เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 17 18 [19] 20 21
  พิมพ์  
อ่าน: 102364 ก้าวย่างในยุค AEC
cutenail
อสุรผัด
*
ตอบ: 9


ความคิดเห็นที่ 270  เมื่อ 24 ต.ค. 12, 08:53


เนื่องจากที่ผ่านมาประเทศไทย ทำอุตสาหกรรมในด้านลักษณะรับจ้างผลิตมาก ทำให้เราไม่มีตราสินค้าที่เป็นสากล และเป็นที่รับรู้เช่นตราสินค้า เช่น โค้ก ซัมซุง โซนี่ เป็นต้น ซึ่งในระยะยาวการไม่มีแบรนด์ หรือตราสินค้านี้จะค่อนข้างลำบากในอนาคต เนื่องจากเราจะเป็นแหล่งแรงงานถูกตลอดไปไม่ได้ตลอด

อาหารไทยในปัจจุบันยังเป็นลักษณะงานฝีมือเฉพาะตัว เช่น ภัตตาคารบางแห่งถ้ามีการเปลี่ยนตัวพ่อครัวหลักรสชาติอาหารจะเปลี่ยนไป ซึ่งจะทำในรูปแบบอุตสาหกรรมทำได้ค่อนข้างยาก ไม่เหมือนอย่าง เคเอฟซี แม็ค สตาร์บัค ซึ่งส่วนหนึ่งคนไม่ได้เข้าไปกินอาหารหรือ เครื่องดื่มเพียงอย่างเดียว ซึ่งต่างกับอาหารไทยที่คนเข้าไปรับประทานเพราะติดใจของรสชาติ แต่ไม่ใช่ว่าจะทำไม่ได้เลยสำหรับจะทำในรูปแบบอุตสาหกรรมเพียงแต่ อาจจะต้องอาศัยวิธีการ ทางการตลาด หรือการสื่อสารที่ซับซ้อนมากขึ้น

ลองคิดเอาแบบง่าย ๆแล้วกันครับ ทำอย่างไร จะทำให้อาหารไทย เข้าไมโครเวฟ โดยใครก็ได้ที่เป็นพนักงานที่ไม่จำเป็นต้องเก่งทำครัว เพียงแต่เป็นคนมีจิตใจด้านการบริการ แล้วออกมาเสริฟ คนรับประทานมีความรู้สึกว่า อาหารนี้อร่อย ใกล้เคียงกับพ่อครัวปรุงอยู่ตรงนั้น

แล้วลองจำลองภาพไปถึง จะหาวัตถุดิบจากไหน จะบริหารวัตถุดิบอย่างไร จะผลิตอย่างไรให้อาหารสดตลอด ไม่มีปัญหาการจัดเก็บ รสชาติจะคงที่ตลอดอย่างไร จะทราบได้อย่างไรว่าผู้บริโภคชอบแบบไหน ผู้บริโภคจะรู้สึกดี และชอบกับอาหารกล่องแบบนี้ โดยไม่รู้สึกว่ากินกันตายไปวัน ๆ หรือไม่   จะสร้างพฤติกรรมคนบริโภคอย่างไรให้รู้จักกับตราสินค้า แล้วรู้สึกว่าฟาสต์ฟู้ดข้าวพแนงไก่กล่องตราลิงบังเสานี่กินแล้วอร่อย ยกแกงพแนงมาซดโฮกแล้วเท่ห์ จะให้ดีต้องมีคราบเครื่องแกงติดมุมปากนิด ๆ จะหล่อมาก
 (แบบเดียวกับการสร้างวัฒนธรรมการบริโภคนิยมของอเมริกันนั่นล่ะ เช่น สมัยก่อน พระเอกต้องคาบบุหรี่ มาร์ลโบโร หรือ วัยรุ่นขับรถ เลี้ยวแว่บเข้า แม็ค ขับออกมา ขับรถไป กินแม็คไป มือซ้ายก็กดสมาร์ทโฟนไป หูก็ฟังเพลง )
 
สำหรับภัตตาคารใหญ่ ก็ต้องแยกเป็นอีกช่องทางหนึ่ง คือมีพ่อครัวปรุงถือว่าเป็นแบบตามสั่ง ก็จะเป็นอีกระดับหนึ่ง ซึ่งแตกต่างกันออกไป

บันทึกการเข้า
พวงแก้ว
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 271  เมื่อ 24 ต.ค. 12, 14:22

ซีพีก็คงคิดเช่นนี้เหมือนกันตอนนี้อาหารถาด อาหารกล่องมากมายหลากหลายชนิดจึงเต็มชั้นของเซเว่นฯ
ข้าวผัดกระเพราไข่ดาว ข้าวหมูเกหลี สปาเก็ตตี้หน้าต่างๆ ราคาก็ประมาณ 35-40 บาทเท่าไกับข้าวแกง
ในร้าน

เห็นได้ชัดว่าซีพีต้องการเป็นครัวโลก ในด้านอาหารสดสำเร็จรูป แม้ตอนนี้จะยังเป้นที่นิยมในเมืองไทย
แต่เกี้ยวกุ้งก็เริ่มส่งออก  และตามมาด้วยผัดไทยกุ้งสด ถ้าได้รับความนิยมในต่างประเทศก็ถือว่าปักธงได้แล้ว
อีกหน่อยคงมีเมนูอื่นๆตามไปอีก เท่าที่ทราบผัดไทยที่ขายในบูธเล็กๆในต่างประเทศนั้นเป็นเหมือนเส้นผัดซอส
ที่ห่างชั้นของคำว่าผัดไทยอยู่มาก ชื่อเสียงจะเสียงหายถ้าคนต่างชาติคิดว่านั่นใช่แล้ว

ในระยะ2-3 ปีมานี้ซีพีมุ่งทำอาหารจานเดียวที่ให้พนักงานอุ่นให้เสร็จ พร้อมทาน ทำให้การเดินทางไกล
ไม่เป็นอุปสรรคต่อไป แวะปั๊มน้ำมันที่ไหน ก็ทานอาหารได้เหมือนกัน ชอบอะไรก็ทานได้ทุกที่

เดี๋ยวนี้ปั๊มน้ำมันจึงเป็นที่พักคนเดินทางที่สะดวกสบาย ชวนให้การท่องเที่ยวในประเทศเป็นที่น่าพิสมัยขึ้นอักโข
แต่ถ้าจะให้ทำโฆษณาโก้ๆ คงต้องรออีกพักใหญ่นะคะ สัก 10-20 ปี ใครจะรู้ โลกสมัยนี้หมุนเร็วจะตายไป...จริงไหม


บันทึกการเข้า
mrpzone
มัจฉานุ
**
ตอบ: 89


ความคิดเห็นที่ 272  เมื่อ 25 ต.ค. 12, 07:43

นั่งอ่านกระทู้ AEC ถึงตอน..อาหารไทย อาหารกล่อง อาหารสำเร็จรูป

สงสัยท้องมันอ่านตามผมไปด้วย ก็เลยร้องจ๊อกๆ ตอบรับเนื้อหา
จำต้องลุกไปเตรียม "มาม่าแกงเขียวหวานไก่" ใส่ชามตอกไข่ใส่สองใบ
พร้อมกับชงกาแฟยามเช้า เพิ่มขนมปังอีกสองแผ่นเป็นชุดดับเบิล

อากาศบ้านผม ตอนเช้าๆ สายหมอกโปรยหล่นลงมาเป็นสายชุ่มฉ่ำยังกะฝนปราย
มาม่าและกาแฟร้อนๆ มื้อนี้จึงอร่อยอิ่มบรรยากาศดีนักแล  ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 273  เมื่อ 25 ต.ค. 12, 08:36

ภาพประกอบค่ะ


บันทึกการเข้า
mrpzone
มัจฉานุ
**
ตอบ: 89


ความคิดเห็นที่ 274  เมื่อ 25 ต.ค. 12, 11:43

ง่า.. ภาพที่ อ.เทาชมพู กรุณาหามาประกอบ ดูแล้วสวยงามตาเกินกว่าของจริง (ที่ผมเพิ่งทานไปเมื่อเช้า) ไปมากเลยครับ
ขอบคุณครับ ^_^

อยากหาเครื่องแกงมาเสริมให้ดูเป็นแกงเขียวหวานจริงๆ แต่ก็ไม่สะดวกไปตลาดสด
ก็เลยทำแค่ ฉีกซองใส่มาม่า.. เทซองเครื่องปรุง.. ตอกไข่สองฟอง.. แล้วก็เทน้ำร้อน..

รอประมาณ 3-4 นาที ก็ทานแบบโล้นๆ แบบไร้เครื่องเคียงเลยครับ   ยิ้มกว้างๆ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 275  เมื่อ 26 ต.ค. 12, 20:13

กลับมาแล้วครับ ได้พาหลานไปสัมผัสกับชนบท สนุกสนานกันมาก หลานๆได้เห็นจิ้งหรีด กบ ใส้เดือนกิ้งกือ ตุ๊กแก ป่า นา เขา ฯลฯ สร้่างเสริมประสบการณ์ชีวิตครับ

ขอต่อความจากคุณ cutenail ครับ
เรื่องที่กล่าวมาตาม ค.ห.ที่ 270 นั้นมีผู้ทำกันแล้ว ผมได้พยายามดันเรื่องนี้มาตั้งแต่เมื่อประมาณปลายปี ค.ศ.2000 ในยุโรป แต่ไม่มีผู้สนใจ ก็พอเข้าใจได้ด้วยสภาพของสิ่งแวดล้อมต่างๆในขณะนั้น จนกระทั่งมาประจำการอยู่ในญี่ปุ่น จึงได้เห็นกระบวนวิธีการดำเนินการที่บริษัทญี่ปุ่นได้กระทำตามแนวคิดที่ได้มาจากการสนทนาในหลายโอกาสบนโต๊ะกินข้าวกับท่านทูตในขณะนั้น ก็ประมาณปี ค.ศ.2005

เริ่มด้วยหลักการว่าแกงไทยก็ควรจะกินกับข้าวไทย มิใช่กินกับข้่าวญี่ปุ่น ดังนั้น จะต้องเกิดทั้งสองสิ่งพร้อมกัน คือ จะต้องมีข้าวไทยที่บรรจุซองขายเล็กๆ และมีแกงที่คนญี่ปุ่นชอบและรู้จัก (แกงเขียวหวานไก่และต้มยำกุ้ง) บรรจุในซองขาย (พอมื้อ) ไปพร้อมกัน บริษัทที่ทำข้าวขายเป็นซองและบริษัทที่ทำแกงขายเป็นซองเป็นคนละบริษัทที่ทำธุรกิจต่างกันกันแต่ต้องร่วมมือกัน หลัการคือขายคู่กัน  ฝ่ายไทยได้ประโยชน์จากการขายข้าวหอมและการกระจายตลาดอาหารไทยให้เพิ่มมากขึ้น ฝ่ายญี่ปุ่นก็ได้เิปิดธุรกิจใหม่ๆ

(ขอจั่วไว้กันลืมสักนิดนึงครับ กันลืมเพื่อจะได้เล่าเรื่องบางส่วนของนโยบายและตลาดข้าวของประเทศอื่น)

ปรากฏว่า ธุรกิจของทั้งสองบริษัทประสบผลสำเร็จอย่างมาก 
ประเด็นแรกก็คือ ข้าวญี่ปุ่นที่เขากินกันเป็นประจำวันนั้น เป็นข้าวเมล็ดสั้นป้อม มียางคล้ายข้าวเหนียว คนญี่ปุ่นจึงกินข้าวด้วยตะเกียบด้วยวิธีการใช้ตะเกียบตักมากกว่าวิธีการพุ้ย (การพุ้ยข้าวเข้าปากจึงไม่ค่อยจะเป็นการกินที่สุภาพสำหรับคนญี่ปุ่น) ต่างกับคนจีนที่กินข้าวเมล็ดยาวเหมือนข้าวหอมของไทยเรา จึงใช้วิธีพุ้ยเข้าปากเนื่องจากคีบตักลำบาก   ก็ลองนึกดูนะครับ คนญี่ปุ่นกินแกงกะหรี่กับข้าวเมล็ดสั้น (อย่างกับข้างเหนียว) ด้วยช้อนอยู่แล้ว พอไ้ด้กินข้าวไทยที่หอมกรุ่นแบบไม่ร่วนซุยจัดกับแกงไทยที่โปรดอยู่แล้วจะเป็นอย่างไร แทนที่จะต้องออกไปหากินที่ร้านอาหารไทยที่เสียเงินแพงกว่า

ขอต่อพรุ่นี้ครับ
         
 
บันทึกการเข้า
พวงแก้ว
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 276  เมื่อ 26 ต.ค. 12, 20:38

คุณตั้งกลับมาแล้ว ...พร้อมกับมีไฟเต็มแบตด้วย การได้ไปพักผ่อนระยะยาวร่างกายจะปรับตัวเต็มที่
ได้พักผ่อนจริงๆ ดีกับสุขภาพกายและใจ ดีใจด้วยที่หลานๆได้ไปสัมผัสธรรมชาติอย่างใกล้ชิด
ผู้ใหญ่ที่สามารถอธิบายเรื่องของธรรมชาติได้อย่างดี เป็นบุญของเด็กๆนะคะ

จะคอยฟังเรื่อง ตลาดข้าวของประเทศอื่น ที่ตอนนี้กำลังร้อนเพราะนโยบายจำนำข้าวของไทย
และตลาดอาหารสำเร็จรูปของไทยในต่างแดนคะ
บันทึกการเข้า
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


ความคิดเห็นที่ 277  เมื่อ 26 ต.ค. 12, 20:42

กลับมาเข้าห้องเรียนครับ  ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 278  เมื่อ 27 ต.ค. 12, 19:46

ประเด็นต่อมาคือ ความเข้าใจในเนื้อในของตลาด  ซึ่งผมได้มาจากการสนทนากับผู้ประกอบการทั้งสอง (ฝ่ายข้าวกับฝ่ายกับข้าว)
ผู้ประกอบการทั้งสองฝ่าย มีความเข้าใจเนื้อในของสังคมและความคิดของคนเป็นอย่างดี    สภาพความเป็นจริง คือ ผู้บริโภคของตลาดนี้ไม่ใช่แม่บ้านที่จะซื้อไปทำให้กับครอบครัวกิน เนื่องจากอาหารเช้าก็เป็นอีกแบบหนึ่ง อาหารกลางวันก็ไม่มีใครอยู่บ้านที่จะต้องทำกิน อาหารเย็นสำหรับลูกหรือครอบครัวก็เป็นอีกแบบหนึ่ง และสำหรับเจ้าประุคุณสามีที่กลับมารอบดึกก็เป็นอีกแบบหนึ่ง   ผู้บริโภคสำหรับสินค้าลักษณะนี้ที่แท้จริงจึงคือ คนในวัยหนุ่มสาว โดยเฉพาะที่ยังเป็นโสด ที่เช่าห้องอยู่อาศัย มีครัวเล็กๆ มีตู้เย็นเล็กๆ ไม่มีที่เก็บของส่วนเกินในห้อง   ดังนั้น ข้าวหอมไทยปริมาณในซองหนึ่งที่พอสำหรับคนหนึ่งถึงสองคน กับแกงในซองหนึ่งที่มีปริมาณพอสำหรับคนหนึ่งถึงสองคน จึงเป็นเรื่องที่กำลังพอดี ที่จะเปลี่ยนรสชาติอาหาร หรือกินกันในโอกาสพิเศษ

ประเด็นต่อมา คือ เราก็เปิดโอกาสให้เขาเข้ามาร่วมในงานที่ทางสถานทูตจัดขึ้นเพื่อการส่งเสริมในเรื่องต่างๆของไทย เพื่อแสดงสินค้าไทยที่ผลิตในประเทศไทย ตามวาระและโอกาสที่เหมาะสม  ซึ่งได้ผลในเรื่องของการเพิ่มปริมาณการขายข้าวและการเผยแพร่อาหารไทยไปในหมู่คนวัยหนุ่มสาวในระดับที่ดีทีเดียว  ก็ดีพอที่ผู้ประกอบการทั้งสองจะร่วมกันเปิดร้านอาหารไปในหลายเมือง และกิจการก็เจริญก้าวหน้าดี

ประเด็นต่อมา คือ ผู้ประกอบการทั้งสองพยายามปรับปรุงให้สินค้าของเขามีความต่างน้อยที่สุดจากที่หุงกินทำกินกันในประเทศไทย   อันนี้ผมเข้าไปมีส่วนร่วมด้วยพอสมควร ให้ความรู้ ตอบคำถามและวิจารณ์ผลผลิตของเขา เริ่มตั้งแต่วิธีการหุงข้าวแบบไทย (มิใช่หุงแบบโบราณแบบรินน้ำข้าวแล้วดงนะครับ) รวมทั้งวิธีแก้หากข้าวที่หุงเแฉะหรือดิบเกินไป   ไปจนถึงการปรับปรุงแกงต่างๆ  ที่ได้ลองชิม ได้แนะนำ และเขาก็นำไปปรับปรุง ก็มีอาทิ แกงเขียวหวานนั้นควรมีเนื้อและมะเขือเป็นชิ้นๆ มิใช่เละเหมือนกับแกงกะหรี่ของญี่ปุ่น เน้นให้ออกกลิ่นยี่หร่าเพิ่มขึ้น เป็นต้น   ต้มยำกุ้งก็ควรจะใช้พริกขี้หนูสวน ใช้ข่าอ่อนแทนที่จะใช้ข่าแก่ ใช้ตะไคร้ส่วนโคนให้มากกว่าส่วนปลาย และใช้ใบมะกรูดสดที่ไม่แก่ไม่อ่อนจนเกินไป เป็นต้น   แกงเผ็ด (นิยมเรียกกันว่าแกงแดง) ก็เช่นกัน  ที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือ ได้แนะนำให้เขารู้จักกับผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติพิเศษ และให้ร่วมมือกัน   วัตถุดิบและผลผลิตที่เป็นสินค้าทั้งหมดนี้ผลิตในประเทศไทยทั้งสิ้น   โดยสรุป ก็คือ มีการปรับปรุง และสามารถขายได้ในระดับที่ดีมากๆ

ก่อนจะเกษียณก็ได้เห็นว่า มีการทำข้าวต้มมัดใส้กล้วยทดสอบตลาดกันแล้ว    ก็ทำให้นึกถึงข้าวหลามที่เคยมีคนไทยพยายามจะทำเป็นสินค้าส่งออก โดยทำแบบข้าวหลามทางภาคเหนือ (ปอกเปลือกไม้ให้บาง) แต่ให้มีรสชาติแบบภาคกลาง  ตัดขวั้นเหมือนอ้อยพอดีคำ  ขายดีนะครับ แต่หายไป คงจะเป็นเพราะหาไม้ข้าวหลาม (ไม้ไผ่ชนิดหนึ่ง) ได้ยากนั่นเอง 


อยากจะบ่นแต่เพียงว่า อาหารไทยนั้นมันมีความละเอียดอ่อนในการเลือกเครื่องปรุงและมีความละเมียดละไมในกระบวนการทำมาก  สักแต่ว่ารู้จักว่าเป็นอาหารไทยยังแยกไม่ออกว่าแกงคั่ว แกงเผ็ด ต่างกันอย่างไร พะแนง ฉุ่ฉี่ ต่างกันอย่างไร ส้มตำที่กินกับข้าวมัน กับส้มตำที่กินกับข้าวเหนียวต่างกันอย่างไร ขนมจีนซาวน้ำยังไม่เคยกิน ฯลฯ ไม่ชอบเข้าครัวทำกับข้าว แล้วจะไปอยู่ปฏิบัติการส่งเสริมอารหารไทยหรือครัวไทยกันจะได้ผลเป็นประการใด ก็น่าสงสัยอยู่หรอก      ที่ผมเคยเจอและเข้าขั้นทึ่ง คือ ฉลองด้วยแชมเปญ (แถม corked อีกด้วย) แนมด้วยม้าฮ่อ  กระฉูดกระชากไปคนละทาง เล่าไม่ถูกจริงๆ         
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 279  เมื่อ 28 ต.ค. 12, 18:45

ก่อนจะไปกล่าวเล็กๆน้อยๆถึงเรื่องของนโยบายข้าวที่ได้จั่วหัวไว้กันลืมนั้น
ขอเรียนว่า เรื่องนโยบายข้าวที่จะกล่าวถึงนี้  ผมตั้งใจจะยกเป็นตัวอย่างหนึ่งของเนื้อหาที่จะกล่าวถึงในอารัมภบทต่อไปนี้

ในภาพของ AEC ที่ทุกประเทศฝันเห็นกันอยู่นั้น ดูเหมือนจะเห็นตรงกันในเรื่องของตลาดที่มีผู้บริโภคอยู่ประมาณ 400 ล้านคน ทุกประเทศคิดในเรื่องของการส่งสินค้าส่งออกไปในตลาดนี้ คิดว่าเศรษฐกิจะขยายตัวและเจริญรุ่งเรืองก็ด้วยรายได้จากการส่งออกนี้  แล้วก็คิดเหมือนๆกันว่า จะมีคนเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้นเป็นทวีคูณ  แล้วก็คิดเหมือนกันอีกว่า เพื่อให้มีสินค้าส่งออกจากประเทศของตนให้มาก ก็จะต้องชักชวนและส่งเสริมให้บริษัทต่างชาติและบริษัทข้ามชาติทั้งหลายเข้ามาลงทุนผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกหรือย้ายฐานการผลิตมาอยู่ในประเทศของตน     ดูเหมือนจะลืมหรือคำนึงถึงน้อยไปหน่อยว่าบริษัทที่เข้ามาลงทุนเหล่านั้น เกือบทั้งหมดจะเป็นผู้ผลิตสินค้าอุตสาหกรรมทางเทคโนโลยี  ก็ถูกต้องอยู่หรอก เพราะหากแหล่งผลิตหรือฐานการผลิตอยู่ที่ประเทศใด มันก็จะเกิดการส่งออกมากขึ้นได้เงินเข้าประเทศมากขึ้น  แต่ในอีกมุมหนึ่ง ก็จะเกิดภาพในอีกทางหนึ่ง คือ เงินที่จะตกอยู่ในประเทศนั้นเกือบทั้งหมดก็คือเพียงค่าแรงงาน เพราะว่าัวัตถุดิบทั้งหมดเป็นการนำเข้า เว้นไว้ว่าจะมีการส่งเสริมอย่างจริงจังให้เกิดผู้ผลิตรายย่อยภายในประเทศที่หลากหลายและมีจำนวนมากพอที่จะผลิตชิ้นส่วนป้อนโรงงาน (กลุ่มผู้ผลิตเหล่านี้เรียกชื่อรวมๆกันว่า SMEs)    อีกภาพหนึ่งก็คือ เกิดสภาพของการอนุญาตให้ใช้แผ่นดินของตนเป็นที่ทิ้งกากและขยะ โดยประเทศนั้นๆก็จะต้องกลายเป็นผู้ทำหน้าที่เป็นภารโรงทำความสะอาดแผ่นดินของตน 

ผมเห็นภาพที่พึงจะกระทำในอีกมุมหนึ่ง คือ ทำไมเราจะต้องไปทำการแย่งชิงนักลงทุนต่างชาติมากมาย จนกลายเป็นการทำให้บริษัทและคนต่างชาติเหล่านั้นมีอภิสิทธิ์ (privilege) หรือบางครั้งไปถึงการมีภูมิคุ้มกัน (immunity) เหนือคนไทยในแทบจะทุกเรื่อง  ทำไมเราไม่สร้าง ไม่ส่งเสริม และไม่ให้คุณค่ากับผลผลิตและสิ่งของของเราเอง (รวมทั้งสังคมและวัฒนธรรม) ที่เป็นผลมาจากความสามารถทางสติปัญญาของเราทั้งในเชิงของวิทยาการสมัยใหม่และภูมิปัญญาที่ได้สั่งสมกันมาตั้งแต่ในอดีต

ว่ามาก็เพื่ออยากจะเห็นฝ่ายรัฐเกิดมีกระบวนทัศน์ใหม่ๆบ้างเมื่อได้เกิดมีสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมรอบตัวเราและภายในของเราที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งก็คือ เรื่องของนโยบายนั่นเอง   ตนเองเห็นว่า จนบัดนี้ก็ยังไม่เห็นกระบวนทัศน์ที่ปรับเปลี่ยนไป (paradigm shift) ที่แสดงผ่านออกมาในเชิงของ policy formulation ในเชิงของ policy guideline และในเชิงของ strategic approach    (ขออภัยที่นึกคำไทยที่เหมาะสมไม่ออกครับ)    ความภูมิใจในประเด็นของความเป็นหนึ่งและเป็นที่สุดในเชิงปริมาณ (เช่น แห่งเดียวในโลก มากที่สุดในโลก ใหญ่ที่สุดในโลก เป็นอันดับแรกหรืออันดับต้นๆของโลก เหล่านี้) นั้นคงจะมิใช่หลักการที่ถูกต้อง ดูเราจะไม่ค่อยได้ยินความเป็นหนึ่งและเป็นที่สุดในเชิงคุณภาพเอาเสียเลย ?
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 280  เมื่อ 28 ต.ค. 12, 20:29

ผมเห็นว่า ในเบื้องลึกของนโยบายของรัฐนั้น มันซ่อนไปด้วยทิศทางการทำงานบนหลักสองประการ 
ประการแรก คือ ที่จะส่งผลให้เกิดความอยู่รอด (หรือความเสถียร) ของคน สังคม และระบบภายในต่างๆของประเทศ (ซึ่งก็คือ เรื่องของการรักษาสภาพสิ่งแวดล้อมภายในต่างๆในคงอยู่ใกล้เคียงกับที่คุ้นเคยกันมา_status quo) โดยสรุปก็คือ เรื่องภายใน (internal affairs)   
ประการที่สอง คือ ที่จะส่งผลให้เกิดความอยู่รอดของประเทศในสังคมและในความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโลก (ซึ่งก็คือ เรื่องของสถานะและความมั่นคงของความเป็นรัฐ)  โดยสรุปก็คือ เรื่องของสถานะของประเทศในสังคมโลก (external หรือ international affairs)

 (ขอไปต่อวันพรุ่งนี้อีเช่นเคยครับ)
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 281  เมื่อ 29 ต.ค. 12, 18:09

^
คำพูดที่เราคุนเคยกันของหลักสองประการนี้ก็คือ ความมั่นคง  (ทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม การค้า การลงทุน อาหาร ชิวิตและทรัพย์สิน ภูมิภาค นานาชาติ ฯลฯ สุดแท้แต่จะกล่าวถึง)
 
เมื่อกล่าวถึงความมั่นคง มันก็มีกระบวนการและวิธีการมากมายที่จะทำ เรื่องเล็กๆที่ให้ผลมากเรื่องหนึ่งก็คือ เรื่องของการจัดสินค้าหรือผลผลิตบางอย่างเป็น strategic commodity หรือ strategic goods (จะแปลว่าสินค้ายุทธปัจจัยก็ดูจะไม่ค่อยตรงกับความหมายนัก แตก็จะขอใช้คำว่าสินค้ายุทธปัจจัยนะครับ)

การคิดและการจัดสินค้าในลักษณะของการให้มันเป็นสินค้ายุทธปัจจัยนั้น แต่ละประเทศก็ไม่เหมือนกัน    ครั้งหนึ่งเมื่อประเทศในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ผลิตดีบุกส่งออกเป็นจำนวนมากมายมหาศาล ประเทศเหล่านี้ไม่ได้จัดให้ดีบุกเป็นสินค้ายุทธปัจจัยเลย แต่ประเทศมหาอำนาจที่อยู่ในฝ่ายหนึ่งในยุคสงครามเย็นจัดให้ดีบุกเป็นสินค้ายุทธปัจจัย เพราะดีบุกใช้เคลือบกระป๋องที่บรรจุอาหารสำหรับทหารในการทำการสู้รบและสำหรับพลเมืองของตนในระหว่างสภาวะสงคราม   ประเทศผู้ซื้อดีบุกเหล่านี้จึงต้องมี strategic stock ซึ่งการบริหาร stock เหล่านี้ส่งผลให้ราคาดีบุกเปลี่ยนแปลงเป็นช่วงๆอย่างมากเมื่อเกิดการซื้อเข้าหรือการระบายออกของประเทศเหล่านั้น  จนกระทั่งมีการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่ใช้กระดาษเคลือบด้วยพลาสติก ที่มีความคงทนในรูปแบบต่างๆ (ความร้อน ความดัน ฯลฯ) ที่เชื่อใจได้ ก็จึงมีการโล๊ะ stock ดีบุกขนานใหญ่ ราคาดีบุกก็ลดลงทันตาเห็น  เหมืองแร่ดีบุกของประเทศผู้ผลิตจึงล้มหายตายจากไปจนเกือบจะหมดสิ้น

ิสินค้าและวัถุดิบมากมายที่ค้าขายกันอยู่ทั่วโลกในปัจจุบันก็อยู่ในระบบของการบริหารจัดการในสภาพดังที่กล่าวมา   ผลผลิตของธัญพืชประเภทแป้ง (เช่น ข้าว ข้าวสาลี) ก็เป็นหนึ่งในนั้น เพียงแต่มีวิธีการจัดการที่ต่างออกไปจากที่เล่าเรื่องดีบุกมาด้วยเหตุผลหลายประการ ประการหนึ่งก็คือ ผลผลิตทางเกษตรนั้น หากไม่มีการแปรรูป ก็จะมีแต่สภาพเสื่อมคุณภาพลงด้วยตัวของมันเองเมื่อนานวันเข้า   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 282  เมื่อ 29 ต.ค. 12, 19:32

เท่าที่พอจะทราบนั้น การซื้อขายข้าวในตลาดโลกนั้นมีอยู่หลายลักษณะ คือ ซื้อเพื่อนำไปหุงกิน เนื่องจากได้ปริมาณผลผลิตไม่พอเพียงสำหรับประชากรของประเทศ   ซื้อเพื่อนำไปแปรรูป (เป็นหลัก) เนื่องจากผลผลิตภายในค่อนข้างจะมีพอที่จะกิน แต่ไม่พอสำหรับการใช้แปรรูปหรือใช้ในเชิงอุตสาหกรรม    ซื้อเพื่อนำไปการนำไปแจกจ่ายหรือการบริจาคให้กับองค์กรการกุศล (เรื่องทางมนุษยธรรม)  และซื้อเพราะถูกกดดันให้ต้องซื้อ (เรื่องทางการเมืองระหว่างประเทศ)    ข้าวของไทยก็ถูกซื้อไปในลักษณะเหล่านี้เช่นกัน  คุณภาพข้าวที่เขาต้องการซื้อจากเรานั้น ส่วนมากจึงมิใช่เรื่องของคุณภาพดังแบบข้าวหอมมะลิที่เราเข้าใจกัน  แต่จะเป็นคุณภาพในเชิงของกายภาพเสียมากกว่า   

ว่าแต่ว่า ตัวเราเองนั้น รู้หรือไม่ว่า หรือแยกออกหรือไม่ว่า ข้าวที่เราซื้อเอามาหุงกินกันนั้น เป็นข้าวหอมมะลิจริงๆ (100%)  หรือเป็นข้าวหอมมะลิที่มีข้าวพันธุ์อื่นผสมอยู่ด้วยเป็นบางส่วน 

น่าคิดไหมครับว่า ข้าวของแต่ละนา ของแต่ละท้องถิ่น ของแต่ละจังหวัด ของแต่ละภาค ก็มีเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของตนเอง มีจุดขายของตนเอง    ในยุคของ AEC ที่จะถึงนี้ เรื่องของข้าวก็ยังคิดในเชิงของ strategic ในเชิงของเอกลักษณ์และเอกลักษณ์ได้    ไวน์ของโลกเขาก็ยังอุตส่าห์แยกเป็นไวน์โลกเก่ากับไวน์โลกไหม่ แถมยังมี Estate wine อีกด้วย ในกลุ่มใวน์ของฝรั่งเศสเองก็ยังแยกย่อยออกไปอีก มีการจัดลำดับดับชั้น มีการจำแนก Vintage year  แถมยังมีการจำกัดการใช้ชื่อเรียกอีกด้วย   ผมเห็นว่า นี่คือตัวอย่างหนึ่งของการสร้างแบรนด์ สร้าง OTOP สร้าง...ฯลฯ ที่เกิดประโยชน์กับชุมชนรากหญ้าอย่างแท้จริงที่รัฐและส่วนราชการพึงหันกลับ ก้มลงมอง แล้วกระทำอย่างจริงจังสำหรับการก้าวย่างเข้าสู่ยุค AEC
บันทึกการเข้า
พวงแก้ว
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 283  เมื่อ 29 ต.ค. 12, 21:05

ขอยืนยันว่า ....ไม่ได้เจอข้าวหอมมะลิที่หอมจริงๆมานานแล้วคะ แม้จะแสวงหาอยู่นาน

ถามหาจากร้านขายข้าวสารโดยตรง ก็ยังไม่ใช่...

มันคนละกลิ่นกับข้าวหอมที่ทานในต่างประเทศ (เจ็บใจ...)อิอิ

เดือน ต.ค.นี้มีข้าวสังข์หยดบรรจุถุงขนาด 2 โล ขายในโดยบริษัทค้าข้าวเป็นครั้งแรก
มีวางขายในซุปเปอร์ เมล็ดข้าวสีแดงสม่ำเสมอ เป็นมัน สวย เวลาหุงก็เหมือนหุงข้าวหอมมะลิ
นุ่ม หวาน ไม่กระด้างแบบข้าวสีพันธุ์อื่น

อาจนับเป็นตัวอย่างของการสร้างแบรนด์ ได้ไหมคะ (ข้าวสังข์หยดเป็นข้าวพื้นบ้านที่พัทลุง
ที่มีการวิจัยว่ามีประโยชน์มาก)

บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 284  เมื่อ 30 ต.ค. 12, 18:52

^

ลองเข้าไปดูใน www.riceproduct.org ซิครับ จะเห็นชื่อพันธุ์ข้าวมากมาย ที่เป็นของท้องถิ่น แล้วก็มีอีกหลายชื่อที่ไม่ปรากฏ (เช่น ข้าวหอมหมอก ของแถวแพร่และภาคเหนือบางถิ่น)

เราวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวเพื่อประโยชน์ในการผลิตในเชิงปริมาณเป็นหลัก โดยเน้นไปทางการผสมและคัดพันธุ์ที่ทนโรคและทนต่อสภาพแวดล้อม แล้วก็เปลี่ยนชื่อพันธุ์ของมันออกไปเป็นชื่อใหม่ด้วย นอกจากนั้นแล้วยังมีการกระจายเมล็ดพันธุ์หรือเปลี่ยนพันธุ์ที่ผลิตจากศูนย์ผลิตพันธุ์ทุกๆระยะประมาณ 3 ปี เนื่องจากเมล็ดพันธุ์ที่ชาวนาเก็บไว้ทำพันธุ์สำหรับปีต่อๆไปนั้นเสื่อมคุณภาพของความเป็นเมล็ดพันธุ์ที่ดี    ชาวนาก็ต้องการปริมาณเพื่อจะขายให้ได้เงินสำหรับการดำรงชีพในแต่ละปี   เราจึงค่อนข้างจะขาดการส่งเสริมในเชิงของของดีประจำถิ่นไป   ข้าวสังข์หยด หรือสังหยอด นั้น ก็เพิ่งจะเิริ่มมีตลาดและกระจายแพร่หลายเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง ขณะนี้ก็ได้กลายเป็นเรื่องของความพยายามที่จะปลูกกันในถิ่นต่างๆนอกเขตพัทลุงและภาคใต้ เพราะขายได้ราคาดี   

ซึ่งผมเห็นในอีกมุมหนึ่งว่า ในยุคภูมิภาคไร้พรมแดนเช่น AEC นี้ ทำไมเราต้องโหมโฆษณาให้ทุกคนเกิดความรู้สึกว่าจะต้องออกไปวิ่งแข่งอยู่ในลู่เขตนอกบ้านแต่เพียงอย่างเดียว ทำไมเราไม่ดึงให้เขามาวิ่งแข่งในลู่ภายในเขตบ้านของเราด้วย เปลี่ยนจากเรื่องปริมาณไปเล่นในเรื่องคุณภาพที่เขาแข่งกับเราได้ยาก  ตัวอย่างของคุณภาพของเราก็มีอยู่แล้วมากมาย ดังเช่น ข้าว ผลไม้ต่างๆ รวมทั้งที่เรียกว่า heritage ต่างๆ   ประเทศที่มีประชากรน้อยกว่าเราหลายเท่าเช่นออสเตรีย สวิส หรือที่น้อยกว่าเช่นเชคและโปแลนด์ ฮังการี ต่างก็หาเงินด้วยปริมาณนักท่องเที่ยวและการใช้จ่ายของเขาเหล่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องของการหากินทางด้านคุณภาพทั้งนั้น มิไช่เรื่องของการหากินทางด้านปริมาณดังที่เราชอบสรรสร้างขึ้นมาให้มันเป็นเรื่องราวที่พ่วงท้ายด้วยคำว่าที่สุดในโลก   แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราก็จะต้องรู้ขีดความสามารถในการรองรับพื้นฐานของเรา และการเพิ่มขีดความสามารถที่จะรองรับได้โดยไม่ส่งผลกระทบในทางลบของเรา  ซึ่งเป็นเรื่องของความเข้าใจในความหมายของคำว่า carrying capacity อย่างจริงจัง

 
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 17 18 [19] 20 21
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.06 วินาที กับ 19 คำสั่ง