เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 15 16 [17] 18 19 ... 21
  พิมพ์  
อ่าน: 102620 ก้าวย่างในยุค AEC
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 240  เมื่อ 25 ก.ย. 12, 18:38

^
เดิมก็ว่าจะไม่ลงลึก แต่เมื่อขอมาก็จะขยายความครับ

ในช่วงทศวรรษสุดท้ายปลายยุคสงครามเวียดนาม ไทยได้มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมไปมาก และเป็นประเทศเดียวที่ถูกล้อมไปด้วยประเทศที่ัมีการต่อสู้ทางการเมือง ยกเว้นทางภาคใต้  ด้วยสภาพดังกล่าวนี้ได้ทำให้ไทยเป็นปราการสำคัญสำหรับการต่อสู้ระหว่างเสรีนิยมกับสังคมนิยม การให้ความช่วยเหลือแบบให้เปล่าหรือแบบดอกเบี้ยต่ำ (ซึ่งเป็นกลไกอย่างหนึ่งของความช่วยเหลือระหว่างประเทศในกรอบที่เรียกว่า ODA _Official Development Assistance_) จึงมีเป็นจำนวนมากหลากหลายโครงการ หลายโครงการเป็นโครงการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อการพัฒาโครงสร้างพื้นฐาน หลายโครงการก็เป็นการศึกษาเพื่อดูศักยภาพและทิศทางที่ไทยควรจะเป็นไปหรือเดินไป โครงการเหล่านี้หวังผลเพื่อให้ไทยมีความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจและสังคมอันเป็นภาพที่สำคัญภาพหนึ่งของระบบเสรีนิยม

ตัวอย่างหนึ่งในการศึกษา คือ การจัดระดับความสำคัญของเมืองต่างๆ เช่น ราชบุรีเป็นเมืองระดับรองลงมาจากกรุงเทพฯ อยุธยาเป็นเมืองศูนย์การท่องเที่ยว อ่างทองเป็นเมืองศูนย์อุตสาหกรรมอาหาร สุพรรณบุรีเป็นเมืองศูนย์การศึกษา และสระบุรีเป็นเมืองศูนย์อุตสาหกรรมวัตถุดิบทรัพยากรธรณี เป็นต้น   
การศึกษาในเรื่องโครงข่ายการคมนาคมภายในก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งเช่นกัน แต่การศึกษาในเรื่องนี้มิได้จำกัดจำกัดเฉพาะในเขตประเทศไทย ยังรวมไปถึงกรณีเมื่อสภาพการต่อสู้ทางการเมืองรอบประเทศไทยได้สิ้นสุดอีกด้วย นั่นหมายถึงโครงข่ายที่โยงใยกันระหว่างประเทศในภูมิภาคนี้

เมื่อการต่อสู้ต่างๆได้สิ้นสุดลงจริงๆ ไทยเราก็เกิดองค์กรเพื่อส่งเสริมการลงทุน ไม่ต้องลงแรงอะไรมากมายเลย มีแต่คนอยากมาลงทุน (จนกลายเป็นความสำเร็จขององค์กรอย่างยิ่งใหญ่) โดยเฉพาะญี่ปุ่น ซึ่งในช่วงความไม่สงบรอบบ้านเรานั้น ญี่ปุ่นเป็น supplier ที่สำคัญและใช้ไทยเป็นฐานกระจายสินค้าไปสู่หมู่ประเทศตะวันตกที่เข้ามามะรุมมะตุ้มอยู่กับความไม่สงบรอบๆบ้านเรา   เรื่องต่างๆก็มีพัฒนาการไปอย่างรวดเร็วจนถึงระดับที่ว่า ประเทศรอบบ้านเราก็มีการพัฒนาไปในระดับที่พร้อมรับการลงทุน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมประเภทใช้แรงงาน
   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 241  เมื่อ 25 ก.ย. 12, 19:19

ต่อมา ก็เกิดวิกฤติเศรษฐกิฐของญี่ปุ่น ต่อด้วยต้มยำกุ้งของไทย รวนกันไปทั้งระบบ จีนก็เปิดประเทศเป็นการใหญ่ ญี่ปุ่นเองก็หันไปลงทุนในจีน (แล้วก็ไปไม่ค่อยจะรอด) เวียดนามก็พร้อมรับตลาดเสรีอย่างเต็มที่ สุดท้ายพม่าก็เปิดเสรี ฯลฯ   

ในช่วงดังกล่าวนี้ นักลงทุนรายใหญ่ในภูมิภาคของเรา ต่างก็เห็นว่าภูมิภาคนี้รวมถึงจีนตอนใต้ มีศักยภาพในการเป็นแหล่งผลิตสำคัญของโลก  ถึงตอนนี้ก็คงจะเห็นแล้วว่าได้มีความคิดและการกระทำกระฉูดมากมาย

ภาพหนึ่งที่เกิดขึ้น คือ การย้ายและปรับโครงสร้างการสายพานการผลิตต่างๆซึ่งจะต้องเชื่อมโยงกัน เริ่มต้นที่โครงข่ายระหว่าง ไทย เวียดนาม จีนตอนใต้ ต่อมาก็มีสารพัด (East West corridor, Western Seaboard, สามเหลี่ยมเศรษฐกิจบ้าง สี่เหลี่ยมเศรษฐกิจบ้าง ฯลฯ)  ความสำเร็จของกระบวนการผลิตและการลงทุนข้ามชาติเหล่านี้ ก็คือการพึ่งพาระบบลอจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพจริงๆ

อาจจะมีคำถามว่าแล้วทำไมไม่ลงทุนอย่างครบวงจรอยู่ในประเทศเดียว คำตอบคงมีหลายประเด็น แต่ที่สำคัญ คือ แรงงาน ค่าแรง ความใกล้แหล่งวัตุดิบ ใกล้ท่าขนถ่ายสินค้า ระยะทางการขนส่งสินค้า สาธารณูปโภค แหล่งพลังงาน และที่สำคัญ_การรักษาความลับทางเทคโนโลยี ฯลฯ

เขียนมาเสียยืดยาว เพียงเพื่อตอบคำถามของ อ.เทาชมภู ข้อแรกครับ   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 242  เมื่อ 26 ก.ย. 12, 19:42

อ่านที่เขียนมาแล้ว พบว่ายังไม่ได้ตอบ ในเรื่อง การปรับกฎหมาย ระบบและคน ให้มีความโปรงใสและมีธรรมาภิบาล

สาเหตุที่กล่าวเช่นนี้ก็เพราะว่า
เรื่องแรก คือ จะมีสิ่งของหลายอย่างเคลื่อนที่เข้าออกดินแดนของเราและจากหลากหลายประเทศ ระบบการศุลกากรและภาษีจึงจะต้องมีความชัดเจนไม่ต้องอาศัยการตีความเป็นหลัก และอาจจต้องเพิ่มอีกตัวเลขอีกหนึ่งตัวสุดท้ายในพิกัดศุลกากรของเรา เพื่อจะลงได้ไปถึงรายละเอียดว่าสิ่งของนั้นๆคืออะไร (ผมเห็นของญี่ปุ่นทำแบบนี้ซึ่งผมสามารถลงไปหาได้เลยว่าชิ้นส่วนอีเล็กทรอนิกส์ที่ส่งจากไทยเข้าญี่ปุ่นนั้นคือชิ้นใหนและทำจากอะไร)    แล้วก็เนื่องจากว่ามันมีความตกลงทวิภาคี (ฺBilateral) พหุภาคี (Multilateral) และ Plurilateral (ไม่ทราบคำบัญญัติว่าอย่างไร) มากมายที่ทับซ้อนกันระหว่างเรากับประเทศต่างๆและระหว่างประเทศต่างๆ ไขว้กันไปมา ยั๊วะเยี๊ยะไปหมด  ซึ่งเป็นที่มาของหัวข้อการเจรจาเรื่องประเทศต้นกำเนิด (country of origin) ในการเจรจาใดๆในปัจจุบัน

เรื่องที่สอง คือ ความต่างในปรัญญาของการใช้ การตีความ ความตกลง และการทำสัญญาทางกฎหมายต่างๆ เช่น วิธีการคิดตามลักษณะกฎหมายแบบ Common Law ต่างกับวิธีการคิดตามลักษณะกฎหมายแบบ Civil Law มาก ซึ่งมากพอที่จะทำให้เกิดการตีความระเบียบและกฎหมายต่างกัน รวมทั้งวิธีการเขียนสัญญาด้วย  เมื่อเกิดความขัดแย้งกัน เรื่องก็ต้องเข้าสู่ศาล ซึ่งก็คิดต่างกันอีกว่าจะขึ้นศาลของประเทศใด เนื่องจากยังเรื่องของระบบศาลและกฎหมายที่ต่างกันมาเกี่ยวข้อง  ทางออกที่ดีที่ใช้กันอย่างหนึ่ง คือ การใช้ระบบอนุญาโตตุลาการ (Arbitration) ซึ่งก็ยังไปเกี่ยวกับว่าจะใช้ระบบของใครบนฐานของกฎหมายของใคร  ความขัดแย้งระหว่างนิติบุคคลระหว่างประเทศจึงมักจะเริ่มด้วยการเสนอใช้ระบบกลางของ UN ที่เรียกกันว่า UNCITRAL   อ้าวข้ามเส้นไปนอกเรื่องลอจิสติส์เสียแล้ว   คงจะเห็นภาพต่อไปได้นะครับ

เรื่องที่สาม เอาเพียงสองเรื่องที่เล่ามา ก็พอจะเห็นได้ว่า หากขาดธรรมาภิบาลและวิจารณาญาณของคนที่เกี่ยวข้องอยู่ในระบบแล้วจะเป็นอย่างไร เรื่องนี้มิใช่เป็นเรื่องเฉพาะของบุคคลที่อยู่ในฝ่ายปฎิบัติการเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของคนที่มีหน้าที่ทำการตรวจสอบด้วย การอำนวยความสะดวกในเรื่องใดๆนั้นมันหมิ่นเหม่ต่อการกระทำผิดไม่เรื่องใดก็เรื่องหนึ่งเสมอ ยิ่งระบบกฎหมายทางการเงินที่อยู่ในระบบกระทำได้เฉพาะที่เขียนไว้ (กระทำนอกเหนือจากนั้นเป็นความผิด) กับกฎหมายอื่นๆที่อยู่ในระบบมีความผิดหากกระทำในเรื่องที่ต้องห้าม 
 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 243  เมื่อ 27 ก.ย. 12, 20:18

อ้างถึง
ในระบบการผลิตแบบนี้ ระบบลอจิสติกส์มีส่วนช่วยอย่างมาก คือ ทำหน้าที่เป็นฟองน้ำที่ช่วยดูดซับทะยอยจ่ายทะยอยเก็บวัสดุิ่สิ่งของหรือผลิตภัณฑ์ที่จะส่งต่อ รัฐบาลญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก สนับสนุึนให้มีสถานที่สำหรับระบบฟองน้ำนี้บริเวณชานเมือง  จะว่าไปไทยก็มีคล้ายๆกันในอีกลักษณะหนึ่ง คือ ที่เรียกว่าตลาดขายส่งและตลาดสี่มุมเมือง
สนใจ  กรุณาขยายความหน่อยได้ไหมว่าตลาดขายส่งและตลาดสี่มุมเมือง เข้ามาเกี่ยวข้องได้ยังไงคะ 

เป็นเพียงภาพเปรียบเทียบให้เห็นครับ

จะยกตัวอย่างเรื่องของผลไม้ ผลไม้จากสวนของชาวบ้านที่อยู่ลึกๆนอกเส้นทางคมนาคมหลักนั้น จะมีคนเข้าไปหาซื้อ นัดวันกัน เอารถกระบะพร้อมกล่องพลาสติก (ลังผลไม้) เข้าไปเก็บเอง คัดเอง ชั่งกิโล จัดวางเรียงบรรจุในลังเอง แล้วก็จ่ายเงินกันในสวนนั้นๆเลย บางครั้งก็นัดเก็บสวนเดียว บางครั้งก็สองสามสวน ขึ้นอยู่กับปริมาณที่ประเมินไว้แต่แรกให้พอดีกับปริมาณที่สามารถจะขนได้โดยรถกระบะหนึ่งคัน  จากนั้นก็วิ่งตรงดิ่งมายังตลาดขายส่งหรือตลาดสี่มุมเมือง (หากเป็นตลาดขายส่งไข่ไก่ไข่เป็ดก็อยู่แถวๆสะพานขาว ตลาดดอกไม้ก็ปากคลองตลาด ตลาดพืชผักก็ตลาดไท) จากตลาดหลักนี้ก็ย่อยต่อไปเป็นตลาดขายส่งขนาดย่อมลงไป เช่น ตลาดไข่เทเวศ (นึกชื่อตลาดอื่นไม่ออกครับ) แล้วจึงลงไปต่อยังตลาดสดต่างๆ     แล้วก็มีที่ขนผลไม้จากสวนลงไปถึงภาคใต้เลยก็มี เช่น ขนจากสวนในเขต อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย ตรงไปยัง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ก็มี 

เป็นระบบลอจิสติส์ภายในของเราที่มีประสิทธิภาพและครบวงจรพอสมควรเลยทีเดียว คัดผลไม้แก่จัดพอดีที่จะสุกในระดับพอดีๆเมื่อมาถึงตลาดขายส่ง โดยใช้เวลาบ่มอยู่บนรถ 10 -12 หรือถึง 24 ชั่วโมง หรือมากกว่านั้น ผนวกกับช่วงเวลาที่ใช้สำหรับการส่งต่อไปขายตามตลาดย่อยๆ ผู้ซื้อก็จะได้ของใหม่ ของสดเสมอ

ฟองน้ำในระบบลอจิสติกส์ที่ยกตัวอย่างเล่ามานี้ ก็คือ ปริมาณสินค้าจำนวนมากที่ทะลักเข้าสู่ตลาดตามฤดูกาลนั้น ตลาดขายส่งก็มีข้อจำกัดในความสามารถที่จะระบายได้เนื่องจากขึ้นอยู่กับความต้องการองฝ่ายผู้ซื้อ สินค้าในปริมาณมหาศาลนี้ถูกกองอยู่ตามตลาดขายส่งส่วนหนึ่งในช่วงเวลาหนึ่ง อยู่อยู่ในรถ (เป็นฟองน้ำหรือโกดังเคลื่อนที่) ที่ใช้ในการขนส่งทั้งระบบตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงปลายทางสุดท้ายส่วนหนึ่งในช่วงเวลาหนึ่ง    การที่ไม่ต้องมีการรวมสินค้าทางเกษตรเก็บไว้ในโกดังขนาดใหญ่เพื่อค่อยๆทะยอยปล่อยออกมาสู่ตลาดนั้น เป็นเรื่องที่ถูกต้อง เพราะว่าลดปัญหาไปมากมาย เช่น ไม่ต้องทำระบบไซโล ระบบห้องเย็น ระบบชุบขี้ผึ้ง ระบบกำจัดแมลง ฯลฯ 

ลักษณะของตลาดเราก็     
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 244  เมื่อ 28 ก.ย. 12, 19:42

พูดถึงเรื่องตลาดแล้วก็จะขอขยายขี้เท่อความรู้แบบงูๆปลาๆออกไปอีกหน่อย

เรื่องของตลาดกลางครับ ผมคิดว่าคำว่าตลาดกลางของเรานั้นค่อนข้างจะมีความหมายจำกัดอยู่แต่เรื่องสถานที่และกิจกรรมก็ไปเน้นอยู่ในเรื่องของการขายส่งเป็นหลัก

ที่เคยเห็นมาในต่างประเทศนั้น ตลาดกลางดูจะเป็นเรื่องของการนำสินค้ามาขายโดยมีผู้ซื้อมาประมูลแข่งขันกัน เมื่อประมูลกันได้แล้วจึงก้าวไปสู่กิจกรรมการขายส่ง และตามต่อไปด้วยการขายปลีก สถานที่ทั้งการประมูล ขายส่ง และขายปลีกอยู่ในพื้นที่เีดียวกัน เป็นสัดส่วนแยกกัน อยู่ภายใต้ร่มชายคาเดียวกันก็มีหรือแยกชายคากันก็มี
ผมคิดว่าตลาดที่เรียกว่าตลาดกลางของประเทศในอาเซียนคงจะมีลักษณะคล้ายกัน คือเป็นลักษณะของตลาดการขายส่งเป็นหลัก

ผมเห็นว่าตลาดกลางที่มีกิจกรรมการประมูลดังที่กล่าวมา ต่างกับตลาดกลางแบบขายส่ง ตรงที่แบบหลังมีพ่อค้าคนกลางไปกว้านซื้อของมาแบบกำหนดราคาซื้อ แล้วเอามาขายต่อ (ขายส่ง) โดยบวกกำไร หรือผันแปรราคาไปตามสภาพของปริมาณความต้องการหรือความขาดแคลนของสินค้า  ในขณะที่แบบแรกผู้ผลิตสามารถเอาของมาวางขายแบบให้ประมูลกัน โดยกำหนดราคาพื้นฐาน (เพื่อเริ่มการประมูล) ตามความเหมาะสมของต้นทุนและกำไรอันพึงมี คือไม่ต้องผ่านพ่อค้่าคนกลาง 

ที่จริงแล้ว ตลาดกลางในต่างประเทศก็มีทั้งสองแบบ ผสมผสานกัน ตลาดกลางดอกไม้ในเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นตลาดกลางใหญ่ที่สุดของยุโรป ก็เป็นลักษณะของการมีพ่อค้่าคนกลางรายใหญ่รวบรวมดอกไม้ในแต่ละประเทศส่งมาวางเพื่อประมูลกัน   แต่ก็มีตลาดที่เปิดโอกาส (ส่งเสริม) ให้ผู้ผลิตรายย่อยขายสินค้าในลักษณะการประมูลกันด้วย เช่น ในกรณีของตลาดปลา ที่ชาวประมงจะเอาปลาที่จับได้ในแต่ละวันมาวางขายแบบประมูลกัน

ที่เขียนมานี้ก็เพราะเห็นว่า เราอาจจะต้องส่งเสริมให้มีตลาดเฉพาะผลผลิตบางอย่างที่อยู่ในความต้องการของตลาดตลอดเวลา (แต่มีช่วงฤดูกาลหายาก) เช่น ในกรณีของพืชผัก บางทีอาจจะต้องมีตลาดกลางมะนาว เป็นต้น  ยิ่งเมื่อเกิด AEC ผลผลิตบางอย่างของเราซึ่งได้กลายเป็นสินค้าที่นิยมและต้องการของหลายประเทศ เช่น ทุเรียน มังคุด ลำไย เหล่านี้ บางทีตลาดกลางอาจจะเป็นเรื่องที่ดีสำหรับผู้ผลิตก็ได้ แทนที่จะต้องแย่งกันเดินทาง เสียเวลาและค่าใช้จ่ายไปแสวงหาผู้ซื้อในต่างแดน

อ่านเล่นเพลินๆนะครับ       
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 245  เมื่อ 28 ก.ย. 12, 19:58

ก็อยากจะเล่าต่ออีก สองเรื่อง ในเรื่องของการค้าระหว่างประเทศในความคิดของ UNCTAD เรื่องหนึ่ง และอีกเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับการตั้งราคาสินค้าในตลาดโลก

จั่วหัวไว้ก่อนเพื่อกันลืมครับ

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 246  เมื่อ 28 ก.ย. 12, 20:16

อยากจะต่อความยาวด้วย แต่ก็จนใจจริงๆ  ไม่มีความรู้เลยในเรื่องการตลาดหรือการค้า
ได้แต่ฟังอย่างเดียวค่ะ
ขอลงทะเบียนเรียนทั้งวิชา "การค้าระหว่างประเทศในความคิดของ UNCTAD"  และวิชา "การตั้งราคาสินค้าในตลาดโลก" ด้วยนะคะ
ใครจะเข้า audit ด้วยเชิญเลยค่ะ
บันทึกการเข้า
mrpzone
มัจฉานุ
**
ตอบ: 89


ความคิดเห็นที่ 247  เมื่อ 29 ก.ย. 12, 16:59

ขอลงทะเบียนเรียนแบบฟังอย่างเดียวด้วยครับ
ขออนุญาตนั่งหลัง อ.เทาเชาพู นะครับ เผื่อไม่เข้าใจจะไ้ด้สอบถาม

(หรือไม่ก็แอบนั่งหลับไม่ให้ อ.ตั้ง เห็น  อายจัง)


ข่าวดี..สำหรับท่านผู้อ่านที่ต้องการลงทะเบียนเรียนแบบฟังอย่างเดียว
ยังเหลือที่นั่งข้างหลัง อ.เทาชมพู อีก 2-3 ที่นั่งนะครับ

ถ้าเกินกว่านี้คงจะแอบข้างหลัง อ.เทาชมพู มิได้เป็นแน่แท้  ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 248  เมื่อ 29 ก.ย. 12, 17:49

ถ้าไม่อยากเข้าห้องเรียน  นั่งฟังอยู่ที่ระเบียงก็ได้นะคะ  ตามสบายค่ะ

AEC เป็นเรื่องใหญ่ที่อาจพลิกโฉมหน้าสังคมไทยให้เปลี่ยนแบบก้าวกระโดด   มีผลกระทบไม่เฉพาะแต่การค้าหรือธุรกิจเท่านั้น   แต่อาจจะเป็นสังคมโดยรวมทุกด้านเลยก็ได้ ตั้งแต่ชีวิตความเป็นอยู่ของคนทำงานในเมืองใหญ่ ไปจนชาวไร่ชาวนาในชนบทเลยทีเดียว
แต่เท่าที่ไปไต่ถามเพื่อนฝูง ตลอดจนหนุ่มสาวคนรุ่นใหม่ดูเท่าที่จะมีโอกาสพบ      ยังไม่เคยเจอใครเลยที่รู้ว่า AEC คืออะไร  จะบอกชื่อภาษาอังกฤษหรือภาษาไทยก็ทำหน้างงๆกันทั้งนั้น
แม้แต่อาเซียน  ส่วนใหญ่ยังนึกว่าออกเสียงผิด  ต้องเป็นเอเชียไม่ใช่หรือครับ/คะ 

เห็นจะต้องปลงว่า ถึงเวลาพวกคุณก็รู้กันเองมั้ง


บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 249  เมื่อ 29 ก.ย. 12, 19:53

กลัวที่จะเล่าเรื่องเสียแล้วครับ
จั่วหัวไว้เลยดูเป็นเรื่องใหญ่ ที่จริงแล้วเป็นเรื่องย่อยๆส่วนหนึ่งที่เคยเข้าไปยุ่งด้วยในช่วงที่ทำงาน
อีกประการหนึ่ง ก็เพราะผมไม่ใช่ผู้สันทัดกรณีที่แท้จริง ก็เลยรู้สึกว่าจะเขียนได้ง่าย   อย่างว่าแหละครับ ยิ่งเรียนมากยิ่งรู้น้อย ยิ่งเรียนน้อยยิ่งรู้มาก (ผมอยู่ประเภทหลังครับ)

เรื่องความคิดของ UNCTAD ที่จะเล่านี้ เป็นเพียงเรื่องหนึ่งที่ผมเห็นว่าเป็นแนวคิดที่น่าจะมีประโยชน์มากสำหรับเรา
  
พื้นฐานพันธกิจของ UNCTAD คือ ส่งเสริม (หาแนวทาง_trade opportunity) ให้เกิดธุรกรรมทางการค้า (ในวงกว้าง_international access) ให้เกิดการลงทุน  (FDI_foreign direct investment) ที่กระจายไปทั่ว  อันจะส่งผลทำให้เกิดการพัฒนาและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (economic development) ในประเทศกำลังพัฒนา (developing countries) ทั้งหลาย

แยกซอยไปนิดหนึ่งครับ องค์กรพวกนี้ (เช่น UNCTAD  UNIDO) ผู้อำนวยการใหญ่ (DG_Director General) จะเป็นคนจากประเทศกำลังพัฒนาเท่านั้น คือมาจากกลุ่มประเทศ G-77 (Group of Seventy seven) ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาที่รวมตัวกันในครั้งแรกรวม 77 ประเทศ (รวมทั้งไทย) เพื่อสร้างอำนาจการต่อรองต่างๆในเรื่องต่างๆในวงการระดับนานาชาติ     (หากสมาชิกสนใจในเรื่องลึกลงไป ก็พอจะมีเรื่องเล่าต่อไปได้พอควรครับ)    ดังนั้น จึงต้องทำงานเพื่อกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา    

ผมได้มีโอกาสเสี้ยวหนึ่งในการทำงานที่เข้าไปยุ่งด้วย   อยู่ในช่วงประมาณปี พ.ศ.2535    ซึ่ง UNCTAD มีโครงการผ่าน ESCAP เพื่อจะพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสำหรับการค้าขายและราคาที่เหมาะสมในตลาดในวงกว้าง (อย่างน้อยก็ในระดับภูมิภาค) โดยใช้ระบบออนไลน์  ในยุคนี้ CPU Pentium (โปรเซสเซอร์ของคอมพิวเตอร์) เพิ่งเริ่มเข้าสู่วงการของคอมพิวเตอร์ไม่นาน  ในไทยส่วนมากยังใช้ CPU 80386 หรือ 80486 กันอยู่เลย     หลักการก็คือ จะพยายามเปลี่ยนระบบการสื่อสารที่สื่อสารกันระหว่างฝ่านผู้ผลิตและผู้ซื้อสินค้าในตลาดโลก ในเชิงของปริมาณที่มีอยู่ตามแหล่งผลิตต่างๆและราคาที่พึงเป็นในตลาดทั่วๆไป    จากเดิมที่สื่อสารกันด้วยระบบ Telex ซึ่งฟากผู้ผลิตต้นทาง (ในระดับท้องถิ่น) ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ จะมีเพียงพ่อค้าคนกลางเท่านั้นที่จะได้รับข้อมูลข่าวสาร (จากระบบ Telex) เพราะมีกำลัง (เงิน) ที่จะเข้าถึงได้ ซึ่งส่งผลให้สินค้าของชาวบ้านถูกกดราคา หรือขายได้ในราคาที่ไม่เป็นธรรม (เพราะไม่รู้ความต้องการของตลาด)

สรุปง่ายๆ ก็คือ จะพยายามใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีระบบโทรคมนาคมในยุคคอมพิวเตอร์ เพื่อการลดช่องว่างและการเปิดโอกาสให้กับการค้าขายสำหรับผู้ผลิตในระดับรากหญ้า
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 250  เมื่อ 30 ก.ย. 12, 19:41

แนวคิดหลักก็คือ จะแทนที่ระบบโทรพิมพ์ (Telex) ก้าวข้ามระบบโทรสาร (Fax) ไปสู่ระบบ real time   
โดยหลักคิดว่า หากทุกฝ่ายได้รับข้อมูลที่เพียงพอทั้งในเชิงของสถิติ (ราคา ความต้องการตามช่วงเวลา ฯลฯ) และสภาพตลาดที่เป็นจริง ก็น่าจะทำให้เกิดความเป็นธรรมในการค้าขายทั่วไปได้   หรืออีกนัยหนึ่ง คือ การสร้างระบบเพื่อลดการผูกขาดการค้าของสินค้าเกษตร (ซึ่งเป็นผลผลิตหลักของประเทศกำลังพัฒนา)
 
อธิบายขยายความดังนี้ครับ  ในสภาพที่เป็นอยู่จริงนั้น สินค้าหลายๆอย่างในการค้าระดับโลกถูกควบคุมโดยกลุ่มผู้ค้าไม่กี่เจ้าและไม่กี่ประเทศ (ซึ่งเป็นฝ่ายผู้ซื้อที่จะทำการประมูลซื้อขายกันในวงการของเขา) เขาสร้างตลาดเพื่อการนี้ร่วมกัน เช่น London Metal Exchange Market ฯลฯ ซึ่งมีสมาชิกถาวรจำนวนจำกัดชัดเจนจำนวนหนึ่ง (จำกัดที่นั่งของผู้เข้าเสนอราคาซื้อขาย) ซึ่งส่งผลไปถึงราคาของสินค้าที่ใช้อ้างอิงในการค้าขายทั่วโลกในแต่ละวัน

ในระบบที่ผมพยายามจะเล่านี้  แรกเริ่มก็จะเป็นลักษณะของรัฐเป็นผู้ดำเนินการ โดยการจัดตั้งเป็นองค์กรอิสระ เพื่อเป็นผู้นำเข้าข้อมูลและรักษาระบบ เปิดให้บริการแก่ผู้ประกอบการทั่วไปและทั่วโลก เมื่อสภาพของข้อมูลต่างๆเริ่มครบถ้วนสมบูรณ์และระบบเริ่มเสถียรดีแล้ว ก็จะให้ผู้ค้าขายทั้งหลายที่อาศัยข้อมูลเหล่านี้เข้าเป็นสมาชิกและเสียเงิน  ฝ่ายรัฐซึ่งเป็นผู้เริ่มต้นก็จะค่อยๆถอนตัวออกไป เปลี่ยนสภาพเป็นองค์กรที่เป็นเอกชนช่วยกันดำเนินการ มีรายได้พอเพียงเลี้ยงตัวเองได้

 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 251  เมื่อ 02 ต.ค. 12, 19:13

ขออภัย หายไปหนึ่งวันครับ

ต่อเรื่อง   โครงการนี้เป็นโครงการทดลองที่หวังว่าจะสามารถดำเนินการต่อไปได้ในประเทศที่เขาเลือกทดสอบระบบ ซึ่งประเทสที่เลือกคือ ไทย มาเลเซีย เพราะจะเอาข้อมูลสถิติการผลิตการส่งออกการค้าขายดีบุกใส่เป็นฐานข้อมูลในระบบ เพราะน่าจะมีข้อมูลย้อนหลังที่ยาวนานมากพอ  เลือกฟิลฟปปินส์ ศรลังกา เพราะน่าจะมีข้อมูลการผลิตการส่งออกและราคาของมะพร้าวย้อนหลังไปได้ไกลอีกเช่นกัน นอกจากนั้นแล้วมะพร้าวและดีบุกมีการแปรสภาพจากวัตถุดิบ ไปเป็นวัตถุดิบและใช้ในการผลิตสินค้าต่อเนื่องอีกมากมาย กรณีมะพร้าวก็ไปไกลถึงการใช้น้ำมันมะพร้าวในเครื่องสำอางและเวชภัณฑ์ กรณีดีบุกก็ไปไกลถึงการใช้ในการทำบรรจุภัณฑ์ต่างๆและยาฆ่าแมลง  แล้วก็มีอีกประเทศหนึ่ง คือ ลาว อันนั้ไม่แน่ใจว่าเพื่ออะไร ดูเหมือนจะเป็นเพื่อลองดูปฎิกริยาและความคิดของกลุ่มประเทศ LDC (least developed countries)

ข้อมูลที่จะมีอยู่ในระบบมี อาทิ สถิติต่างๆ จำนวนผู้ผลิต ปริมาณการผลิตแยกหรือรวมรายวัน ราคา ผู้ขายและผู้ซื้อต่อเนื่อง ฯลฯ (ตั้งแต่วัตถุดิบไปจนถึงปลายทางสุดท้าย)   
พูดง่ายๆก็คือ มีข้อมูลครบตลอดทุกขั้นตอนในกระบวนการค้าขาย (transaction)  ในลักษณะ real time เพื่อประโยชน์ในรูปของความเป็นธรรมอันพึงที่จะมีของราคาสิ่งของในการค้าขายของฝ่ายที่จัดเป็นฝ่ายผู้ผลิตหรือผู้แปรรูป กับ ฝ่ายที่จัดเป็นฝ่ายผู้ซื้อในแต่ละขั้นตอนของการซื้อขาย   
ภาพโดยสรุปที่จะเกิดขึ้น ก็คือ ทั้งฝ่ายอุปสงค์ (demand) และฝ่ายอุปทาน (supply) ที่มีอยู่ในตลอดเส้นทางของการค้าขาย (transaction) ในทุกระดับของขั้นตอนทางอุปสงค์และอุปทานที่จะเกิดขึ้นทุกแห่งหนในโลก ต่างก็มีข้อมูลซึ่งกันและกันในทุกวินาที  มิใช่ในลักษณะของการมีคนกลางไปใช้ประโยชน์จากความต่างของเวลาและช่วงเวลาการทำธุรกิจ (และค้ากำไรจากข้อมูลที่ไม่รู้กันระหว่างฝ่ายอุปสงค์กับฝ่ายอุปทานที่อยู่ต่างกันของแต่ละซีกโลก เช่น ทวีปเอเซียเป็นช่วงกลางคืน ในขณะที่ทวีปอเมริกาเป็นช่วงกลางวัน ฯลฯ)   

ภาษาที่ผมใช้อาจจะทำให้อ่านแล้วงงๆ ?

ผมไม่แน่ใจนักว่าโครงการนี้ได้ส่งผลหรือกระตุ้นให้ประสบผลเพียงใดในปัจจุบัน หรือได้พัฒนากลายเป็นระบบออนไลน์ต่างๆที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้   ผมถึงได้กล่าวแต่ในตอนแรกว่า แนวคิดและการทดลองนี้ได้เกิดในช่วงที่คอมพิวเตอร์ที่ใช้ CPU Pentium เพิ่งจะเริ่มเข้าสู่ตลาด   อย่างน้อยก็เพียงเพื่อเล่าเรื่องนี้ว่า UNCTAD หรือโลกสากลเขาคิดอย่างไร   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 252  เมื่อ 05 ต.ค. 12, 19:05

เว้นไปพักหายใจครับ ร่ายยาวแบบเดี่ยวมานานแล้ว หะแรกก็คิดว่าคงจะมีข้อมูลและความเห็นอื่นๆเข้ามาร่วมแจมในกระทู้นี้ กลายเป็นลักษณะจากแหล่งเดียว ก็คงจะพอมีประโยชน์บ้างนะครับ 
 
อีกเรื่องที่ว่าจะกล่าวถึงตามที่จั่วหัวไว้กันลืม คือ เรื่องการตั้งราคาสินค้าในตลาดโลก
ทำท่าอย่างกับรู้จริง ที่จริงรู้น้อยครับ เป็นประสบการณ์ที่ได้สัมผัสด้วยตนเองบ้าง ได้รับรู้มาจากหมู่คนที่ทำบ้าง

ขอเริ่มต้นจากคำพื้นฐานทางวิชาการเศรษฐศาสตร์ คือ อุปสงค์และอุปทาน  ดูเป็นเรื่องง่ายๆว่า ราคาสินค้าถูกกำหนดด้วยความสมดุลย์ของปริมาณสินค้าที่สามารถผลิตได้กับปริมาณสิินค้าที่ตลาดต้องการในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติ ซึ่งโดยนัยก็คือ สภาพของการมีการผลิตตามปรกติและสภาพของการมีความต้องการตามปรกติตามช่วงเวลาต่างๆ  แต่แท้จริงแล้วมีสินค้ามากมายที่ถูกกำหนดให้ผลิตน้อยในช่วงที่มีความต้องการมากเพื่อที่จะขายได้ในราคาสูง แล้วก็มีมากมายที่ถูกกำหนดให้ผลิตมากในช่วงที่ตลาดต้องการเพื่อครองส่วนแบ่งของตลาด  ซึ่งโดยนัยก็คือ หากำไรจากสองลักษณะ ได้มากจากราคาสูงเนื่องจากการขาดแคลนของตลาด กับได้มากจากปริมาณสินค้าที่เข้าไปขายอยู่ในตลาดในปริมาณมาก

เอาเป็นว่า ตลาดทั้งหลายมันไม่เป็นไปตามธรรมชาติ มันมีกลไกแอบแฝงและการแทรกแซงอยู่ในระดับหนึ่งเสมอ   เรื่องที่กล่าวมานี้ ทุกท่านทราบดีอยู่แล้ว

เมื่อก้าวออกไปจากสินค้าที่จำหน่ายในตลาดตามปรกติ ไปในเรื่องของสินค้าที่เป็นทรัพยากรและเป็นวัตถุดิบ เช่น แร่ธาตุ น้ำมัน และสินค้าเกษตรบางอย่างที่มีคำว่าข้าว   ในอีกนัยหนึ่งคือ สินค้าที่ขายกันในลักษณะเป็น bulk นั้น  ราคาสินค้าจะได้มาจากการ trade กันในระหว่างสมาชิกในกลุ่มที่จัดตั้งขึ้นมา ซึ่งแม้สมาชิกจะเป็นเอกชน แต่ก็เป็นเอกชนหนึ่งเดียวหรือไม่กี่รายของประเทศใดประเทศหนึ่ง  เช่น ตลาด London Metal Exchange (ค้าขายเฉพาะแร่โลหะไม่กี่ชนิด เช่น ทองแดง อลูมิเนียม เหล็ก ดีบุก ตะกั่ว สังกะสี เป็นต้น) หรือตลาดค้าขายทองคำ เช่น ที่ลอนดอน วินีเปก (แคนาดา) ดูไบ เป็นต้น    น้ำมันก็มีตลาดที่ค้าขายกันอยู่เช่นกัน 

เล่ามาเป็นพื้นเพื่อจะก้าวไปสู่เรื่องของการกำหนดราคาครับ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 253  เมื่อ 05 ต.ค. 12, 20:25

ราคาของสินค้าที่มีการผลิตออกมาและจะขายกันในเชิงของสินค้าทางอุตสาหกรรม  แม้กระทั่งข้าวที่เราผลิต เมื่อนำมาราวกันเข้าและขายเป็น lot ในลักษณะของ bulk ก็มีลักษณะไปในทางสินค้าทางอุตสาหกรรมเช่นกัน   

โดยพื้นฐานและหลักการง่ายๆแล้ว สินค้าที่ผลิตออกมาในเชิงของระบบการผลิตแบบอุตสาหกรรมนั้น จะถูกกำหนดราคาขายในราคา +/- ประมาณ 30% ของต้นทุนการผลิต   ซึ่งเนื่องจากมันมีลักษณะเป็น bulk   ดังนั้น เมื่อเป็นลักษณะของการค้าขายและส่งๆไปทั่วโลก  มันก็จะต้องมีการขนส่งทางเรือ (ซึ่งค่าขนส่งถูกกว่าวิธีการขนส่งในรูปแบบอื่นๆ) เป็นการขนส่งข้ามมหาสมุทรและระยะทางไกล  ซึ่งก็ต้องเป็นเรือขนาดใหญ่ที่มีน้ำหนักบรรทุกมากจึงจะมีค่าใช้จ่ายต่อระวางการขนส่งที่ถูกกว่าการใช้เรือขนาดเล็ก  ระวางขับน้ำของเรือพวกนี้ (ซึ่งจะทำให้มีรายได้เลี้ยงตัวเองได้) พูดกันในระดับอย่างน้อยประมาณ 50,000 ตัน ซึ่งในปัจจุบันนี้พูดกันในระดับมากกว่า 100,000 ตัน หรือถึง 200,000 ตัน   เมื่อค่าใช้จ่ายสำหรับการขนส่งแปรผันไปกับน้ำหนักและระยะทาง เรือขนาดใหญ่จึงมีบทบาทมากขึ้นมากๆ  ก็ไปเกี่ยวกับท่าเรือที่จะสามารถรองรับเรือที่มีระวางขับน้ำขนาดนั้น รวมทั้งระบบการขนถ่ายสินค้าด้วย (loading/unloading facility).......

ราคาสินค้าที่ซื้อขายกันจึงไปกำหนดอยู่ที่ท่าเรือ

บันทึกการเข้า
mrpzone
มัจฉานุ
**
ตอบ: 89


ความคิดเห็นที่ 254  เมื่อ 06 ต.ค. 12, 09:01

อ่านถึงตอนนี้แล้วก็สงสัยเรื่องการกำหนดราคาข้าวเหลือเกิน หาก อ.ตั้ง พอมีเวลาก็ขอรบกวนความรู้หรือเกล็ดความรู้ในประเด็นอื่นๆ ซักเล็กน้อยด้วยนะครับ อาทิเช่น เรื่อง "ราคาข้าว" (ทั้งในประเทศและต่างประเทศ) รวมทั้งนโยบายแทรกแซงจากรัฐบาลประเภทต่างๆ พวก "การรับจำนำข้าว/การประกันราคาข้าว" ฯลฯ

ขณะนี้ผมกำลังอ่านข้อมูลจาก ศูนย์พัฒนาความรู้การซื้อขายเกษตรล่วงหน้า (AFTC) โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า ในหัวข้อเรื่อง โครงสร้างตลาดสินค้าข้าว เห็นว่าเกี่ยวเนื่องกับเนื้อหาล่าสุดในกระทู้นี้ ก็เลยขออนุญาตแปะเนื้อหาบางส่วนเพื่อให้ท่านผู้อ่านที่สนใจได้รับทราบด้วยนะครับ




โครงสร้างตลาดสินค้าข้าวภายในประเทศ
 
ตัวแปรโครงสร้างตลาดที่กำหนดระดับราคา
  • กลุ่มคนที่เกี่ยวข้องในตลาดข้าวเปลือก
  • กลุ่มคนที่เกี่ยวข้องในตลาดข้าวสาร
  • ความหมายวิถีการตลาดข้าว
  • การตลาดข้าวไทย
  • ความสัมพันธ์ของราคาข้าวในตลาดระดับต่างๆ
  • พฤติกรรมการกำหนดราคาข้าวในตลาดขายส่งกรุงเทพฯ
  • พฤติกรรมการกำหนดราคาข้าวในตลาดข้าวเปลือก
  • นโยบายสำคัญที่มีผลต่อราคา
ที่มา : ศูนย์พัฒนาความรู้การซื้อขายเกษตรล่วงหน้า

ทางเว็บ AFTC เค้าได้จัดเตรียมเนื้อหาในหัวข้อย่อยเป็นภาพ (นามสกุล jpg) น่าจะให้อ้างอิงได้ง่ายขึ้น ตัวอย่างเช่น ในหัวข้อ "นโยบายสำคัญที่มีผลต่อราคา" จะแสดงเนื้อหาดังข้างล่างนี้ครับ



ในช่วงท้ายทาง AFTC ได้ระบุว่า.. นโยบายของรัฐบาลที่รับจำนำข้าวเปลือก มีผลกระทบทั้งระยะสั้นและระยะยาว แต่มิได้มีการขยายความว่ารุนแรงมากน้อยแค่ไหน? จะทำให้ไทยสูญเสีย/เสียหายแค่ไหน? อย่างไร? ก็คงต้องติดตามหาอ่านทั้งข้อดีและข้อเสียในนโยบายนี้กันอีกต่อไปครับ
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 15 16 [17] 18 19 ... 21
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.14 วินาที กับ 19 คำสั่ง