เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3 ... 6
  พิมพ์  
อ่าน: 50269 ขออนุญาตสอบถามข้อสงสัย ในคำภาษาไทย :)
MrMiu
อสุรผัด
*
ตอบ: 29


 เมื่อ 06 ก.ค. 12, 14:05

ขออนุญาตให้กระทู้นี้ เป็นกระทู้ที่เราไว้ถามคำที่สงสัยเลยนะคะ  ยิงฟันยิ้ม

หลังจากที่สงสัยในคำหลายคำมานานมาก และยังหาคำตอบไม่ได้ จะขอความกรุณาผู้รู้ทุกท่านรบกวนช่วยทีนะคะ  อายจัง

มักจะเป็นคำที่ ไม่ทราบจริงๆว่าแท้จริงแล้วเขียนเช่นใด บางครั้ง ค้นในรอยอินก็ไม่พบ  เศร้า

ดังนี้ค่ะ

1. กระเปี๊ยก - กะเปี๊ยก 
2. ร่ายมนต์ - ร่ายมนตร์  (จากความคิดของตัวเองคือคิดว่า ร่ายมนตร์ มากกว่า เพราะน่าจะสื่อถึงเวทมนตร์ แต่บ้างว่าคาถาอาคมจึงใช้ มนต์)
3. มนต์รัก - มนตร์รัก  (คิดว่า มนตร์ เพราะน่าจะประมาณว่า "มนตราความรัก" แต่ก็ยังหาข้อสรุปมิได้อยู่ดี จากการค้นหาด้วยตนเอง)
4. สะเหล่อ - สะเหร่อ (ค้นในรอยอิน เจอว่า "สะเหล่อ" แต่เจอจากสำนักพิมพ์ค่ายหนึ่ง เขียนในการ์ตูนเรื่องนึงว่า "สะเหร่อ" เกิดอาการสับสนเลยล่ะค่ะ)

ต่อไปเป็น "คำเลียนเสียง"

มักจะเจอแต่ในการ์ตูนล่ะค่ะ แต่เนื่องจากก็ทำงาน(?)เกี่ยวกับด้านนี้ จึงอยากจะทราบในหลายๆคำที่ควรจะเป็นค่ะ

หมับ - มั่บ > เสียงเวลาเราหยิบจับ/กระชากคอเสื้อ/บลาห์ๆ ควรจะเป็นอันไหนคะ? (โดยส่วนตัวเจอแต่ หมับ ซะส่วนมาก แต่พอเจอ มั่บ เลยทำให้สงสัยขึ้นมาเลย)


จริงๆมีอีกแต่ทว่า จะขอมาเพิ่มเติมในวันหน้าแล้วกันค่ะ

ขอบคุณล่วงหน้าสำหรับทุกท่านด้วยนะคะ  อายจัง
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 06 ก.ค. 12, 14:16

ขอเชิญคุณเพ็ญชมพูค่ะ
บันทึกการเข้า
MrMiu
อสุรผัด
*
ตอบ: 29


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 06 ก.ค. 12, 14:54

รบกวนเรื่องของ "การเว้นวรรค" อีกอย่างด้วยนะคะ

อย่างเช่นเรื่องของ "ตัวเลข" เช่น

เงิน 10 บาท
คน 10 คน
ผ้า 10 ผืน
เรียน 10 วิชา

ส่วนตัวคิดว่าจำเป็นจะต้อง วรรค ก่อน และ หลัง ตัวเลข  แต่เจอจากบางสำนักพิมพ์อีกล่ะค่ะ ที่พิมพ์ติดกันเลย เช่น

"มาสัก100คนก็ไม่กลัวหรอก" "ถ้าไม่มาภายใน10นาทีนี้ล่ะก็"

ประมาณนี้ล่ะค่ะ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 06 ก.ค. 12, 15:19

๑. กระเปี๊ยก - กะเปี๊ยก เมื่อรอยอินยังไม่ระบุว่าคำไหนถูก ก็คงใช้ได้ทั้ง ๒ คำ ไม่มีใครว่าผิด

๒. มนต์ - มนตร์ มีหลักอยู่ว่า ถ้าเกี่ยวกับศาสนาพุทธ ใช้ มนต์  ถ้าเป็นศาสนาอื่นเช่นศาสนาพราหมณ์ ใช้ มนตร์

คำที่คุณมิอุถามมา คงไม่เกี่ยวกับศาสนาพุทธกระมัง  ยิ้มเท่ห์


๓. สะเหล่อ - สะเหร่อ เชื่อรอยอินเถอะ

เห็นคำว่า "สะเหร่อ" ใช้กันทั่วไปในเน็ต   ไม่รู้ว่าจริงๆแล้วสะกดยังไง "สะเหล่อ " "เสล่อ" หรือ "เสร่อ"

รอยอินท่านว่า

สะเหล่อ ว. ทั้งเซ่อและเล่อ, ทั้งเซ่อซ่าและเล่อล่า.

เซ่อซ่า ว. เซ่อมาก, เร่อร่า, เล่อล่า, กะเร่อกะร่า หรือ กะเล่อกะล่า ก็ว่า.

เล่อล่า  ว. อาการที่แต่งกายรุ่มร่ามเกินพอดี เช่น เขาแต่งตัวเล่อล่าผิดกาลเทศะ, ซุ่มซ่าม เช่น เขาเดินเล่อล่าออกไปกลางถนนเลยถูกรถชน, เซ่อซ่า เช่น เขาเล่อล่าเข้าไปอยู่กับพวกเล่นการพนันเลยถูกจับไปด้วย, เก้งก้าง เช่น เขาเป็นคนท่าทางเล่อล่าอย่างนั้นเอง, กะเร่อกะร่า กะเล่อกะล่า หรือ เร่อร่า ก็ว่า.

เร่อร่า ว. อาการที่แต่งกายรุ่มร่ามเกินพอดี เช่น เขาแต่งตัวเร่อร่าผิดกาลเทศะ, ซุ่มซ่าม เช่น เขาเดินเร่อร่าออกไปกลางถนนเลยถูกรถชน, เซ่อซ่า เช่น เขาเร่อร่าเข้าไปอยู่กับพวกเล่นการพนันเลยถูกจับไปด้วย, เก้งก้าง เช่น เขาเป็นคนท่าทางเร่อร่าอย่างนั้นเอง, กะเร่อกะร่า กะเล่อกะล่า หรือ เล่อล่า ก็ว่า.

ใช้ได้ทั้ง เล่อล่าและเร่อร่า แต่ใช้สะเหล่อได้อย่างเดียว สะเหร่อไม่ได้นะจ๊ะ

ไม่น่าจะเป็นคำหยาบ แต่ออกจะเป็นคำดูถูกคนสักหน่อย


๔. หมับ - มั่บ คงไม่ใช่คำเลียนเสียง รอยอินท่านอธิบายไว้ด้วยนา

หมับ ว. คำสำหรับประกอบกิริยาที่เอาอะไร ๆ ไปอย่างฉับไวไม่รีรอ เช่น คว้าหมับ ฉวยหมับ หยิบหมับ, มับ ก็ว่า.
 
หมับ ๆ ว. อาการของปากที่หุบเข้าแล้วอ้าออกอย่างเร็ว, มับ ๆ ก็ว่า.
 
 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 06 ก.ค. 12, 15:33

รบกวนเรื่องของ "การเว้นวรรค" อีกอย่างด้วยนะคะ

ให้หลักเกณฑ์การเว้นวรรคของท่านรอยอินไว้ ยาวหน่อย แต่คิดว่าคงมีประโยชน์ต่อคุณมิอุ และชาวเรือนไทยทุกท่าน

หลักเกณฑ์การเว้นวรรค
 
        ในการเขียนหรือพิมพ์หนังสือไทย การเว้นช่องว่างระหว่างคำ ข้อความหรือประโยคให้ถูกต้องเป็นสิ่งจำเป็นมาก เพราะจะทำให้ข้อเขียนนั้นมีความถูกต้อง แจ่มแจ้ง ชัดเจน และอ่านได้ตรงตามความต้องการของผู้เขียน
 
        วรรค คือ คำ ข้อความ หรือประโยคช่วงหนึ่ง ๆ
        การเว้นวรรค หมายถึง การเว้นช่องว่างระหว่างวรรค
 
        การเว้นวรรคแบ่งออกเป็น
 
        – การเว้นวรรคเล็ก มีระยะห่างระหว่างวรรคประมาณเท่ากับความกว้างของพยัญชนะ ก
        – การเว้นวรรคใหญ่ มีระยะห่างระหว่างวรรคประมาณ ๒ เท่าของการเว้นวรรคเล็ก
 
        ในการเขียนหรือพิมพ์หนังสือไทย มีหลักเกณฑ์ในการเว้นวรรค ดังนี้
 
๑. กรณีที่ต้องเว้นวรรค
 
        ๑.๑ การเว้นวรรคใหญ่
                 เว้นวรรคใหญ่เมื่อจบข้อความแต่ละประโยค
 
ตัวอย่าง
 
                 (๑) นั่งให้เรียบร้อย อย่าไขว่ห้าง
                 (๒) วิทยาการเป็นต้นธารให้บังเกิดความรู้และความสามารถในอันที่จะประกอบกิจตามหน้าที่ได้ดี ความเจริญงอกงามทั้งทางจิตใจและทางวัตถุย่อมเป็นผลสืบเนื่องมาจากวิทยาการ บ้านเมืองจะเจริญหรือเสื่อมก็เนื่องด้วยวิทยาการ
 
        ๑.๒ การเว้นวรรคเล็ก
                 เว้นวรรคเล็ก ในกรณีต่อไปนี้
 
                 ๑.๒.๑ ในประโยครวมให้เว้นวรรคเล็กระหว่างประโยคย่อยที่มีใจความสมบูรณ์และเชื่อมกับประโยคอื่น ๆ ที่ขึ้นต้นด้วยคำสันธาน “และ” “หรือ” “แต่” ฯลฯ
 
ตัวอย่าง
 
                 (๑) นายแดงอยู่ที่บ้านคุณพ่อของเขาที่ปากน้ำโพ แต่พี่ชายของเขาอยู่ที่บ้านซื้อใหม่ในกรุงเทพฯ
                 (๒) การเขียนหนังสือโย้หน้าเย้หลังไม่เป็นระเบียบ หรือการขาดความระมัดระวังในเรื่องช่องไฟ อาจเป็นเครื่องหมายส่อนิสัยของผู้เขียนเองได้
                 (๓) พุทธกับไสย แม้ต่างกันเป็นคนละด้าน แต่ก็ไม่เป็นสิ่งขัดแย้งกันในความเชื่อถือของคนชั้นสามัญทั่วไป
 
แต่ถ้าเป็นประโยคสั้นให้เขียนติดกัน
 
ตัวอย่าง
 
                 (๑) ฉันและเธอไปโรงเรียน
                 (๒) เขาอยากได้ดีแต่เขาก็ไม่ได้ดี
                 (๓) น้ำขึ้นแต่ลมลง
 
                 ๑.๒.๒ เว้นวรรคเล็กระหว่างชื่อกับนามสกุล
 
ตัวอย่าง
 
                 นายเสริม วินิจฉัยกุล
 
                 ๑.๒.๓ เว้นวรรคเล็กหลังคำนำพระนามพระบรมวงศานุวงศ์ พระนาม และฐานันดรศักดิ์                
 
ตัวอย่าง
 
                 (๑) สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
                 (๒) สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
                 (๓) สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงศ์
                 ๑.๒.๔ เว้นวรรคเล็กระหว่างชื่อบริษัท ธนาคาร ฯลฯ กับคำ “จำกัด” ที่อยู่ท้ายชื่อ
 
ตัวอย่าง
 
                 (๑) บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์มั่นคง จำกัด
                 (๒) ธนาคารทหารไทย จำกัด
 
                 ๑.๒.๕ เว้นวรรคเล็กระหว่างคำ “ห้างหุ้นส่วนจำกัด” และ “ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล” กับชื่อ
 
ตัวอย่าง
 
                 (๑) ห้างหุ้นส่วนจำกัด วีวรสิน
                 (๒) ห้างหุ้นส่วนจำกัดสามัญนิติบุคคล ปัญญากิจ
 
                 ๑.๒.๖ เว้นวรรคเล็กระหว่างชื่อสถานที่ต่าง ๆ เช่น ถนน ตำบล/แขวง อำเภอ/เขต จังหวัด
 
ตัวอย่าง
 
                 ราชบัณฑิตยสถาน ในพระบรมมหาราชวัง ถนนหน้าพระลาน
                 แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ๑๐๒๐๐
 
                 ๑.๒.๗ เว้นวรรคเล็กระหว่างคำนำหน้านามแต่ละชนิด
ตัวอย่าง
 
                 ศาสตราจารย์ นายแพทย์ หม่อมหลวงเกษตร สนิทวงศ์ หรือ
                 ศ. นพ. ม.ล.เกษตร สนิทวงศ์
 
                 ๑.๒.๘ เว้นวรรคเล็กระหว่างยศกับชื่อ
 
ตัวอย่าง
 
                 (๑) จอมพล ป. พิบูลสงคราม
                 (๒) พลเรือเอก สงัด ชลออยู่ หรือ พล.ร.อ. สงัด ชลออยู่
                 (๓) ร้อยโทหญิง สุชาดา ทำความดี
 
                 ๑.๒.๙ เว้นวรรคเล็กระหว่างกลุ่มอักษรย่อ
 
ตัวอย่าง
 
                 นายเสริม วินิจฉัยกุล ป.จ. ม.ป.ช. ม.ว.ม.
 
                 ๑.๒.๑๐ เว้นวรรคเล็กระหว่างตัวหนังสือกับตัวเลข
 
ตัวอย่าง
 
                 เขาเลี้ยงสุนัขไว้ที่บ้านตั้ง ๓๐ ตัว
 
                 ๑.๒.๑๑ เว้นวรรคเล็กระหว่างวันกับเวลา
 
ตัวอย่าง
 
                 ราชบัณฑิตยสถานกำหนดให้มีการประชุมคณะกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการใช้ภาษาไทยทุกวันพฤหัสบดี เวลา ๑๐.๐๐ น.
 
                 ๑.๒.๑๒ เว้นวรรคเล็กหลังข้อความที่เป็นหน่วยมาตราต่าง ๆ กับข้อความที่ตามมา
 
ตัวอย่าง
 
                 โต๊ะประชุมแต่ละตัวมีขนาดกว้าง ๐.๘๐ เมตร ยาว ๑.๖๐ เมตร สูง ๐.๖๐ เมตร
 
                 ๑.๒.๑๓ เว้นวรรคเล็กระหว่างตัวหนังสือไทยกับตัวหนังสือภาษาอื่น
 
ตัวอย่าง
 
                 ข้าวเย็นเหนือเป็นชื่อไม้เถาชนิด Smilax china  L. ในวงศ์ Smilacaceae เหง้าใช้ทำยาได้.
 
                 ๑.๒.๑๔ เว้นวรรคเล็กระหว่างรายการต่าง ๆ เพื่อแยกรายการแต่ละรายการ ทั้งที่เป็นข้อความและกลุ่มตัวเลข
 
ตัวอย่าง
 
                 (๑) ศีล สมาธิ ปัญญา สามอย่างนี้เรียกว่า ไตรสิกขา
                 (๒) เลือกข้อความที่ถูกต้องเพียงข้อเดียวจากข้อ ก ข ค ง
                 (๓) ๑๕ ๑๓ ๑๑ ๙ ๗ ๕ ๓ ๑ ต่างก็เป็นจำนวนเลขคี่
 
                 ๑.๒.๑๕ เว้นวรรคระหว่างเครื่องหมายต่าง ๆ
 
                              ๑.๒.๑๕.๑ เว้นวรรคเล็กหน้าและหลังเครื่องหมายไปยาลใหญ่ ไม้ยมก เสมอภาคหรือเท่ากับ ทวิภาค วิภัชภาค และเครื่องหมาย + ที่ใช้ในทางภาษา (มิใช่เครื่องหมาย + ที่ใช้ในทางคณิตศาสตร์)
 
ตัวอย่าง
 
                 (๑) เขาเจริญพุทธคุณว่า อิติปิ โส ฯลฯ ภควาติ
                 (๒) วันหนึ่ง ๆ เขาทำอะไรบ้าง
                 (๓) อเปหิ = อป + เอหิ
                 (๔) กฤษณา : กฤษณาสอนน้อง แบบเรียนกวีนิพนธ์
                 (๕) ในการจัดสัมมนาครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมการสัมมนา ได้แก่ :–
                   ราชบัณฑิต
                   ภาคีสมาชิก
                   ผู้แทนองค์กรที่เกี่ยวข้อง
                   นักวิชาการ
                   และประชาชนผู้สนใจ
 
                        ๑.๒.๑๕.๒ เว้นวรรคเล็กหน้าเครื่องหมายอัญประกาศเปิดและวงเล็บเปิด
 
ตัวอย่าง
 
                 (๑) สถานภาพของสตรีในสังคมอินเดียในอดีตมีลักษณะคล้าย “เถาวัลย์” หรือบางทีก็ดูคล้าย “กาฝาก” เพราะสตรีไม่สามารถพึ่งตนเองได้
                 (๒) มนุษย์ได้สร้างโลภะ (ความโลภ) โทสะ (ความโกรธ) และโมหะ (ความหลง) ให้แก่ตัวเองทั้งสิ้น
 
                       ๑.๒.๑๕.๓ เว้นวรรคเล็กหลังเครื่องหมาย จุลภาค อัฒภาค ไปยาลน้อย อัญประกาศปิด และวงเล็บปิด
 
ตัวอย่าง
 
                 (๑) พระพุทธ, พระธรรม, พระสงฆ์ เป็นรัตนะ ๓ ของพุทธศาสนิกชน
                 (๒) ชีวิตของตนเป็นที่รักยิ่งฉันใด ชีวิตของผู้อื่นก็ปานนั้น; สัตบุรุษเอาตนเข้าไปเทียบดังนี้ จึงกระทำความเมตตากรุณาในสัตว์มีชีวิตทั่วไป
                 (๓) โอ๊ย ! มาไม่ทันรถอีกแล้ว
                 (๔) สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
                 (๕) สถานภาพของสตรีในสังคมอินเดียในอดีตมีลักษณะคล้าย “เถาวัลย์” หรือบางทีก็ดูคล้ายเป็น “กาฝาก” เพราะสตรีไม่สามารถพึ่งตนเองได้
                 (๖) มนุษย์ได้สร้างโลภะ (ความโลภ) โทสะ (ความโกรธ) และโมหะ (ความหลง) ให้แก่ตนเองทั้งสิ้น
 
                 ๑.๒.๑๖ เว้นวรรคเล็กหลังข้อความที่เป็นหัวข้อ
 
ตัวอย่าง
 
                 (๑) อุทานวลี อุทานวลีหมายถึงคำอุทานที่มีคำอื่นประกอบท้ายให้เป็นวลียืดยาวออกไป เช่น คุณพระช่วย
                 (๒) วิเคราะห์กลวิธีดำเนินเรื่อง ในการวิเคราะห์กลวิธีดำเนินเรื่องจำเป็นต้องเข้าใจศิลปะการอ่าน หรือกติกาของนักอ่าน นักอ่านต้องพยายามทำใจเกี่ยวกับสัญนิยมของการแต่งหนังสือ
 
                 ๑.๒.๑๗ เว้นวรรคเล็กทั้งข้างหน้าและข้างหลังคำ ณ ธ
 
ตัวอย่าง
 
                 (๑) การนำสัตว์ขึ้นหรือลง ณ สถานีใด ให้เป็นดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ประจำท้องที่
                 (๒) ผลพระคุณ ธ รักษา ปวงประชาเป็นศุขสานต์
 
                 ๑.๒.๑๘ เว้นวรรคเล็กหน้าและหลังคำว่า “ได้แก่” ที่ตามด้วยรายการ มากกว่า ๑ รายการ
 
ตัวอย่าง
 
                 (๑) เครื่องล่อใจให้ติดอยู่ในโลก ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส
                 (๒) อาหารที่ช่วยป้องกันและต้านทานโรค ได้แก่ โปรตีน เกลือแร่ และวิตามิน
 
                 ๑.๒.๑๙ เว้นวรรคเล็กหน้าและหลังคำ “เช่น” (ในความหมายว่า ยกตัวอย่าง)
 
ตัวอย่าง
 
                 ส่วนหนึ่งแห่งสกลจักรวาล เช่น มนุษยโลก เทวโลก พรหมโลก
 
ยกเว้น “เช่น” ที่มีความหมายว่า “อย่าง, เหมือน” ไม่ต้องเว้นวรรคทั้งหน้าและหลังคำ
 
ตัวอย่าง
 
                 (๑) ดำ ว. มีสีเช่นสีเขม่า, มืด.
                 (๒) ใจดำเช่นกา
 
                 ๑.๒.๒๐ เว้นวรรคเล็กหน้าคำสันธาน “และ”, “หรือ” ในรายการ
 
ตัวอย่าง
 
                 (๑) ระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายว่าด้วยการผลิต การบรรจุ การเก็บรักษา การสำรวจ การขนย้าย การจำหน่าย และการส่งมอบน้ำตาลทราย
                 (๒) แล้วกัน (ปาก) ว. ออกเสียงแสดงความไม่พอใจ ตกใจ เสียใจ หรือประหลาดใจ เป็นต้น.
 
ยกเว้น ถ้ามีเพียง ๒ รายการ ไม่ต้องเว้นวรรค
 
ตัวอย่าง
 
                 (๑) ส่งเสริมสวัสดิการของครูและนักเรียนของโรงเรียน
                 (๒) เสียงสระทุกเสียงเป็นเสียงก้องหรือเสียงโฆษะ
 
                 ๑.๒.๒๑ เว้นวรรคเล็กหน้าคำ “เป็นต้น” ที่อยู่หลังรายการ
 
ตัวอย่าง
 
                 (๑) ประเภท น. ส่วนที่แบ่งย่อยออกไปเป็นพวก จำพวก ชนิด หมู่ เหล่า อย่าง แผนก เป็นต้น.
                 (๒) บ้านเป็นคำไทย เดิมหมายความว่าหมู่บ้าน ปัจจุบันยังมีเค้าให้เห็นอยู่ในชื่อตำบลต่าง ๆ มี บ้านหม้อ บ้านหมี่ บ้านไร่ บ้านนา บ้านบ่อ เป็นต้น
 
                 ๑.๒.๒๒ เว้นวรรคเล็กหลังคำว่า “ว่า” ในกรณีที่ข้อความต่อมาเป็นประโยค
 
ตัวอย่าง
 
                 จะสังเกตได้ว่า คนถนัดมือซ้ายมีน้อยกว่าคนที่ถนัดมือขวา
 
๒. กรณีที่ไม่เว้นวรรค
 
                 ๒.๑ ไม่เว้นวรรคระหว่างคำนำหน้าชื่อกับชื่อ
 
ตัวอย่าง
 
                 (๑) พระมหาสุทธิ สุทฺธิญาโณ
                 (๒) นายเสริม วินิจฉัยกุล
                 (๓) นางอินทิรา คานธี
                 (๔) นางสาววารุณี วงศ์คนไทย
                 (๕) เด็กชายวรา สิทธิ์รัตน์
                 (๖) เด็กหญิงสิรินท์ ทองดี
                 (๗) คุณนิลวรรณ ปิ่นทอง
                 (๘) คุณหญิงปิ๋ว มหาโยธา
                 (๙) ท่านผูหญิงพัว อนุรักษ์ราชมณเฑียร
 
๒.๒ ไม่เว้นวรรคระหว่างบรรดาศักดิ์ สมณศักดิ์ ฐานันดรศักดิ์ กับนาม หรือราชทินนาม
 
ตัวอย่าง
 
                 (๑) หลวงวิศาลศิลปกรรม
                 (๒) หม่อมราโชทัย
                 (๓) สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
                 (๔) หม่อมเจ้าโวฒยากร วรวรรณ
                 (๕) เจ้าจอมมารดาชุม (ในรัชกาลที่ ๔)
 
๒.๓ ไม่เว้นวรรคระหว่างคำนำหน้าชื่อที่เป็นตำแหน่งหรืออาชีพกับชื่อ
 
ตัวอย่าง
                 (๑) ศาสตราจารย์รอง ศยามานนท์
                 (๒) นายแพทย์ดำรง เพ็ชรพลาย
 
๒.๔ ไม่เว้นวรรคระหว่างคำหน้าชื่อที่แสดงฐานะของนิติบุคคล หน่วยงาน หรือกลุ่มบุคคลกับชื่อ
 
ตัวอย่าง


                 (๑) สมาคมข้าราชการพลเรือนแห่งประเทศไทย
                 (๒) มูลนิธิสายใจไทย
                 (๓) สำนักพิมพ์เมืองโบราณ
                 (๔) โรงพิมพ์สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
                 (๕) โรงเรียนสตรีวิทยา
                 (๖) บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์มหาสมุทร จำกัด
                 (๗) กรมปศุสัตว์
                 (๘) กระทรวงศึกษาธิการ
                 (๙) คณะกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการใช้ภาษาไทย
 
๒.๕ ไม่เว้นวรรคหลังเครื่องหมายไปยาลน้อย ในกรณีที่มีเครื่องหมายอื่นตามมา
 
ตัวอย่าง

 
                 รถไฟเที่ยวจากกรุงเทพฯ-เชียงใหม่
 
๒.๖ ไม่เว้นวรรคทั้งหน้าและหลังเครื่องหมายยัติภังค์ ยัติภาค
 
ตัวอย่าง
 
                 (๑) -กระเฉง ใช้เข้าคู่กับคำกระฉับ เป็น กระฉับกระเฉง.
                 (๒) ภาษาตระกูลไทย–จีน
 
หลักเกณฑ์นี้เป็นแนวทางในการปฏิบัติ แต่บางครั้งอาจเว้นวรรคหรือไม่เว้นวรรคก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้เขียน
 
ตัวอย่าง


                 นอกจากเงิน ยังมีโล่ทุกรางวัล
หรือ
                 นอกจากเงินยังมีโล่ทุกรางวัล
 
ที่มา : หนังสือหลักเกณฑ์การใช้เครื่องหมายวรรคตอนและเครื่องหมายอื่น ๆ หลักเกณฑ์การเว้นวรรค หลักเกณฑ์การเขียนคำย่อ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พิมพ์ครั้งที่ ๖ หน้า ๕๖-๖๖

 ยิงฟันยิ้ม
 
 
บันทึกการเข้า
MrMiu
อสุรผัด
*
ตอบ: 29


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 06 ก.ค. 12, 19:18

ขอขอบคุณคุณเพ็ญชมพูเป็นอย่างสูงเลยค่ะ กระจ่างขึ้นเยอะมากค่ะ

ได้ข้อสรุปจากหลายๆคำแล้ว และจะนำไปใช้งานในเร็วๆนี้แน่นอนค่ะ

เรื่องคำว่า หมับ เราเข้าใจผิดจริงๆว่าคือคำเลียนเสียง แต่มีคำอธิบายขนาดนี้ ก็สามารถนำมาโต้แย้งสำหรับผู้ที่ใช้ "มั่บ" ได้แล้ว

ขอบคุณมากๆค่ะ


ส่วนเรื่องคำอื่นๆ ในอนาคตมีอีกจะขอรบกวนมาถามในกระทู้นี้อีกนะคะ เนื่องจากเราเอง ไม่ได้เรียนเกี่ยวกับด้านภาษาไทยมาเลย

ยังมีอีกมากคำนักที่ไม่อาจเข้าใจ  อยากจะขอความกรุณาช่วยชี้แนะต่อไปด้วยนะคะ


ขอบคุณอีกครั้งสำหรับความช่วยเหลือที่มีประโยชน์มหาศาลเช่นนี้ค่ะ

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 07 ก.ค. 12, 07:27

ขอขอบคุณคุณเพ็ญชมพูเป็นอย่างสูงเลยค่ะ กระจ่างขึ้นเยอะมากค่ะ

ได้ข้อสรุปจากหลายๆคำแล้ว และจะนำไปใช้งานในเร็วๆนี้แน่นอนค่ะ

เรื่องคำว่า หมับ เราเข้าใจผิดจริงๆว่าคือคำเลียนเสียง แต่มีคำอธิบายขนาดนี้ ก็สามารถนำมาโต้แย้งสำหรับผู้ที่ใช้ "มั่บ" ได้แล้ว

ขอบคุณมากๆค่ะ


ส่วนเรื่องคำอื่นๆ ในอนาคตมีอีกจะขอรบกวนมาถามในกระทู้นี้อีกนะคะ เนื่องจากเราเอง ไม่ได้เรียนเกี่ยวกับด้านภาษาไทยมาเลย

ยังมีอีกมากคำนักที่ไม่อาจเข้าใจ  อยากจะขอความกรุณาช่วยชี้แนะต่อไปด้วยนะคะ
ขอบคุณอีกครั้งสำหรับความช่วยเหลือที่มีประโยชน์มหาศาลเช่นนี้ค่ะ
ยินดีที่ได้ประโยชน์กลับไปจากเรือนไทยค่ะ   ถ้ามีปัญหาเรื่องคำอีกก็มาถามได้เสมอ
มีข้อสังเกตนิดหนึ่ง คือขอให้คุณเจ้าของกระทู้อย่าเห็นเป็นการตำหนิเลยนะคะ  ไม่ได้ตั้งใจจะให้เป็นเช่นนั้น    แต่เพื่อผลดีกับคุณเอง
คือในเว็บบอร์ดต่างๆที่คุยสนทนาแลกเปลี่ยนกัน  ผู้หญิงที่เข้ามาคุยมักเรียกตัวเองว่า เรา ยังงั้น เรา ยังงี้   ขอความเห็นบ้าง ขอความรู้ทั่วไปบ้าง   บ่อยๆ ก็"เรา"กันไปมาทั้งคนถามคนตอบ
แต่เรือนไทยเป็นเว็บวิชาการ   คนเข้ามาถามแบบวิชาการ คนตอบก็ตอบแบบวิชาการ ถึงไม่เปิดเผยว่าตัวเองเป็นใคร ก็น่าจะเดาได้ว่าอยู่ในระดับครูบาอาจารย์ทั้งนั้น
ถ้าหากว่าจะเปลี่ยนจาก "เรา" เป็นคำที่เรียบร้อยเป็นทางการกว่านี้ เช่น ดิฉัน  ก็จะเหมาะสมกับสถานการณ์มากกว่าค่ะ
บันทึกการเข้า
MrMiu
อสุรผัด
*
ตอบ: 29


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 07 ก.ค. 12, 17:08

ขอบคุณมากค่ะที่ช่วยตักเตือน ปกติดิฉันเป็นคนไม่ค่อยมีสัมมาคารวะ ขออภัยจริงๆค่ะ



มีคำถามมาอีกแล้วค่ะ คราวนี้เป็น

"แว่บ"

ในรอยอินก็ไม่พบความหมายใด โดยส่วนตัวดิฉันเอง คำว่า "แว่บ" ก็คือออกเสียงว่า "แหวบ" เหมือนคำว่า "แค่ก" ที่ออกเสียง "แขก" (ยามไอ)


แต่มีท่านนึงเอ่ยไว้ว่า

แว่บ เป็นคำตาย เสียงสั้น (สระแอะ ลดรูป) ผันด้วยวรรณยุกต์เอก ต้องออกเสียงโทครับ



ดิฉันขอเรียนตามตรงว่า มิเคยพบคำใดที่ใช้รูปเอกแล้วออกเสียงโทเลย (หรือเป็นเพราะดิฉันยังอ่อนด้อยประสบการณ์ทางภาษานัก?)

"แน่ะ" ก็ออกเสียง แหนะ จึงติดใจในประโยคนี้ที่บางท่านกล่าวไว้มาก


อยากจะรบกวนขอความกรุณาช่วยอธิบายให้ดิฉันเข้าใจทีค่ะ  ร้องไห้
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 07 ก.ค. 12, 17:24

คำว่า แว่บ ไม่มีนะคะ   พจนานุกรมของราชบัณฑิตฯ สะกดคำนี้ว่า แวบ หรือแว็บ
ให้ความหมายว่า
แวบ, แว็บ   ว. ปรากฏให้เห็นชั่วประเดี๋ยวหนึ่งก็หายไป เช่น แสงไฟจาก
   รถดับเพลิงแวบเข้าตามาเดี๋ยวเดียวแว็บไปแล้ว. ว. อาการที่ปรากฏ
   ให้เห็นชั่วประเดี๋ยวหนึ่ง เช่น ไปแวบเดียวกลับมาแล้ว เพิ่งมาได้แว็บ
   เดียวจะกลับแล้วหรือ.
อ้างถึง
โดยส่วนตัวดิฉันเอง คำว่า "แว่บ" ก็คือออกเสียงว่า "แหวบ" เหมือนคำว่า "แค่ก" ที่ออกเสียง "แขก" (ยามไอ)

คุณออกเสียงผิดทั้งสองคำค่ะ      คำว่า แวบ (ที่คุณสะกดว่า แว่บ) ไม่ได้ออกเสียงว่า แหวบ   แค่ก (หรือแคก) กับ แขก ก็คนละเสียงกันเลย

ว เป็นอักษรต่ำ  สะกดด้วย บ เป็นคำตาย   ผันได้ 3 เสียงคือ แวบ (เสียงโท) แว้บ( เสียงตรี) แว๋บ( เสียงจัดวา)
ถ้าจะออกเสียงเอก ต้องใช้ ห นำ เป็น  แหวบ
ดังนั้น แหวบ กับ แวบ เป็นเสียงวรรณยุกต์คนละเสียงกัน ค่ะ
 
ในเมื่อ แวบ ออกเสียงเป็นวรรณยุกต์โทอยู่แล้ว จึงไม่ต้องใส่ไม้เอก   เพราะยังไงก็ออกเสียงเป็นโทอยู่ดี

บันทึกการเข้า
MrMiu
อสุรผัด
*
ตอบ: 29


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 07 ก.ค. 12, 17:39

คำว่า แว่บ ไม่มีนะคะ   พจนานุกรมของราชบัณฑิตฯ สะกดคำนี้ว่า แวบ หรือแว็บ
ให้ความหมายว่า
แวบ, แว็บ   ว. ปรากฏให้เห็นชั่วประเดี๋ยวหนึ่งก็หายไป เช่น แสงไฟจาก
   รถดับเพลิงแวบเข้าตามาเดี๋ยวเดียวแว็บไปแล้ว. ว. อาการที่ปรากฏ
   ให้เห็นชั่วประเดี๋ยวหนึ่ง เช่น ไปแวบเดียวกลับมาแล้ว เพิ่งมาได้แว็บ
   เดียวจะกลับแล้วหรือ.
อ้างถึง
โดยส่วนตัวดิฉันเอง คำว่า "แว่บ" ก็คือออกเสียงว่า "แหวบ" เหมือนคำว่า "แค่ก" ที่ออกเสียง "แขก" (ยามไอ)

คุณออกเสียงผิดทั้งสองคำค่ะ      คำว่า แวบ (ที่คุณสะกดว่า แว่บ) ไม่ได้ออกเสียงว่า แหวบ   แค่ก (หรือแคก) กับ แขก ก็คนละเสียงกันเลย

ว เป็นอักษรต่ำ  สะกดด้วย บ เป็นคำตาย   ผันได้ 3 เสียงคือ แวบ (เสียงโท) แว้บ( เสียงตรี) แว๋บ( เสียงจัดวา)
ถ้าจะออกเสียงเอก ต้องใช้ ห นำ เป็น  แหวบ
ดังนั้น แหวบ กับ แวบ เป็นเสียงวรรณยุกต์คนละเสียงกัน ค่ะ
 
ในเมื่อ แวบ ออกเสียงเป็นวรรณยุกต์โทอยู่แล้ว จึงไม่ต้องใส่ไม้เอก   เพราะยังไงก็ออกเสียงเป็นโทอยู่ดี




ขออนุญาตอ้างถึงภาพนี้นะคะ (ขวาล่าง)
เนื่องจากดิฉันได้ติติงภาพนี้ไว้ว่า "แว่บ" ใช้ไม่ได้ ต้องใช้เป็น "แวบ/แว็บ" จึงได้ยกว่า แว่บ ออกเสียงว่า แหวบ ซึ่งไม่ได้แปลว่า แวบ(ผิดพลาดขออภัยค่ะ)



แต่มีผู้มาทักท้วงว่า

"แว่บ เป็นคำตาย เสียงสั้น (สระแอะ ลดรูป) ผันด้วยวรรณยุกต์เอก ต้องออกเสียงโทครับ"

นี่ล่ะค่ะ

และคำว่า "แค่ก" ที่ดิฉันยกมาเป็นเพราะ พบเจอเสียส่วนมากในการนำเอามาใช้กับเสียงไอ จึงคิดว่าออกเสียง แขก(แข็ก)
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 07 ก.ค. 12, 19:02

ขอตอบใหม่ค่ะ
๑  แว่บ( หรือแวบ) ไม่ได้ออกเสียงว่า แหวบ   ไม่ว่าคำหลังนี้จะแปลว่าอะไรก็ตาม   ถ้าจะออกเสียงคำว่า แว่บ  ต้องเขียนว่า แวบ
๒ 
อ้างถึง
แว่บ เป็นคำตาย เสียงสั้น (สระแอะ ลดรูป) ผันด้วยวรรณยุกต์เอก ต้องออกเสียงโทครับ
    ผิดค่ะ   คำตาย เสียงสั้น ไม่ใช้วรรณยุกต์เอก 
    ในที่นี้ควรอธิบายว่า  อักษรต่ำคำตาย (สะกดด้วยแม่ กก กด กบ) ออกเสียงเป็นโทในตัว  ไม่ต้องผันด้วยไม้เอก    เช่น แซก ไม่ใช่ แซ่ก   แลก ไม่ใช่แล่ก   
    ถ้าหากว่าจะทำให้คำตายนั้นเป็นเสียงเอก มี ๒ วิธี คือ
    ๑ ถ้าเป็นอักษรต่ำที่มีอักษรสูงเป็นเสียงคู่ เช่น ข-ค  ส-ซ  ห-ฮ     ต้องเขียนอักษรสูงแทน  เช่น แซบ จะออกเสียงเป็นเอก  ต้องเขียนว่า แสบ   คบ  ออกเสียงเป็นเอก สะกดว่า ขบ   ฮก ออกเสียงเป็นเอก คือ หก
    ๒  ถ้าเป็นอักษรต่ำที่ไม่มีอักษรสูง เป็นเสียงคู่ เช่น ตัว ว  น  ร ล  ฯลฯ   จะออกเสียงเอก ต้องใช้ ห นำ 
    วาด  ออกเสียงเอก เป็นหวาด   แลบ  ออกเสียงเอก เป็น แหลบ   ริบ  ออกเสียงเอก เป็น หริบ
บันทึกการเข้า
MrMiu
อสุรผัด
*
ตอบ: 29


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 07 ก.ค. 12, 19:58

ขอตอบใหม่ค่ะ
๑  แว่บ( หรือแวบ) ไม่ได้ออกเสียงว่า แหวบ   ไม่ว่าคำหลังนี้จะแปลว่าอะไรก็ตาม   ถ้าจะออกเสียงคำว่า แว่บ  ต้องเขียนว่า แวบ
๒ 
อ้างถึง
แว่บ เป็นคำตาย เสียงสั้น (สระแอะ ลดรูป) ผันด้วยวรรณยุกต์เอก ต้องออกเสียงโทครับ
    ผิดค่ะ   คำตาย เสียงสั้น ไม่ใช้วรรณยุกต์เอก 
    ในที่นี้ควรอธิบายว่า  อักษรต่ำคำตาย (สะกดด้วยแม่ กก กด กบ) ออกเสียงเป็นโทในตัว  ไม่ต้องผันด้วยไม้เอก    เช่น แซก ไม่ใช่ แซ่ก   แลก ไม่ใช่แล่ก   
    ถ้าหากว่าจะทำให้คำตายนั้นเป็นเสียงเอก มี ๒ วิธี คือ
    ๑ ถ้าเป็นอักษรต่ำที่มีอักษรสูงเป็นเสียงคู่ เช่น ข-ค  ส-ซ  ห-ฮ     ต้องเขียนอักษรสูงแทน  เช่น แซบ จะออกเสียงเป็นเอก  ต้องเขียนว่า แสบ   คบ  ออกเสียงเป็นเอก สะกดว่า ขบ   ฮก ออกเสียงเป็นเอก คือ หก
    ๒  ถ้าเป็นอักษรต่ำที่ไม่มีอักษรสูง เป็นเสียงคู่ เช่น ตัว ว  น  ร ล  ฯลฯ   จะออกเสียงเอก ต้องใช้ ห นำ 
    วาด  ออกเสียงเอก เป็นหวาด   แลบ  ออกเสียงเอก เป็น แหลบ   ริบ  ออกเสียงเอก เป็น หริบ


ขออนุญาตสอบถามสักนิดนะคะ ในข้อ 1
หาก แว่บ มิได้ออกเสียงว่า แหวบ
กระนั้นแล้ว "มั่บ" ก็มิได้ออกเสียงว่า "หมับ" ใช่ไหมคะ?

เพราะ สนพ.นี้ ก็ใช้ "มั่บ" แทนคำว่า "หมับ" ไปซะทุกคำ

ดิฉันไม่เข้าใจว่า ไฉน "แว่บ" ที่มีไม้เอกกำกับ ถึงได้ออกเสียง "แวบ" 

แสดงว่าดิฉันเข้าใจผิดมาตลอดเลยหรือคะ ที่ว่า ไม้เอก ที่กำกับอยู่บนคำ

ใช้กำกับเพื่อให้ออกเสียงต่ำ? (ค่ะ ง่ะ ล่ะ ย่ะ น่ะ หงั่น หั่น บั่น ปั่น)

(ขออภัยนะคะ ที่ไม่สามารถยกตัวอย่างเกี่ยวกับ ห นำ คำเป็น อักษรต่ำเดียวคำตายเสียงสั้น หรืออะไรแบบนี้ เนื่องจากดิฉันมิได้เรียนเฉพาะทางด้านนี้มาจริงๆ มิอาจยกมาให้ตัวเองอับอายได้)

ขอความกรุณาจริงๆค่ะ

เพราะคิดว่า ถึงแม้น กก กด กบ จะเป็นคำตายก็จริง แต่หากเป็นเสียงยาว ก็คิดว่าไม่ต่างกับคำนี้ > วาด ว้าด ว๋าด (แวบ แว้บ แว๋บ)
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 08 ก.ค. 12, 00:53

ลองออกเสียงดังๆ  อ่านคำว่า หมอบ  หมอก หมด   หมุด  โหมด นะคะ   หมับ ก็ออกเสียงวรรณยุกต์เอกอย่างเดียวกันค่ะ   
อ่านคำว่า หมุบหมับ แล้วฟังเสียงดู  จะพบว่าเป็นเสียงเอก
ส่วน มั่บ  ออกเสียงวรรณยุกต์เดียวกับ  พึ่บพั่บ  เป็นเสียงโท

อ้างถึง
แสดงว่าดิฉันเข้าใจผิดมาตลอดเลยหรือคะ ที่ว่า ไม้เอก ที่กำกับอยู่บนคำใช้กำกับเพื่อให้ออกเสียงต่ำ? (ค่ะ ง่ะ ล่ะ ย่ะ น่ะ หงั่น หั่น บั่น ปั่น)
ใช่ค่ะ เข้าใจผิดและเรียนผิดมาตลอด

การผันวรรณยุกต์ ๕ เสียง  ไม่ได้ขึ้นกับเสียงต่ำเสียงสูงอะไรอย่างที่คุณว่า   คุณจะผันวรรณยุกต์ได้คุณต้องเข้าใจก่อนถึงการแยกอักษรไทย ๓ หมู่คืออักษรสูง กลาง และต่ำ    และเสียงสามัญ เอก โท ตรี จัตวา    เพื่อจะผันได้ถูกต้อง
อักษรคนละกลุ่ม แม้ใช้วรรณยุกต์ตัวเดียวกัน เสียงก็ออกมาไม่เหมือนกัน
เช่น จ้า   กับ ค้า  ใช้ไม้โทเหมือนกัน แต่จ้าเป็นเสียงโท  ค้าเป็นเสียงตรี  เพราะ จ กับ ค  เป็นอักษรคนละกลุ่มกัน  จ เป็นอักษรกลาง ค เป็นอักษรต่ำ

คำว่า จะ  เป็นเสียงเอกอยู่ในตัวแล้ว ไม่ต้องเพิ่มไม้เอกเป็น จ่ะ  เพราะ  จ เป็นอักษรกลาง  ส่วน ค  เป็นอักษรต่ำ  ผันด้วยไม้เอก ค่ะ ออกเสียงเป็นเสียงตรี 
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 08 ก.ค. 12, 07:03

คุณเพ็ญชมพูจะไม่ช่วยอธิบายเพิ่มเติมอีกคนหรือคะ  รอยอินท่านว่าอะไรบ้างล่ะเรื่องนี้
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 08 ก.ค. 12, 07:23

ตอนนี้เข้าเรือนไทยด้วยไอแพด ยังไม่ชำนาญใช้เท่าใดนัก

หากกลับบ้านเมื่อไร คงจะสะดวกกว่านี้

ค่ะ ออกเสียงโทนา

จะบอกให้

 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3 ... 6
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.09 วินาที กับ 20 คำสั่ง