Madpinkie
อสุรผัด

ตอบ: 5
|
สวัสดีค่ะ วันนี้มีคำถามค้างคาใจมาหลายปี...หลังจากพยายามตามหาความเป็นมา ที่มาที่ไป ของ "พนิดา ภูมิศิริทัต" หนึ่งในหญิงอันเป็นที่รักของ ยาขอบ ซึงทุกท่านคงรู้จักกันดี จาก"จดหมายรักของยาขอบ" แต่พอค้นหาใน google มานาน ก็ไม่เจอ (ซึ่งถ้าเป็น ชื่อและนามสกุลจริงก็น่าแปลกมากเพราะหาไม่เจอเลย) ทราบเพียง เธอเป็นหญิงสาวที่อยู่ในชาติตระกูลดี มีฐานะ และ อยากจะเป็นนักเขียน และเข้าฝึกงาน ที่ สยามนิกร ซึ่งเป็นที่ที่เธอได้พบ "ยาขอบ" และอายุเธอไม่ได้ยืนยาวนัก น่าจะเสียชีวิต ราวๆ ปี๒๕๐๔-๖ ราวๆนี้ ตามที่คุณ เทียน เหลียวรักษ์วงศ์ ได้กล่าวไว้คราวไว้คำพูดกล่าวไว้ในตอนต้นของหนังสือ ประมาณว่าพนิดาได้รวบรวมไว้ด้วยกันกับจดหมายของเธอที่ขอคืนจากยาขอบทุกฉบับ โดยเธอต้องการให้นำจดหมายทั้งหมดนี้ออกตีพิมพ์แก่สาธารณชน จึงมามอบให้คุณเทียน เหลียวรักษ์วงศ์ ซึ่งก็ได้ตีพิมพ์ จริงเมื่อปี๒๕๑๖ ซึ่งตัวเธอเองก็ไม่มีโอกาสที่จะได้เห็น .... เกริ่นยาว... อยากถามผู้รู้ค่ะ
๑."พนิดา ภูมิศิริทัต" คือ ชื่อจริง นามสกุลจริงของเธอหรือไม่ และถ้าไม่...พอจะทราบบ้างไหมว่าตัวจริงเธอคือใคร
๒.รู้ว่าความรัก ของ ยาขอบ กับ พนิดา นั้นจบไม่สวยอย่างที่ทั้งสองวาดหวังไว้ในจดหมาย...แต่จบยังไง ถึงเรียกได้ว่าจบไม่สวย
ปล.รู้ว่าคำถามค่อนข้างจะดูสอดรู้สอดเห็น และหากเป็นเจตนาของผู้มีสิทธิในเรื่องราวเหล่านี้ ที่จะปกปิดไว้เป็นความลับ ก็จะไม่รื้อฟื้นอีก เพียงแต่อ่านเรื่องของทั้งสองท่านมานาน ประวัติ คุณ โชติ หรือยาขอบนั้น ชัดเจน และปลีกย่อยมากมาย แต่ พอเป็นพนิดา กลับหาไม่ได้แม้กระทั่งคนนามสกุลเดียวกันกับเธอในตอนนี้ จึงดูลึกลับมากจนอยากรู้
ปล.๒ ขอบกราบขออภัยแก่ดวงวิญญาณของทั้งสองท่าน ถ้าได้รับรู้ในความสอดรู้ของเด็กเมื่อวานซืนคนนี้ และถ้าท่านรับรู้ได้จริงก็ขอให้ทราบว่า จดหมายของท่านทั้งสอง และหนังสือของคุณโชตินั้นตัวหนังสือ ของคุณทั้งสอง เป็นอมตะ และเทิดทูนไว้เป็นครูของเด็กเมื่อวานซืนคนนี้แล้ว
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
    
ตอบ: 33477
ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม
|
ความคิดเห็นที่ 1 เมื่อ 16 ก.ค. 12, 06:44
|
|
เคยอ่านหนังสือเล่มนี้ค่ะ ในยุคที่ยังไม่มีอินทรเนตร จึงไม่สามารถมองหาได้ว่านามสกุล ภูมิศิริทัต เป็นนามสกุลจริงหรือไม่ หรือว่าคุณเทียน เหลียวรักวงศ์ผู้ได้รับลิขสิทธิ์จากพนิดาให้มาตีพิมพ์ ได้ดัดแปลงนามสกุลของเธอเพื่อมิให้เสียหายแก่ผู้เกี่ยวข้อง ตอนอ่านก็รู้แต่ว่าพนิดามีตัวจริง เคยเชื่อว่าชื่อพนิดาเป็นชื่อจริง เพราะเห็นยาขอบนำเอาคำว่า "พนิดา" ไปใช้ในเรื่องสามก๊กฉบับวณิพก ในความหมายว่าหญิงสาวผู้เป็นที่รัก ถ้าไม่ใช่ชื่อจริง ก็หมายความว่าเป็นโค้ดระหว่างกัน ที่ยาขอบเรียกเธอ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
    
ตอบ: 33477
ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม
|
ความคิดเห็นที่ 2 เมื่อ 16 ก.ค. 12, 06:45
|
|
มันเป็นชีวิตรักของจริงที่เหมือนนิยาย ของชายหญิงที่มีภาษาและคารม หวานคมกริบ สละสลวยยากจะหาตัวจับได้ทั้งสองฝ่าย จบลงแบบต่างคนต่างแยกกันไปใช้ชีวิตของตน เข้าใจว่าพนิดาขอเลิก แล้วอาจจะไปสมรสกับชายอื่น เห็นได้จากเธอขอคืนจดหมายทั้งหมดจากยาขอบ
“ฉันรักคุณเพราะฉันไม่รักตัวเอง” นี่คือเหตุผลความรักของพนิดา ที่มีต่อชายซึ่งแก่กว่าเธอ 12 ปี และมีเมียอยู่แล้ว 4 คน (ย้ำ 4 คน) ยังไม่ได้เลิกกันด้วย
ป.ล. ใครอ่านแล้วเจอที่ยาขอบเขียนด่ากระแหนะกระแหนดอกไม้สดบ้าง นี่คือเหตุผลหลักที่ทำให้ดิฉันเกลียดยาขอบมาจนทุกวันนี้
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
Madpinkie
อสุรผัด

ตอบ: 5
|
ความคิดเห็นที่ 3 เมื่อ 16 ก.ค. 12, 08:49
|
|
ถ้าจำไม่ผิด... :-Xการขอคืนจดหมายนั้นเเป็นข้อตกลงของกันและกันที่พนิดาขอไว้ "คุณเป็นคนมีความระวังน้อยเท่ากับที่คุณเป็นคนเพื่อนมาก สองอย่างนี้ประกอบกันอาจทำใหเจหมายของดาไปตกอยู่กับคนที่ต้องการจะทำทุกๆอย่างให้คุณกับดาแตกจากกัน จึงอยากจะขอจดหมายคืน....กรุณาคืนจดหมายทั้งหมดของดามาเสียเถิด ดาจะเก็บไว้รวมกับของคุณ ซึ่งดาเชื่อว่าปลอดภัยยิ่งกว่า..."
ปล.ที่คุณเทาชมพูว่า ยาขอบ กระแนะกระแหน ดอกไม้สดนั้น ใช่คนที่พูดว่า"แม่นักประพันธ์หญิงเอก ที่บ้านเขาอยู่ทางคลองหลอด" ถ้าใช่ ก็เหน็บได้เจ็บเหลือหลายที่เดียวค่ะ ปล.๒ น่าเสียดายที่แนนยังไม่เคยอ่านงานของดอกไม้สด ทั้งๆที่แม่แนะให้อ่านหนังสือ"ผู้ดี"มาแต่เล็กแต่น้อย แต่ไม่เคยอ่าน จำได้แค่ว่า การที่ทุกวันนี้ชงการแฟแล้วช้อนไม่กระทบแก้วให้มีแสียง มาจากคำสอนของแม่ที่ได้มาจากหนังสือเล่มนี้
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
    
ตอบ: 33477
ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม
|
ความคิดเห็นที่ 4 เมื่อ 16 ก.ค. 12, 09:01
|
|
เข้าใจว่าคำตอบของพนิดาเป็นข้ออ้างที่จะไม่ให้ระคายใจอีกฝ่ายเท่านั้นค่ะ ถ้าผู้หญิงขอจดหมายรักคืน จะด้วยอะไรก็ตาม ก็แปลว่าความสัมพันธ์นั้นสิ้นสุดลงแล้ว
ดิฉันไม่มีหนังสือเล่มนี้ในมือ เขียนจากความทรงจำ แต่จำได้ว่ายาขอบเขียนด่า...ขอใช้คำนี้เลยนะคะ..."ดอกไม้สด" อย่างที่ลูกผู้ชายเขาไม่ทำกัน นอกจากจะมีคำประชดประชันว่า "แม่คนทำตัวสูงส่งเหมือนดวงดาวบนท้องฟ้า " หลายครั้ง ก็ยังจาระไนให้พนิดาฟังว่า นักประพันธ์สตรีคนนั้นทอดสะพานให้เขา ด้วยการส่งผู้หญิงอีกคน(เข้าใจว่าเป็นเพื่อนเธอ)มาเตือนยาขอบให้เลิกกินเหล้าเมายา ข้อนี้ฉันก็ดูออกออกว่าแม่คนนั้นทำตัวเป็นแม่พระ ที่แท้ก็หวังอะไร ถ้อยคำทำนองนี้ละค่ะ ยาขอบโกรธมาก ว่ามิหนำซ้ำ ดอกไม้สด ยังเอาชื่อจริงของยาขอบไปตั้งเป็นตัวละครสตึๆในเรื่องของเธอ แปลง่ายๆว่ายาขอบเข้าใจว่าดอกไม้สดหลงรักเขา พยายามจะเข้าถึงตัวเขา แต่ยาขอบไม่เอาด้วย นอกจากไม่เอาด้วยยังเขียนด่าให้ผู้หญิงอีกคนที่เขาจีบอยู่ฟังเสียเป็นคุ้งเป็นแควไปเลย
ตอนแรกดิฉันก็ไม่เข้าใจว่าผู้หญิงที่ยาขอบจิกตี หลายต่อหลายครั้งอย่างเหยียดหยามดูแคลน เป็นนักประพันธ์สตรีที่มีชื่อเสียงคนไหนในสมัยนั้น เห็นย้ำคำว่า "ทำตัวเหมือนดวงดาว" หลายครั้ง ก็เข้าใจในตอนแรกว่าอาจจะหมายถึงท่านหญิง"ดวงดาว" แต่สนทนากับเพื่อนนักอ่านในเรือนไทยเมื่อหลายปีมาแล้ว ถึงรู้ว่าเป็น "ดอกไม้สด" เพราะชื่อตัวละครที่ยาขอบโกรธนักโกรธหนาว่า "แม่คนสูงส่งเหมือนดวงดาว" เอาไปเขียนเป็นตัวตลก นั้น ชื่อนายโชติ อยู่ในเรื่องสั้น ๒-๓ เรื่องของ "ดอกไม้สด"
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
    
ตอบ: 33477
ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม
|
ความคิดเห็นที่ 5 เมื่อ 16 ก.ค. 12, 09:29
|
|
ดิฉันเชื่อว่ายาขอบหลงตัวอย่างสุดกู่ในเรื่องของ"ดอกไม้สด" อาจเป็นเพราะตัวเองประสบความสำเร็จจีบผู้หญิงได้มามากมาย ก็เลยไม่เชื่อว่าผู้หญิงคนไหนที่รู้จักเขาแล้วจะไม่หลงรักเขา ความจริงแล้วดอกไม้สดเป็นสตรีธรรมะธัมโมสมกับที่ได้รับการอบรมจากญาติผู้ใหญ่ในวัง ถือศีล ๕ เคร่งครัด ผู้ชายผิดศีล ๒ ข้อซ้อนอย่างโจ่งแจ้งเป็นที่รู้ทั่วไป ทั้งข้อสุราและกาเม ย่อมไม่ใช่ชายในความสนใจของเธอแน่นอน ข้อที่เธอไม่เห็นด้วยเรื่องยาขอบเสพสุรา ก็น่าจะเป็นการเอ่ยถึงด้วยความปรารถนาดีต่อเพื่อนร่วมอาชีพ บังเอิญมีคนเอามาบอก แทนที่ยาขอบจะหงุดหงิดอย่างธรรมดาว่ากินเหล้าก็เรื่องของฉัน กลับตีโพยตีพายไปใหญ่โตว่ารู้นะ ไอ้ที่ทำมาว่า ก็เพราะหล่อนทอดสะพานอยากจะทำตัวเป็นแม่พระมาโปรดฉัน ที่แท้ก็อยากเข้าถึงตัวฉันเท่านั้นละว้า
ที่แย่ที่สุดคือเขียนมาเล่าให้พนิดาฟัง ด่าผู้หญิงคนหนึ่งให้อีกคนฟัง โดยเจ้าตัวเขาไม่มีโอกาสรับรู้ ลูกผู้ชายเขาไม่ทำกัน เมื่ออวดกับพนิดา ก็ฟันธงลงไปเสียด้วยว่านักประพันธ์สตรีที่มีชื่อเสียงอีกคนหลงรักฉันนะเธอ แต่ฉันไม่สนหล่อนคนนั้น ฉันรักผู้หญิงอย่างเธอต่างหาก ตลกมากที่หลักฐานของการหลงรักคือคำเตือนว่าอย่ากินเหล้าเมายา ถ้าคุณพนิดาไม่ได้อายุแค่ ๒๐ เธอน่าจะเฉลียวใจบ้างว่าในภายหน้า จากตัวอย่างนี้ ยาขอบจะเอาเธอไปพูดกับเพื่อนฝูงว่ายังไงบ้าง แต่คุณพนิดาก็คงเฉลียวใจขึ้นมาบ้างละค่ะ เลยขอจดหมายคืนมาเก็บไว้หมด คงรู้เหมือนกันว่าถ้ายาขอบเอาไปอวดเพื่อนฝูง เธอจะเสียยิ่งกว่าดอกไม้สดกี่เท่า
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
Madpinkie
อสุรผัด

ตอบ: 5
|
ความคิดเห็นที่ 6 เมื่อ 16 ก.ค. 12, 11:29
|
|
 คุณเทาชมพู ก็ตอบปัญหาเกี่ยวกับ"ดอกไม้สด" ได้กระจ่างตากระจ่างใจทีเดียวค่ะ...ก็เหน็บ(ด่า)ได้ประมาณนั้นเลยจริงๆ ข้อความที่แนนเอามาลงเป็นจดหมายฉบับที่ห้าในจำนวนหกสิบหกฉบับที่โต้ตอบกัน..  รักกันจริงหรือไม่ หรือสาวเจ้ารู้ตัวก่อนอย่างคุณเทาชมพูว่า คำตอบนั้นก็อยู่ที่สองนั้น...ไม่กล้าฟันธงค่ะ แหม...ก็สำนวนระดับยาขอบ อ่านแล้วมันก็มีเคลิ้มกันบ้างแหละ ยังไงก็ขอบคุณคุณเทาชมพูมากๆค่ะ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
    
ตอบ: 33477
ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม
|
ความคิดเห็นที่ 7 เมื่อ 16 ก.ค. 12, 12:32
|
|
คุณพนิดาอายุ ๒๐ เป็นสาวช่างฝัน ใช้อารมณ์นำหน้าสมอง เห็นได้จากที่เธอก็รู้อยู่เต็มอกว่าไม่ควรรักยาขอบ "ฉันรักคุณเพราะฉันไม่รักตัวเอง" สาวๆแบบนี้จะตกในภาวะ hero worship ได้ง่าย คือชื่นชมบูชาหลงใหลผู้ที่โดดเด่นในทางใดทางหนึ่ง ถ้าไปชื่นชอบดาราเธอก็จะกลายเป็นแฟนคลับ ในเมื่อใจเธอรักการประพันธ์ พระเอกของเธอจะมีใครสู้ "ยาขอบ"ได้ในยุคนั้น
รักต้องห้ามของหนุ่มศิลปินกับดอกฟ้า มีหลายคู่ไม่ใช่คู่เดียว เช่นคุณมนัส จรรยงค์กับคุณอ้อม บุนนาค คู่นี้ในที่สุดก็ตัดสินใจไปใช้ชีวิตร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน อีกคู่ที่จบแฮปปี้เอนดิ้งคือคุณครูเอื้อ สุนทรสนาน กับคุณอาภรณ์ กรรณสูต แต่ก็ต้องรอกันยาวนานเป็นสิบปี กว่าญาติผู้ใหญ่ฝ่ายคุณอาภรณ์จะถึงแก่กรรมไปก่อน แต่รักของยาขอบกับคุณพนิดา เท่าที่อ่านจากจดหมาย จบลงแบบต่างฝ่ายต่างเลิก ไม่ทันใช้ชีวิตร่วมกัน ผู้ใหญ่ฝ่ายคุณพนิดาไม่ยอม และยาขอบก็มีภรรยาเป็นตัวเป็นตนอยู่ จากนั้นประวัติของคุณพนิดาก็หายไปเลย ไม่รู้แม้แต่ว่าเธอสมรสไปหรือไม่ รู้แต่ว่าอายุค่อนข้างสั้น แค่ ๔๐ ปีเศษ เท่านั้นก็ถึงแก่กรรม กำลังสงสัยว่าคุณเทียนดัดแปลงชื่อและนามสกุลของเธอหรือเปล่า เป็นไปได้ไหมว่าเธอเป็นนักประพันธ์สตรีสักคนในยุคต่อมา
เท่าที่ดูจากคารมของคุณพนิดาก็คิดว่าเธอฉลาดพอจะหักใจจากยาขอบ ความสัมพันธ์ที่ไร้จุดหมายปลายทางติดต่อกัน ๔ ปี นับว่านานพอแล้ว ขืนแหวกศีลธรรมและประเพณีไปเป็นคุณนายคนที่ ๕ ของยาขอบ ก็ไม่มีอะไรประกันว่าพนิดาจะไม่เจอคุณนายคนที่ ๖ รออยู่ในอนาคต คู่สามีภรรยาที่ไม่เสมอกันด้วยศีล ศรัทธา ปัญญาและจาคะ อยู่กันไม่รอดหรอกค่ะ นอกจากอยู่ใช้เวรใช้กรรม
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
    
ตอบ: 33477
ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม
|
ความคิดเห็นที่ 8 เมื่อ 16 ก.ค. 12, 12:33
|
|
ปล.๒ น่าเสียดายที่แนนยังไม่เคยอ่านงานของดอกไม้สด ทั้งๆที่แม่แนะให้อ่านหนังสือ"ผู้ดี"มาแต่เล็กแต่น้อย แต่ไม่เคยอ่าน จำได้แค่ว่า การที่ทุกวันนี้ชงการแฟแล้วช้อนไม่กระทบแก้วให้มีแสียง มาจากคำสอนของแม่ที่ได้มาจากหนังสือเล่มนี้
ขอแนะนำให้อ่าน หนึ่งในร้อย เป็นเรื่องแรก ค่ะ ถ้าชอบค่อยไปอ่าน ผู้ดี
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
Madpinkie
อสุรผัด

ตอบ: 5
|
ความคิดเห็นที่ 9 เมื่อ 16 ก.ค. 12, 13:23
|
|
กำลังสงสัยว่าคุณเทียนดัดแปลงชื่อและนามสกุลของเธอหรือเปล่า เป็นไปได้ไหมว่าเธอเป็นนักประพันธ์สตรีสักคนในยุคต่อมา
อันนี้ขอน่วมสงสัยด้วยค่ะ ส่วน ความรักของสองคู่ที่กล่าวมาข้างต้น สงสัยต้องรีบไปหามารู้ ช่วงนี้ ...ขอบคุณมากๆ อีกครั้งค่ะ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
    
ตอบ: 33477
ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม
|
ความคิดเห็นที่ 10 เมื่อ 16 ก.ค. 12, 16:01
|
|
มาดูพื้นเพและชีวิตส่วนตัวของ "ยาขอบ" ส่วนที่จะเอามาเปรียบเทียบกับพนิดากันดีกว่าค่ะ
กำเนิดของ "ยาขอบ" มีสีสันยิ่งกว่าเรื่องราวในละครทีวี จะว่าไปแล้ว "ยาขอบ" มีศักดิ์เป็นเจ้าเชื้อสายเมืองแพร่ เพราะปูแท้ๆของเขาเป็นเจ้าหลวงเมืองแพร่ ชื่อเจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ เมื่อเกิดกบฏเงี้ยวในรัชกาลที่ 5 พ.ศ. 2445 เจ้าหลวงเมืองแพร่ถูกกล่าวหาว่าเป็นใจกับพวกกบฏ จึงต้องลี้ราชภัยหนีไปอยู่หลวงพระบาง ส่วนเจ้าอินแปง ราชบุตรของเจ้าหลวงถูกนำตัวมาอยู่ในกรุงเทพฯ กึ่งๆตัวประกัน ต่อมาเจ้าอินแปงได้แม่จ้อย หญิงรับใช้ในวังของสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ เป็นเมีย เกิดบุตรชายชื่อโชติ ต่อมาเจ้าอินแปงเดินทางกลับเมืองแพร่แล้วไปแต่งงานกับลูกเจ้าหลวงเมืองน่าน ทิ้งเมียและลูกไว้ทางนี้ แม่จ้อยตรอมใจตาย ก่อนตาย ห้ามลูกชายไม่ให้ไปเกี่ยวข้องกับบิดาและญาติๆทางแพร่ แทนที่จะได้เป็นบุตรเจ้าอินแปง ซึ่งทำให้มีสิทธิ์จะเป็นเจ้าเชื้อสายแพร่อีกคน เด็กชายโชติก็กลายเป็นเด็กกำพร้าทั้งพ่อแม่ กลายเป็นเด็กรับใช้ตามบ้านขุนนาง จนโตเป็นหนุ่ม จึงได้รับนามสกุลว่า แพร่พันธุ์ ซึ่งยืนยันในชาติกำเนิดของเขา
"ยาขอบ" มีพรสวรรค์ทางการประพันธ์ เมื่อแต่ง"ผู้ชนะสิบทิศ" ให้คนติดงอมแงมกันทั้งเมือง เขาอายุเพียง 25 ปี มีสำนวนภาษาหวานล้ำไม่ซ้ำแบบใคร คารมของ "ยาขอบ" ไม่ได้มีแต่ในหนังสือ แต่นำมาใช้กับสาวๆด้วย ผลก็คือยาขอบมีผู้หญิงอยู่ในชีวิตเขาแทบจะนับไม่ถ้วน ไม่รวมผู้หญิงที่เจอกันแบบเบี้ยบ้ายรายทางนับสิบคน ยาขอบมีภรรยาเป็นตัวเป็นตน 4 คน ก่อนพบพนิดา
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
    
ตอบ: 33477
ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม
|
ความคิดเห็นที่ 11 เมื่อ 16 ก.ค. 12, 16:11
|
|
ภรรยาที่อยู่กินกันอย่างเปิดเผย และต่อเนื่องยาวนานเป็นปีๆ ทั้ง 4 คนมีชื่อว่า 1.จรัส เป็นแม่ของมานะ แพร่พันธุ์ บุตรชายคนเดียวของยาขอบ 2.สงวนศรี เป็นเจ้าของจดหมายรักสีชมพู(สีกระดาษประจำตัวของยาขอบ) ซึ่งยาขอบเขียนถึงมากมาย และไปขอคืนมาอ่านเพื่อจะเอาเป็นแรงบันดาลใจเมื่อเริ่มเขียนถึงโวหารรักใน ผู้ชนะสิบทิศ 3.ชลูด เป็นนักเรียนสาวจากปีนังผู้หลงใหลนิยายผู้ชนะสิบทิศ ขณะยังเรียนอยู่ปีนัง เด็กสาวถึงกับขับรถยนต์ข้ามแดนมาที่หาดใหญ่ ทุกวันอาทิตย์ เพื่อจะซื้อหนังสือประชาชาติ ซึ่งลงพิมพ์ผู้ชนะสิบทิศ ในที่สุดก็ได้มาเป็นภรรยาของยาขอบ ใช้ชีวิตร่วมกันอยู่ 5 ปี 4.ประกายศรี เป็นภรรยาที่อยู่กินกับยาขอบตลอดเวลาที่เขาติดต่อเขียนจดหมายรักถึงพนิดา เธออยู่เคียงข้าง ดูแลรักษาพยาบาลเขาตั้งแต่เริ่มป่วยเมื่อพ.ศ. 2492 จนถึงวาระสุดท้ายในอีก 7 ปีต่อมา ยาขอบถึงแก่กรรมในวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2499 ด้วยโรคพิษสุราเรื้อรัง โรคกระเพาะอาหาร โรคเบาหวาน และวัณโรค อายุ 48 ปีเศษ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
    
ตอบ: 33477
ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม
|
ความคิดเห็นที่ 12 เมื่อ 16 ก.ค. 12, 16:30
|
|
เมื่อพ.ศ. 2482 ยาขอบกำลังโด่งดังถึงที่สุดจากนิยาย "ผู้ชนะสิบทิศ" นอกจากงานเขียน เขาทำหน้าที่ผู้จัดการโรงพิมพ์ของคุณเทียน เหลียวรักวงศ์ ซึ่งยาขอบเคารพนับถือมาก วันหนึ่งคุณเทียนก็พาหญิงสาวอายุ 20 ปี ลูกสาวของเพื่อน มาฝากฝังให้ฝึกงานด้วย เพราะเธออยากจะเป็นนักประพันธ์ หญิงสาวคนนั้นชื่อพนิดา ภูมิศิริทัต เป็นลูกสาวคนมีฐานะดี ขับรถยนต์ได้ ซึ่งหาได้ยากยิ่งในพ.ศ. 2482 และทางบ้านก็เปิดกว้างให้ออกงานสังคม ไปเที่ยวเตร่ที่นั่นที่นี่ได้ ไม่ได้เก็บเอาไว้ในบ้าน แม้ว่าไม่เคยมีการเปิดเผยว่าพ่อแม่ของพนิดาทำงานอะไร เป็นใครอยู่ที่ไหน แต่พอแกะรอยได้จากจดหมายของยาขอบว่าเธอมีฐานะในสังคมสูงกว่าเขามาก เมื่อเทียบกันแล้ว ยาขอบ ทั้งๆก็เป็นคนมีชื่อเสียงและทำงานรายได้มากเป็นอันดับหนึ่งของนักประพันธ์ในสยาม ก็ยังออกตัวว่าเขามีชีวิตที่ไม่ควรคู่กับเธอ
"ฉันต้องการให้คนทั้งหลายได้รับรู้ ถึงความที่คุณจะเป็นผู้พาฉันขึ้นมาจากปลักแห่งอบายมุขและความเหลวไหลไม่มีสาระ เป็นคนดีพอที่จะเคียงคู่กับคุณได้ โดยไม่ต้องหลบซ่อนสายตาหรือปิดบังการรู้เห็นของคนทั้งหลาย "
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
    
ตอบ: 33477
ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม
|
ความคิดเห็นที่ 13 เมื่อ 16 ก.ค. 12, 16:47
|
|
พนิดาเป็นคนมีฝีมือในการเขียนหนังสืออย่างน่าทึ่ง เมื่อเทียบกับหญิงสาวสมัยนั้น จดหมายที่เขียนตอบยาขอบมีสำนวนโวหารหวานและคมคาย ราวกับมืออาชีพ ข้อสำคัญเธอประชันคารมรักกับนักประพันธ์เอกได้ชนิดไม่เพลี่ยงพล้ำ ขอยกตัวอย่าง
"เมียมีอยู่ด้วยกันเดี๋ยวนี้ถึง 4 คน ยังมาเกี้ยวเขาได้นะใจคอ...ฉันรักคุณเพราะฉันไม่รักตัวเองไงคะ" "คุณเป็นทศนิยมไม่รู้จบ สำหรับความรักและคนรัก" "โปรดทราบไว้ด้วยหัวใจว่า หัวใจของพนิดามิใช่สายน้ำ ที่เมื่อทิ้งของอื่นลงไปกีดขวางทางเดิม แล้วจะไหลเบนไปในทางอื่นได้" "ขอบอกว่า ถ้าคุณคิดจะกัดแขนคุณเอง เพื่อให้ดาพันผ้าให้อีกล่ะก้อ อย่าได้ทำเลย บาดแผลที่เนื้อแขนคุณ เท่ากับแผลที่หัวใจของดาโดยแท้ การเจ็บเนื้อย่อมไม่เป็นพิษร้ายเท่าเจ็บที่หัวใจใช่ไหมคะ"
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
    
ตอบ: 33477
ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม
|
ความคิดเห็นที่ 14 เมื่อ 16 ก.ค. 12, 16:47
|
|
มาอ่านสำนวนของยาขอบบ้าง "ไม่เคยเลยในความเป็นมาของฉัน ซึ่งจะเข้ามาหาผู้หญิงด้วยความรู้สึกอ่อนแอ และอยากขอร้องว่า อย่าให้เขาไปจากฉันเหมือนครั้งนี้ ฉันไม่ได้รักคุณด้วยอารมณ์อันเคยเป็นของฉันเอง หากได้รักด้วยอารมณ์ทาส"
"เงยหน้าขึ้นพบดาเมื่อวานนี้ หัวใจแทบหยุดเต้น เหมือนที่คนเขาเผาอิฐ เผานาบอยู่บนเตา แล้วก็เอาลงมาราดน้ำ ซึ่งดังฉ่าและควันโขมงขึ้นทันที"
”คนเรานี่มีความโลภเหลือเกิน ที่จริงฉันควรเกลียดพรุ่งนี้ เพราะพรุ่งนี้ไม่มีดา แต่มันกลับเกลียดวันนี้ ด้วยไปรู้สึกว่าอาทิตย์พรุ่งนี้ เราจะไม่ได้พบกันทั้งวัน เที่ยวให้เบิกบานนะคะคนดี"
"เมื่อคืนหลับสบายเต็มตา และเมื่อตาตื่นอยู่ก็ไม่มีขณะใดเลยที่จะไม่คิดถึงดา"
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
|