เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 6 7 [8] 9 10 ... 21
  พิมพ์  
อ่าน: 102544 ก้าวย่างในยุค AEC
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 105  เมื่อ 04 ส.ค. 12, 21:48

ขออภัยจริงๆครับ รวบรัดเกินไปจริงๆ ขอขยายความสั้นๆก่อนดังนี้ครับ

อาเซียนเป็นพื้นที่ทางภูมิรัฐศาสตร์สำคัญเสมือนกระดานหมากรุกที่ประเทศที่มีอิทธิพล (มหาอำนาจทางทหารและเศรษฐกิจ) กำลังเดินหมากบนกระดานนี้กันอยู่

ส่วนที่ว่า a set of regular irregularity ที่ได้เกิดขึ้นแล้วมองในมุมของทฤษฎี Chaos นั้น คือ ความไม่ราบรื่นที่ปรากฎอยู่บนเส้นทางที่จะนำไปสู่การเป็นผู้ครอง
หรือเป็นผู้ทรงอิทธิพล หรือเป็นผู้กำหนดทิศทางของการพัฒนาของอาเซียนและ AEC    ซึ่งตามปรกติแล้ว ความไม่ราบรื่นนี้เป็นสภาพของกลไกที่เกิดเองตามธรรมชาติอย่างมี pattern ซึ่งจะส่งผลสนับสนุนไปในในทิศทางที่เป็นบวก (ไปสู่ความสำเร็จที่ตั้งไว้) หรือส่งผลในทิศทางที่เป็นทางลบ (ไปสู่ความล้มเหลว)   แต่มันก็สามารถจัดฉากขึ้นมาได้เพื่อให้เป็นความไม่ราบรื่นที่สนับสนุนในทิศทางที่ต้องการ (สร้างเรื่องในเงื่อนไขที่แพ้ตลอด หรือ ในเงือนไขที่ชนะตลอด)
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 106  เมื่อ 04 ส.ค. 12, 21:55

อ้างถึง
แต่มันก็สามารถจัดฉากขึ้นมาได้เพื่อให้เป็นความไม่ราบรื่นที่สนับสนุนในทิศทางที่ต้องการ (สร้างเรื่องในเงื่อนไขที่แพ้ตลอด หรือ ในเงือนไขที่ชนะตลอด)
จัดฉากขึ้นมาทำไมคะ?
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 107  เมื่อ 05 ส.ค. 12, 18:36

ผมอาจจะใช้คำว่า จัดฉาำก ในการสื่อความหมายที่ไม่ตรงประเด็นครับ

ลองพิจารณากรณีความต้องการเข้าครอบครองปราสาทเขาพระวิหารของเขมรครับ 

ในวิถีปรกติของการเข้าแย่งหรือยึดดินแดนที่มีความไม่ชัดเจนในเชิงของเขตอำนาจอธิปไตย (Sovereignty) นั้น มักจะกระทำกันในสองลักษณะ คือ ใช้กำลังเข้าหักหาญเอา หรือ ค่อยๆคืบคลานทำไป  ซึ่งตามเส้นทางก่อนที่จะประสบผลสำเร็จเด็ดขาดของการกระทำทั้งสองลักษณะนี้นั้น ตามปรกติวิสัยที่เป็นธรรมชาติจะต้องมีเหตุการณ์ต่อต้านจากคู่กรณ๊ที่มีความรุนแรงเกิดขึ้นเป็นระยะๆ (irregularity)       กรณีการใช้กำลังเข้าหักหาญ ความถี่ของการต่อต้านจะเกิดขึ้นถี่มากในระยะแรกๆของการยึดครองและจะค่อยๆห่างออกไป  สำหรับกรณีการค่อยๆคืบคลานทำไปนั้น ความถี่ของการต่อต้านก็มีเหมือนกันแต่อาจจะกลับทางกัน  ซึ่งในกรณีหลังนี้ หากประสงจะทำให้สำเร็จด้วยระยะเวลาอันสั้น ก็จะต้องมีการสร้างเหตุการณ์ที่ให้ผลลัพท์ในลักษณะที่เป็นคุณกับตน    เป็นภาพที่ในสายตาของเราเห็นว่าเป็นการสร้างขึ้น หลอกลวง และโกหก แต่ในสายตาของชาติอื่นกลับเห็นไปในภาพที่เห็นว่าเราเป็นฝ่ายกระทำ เป็นฝ่ายรังแก   

ดูเหมือนจะต้องใช้คำว่า สร้่างภาพ มากกว่า จัดฉาก  ยิงฟันยิ้ม ยิงฟันยิ้ม

บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 108  เมื่อ 05 ส.ค. 12, 20:06

จากที่เล่าความเห็นในภาพกว้าง

พอสรุปได้ว่า เส้นทางการขนส่งที่จัดว่าสำคัญมากเส้นทางหนึ่งของโลก ก็คือ ช่องแคบมะลักกา  ซึ่งเป็นช่องแคบที่พาดผ่านประเทศที่มีปรัชญาความเชื่อบนพื้นฐานของศาสนาที่ต่างกันกับซีกโลกตะวันตกและตะวันออก  การจะอาศัยใช้ช่องแคบนี้ก็คงจะไม่หนีที่จะต้องทำให้มันอยู่บรรยากาศที่มีสภาพของความเป็นมิตรไมตรี

ลองนึกดูครับว่า หากเราเป็นประเทศที่ยึดความเจริญงอกงาม (prosperity) อยู่บนฐานของการอุตสาหกรรม  ต้องพึ่งพาแหล่งพลังงานจากแห่งหนึ่ง (ตะวันออกกลาง) มาทำการผลิตแล้วส่งสินค้าย้อนกลับไป  (เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี และีจีน) ต้องอาศัยการค้าขายกับซีกโลกตะวันตกเป็นหลัก ต้องใช้เส้นทางผ่านแหลมไทยไปยังหลายประเทศที่มีประชากรมากมาย (อาเซียน อินเดีย ยุโรป)   ก็คงไม่มีใครจะอุตตริคิดว่าจะใช้เส้นทางข้ามแปซิฟิกไปสหรัฐฯ แล้วขนสินค้าข้ามสหรัฐไปยังฝั่งตะวันออกของสหรัฐฯ ลงเือข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกไปยังยุโรปและอัฟริกา      คิดในลักษณะนี้แล้ว เรา (ญี่ป่น เกาหลี จีน)  จะไม่คิดย่นระยะทางการขนส่ง ลดค่าขนส่งด้าน input (พลังงาน วัตถุดิบ) และค่าขนส่งด้าน output (ผลิตภัณฑ์สินค้า) และคิดลดความเสี่ยงในการใช้ช่องแคบมะลักกาเชียวหรือ ฮืม     ในฐานะความเป็นเจ้าของอุตสาหกรรมการผลิต เพียงย้ายสถานี่ผลิตจากประเทศของตน (ญี่ปุ่น เกาหลี จีน) มาตั้งอยูในแผ่นดินอาเซียน ทุกอย่างดูจะตอบโจทย์ได้พอสมควรเลยทีเดียว

สำหรับผมนั้นเห็นว่า จุดหันเหของความคิดของประเทศอุตสาหกรรมทั้งหมด เริ่มขึ้นเมื่อเหตุการณ์ในตะวันออกกลางที่ทำให้ราคาน้ำมันพุ่งกระฉูดในปี 1972 (ฮืม)

ส่วนหนึ่งที่นาๆชาติใ้ห้ความความสนใจและเข้ามายุ่มย่ามในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียนก็เริ่มจากจุดนี้   ไทยเราดูจะโชคดีที่ได้ใช้โอกาศในช่วงนี้เปิดรับความต้องการของประเทศผู้ผลิตที่สำคัญ โดยเฉพาะญี่ป่น ซึ่งสินค้า made in Japan กำลังขยายตลาดไปทั่วโลก  (..หากไม่ลืมก็จะเล่าเรื่องเส้นทาง prosperity ของญี่ปุ่นและปรัชญาการย้ายฐานการผลิตของภาคอุตสาหกรรม ครับ)  การส่งเสริมการลงทุนของไทยจนทำให้ญี่ปุ่นเข้ามาใช้ไทยเป็นสถานที่ผลิตสินค้าก็ประสบผลสำเ็ร็จด้วยเหตุนี้  ทำให้เราได้เปรียบเื่พื่อนประเทศอาเซียนในปัจจุบันนี้พอสมควรก็ด้วยเหตุนี้เหมือนกัน (แล้วเราก็เป็นแหล่งที่รับมลทินทางอุตสาหกรรมอันไม่พึงปราถนาพร้อมๆกันไปด้วย)

ผมเห็นว่า เส้นทางการก้าวย่างทางเศรษฐกิจและความร่วมมือของอาเซียนก็อยู่บนฐานของสภาพแวดล้อมตามสถานการณ์ที่เล่ามา   

   
       
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 109  เมื่อ 05 ส.ค. 12, 20:31

อ้างถึง
การส่งเสริมการลงทุนของไทยจนทำให้ญี่ปุ่นเข้ามาใช้ไทยเป็นสถานที่ผลิตสินค้าก็ประสบผลสำเร็จด้วยเหตุนี้  ทำให้เราได้เปรียบเพื่อนประเทศอาเซียนในปัจจุบันนี้พอสมควรก็ด้วยเหตุนี้เหมือนกัน (แล้วเราก็เป็นแหล่งที่รับมลทินทางอุตสาหกรรมอันไม่พึงปราถนาพร้อมๆกันไปด้วย)

เราเอาแหล่งปลูกข้าวที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในโลกคือภาคกลางของเรา ไปเป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรม    เราเอาแม่น้ำลำคลองที่เป็นแหล่งอาหาร เพาะปลูก และใช้บริโภคในอดีตมาเป็นท่อระบายมลพิษจากโรงงาน   เมื่อเปิดเสรีอาเซียน   อุตสาหกรรมจะมากขึ้นอีกหรือเปล่าคะ




บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 110  เมื่อ 05 ส.ค. 12, 22:06

คำตอบคือน่ากลัวว่าจะเป็นไปในทิศทางนั้นครับ

ผมไม่เห็นด้วยในหลายๆเรื่อง ในทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมของเรา เรามี EPZ (Export Processing Zone) ที่ให้เขามาใช้แผ่นดินของเรา ใช้แรงงานของเราำทำการผลิต คือ ให้เอาวัตถุดิบมาผลิตในประเทศเราแล้วส่งออกไป ทิ้งกากและขยะใว้ให้เราดูต่างหน้า    หลายอุตสาหกรรมในต่างประเทศกำลังพยายามเจรจาขอให้รัฐบาลเห็นชอบอนุญาตแล้วแถมยังขอได้รับการส่งเสริมอีกด้วยเพื่อนำของใช้แล้วมาทำการ recycle ในประเทศเรา เช่น กรณียางรถเ่ก่าที่เป็นข่าวเมื่อไม่กี่วันมานี้ และกรณีที่ไม่ป็นข่าว ขอเอาเครื่องใช้ทางอิเล็กทรอนิกส์บางอย่างเข้ามาเพื่อ recycle เป็นต้น
   
คงจะีเรื่องบ่นมากทีเดียวในเรื่องการเอาที่ราบลุ่มทางการเกษตรไปใช้ประโยชน์ในทางที่ไม่พึงกระทำ สนามกอล์ฟก็เป็นเรื่องหนึ่งที่ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดในช่วงเวลาหนึ่งเพื่อประโยชน์ของคนกลุ่มเดียว บ้านจัดสรรก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง   ใประเทศอื่นๆ ที่ทำการเกษตรได้ก็คือที่สำหรับการทำการเกษตร ไม่มีการแบ่งซอยย่อยใ้ห้เป็นแปลงเล็กลงไป    ของเราสามารถซื้อแล้วเอามารวมกันแล้วแบ่งใหม่

กฎหมายผังเมืองของเรามีอายุ 5 ปี กว่าจะต่ออายุ กว่าจะทำผังเมืองใหม่ ประกาศใช้ใหม่ เขาก็ใช้ช่วงว่างรอยต่อระหว่างเก่ากับใหม่ตรงนี้ทำอะไรก็ได้ พื้นที่สีเขียวของเราก็เพียงแค่ประกาศว่าเป็นพื้นที่สีเขียว แต่ไม่ได้บอกว่าห้ามทำอะไร ก็ใช้วิธีศรีธนชัยเอาไปทำอะไรก็ได้ แถมผังเมืองยังทำและกำหนดใช้เฉพาะในเขตเมือง (เขตเทศบาล) แล้วก็ีขีดเขตไปตามมืองที่ขยายออกไป ก็เป็นอันว่า แทนที่จะเพื่อกำหนดจัดการล่วงหน้า ก็กลายเป็นการตามไปแก้สิ่งที่เขาทำอยู่ให้มันดูดีขึ้น   
นิคมอุตสาหกรรมจะไปสร้างในเขตเมืองก็ไม่ได้ เพราะไม่อนุญาตตามผังเมือง  ฉะนั้น นิคมอุตสาหกรรมเกือบทั้งหมดจึงอยู่นอกเขตบังคับใช้ของผังเมือง กฎหมายที่ดินก็ไม่มีข้อบังคับเรื่องการใช้ประโยชน์จากที่ดิน

ลองคิดเล่นๆสนุกนะครับ ตัวที่เป็นลักษณะทางกายภาพแม่น้ำลำคลอง ดูแลโดยกรมเจ้าท่า การสร้างท่าเรือและเดินเรือ ดูแลโดยกรมเจ้าท่า ครานี้ หากผมได้รับอนุญาตและได้สร้างท่าเรือแล้ว ผมก็เอาท่อขนาดใหญ่มาสูบน้ำจากแม่น้ำไปจากท่าเรือของผมไปทำการเกษตรในพื้นที่หลังเขตตลิ่ง ผมจะต้องขออนุญาตจากหรือไม่และจากผู้ใดในการนำน้ำนั้นไปใช้ หน่วยราชการใดคือผู้ดูแลตัวทรัยากรน้ำนั้น

คงจะไม่ใช่คำตอบตรงๆว่าจะมีอุตสาหกรรมมากขึ้นหรือไม่ ครับ   

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 111  เมื่อ 05 ส.ค. 12, 22:22

ในเมื่อกรมเจ้าท่าดูแลแม่น้ำ   คุณตั้งสูบน้ำไปใช้ในอุตสาหกรรม  ไม่ได้ตักน้ำขึ้นมาใช้ในบ้าน  ก็ต้องขออนุญาตกรมเจ้าท่าซีคะ  หรือว่าจริงๆแล้วไม่ใช่  ต้องขอกรมชลประทาน?
น่าสนใจเหมือนกันว่าคำตอบจะออกมาแบบไหน

ปัญหาของไทยหลายเรื่องด้วยกันเกิดจากสังคมไทยที่ไม่ยึดถือระเบียบข้อบังคับ  ทำให้คนไทยกลายเป็นคนไม่ชอบระเบียบวินัย    อีกอย่างคือชอบแก้ปัญหาเฉพาะหน้ามากกว่าวางแผนระยะยาว    เพราะมีความคิดว่า "ก็มันยังไม่เกิด  จะไปคิดล่วงหน้าทำไม"    การเปิดเสรีอาเซียนจะทำให้ปัญหาที่เกิดจากการไม่ยึดถือระเบียบและไม่วางแผนระยะยาว ส่งผลกระทบต่อประเทศมากขึ้น   อาจมีประเทศอื่นๆที่มองเห็นจุดอ่อนข้อนี้นำไปใช้ ให้เป็นประโยชน์แก่ตัวเขาเอง    ส่วนเขาจะมาเห็นแก่เราและช่วยอุดช่องโหว่ให้เรา  ยังมองไม่เห็นทางค่ะ

บันทึกการเข้า
samun007
องคต
*****
ตอบ: 446


ความคิดเห็นที่ 112  เมื่อ 05 ส.ค. 12, 23:08

อ้างถึง
การส่งเสริมการลงทุนของไทยจนทำให้ญี่ปุ่นเข้ามาใช้ไทยเป็นสถานที่ผลิตสินค้าก็ประสบผลสำเร็จด้วยเหตุนี้  ทำให้เราได้เปรียบเพื่อนประเทศอาเซียนในปัจจุบันนี้พอสมควรก็ด้วยเหตุนี้เหมือนกัน (แล้วเราก็เป็นแหล่งที่รับมลทินทางอุตสาหกรรมอันไม่พึงปราถนาพร้อมๆกันไปด้วย)

เราเอาแหล่งปลูกข้าวที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในโลกคือภาคกลางของเรา ไปเป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรม    เราเอาแม่น้ำลำคลองที่เป็นแหล่งอาหาร เพาะปลูก และใช้บริโภคในอดีตมาเป็นท่อระบายมลพิษจากโรงงาน   เมื่อเปิดเสรีอาเซียน   อุตสาหกรรมจะมากขึ้นอีกหรือเปล่าคะ


ณ ปัจจุบัน ส่วนตัวผมคิดว่าน่าจะไม่ใช่ครับ จากเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการรายใหญ่ ๆ จะหันไปใช้บริการนิคมอุตสาหกรรมทางภาคตะวันออก ไม่ว่าจะเป็น ระยอง หรือ ชลบุรี มากขึ้น เพราะไม่ต้องกังวลเรื่องปัญหาน้ำท่วม ถ้าจะกังวลน่าจะเป็นกังวลเรื่องแล้งเสียมากกว่า

และก็ไม่ใช่แค่ญี่ปุ่นเท่านั้น จีนเองก็ลงทุนลงแรงไปกับนิคมเกิดใหม่ที่ระยองพอสมควร คงไม่ย้ายฐานการผลิตไปที่ภาคกลางแน่ ๆ

ถ้าจะกังวล ผมว่าควรกังวลเรื่องของการสวมสิทธิเพื่อใช้ที่ดินมากกว่าครับ เพราะปัจจุบันบรรดาตัวแทนต่างชาติต่าง ๆ ก็มากว้านซื้อที่ดินในภาคกลางไปไม่น้อยแล้ว เพื่อนำไปทำนาแล้วส่งข้าว ตามที่มีข่าวเคยออกไปนั่นล่ะครับ ของจริงก็ยังมีอยู่ และยากต่อการพิสูจน์เสียด้วย
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 113  เมื่อ 06 ส.ค. 12, 20:03

ในเมื่อกรมเจ้าท่าดูแลแม่น้ำ   คุณตั้งสูบน้ำไปใช้ในอุตสาหกรรม  ไม่ได้ตักน้ำขึ้นมาใช้ในบ้าน  ก็ต้องขออนุญาตกรมเจ้าท่าซีคะ  หรือว่าจริงๆแล้วไม่ใช่  ต้องขอกรมชลประทาน?
น่าสนใจเหมือนกันว่าคำตอบจะออกมาแบบไหน

ผมก็ไม่ทราบคำตอบเหมือนกันครับ

มาลองไล่กันดูเล่นๆ สนุกๆ เพื่อคลายเครียดนะครับ และขอแยกซอยออกไปสักหน่อยด้วยครับ
 
กรมป่าไม้ดูแลผืนป่า ซึ่งโดยนัยก็น่าจะเป็นพื้นที่ๆมีความลาดชันเกิน 35 หรือ 40% นับจากฐานของ slope ไปประมาณ 40 เมตร (ตัวเลขเหล่านี้ผมจำได้ไม่แม่นแล้ว) ทั้งนี้เนื่องจากกรมที่ดินมีข้อกำหนดตามกฎหมายว่าไม่สามารถจะออกโฉนดในลักษณะพื้นที่ดังที่เล่ามาได้   ซึ่งก็มีประเด็นว่าแล้วจะนับจากจุดใดให้เป็นป่า โดยเฉพาะหากพื้นที่เป็นลักษณะที่เป็นลอนคลื่น (undulating terrain)  นอกจากนั้นแล้วหากจะเป็นพื้นที่ป่าก็จะต้องมีการประกาศตามกฎหมาย   พื้นที่ๆเป็นผืนป่าเหล่านี้ คือป่าสงวนแห่งชาติ ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติก็มีการประกาศเป็นพื้นที่ขนาดเล็กทับซ้อนลงไปให้เป็นพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ พื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติ และพื้นที่อื่นๆอีก เช่น เขตห้ามล่าสัตว์ โดยมีกฎหมายเฉพาะรองรับ  แล้วก็ยังมีการประกาศเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นต่างๆ (พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นหนึ่งเอ หนึ่งบี ชั้นสอง ชั้นสาม) ทับซ้อนลงไปอีก ซึ่งพื้นที่ชั้นลุ่มน้ำต่างๆนี้ใช้มติ ครม.รองรับ และก็มิใช่พื้นที่ที่มีความหมายตรงกับศัพท์ทางเทคนิคที่เรียกว่า catchment area กลับกลายเป็นพื้นที่ที่มีความลาดชันสูง คือส่วนที่เป็นหนอก โหนก ของทิวเขา และพวกเขาโดดๆบนพื้นที่ราบทั้งหลาย       ของทุกชนิดที่พบอยู่ในพื้นที่ป่าถูกจัดเป็นของป่ารวมทั้งแร่ด้วย (ไม่ทราบว่าจะรวมทรัพยากรอื่นๆ เช่นน้ำด้วยหรือไม่)
 
กรมเจ้าท่าดูแลพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นร่องน้ำ (รวมตลิ่ง) เกาะแก่งต่างๆ บรรดาห้วยหนองคลองบึงตามธรรมชาติทั้งหลายที่มีน้ำ และรวมทั้งการใช้ประโยชน์ในเส้นทางน้ำนั้นๆ (เรือ ท่าเรือ ดูดทราย ฯลฯ)  โดยนัยก็คือ ลำห้วยลำคลองหนองบึงทั้งหลายทั่วประเทศไทย ตลอดจนทะเลในเขตอาณา (และก็น่าจะรวมพื้นที่ชุ่มน้ำที่เรียกว่า wet land ด้วย ซึ่งได้มีการออกโฉนดให้เป็นกรรมสิทธิไปแล้วมากมาย) โดยนัยง่ายๆก็คือ ที่ใดมีน้ำที่นั่นดูแลโดยกรมเจ้าท่า (จะต้องมีลักษณะที่มีน้ำบนพื้นผิวตลอดเวลาหรือแห้งบ้างท่วมบ้างตามฤดูกาล อันนี้ไม่รู้ครับ)    นั่นหมายความว่ากรมเจ้าท่าก็มีหน้าที่และมีเขตอำนาจอยู่พื้นที่ๆเป็นเขตป่าด้วย  และก็หมายความว่าคลองตามธรรมาติหรือลำรางในพื้นที่ราบลุ่มทั้งหลาย รวมทั้งพื้นที่ชื้นแฉะและบึงทั้งหลายก็อยู่ในเขตอำนาจการดูและของกรมเจ้าท่า มากไปกว่านั้นเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติทางทะเลทั้งหลายที่ประกาศโดยกรมป่าไม้ ก็ทับซ้อนกับเขตอำนาจของกรมเจ้าท่า (แล้วอำนาจแท้จริงอยู่จะอยู่ที่กรมใด)     

กรมชลประทานดูแลเรื่องน้ำเพื่อการเกษตร จะต้องมีการขุดคลองส่งน้ำ คลองและน้ำในคลองชลประทานกลายเป็นสมบัติของกรมชลประทานที่จะต้องดูแล
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตที่สร้างเขื่อนกั้นน้ำเพื่อผลิตไฟฟ้า เขื่อนและอ่างเก็บน้ำและน้ำกลายเป็นสมบัติของ กฟผ.ที่จะต้องดูแล
น้ำที่ใช้จนกลายเป็นน้ำที่ไม่สะอาดและมีมลพิษปนเปื้ือนแล้วถูกปล่อยลงแหล่งน้ำธรรมชาติ กลายเป็นเรื่องของส่วนราชการอื่นที่จะต้องดูแล (เช่น กระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม)

ความเป็นทรัพยากรธรรมชาติตามหลักการ คือ  "ความเป็นทรัพยากรเกิดมาจากความต้องการของมนุษย์ที่กำหนดให้มันเป็น ความเป็นทรัพยากรเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา"    ทรัพยากรที่สำคัญของมนุษย์ชาติต่างกลุ่มกันจึงไม่เหมือนกันในสภาพและช่วงเวลาที่ต่างกัน

ทรัพยากรน้ำของไทยซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด เป็นทรัพยากรธรรมชาติอย่างหนึ่งของไทยที่ขาดผู้ดูแลอย่างเป็นระบบที่แท้จริง ต่างกับป่าไม้ แร่ธาตุ และพลังงานที่มีผู้ดูและทั้งระบบอย่างชัดเจน

ขยายความเขียนมาเสียยืดยาว เพียงเพื่อจะให้ความเห็นว่า กฎหมายต่างๆของประเทศใดๆสังคมใดๆนั้น เขียนขึ้นมาบนพื้นฐานของความมีจริยธรรมและความมีสำนึกในความถูกต้องทำนองครองธรรมของคนในยุคสมัยนั้นๆ  จะเอามาตีความตามตัวอักษรในยุคต่อๆมาในสภาพที่สังคมและจริยธรรมเปลี่ยนไปเพื่อเป็นประโยชน์และเป็นคุณแก่ตนและพวกพ้องนั้นหาได้ไม่       
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 114  เมื่อ 06 ส.ค. 12, 20:50

ขอออกนอกเรื่องเล็กน้อย ไม่มากนัก
ใครทราบบ้างว่ากรมทรัพยากรน้ำเขาทำหน้าที่อะไรคะ   คำถามนี้(คือคุณตั้งสูบน้ำไปใช้ในอุตสาหกรรม) เกี่ยวกับกรมนี้ต้องมาดูแลหรือเปล่า?

อ้างถึง
กฎหมายต่างๆของประเทศใดๆสังคมใดๆนั้น เขียนขึ้นมาบนพื้นฐานของความมีจริยธรรมและความมีสำนึกในความถูกต้องทำนองครองธรรมของคนในยุคสมัยนั้นๆ  จะเอามาตีความตามตัวอักษรในยุคต่อๆมาในสภาพที่สังคมและจริยธรรมเปลี่ยนไปเพื่อเป็นประโยชน์และเป็นคุณแก่ตนและพวกพ้องนั้นหาได้ไม่       

เห็นด้วยค่ะ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 115  เมื่อ 07 ส.ค. 12, 21:37

เมื่อแรกเริ่มการพัฒนาประเทศอย่างเป็นระบบแบบสอดคล้องกันอย่างบูรณาการด้วยการใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมนั้น เรามีการตั้งกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติเพื่อให้การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติของแผ่นดินเป็นไปอย่างมีเอกภาพ ลดความขัดแย้งและสร้างสมดุลย์ระหว่างการอนุรักษ์และการแสวงประโยชน์  มีการออก พรบ.เกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรชนิดต่างๆให้สอดคล้องกัน เนื่องจากทรัยากรธรรมชาติทั้งหลายนั้นก็พบอยู่ในบริเวณพื้นที่ตำแหน่งเดียกัน ต่างกันที่จะอยู่ใต้ดิน บนผิวดิน หรือเคลื่อนที่ผ่านไปมา ให้อำนาจการตัดสินใจขึ้นอยู่กับรัฐมนตรีเจ้ากระทรวง ซึ่งในสมัยนั้นรัฐบาลและข้าราชการยังจัดได้ว่ามีคุณธรรมและจริยธรรมอยู่ในระดับที่ดี

ต่อมาก็มีการแยกกรมที่ดูและทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้ออกไปอยู่ต่างกระทรวงกัน โดยเกือบจะไม่มีการปรับแก้กฎหมายให้สอดคล้องเลย (จนถึงปัจจุบัน) ในขณะเดียวกันก็มีการตั้งส่วนราชการเพื่อทำการบริหารจัดการบนปรัชญาทางวิชาการที่ขัดแย้งกัน (ระหว่างการพัฒนากับการอนุรักษ์) ในสังกัดกรมเดียวกัน แล้วก็มีการตั้งส่วนราชการที่เน้นไปในการอนุรักษ์ในสังกัดกระทรวงอื่นๆ  สุดท้ายเมื่อสิบกว่าปีมานี้ ก็เอาส่วนราชการทั้งที่มีความขัดแย้งกันในเชิงของปรัชญาการบริหารจัดการเข้ามาอยู่ภายใต้กระทรวงเดียวกันอีก  (นัยว่าเพื่อแก้ปัญหาที่ต้องผ่านเรื่องหลายกระทรวงก่อนได้รับอนุญาตให่ดำเนินการใดๆ)  ก็เช่นเดิม เกือบจะไม่มีการปรับแก้กฎหมายใดๆ ปัญหาก็ยังคงอยู่ แถมยังเปิดช่องว่างให้สามารถมีการแสวงหาประโยชน์ได้มากขึ้นอีกด้วย (ต้องผ่านเื่รื่องหลายกรมในกระทรวงเดียวกัน ในระดับกระทรวงต่างๆ รวมถึงหลายเรื่องก็ต้องกลายเป็นระดับ ครม.อนุมัติ ก่อนได้รับอนุญาตให้ดำเนินการใดๆ)

ประเด็นของเรื่องทรัพยากรน้ำนี้   เราบริหารจัดการในลักษณะของทรัพยากรที่มีอย่างสมบูรณ์และไม่มีวันหมด จึงไม่ได้มุ่งไปที่ตัวทรัพยากรว่ามันจะมีมากน้อยและมีขีดจำกัดในการนำไปใช้เพียงใดในแต่ละพื้นที่และในแต่ละกิจกรรม  นี่เป็นสภาพการณ์ในสมัยก่อนโน้น   ในปัจจุบันเราใช้น้ำมากขึ้นมาก เช่น ปริมาณน้ำที่ใช้ในเขตเืมืองนั้นเฉลี่ยแล้วไม่ต่ำกว่า 200 ต่อคนต่อวัน  น้ำที่ใช้ในการทำนาข้าวสำหรับหนึ่งไร่อยู่ในระดับ 1000 ลูกบาศก์เมตรต่อครั้งการปลูก 

อุตส่าห์ตั้งกรมทรัพยากรน้ำขึ้นมา ก็คงจะต้องเกี่ยวพันกับเรื่องของทรัพยากรน้ำ  พอแล้งน้ำก็กลับกลายเป็นมหาดไทย ทหาร น้ำบาดาลเข้าไปช่วย พอน้ำท่วมก็กรมชลประทาน มหาดไทย และทหารเข้าไปแก้    จะว่าหน่วยนี้ทำเฉพาะเรื่องนโยบายก็คงใช่ แต่เมื่อครั้งเกิดมหาน้ำท่วมขึ้นมาก็เกือบจะไม่ได้ยินข่าวสารใดๆจากกรมนี้เลย       

บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 116  เมื่อ 08 ส.ค. 12, 18:49

ได้กล่าวมาแล้วว่าเหตุการณ์ เหตุการณ์ราคาน้ำมันดิบพุ่งกระฉูดในปี 1973 (ขอแก้จากเดิมที่บอกว่าปี 1972 ครับ_จำผิด) ได้ทำให้ประเทศอุตสาหกรรมเริ่มคิดและให้ความสนใจกับความปัญหาแหล่งพลังงานมากขึ้น

ลองเรียงลำดับเรื่องต่างๆดูนะครับ

หลังสงครามโลกสิ้นสุดในปี 1945 ก็เกิดสงครามเกาหลี อเมริกาต้องการแหล่งผลิตยุโธปกรณ์เพื่อใช้ในการรบ ในขณะที่ญี่ปุ่นต้องชดใช้ค่าปฏิกรณ์สงคราม อเมริกาก็เลยใช้ญี่ปุ่นเป็นแหล่งผลิตสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการขนส่งมาจากสหรัฐฯ พร้อมๆกันก็เป็นการช่วยรื้อฟื้นเศรษฐกิจของญี่ปุ่นให้พ้นจากความหายนะ (ในฐานะผู้ปกครอง) ญี่ปุ่นก็พอจะเริ่มตั้งตัวได้ใหม่ พอจบสงครามเกาหลีในปี 1955 ก็เกิดสงครามเวียดนาม ความสัมพันธ์ระหว่างอเมริกากับญี่ปุ่นในลักษณะดังกล่าวก็ได้ดำเินินการอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ไทยก็เป็นส่วนหนึ่งของฐานทางทหารของสหรัฐฯ     พร้อมๆไปกับการที่ญี่ปุ่นเป็นแหล่ง supply ปัจจัยให้กับสหรัฐฯ ญี่ปุ่นเองก็สามารถรื้อพื้นอุตสาหกรรมของตน จนสามารถผลิตสินค้าอุตสาหกรรมต่างๆสำหรับตลาดผู้ใช้ตามปรกติ (ซึ่งสามารถผลิตคู่ขนานไปกับสินค้าตามความต้องการทางทหาร) และมีพื้นที่สำหรับโฆษณาและระบายสินค้า (โดยเฉพาะไทย) ซึ่งเชื่อมต่อเป็นลูกโซ่ขายได้ในตลาดของประเทศที่มาร่วมในสงครามเวียดนาม   
เมื่อสงครามเวียดนามจบลงในปี 1975 สินค้าของญี่ปุ่นก็ติดตลาดและกระจายไปทั่วโลกแล้ว และติดตลาดมากพอที่สหรัฐฯจะต้องเข้มงวดและบังคับในญี่ปุ่นเปิดตลาดอย่างเสรีภายในเพื่อรับสินค้าจากสหรัฐฯและจากประเทศอื่นๆเข้าไปขายในประเทศของตนด้วย มิใช่จะส่งออกแต่เพียงอย่างเดียว ต้องมีการนำเข้าในสภาพที่ค่อนข้างจะสมดุลย์ด้วย  ญี่ปุ่นจึงต้องส่งเสริมคนของตนให้ใช้สินค้่าจากต่างประเทศมากขึ้น  JETRO จึงถูกกำหนดให้ทำหน้าที่นี้ ซึ่งด้วยความที่เขาคิดอย่างมีตรรกะ ก็คิดว่าจะทำอย่างไรให้คนญี่ปุ่นเลิกคิดในการที่จะเลือกซื้อสินค้าที่ตั้งอยู่บนความเป็นชาตินิยม วิธีการอย่างหนึ่งก็คือ เอาโรงงานผลิตสินค้าของญี่ปุ่นไปตั้งอยู่นอกประเทศ สินค้าที่ผลิตจากโรงงานของญี่ปุ่นเหล่านี้ มันก็คือสินค้าญี่ปุ่น แล้วยังแก้ปัญหาเรื่องการนำเข้าให้เกิดสภาพสมดุลย์ด้วย  ซึ่งรัฐบาลไทยในสมัยนั้นก็คงเห็นว่าน่าจะเสนอไทยเป็นแหล่งผลิตที่สำคัญของญี่ปุ่น ซึ่งจะได้ผลทั้งการขยายเศรษฐกิจ (บนฐานของการส่งออก) และเทคโนโลยีที่จะได้รับการถ่ายทอดของเราเอง ไทยจึงเกิด BOI ในปี 1977  ผนวกกับที่เรารู้แล้วว่าในอ่าวไทยพบแหล่งกาซธรรมชาติมหาศาล จนสามารถเริ่มลงนามการซื้อขายได้ในปี 1978    ด้วยสภาพการณ์ที่เอื้ออำนวยนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นซึ่งโดยความสัมพันธ์ในระดับประเทศกับไทยมีมาานมากแล้ว ก็สนับสนุนการมาลงทุนทำการผลิตในประเทศไทย  การลงทุนของญี่ปุ่นในไทยจึงเริ่มฝังรกรากขึ้น และเพิ่มมากขึ้นจนอาจจะเรียกว่าก้าวกระโดดในปี 1990 เมื่อนโยบายการเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้าประสบผลสำเร็จในปีนั้น และทำให้ภูมิภาคในแหลมทองทั้งหมดสิ้นสุดสภาพสงครามอย่างสิ้นเชิง

ขออภัยที่ไม่ได้แปลง ค.ศ.เป็น พ.ศ. ครับ เพียงเพื่อให้เกิดลำดับความเป็นไปอย่างต่อเนื่อง

         
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 117  เมื่อ 08 ส.ค. 12, 19:32

เมื่อเข้าปี 1990 ญี่ปุ่นประสบวิกฤติเศรษฐกิจ ซึ่งรุนแรงและมีผลกระทบมากพอที่ทำให้การบริหารองค์กรในปรัชญาของญี่ปุ่น (เช่น  lifetime employment) ต้องเปลี่ยนและเลิกไปมาก ในขณะที่จีนเริ่มเปิดประเทศเป็นรูปธรรมอย่างจริงจัง (เข่น การเปิด McDonald ในปี 1991) โดยเฉพาะหลังจากได้รับฮ่องกงคืนในปี 1997
 
ตลอดช่วง '90s  หลายบริษัทใหญ่ๆของญี่ปุ่นต้องลดขนาดทางธุรกิจ และตัดสายโซ่กับ SMEs ที่ผลิตชิ้นส่วนส่งให้กับบริษัทใหญ่ๆ   ทำให้ SMEs ขาดทุนและเลิกกิจการไปมากๆในระดับที่เรียกว่า hollow out ของระบบอุตสาหกรรม จนบริษัทใหญ่ๆไม่สามารถอาศัยฝีมือของ SMEs เมื่อเริ่มการผลิตในนวัตกรรมใหม่ได้    SMEs เหล่านี้หันไปลงทุนในจีนในลักษณะเดี่ยวบ้าง ในลักษณะกลุ่มบ้าง  ซึ่งก็พังพาบกลับมา เจ็บเนื้อเจ็บตัวเป็นจำนวนมาก  สุดท้ายก็เห็นว่าไทยน่าจะเป็นแล่งลงทุนที่ดีที่สุด ก็รวมตัวกันกลับมาลงทุนในไทย    SMEs ของไทยก็เลยเริ่มถูกเบียด เลิกไปบ้าง (เยอะทีเดียว) ต้องรับเขาเข้าร่วมทุนบ้างเพื่อความอยู่รอดก็มีมาก

คำบอกเล่าสำหรับเหตุผลหนึ่งที่อยู่ในความทรงจำของผม คือ SMEs ของญี่ปุนเขาบอกว่า เหตุที่เจ้งจากจีน (ขอใช้คำที่ไม่ค่อยจะสุภาพครับ) ก็เพราะว่า จีนนั้นนอกจากจะก๊อบปี้เป็นแล้วยังต่อยอดได้อีกด้วย สำหรับไทยนั้นมีแต่ก๊อบปี้แต่ไม่มีการต่อยอด  (เป็นทั้งคำนิยมและคำปรามาสไปพร้อมๆกัน)

จะขอพักไว้สำหรับวันนี้เพื่อการย่อยข้อมูลกันก่อนครับ   

     
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 118  เมื่อ 09 ส.ค. 12, 18:10

ในช่วง 90's นี้  ต่อจนเข้า 2000's เป็นช่วงรอยต่อของหลายๆเรื่องๆ

เป็นช่วงรอยต่อของแนวคิดในการประกอบการอุตสาหกรรมในรูปแบบใหม่  (ซึ่งก็คือรูปแบบเดิมที่ปรับปรุงใหม่) คือ เนื่องจาก SMEs ในหลายๆประเทศทั่วโลกมีความสามารถก้าวทันในทางเทคโนโลยี ซึ่งด้วยสภาพทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเหล่านี้ทำให้มีต้นทุนในการผลิตที่ต่ำ ประกอบกับการที่ประเทศอุตสาหกรรมรายใหญ่เจ้าของนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างก็เริ่มเห็นว่า การป้องกันมิให้เทคโนโลยีรั่วไหลนั้น ก็เพียงแยกการจ้างทำอุปกรณ์ต่างๆออกเป็นชิ้นงานย่อยๆเล็กๆ  เช่น ให้บริษัทหนึ่งผลิตชิ้นส่วนเล็กๆชิ้นหนึ่ง เอาชิ้นส่วนไม่กี่ชิ้นจากหลายหลายบริษัทเหล่านี้ ส่งไปให้อีกบริษัทหนึ่งเพื่อนำไปเชื่อมต่อกัน    ในลักษณะค่อยๆขยายการเชื่อมต่อกันจากหลายแหล่งหลายผู้ประกอบการ จนกระทั่งได้ชิ้นงานทางเทคโนโลยีที่พอใจ จึงนำเข้าเอาไปรวมกัน ทำการประกอบและผลิตเป็นสินค้าตามที่ตนมีนวัตกรรมและมีเทคโนโลยีขั้นสูง  ตัวอย่างเช่น การผลิตเครื่องบินโบอิ้ง 747 ของหสรัฐฯ และแอร์บัส A380 ของยุโรป เป็นต้น    เท่าที่ทราบ ชิ้นส่วนย่อยบางอย่างก็ผลิตไปจากไทย ก่อนที่จะนำไปรวมกันเป็นเป็นเครื่องอุปกรณ์ที่ใช้ในเครื่องบินทางยุทธวิธี

ในช่วงรอยต่อของศตวรรษนี้อีก ที่อุตสาหกรรมหลายอย่างของหลายประเทศต้องย้ายฐานการผลิต     
เพื่อความเข้าใจในเรื่องการย้ายฐานการผลิตนี้ จะขอเล่าวัฏจักรของการประกอบการอุตสาหกรรม พอสังเขปดังนี้
จะขอยกภาพที่ค่อนข้างจะชัดเจนของการอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าของญี่ปุ่นเป็นตัวอย่าง     เมื่อเริ่มมีนวัตกรรมในสินค้าที่ผลิตขาย แรกเริ่มก็จะทำการผลิตในประเทศ เมื่อสินค้าเริ่มเป็นที่รู้จักและมีความต้องการมากๆเข้าในประเทศของตน ปริมาณการผลิตในประเทศก็เริ่มไม่เพียงพอ แถมต้นทุนสูงอีกด้วย ก็จะต้องไปหาที่ผลิตนอกประเทศซึ่งต้นทุนจะถูกกว่า  อาจจะเริ่มด้วยส่งชิ้นส่วนไปประกอบแล้วส่งกลับ หรือให้ผลิตชิ้นส่วนแล้วนำเข้ามาประกอบในประเทศองตน ก็แล้วแต่นโยบาย  เมื่อสินค้าเริ่มกลายเป็นที่ต้องการในตลาดนานาชาติที่เข้ามาซื้อหาในประเทศของตน ก็จะเริ่มขยายกำลังการผลิตในต่างประเทศมากขึ้นด้วยการไปตั้งโรงงานเสียเองนอกประเทศแทนการจ้างผลิต  ซึ่งเมื่อสินค้านั้นๆได้กลายเป็นสินค้าปรกติที่ใช้ในชีวิตประจำวัน  จึงจะเริ่มเกิดการย้ายฐานการผลิตออกไปจากประเทศของตน  โดยนัยก็คือ เพื่อเปิดพื้นที่ภายในประเทศให้มีความว่างเพื่อเริ่มการผลิตสินค้าในนวัตกรรมใหม่และการทำตลาดใหม่

สาเหตุการย้ายฐานการผลิตทางอุตสาหกรรมอย่างหนึ่งก็เริ่มมาด้วยสภาพการณ์ดังที่กล่าวมา    ครานี้ เมื่อผลิตด้วยสายพานการผลิตในต่างประเทศนานมากเข้า แรงงานและเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นของประเทศเหล่านั้นก็ย่อมต้องมีการพัฒนาฝีมือไปสู่ในระดับที่จะสามารถสนองรับกับเทคโนโลยีใหม่ๆได้ง่าย อุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงานมาก ซึ่งมักจะเป็นอุตสาหกรรมที่ค่อนข้างจะสกปรกดังเดิมเหล่านั้น ก็จำเป็นจะต้องย้ายออกไปยังประเทศอื่นรองๆไป เพื่อรองรับสายพานการผลิตที่มีความสลับซับซ้อนและมีการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น 
 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 119  เมื่อ 09 ส.ค. 12, 18:28

^
ความสัมพันธ์ของอุตสาหกรรมไทยกับญี่ปุ่นก็เป็นในลักษณะดังกล่าวนี้
 
จึงเป็นเรื่องไม่แปลกที่ญี่ปุ่นพยายามจะย้ายอุตสาหกรรมการผลิตบางอย่างจากไทยไปยังเวียดนามและเขมร  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกำลังจะเกิด AEC






บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 6 7 [8] 9 10 ... 21
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.059 วินาที กับ 20 คำสั่ง