เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3
  พิมพ์  
อ่าน: 37793 จะเด็ด ในประวัติศาสตร์ กับในนิยายของยาขอบ ต่างกันเพียงใด
bahamu
อสุรผัด
*
ตอบ: 38


 เมื่อ 09 ก.ค. 12, 20:24

จากระทู้นี้
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=2235.0

เท่าที่อ่านดูจะเด็ด จะใจร้อน มากกว่ามังตรา ต่างจากในนิยายที่จะเด็ดจะใจเย็นกว่า

ความเจ้าชู้ ในนิยายเดินทางไปน้อยเมืองมาก จนต้องสร้างตัวละครเพื่อให้ดูเยอะ เช่น ปอละเตียง เชงสอบู ตองสา อเทตยา

การรบที่เมืองแปร เกิดหลังพิชิตหงสา แล้วประหารวงศ์พระเจ้าแปรเป็นอันมาก สรุปว่าจะเด็ดไม่มีชายาจากเมืองแปรใช่หรือไม่

การที่จะเด็ดมีอำนาจ เป็นที่ไว้วางใจจนนิยายแต่งได้สมเหตุผล ซื่อสัตย์ไม่ยอมรับตำแหน่งกินเมือง
ในประวัติศาสตร์เนื้อหาเป็นอย่างไร เหตุใดจึงให้น้องต่างแม่ไปกินเมืองตองอู แปร แล้วพระญาติของมังตราหายไปไหน แล้วมังตราไม่มีโอรสเลยหรือ ถึงไว้ใจขนาดนั้น

หลังจากกลับจากอยุธยามังตราหมดสภาพ ต่างจากก่อนไป แล้วจะเด็ดต้องไปปราบกบฏที่ใดจึงย้อนกลับมาไม่ได้

สมิงสอตุด ถึงได้รับใช้ใกล้ชิด ขนาดจะเด็ดกำจัดไม่ได้ ในนิยายก็แถไม่ค่อยออก

สอพินยา ตัวจริงร้ายอย่างในนิยายหรือไม่ มอญในนิยายเป็นผู้ร้ายจำเป็น แถมเพิ่มบทไขลูฆ่าพระสงฆ์อีกแต่ผูกกับเรื่องได้ดี ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นว่าจะเด็ดเป็นผู้ก่อชนวนระหว่างนครรัฐ จนมังตราอ้างเหตุได้

พงศาวดารพม่าใดบ้างที่กล่าวเรื่องของจะเด็ด โดยละเอียด จากที่มีภาษาไทยมีข้อมูลน้อยมาก แต่บุเรงนองเป็นที่รู้จักในภูมิภาคเป็นอย่างดีพงศาวดารเมืองอื่นมีกล่าวถึงเพียงใด
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 12 ก.ค. 12, 14:56

        
        ขออนุญาตสนทนาด้วย   แต่ไม่รู้จักบุเรงนอง


        คำถามนี้     ตอบไม่ได้ค่ะ     รู้จักแค่จะเด็ดของยาขอบ  และรู้จักยาขอบที่สร้างจะเด็ดเป็นชายเหนือชาย    

ยาขอบเป็นสุภาพบุรุษแกร่ง        จะเด็ดก็เห็นอกเห็นใจนางทั้งหลายที่ผ่านทางเข้ามาในชีวิต

ผู้หญิงชาวป่า  ผู้หญิงของสหายร่วมตาย  ยังเห็นจะเด็ดเหนือกว่าผู้ชายของตน    ยาขอบแสดงผ่านจะเด็ดว่าตนนั้นเหนือชายอื่น

นางตองสานั้นเป็นแค่สายลับที่จะเด็ดโลมเล้าลูบไล้เพื่อใด้ส่งข่าวให้กองทัพ   นางเป็นแค่หมากในกระดานหมากรุกของจะเด็ด

แต่จะเด็ดก็ยกนางว่า  มีบุญคุณต่อตนต่อกองทัพ  เพื่อแสดงกับผู้หญิงคนอื่นว่า     ทุกคนไม้ได้เหนือกว่านางบำเรอตามทัพของสอพินยา


        ไขลูเป็นตัวเอกของยาขอบ   ไม่ได้เพิ่มบทขึ้นมาเฉย ๆ       ไม่น่าข้ามจุดนี้ไปได้


         เมื่อยาขอบควบม้าวิ่งอยู่ในสนาม   จะเด็ดก็กรีฑาพลพร้อมทัพช้าง  ทัพม้า  และทหารราบ กวาดไปทั่ว        ชีวิตเนงบาเพื่อนร่วมสาบานสั่งให้หันหน้าศพลงดิน

ไม่ยอมเจอบุเรงนองอีกต่อไปแแม้นสิ้นชีพแล้ว        ผู้ชายที่รักเดียวมี

        สอพินยาก็เป็นเพียงบุรุษผู้ได้เปรียบสตรีคนหนึ่ง

        เมื่อบุเรงนองเผาเมืองเพื่อหญิงคนรัก       เอาชีวิตทหารของตนมาทิ้ง    แม่ซักกี่คน  เมียอีกกี่คน  จะไม่ได้เห็นหน้าชายเหล่านี้อีก

        บาปนัก          

        บาปนักยาขอบ
บันทึกการเข้า
bahamu
อสุรผัด
*
ตอบ: 38


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 12 ก.ค. 12, 18:58

ยาขอบ แต่งได้ดีตรงที่ จะเด็ดไม่รุนแรงมาก เพราะในประวัติศาสตร์บางเรื่องโหดมาก และยังมีปมหลายอย่า
ซึ่งยาขอบ ได้ "ยา" จนสวยงาม แต่ขาดรายละเอียด ถ้าไม่จริงจังจะสนุกมาก

ยาขอบ จึงเบี่ยงประเด็น ให้สนใจการจีบสาวจะเด็ดแทน เพื่อไม่ให้ผู้อ่านมาคอยจับผิด หรือสงสัย

นิยาย เดินเรื่อง
จะเด็ด ตอน 15 ปี ไปฝังตัวที่เมืองแปร จนผูกรักกุสุมา แล้วยกทัพถล่มแปร จากนั้นจึงยกทัพไปหงสาเพื่อตามกุสุมา ได้แล้วไปเตรียม(เคลียร์)ยกทัพไปหงสา

ประวัติศาสตร์
จะเด็ด ยกทัพบุกหงสา อายุ 18 ปี ณ สมรภูมินองโย(สามปีก่อน นำทัพมังตราไปทำพิธีเจาะพระกรรณ ณ พระธาตุมุเตา)
จากนั้นไปเมาะตะมะ จับสอพินยา อุปราชที่ไม่ช่วยหงสา สำเร็จโทษ ได้แต่งกับพระนางอดุลสิริ(ตะเกงจี) พี่สาวต่างมารดาพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้

ต่อมายกทัพไปแปร ฆ่าล้างวงศ์พระเจ้าแปรที่สนิทกับอังวะ ซึ่งเป็นพระญาติกับพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ จะเด็ดได้ชายาจากศึกนี้ แต่นางเป็นธิดาจากอังวะ มีผัวมาแล้วสองคน บุตรหนึ่ง นามตะละแม่จันทาเทวี
บันทึกการเข้า
ลุงไก่
สุครีพ
******
ตอบ: 1281



ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 12 ก.ค. 12, 21:17

ยาขอบ ได้กล่าวไว้ในคำนำ(ของผู้ประพันธ์)เมื่อตีพิมพ์ครั้งแรก วันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๔๗๗ ความตอนหนึ่งว่า

"... ข้าพเจ้าขอชี้แจงต่อท่านผู้อ่านด้วยความคารวะว่า ไม่มีอะไรที่ข้าพเจ้ากล้ารับรองว่าเป็นพงศาวดารที่ถูกต้องอยู่ในผู้ชนะสิบทิศ ข้าพเจ้าเขียนขึ้นด้วยอารมณ์ฝัน ผู้ชนะสิบทิศถูกปลอมขึ้นจนดูประหนึ่งเป็นพงศาวดารด้วยอารมณ์ฝันเท่านั้น ... ในการเขียนนี้ ข้าพเจ้าไม่พยายามกอดพงศาวดารก็จริง แต่ข้าพเจ้าพยายามอย่างมากที่สุดที่จะกอด "นิสัยใจคอ" ของบุเรงนอง ..."

ส่วนเรื่องอารมณ์รักที่ยาขอบบรรยายลงในผู้ชนะสิบทิศ ขอให้ศึกษาจากหนังสือ "จดหมายรักในชีวิตจริงของยาขอบ" รวบรวมโดย "เทียน เหลียวรักวงศ์" สำนักพิมพ์แพร่พิทยา ครับ



บันทึกการเข้า
bahamu
อสุรผัด
*
ตอบ: 38


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 13 ก.ค. 12, 07:00

แรกๆ ยาขอบนึกว่าเอาอยู่ คำนำภาค2,3 ยาขอบ เขียนว่า ผู้แต่งเป็นแค่ส่วนประกอบ เพราะเมื่อแต่งให้ตัวละครเปลี่ยนทิศทาง
ผู้อ่านบอกว่าจะไม่อ่าน จะด่า บางท่านมาที่สำนักพิมพ์ อย่างตอนที่กุสุมาเสียตัว โทรไปถล่มสายแทบไหม้ มีนั่งรถรางไปด่าถึงที่ จนผู้แต่งต้องแต่งตามใจผู้อ่าน

ไม่เช่นนั้นกุสุมา คงได้แต่งพร้อมจันทราไปแล้ว กลายเป็นต้องเปลี่ยน ไปคล้ายประวัติศาสตร์ตรงที่ไม่ได้แต่งพร้อมกัน แบบโดยไม่ตั้งใจ

เรื่องช่วงหลังที่ยาขอบตาย จะนับเป็นจริงจังไม่ได้มาก ถ้านิยายยังเขียนต่อ บรรดาผู้อ่านไม่ยอมให้เนงบา กันทิมา จะมีจุดจบที่น่าทุเรศเยี่ยงนี้
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 13 ก.ค. 12, 09:22



        โทรศัพท์ตามบ้านไม่ได้มีมาก   ทั้งถนนจะมีสัก ๓ หลังก็ทั้งยาก    สมัยหนังสือกำลังเข้าสู่ตลาดนะคะ

บ้านที่บิดาข้าราชการชั้นจัตวาเช่าอยู่   ไม่มีโทรศัพท์   จะไปขอคุณนายภรรยาคุณหลวงเจ้าของบ้านใช้ทีก็ต้องเป็นเรื่องสำคัญจริง ๆ

ทั้งๆที่บ้านเราก็รักการอ่าน          เรื่องโทรศัพท์นี้ไม่เคยได้ยิน       พลพรรคที่หลงงานของสุภาพบุรุษไม่เคยเล่า   


ขอแจ้ง        เรื่องจิตร  ภูมิศักดิ์สุดบูชาของคุณเพ็ญชมพูตบโต๊ะตอนเผาเมือง

แล้วสะบัดหล้งเดินออกโรงพิมพ์ไปนั้นแล้วพูดว่าเพื่อผู้หญิงคนเดียวนี่นะ!!!


โทรศัพท์สีดำ  หมุนดังแคร่ก ๆ คร่อก ๆ   แล้วนักประพันธ์ก็ยังไม่ตื่นมาทำงาน      สุขภาพไม่ดี   


ที่แฟนานุแฟนตกอกตกใจก็ตอนจะแต่งนางสองเมืองพร้อมกันมากกว่า

ความบริสุทธิ์ของผู้หญิงเป็นเรื่องสำคัญ       เจ้าหญิงเมืองเล็กที่มีผัวมาแล้ว   จะมาเข้าพิธีพร้อมกับพระพี่นางสาวใหญ่ของพระเจ้าผ่นดินได้อย่างไร

นี่คืออำนาจและพลังของนักประพันธ์


       


        คนเขามาที่โรงพิมพ์เพื่อมาซื้อแผ่นพับตอนที่มีนวนิยายอ่านก่อนพับรวม       เขาหลงนวนิยายกัน

ดารานักร้องที่โก่งคอร้องเพลงที่ว่า   .........เพื่อศักดิ์ชาวตองอู .....ชาวบ้านชาวเมืองก็แย้มยิ้มตามกัน  ไม่มีใครว่าอะไร

พลังของความฝันแท้ ๆ


        ยาขอบเป็นคนจริงจังกับการหาข้อมูล   ไม่ใช่เพราะนอนรอข้อมูลเรื่องเพชรพลอยจากเจ้าของตำราหรือจนป่วยหนักพับไป
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 13 ก.ค. 12, 09:48

ขอแจ้ง        เรื่องจิตร  ภูมิศักดิ์สุดบูชาของคุณเพ็ญชมพูตบโต๊ะตอนเผาเมือง

แล้วสะบัดหล้งเดินออกโรงพิมพ์ไปนั้นแล้วพูดว่าเพื่อผู้หญิงคนเดียวนี่นะ!!!

๑. คงไม่ถึงกับบูชา แต่ว่าชื่นชม    

๒. จิตรคงไม่ชอบการเผาเมือง ไม่ว่าเหตุผลใด ไม่น่าชื่นชมทั้งสิ้น

 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 13 ก.ค. 12, 09:52

ที่แฟนานุแฟนตกอกตกใจก็ตอนจะแต่งนางสองเมืองพร้อมกันมากกว่า

ความบริสุทธิ์ของผู้หญิงเป็นเรื่องสำคัญ       เจ้าหญิงเมืองเล็กที่มีผัวมาแล้ว   จะมาเข้าพิธีพร้อมกับพระพี่นางสาวใหญ่ของพระเจ้าผ่นดินได้อย่างไร

นี่คืออำนาจและพลังของนักประพันธ์

จำชื่อพระองค์เจ้าหญิงเฉิดโฉมได้ว่า  ทรงเป็นผู้ที่ขัดขวาง"ยาขอบ" มิให้เขียนตอนบุเรงนองอภิเษกกุสุมา   คู่กับตละแม่จันทราได้สำเร็จ

ในหนังสือ "ชีวิตและงานของยาขอบ" มีข้อความที่"ยาขอบ"เขียนเล่าถึงพระองค์หญิงเฉิดโฉมว่า
          "..เป็นหญิงร่างใหญ่ ท่วงทีสง่า ผมดัด แต่งกายเรียบแต่สะอาดภาคภูมิ สวมเสื้อขาวเกลี้ยงๆ แบบผู้ใหญ่ นุ่งผ้าโจงกระเบนสีเทาดังที่เรียกกันว่าสีนกพิราบ สวมรองเท้าคัทชูส์อย่างที่ผู้ชายนิยมสวมกับกางเกงในสมัยนั้น แต่ที่ประหลาดก็คือสวมถุงสั้นครึ่งน่องด้วย ข้าพเจ้าเพิ่งเคยเห็นผู้หญิงนุ่งผ้า สวมถุงสั้นเป็นครั้งแรก มือขวาถือพัดด้ามจิ้ว และเมื่อเดินมาหาข้าพเจ้า ก็ควงพัดด้ามจิ้วในมือเล่น คล้ายควงกระบอง ทำให้ดูไหล่ผาย หลังตรงผ่าเผย ผิดคนในปูนนั้น สิ่งสำคัญที่บอกชาติตระกูลหญิงผู้นี้ก็คือที่คอเสื้อ เห็นเข็มทองคำลงยาขนาดใหญ่ ทำเป็นลายเซ็นด้วยตัวหนังสือเอนๆ ยาวราวสักสี่นิ้วว่า “พระปิ่นเกล้า”
          เมื่อพบ"ยาขอบ" พระองค์เจ้าเฉิดโฉมตรัสว่า
          “ไม่มีใครเขาจะพิเรนทร์หรอกพ่อเอ๋ย จะได้เอาผู้หญิงที่ถูกฉุดถูกคร่าจนเนื้อตัวเสียไปเข้ามาสู่พิธีแต่งงาน  เชิดหน้าชูตาพร้อมกับผู้หญิงที่เป็นพรหมจารีและดีเสียเหลือแสนอย่างตละแม่จันทราฯ"
          พระราชดำรัสของพระองค์หญิงนั้น เบื้องต้น“ยาขอบ”ไม่ยอม เพราะได้วางพล็อตเรื่องไว้เรียบร้อยแล้ว และการจะเปลี่ยนแนวเรื่องใหม่ที่กุสุมาอดแต่งงานต้องเขียนแนบเนียนและคงต้องใช้เวลา  
        ในที่สุด พระองค์เจ้าเฉิดโฉมตรัสว่า
          “พ่อยาขอบ อย่าให้เสื่อมความจำเริญเสียเพราะความหัวรั้นเลยเอายังงี้เถอะ อย่าเถียงกันเลยว่าอย่างฉันว่าควร  หรืออย่างที่พ่อว่าจะสมควร เอาเพียงว่าพ่อดูฉันซิ ว่าป่านนี้แล้วจะอยู่ไปได้อีกสักกี่ปี อีกไม่ช้าก็คงตาย พ่อยาขอบช่วยฉันหน่อยได้ไหม นึกว่าเหมือนหลานช่วยย่า ให้ตายด้วยมีความสุข ว่าลูกหลานไม่ได้ทำความผิด    หรือพอจะทำความผิดฉันเตือนเขาก็ยกให้  ไม่ทำ    เอ้าใครผิดใครถูกไม่ต้องพูดกันเอาแต่เพียงพ่อเปลี่ยนตามฉัน นึกว่าทำบุญให้คนแก่ตายสบายใจได้ไหม”
               ยาขอบรู้สึกเหมือน " ฟ้าผ่าลงมากลางกบาล" แต่ก็ต้องยอมแก้เหตุการณ์ในเรื่อง ไม่ให้กุสุมาได้แต่งงานพร้อมกับตละแม่จันทราตามที่คิดไว้แต่เดิม ด้วยการให้"แม่นางเลาชี" มารดาของจะเด็ดออกมาห้าม โดยขู่ว่า หากตละแม่กุสุมานั่งเสมอกับตละแม่จันทราเมื่อใด นางก็จะผูกคอตายเมื่อนั้น..

 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
bahamu
อสุรผัด
*
ตอบ: 38


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 13 ก.ค. 12, 10:40

ถ้ากุสุมา ยังไม่ถูกข่มเหง คงไปต่อยาก เพราะมังตราคงไม่ยอม เรื่องจะไม่มีน้ำหนัก หลายครั้งยาขอบ แต่งให้มังตราไม่สนใจหญิง ของจะเด็ด ด้วยที่เป็นม่าย และไม่เอ๊าะๆพอ

จันทราเทวี ประสูติกรุงอังวะ ย้ายมาแปรอภิเษกเป็นพระชายา ในพระเจ้านระบดี เมื่อสิ้นพระชนม์(พระเจ้านระบดี เป็นพี่เขยสการะวุตพี ครองหงสา)
จึงเป็นพระชายา ในพระเจ้ามังฆ้องซึ่งได้ครองราชย์แทน มีโอรส ไม่ทราบชื่อ(พระเจ้ามังฆ้อง เป็นลูกเขยพระเจ้าอังวะ ที่ไทใหญ่ครองอังวะแล้วพระญาติตองอูเข้าพวกด้วย)

เมื่อตองอูยึดเมืองแปรได้ ได้เป็นชายาบุเรงนอง อุปราช ต่อจากอดุลศิริเทวี มีพระธิดาด้วยกัน 1 องค์
ผู้เป็นมารดา นัดจินหน่อง ยอดกวี ผู้วางยาพิษปลงพระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรง ครองรักชายาม่ายของ พระมหาอุปราชา ถูกประหาร เพราะเป็นพวกเข้ารีต

http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2010/01/K8748831/K8748831.html


เผาเมือง เพื่อผู้หญิงคนเดียว คงมาจากอิเหนาเผาเมือง แย่งบุษบา มาจากจรกา
และมีเหตุผลในการยกทัพมาหงสา จากศึกชิงนาง ซึ่งสอพินยาเป็นต้นเหตุ(ผู้ร้ายจำเป็น ชาวหงสา เมาะตะมะ รับกรรมไป)

สอพินยา เหมือนปารีส พาเฮเลนหนีไปทรอย เปลี่ยนเป็นหลอก มอมยา ข่มขืน ล่องเรือไปหงสา พาให้ราชวงศ์มะกะโทล่มสลาย เพราะสตรีนางเดียว

ประวัติศาสตร์
ตองอู ซ่องซุม ชาวพม่าที่เทครัวมาจากอังวะ เตรียมการบุกหงสา รุกไปเมาะตะมะซึ่งเดินทางง่ายกว่าไปแปรมาก ทรัพยากรมากกว่า มีเมืองท่าสำคัญ(ภายหลังไปยึดพะสิม) ถึงขนาดมังตรารับวัฒนธรรมมอญ  ขุนนางมาเพื่อให้ชาวมอญ ยอมรับไม่มีการฆ่าล้าง เผาเมืองแบบให้ตายกันไปข้าง แต่ใช้เวลารบนานเกิน3ปี

ไปแปรต้องผ่านป่าบาโก โยมา(Pegu Yoma or Bago Yoma) ถึงใช้เรือล่องไปตามแม่น้ำย่อย ก็ไม่ทราบเรื่องกระแสน้ำอีก  ยังมีทรางทวย ยะไข่ ส่งกำลังมาช่วยได้ จึงต้องเตรียมความพร้อมที่หงสาก่อน
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 13 ก.ค. 12, 11:43

เหตุที่กุสุมาไม่ได้แต่งงาน

โดย บาราย หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ ๑๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๕

เหตุที่หนังสือเรื่อง ผู้ชนะสิบทิศ เป็นวรรณกรรมอมตะ ระหว่างตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ แฟนประจำถึงขนาดแห่กันมารอซื้อถึงหน้าโรงพิมพ์ และยังพิมพ์เป็นหนังสือเล่มขายกันในวันนี้

“ยาขอบ” ผู้ประพันธ์ เล่าไว้ในข้อเขียนเรื่อง เหตุที่กุสุมาไม่ได้แต่งงาน (นิตยสารรายปักษ์ โบว์แดง ฉบับ ๒๖ วันที่ ๑๖ ก.พ. ๒๔๙๐) ว่า

ในการเขียนผู้ชนะสิบทิศนั้น ขอเรียกตามความนึกคิดของข้าพเจ้าว่า พยายามเขียนให้บ้าที่สุดที่จะบ้าได้ พฤติการณ์ของตัวละครทุกตัวในเรื่อง ถ้ามีโอกาสมักจะถูกบังคับให้ทำ ในสิ่งที่มนุษย์ธรรมดาสามัญเขาไม่ค่อยทำ เช่น ให้นางเอกถูกข่มขืนเสียบ้าง พ่อเจ็บใจถึงกับแทงลูกเสีย ตายกับมือตนเองบ้าง ฯลฯ

และการดึงเอากุสุมาคนเดียวโดด ๆ มาแต่งงานพร้อมกัน ในท่ามกลางประยูรญาติของจันทราแต่ฝ่ายเดียวทั้งสิ้นนี้ ก็เป็นความบ้าชนิดที่ข้าพเจ้าเชื่อว่าคงไม่มีผู้ชายใดกระทำ ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงให้จะเด็ดทำ

ฝ่ายหมอจะเด็ดนั่นก็ไม่เลว ตะล่อมทางโน้นตะล่อมทางนี้ ด้วยความคิดและอุบายอันแยบยล

จนกระทั่งจันทราก็ดี หรือพระเจ้าตะเบงชะเวตี้ ผู้ยิ่งใหญ่ น้องชายจันทราก็ดี ก็ยังเห็นชอบด้วยกัน ที่จะเด็ดจะเอาผู้หญิงอื่น (ซึ่งมีราคีถูกสอพินยาฉุดเอาไปเป็นเมียที่เมืองแปร) มาเข้าพิธีเทียมบารมีพระที่นางของตนเอง

ยาขอบอธิบายว่า การแต่งงานพร้อมกันนี้ ย่อมเป็นเครื่องเน้นลักษณะนิสัย ให้จันทราเป็นยอดหญิงหรือนางแก้ว ซึ่งเปี่ยมไปด้วยเมตตาจิตและการแผ่พระคุณ ทั้งพยายามที่สุดที่จะเพิ่มความสุขใจให้คนรัก

เรื่องราวตอนนี้ ยาขอบคิดว่า ได้สร้างปราสาทที่งดงามได้สัดส่วนขึ้นหลังหนึ่ง จนเมื่อมีเหตุให้ต้องรื้อปราสาทหลังนี้เสีย จึงอกสั่นขวัญหายเป็นอย่างยิ่ง เมื่อถูกยื่นคำขาดว่า “พ่อยาขอบ จะเขียนอย่างนั้นไม่ได้เป็นอันขาด”

ในบ่ายของวันที่ผู้ชนะสิบทิศกำลังอยู่ในตอนจะเด็ดจะเข้าพิธีอุปภิเษกพร้อมด้วยสองนาง...บังตาห้องที่ยาขอบทำงาน ก็ถูกเปิดออก มีเสียงถามหา ...อาคันตุกะ เจ้าของเสียงเป็นหญิงร่างใหญ่วัยเกือบ ๗๐ ท่วงทีสง่า ผมตัด แต่งกายเรียบแต่สะอาดภาคภูมิสวมเสื้อขาวเกลี้ยง ๆ แบบผู้ใหญ่ เมื่อเดินเข้ามา ก็ควงพัดด้ามจิ๋วในมือเล่น มีคนเลื่อนเก้าอี้ให้นั่ง

“ไม่ต้องย่ะ สมัยหลีปับลิกผู้หญิงก็ยืนได้”

ข้าพเจ้าได้ยิน คำหลีปับลิก ก็วาบในหัวใจ นี่ใครหนอ มองไปที่คอเสื้อ เห็นเข็มทองคำลงยาขนาดใหญ่ ทำเป็นลายเซ็นด้วยตัวหนังสือเอน ๆ ยาวราวสักสี่นิ้ว “พระปิ่นเกล้า” เข้าด้วย ก็รู้สึกว่ายากที่จะพูดจา จะเป็นเจ้า หรือเป็นคนสามัญก็ไม่รู้

ก็พอดีอาคันตุกะเขยิบใกล้เข้ามาอีก “พ่อเอ๊ย ฉันนี่คราวย่าเห็นจะได้ละกระมัง” ว่าแล้วก็ลูบหัวข้าพเจ้าเอาดื้อๆ ยาขอบอยู่ในอาการละล้าละลัง ตั้งตัวไม่ถูกจนพี่สาวคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์มาบอกว่า

“พระองค์เฉิดโฉมนี่แหละ ตัวทศกัณฐ์ชั้นอาจารย์ละ”

ทูลว่า รู้แล้วว่าพระองค์ท่านเป็นใคร “เป็นใคร เป็นอะไรไม่สำคัญดอก เป็นคนเหมือนกัน สำคัญอยู่ที่กรรมชั่วและกรรมดี ” ท่านรับสั่ง แล้วก็บอกจุดประสงค์ว่า “ที่ฉันมานี่ เพราะอยากตักเตือนพ่อยาขอบให้ทำแต่กรรมดี”

“ไม่มีใครเขาจะพิเรนทร์หรอกพ่อเอ๋ย จะได้เอาผู้หญิงที่ถูกฉุดคร่าจนเสียเนื้อเสียตัวไปเข้ามาสู่พิธีแต่งงานเชิดหน้าชูตา พร้อมผู้หญิงที่เป็นพรหมจารี และดีอย่างเหลือแสนอย่างตะละแม่จันทรา”

ยาขอบจึงรู้ในบัดนั้น “กรรมชั่ว” ของเขา เกิดจากการเขียนเรื่องให้เอากุสุมาเข้าพิธีอุปภิเษกพร้อมกับจันทรานั่นเอง

ทูลไปว่า จะแก้ไขให้เป็นอื่นคงไม่ได้ เสด็จพระองค์หญิงผู้ชราหงุดหงิดพระทัย สุดท้ายก็ยื่นไม้ตาย “เอ้า ใครผิดใครถูก ไม่ต้องพูดกัน เอาแต่เพียงพ่อเปลี่ยนตามใจฉัน นึกว่าทำบุญให้คนแก่ตายสบายใจได้ไหม”

ข้าพเจ้างงงันเหมือนโดนทุบหัว อีกใจหนึ่งก็เศร้านัก เมื่อคิดว่า โอ้ปราสาทหลังงามของเราเอ๋ย ยาขอบรำพัน หลังการรับปากว่าจะเปลี่ยนถวาย ตามที่ประสงค์

กว่าจะดึงเอากุสุมามาแต่งงานกับจันทราได้ ก็ได้ผูกโยงเหตุผลแวดล้อมเสียแน่นหนา จนเป็นเงื่อนตาย ปัญหาก็คือ จะแก้เรื่องไม่ให้เสียรูปรส...แบบไหนดี

ตัวละครสำคัญ และมีน้ำหนักจะห้ามปรามจะเด็ด เช่นตัวตะละแม่จันทรา พระเจ้าตะเบงชะเวตี้ หรือมังสินธูมหาเถรอาจารย์ ก็เอามาสนับสนุนข้างให้จะเด็ดแต่งงานพร้อมกันเสียแล้ว พวกนี้จะกลับความคิดข้างไม่ยอมขึ้นมา ก็บ้าเต็มทน จึงต้องหาตัวใหม่ ใครหนอ ที่จะมีความสำคัญและมีน้ำหนักพอ ข้าพเจ้าพบพระนมเลาชี มารดาของจะเด็ดเอง

ตามเรื่องที่ผ่านมาแล้ว แม้จะกล่าวถึงแม่เลาชีว่าเป็นคนซื่อทรงสัตย์ ทรงธรรม และภักดีในราชวงศ์ตองอูเต็มเปี่ยม แต่ก็ไม่มีพฤติกรรมอันใด ที่จะชูลักษณะนิสัยของแม่เลาชี ในข้อที่ว่านี้ได้เด่นชัดออกมาสักคราวเดียว

แม่เลาชีมีบทบาทน้อยเหลือเกิน ในผู้ชนะสิบทิศที่แล้วมา

ยาขอบเริ่มคิดได้ ครั้งนี้จะให้แม่เลาชีแสดงบทบาทให้เด่นชัด “ข้าพเจ้าวางแผนให้ตัวละครตัวนี้เข้าขัดขวางจะเด็ด”

ดังนั้น ปราสาทเก่าก็หายวับไป แต่มิใช่การรื้อทำลาย หากด้วยการสร้างอันใหม่ ครอบลงไปบนอันเก่า

บทบาทของแม่เลาชีตอนนี้ ทำให้ข้าพเจ้าได้รับจดหมายจากผู้อ่านนับเป็นจำนวนร้อย ยินดีปรีดากับพฤติการณ์อันเป็นผู้มีใจซื่อถือธรรมของพระนมผู้เฒ่า บ้างก็บอกว่าถึงกับน้ำตาคลอเพราะตื้นตันใจ

แม่นมเลาชีมีชีวิตชีวาขึ้นมาอีกตัวหนึ่ง

ยาขอบ เขียนเรื่อง เหตุที่กุสุมาไม่ได้แต่งงาน ไว้ในวันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๔๘๙ ในวันที่ได้ยินวิทยุประกาศกำหนดวันพระราชทานเพลิง เสด็จพระองค์เฉิดโฉม ณ เมรุ วัดเทพศิรินทราวาส

“ในฐานผู้น้อยด้อยศักดิ์ ข้าพเจ้าย่อมหมดโอกาสที่จะไปสักการะพระศพ ด้วยดอกไม้ธูปเทียน แต่นักประพันธ์เล็กคนหนึ่ง ไม่เคยลืม ความปรารถนาดีที่ใคร ๆ เคยมีต่อมันเลย จึงขอสักการะพระศพด้วยปากกา ซึ่งไหลออกมาเป็นข้อเขียนชิ้นนี้ แทนดอกไม้ธูปเทียน”

 ยิงฟันยิ้ม

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 13 ก.ค. 12, 11:56

เรื่องราวของพระองค์เจ้าเฉิดโฉม มีให้อ่านมากกว่านี้อีกค่ะ
http://www.oknation.net/blog/print.php?id=264756
บันทึกการเข้า
bahamu
อสุรผัด
*
ตอบ: 38


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 13 ก.ค. 12, 13:13

ยาขอบ รับอิทธิพลจากนิยายสามก๊ก ของล่อก่วนจง มาใส่ในเรื่อง ในช่วงบั้นปลายชีวิต ไปแต่งสามก๊กฉบับวนิพก
แทนที่จะแต่งจะเด็ดภาค3 ให้เสร็จ ด้วยขาดข้อมูลเรื่องเพชร

งงที่ว่า คนตองอู หน้าตาแบบคนมอญ ไทย แยกด้วยสำเนียงพูด จะเชี่ยวชาญแค่ไหน จะแต่งให้เป็นคนเดินพลอย ผู้มั่งคั่งแต่ไม่มีลิ่วล้อเป็นแขก เห็นที่จะลำบาก
มีแต่แขกอินเดีย เป็นไปได้ เพราะมีเหมืองเพชร ชำนาญเรื่องเพชรที่สุด แม้แต่จีนก็ไม่ทราบถึงคุณสมบัติของเพชรเท่าอินเดีย
ถ้าค้าพลอย ทับทิม หยก ไพลิน บุษราคัม มรกต พัดพระราชา ยังน่าเชื่อกว่า

เมืองโมก๊อก(Mogok) ทางเหนือของมัณฑะเลย เป็นเหมืองทับทิมโบราณ

11 เดือนกุมภาพันธ์ 2551

พม่าย้ายศูนย์ค้าอัญมณี กระทบตลาดพลอยแม่สอด

ปัจจุบันศูนย์กลางการค้าขายอัญมณีในมัณฑะเลย์รับซื้ออัญมณี อาทิ หยก ทับทิบ และแซพไฟร์ มาจาก 6 พื้นที่ ได้แก่
เมืองโมก๊อก ทางเหนือมัณฑะเลย์
เมืองสู้ ในรัฐฉาน
เมืองคำตี จากภาคสะกาย  
เมืองโมญิน เมืองผากั้น และเมืองนำยา จากรัฐคะฉิ่น

ทุกวันนี้ตลาดพลอยแม่สอด มีลูกค้าจากเนปาล อินโดนีเซีย พม่า ไต้หวัน อินเดีย บังคลาเทศ เดินทางมาค้าขายอัญมณีกัน
อัญมณีที่ค้ามากที่สุด คือ พลอย หยก ทับทิม ส่วนยี่หร่า นิล และอื่นๆก็มีการค้าอยู่บ้าง
จากปัจจัยเศรษฐกิจของโลกที่ตกต่ำและเศรษฐกิจในเมืองไทยที่ถดถอย ประกอบกับน้ำมันแพง สินค้าอุปโภคบริโภคขึ้นราคา ส่งผลกระทบกับการค้าอัญมณี 25-30 %

http://www.oknation.net/blog/print.php?id=212748

นิยายยอดขุนพล มีสี่ทหารเสือ พระเจ้าตะเบงชะเวตี้ เป็นพี่น้องร่วมสาบาน แบบที่เล่าปี่ กวนอู เตียวหุย สาบานในสวนดอกท้อ ซึ่งไม่มีจริงในประวัติศาสตร์ นิยายขุนศึกก็รับไปด้วย

จะเด็ด รับอิทธิมาจาก จูล่งในเรื่องเพลงทวน ขี่ม้า รูปร่าง ความเป็นจอมยุทธ ความภักดีต่อนาย ความเจ้าชู้ ยาขอบเสริมให้ รับกับพงศาวดารพม่า
จาเลงกะโบ เนงบา สีอ่อง คล้ายพวกเล่าปี่ แต่ฝีมือดีพอๆกัน แถมซื่อสัตย์ ไม่ทรยศ หรือแย่งหญิง แบบจะเด็ด

ตามลักษณะโครงเรื่องแบบนี้ จะเด็ด ต้องรักพี่น้อง ผองเพื่อนมากว่าสตรี เพราะต้องฝากชีวิตกันเวลาร่วมรบ
เรื่องของกันทิมา เนงบา ทิ้งปมไว้ และหยุดแต่งไปก่อน ตามหลักถ้าขนาดเนงบา บอกรักไม่ต้องพลิกศพมองหน้า

แบบชาวยุทธตีความได้กว่า จะเด็ดทรยศพี่น้อง ผิดคำสาบาน เกลียดกันแบบ "ผีไม่เผา เงาไม่เหยียบ" ซึ่งไม่น่าเป็นไปได้
แล้วผูกกระแทกจน หญิงที่ตนเองจะเก็บไว้เอง ต้องน้อยใจไปผูกคอตาย ก็เกินไป ผิดวิสัยจอมวางแผนอย่างจะเด็ด แล้วจะบอกคะตะญียังไง
เพราะตั้งแต่ต้นเรื่องมา กล่อมหญิงให้แต่งงานกับพวกพ้องได้ทั้งนั้น คู่นี้อาจช้าหน่อย ลงเอยแบบ โฉมงามกับเจ้าชายอสูร ไม่ใช่จบแบบนี้

ลักษณะสามคน เขียนยังกะยักษ์กะมาร กะไม่ให้สาวสวยชอบเลย ผู้สร้างละคร หนังถึงไม่ยึดตามประพันธ์ เพราะไม่น่าดู ป่าเถื่อน

จาเลงกะโบ "..ร่างค่อนข้างใหญ่สมชาย หว่างคิ้วสักเป็นยันต์ไขว้เหมือนรูปอุณาโลม นัยน์ตาเหลืองเข้มประหนึ่งตาเสือ.." ได้รับการแต่งตั้งเป็น นายกองคชโยธา (ทัพช้าง)

เนงบา "...ร่างใหญ่เสมอเอาคนสองคนมาปั้นรวมกัน อกและหลังสักจนเกือบไม่มีที่ว่าง ตาและผมแดง ไว้เคราหยิกเป็นก้อนติดคาง..." เป็นนายกองปัตตานึก (ทัพเดินเท้า)

สีอ่อง "..รูปละม้ายคล้ายกระบอกข้าวหลาม รอยสักมีเพียงที่ชายโครงสองข้าง เสียงเจรจาดูสงบเสงี่ยม.."เป็นนายกองอัศวานึก (ทัพม้า)"

http://www.oknation.net/blog/print.php?id=263090

จาเลงกะโบ สุขุมลุ่มลึก กว่าจะเด็ด ในตอนที่ตามจะเด็ดมาหงสาชิงกุสุมา ช่วยจะเด็ดผู้หน้ามืดไว้ตลอด เลยไม่รู้ว่าใครเป็นพระเอกกันแน่
ดูละครก็คลั่งตัดหัวนางละคร เพราะแค้นกุสุมา ซึ่งแต่งแรงเกินไป เสียชื่อสำนักกุโสดอ ชาวยุทธอยู่ตั้งเยอะ ยังปล่อยให้จะเด็ดคลุ้มคลั่ง(ยาขอบ ติดเหล้ามาก เมาทั้งเดือนก็มี อาจทำให้เป็นเหตุ)

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 13 ก.ค. 12, 13:32

ยาขอบ รับอิทธิพลจากนิยายสามก๊ก ของล่อก่วนจง มาใส่ในเรื่อง ในช่วงบั้นปลายชีวิต ไปแต่งสามก๊กฉบับวนิพก
แทนที่จะแต่งจะเด็ดภาค3 ให้เสร็จ ด้วยขาดข้อมูลเรื่องเพชร

จะเด็ด รับอิทธิมาจาก จูล่งในเรื่องเพลงทวน ขี่ม้า รูปร่าง ความเป็นจอมยุทธ ความภักดีต่อนาย ความเจ้าชู้ ยาขอบเสริมให้ รับกับพงศาวดารพม่า
จาเลงกะโบ เนงบา สีอ่อง คล้ายพวกเล่าปี่ แต่ฝีมือดีพอๆกัน แถมซื่อสัตย์ ไม่ทรยศ หรือแย่งหญิง แบบจะเด็ด

จาเลงกะโบ "..ร่างค่อนข้างใหญ่สมชาย หว่างคิ้วสักเป็นยันต์ไขว้เหมือนรูปอุณาโลม นัยน์ตาเหลืองเข้มประหนึ่งตาเสือ.." ได้รับการแต่งตั้งเป็น นายกองคชโยธา (ทัพช้าง)

เนงบา "...ร่างใหญ่เสมอเอาคนสองคนมาปั้นรวมกัน อกและหลังสักจนเกือบไม่มีที่ว่าง ตาและผมแดง ไว้เคราหยิกเป็นก้อนติดคาง..." เป็นนายกองปัตตานึก (ทัพเดินเท้า)

สีอ่อง "..รูปละม้ายคล้ายกระบอกข้าวหลาม รอยสักมีเพียงที่ชายโครงสองข้าง เสียงเจรจาดูสงบเสงี่ยม.."เป็นนายกองอัศวานึก (ทัพม้า)"

ลักษณะของสามคนทำให้นึกถึงสามก๊ก
จาเลงกะโบ  = เตียวหุย
เนงบา        =  กวนอู
สีอ่อง         = จูล่ง
ส่วนนิสัยใจคอ  ยาขอบมาสร้างขึ้นเอง

จะเด็ดน่าจะมาจากขุนแผนมากกว่าจูล่งนะคะ     ขี่ม้า เก่งเพลงอาวุธบนหลังม้า จงรักภักดีต่อนาย  เจ้าชู้   ผู้หญิงทุกคนที่ผ่านมา เสร็จหมด    
ส่วนสามก๊กฉบับวณิพก  ยาขอบไม่ได้แต่งขึ้นมาจากสามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง(หน) แต่ว่าแปลมาจากสามก๊กฉบับภาษาอังกฤษ ชื่อ  Romance of the Three Kingdoms  ซึ่ง Brewitt-Taylor แปลมาจากสามก๊กของหลอกว้านจงอีกทีหนึ่ง    ยาขอบเอ่ยไว้ว่ามีผู้ช่วยคอยแปลเรื่องและศัพท์เล่าให้ฟังอีกที   เป็นใครไม่ทราบ แต่เท่าที่เล่าถึงพื้นความรู้ น่าจะเป็นบาทหลวงคาทอลิคในประเทศไทย
    
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 13 ก.ค. 12, 13:53

เกรงกระทู้จะเงียบ  เอาเพลงแบคกราวน์มาใส่ให้ค่ะ

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 13 ก.ค. 12, 13:53

เพลงชุดผู้ชนะสิบทิศ น่าจะเป็นงานมาสเตอร์พีซของคุณไสล ไกรเลิศ  ไพเราะทุกเพลง   เมื่อก่อนหาฟังยาก    แต่เมื่อมียูทูปก็มีผู้เอื้อเฟื้อใส่คลิปเพลงให้   โดยเฉพาะเพลงเสียงร้องดั้งเดิมของดารานักแสดงอาวุโสที่ล่วงลับกันไปเกือบหมดแล้ว
น่าจะหาโอกาสฟัง  นอกจากจะเห็นว่าความไพเราะเฉพาะตัวของเพลงสมัยก่อน  เนื้อร้องยังเก็บความจากบทประพันธ์ได้หมดจด ผู้ประพันธ์เพลงเข้าลึกถึงเนื้อเรื่อง

สองเพลงนี้จากเสียงอมตะของคุณชรินทร์ นันทนาคร





บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.092 วินาที กับ 20 คำสั่ง