เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3 4
  พิมพ์  
อ่าน: 32895 คนไทยชอบอ่านหนังสือ
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


 เมื่อ 27 มิ.ย. 12, 14:36


อ่านเรื่องนี้มาจากหนังสืออนุสรณ์  หม่อมเจ้าการวิก  จักรพันธุ์  
เนื่องในพืธีพระราชทานเพลิงศพ   ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์
วัดเทพศิรินทร์ทราวาส  กรุงเทพมหานคร

วันที่ ๑ กรกฎาคม  พ.ศ. ๒๕๔๕


       เก็บเรื่องราวที่เป็นประวัติศาสตร์ที่ไม่เป็นที่ทราบกันมากนัก  ได้หลายเรื่อง  ซึ่งจะนำมาถ่ายถอดต่อไป

เป็นข้อเขียนที่มีเสน่ห์น่าอ่านอย่างยิ่ง   โดยเฉพาะเรื่องธรรมดาสามัญ  เรื่องการเป็นเสรีไทยที่ผ่านการฝึกก่อนที่จะกระโดดร่ม

ลงมาในไทย


        ท่านชายเล่าว่า


        "....ในที่สุดทางกองกำลัง ๑๓๖  แจ้งว่าจะส่งเราสองคน(คุณอรุณ กับท่านชาย)เข้าไปตอนพลบค่ำของวันที่ ๔ มีนาคม  

โดยมีจุดหมายอยู่ที่จังหวัดสุโขทัย    ทศได้ท้วงว่า  การปล่อยพลร่มตอนพลบค่ำในช่วงที่ไม่ใช่เดือนหงายนั้นอันตรายมาก

ถ้าเครื่องบินมาถึงช้าไปก็มือเกินกว่าจะทิ้งพลร่ม   เพราะจะกะเวลาที่เท้ากระทบพื้นไม่ถูกอาจขาหัก     ถ้ามาเร็วไปท้องฟ้าก็ยังสว่าง  

ผู้คนคงจะเห็นกันเยอะ   คงจะถูกล่าจับกันสนุก    ขอให้เลื่อนไปในช่วงเดือนหงายถัดไป    แต่ทางฐานทัพ ๑๓๖ บอกรอไม่ได้   เพราะจะรีบส่งออกมาอีกสองคณะ
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 27 มิ.ย. 12, 14:56


        ปรากฎว่าเครื่องบิน ฺB-24  ที่นำอรุณกับผมเข้ามา  ได้ลมส่งท้ายเข้ามาถึงก่อนกำหนดเวลากว่าครึ่งชั่วโมง(ราวห้าโมงเย็น)

ท้องฟ้ายังสว่างโร่  แดดจ้า     ผมมองลงมาเห็นผู้คนกำลังอาบน้ำริมแม่น้ำตอนผ่านจังหวัดตาก    เห็นมองขึ้นมาแล้วพากันชี้กันใหญ่  

และผู้คนในตลาดสุโขทัยก็มองเห็นอีก        นักบินถามว่า

"จะลงกันจริง ๆ หรือนี่    คนเห็นกันหมดแล้ว   ป่านนี้ข่าวคงไปถึงญี่ปุ่นแล้วกระมัง"


"ไม่ไหวแล้ว   รอมาตั้งนาน   เห็นที่จะลงอยู่แล้ว   ให้กลับไปอีกไม่เอาละ        ขอลงทั้งกลางวันอย่างนี้  เห็นไรก็เป็นกัน"


        เราสองคนจึงมานั่งที่รางเตรียมตัวกระโดด   นายสิบที่คอยอยู่จับมือและอวยพรสั้น ๆ        เมื่อทุกอย่างพร้อม  มีคำสั่ง

ACTION STATION GO!

        เราสองคนปล่อยมือจากขอบรางเลื่อนออกสู่ห้วงเวหา         ร่มเปิดออก   พยุงร่างลอยละลิ่วลงมาสู่พื้นเบื้องล่างในบริเวณที่ทำสัญญลักษณ์

ไว้โดยไม่ทันจะคิดอะไรเลย

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 27 มิ.ย. 12, 15:14



        บริเวณที่เตรียมไว้นั้น   เป็นสถานีทดลองการเกษตรอำเภอศรีสำโรง      หัวหน้ามารับคือคุณแสวง  กุลทองคำ

เป็นหัวหน้าสถานี  และภรรยาคือ คุณสมจิต (โล่นักรบ) ภายหลังได้เป็นคุณหญิง    กับตำรวจจำนวนหนึ่ง  และคณะของทศ

มีดาบตำรวจคนหนึ่งชื่อ ดาบตำรวจประสิทธิ (จำนามสกุลไม่ได้)      ทันที่ที่เขาเห็นผมลงมาอยู่ที่พื้นก็วิ่งมาถึงตัวแล้วร้องว่า


        "โอ๊ย!  คุณ ๆ    คนอ้วนนี่เขาชักจนมือหงิก"          ความจริงผมคว้าเก็บดินตรงนั้นมาบีบ    และดมดู  เพราะไม่ได้กลิ่นมานานแล้ว

อยากดมให้ชื่นใจสักหน่อย      พอได้ยินอย่างนั้นเข้า  ผมต้องรีบปล่อยและรีบลุกขึ้นเพื่อหันไปอีกด้าน        เจอเด็กเลี้ยงควาย ๓-๔ คน

ยืนอ้าปากหวออย่างตกตะลึง         ตำรวจขู่ว่า

        "มึงไม่ได้เห็นอะไรนะวันนี้   ถ้าเผื่อพวกนี้ถูกจับหรือเป็นอะไรไป  พวกมึงเป็นศพ"

        "ครับ ๆ  ไม่เห็นครับ  ไม่เห็น"   พวกเด็ก ๆ รับคำ
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 27 มิ.ย. 12, 16:17


         พื้นที่เราลงมานั้นเป็นนาที่เขาไถแล้ว   ถ้าลงมาที่นาแข็ง ๆ คงแย่  รอบ ๆ เป็นป่าหนาทึบ

แทนที่ผมจะต้องวิ่งไปพับร่ม   ก็มีลูกน้องที่เป็นตำรวจวิ่งมาพับให้   ทำเอาผมยืนเวียนหัว  เพราะเขาพับผิดกับถูกกลายเป็นกองผ้าเบ้อเริ่ม  

ถ้าผมพับเองก็เหลือนิดเดียว  เพราะฝึกมาแล้ว   พอผมบอกจะไปขุดหลุมฝัง   เขาบอกไม่ต้องเดี๋ยวเอาไว้ที่สำนักงาน   ใส่ใต้ที่นั่งรถสองแถวไป


        จากนั้นเขาให้ผมเปลี่ยนเครื่องแต่งตัว   มีชุดกากีของข้าราชการชั้นจัตวาไว้ให้เสร็จ    เรื่องนามแฝงนี้  ผมเตรียมไว้แล้ว

ระหว่างที่คุย ๆ กันได้พบกับนายกเทศมนตรีของเมืองสวรรคโลกขณะนั้นคือ  ขุนเพ่ง  ลิมประพันธ์    คุยกันแล้วถูกคอ    ผมเลยติดเป็นท่านขุนดีกว่า

ในเมื่อหน่วยเราเป็นหน่วยช้างเผือก   แล้วเพื่อน ๆ เรียกผมว่า พี่เหน่งบ้าง  พี่ขุนบ้าง  


        ได้เดินทางข้ามฟากไปฝั่งตะวันตกของลำน้ำปิง  พบผู้ใหญ่หมู่บ้านประดาง  ชื่อบุญธรรม  อินทรวัณโณ

ซึ่งมีอดีตเป็นไอ้เสือบุญธรรม  ตอนอายุ ๑๘  ล้มแล้ว ๘​ ศพ    ตอนหลังเข้ามามอบตัวและทนายแนะนำตัวว่า  ให้รับราชการแล้วไม่ต้องรับโทษ

ตั้งแต่เขาเป็นผู้ใหญ่บ้านก็ไม่มีโจรผู้ร้าย   โกดังฝรั่งที่เชิงสะพานที่ข้ามวังเจ้า  เคยถูกปล้นเรื่อย  จับไม่ได้สักที  พอพี่บุญธรรมเป็นผู้ใหญ่บ้านก็ไม่มีอะไร  

และไม่ต้องมียามเฝ้าด้วย


        พวกเขาพาเราไปฝากชีวิตกับผู้ใหญ่   คืนั้นเขาจัดอาหารรและจัดรำวงเพื่อควมบันเทิงสนุกสนานให้ด้วย     รุ่งขึ้นก็สั่งลูกน้อง ๒-๓ คนพาเราเดินไปตาม "ทางเดินฝิ่น"

ซึ่งปลอดภัยจากพวกญี่ปุ่นมากกว่าจะเดินไปตามทางปกติสู่บ้านห้วยเหลือง    ซึ่งอยู่บนเขากลางป่าลึกในเขตของพวกแม้ว(ม้ง)       ระหว่างทางมีป่าไผ่ขึ้น

เรียงรายร่มรื่นมาก     มีธารน้ำตกเป็นระยะ ๆ"


        ในต้นเดือน เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๘   เราได้รับคำสั่งให้เตรีมรับปัทม์ กับลุงไบรซ์   และนายตำรวจสันติบาลรุ่นช้างดำสองคน


          อรุณกับผมออกจากค่ายมารอรับคณะของปัทม์ตามเวลานัด    โดยพักค้างคืนที่บ้านของผู้ใหญ่บุญธรรม


         คืนนั้นเขาเลี้ยงข้าวสวยร้อน ๆ  กับปลาสลิดย่าง   ถามว่า

         "ท่านขุนกินเป็นมั๊ย"

         "เป็นซิพี่ธรรม   ปลาสลิดนี่ของชอบเชียวล่ะ"









บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 27 มิ.ย. 12, 16:38




        "เอ้า!   เดี๋ยวลองกิน   กินด้วยกัน"     ผมก็เลือกหยิบเอาส่วนที่เป็นขุย ๆ  มีกลิ่นตึ ๆ นิด ๆ

เขาร้องอย่างถูกใจว่า  "กินเป็นนี่"   เพราะคนอื่น ๆ จะเลือกกินส่วนที่กรอบ ๆ  และไม่มีกลิ่น

        หลังกินข้าวเสร็จ  เขาบอก

        "ท่านขุนนอนเถอะ   พรุ่งนี้ต้องตื่นแต่เช้ามืด"     เขาเตือนเพราะรู้ว่าผมต้องไปรอรับเครื่องบินที่จะมาตอนตีสี่ตีห้า

     
        คืนนั้นเขานั่งอ่านหนังสือ  "สังข์ทอง" ให้ฟังจนหลับทั้งๆที่เขาก็อ่านหนังสือไม่คล่องไปกว่าผมเท่าไร       ผมนึกในใจด้วยความปลื้มว่า

        "แหม!   ฆ่าคนมาแล้ว ๘ ศพ   ยังอุตส่าห์มาอ่านหนังสือให้ฟัง"



(ถ้าหนังสือเป็นเสภาขุนช้างขุนแผน  คงอ่านเรื่อยไปจนรุ่งกระมัง/นักอ่านนึกในใจ)

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 28 มิ.ย. 12, 05:42



บรรพตระกูล

หม่อมเจ้าการวิก  จักรพันธุ์  ประสูติเมื่อวันี่ ๙ เมษายน  พ.ศ. ๒๔๖๐  ที่บางปะอิน  พระนครศรีอยุธยา

พระบิดาหม่อมมารดา  พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเสรษฐวงศ์วราวัตร  กรมหมื่นอนุพงษ์จักรพรรดิ  หม่อมโป๊


ทรงมีเชษฐา  เชษฐภคินี  อนุชา  ขนิษฐา  ร่วมพระบิดาเดียวกัน ๒๓ องค์

ที่ร่วมหม่อมมารดาเดียวกัน ๔ พระองค์

๑.   หม่อมเจ้าวราธิวัตร  จักรพันธุ์

๒.  หม่อมเจ้าหญิงอภิลาศ  นันทมานพ

๓.  หม่อมเจ้าการวิก  จักรพ้นธุ์

๔.  หม่อมเจ้าประดิษฐาน  จักรพันธุ์


ชายา

หม่อมเจ้าหญิงผ่องผัสมณี  (สวัสดิวัฒน์  จักรพันธุ์)

หม่อมหลวงประอร (มาลากุล)  จักรพ้นธ์ุ

บุตร - ธิดาบุญธรรม

หม่อมหลวงศิริเฉลิม  สวัสดิวัฒน์

หม่อมหลวงเพิ่มวุฒิ   สวัสดิวัฒน์

หม่อมหลวงปัณฑิตา  (จักรพันธุ์   โปษยานนท์)
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 28 มิ.ย. 12, 06:20


        ท่านชายการวิกทรงประสูติและเคยใช้ชีวิตช่วงต้นในละแวกนี้   ในเรือนไทยหลังใหญ่ ๓ หลัง  

ณ บริเวณทางใต้ของเกาะบางปะอิน  นามสมัยก่อนเรียกว่าตำหนักท้ายเกาะ  หรือตำหนักในกรม     ในกรมทรงเป็นนายวงดนตรี

และองค์อุปถ้มภ์ของเหล่านักดนตรีในย่านนี้ทั้งหมด  


       "ชื่อของผม  เด็จพ่อเป็นผู้ประทาน   มีความหมายถึงนกชนิดหนึ่ง   ซึ่งโปรดประทานเป็นการล้อชื่อผม  ด้วยทรงเห้นว่าเป้นเด็กช่างพูด"


หม่อมโป๊อยู่ในสกุลใดไม่ปรากฎแน่ชัด   บิดามาจากเมืองจีน  และตายไปก่อนท่านชายการวิกเกิด    ยายชื่อหงส์อาศัยอยู่ในห้อง ๆ หนึ่งในตำหนัก  

มีน้องชายชื่อเง็ก  และน้องสาวชื่อง้วย   พื้นเพอยู่แถวบางปะอิน  อยุธยา


        พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ  พระราชทานที่ดินระหว่างถนนหลานหลวงกับถนนดำรงรักษ์

ช่วงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ(หลังกรมโยธาธิการเดิม) จดสี่แยกถนนจักรพรรดิพงศ์แด่พระนัดดา  แห่งสกุลจักรพันธุ์ ทุกพระองค์ได้อยู่ร่วมกันโดยแบ่งเป็นสัดส่วน

"เด็จพ่อทรงเลือกตำหนักริมฝั่งถนนดำรงรักษ์เป็นที่พำนักเพราะเห็นว่าอยู่ใกล้คลองมหานาค  ซึ่งสะดวกในการสัญจรโดยทางเรือ"


       "การที่เด็จพ่อต้องไปประทับที่บางปะอิน  เนื่องจากทรงรับราชการเป็นผู้กำกับดูแลความเรียบร้อยในเขตพระราชวังบางปะอินทั้งหมด   วันเวลาส่วนใหญ่

เด็จพ่อมักประทับที่บางปะอินเสียมาก   ครั้นจะเสด็จกรุงเทพ  ก็จะทรงเรือยนต์มาตามแม่น้ำลำคลอง   และจอดเรือไว้ในคลองมหานาค"
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 28 มิ.ย. 12, 06:44

        ท่านชายการวิกทรงเล่าว่าท่านเป็นลูกที่อยู่ใกล้ชิดกับเสด็จพ่อมากที่สุด  ด้วยความเป็นเด็กดื้อ  ซน

และชอบแกล้งผู้อื่น  แต่ไม่มีผู้ใดกล้าฟ้อง   เวลาเกเรขึ้นมา  เมื่อตอนไปโรงเรียน  ท่านก็ทำเรือที่มีคนพายพาไปโรงเรียนล่มเสีย  ปิ่นโตอาหาร

และของที่นำไปด้วยจมน้ำหมด


        "ในราวปี พ.ศ. ๒๔๖๙  ที่ผมได้เข้ามาอยู่ในพระราชวังดุสิตนั้น  มีอยู่ช่วงหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยุ่หัว  และสมเด็จพระนางเจ้า

รำไพพรรณี พระบรมราชินี  เสด็จแปรพระราชฐานไปพระราชวังบางปะอิน      ในคืนวันหนึ่งเป็นคืนที่มีแสงจันทร์ทอแสงนวลพอกระจ่างตา

ทั้งสองพระองค์ก็ทรงพายเรือเพื่อเก็บกระจับที่ขึ้นอยู่แถว ๆ ริมน้ำตำหนักท้ายเกาะ   เป็นการพักผ่อนอิริยาบท   เด็จพ่อรับสั่งให้ผมลงเรือ

เพื่อเฝ้ารับเสด็จด้วย   โดยที่ผมเป็นคนนั่งพายที่หัวเรือ

        ครั้นพระเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรเห็นผมภายใต้แสงจันทร์  พระองค์ก้มีรับสั่งกับเด็จพ่อว่า

        "เด็กคนนี้น่าเอ็นดู   เอามาให้ฉันเลี้ยงเถอะ"


        เด็จพ่อทรงได้ยินก็รู้สึกปลาบปลื้มพระทัยนัก    กราบบังคมทูลถวายผมทันที   ด้วยทรงเกรงว่าหากพระองค์ท่านทอดพระเนตรผมตอนกลางวันเข้า  อาจจะเปลี่ยนพระราชหฤทัยก็ได้"
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 28 มิ.ย. 12, 10:16



        "เมื่อสององค์เสด็จกลับพระนครแล้ว   เสด็จพ่อก็ส่งผมเข้ากรุงเทพฯ  โดยอยู่ที่วังจักรพันธุ์  ถนนดำรงรักษ์ก่อน

เพื่อเตรียมตัวเข้าไปอยู่ในพระราชวังดุสิต  ซึ่งในขณะนั้นทั้งสองพระองค์ประทับ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน


        ผมถูกส่งไปรับการศึกษาเบื้องต้นที่โรงเรียนสตรีจุลนาค  อันเป็นโรงเรียนส่วนตัวของเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น  เทพหัสดิน  ณ อยุธยา) 

ปลูกอยู่ในบริเวณรั้วบ้านของท่าน   และมีครูไฉไลลูกสาวคนโตของท่านเจ้าคุณเป็นคุณครูใหญ่        โรงเรียนนี้ตั้งอยู่ใกล้กับวังจักรพันธ์

เวลาไปเรียน  ผมก็เดินข้ามถนนไปกับพี่น้องที่มีอายุใกล้เคียงกัน


        วันหนึ่งพี่เปา(วราธิวัตร)  ซึ่งอดทนเข้มแข็งเสมือน "พระเอกของผม"   ตัวท่านล่ำสันใหญ่โต  ทั้งที่ในตอนนั้นอายุเพียง ๑๖ - ๑๗

คอยดูน้อง ๆ ไม่ให้คนรังแก    พาผมไปเดินงานภูเขาทองที่วัดสระเกศ   แล้วผมเดินไปเหยียบตีนนักเลงคนหนึ่งเข้า    เขาไม่พอใจมาก

จะเอาเรื่องผมให้ได้   พี่เปาก็ขอโทษแทนให้  แต่นักเลงไม่ยอม   ทำอย่างไรก็ไม่ยอม         บอกว่าแค่ขอโทษไม่ทำให้หายเจ็บ    และแสดงความ

เป็นนักเลงออกมาจะเล่นงานพวกเรา          ท่านเลยเตะป้าปที่ก้านคอจนสลบไปเลย !
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 28 มิ.ย. 12, 11:01


        "ผมเรียนที่โรงเรียนสตรีจุลนาคนานราว ๓ เดือน   ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เข้าไปอยู่ในพระราชวังดุสิต

(มีเรื่องราวของโรงเรียนราชกุมารประมาณหนึ่งหน้าครึ่ง   ท่านชายเล่าว่าทรงโปรดอาหารเช้าหลังการออกกำลังกายคือ ไก่ชุบขนมปังทอดมาก
 มีรายชื่อเพื่อนนักเรียนและรายชื่อผู้สอน      จะขอเล่าเฉพาะเรื่องที่ท่านชายได้ฟังการอ่านนิทานเท่านั้น)


        พอตกบ่ายราว ๔ โมง   ก็เปลี่ยนเป็นสวมเสื้อโปโล   นุ่งกางเกงขาสั้นแบบฝรั่ง   ใส่ถุงเท้ารองเท้า  ตามเสด็จไปทรงเทนนิสหรือกอล์ฟ  

ซึ่งเครื่องแต่งกายนี้มีผู้ใหญ่คอยจัดให้ตามที่มีรับสั่งมา    



        ตอนค่ำก็จะพากันไปรอที่หน้าห้องพระบรรทม   โดยมีหม่อมเจ้าหญิงสีดาดำรงวง  สวัสดิวัฒน์(พระธิดาองค์หนึ่งในสมเด็จกรมพระสวัสดิวัฒน์  

และสมรสกับหม่อมเจ้ากมลีสาน ชุมพล)ซึ่งประทับในฝ่ายในมารอเพื่อเข้าเฝ้า ฯ  พระเจ้าอยู่หัวอีกองค์หนึ่งด้วย      หลังจากที่สรงน้ำเสร็จ  ระหว่างแต่ง

พระองค์ก็จะทรงเล่านิทานแฝงคุณธรรมที่ทรงอ่านจากหนังสือพระราชทานเด็ก ๆ  ซึ่งทุกคนก็ชอบกันมาก   เช่นเรื่องทาร์ซาน  ผมชอบฟังเป็นพิเศษ

เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติและการผจญภัยในป่า   หรือเรื่องที่จอห์น  คาร์เตอร์  ถูกสะกดจิตหลับไป  ตื่นอีกทีมาอยู่บนดาวพระอังคารเป็นต้น

เรื่องที่ทรงเล่าเหล่านี้จะทรงทำเสียงประกอบตามบทของตัวละตรด้วย   เป็นการเพิ่มการสนุกสนานมากขึ้น           แต่มีเสียงหนึ่งสะกดเป็นภาษาอังกฤษว่า

"GRRR...."    เป็นเสียงร้องของสิงโต           ผมก็ทำเสียงคำรามว่า

"เกร๊อออ...."         พระเจ้าอยู่หัวทรงได้ยิน   ก็รับสั่งว่า

"เออ  ใช่     ฉันอ่านมาตั้งนาน   ไม่รู้ว่าจะทำเสียงยังไง"         แล้วต่อมาศัพท์คำนี้ก็ใช้กันในพระราชาำนัก   อันมีความหมายถึงความไม่พอใจ  หรือ  โกรธเคือง

บันทึกการเข้า
Sujittra
พาลี
****
ตอบ: 326


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 28 มิ.ย. 12, 15:00

??
บันทึกการเข้า
sirinawadee
ชมพูพาน
***
ตอบ: 101


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 28 มิ.ย. 12, 15:46

โอย สนุกจังค่ะ คลาสนี้ขอนั่งหน้าสุดเลยค่ะ
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 28 มิ.ย. 12, 17:17





        หึ หึ    เรื่องนี้เป็นชีวิตของ หม่อมเจ้าการวิก   จักรพันธุ์ค่ะ        ท่านเล่าไว้ด้วยสายตาของคนที่อยู่ในที่สูง

ได้ใกล้ชิดราชสำนักของรัชกาลที่ ๗    พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอ่านหนังสือนิทานเด็กประทาน      คนอ่านสามารถเข้าใจพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้อีกแบบหนึ่ง

ว่าท่านมีจิตใจที่อ่อนโยนต่อพระญาติที่แสนซนโขยงหนึ่งถึงปานใด         

ท่านชายการวิกจากเมืองไทยไปศึกษาต่อต่างประเทศถึง ๑๗ ปี  และได้เป็นเสรีไทยสายอังกฤษ         ท่านเล่าเรื่องไว้เยอะ   แต่ดิฉันนำตอนที่น่าสนใจที่สุดมาฝาก

เป็นเรื่องที่ท่านชายมองเมืองไทย   แม้นแต่ผู้ใหญ่บ้านอดีตผู้ร้ายก็เข้ามาร่วมปฎิบัติการช่วยเหลือเสรีไทย    ขนาดลงทุนอ่านหนังสือสังข์ทองซึ่งคงเป็น

หนังสือวัดเกาะเล่มเล็ก ๆ บาง ๆ     ให้ท่านฟังเพื่อให้ท่านได้พักผ่อนก่อนออกปฎิบัติการ              ท่านมองโลกสวยงาม  และให้ความสนใจในมนุษย์เดินดิน

การที่มาเล่าเรื่องในเรือนไทยนี้ก็เพียงหวังจะให้สหาย ๆ  ไปตามหาหนังสืออ่านเองเพราะจะเล่าไปตลอดก็คงกินเวลานานมาก       เพื่อน ๆ ในเรือนไทยชอบอ่าน

หนังสือจนกระทั่งไปได้หนังสืออะไรมาก็ต้องมาอ่านสู่กันฟัง   อ่านกันจนเสียงแหบแห้งไม่ยอมหยุด   ด้วยแข่งขันกันว่าไปได้เอกสารฉบับไหนมาจากหอจดหมายเหตุบ้าง


        หม่อมประอร  จักรพันธุ์  เล่าว่า   ไม่เคยเห็นท่านทรงมีความโกรธ  ดุ  หรือตวาดผู้ใด  หรือโกรธแค้นใครเลย    ตลอดเวลา

ที่อยู่ด้วยกันท่านมีแต้ความรักอันอ่อนโยน  เอื้ออาทรห่วงใยตลอดเวลา

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 28 มิ.ย. 12, 17:27


        "ระหว่างที่พวกเรานั่งฟังนิทานที่ทรงเล่านี้   จะมีการเลื่อนยศกันด้วย      คือพระองค์จิรศักดิ์ ฯทรง

นั่งใกล้ที่สุด    ถัดไปก็เป็นท่านหญิงสีดาดำรงวง  สวัสดิวัฒน์    หากคราวใดพอพระราชหฤทัยเด็กคนไหน

ก็จะมีรับสั่งเรียก      เด็กคนนั้นก็จะเขยิบขึ้นมานั่งในตำแหน่งของท่านหญิงสีดา      ซึ่งท่านหญิงสีดากับเด็กคนนั้น

ก็จะทรงแอบหยิกกันด้วยความไม่พอพระทัยแบบเด็ก ๆ           ผมเองก็เคยถูกหยิกได้แต่นั่งสะดุ้ง...."
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 28 มิ.ย. 12, 17:46



        " แล้วก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ   ให้หลวงประดิษฐ์ไพเราะและหลวงไพเราะเสียงซอเข้ามาสอนการเล่นดนตรีไทยด้วย 

ซึ่งตอนแรกเด็ก ๆ ก็เรียนอยู่หลายคน   แต่ค่อยๆหายกันไปจนเหลือแต่ผมที่เล่นตีฆ้องวง  กับท่านหญิงสีดาที่เล่นซอด้วง

และบางคราวทั้งพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระราชินี  ก็เสด็จลง มาเล่นดนตรีด้วย

        การเล่นดนตรีไทยของผมนั้น   เด็จพ่อทรงทำพิธีครอบครูให้ตั้งแต่ตอนที่อยู่บางปะอิน   และทรงสอนให้ตีขิมให้เป็นเบื้องต้น

เมื่อมาเรียนในวังจึงไปได้อย่างรวดเร็ว    และพระเจ้าอยู่หัวทรงวางพระราชหฤทัยในฝีมือ    จึงโปรดเกล้าให้ผมร่วมวงกับพระญาติชั้น

ผู้ใหญ่และครูดนตรีไทยหลายท่านเมื่อคราวมีงานคฤหาสน์มงคลเฉลิมฉลองขึ้นศาลาเริงในพระราชวังไกลกังวลหัวหิน  เมื่อราว พ.ศ. ๒๔๗๑ 

 ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจของผมจนบัดนี้"
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3 4
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.066 วินาที กับ 19 คำสั่ง