เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 3 [4] 5 6 ... 21
  พิมพ์  
อ่าน: 102530 ก้าวย่างในยุค AEC
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 45  เมื่อ 14 ก.ค. 12, 18:01

^
ยังไม่พาออกไปถึงทะเลหรอกครับ ยังไม่พ้นปากอ่าวเลย  ที่กล่าวมานั้นมันก็มีสาเหตุพัวพันกับที่เรื่องที่คิดว่าจะเล่าต่อไปครับ

บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 46  เมื่อ 14 ก.ค. 12, 19:15

ภาคเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมนั้น จะแบ่งขนาดของธุรกิจออกเป็น 2 พวกใหญ่ๆ คือ พวกประกอบการขนาดใหญ่ และพวกประกอบการที่ภาษาไทยเรียกกันว่า วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ ที่ฝรั่งเขาเรียกว่า SME (Small and Medium Enterprises)  บางครั้งก็ใช้ E = Entrepreneurs (ผู้ประกอบการ) และก็มีการเรียกธุรกิจขนาดนี้ว่า SMB (Small and Medium Business (es)) ก็มี

ธุรกิจที่ไม่ตกอยู่ในประเภท SME ก็คือ พวกธุรกิจข้ามชาติทั้งหลาย   ธุรกิจที่ตกอยู่ในประเภท SME ทั้งหลายนั้น ก็คือ ธุรกิจเกือบทั้งหมดที่มีการประกอบการอยู่ในทุกประเทศทั่วโลก  ในเชิงของตัวเลข ทุกประเทศจะมีธุรกิจที่เขาจัดให้อยู่ในประเภท SME  ไม่น้อยกว่า 97% (เท่าที่เคยเห็นมา และโดยเฉพาะสำหรับประเทศที่ถูกจัดระดับหรือที่เรียกตนเองว่าเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว)      สำหรับประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย (กลุ่มประเทศ G77 and China) รวมทั้งกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออกและกลุ่มประเทศ CIS (กลุ่มประเทศที่รวมตัวกันเมื่อเป็นอิสระจากอิทธิพลรัสเซีย) เหล่านี้ ก็จะมีธุรกิจที่เขาจัดเป็น SME ไม่น้อยกว่า 98-99%  นอกจากนั้นแล้วก็ยังมีการจัดธุรกิจประเภทที่เรียกว่า Micro อีกด้วย โดยผนวกขื่อประเภทไว้ข้างหน้าคำว่า SME คือ Micro SME 

อย่าเพิ่งเบื่อนะครับ พยายามจะเรียงลำดับภาพต่างๆ

อ่านข้างต้นมาแล้ว ก็คงจะสงสัยว่า แล้วจะไปจำแนกธุรกิจมันเพื่ออะไร ในเมื่อธุรกิจเกือบทั้งหมดมันก็เป็น SMEs หรือ mSMEs  มันมีเหตุผลครับ แต่ก่อนจะเล่าต่อไป มาดูอีกเรื่องหนึ่ง

การจัดแบ่งธุรกิจนี้ แต่ละประเทศก็มีมาตรฐานของตนเอง โดยทั้วไปก็ตั้งอยู่บนพื้นฐานของวงเงินทุนในการประกอบธุรกิจ จำนวนลูกจ้างในธุรกิจ มีขอบเขตว่าระดับใหนจึงจะเป็น micro ระดับใหนจะเป็น small และระดับใหนจึงจะเป็น medium และเกินไปจากนี้ก็จะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่     โดยทั่วๆไปในเชิงของจำนวนลูกจ้าง ที่ทั่วไปยังจัดว่าเป็น S ก็อยู่ในระดับไม่เกิน 50 คน ขนาด M ก็ไม่เกิน 200 คน  ซึ่งสวนกับความเป็นจริงพอสมควรเลยทีเดียว มีธุรกิจมากมายในโลกที่มีลูกจ้างน้อยกว่า 10 คน (ซึ่งน่าจะอยู่ในระดับ micro) แต่ค้่าขายทั้งโลก   ผมเคยไปเยี่ยมชมธุรกิจที่มีลูกจ้างน้อยกว่าสิบคนนี้หลายแห่งด้วยกันที่แทบจะคุมตลาดนานาชาติเลยทีเดียว  เรื่องชิ้นส่วนที่ประกอบอยู่ในนาฬกาข้อมือแทบจะทุกยี่ห้อในโลกนี้ก็หนึ่งเรื่องครับ แล้วก็เรื่องเครื่องดูดกระดาษของแท่นพิมพ์ธนบัตรก็อีกเรื่องหนึ่งครับ
 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 47  เมื่อ 14 ก.ค. 12, 20:15

มาถึงเหตุผลว่าจะต้องไปจำแนกขนาดของธุกิจมันทำไม

คำตอบที่ตรงที่สุดก็คือ การปกป้องธุรกิจและธุรกิจต่อเนื่องของประชาชนของเขา ซึ่งมีความหมายขยายความไปได้ไกลมากถึงความชอบธรรมในการอุ้มชู (มักจะใช้คำว่า Incubation)  การส่งเสริม (Promotion) และการอุดหนุน (Subsidized) โดยไม่เบี่ยงเบนตลาด  ยังมีคำอีกมากมายที่ใช้กันเพื่อแสดงเหตุผลในความชอบธรรมในแง่มุมต่างๆ   

คงจะพอจินตนาการต่อไปได้นะครับ 

แล้วของเราเป็นอย่างไร.....
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 48  เมื่อ 15 ก.ค. 12, 13:32

ไทยเราก็มีการจำแนกธุรกิจเป็นขนาดใหญ่และ SME เหมือนกัน แต่ยังไม่ลงไปที่ระดับ micro   ธุรกิจของเราที่เป็นไทยร้อยเปอร์เซ็นต์ส่วนมากจะอยู่ในระดับ small และก็ยังเป็นพวกที่เป็นขนาดเล็กมาก ไม่อยู่ในเกณฑ์ใกล้เส้นแบ่งเขตที่จะข้ามไปในระดับ medium
 
สำหรับธุรกิจไทยที่มีต่างชาติมาลงทุนร่วมด้วย ซึ่งมีเป็นจำนวนมากที่เป็นแบบแฝง มีเป็นจำนวนน้อยที่เปิดเผยนั้น ส่วนมากจะเป็นระดับ Medium  สำหรับธุรกิจขนาดใหญ่ทั้งหลายก็เป็นพวกที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน

การจำแนก SMEs ของเราก็ดูจะไม่ตรงกันระหว่างภาครัฐด้วยกันเองและกับภาคเอกชน
 
เราเพิ่งจะมี พรบ.ส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เมื่อ พ.ศ.2543 นี้เอง และก็เป็นกฎหมายฉบับเดียวที่กล่าวถึง SMEs  ผมไม่เคยเห็นมีการกล่าวถึงและให้ความสำคัญกับ SMEs ในกฏหมายทางเศรษฐกิจ การเงิน และการภาษีอื่นใดเลย   ในขณะที่ประเทศอื่นๆเขามองเห็นความสำคัญของธุรกิจ SMEs กันมานานแล้วตั้งแต่ช่วงก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่สอง มีกฏหมายที่เกี่ยวข้องโดยตรง และก็มีกฎหมายอื่นๆอีกมากมายที่กล่าวถึงธุรกิจ SMEs ในลักษณะที่ปกป้อง คุ้มครอง แถมยังมีนโยบายของรัฐบาลที่ประกาศขอให้ส่วนราชการและเอกชนช่วยกันใช้ของที่ผลิตโดย SMEs เสียอีกด้วย   

กรณีญี่ปุ่นนั้น มีกฏหมายเกี่ยวกับ SMEs โดยตรงประมาณ 8 ฉบับ  มีสภาหอการค้าเฉพาะ SMEs   มีหน่วยงานที่ทำเรื่อง SMEs โดยเฉพาะหลายหน่วย  แม้จะยังคงมีนโยบายช่วยไม่ให้ SMEs ตายง่ายๆแล้ว ก็ยังมี   

จะว่าไทยเราไม่มีนโยบายเสียเลยก็ไม่ได้ ครั้งหนึ่งก็มีระเบียบกฏเกณฑ์ให้ส่วนราชการต้องเลือกซื้อของที่ผลิตในประเทศก่อน  แต่ก็ซาไป ก็คงจะด้วยหลายเหตุผล ซึ่งหนึ่งในเหตผลก็น่าจะเป็นเรื่องที่สิ่งของเหล่านั้นคุณภาพไม่ดีพอและไม่มีการพัฒนา

จากเรื่องที่กล่าวมาสั้นๆนี้ ก็คงพอจะทำให้เห็นภาพได้ว่า  SMEs คือ ตัวการที่แท้จริงในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ การที่รัฐจะต้องมีระบบปกป้องและช่วยเหลือโดยไม่เป็นการเบี่ยงตลาดนั้น เป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก  คุณสมบัติของ SMEs ที่เหมือนกันทั่วโลก คือ เกิดยากแต่ตายง่าย จึงจำเป็นที่จะต้องมีสิ่งแวดล้อมรอบตัวที่ดีเพื่อรักษาชีวิตของธุรกิจพวกนี้ให้อยู่ได้ยาวนานมากที่สุด เพราะว่ามันมีโอกาสเติบใหญ่เป็นธุรกิจขนาดใหญ่เป็นพี่เลี้ยงของธุรกิจขนาดเล็กรุ่นหลังๆ

ของเรานั้นไปยืมมือผู้อื่นมาทำธุรกิจธุกิจขนาดใหญ่ ละเลยที่จะพัฒนา SMEs มานาน ถูกปล่อยให้สู้ไปตามมีตามเกิด จะว่าไปธุรกิจพวกนี้ของเราก็เก่งนะ อยู่รอดมามากมาย   
 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 49  เมื่อ 15 ก.ค. 12, 19:42

ดังที่กล่าวมาว่า คุณสมบัติประจำตัวของธุรกิจ SMEs คือ เกิดยากตายง่าย และถึงแม้จะอยู่รอดก็มักจะไม่เจริญเติบใหญ่  สาเหตุหลักที่เป็นเช่นนี้ได้มีการพบกันว่า เรื่องแรกคือ รู้ไม่พอและขาดความรู้ที่จะเริ่มธุรกิจในตลาดที่มีการแข่งขัน ขาดความเข้าใจที่จะดำเนินดำเนินธุรกิจให้มีความยั่งยืนและเจริญเติบโตอย่างมั่นคง เรื่องที่สอง คือ ขาดทุนทรัพย์และแหล่งทุนที่ดี ซึ่งในภาษาทางวิชาการใช้คำว่า ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุน และเรื่องที่สาม คือ ขาดการพัฒนาตนเอง ซึ่งในภาษาทางวิชาการมักจะใช้คำว่า ขาด R&D   กล่าวอย่างง่ายๆ คือ ขาดวิชา ขาดเงิน และขาดการหาความรู้เพิ่มเติม

ดูๆไปแล้วจะเห็นว่าเหมือนจะเป็นเรื่องไ่ม่ยากที่จะดำเนินการแก้ไข  แต่มันก็มีความยากเหมือนกันที่จะดำเนินการให้เกิดผลสัมฤทธิ์ ซึ่งสาเหตุสำคัญ คือ ความต่อเนื่องในการดำเนินการของภาครัฐ ซึ่งจะต้องเป็นไปอย่างต่อเนื่องทุกๆรัฐบาล รัฐจะต้องมีความอดทน มีภาระค่าใช้จ่ายทางงบประมาณอย่างต่อเนื่อง

ของเรามีครบในเรื่องการเงิน คือ มี SME Bank    เรามีผู้ชี้นำและดำเนินการทางนโยบาย คือ สสว. (สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม)   เรามีทางวิชาการ คือ การส่งเสริมทางวิชาการที่ดำเนินการโดยหลายหน่วยราชการ    แต่เราดูเหมือนจะดำเนินการแบบครึ่งๆกลางๆ ไม่ทำไปให้ถึงที่สุด  แทนที่จะไปดูผลการดำเนินการต่างๆที่เกิดขึ้นกับ SMEs   ก็กลับมาวัด KPI เอาที่ฝ่ายราชการผู้ดำเนินการ  และแทนที่จะใช้ KPI (ตามหลักการที่ธุรกิจและรัฐต่างชาติเขาเข้าใจกัน) เพื่อการติดตามหาจุดที่ด้อยในระบบที่ส่งผลทำให้เป้าหมายของระบบในองค์รวมไปไม่ถึงตามที่กำหนดไว้  เป็นเรื่องเพื่อการเร่งรัดปรับปรุงจุดที่เป็นปัญหาที่จะต้องแก้ไขเพื่อให้โครงการได้บรรลุเป้าหมาย  ก็กลับกลายเป็นว่าถูกใช้เป็นเครื่องมือวัดประสิทธิภาพของเอกบุคคลและจับผิด แล้วใครจะทำอะไรที่เป็นการเสียสละได้อย่างเต็มที่ล่ะ ในเมื่อยังต้องคำนึงถึงผลงานของตนเอง งานราชการส่วนมากเป็นเรื่องของการกำกับดูแลมากกว่าจะไปสร้างอะไรให้หวือหวาล้ำนโยบายและใช้จ่ายงบประมาณนอกเหนือไปจากที่กำหนดให้มา งบลงทุนในเรื่องที่ฝ่ายราชการเห็นว่าสำคัญก็มักจะถูกตัดเอาไปพอกให้เป็นงบลงทุนตามการหาเสียงของฝ่ายการเมือง 

ธนาคาร SME จะต้องมี NPL ต่ำๆ เป็นเรื่องที่สวนทางกับหลักการตั้งธนาคารประเภทนี้    สสว.เป็นผู้ชี้นำนโยบาย จะต้องไปจัดเลือกผู้ประกอบการ ทำตลาดและค้าขายเสียเองก็ใช่ที่    เรามุ่งวัดความสำเร็จไปในเรื่องอะไรก็ไม่รู้  แทนที่จะมาดูกันว่า เออ ปีนี้ SMEs มีอัตราการเกิดมากกว่าตาย หรือเขาเริ่มข้ามจาก S ไปเป็น M มากขึ้น  หรือพวก micro หรือบรรดารถเข็นและแผงลอยเขาเริ่มตั้งหลักปักฐานมีการจ้างลูกน้องมากขึ้นหรือเข้ามาอยู่ในฐานภาษีและมีการเสียภาษีมากขึ้น ทั้งหมดนี้มันมิใช่เกิดได้จากหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง มันจะต้องดำเนินการไปพร้อมๆกันทั้งองคาพยพมิใช่หรือ 

เหมือนกับบ่น แต่ไม่ใช่การบ่นนะครับ เป็นการสะท้อนภาพให้เห็นว่า ธุรกิจฐานรากทางเศรษฐกิจของเรา คนไทยของเราอยู่ในสภาพภายใต้สถานการณ์ดังที่เล่ามา แล้วก้าวย่างของเราที่ควรจะก้าวย่างเข้าไปใน AEC จะเป็นอย่างไร คงไม่พ้นที่จะเป็นก้าวย่างแบบถอยหลังรับที่เขาจะเดินก้าวย่างเข้ามาหาเราเสียกระมัง   
 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 50  เมื่อ 15 ก.ค. 12, 20:33

เพื่อจะมิให้เป็นการบ่น ก็จะขอยกตัวอย่างที่ประเทศอื่นเขาทำอะำไรกันบ้างและเตรียมตัวกันอย่างไร ซึ่งจะอยู่ในบริบทของคำว่า  การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน  Productivity  และ Foresight

แต่จะขอเป็นพรุ่งนี้ครับ




บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 51  เมื่อ 16 ก.ค. 12, 10:45

ถ้าไทยเตรียมตัวได้พร้อมจะรับมือ  AEC ก็จะช่วยให้ไทยพัฒนาได้เร็ว  พ้นจากคำว่า "ประเทศกำลังพัฒนา" เสียที   
แต่ถ้าไม่พร้อม เพราะภาครัฐของเราไม่พร้อม ทำให้เอกชนที่คล่องตัวกว่าถูกดึงให้ช้าลงด้วย    ก็จะเป็น "ประเทศกำลังพัฒนา" ต่อไปอีกหลายปี
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 52  เมื่อ 16 ก.ค. 12, 20:08

ถ้าไทยเตรียมตัวได้พร้อมจะรับมือ  AEC ก็จะช่วยให้ไทยพัฒนาได้เร็ว  พ้นจากคำว่า "ประเทศกำลังพัฒนา" เสียที   
แต่ถ้าไม่พร้อม เพราะภาครัฐของเราไม่พร้อม ทำให้เอกชนที่คล่องตัวกว่าถูกดึงให้ช้าลงด้วย    ก็จะเป็น "ประเทศกำลังพัฒนา" ต่อไปอีกหลายปี

อืม์ ความเห็นนี้มีความเห็นต่างในมุมมองอื่นๆครับ  ผมเกือบจะไม่ให้ความสนใจในประเด็นนี้มากเหมือนแต่ก่อนแล้ว

ผมเห็นว่า การจัดให้เป็นประเทศพัฒนาแล้วหรือประเทศกำลังพัฒนา ก็เป็นเพียงการจำแนกกลุ่มซึ่งมีผลในเรื่องทางการเมืองระหว่างประเทศ ถ้าติดตามดูข้อพิจารณาที่ใช้ในการจำแนกตั้งแต่หลังสงครามโลกเป็นต้นมา จะเห็นว่า เรื่อง หัวข้อ หรือประเด็นที่ใช้ในการพิจารณาจำแนกจะมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งผลหรือข้อมูลของเรื่องที่นำมาจำแนกก็ไม่ได้มีเส้นแบ่งที่ชัดเจน เป็นการประมวลข้อมูลและคิดว่าประเทศใดควรจะถูกจัดเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ทั้งนี้ การจำแนกโดยองค์กรนานาชาติต่างๆหรือรัฐของแต่ละประเทศก็จำแนกไม่เหมือนกัน จึงมีรายชื่อประเทศที่พัฒนาแล้วไม่เหมือนกันอีกด้วย
 
มีข้อสังเกตว่า ประเทศที่พัฒนาแล้วเกือบทั้งหมดเป็นประเทศที่อยู่ในทวีปยุโรป ทวีปอเริกาเหนือ และประเทศทางซีกโลกใต้ จะเรียกว่าเป็นประเทศที่มีประชากรเป็นฝรั่งผมทองก็ไม่ผิดนัก ในเอเซียก็มีญี่ปุ่นเท่านั้นที่เป็นหลัก ประเทศอื่นๆ เช่น เกาหลี บรูไน หรือ เขตปกครองอื่นๆเช่น ฮ่องกง และไต้หวัน เหล่านี้ หลายองค์กรและหลายรัฐจัดให้เป็นประเทศพัฒนาแล้ว แต่บางประเทศก็ไม่จัดให้เป็นประเทศพัฒนา

อนึ่ง การจำแนกนี้แม้จะดูว่ามีข้อมูลสนับสนุนและค่อนข้างเป็นทางการ แต่ผมก็เห็นว่ามันเป็นเพียงนามธรรม ไม่มีกฎกติกาที่เป็นผลทางกฎหมาย ดังนั้น การจะทำตนให้เป็นประเทศอยู่ในกลุ่มใดจึงไปขึ้นกับเรื่องที่เราปฎิบัติและแสดงออกในสังคมนานาชาติ   

ในองค์กรนานาชาติ โดยเฉพาะในสายของ UN เขาจะมีการแบ่งกลุ่มแบ่งสังกัด เพื่อช่วยกันผลักดันวาระต่างๆให้เกิดประโยชน์กับกลุ่ม เช่น กลุ่มประเทศผู้ให้ (Donating countries) กลุ่มประเทศผู้รับ (Recipient countries) กลุ่มประเทศในเอเซีย กลุ่มประเทศในอัฟริกา กลุ่มประเทศ GRULAC (Group of Latin America and the Caribbean) กลุ่มประเทศ G77 and China  และกลุ่ม NIS (New Independent States)  สังเกตใหมครับ ไม่มีกลุ่มประเทศย่อยๆเช่น อาเซียน หรือ Benelux หรือ Scandinavian หรือ CIS (Commonwealth of Independent States) 

กลุ่มประเทศ G77 ก็คือ กลุ่มที่จัดเป็นประเทศกำลังพัฒนาทั้งหมด (ไทยก็เป็นประเทศในกลุ่มนี้และร่วมก่อตั้งใน 77 ประเทศแรก) ประเทศในกลุ่มนี้ในปัจจุบันมี 132 ประเทศ   
         
บางประเทศ เช่น เกาหลี พยายามจะทำตนเป็นประเทศพัฒนาแล้วในสังคมนานาชาติ พยายามเข้าไปอยู่ในกลุ่มประเทศผู้ให้  เลยทำตัวลำบาก ขาดพวกพ้อง กลุ่ม G77 และจีน ก็ระแวง กลุ่มเอเซียก็ระแวง กลุ่มประเทศผู้ให้ก็ไม่ค่อยจะยอมรับ     จีนเองยังขอมาพ่วงอยู่กับกลุ่ม G77 แต่ขอเป็นเอกเทศ จึงต้องมีคำว่า and China   กลุ่ม NIS น่าสงสาร เป็นพวกคนในุโรปผมสีทอง จะสมัครเข้ามาอยู่ในกลุ่ม G77 ก็คุยกับใครลำบาก จะอยู่ในกลุ่มประเทศผู้ใ้ห้ (ซึ่งเป็นประเทศในยุโรปทั้งหลาย) เขาก็ยังไม่เอาด้วยว่ายังต้องการความช่วยเหลือต่างๆอยู่

เล่ามาเสียยืดยาว ก็เพียงเพื่อจะอธิบายว่า แตกกลุ่มออกไปแล้วก็จะขาดพวกพ้อง จะต้องมีค่าใช้จ่ายรับผิดชอบต่อสังคมโลกมากขึ้น หากเรายังคิดว่ายังนิยมความช่วยเหลือทางเทคโนโลยีและโครงการต่างๆแล้ว การถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาก็ดูจะดีกว่ากระมัง    ผมคิดว่าหากเราอยากจะออกไปจากกลุ่มนี้ก็ทำได้ไม่ยากนัก   ความช่วยเหลือที่เราให้กับประเทศเพื่อนบ้านรอบบ้านเราที่ผ่านมาไม่มากมายนักนั้น ก็ทำให้หลายประเทศเขาตัดความช่วยเหลือเราลงไปชนิดว่าแทบจะไม่มีอยู่แล้ว ในปัจจุบันเขาจัดให้เราเป็นประเทศ Advance developing country ไปแล้วครับ   ทุกประเทศผู้ให้ได้ตัด ODA (Official Development Assistance) สำหรับเราไปจนจะไม่มีอะไรอยู่แล้ว    ซึ่งด้วยสภาพของไทยในองค์รวม จากการให้เปล่าแบบ ODA ก็ได้กลายเป็น หากขอมาอย่างจริงจัง จะให้ก็ได้แต่ต้องมีการแลกเปลี่ยน  ตามหลักว่า ไม่มีอะไรได้มาฟรีๆ (Nothing is for granted)

ประเด็นของเรื่อง คือ ผมยังไม่เคยเห็นนโยบายที่ชัดเจนว่าเราจะก้าวอย่างไร เราจะทำตัวอย่างไรกับสภาพในสังคมนานาชาตินี้ เราถูกจัดเป็นประเทศที่กำลังพัฒนาที่ก้าวหน้าในระดับต้นๆไปแล้ว แต่เราก็มิได้มีแนวนโยบายที่เป็นที่เข้าใจในวงกว้างว่าจะก้าวออกไปแสวงประโยชน์ในฐานะนี้อย่างไร ก็ยังคิดและจมปลักอยู่แต่จะขอความช่วยเหลือเป็นหลัก   ผมเกษียณมาหลายปีแล้ว สภาพการณ์ก็อาจจะเปลี่ยนไปเล้วก็ได้นะครับ           

   
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 53  เมื่อ 16 ก.ค. 12, 20:19

อ่านแล้วก็มึนๆเหมือนกันค่ะ   ตกลงว่าควรให้ความช่วยเหลือประเทศอื่นเขา หรือว่าควรให้ประเทศอื่นเขาช่วยเหลือเราดี   ไปๆมาๆ จะกลายเป็นว่าอย่างหลังดีกว่ามั้ง   
มันคงเหมือนอยากหาเงินเยอะๆเพื่อจะได้ทำบุญ กับหาวิธีนั่งรับเงินทำบุญจากคนอื่น   อย่างไหนจะรวยกว่ากัน

การก้าวออกไปรับ  AEC  คงไม่มีสูตรสำเร็จลงตัวเป๊ะๆ  อาจจะต้องลองผิดลองถูกกันอีกหลายยก  กว่าประเทศไทยจะปรับได้ว่าควรทำอย่างไรมากน้อยแค่ไหน
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 54  เมื่อ 17 ก.ค. 12, 19:57

ก้าวออกจากเรื่องมึนๆงงๆดีกว่านะครับ

เมื่อเกิด AEC สภาพที่จะเกิดขึ้นตามที่ฝันกันไว้ก็คือ มีการขยายขอบเขตและมีความเสรีมากขึ้นในการไหลถ่ายเทของสรรพสิ่งของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ จากเดิมซึ่งถูกจำกัดด้วยพื้นที่และมีความไม่คล่องตัวด้วยนโยบายปกป้องของสมาชิกประเทศต่างๆ ไปสู่การเปิดพื้นที่และทำให้มีความคล่องตัวมากขึ้นในระดับภูมิภาค เนื่องจากแต่ละประเทศสมาชิกก็คาดว่ากิจการทางเศรษฐกิจที่ดำเนินการโดยประชากรของตนนั้น สามารถแข่งขันได้กับเพื่อนสมาชิกประเทศอื่นๆและสามารถก้าวข้ามไปดำเนินกิจการแข่งขันอยู่ในเขตอาณาของประเทศสมาชิกอื่นๆได้

หมายความว่าเราในองค์รวมต้องมีขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งมีมากมายหลายประเด็นสุดแท้แต่จะคิดจะจับขึ้นมาวิเคราะห์ แต่ละสาขา แต่ละอาชีพ แต่ละสินค้า แต่ละอุตสาหกรรม ฯลฯ  ฟันเฟืองทางเศรษฐกิจเหล่านี้ (ทั้งระดับเล็กสุดไปจนถึงใหญ่สุด) ต่างก็มีความได้เปรียบและเสียเปรียบกันในแง่มุมต่างๆ ซึ่งการศึกษาวิเคราะห์นี้มักจะเรียกกันว่า comparative advantage analysis      ฝ่ายรัฐมักจะดูความได้เปรียบและเสียเปรียบนี้ในระดับมหภาค ปัญหาไปอยู่ที่ว่าในระดับจุลภาคลงไปถึงผู้ผลิตระดับชุมชนหรือชาวบ้านนั้น ไม่มีใครลงมาดูแลและให้คำแนะนำ

แล้วจะทำอย่างไรดี 
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 55  เมื่อ 17 ก.ค. 12, 20:58

ขอทำความเข้าใจค่ะ  ไม่เก่งเรื่องการตลาด
หมายความว่าในอนาคต  AEC จะทำให้ตลาดในประเทศอาเซียนเปิดกว้างแบบเสรี   สินค้าประเทศอื่นๆก็เข้ามาวางขายแข่งกันกับของเรา     สินค้าประเทศไทยก็เข้าไปวางขายแข่งกับของเขาในประเทศอื่น ได้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ทีนี้เราจะทำยังไงให้สินค้าของเราสู้กับของเขาพอจะมีส่วนแบ่งการตลาดได้มากขึ้น     สมมุติว่าสินค้าไทยอาจเสียเปรียบว่าคุณภาพด้อยกว่าเขา  แต่ได้เปรียบตรงราคาถูกกว่า  ตรงนี้เป็นจุดขายของเรา  อาจจะได้กลุ่มเป้าหมายคือคนรายได้น้อย  ซึ่งถ้ามีจำนวนมากพอ  สินค้าเราก็ขายได้อยู่ดี
ปัญหาพวกนี้  รัฐบาลลงไปดูแลเอาใจใส่ผู้ผลิตระดับกลางและเล็กมากพอหรือเปล่า    พอจะแนะนำได้ไหมหรือเปล่าว่าผลิตและขายยังไงถึงจะได้สตางค์  และสู้กับคนอื่นเขาได้
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 56  เมื่อ 17 ก.ค. 12, 21:24

ู^
แล้วจะทำอย่างไรดี    มันก็พอมีทางออก

ผมเห็นว่าจะต้องเอาแนวคิดแปลงมาจากที่เขาทำกันในระดับมหภาค ในเรื่องของ productivity movement
 
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ญี่ปุ่นทำมานานแล้ว คิดว่าราวๆ 40 ปีเห็นจะได้แล้ว เป็นการดำเนินการในระดับชาติ เป็นการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการสร้างอุดมการณ์และนิสัยให้มีความรับผิดชอบต่อนายจ้าง ต่อตนเอง และต่อสังคม ซึ่งมีอยู่สามเรื่อง คือ ทำงานด้วยความรับผิดชอบให้ดีที่สุดเต็มกำลังความสามารถ เพื่อให้เกิดผลดีที่สุดสำหรับองค์กรที่เราสังกัดอยู่     ผลนั้นจะตอบสนองมาให้เราได้มีชีวิตที่อยู่ดีกินดี     และทำงานโดยคำนึงถึงฝ่ายผู้ใช้ ให้ฝ่ายผู้ใช้ได้ใช้ได้รับของที่มีคุณภาพดีที่สุด (เขาก็จะหาซื้อใช้แต่ของที่เราทำ)      ผลสัมฤทธิ์ของทั้งสามเรื่องนี้ คือ ทุกคนมีความสุข

แนวคิดนี้แม้จะเริ่มโดยคณะผู้ปกครองทหาร (สหรัฐฯ) หลังสงครามโลกครั้งที่สอง (ประมาณปี 1950++) แต่ก็ไม่แพร่หลายไปในประเทศต่างๆ จนเมื่อไม่นานมานี้ (คิดว่า จนกระทั่ง TQM ซึ่งเริ่มโดยนักวิชาการอเมริกัน แต่ได้ถูกพัฒนาไปไกลโดยญี่ปุ่นได้ถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลาย)

มาเลเซียและสิงคโปร์ ไ้ด้รับแนวคิดนี้และดำเนินการในระดับชาติเช่นเดียวกันหลายสิบปีมาแล้ว ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยในระยะแรกเริ่ม ได้รับความช่วยเหลือและสนับสนุนจากญี่ปุ่น

ในปัจจุบันนี้ แนวคิดนี้ได้ต่อยอดไปในอีกระดับหนึ่ง คือ การไปพัฒนาในด้านการให้บริการหลังการขาย ซึ่งมิใช่เรื่องของการรับผิดชอบซ่อมแซมอย่างที่เห็นๆกันครับ แต่เป็นเรื่องของการแนะนำขยายวิธีการทำและวิธีการใช้ให้เกิดประโยชน์ในเรื่องต่างๆมากขึ้น หรือการทำให้สิ่งนั้นมีคุณค่าเพิ่มขึ้นทั้งสำหรับตนเองและสังคม

แล้วเราจะทำได้อย่างไร
  
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 57  เมื่อ 17 ก.ค. 12, 22:04

^
แล้วเราจะทำได้อย่างไร

ผมเห็นว่า เมื่อฝ่ายรัฐไม่ได้ทำอะไรมากในเรื่องดังกล่าวนี้  เราซึ่งพอมีความรู้ก็ควรจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะอธิบายขยายความให้ชาวบ้านเขาได้รู้กันในทุกแห่งที่มีโอกาสได้สนทนาและในระหว่างการเลือกซื้อของกินของใช้ต่างๆ   ผมเห็นว่าเรื่องที่เราตำหนิเมื่อซื้อสินค้าเหล่านั้นก็คือจุดเริ่มต้น แทนที่จะตำหนิก็แสดงความเห็นในลักษณะของการติเพื่อก่อ เช่น บอกเขาว่าคุณภาพและราคาจะเพิ่มขึ้นหากจะระวัง หรือทำเพิ่ม หรือจัดของอย่างไร ฯลฯ

เอาละครับ ขี่ม้าเลียบค่ายจบแล้ว

ก่อนจะไปต่อ  ข้อพิจาณาหลักก็คือ เรารู้จักตัวเองดีพอหรือยัง เรารู้จักผลิตภัณฑ์ของเราดีพอหรือยัง เรารู้จักความต่างของสินค้าของเราดีพอหรือยัง และเรารู้จักเขา (ผู้ซื้อ) หรือยัง    (เรา ในที่นี้ คือ ตัวเจ้าของ / ผู้ผลิต)   

จากนี้ไปจะเป็นเรื่องที่ได้พบเห็น และควรจะช่วยกันแก้ไขอย่างไร ครับผม
   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 58  เมื่อ 18 ก.ค. 12, 20:38

เรื่องแรก

เราต้องเลิกระบบคิดที่ว่า ...ที่สุดในโลก   .....ที่สุดในประเทศ   ....ได้รับรางวัลที่หนึ่งของประเทศ  ฯลฯ

ระบบนี้เป็นระบบคิดที่เอาของทั่วประเทศมาประกวดกัน แข่งขันกันเพื่อตัดสินว่าของใคร ที่ใหน เรื่องอะไรเป็นสุดยอด  คัดเลือกแล้วก็ถ่ายรูปเอาไปป่าวประกาศโฆษณาทั่วโลกว่า หน้าตาของดีเป็นอย่างนี้นะ ยกตัวอย่างเช่น ต้มยำกุ้ง ก็มีทั้งน้ำใส ใส่น้ำพริกเผา ใส่กะทิ  ในปัจจุบันนี้หากต้มยำกุ้งไม่มีสีแดงเป็นจุดๆลอยอยู่บนผิวหน้า ก็จะถูกมองว่าไม่ใช้ของจริง ทั้งๆที่ของจริง สีแดงๆที่ลอยอยู่นั้นคือมันกุ้ง แต่ได้ถูกแต่งเติมให้ดูเหมือนด้วยน้ำพริกเผา เป็นต้น  เป็นผลทำให้ของดีของแท้จริงๆถูกบดบังไป   ขนมทองม้วนก็เช่นกัน เอามาจัดประกวดการสร้างสรรค์กัน ใส่ใส้นั่น ใส่ใส้นี่ แล้วก็เลือกกันว่าใส่ใส้หมูหยองชนะเลิศ  และไม่รู้ขนมทองม้วนเป็นของคาวหรือของหวานกัน แถมฝันว่าจะส่งออกได้อีก หารู้ไม่ว่าอาหารที่มีเนื้อสัตว์เป็นส่วนประกอบนั้นยุ่งยากเพียงใดในการนำเข้าประเทศหนึ่งประเทศใด       

ของดีที่สุด (สัมผัส รูป รส กลิ่น เสียง) ในสายตาของคนในพื้นที่หนึ่ง ในหมู่บ้านหนึ่ง ในท้องถิ่นหนึ่ง ในภาคหนึ่ง ย่อมต่างกับของคนนอกถิ่นนั้น จะเอากรรมการเพียงไม่กี่คนเป็นตัวแทนของคนทั้งประเทศมาตัดสินว่าอะไรเป็นที่สุดของคนทุกภาคทั่วทั้งประเทศได้อย่างไร

ระบบมันไม่ควรจะเป็นเรื่องของการจัดประกวดเพื่อคัดเลือกและโฆษณา แต่มันควรจะเป็นเรื่องของนำเสนอให้ผู้คนทั่วไปได้รู้ว่ามีอะไรบ้างในถิ่นนี้ มีความแตกต่างอย่างไร อยู่ที่ใหน หมูบ้านใด ดำบลใด อำเภอใด แล้วให้ผู้คนทั่วไปได้ตัดสินเอง ทำในลักษณะนี้จะช่วยส่งเสริมภูมิปัญญาชาวบ้านอีกทางหนึ่งด้วย
     
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 59  เมื่อ 18 ก.ค. 12, 21:14

ผมเห็นว่าเราต้องรู้จักและมีความสุนทรีย์ในของดีประจำถิ่นของเราเองให้มากๆ

ข้าวหอมมะลิ เป็นข้าวที่ทุกคนในโลกยอมรับว่าเป็นข้าวคุณภาพดีมาก หอมและอร่อยนุ่มนวลมาก ในเนื้อแท้ของข้าวหอมมะลิที่ไปขายอยู่ในโลกนี้ มีทั้งที่เป็นข้าวหอมมะลิล้วนๆ หรือมีอยู่ไม่เกิน 95%ที่เหลือเป็นข้าวอื่นผสม หรือมีสัดส่วนน้อยกว่านั้นอีก หรือไม่ใช่ข้าวหอมมะลิเลย (ที่เรียกกันว่าข้าวปทุม) 

ชาวต่างชาติทั้งหลายกลับไปบ้านแล้ว ติดใจซื้อข้าวหอมมะลิมาหุง แล้วก็บ่นว่า ไม่เห็นเหมือนกับที่กินในเมืองไทยเลย แน่นอนว่าคงจะไม่เหมือนกันด้วยหลายสาเหตุ ตั้งแต่ข้าวใหม่ ข้าวเก่า ข้าวผสม หรือข้าวที่ไม่ใช่หอมมะลิเลย รวมทั้งวิธีการหุงข้าว ปริมาณน้ำที่ใช้ และการซาวข้าว

ประเด็นอยู่ที่ว่า ชาวบ้านชาวนาทั้งหลายรวมทั้งเราเองด้วยน่าจะใช้สภาพดังที่เล่ามานี้จำแนกความต่างให้มีความเป็นเฉพาะและสุนทรีย์มากขึ้นเมื่อใช้บริโภคภายใน เราในฐานะคนไทยน่าจะลงไปเลือกซื้อกินถึงระดับว่าปลูกมาจากที่ใหน จังหวัดใด และเลือกซื้อกินข้าวที่เป็นหอมมะลิล้วนๆไม่มีปน   ข้าวก็มีสหกรณ์ มีโรงสีประจำถิ่น ปัจจุบันนี้จึงมีข้าวที่ใส่ถุงขายที่บอกแหล่งผลิตกันแล้ว ซึ่งบางแห่งก็ระบุชัดเลยว่าผสมหรือไม่ผสม เพียงแต่เราจะเลือกด้วยความสุนทรีย์นี้ มันก็จะส่งผลลงไปถึงชาวบ้านทั้งทางเศรษฐกิจและความภาคภูมิใจของเขาที่จะพัฒนาและมีกำลังใจในการผลิตของที่ดีๆ ปากของเราที่แนะำนำกันต่อๆไปทั้งระหว่างเราด้วยกันเองหรือกับคนต่างชาติ คือตัวช่วยตัวหนึ่งสำหรับชาวนาชาวบ้านในท้องถิ่น   
เป็นเรื่องของการรู้เรา รู้จักตัวตนของเรา มีของอะไรดี มีของอะไรไม่ดี มีของอะไรที่อยากจะปกป้องปิดบัง หรือมีของอะไรที่อยากจะส่งเสริม เปิดเผยเพื่อประโยชน์ใด
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 3 [4] 5 6 ... 21
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.067 วินาที กับ 20 คำสั่ง