหารและส.ส.ที่สนับสนุนระบบรัฐสภาอีกมากมายก่ายกอง มาตลอดตั้งแต่พ.ศ. 2475 จน 2482  จะปล่อยมือจากบ้านเมืองโดยสิ้นเชิง   ให้ใครทำอะไรก็ได้ไม่ว่ากัน
แต่ศาลพิเศษก็ยังเชื่อว่าเสด็จในกรมทรงกระทำผิดจริง
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 110  เมื่อ 22 ก.ค. 12, 15:06

พระเอกของผมอีกคนหนึ่งก็คือนายเพิ่ม คนขับรถของเสด็จในกรม ผู้กล้าหาญชาญชัยที่กลับคำให้การในศาลทั้งที่ไม่มีทนายแนะนำ  ท่านต้องไม่ลืมว่ายุคสมัยที่เสรีภาพยังมืดมิดนั้น ผู้ต้องหากบฏที่สันติบาลเอาตัวไปสอบสวนจะถูกทั้งขู่บังคับ ทั้งติดสินบนว่าจะให้งานทำใหม่ดีๆ ถ้ายอมซัดทอดนาย ตำรวจจะกันให้เป็นพยานไม่ต้องติดคุก วิธีนี้จะได้ผลดีสำหรับคนจำพวกหนึ่งที่ถูกจับตามแผนของตำรวจ ซึ่งในชั้นสอบสวนนั้น นายเพิ่มต้องยอมตามที่ตำรวจต้องการ แต่เมื่อถึงเวลาให้การในศาล นายเพิ่มเกิดสำนึกผิดชอบชั่วดี ขอแก้ใขคำให้การที่ปรักปรำนายในขั้นสอบสวน ฉีกหน้าขุนประสงค์สิทธิการ ตำรวจหัวหน้าเจ้าพนักงานสอบสวน โดยนายเพิ่มไม่อาจรู้ได้ว่าเมื่อกลับเข้าตารางไปแล้ววันนั้นตนจะเจอกับอะไร นายเพิ่มยอมแลกกับการที่จะได้รับโทษน้อยหรือปล่อยตัวในชั้นศาล กับยอมที่จะหลุดก็หลุดด้วยกันติดคุกก็ติดด้วยกัน คนอย่างนายเพิ่มถือว่าเป็นคนดีที่น่านับถืออย่างยิ่งคนหนึ่ง ซึ่งสุดท้ายก็ไม่รอด เพราะศาลไม่เชื่อ



บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 111  เมื่อ 22 ก.ค. 12, 15:17

^
^
ครับผม

ศาลพิเศษเชื่อว่าเสด็จในกรมทรงกระทำผิดจริง โดยสมคบกับคนขับรถของพระองค์เอง(เพราะจำเลยในคดีของพระองค์มี๒คนเท่านั้น) ซ่องสุมกรรมกรระดับคนขับรถได้๓คน(เพราะศาลไม่ได้ระบุคนที่มารับเงินที่ประทานให้คนละ๑๐๐บาทมากไปกว่านั้น) เพื่อทำการล้มล้างรัฐบาลร่วมกับพระยาทรงแล้วอัญเชิญพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯกลับมาครองราชย์ คดีนี้นายเพิ่มถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต

ผมเหนื่อยใจกับสติปัญญาของสันติบาลและศาลพิเศษจริงๆที่ช่างไม่มีมันสมองจะคิดว่า พระองค์ท่านเป็นถึงพระองค์เจ้า ระดับการศึกษาสูงถือเป็นปัญญาชนของสยามพระองค์หนึ่ง

โอ้ย อย่าให้ต้องแสดงความเห็นอะไรมากกว่านี้เลยนะครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 112  เมื่อ 22 ก.ค. 12, 15:38

คุณ V_Mee ได้แสดงความเห็นไว้ก่อนหน้า ในกระทู้นี้ว่า ศาลพิเศษอาจใช้วิธีไต่สวนแบบฝรั่งเศสคือเชื่อว่าจำเลยผิดไว้ก่อนจนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่าบริสุทธิ์       ก็นับว่าเข้าเค้า
เพราะตัวอย่างกรณีนายเพิ่ม   ศาลเชื่อไปแล้วว่านายอุ๊และพรรคพวกอีก 2 คนพูดจริง    ถ้านายเพิ่มพูดเหมือนนายอุ๊ก็นับว่าพูดจริง  ถ้านายเพิ่มพูดไม่เหมือนนายอุ๊ก็ถือว่าไม่จริง  เป็นพยานเท็จเลยถูกจำคุกตลอดชีวิต  นับเป็นโทษที่ร้ายแรงพอกับโทษล้มล้างรัฐบาลที่เสด็จในกรมฯทรงได้รับทีเดียว

ศาลยังเชื่ออีกว่านายเพิ่มมีสติปัญญาฉลาดเฉลียว  พอจะชวนคนรถของแขกที่มาเข้าเฝ้าเจ้านายไปก่อการล้มล้างรัฐบาลด้วยกัน  ผ่านไปหนึ่งปีกว่า   ได้พรรคพวกมาอีก 2 คนเพิ่มเติมก็พอจะลงมือก่อการได้แล้วกระมัง
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 113  เมื่อ 22 ก.ค. 12, 15:42

พระหัตถเลขาถึงญาติฝ่ายพระมารดาของพระองค์


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 114  เมื่อ 22 ก.ค. 12, 16:02

^


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 115  เมื่อ 22 ก.ค. 12, 16:34

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับคดีนี้ ที่อินทรเนตรช่วยมองหามาให้ได้ค่ะ
- กบฎครั้งนี้ ไม่เคยมีการเคลื่อนกำลังออกมายึดอำนาจให้เห็นเลยสักครั้ง   ไม่มีการค้นพบการซ่องสุมอาวุธในการกบฏ   ไม่ปรากฏขุมกำลังของทหารหรือตำรวจหน่วยไหนเข้าไปเกี่ยวข้อง     
- เป็นกบฏจากปากคำพยานบุคคลกล่าวหาผู้ต้องหา หรือผู้ต้องสงสัยว่ากระทำความผิด    โดยสันติบาลเป็นผู้หาพยานบุคคลเหล่านี้มาแสดงต่อศาล
- เป็นกบฎครั้งเดียวในประวัติศาสตร์ไทยที่ไม่มีการลงมือยึดอำนาจ กลับมีผู้ถูกประหารชีวิตถึง 18 คนด้วยกัน   จำคุกตลอดชีวิต 25 คน
- ศาลได้พิพากษาประหารชีวิตเมื่อวันที่ 20 พ.ย.2481 แต่กรมราชฑัณฑ์ได้มีคำสั่งลับ-ด่วน ถึงผบ.เรือนจำบางขวางให้เตรียมสถานที่เพื่อประหารไว้ตั้งแต่วันที่ 18 ก.ย.2481 หรือก่อนวันที่จะรู้คำพิพากษาถึง 2 เดือน
- เป็นกบฎที่เริ่มจากการลอบยิงรัฐมนตรีกลาโหม  แล้วไปจบลงที่พยายามล้มล้างรัฐบาล ทั้งๆไม่มีการลงมือ
- ผู้ลอบทำร้ายหลวงพิบูลสงครามได้รับโทษแตกต่างกัน    มีทั้งผู้ไม่ได้รับโทษใดๆ -นางเสงี่ยมและพันจ่าตรีทองดีผู้วางยาพิษ   ไปจนถึงโทรประหารชีวิต -นายลี บุญตา  นายพุ่ม ทับสายทอง   
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 116  เมื่อ 22 ก.ค. 12, 16:54

ขุนศรีศรากร หรือ พล.ต.ต.ชลอ ศรีศรากร อดีตผู้ก่อการคณะราษฎร์ อดีตผู้บัญชาการเรือนจำบางขวางผู้คุมนักโทษการเมืองรุ่น๒๔๗๖ อดีตผู้บัญชาการตำรวจสันติบาลภายใต้บงการของหลวงอดุลเดชจรัส ใช้ชีวิตในบั้นปลายของท่านอย่างสันติ ภายใต้ผ้ากาสาวพัตร์ มีฉายาว่า พระปัญญาคุณ ปุณณะวังโส

ท่านคงจะเข้าใจในโลกย์แล้วว่า ทุกอย่างเป็นทุกข์ ทุกอย่างไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอน และทุกอย่างควบคุมให้เป็นไปตามที่เราอยากไม่ได้ การดิ้นรนจะฝืนสัจจธรรมดังกล่าวรังแต่จะนำมาซึ่งบาปน้อยใหญ่ทั้งหลาย การหยุด และหยุดได้ นำมาซึ่งความสุขอันถาวร

ไม่อยากเชื่อก็ต้องเชื่อว่าอดีตนายตำรวจสันติบาลผู้จับแพะไปให้ศาลเชือดเลือดสาดแดนประหารจะเป็นผู้รจนากถาธรรมนี้

                  การปฏิบัติใด ๆ ถ้าเกิดปัญญาเห็นไตรลักษณ์แล้ว
                  การปฏิบัตินั้นๆ เป็นวิปัสสนาสมาธิของตถาคต

                 (พระปัญญาคุณ ปุณณะวังโส, พ.ศ.2526 : 59)

                              สาธุ  สาธุ  สาธุ




บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 117  เมื่อ 23 ก.ค. 12, 16:54

ประชาชนทั่วไปในพ.ศ. 2482 ไม่มีโอกาสจะรู้รายละเอียดของกบฏครั้งนี้มากไปกว่ารู้จากแถลงการณ์ของรัฐบาล     การตัดสินของศาลพิเศษทำอย่างรวบรัด    คำสั่งประหารออกมาก่อนขณะที่เรื่องขอพระราชทานอภัยโทษอยู่ระหว่างการยื่น    ยังไม่ทันรู้ผล   นักโทษก็ถูกส่งเข้าหลักประหารเสียก่อน
ส่วนพวกที่ถูกจำคุก ต้องรอจนถึงพ.ศ. 2487  เมื่อเปลี่ยนรัฐบาล นายควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรีคนใหม่จึงออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้นักโทษการเมืองเป็นอิสระ

พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมขุนชัยนาทนเรนทร ทรงได้รับเคราะห์กรรมน้อยกว่านักโทษจำคุกอื่นๆเล็กน้อย  เพราะในที่สุดรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็ตัดสินใจปล่อยท่านให้เป็นอิสระ

     " หลวงอายุรกิจโกศลได้เขียนถึงเวลาหลังจากเสด็จพ่อทรงพ้นภัยการเมืองคือเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2486 ขณะที่รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เห็นว่าได้ทำผิดพลาดไปจึงเสนอให้คณะผู้สำเร็จราชการฯ ปล่อยพระองค์เสด็จกลับวัง ดังต่อไปนี้
      "วันหนึ่ง  ข่าวที่ไม่มีใครคาดฝันจากสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยก็ได้ประกาศข่าวที่น่าตื่นเต้นว่า ทางราชการได้ปลดปล่อยเสด็จในกรมเป็นอิสระ ทั้งได้ถวายคืนฐานันดรศักดิ์ พระอิสริยยศทุกอย่างให้ทรงมีพระอิสริยยศเป็นพระบรมราชวงศ์ตามเดิมทุกประการ และได้เสด็จกลับไปประทับที่พระตำหนักถนนวิทยุอย่างเดิมแล้ว ข่าวนี้ได้ทำให้เกิดความปรีดาปราโมทย์แก่ผู้ที่ได้ฟังเป็นอย่างยิ่ง
      หลังจากนั้น 3 วัน ผู้เขียนได้ไปเฝ้าเยี่ยม ... ในขณะที่เฝ้าอยู่นั้นผู้เขียนได้พิจารณาถึงพระวรกายและสุขภาพอนามัยของพระองค์ เห็นคงเป็นปกติอยู่ ไม่ทรงผ่ายผอมซูบซีดแต่ประการใด แต่อยากทูลถามเกี่ยวกับเรื่องนี้แต่เกรงจะไม่พอพระทัยจึงกราบทูลขอประทานอนุญาตเสียก่อน ซึ่งรับสั่งว่า แกอยากถามอะไรก็ถามได้ จึงทูลถามว่า "ในฐานะที่ใต้ฝ่าพระบาทเป็นพระราชโอรสของพระมหากษัตริย์แต่ได้ทรงรับเคราะห์ ได้รับทุกข์ทรมานเช่นนี้ จึงขอประทานทราบเกล้าฯ ว่าดำรงพระชนม์ชีพมาได้อย่างไร"
     เสด็จในกรมทรงพระสรวลแล้วรับสั่งว่า ถามดี และยังไม่มีใครทูลถามเรื่องนี้   แล้วรับสั่งว่า "ฉันจะบอกให้แก่รู้ว่า ฉันมีชีวิตอยู่มาได้เพราะโพชฌงค์" ..."

จากพระนิพนธ์ "วังไม้" ของหม่อมเจ้าปิยะรังสิต รังสิต

นับตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2486 นักโทษชายรังสิต จึงกลับคืนสู่ฐานันดรศักดิ์ "พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์" และคืนสู่พระอิสริยยศ "กรมขุนชัยนาทนเรนทร" นับแต่นั้นมา
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 118  เมื่อ 23 ก.ค. 12, 17:04

บทสวดมนต์ โพชฌังคปริตร ถือเป็นพระพุทธมนต์ซึ่งช่วยให้คนป่วยที่ได้ฟังสามารถหายจากโรคภัยไข้เจ็บได้   ในพระไตรปิฎกกล่าวว่า พระพุทธเจ้าได้เสด็จไปเยี่ยมพระมหากัสสปะที่อาพาธ พระองค์ทรงแสดงสัมโพชฌงค์แก่พระมหากัสสปะ พระมหากัสสปะก็หายจากโรค
อีกครั้งหนึ่ง ทรงแสดงธรรมบทนี้แก่พระโมคคัลลานะซึ่งอาพาธ หลังจากนั้น  พระโมคคัลลานะก็หายจากอาพาธได้ ในที่สุด เมื่อพระพุทธองค์เองทรงอาพาธ จึงตรัสให้พระจุนทะเถระแสดงโพชฌงค์ถวาย พระพุทธเจ้าก็หายประชวร

พุทธศาสนิกชนจึงนับบทสวดโพชฌงค์เป็นบทสำหรับคนป่วย สวดแล้วช่วยให้หายโรคได้    ความจริงคือการทำใจให้สว่าง สะอาดผ่องใสสามารถช่วยรักษาใจ เพราะใจสัมพันธ์กับกาย  ถ้าใจสงบ มีกำลังใจดีขึ้น  ร่างกายก็แข็งแรงขึ้น   จึงสามารถทำให้หายจากโรคได้

โพชฌงค์ 7 ประการ ประกอบด้วย

1.สติสัมโพชฌงค์(ความระลึกได้ สำนึกพร้อมอยู่ ใจอยู่กับกิจ จิตอยู่กับเรื่อง)
2.ธัมมวิจยะสัมโพชฌงค์( ความเฟ้นธรรม,ความสอดส่องค้นหาธรรม )
3.วิริยะสัมโพชฌงค์(ความเพียร)
4.ปีติสัมโพชฌงค์(ความอิ่มใจ)
5.ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์(ความสงบกายสงบใจ)
6.สมาธิสัมโพชฌงค์(ความมีใจตั้งมั่น,จิตแน่วในอารมณ์)
7.อุเบกขาสัมโพชฌงค์(ความมีใจเป็นกลางเพราะเห็นตามเป็นจริง)

จากหนังสือพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พระธรรมปิฎก (ป. อ. ปยุตโต)

บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 119  เมื่อ 23 ก.ค. 12, 17:49

โพชฌงค์ ๗ เป็นองค์ธรรมในการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในคืนวันเพ็ญ เดือน๖ นั้น

แสดงว่า เสด็จในกรมท่านทรงเป็นนักปฏิบัติภาวนาขั้นสูงมาก่อนแล้ว จึงทรงตรัสได้เช่นนี้

ไม่สงสัยเลยว่า ทรงเข้าใจธรรมะเรื่องวิบากกรรมดี และพระองค์ก็แสดงว่าทรงอโหสิให้กับผู้ที่เคยมุ่งร้ายต่อพระองค์ ราวกับว่าไม่เคยมีการกระทำนั้นๆมาก่อน


บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 6 7 [8] 9 10 ... 14
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.072 วินาที กับ 19 คำสั่ง