โคบาล เป็นคำที่ยืมมาจากภาษาบาลีและสันสกฤตว่า โคปาล "ผู้ดูแลวัว, คนเลี้ยงวัว" ซึ่งมาจากคำว่า โค "วัว" และ ปาล "ผู้ปกป้อง, ผู้ดูแล" ประสมกัน
ภาษาไทยใช้คำว่า โคบาล มานานแล้ว ดังปรากฏในมหาเวสสันดรชาดก กัณฑ์กุมาร ว่า
"มาตรว่าถ้าบิดานี้มีเงินและทองเล่าเถิดรา พ่อมิให้สองกำพร้าต้องระเหินระหกตกไปไกลเลยนะลูกเอ่ย ครั้งนี้พระบิดามาไร้สิ้นไร้เสียที่สุด เห็นแต่หน้าพระปิยบุตรเจ้าทั้งสอง ก็ดูยิ่งกว่าเงินและทองได้ร้อยเท่าพันทวี พระบรมราชฤๅษีเธอจึ่งคาดค่าสองกุมาร เหมือน
นายโคบาลอันสันทัดคาดค่าโค"
แต่ในภาษาไทยนิยมใช้คำว่า โคบาล เป็นคำแปลของคำว่า Cowboy ในภาษาอังกฤษเนื่องจากมีเสียงและความหมายใกล้เคียงกัน ในภาษาอังกฤษเมื่อใช้ว่า Cowboy มิได้หมายถึง "ผู้เลี้ยงวัวโดยทั่ว ๆ ไป" แต่มีนัยแฝงถึง "ผู้ชายที่อาศัยอยู่แถบตะวันตกของอเมริกาในยุคที่การปักปันเขตแดนยังไม่มีกฎหมายรับรองแน่นอน ต้องพกปืนสั้นไว้ป้องกันตัว มีอาชีพเลี้ยงสัตว์ใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่บนหลังม้า นิยมนุ่งกางเกงยีนส์ สวมหมวกมีปีก"
เมื่อคำว่า โคบาล ถูกนำไปเชื่อมโยงกับคำว่า Cowboy ในภาษาอังกฤษ คำว่า โคบาล ที่ใช้ในภาษาไทย แทนที่จะมีความหมายแฝงโยงไปถึงวัฒนธรรมอินเดีย กลับมีความหมายแฝงเหมือนกับ Cowboy ไป
จากบทความเรื่อง "คำไทย-คำเทศ" โดยคุณอนันต์ เหล่าเลิศวรกุล วารสารภาษาและวรรณคดีไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๓
