เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
อ่าน: 16515 ท่านใดทราบประวัติของพระฤทธิฤาชัย เจ้าเมืองบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ
han_bing
นิลพัท
*******
ตอบ: 1622



 เมื่อ 25 มิ.ย. 12, 23:15

เรียนสมาชิกเรือนไทย

ข้าพเจ้าเป็นคนชัยภูมิโดยเชื้อสาย แม้ว่าจะเกิดและโตที่กรุงเทพมหานครก็ตาม

สมัยอยู่ปี ๒ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อาจารย์วิชาประวัติศาสตร์ให้การบ้านมาคือให้ไปค้นประวัติตระกูลตัวเองให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

ภายหลังไปถามคุณแม่แม่บอกว่าต้นตระกูลเราเป็นลูกหลานเจ้าเมืองบ้านชวน หรือชื่อทางการคือเมืองบำเหน็จณรงค์ แม่เล่าว่าท่ามียศเป็นขุนพล (หนึ่งในจตุสดมภ์หัวเมืองไกลสุดฟ้า) ต่อมามีกบฎเจ้าอนุวงษ์ ท่านได้ร่วมรบปราบกบฎ จนภายหลังได้รับพระราชทานยศเป็น พระฤทธิฤาชัย แม่เล่าว่า คุณเทียดของข้าพเจ้า หรือคุณทวดของแม่ เป็นหลานสาวแท้ๆของท่านเกิดจากภรรยาหลวง มีน้องชายอีกหนึ่งคน ภายหลังสืบไปสืบมาคือคนข้างบ้านที่สนิทกันมากๆที่ชัยภูมิ รู้ว่าเป็นญาติกัน แต่พึ่งรู้ว่ามาตั้งแต่รุ่นไหน

แม่บอกว่าคุณเทียดชื่อดอกไม้ ท่านมีสามีสองคน มีอาชีพเป็นหมอยา หมอตำแย ภายหลังได้ย้ายบ้านจากบ้านชวนมาอยู่ตัวเมืองชัยภูมิในปัจจุบันนี้ ท่านมีสามีสองคน คนแรกเป็นคนไทย คนที่สองเป็นคนจีน มีบุตรสาวคนหนึ่งชื่อข่อ ข้าพเจ้าเห็นรูปของท่านทั้งสอง ท่านได้ตัดผมทรงดอกกระทุ่มไว้เล็บยาว นุ่งโจงกระเบน เสื้อเป็นเสื้อแขนยาวสีขาว มีแพรสะพายเล็กๆพาด แต่ภาพคุณทวดข่อไม่เหมือนกับคุณแม่ของนิดหน่อยเพราะท่านนุ่งผ้าซิ่นแบบลาว

คุณทวดข่อภายหลังสมรสกับนายทหารก๊กหมินตั๊งชาวจีน แม่เล่าว่าชื่อร้อยเอกบุน และได้เดินทางไปอยู่เมืองจีน อยู่เกือบ ๒๐ ปี ภายหลังจึงกลับมาเยี่ยมบ้านพร้อมลูกชายอายุ ๑๖ ปี แต่เมื่อมาถึงเมืองไทย ลูกชายเป็นโรคผิดน้ำป่วยตายไปเสียก่อน ท่านเสียใจจนเสียสติ ภายหลังสามีจึงรับกลับไปยังเมืองจีน แต่ท่านก็ไม่ดีขึ้นจนสุดท้ายสามีจึงพาท่านกลับมาอยู่บ้านที่ไทย ท่านเริ่มเข้าวัดเข้าวาจึงมีสติดีขึ้น

ต่อมาท่านรับหลานๆมาเลี้ยงเป็นลูกบุญธรรม คุณยายของข้าพเจ้าเป็นหลานทางเมืองจีนท่านเองก็รับมาเลี้ยงเป็นลูก รวมแล้วท่านมีลูกเลี้ยงสี่คน มีผู้ชายเป็นลูกคนโต นอกนั้นเป็นลูกสาวหมด ชื่อทองดี ปีย์ เนียง และมุ้งตามลำดับ

คุณตาทองดีนี้ประวัติท่านมหัศจรรย์หน่อย เพราะคุณทวดท่านรักมากเลยส่งให้เรียนสูงที่สุดเท่าที่จะทำได้ ท่านถูกส่งมาเรียนที่โรงเรียน...อะไรก็ไม่รู้ลืมแล้ว แต่คุณตาเล่าว่าเป็นโรงเรียนมหาดเล็กหลวง จำได้แค่นี้จริงๆ ภายหลังท่านเข้าไปเรียนต่อที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ไปก่อเรื่องเลยออกมา สุดท้าย เมื่อมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เปิดท่านเลยไปเรียนนิติศาสตร์และจบเป็นบัณฑิตรุ่นแรก ต่อมาท่านสมัครเป็นส.ส. และได้รับเลือกตั้งเป็นส.ส.คนแรกของจังหวัดด้วย ท่านชอบเล่าเรืองสมัยสงครามโลกให้ข้าพเจ้าฟัง แต่ข้าพเจ้าเด็กมากเลยจำไม่ค่อยได้ ท่านอยู่จนอายุ ๑๐๐ ปีจึงเสียชีวิต ตอนนั้นข้าพเจ้าอยู่แค่มัธยมปลายเอง

ส่วนลูกสาวของคุณยายข่อท่านให้เรียนชั้นมัธยม ยายของข้าพเจ้าจบชั้นมัธยมต้นโรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนของครอบครัวชื่อโรงเรียนหาญศึกษา ยายเล่าว่าคุณตาทองดีท่านตั้งเอง ภายหลังหลังได้ขายไป และเป็นโรงเรียนเอกชนจนทุกวันนี้ สอนพอให้อ่านออกเขียนได้ในขั้นพื้นฐาน ทั้งไทยและอังกฤษ

ยายข้าพเจ้าอ่านภาษาอังกฤษออกและพูดได้บ้าง ถึงไม่ดีนักก็พอจะสอนข้าพเจ้าได้ตอนอนุบาล และโต้ตอบกับฝรั่งสั้นๆได้
บันทึกการเข้า
han_bing
นิลพัท
*******
ตอบ: 1622



ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 25 มิ.ย. 12, 23:26

เรื่องของครอบครัวของข้าพเจ้าข้าพเจ้าค้นได้เท่านี้ ภายหลังไปค้นต่อถึงประวัติของพระฤทธิฤาชัย ได้ความอีกนิดดังนี้

“อนุสาวรีย์พระฤทธิฤาชัย” ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านชวน อำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ พระฤทธิฤาชัย เป็นนักร ผีมือดี นามเดิมว่าขุนพล มีตำแหน่งเป็นนายด่านบ้านชวน ขึ้นตรงต่อ จังหวัดนครราชสีมา ในปี พ.ศ.๒๓๖๙ เจ้าอนุวงศ์คิดกบฏ ถือโอกาสที่เจ้าเมืองนครราชสีมายกกำลังไปปราบปรามเหตุการณ์ความไม่สงบที่เมืองขุขันธ์ ยกทัพมากวาดต้อน คุณหญิงโมและครัวไทย เดินทางไปเวียงจันทร์ ขุนพลนายด่านบ้านชวนทราบข่าวเร่งยกกำลังไปสมทบเพื่อปราบกบฎ ได้ช่วยเหลือคุณหญิงโมและครัวไทย ต่อสู้กับทหารลาวที่ควบคุมจนได้ชัยชนะ และพาครัวไทยทั้งหมดไปตั้งมั่นรวมกันอยู่ที่บ้านสำริด แขวงเมืองพิมาย เจ้าอนุวงศ์จัดทหารหนึ่งพันมารบก็ถูกครัวไทยตีแตกไป ครั้งที่สองเจ้าสุทธิสาร เป็นแม่ทัพมาเอง กองทัพลาว ถูกพระยาปลัดทองคำ สามีคุณหญิงโม และขุนพลกับครัวไทย ตีแตกอีกครั้งหนึ่ง ขณะที่พระยาปลัดทองคำวางแผนกับขุนพลกองทัพใหญ่จากกรุงเทพฯ ก็เดินทางมาถึงพอดี พวกลาวจึงหนีไปหมดสิ้น ความดีความชอบครั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ พระราชทานบำเหน็จความชอบ ให้ขุนพลนายด่านบ้านชวนเป็น พระฤทธิฤาชัย และให้ยกฐานนะด่านบ้านชวนขึ้นเป็นเมืองบำเหน็จณรงค์   โดยให้พระฤทธิฤาชัย ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองบำเหน็จณรงค์ สืบไป

http://chaiyaphum.mots.go.th/index.php?lay=show&ac=article&Id=539170907&Ntype=3

ของในบ้านของข้าพเจ้าทุกวันนี้มีดาบโบราณอยู่ชิ้นหนึ่ง แขวนไว้หลังหิ้งพระ แม่บอกว่านี้คือดาบลาว ยายของข้าพเจ้าเล่าว่าเกิดมาก็เห็นแล้ว ไม่รู้ที่มาที่ไป แต่รู้แค่ว่าห้ามไปแตะต้อง ไม่รู้ว่าตกทอดมาแต่ครั้งนั้นหรือเปล่า




บันทึกการเข้า
han_bing
นิลพัท
*******
ตอบ: 1622



ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 25 มิ.ย. 12, 23:30

แม่เล่าให้ฟังเพิ่มเติมว่าสมัยแม่เด็กๆทุกปีต้องไปบ้านชวนเพื่อไปทำบุญที่วัดประจำตระกูลที่คุณพระท่านสร้าง แม่เล่าว่าตอนเดินทางไปเก๋มาก เพราะนั่งรถสิบล้อไป ที่มีเพราะว่าก๋งข้าพเจ้ามีรถสิบล้อไว้ขนของป่ามาขายกรุงเทพฯหลายคัน ท่านเลยให้แม่ยายนำไปใช้เดินทาง

แม่บอกว่าแม่ไปกับคุณยายทวดเสมอเพราะเป็นหลานรัก แต่ไปทีไรแม่เล่าว่าหลานรักทำให้คุณทวดขายหน้าทุกที เพราะแม่ซน ชอบหนีไปวิ่งเล่น คุณทวดก็ตามหาตกอกตกใจทุกครั้งที่ไป แม่เล่าเกร็ดหน่อยว่า แม่ไม่ยักถูกลงโทษ แต่พวกพี่ๆญาติที่พาแม่ไปเล่นถูกหวดไปตามๆกัน

นี้คือประวัติวัดดังกล่าว มีชื่อว่า "วัดบูรณ์ปะโค"

ที่ตั้ง

วัดบูรณ์ มีชื่อเดิมว่า วัดปะโค บ้านปะโค หมู่ที่ 3 ตำบลบ้านชวน อำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ มีเนื้อที่ 12 ไร่-งาน 20 ตารางวา มีหลักฐานเป็นหนังสือสำคัญประกอบ คือ น.ส.3ก. เลขทะเบียน 3087 เลขที่ดิน 304 ออกให้เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2519

ประวัติความเป็นมา

เป็นวัดเก่าแก่โบราณประจำด่านบ้านชวนในอดีต ความเป็นมาของวัดบูรณ์แต่เดิมมานั้น ได้มีแผ่นจารึกทำด้วยแผ่นเงินและแผ่นทองคำ ที่ได้พบตกหล่นอยู่ที่เจดีย์โบราณของวัดบูรณ์ ซึ่งต้องอยู่ด้านเหนือของอุโบสถ จารึกประวัติไว้สั้นๆ ดังนี้

"จำเดิมแต่ปางก่อนมา ด่านชวนทรงพระกรุณาโปรดให้พระฤทธิฤาชัยในเมืองด่านชวนยกขึ้นเป็นเมืองบำเหน็จณรงค์ ตั้งแต่ ปีกุล ปัพตาครั้นอยู่มาถึง ณ วัน 5 ฯ13 4 (วันพฤหัสบดี แรม 13 ค่ำ เดือน 4 ปี มะเมีย) ฉวกคุรอุตะมะกับพระฤทธิฤาชัย เจ้าเมืองแลทายกทั้งปวง ได้สร้างโบสถ์ ฝังลูกนิมิตพัทธเสมาไว้ในพระพุทธศาสนาวัดปะโค ครั้นอยู่มา พุทธศักราชล่วงไปได้ 2382 พระวะษา กากระสังวัดฉรจุลศักราช 1201 บัดญเอกกา คนอุปะทหกัณหากับหลวงยกบัตรทายก เมืองบำเหน็จณรงค์ มีน้ำใจเลื่อมใสนศรัทธาก่อสร้างพระประธานไว้ในพระเจดีย์ศิลาไว้ในวัดปะโค เมืองบำเหน็จณรงค์ ในพระพุทธศาสนา ขอให้ได้แก่พระนิพพาน ณ ปัตจะโยโหตุ"

จากข้อความตามจารึกนี้ประกอบกับการสืบค้นประวัติทางอื่นๆ อีก จึงทราบว่าสถานที่ที่พระฤทธิฤาชัยเจ้าเมืองบำเหน็จณรงค์ สร้างโบสถ์ที่วัดบูรณ์นี้ เดิมเป็นปรางค์เก่าและชำรุดทรุดโทรมปรักหักพัง ซึ่งยั่งมีก้อนหินศิลาแลงและหินทรายแกะสลักเป็นเสาหน้าบันอยู่มาก ดังนั้น พระฤทธิฤาชัย จึงได้สร้างโบสถ์ตรงนี้ โดยใช้ศิลาแลงที่มีอยู่เรียงซ้อนเป็นฐานโบสถ์ขึ้นมา ส่วนเสาโบสถ์ใช้เสาไม้จริง ฝาใช้ไม้รวกขัดแตะ หลังคามุงด้วยใบตองตรึง ครั้นอยู่ต่อมาก็ชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา เจ้าอาวาสวัดพร้อมทายกและชาวบ้านในสมัยหลังๆ ได้ปรับปรังซ่อมแซมโดยมุงหลังคาด้วยสังกะสีและตีฝากระดาน วัดบูรณ์แห่งนี้เป็นวัดสังกัดมหานิกาย

โบราณวัตถุ ในบริเวณวัดบูรณ์แห่งนี้มีโบราณวัตถุที่สำคัญ ซึ่งกรมศิลปากรได้สำรวจและขึ้นทะเบียนไว้ และออกประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 53 ตอนที่ 25 ลงวันที่ 2 สิงหาคม 2479 หมายเลข 6 มีดังนี้

- เจดีย์ 1 องค์ ก่อด้วยอิฐ ฐานรองกว้าง 9 ศอก สี่เหลี่ยม องค์เจดีย์กว้าง 1 วา สีเหลี่ยม สูง 12 ศอก ยอดหักลงมามากคณะกรรมการวัดและชาวบ้านปะโค จึงขออนุญาตจากกรมศิลปากร เพื่อทำการบูรณะ กรมศิลปากรอนุญาตแต่ไม่ให้รื้อถอนเจดีย์องค์เดิม ให้สร้างเจดีย์ใหม่ครอบองค์เดิมไว้ ตามแบบแปลนที่กำหนดให้ แต่มิได้จัดสรรงบประมาณมาให้ ด้วยแรงศรัทธาของประชาชนจึงได้ช่วยกันบริจาควัสดุก่อสร้างจตุปัจจัยจนสามารถก่อสร้างเจดีย์องค์ใหม่ครอบเจดีย์โบราณเป็นผลสำเร็จ

- สิงห์โตหิน 1 ตัว ยืนอยู่บนแท่งหินกว้าง 14 นิ้ว สี่เหลี่ยมสูง 5 นิ้วครึ่ง

- พระพุทธรูปโบราณ 1 องค์ หน้านักกว้าง 1.66 เมตร สูง 2.61 เมตร เป็นพระพุทธรูปปั้นด้วยปูน ประดิษฐานอยู่บนแท่นในโบสถ์ นับว่าเป็นพระพุทธรูปโบราณที่ใหญ่ที่สุด ในอำเภอบำเหน็จณรงค์ เป็นที่เคารพสักการะบูชาของประชาชนโดยทั่วไป กับทั้งเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของประชาชนด้วย พระพุทธรูปองค์นี้ประชาชนโดยทั่วไป รู้จักท่านในนาม "หลวงพ่อโต"

http://kanchanapisek.or.th/oncc-cgi/text.cgi?no=14533


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
han_bing
นิลพัท
*******
ตอบ: 1622



ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 25 มิ.ย. 12, 23:38

ข้าพเจ้าเองรู้มากทีสุดเกี่ยวกับประวัติครอบครัวตัวเองก็เท่านี้ เลยอยากรบกวนสมาชิกเรือนไทย ท่านใดพอจะทราบประวัติของพระฤทธิฤาชัย มากกว่านี้บ้าง ถ้าท่านมาแบ่งปันจะนับเป็นพระคุณยิ่ง

สวัสดี
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 26 มิ.ย. 12, 04:31


คุณตาทองดีนี้ประวัติท่านมหัศจรรย์หน่อย เพราะคุณทวดท่านรักมากเลยส่งให้เรียนสูงที่สุดเท่าที่จะทำได้ ท่านถูกส่งมาเรียนที่โรงเรียน...อะไรก็ไม่รู้ลืมแล้ว แต่คุณตาเล่าว่าเป็นโรงเรียนมหาดเล็กหลวง จำได้แค่นี้จริงๆ ภายหลังท่านเข้าไปเรียนต่อที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ไปก่อเรื่องเลยออกมา สุดท้าย เมื่อมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เปิดท่านเลยไปเรียนนิติศาสตร์และจบเป็นบัณฑิตรุ่นแรก ต่อมาท่านสมัครเป็นส.ส. และได้รับเลือกตั้งเป็นส.ส.คนแรกของจังหวัดด้วย ท่านชอบเล่าเรืองสมัยสงครามโลกให้ข้าพเจ้าฟัง แต่ข้าพเจ้าเด็กมากเลยจำไม่ค่อยได้ ท่านอยู่จนอายุ ๑๐๐ ปีจึงเสียชีวิต ตอนนั้นข้าพเจ้าอยู่แค่มัธยมปลายเอง

โรงเรียนมหาดเล็กหลวงของคุณตาทองดี คงหมายถึงโรงเรียนในภาพนี้
ถ้าใช่  คุณตาของคุณหาญบิงก็เป็นรุ่นพี่ของสมาชิกเรือนไทย 3 ท่านด้วยกัน


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 26 มิ.ย. 12, 04:39

ลองเทียบยุคสมัยดู    เข้าใจว่าคุณตาทองดีออกจากจุฬาฯในต้นรัชกาลที่ 7   กว่าท่านจะไปเรียนต่อที่ม.ธรรมศาสตร์ได้ก็เลยพ.ศ. 2475 ไปแล้ว  คือเข้าเรียนเมื่อพ.ศ. 2476 ซึ่งเป็นปีก่อตั้งมหาวิทยาลัย   
สมัยนั้นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่ได้แยกเป็นคณะอย่างเดี๋ยวนี้  แต่มีหลักสูตรวิชากฎหมายที่เรียกว่า "ธรรมศาสตรบัณฑิต" อักษรย่อว่า "ธ.บ."  
ท่านคงจะกลับจังหวัดชัยภูมิโดยมีปริญญาธรรมศาสตรบัณฑิตต่อท้าย   ก็นับว่าโก้มากในยุคนั้น  
บันทึกการเข้า
han_bing
นิลพัท
*******
ตอบ: 1622



ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 26 มิ.ย. 12, 08:09

แม่เล่าว่าท่านโก้จริงๆ แต่งตัวหล่อเฟี้ยวตั้งแต่จำความได้

ข้าพเจ้าเกิดทันในวัยชรา ท่านแก่มากแล้วแต่แต่งเสื้อเชิร์ต กางเกงขายาวเรียบร้อยตลอดเวลาที่พบกัน กระทั่งท่านป่วยโน้นแหละ ข้าพเจ้าจึงเห็นท่านแต่งตัวด้วยกางเกงขาสั้น

คุณตาทองดีมีศักดิ์เป็นพี่ชายยายของข้าพเจ้า ยายข้าพเจ้าเป็นลูกคนที่ ๓ ห่างกับคุณตาหลายปี หรือพูดง่ายๆเอามาเลี้ยงห่างกันหลายปี แม่บอกว่า แม่เกิดตาทองดีก็ห้าสิบกว่าปีแล้ว ส่วนยายอายุสามสิบห้าคิดไปอายุพี่ชายคนโตกับน้องสาวเกือบสุดท้องห่างกัน ๒๐ ปีเห็นจะได้

แม่เล่าว่าบ้านท่านสมเป็นบ้านส.ส.ประจำจังหวัด ขนาดใหญ่โตมากในยุคนั้น เป็นเรือนยกพื้นทาสีเขียวอ่อน ประดับลายลูกไม้ ปลูกคล้ายๆเรือนไทย คือ เป็นเรือนสามหลังล้อมเรือนโถง ๑ หลัง แม่บอกว่า หน้าเรือนทำเป็นสนามหญ้ากว้าง แถมปลูกซุ้มการเวกไว้ตั้งแต่หน้าบ้านคลุมถนนไปช่วงหนึ่งอีก นอกเรือนเป็นเรือนภรรยาน้อย ซึ่งท่านมีอยู่ไม่น้อย และเรือนบ่าว (เรียกอย่างนี้จริงๆ) ข้างในบ้านเป็นเครื่องเรือนแบบฝรั่ง ซื้อมาจากรุงเทพฯ

ที่ดินแปลงนี้อยู่ใจกลางเมืองขนาดหลายไร่ เป็นของคุณยายทวด คุณยายทวดท่านว่าท่านไม่ได้ยกให้ แต่อนุญาตให้มาอยู่ได้ตามใจสืบไป ดังนั้นท่านจะมาทำอะไรบนที่แปลงนี้ก็ได้ เป็นเรื่องของท่าน เลยเกิดตำนานคุณทวดรื้อสวนดอกไม้มาทำสวนผัก คุณตาเสียใจแต่ไม่กล้าขัดใจแม่ของท่าน เพราะพอคุณตาแย้งอะไรคุณทวดตอบไปว่า "ที่ของข่อย เป็นหยั่งข่อยสิเฮ็ดบ่ได้" ความข้อนี้แม่เล่าเอง เพราะแม่ตามคุณทวดไปปลูกผัก

อย่างไรก็ตามบ้านหลังนี้ทุกวันนี้ได้รื้อและแบ่งขายทำตึกแถวไปแล้ว แต่ซอยที่เกิดจากการแบ่งที่ดินดังกล่าวปัจจุบันเรียกว่า "ซอยหาญศึกษา" ตามนามสกุลของท่าน

ข้าพเจ้าเกิดทันคุณตาทองดี โดยเป็นหลานรุ่นเล็กๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ ว่างๆก็ไปเยี่ยมท่านที่บ้านกับคุณยายเสมอ ท่านเล่าเกร็ดครั้งมากรุงเทพฯว่าลำบากมาก ต้องนั่งช้าง นั่งเรือ เพื่อไปต่อรถไฟที่ไหนก็จำไม่ได้แล้ว จำได้แต่ว่าอยู่ในอีสาน คล้ายๆว่าจะเป็นโคราช กว่าจะได้เข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ

จริงๆท่านเล่าเรื่องสงครามโลกครั้งที่สองอีกมาก ไปอยู่ในเหตุการณ์ลงนามอะไรก็ไม่รู้ในวัดพระแก้ว ข้าพเจ้าไม่กล้าบอกว่าเป็นการลงนามไทยกับญี่ปุ่นเพราะจำได้แค่คร่าวๆเท่านั้น และตอนนั้นท่านเป็นส.ส.หรือยังข้าพเจ้าก็ไม่ทราบ

ชื่อของคุณตาคือ "ทองดี หาญศึกษา"

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยอีกนิดหน่อยเกี่ยวกับท่าน คือ ตอนยายข้าพเจ้าแต่งงานกับก๋ง และมีลูกแล้ว ท่านยื่นคำขาดให้น้องสาวใช้นามสกุลหาญศึกษากับลูกทุกคน ห้ามใช้แซ่แบบจีนอย่างก๋งเด็ดขาด ท่านว่าท่านยอมให้น้องสาวคนเดียวใช้แซ่พอแล้ว  
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 26 มิ.ย. 12, 08:42

คุณตาทองดีนี้ประวัติท่านมหัศจรรย์หน่อย เพราะคุณทวดท่านรักมากเลยส่งให้เรียนสูงที่สุดเท่าที่จะทำได้ ท่านถูกส่งมาเรียนที่โรงเรียน...อะไรก็ไม่รู้ลืมแล้ว แต่คุณตาเล่าว่าเป็นโรงเรียนมหาดเล็กหลวง จำได้แค่นี้จริงๆ ภายหลังท่านเข้าไปเรียนต่อที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ไปก่อเรื่องเลยออกมา สุดท้าย เมื่อมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เปิดท่านเลยไปเรียนนิติศาสตร์และจบเป็นบัณฑิตรุ่นแรก

ตรวจสอบนาม "ทองดี" จากทะเบียนนักเรียนโรงเรียนมหาดเล็กหลวงที่ท่านหม่อมหลวงปิ่น  มาลากุล รวบรวมไว้เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๔  พบ ๓ ชื่อ คือ
ทองดี  สุวรรณากาศ  เลขประจำตัว ๗๕  เข้าโรงเรียนเมื่อ ๑ มิถุนายน ๒๔๕๔
ทองดี  คร้ามกำจร  เลขประจำตัว ๑๐๔   เข้าโรงเรียนเมื่อ ๓  สิงหาคม  ๒๔๕๔
พันธุม (ทองดี)  สาระคุณ  เลขประจำตัว ๔๐๑  เข้าโรงเรียนเมื่อ ๑๗  เมษายน  ๒๔๖๒

เมื่อรวมโรงเรียนมหาดเล็กหลวงกับราชวิทยาลัย เป็นวชิราวุธวิทยาลัยแล้ว  ในรัชกาลที่ ๗  ไม่มีชื่อ "ทองดี" ในทะเบียนนักเรียนเลย
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 26 มิ.ย. 12, 09:17

สวัสดีครับคุณ han_bing

เมืองชัยภูมิ ย้ายที่ตั้งของเมืองมาหลายครั้ง บ้านชวน เป็นหน้าด่านที่สำคัญที่เป็นทางไปสู่อีสานตอนบน ไปถึงจังหวัดเลย บ้านชวนเปลี่ยนเป็น อำเภอบำเหน็จณรงค์ในปัจจุบันนี้ จึงยกแผนที่ประกอบเพื่อให้เห็นภาพที่ตั้งของเมือง ซึ่งเชื่อมโยงการเดินทางลงมายังปากช่อง โคราชได้


บันทึกการเข้า
han_bing
นิลพัท
*******
ตอบ: 1622



ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 26 มิ.ย. 12, 09:19

แสดงว่าไม่ใช่วชิราวุธ เพราะถ้าไม่มีชื่อ แสดงว่าไม่ได้เรียน คงไม่ใช่เพราะว่าเข้าเรียนแล้วไม่จบหลักสูตรเลยไม่ได้มีชื่อ

แต่เป็นอะไร คงต้องกลับไปบ้าน ไปถามคุณป้าลูกคุณตาเอา

แต่อยากรู้อีกข้อ เราจะค้นรายชื่อส.ส.เก่าได้อย่างไร ข้าพเจ้าลองค้นแล้วหาไม่เจอ

แต่จากประวัติพระฤทธิฤาชัย กลายเป็นประวัติคุณตาทองดีได้อย่างไรก็ไม่รู้

อีกข้อผมสงสัยคือ เคยฟังแม่ว่า คุณตาตั้งนามสกุลของท่านเอง ตอนท่านไปเรียน ท่านใช้นามสกุลอะไร - แต่ข้อนี้ไม่ขอออกความเห็น เพราะจำอย่างเลอะเลือนเต็มทน พูดไป จะผิดเอา

จริงๆสงสัยอะไร หรืองงๆอะไรมาเล่าในเรือนไทยนี้ดี ประวัติกระจ่างขึ้นมาก
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 26 มิ.ย. 12, 10:08

จากประวัติที่คุณหาญปิงเล่ามาว่า คุณตาทองดีท่านไปเรียนกฎหมายจนจบเป็นธรรมศาสตร์บัณฑิต
จึงอาจเป็นได้ว่า ท่านไปเรียนที่โรงเรียนราชวิทยาลัยซึ่งเป็นโรงเรียนที่คู่กันกับโรงเรียนมหาดเล็กหลวง
เพราะนักเรียนราชวิทยาลัยส่วนใหญ่เมื่อจบมัธยมแล้วมักจะไปเรียนกฎหมายต่อ 
อีกประการแต่เดิมโรงเรียนกฎหมายนั้นสังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
มาย้ายไปเป็นมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง  เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว
บันทึกการเข้า
han_bing
นิลพัท
*******
ตอบ: 1622



ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 26 มิ.ย. 12, 13:02

ขอบพระคุณมากครับ

อันนี้ไม่กล้ายืนยันครับ เพราะผมฟังมาตอนเป็นเด็ก เดี่ยวตอบไปจะผิดพลาดเอา

นี้รบกวนถามคุณแม่ไปว่ายังมีเอกสารประวัติของคุณตาทองดีเหลือหรือเปล่า

ทั้งนี้โรงเรียนราชวิทยาลัยกับโรงเรียนมหาดเล็กหลวงต่างกันอย่างไรหรือครับ
บันทึกการเข้า
han_bing
นิลพัท
*******
ตอบ: 1622



ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 26 มิ.ย. 12, 13:49

อันนี้ขอเสริมอีกเล็กน้อย

บ้านข้าพเจ้าเป็นชาวอีสาน แต่คนอีสานในชัยภูมินี้แบ่งเป็นหลายกลุ่ม ที่บ้าน และคนแถวบ้าน ถนนหฤทัย ซึ่งสมัยก่อนเขาเรียกว่าในตลาด เป็นสายที่เชื้อสายจีนปนลาวอาศัยอยู่ เล่าสืบกัน พวกเราเป็นคนเวียงจันทร์ อพยพมา จะคราวไหนข้าพเจ้าไม่กล้าตอบ เพราะกระแสอพยพของชาวเวียงจันทร์มายังชัยภูมิมาเป็นระลอกๆ ขอยกตัวอย่างตั้งแต่

เรื่องราวการอพยพของชาวลาวมายังชัยภูมิตั้งแต่ช่วงอยุธยามายังกรุงรัตนโกสินทร์ ดังนี้

สมัยอยุธยา (พุทธศตวรรษที่ ๑๙ - ๒๔)

ในระยะเริ่มแรก หัวเมืองในแถบอีสานถือว่าเป็นดินแดนของผู้คนที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของกรุงศรีสัตนาคนหุต (ล้านช้าง)

ในรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) จึงไม่มีทำเนียบเมืองขึ้น ๑๖ หัวเมือง ชื่อเมืองชัยภูมิจึงไม่ปรากฎ

หลักฐานเมืองชัยภูมิปรากฎชัดเจนในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อพระองค์ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ พระยายมราช (สังข์) ขึ้นไปครองเมืองนครราชสีมา และโปรดเกล้า ฯ ให้ย้ายเมืองจากที่ตั้งเดิมคือ ที่ตำบลโคราช อำเภอสูงเนิน มาตั้งใหม่ ณ ที่ตั้งปัจจุบัน เมื่อปี พ.ศ.๒๑๙๕ - ๒๒๓๑  เมืองนครราชสีมาในขณะนั้นมีเมืองขึ้นอยู่ห้าเมือง คือ เมืองจันทึก อยู่ทางทิศตะวันตก เมืองชัยภูมิอยู่ทางทิศเหนือ เมืองพิมายอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เมืองบุรีรัมย์ อยู่ทางทิศตะวันออก และเมืองนางรอง อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้

หลังจากนั้นได้ตั้งเมืองใหม่อีกเก้าเมือง ได้แก่ เมืองบำเหน็จณรงค์ (ที่เรียกว่าบ้านชวน) เมืองจตุรัส เมืองเกษตรสมบูรณ์ เมืองภูเขียว เมืองพุทไธสง เมืองประโคนชัย เมืองรัตนบุรี เมืองปักธงชัย ขึ้นกับเมืองนครราชสีมา รวม ๑๔ หัวเมือง

ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ.๒๑๙๙ - ๒๒๓๑)  เมืองเวียงจันทน์ได้ตกเป็นเมืองขึ้นของอยุธยา ชาวเวียงจันทน์ได้อพยพเข้ามาประกอบอาชีพ ติดต่อกับกรุงศรีอยุธยามากขึ้น การเดินทางจากเวียงจันทน์ไปกรุงศรีอยุธยา ต้องผ่านเมืองชัยภูมิ คือ ต้องข้ามลำชี ข้ามช่องเขาสามหมอ ชาวเวียงจันทน์เห็นว่าเมืองชัยภูมิ เป็นทำเลดีเหมาะสำหรับทำการเพาะปลูก ทำไร่ ทำนา จึงพากันมาตั้งถิ่นฐาน ทำมาหากิน ตั้งเป็นหมู่บ้าน

ชาวพื้นเมืองเดิมก็ได้รับวัฒนธรรมประเพณีจากบรรพบุรุษ เช่น ภาษาพูด ภาษาเขียน วรรรณคดี ขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมอื่น ๆ ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นเอกลักษณ์ของชาวชัยภูมิ ในสำเนียงพูด ภาษาถิ่น ที่ไม่เหมือนสำเนียงอีสานทั่วไป

สมัยธนบุรี (พ.ศ.๒๓๑๐ - ๒๓๒๕)  

เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าในปี พ.ศ.๒๓๑๐ ได้เกิดชุมนุมต่าง ๆ ที่ตั้งตัวเป็นอิสระอยู่ห้าชุมนุมด้วยกัน หนึ่งในชุมนุมดังกล่าวคือ ชุมนุมเจ้าพิมาย สันนิษฐานว่า มีอำนาจครอบคลุมเมืองนครราชสีมา รวมทั้งเมืองชัยภูมิด้วย
            
สมัยรัตนโกสินทร์  

เดิมเขตจังหวัดชัยภูมิ มีผู้คนอยู่กระจัดกระจายตามแหล่งที่อุดมสมบูรณ์ อยู่ในการปกครองของเมืองนครราชสีมา ยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่า ใครเป็นผู้นำ หรือเจ้าเมืองชัยภูมิ ส่วนมากผู้คนจะอยู่ตามเมือง ที่มีความเจริญอยู่ดั้งเดิม เช่น เมืองกาหลง ในเขตอำเภอคอนสวรรค์ เมืองสี่มุม เมืองภูเขียว เมืองเกษตรสมบูรณ์ เป็นต้น แต่ละเมืองเป็นอิสระไม่ขึ้นต่อกัน
            
เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๓๖๐ ได้มีขุนนางชาวเวียงจันทน์คนหนึ่งมีนามว่า อ้ายแล มีตำแหน่งเป็นพี่เลี้ยงเจ้าราชบุตร เจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์ ได้ลาออกจากหน้าที่แล้วอพยพครอบครัว และไพร่พลชาวเมืองเวียงจันทน์ข้ามแม่น้ำโขง ไปหาภูมิลำเนาที่เหมาะสม เพื่อตั้งหลักแหล่งทำมาหากิน ขั้นแรกตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้าน น้ำขุ่น หนองอีขาน (ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา)  ต่อมาได้อพยพมอยู่ที่โนนน้ำอ้อม (ปัจจุบันคือ บ้านชีลอง ) ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองชัยภูมิปัจจุบัน ประมาณ ๖ กิโลเมตร และได้ตั้งหลักฐานมั่นคง เมื่อปี พ.ศ.๒๓๖๒ คงใช้ชื่อเมืองตามเดิมคือ ชัยภูมิ (ไชยภูมิ) ต่อมาได้มีผู้อพยพเข้ามาอยู่ด้วย ๑๓ หมู่บ้านคือ บ้านสามพัน บ้านบุ่งคล้า บ้านกุดตุ้ม บ้านบ่อหลุบ  บ้านบ่อแก บ้านนาเสียว (เสี้ยว)  บ้านโนนโพธิ์ บ้านโนนน้ำอ้อม บ้านโพธิ์หอก บ้านหนองใหญ่ บ้านหลุบโพธิ บ้านกุดไผ่ (บ้านตลาดแร้ง)  บ้านโนนไพหญ้า
            
นายแล ได้เก็บส่วยผ้าขาว และรวบรวมชายฉกรรจ์ประมาณ ๖๐ คน ในหมู่บ้านเหล่านั้นไปบรรณาการแก่เจ้าอนุวงศ์ เวียงจันทน์ และเจ้าอนุวงศ์ ฯ ได้กราบทูลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ในคราวไปถวายเครื่องราชบรรณาการที่กรุงเทพ ฯ ขอพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้นายแล นายแล จึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น ขุนภักดีชุมพล เป็นหัวหน้าคุมหมู่บ้านต่าง ๆ ขึ้นกับเวียงจันทน์
            
ในปี พ.ศ.๒๓๖๕ ขุนภักดีชุมพล (แล)  เห็นว่าบ้านโนนน้ำอ้อมไม่เหมาะ เพราะบริเวณคับแคบ และขาดแคลนน้ำ จึงย้ายเมืองชัยภูมิมาอยู่ ณ ที่แห่งหนึ่งอยู่ระหว่างหนองปลาเฒ่า กับหนองหลอด ต่อกันให้ชื่อบ้านใหม่นี้ว่า บ้านหลวง
            
ในปี พ.ศ.๒๓๖๖  บ้านหลวงมีคนอพยพมาตั้งถิ่นฐานหนาแน่นขึ้น และเกิดมีบ่อทองอยู่ที่บริเวณลำห้วยซาด ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของภูเขาพญาฝ่อ (เทือกเขาเพชรบูรณ์)  ขุนภักดี ฯ ได้เกณฑ์ชายฉกรรจ์ทั้งปวงไปช่วยเก็บหาทอง ได้พบทองก้อนหนึ่งจึงได้นำทองก้อนนั้น พร้อมด้วยส่วย ฤชากร ชายฉกรรจ์ในสังกัดขึ้นไปให้เจ้าอนุวงศ์ เจ้าอนุวงศ์ได้นำส่วยดังกล่าวไปถวาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่กรุงเทพ ฯ พร้อมกับกราบบังคมทูลขอบรรดาศักดิ์ขุนภักดี ฯ เป็นพระยาภักดีชุมพล และยกบ้านหลวงขึ้นเป็นเมืองไชยภูมิ (ชัยภูมิ) พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้ทรงโปรดเกล้า ฯ พระราชทานให้ตามที่ขอ และให้พระยาภักดี ฯ ว่าราชการในตำแหน่งเจ้าเมืองชัยภูมิด้วย
            
ในปี พ.ศ.๒๓๖๙ เจ้าอนุวงศ์ เวียงจันทน์ เป็นกบฎ ได้ยกทัพผ่านมาทางเมืองภูเขียว เมืองชัยภูมิ เมืองสี่มุม เกลี้ยกล่อมให้เจ้าเมืองทั้งสามช่วยยกทัพไปตีกรุงเทพ ฯ เจ้าเมืองภูเขียวคือ พระยาไกรสีหนาท และเจ้าเมืองชัยภูมิ คือ พระยาภักดีชุมพล ไม่ยอมเข้าด้วย เมื่อเจ้าอนุวงศ์ ฯ ถอยกลับไปแล้ว จึงสั่งให้เชิญเจ้าเมืองทั้งสองไปพบ แล้วให้ประหารชีวิตทั้งสองคน พร้อมทั้งกรมการเมือง ในปีเดียวกัน
            
เมื่อเจ้าเมืองถึงแก่กรรม ชาวชัยภูมิก็แยกย้ายไปตั้งบ้านเรือนแห่งใหม่ วีรกรรมของพระยาภักดีชุมพล ในครั้งนี้จึงเป็นที่มาของการยกย่องให้เป็น เจ้าพ่อพญาแล ถือว่าเป็นวีรบุรุษของบ้านเมืองมาตราบเท่าทุกวันนี้

ที่มา http://www1.mod.go.th/heritage/nation/oldcity/chaiyaphum2.htm

รูปปั้นเจ้าพ่อพญาแล เจ้าเมืองชัยภูมิ



คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
han_bing
นิลพัท
*******
ตอบ: 1622



ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 26 มิ.ย. 12, 14:16

บ้านข้าพเจ้ามาจากบ้านชวน ไม่รู้จะเป็นชาวเวียงจันทร์กับเขาหรือเปล่า อย่างไรก็ตาม ถ้าคิดจริงๆในปัจจุบันนี้บ้านชวนเป็นสำเนียงแบบไทยโคราช บ้านข้าพเจ้าน่าจะใช้สำเนียงไทยโคราช แต่บ้านข้าพเจ้าใช้สำเนียงที่ใช้ในตลาดเก่า ซึ่งไปบ้านชวนก็ไม่เหมือนสักเท่าไร ข้างบ้านข้าพเจ้า บอกข้าพเจ้านี้แหละสำเนียงเวียงจันทร์เก่าของชัยภูมิแท้ๆ สำเนียงอื่นนอกนั้น...ขออภัย...อ่านไปอย่าได้ถือโกรธ แต่เขาว่าอย่างนั้นจริงๆ คือสำเนียงคนบ้านนอก พวกที่อพยพเข้ามาใหม่ ของแท้และดั้งเดิมต้องแบบถนนสายกลางถนนหฤทัยนี้เท่านั้น

แต่อย่างไรก็ตามข้าพเจ้าพูดอีสานไม่เป็น เพราะยายไม่ให้พูด ยายบอกว่า กลัวโตขึ้นอยู่กรุงเทพฯ จะพูดไทยคำลาวคำ อายเขา

สำเนียงลาวในชัยภูมิแบ่งได้ดังนี้

ภาษา  

พื้นที่ของจังหวัดชัยภูมิติดต่อกับพื้นที่ของจังหวัดในภาคกลาง ทำให้อิทธิพลของภาษากลาง จึงเข้ามามีอิทธิพลต่อภาษาถิ่นอยู่ไม่น้อย ภาษาของคนชัยภูมิส่วนใหญ่ ใช้ภาษาถิ่นอีสาน ในส่วนของอำเภอเมือง ฯ ประชาชนส่วนใหญ่ใช้ภาษาท้องถิ่นมีสำเนียงของชาวเมืองเวียงจันทน์แฝงอยู่ โดยเฉพาะหมู่บ้านขี้เหล็กใหญ่ บ้านนาเสียว บ้านนาวัง บ้านเล่า
            
ส่วนพื้นที่ใดติดต่อกับเขตจังหวัด ก็จะมีพื้นสำเนียงภาษาของจังหวัดใกล้เคียง ปรากฎอยู่ เช่น ภาษาไทยสำเนียงโคราช  จะปรากฎอยู่แถบอำเภอจตุรัส บางหมู่บ้าน และบางส่วนของตำบลบ้านค่าย อำเภอเมือง ฯ อำเภอเทพสถิต อำเภอบำเหน็จณรงค์  ตำบลหนองบัวโคก ตำบลบ้านขาม ตำบลจตุรัส ตำบลกะฮาด ตำบลตาเนิน อำเภอเนินสง่า

ภาษาไทยกลาง  หรือภาษาราชการ ประชาชนในเขตอำเภอเมือง ฯ ส่วนมาก ที่รับราชการและที่ค้าขาย ในตัวเมืองส่วนมากใช้ภาษากลาง
                
ภาษาชาวบน  มีกลุ่มชนเผ่าชาวบน หรือชาวดง อยู่ที่บางพื้นที่ของจังหวัดชัยภูมิ และยังคงรักษาภาษาของชาวบนไว้ อย่างมีเอกลักษณ์ของตนเอง เช่น สำนวน หรือบทเพลง ได้แก่ เพลง หยอกเด็ก เป็นต้น

ที่มา http://www1.mod.go.th/heritage/nation/oldcity/chaiyaphum12.htm

ข้าพเจ้าเองเลยรู้ไม่ชัดแน่ว่าขุนพล หรือพระฤทธิฤาชัย ท่านจะเป็นคนมาจากไหน มาจากเวียงจันทร์เหมือนเจ้าพ่อพญาแลหรือไม่ มาพร้อมกับเจ้าพ่อพญาแลหรือไม่

ภาพปรางค์กู่ โบราณสถานศักดิ์สิทธิคู่บ้านคู่เมืองชัยภูมิ



บันทึกการเข้า
han_bing
นิลพัท
*******
ตอบ: 1622



ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 26 มิ.ย. 12, 14:24

ในชัยภูมิมีธรรมเนียมแบบชาวลาวปะปนเยอะมาก ข้าพเจ้ายังจำได้ดีตอนเด็กทีบ้านจะไปไหว้เจ้าพ่อตอนกลางคืนในงานเจ้าพ่อพญาแล และมีฟ้อนด้วย

ข้าพเจ้าไม่ได้ไปร่วมหรอก เพราะว่าเด็ก ตอนนั้นหลับอยู่ โตมาก็ไม่ได้ไป เพราะเวลางานเจ้าพ่อทีไร ไม่ค่อยได้กลับชัยภูมิเลย

มีการอธิบายวัฒนธรรมความเชื่อชาวชัยภูมิไว้ดังนี้

"ศาสนาและความเชื่อ ของชาวชัยภูมิ  มีความคล้ายคลึงกับชาวไทยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือโดยทั่วไป  คือการนับถือศาสนากับความเชื่อในอำนาจเหนือธรรมชาติ  เช่น  การนับถือผีแถน  ผีค้ำ  หรือผีบรรพบุรุษ  ผีมเหสักข์(ผีหอผีโฮง)  ผีน้ำ  ผีป่า  คติความเชื่อนี้  ทำให้เกิดประเพณี  พิธีกรรม  หรือแนวปฏิบัติ  เพื่อทำให้ผีพอใจบันดาลมิ่งมงคลแก่ตนเองและสังคม  เช่น  ในฮีตสิบสอง  คองสิบสี่  อันเป็นกฎหมายแบบจารีตประเพณี  กำหนดพิธีกรรมต่าง ๆ เกี่ยวกับผี  ประกอบกับมีความเชื่อในคำสอนพุทธศาสนาด้วย  จึงมีลักษณะผสมผสาน เป็นพุทธศาสนาที่ปะปนกับคติเรื่องผี และในหมู่ชนชาวชัยภูมิทั่วไป"

ประเพณีงานเจ้าพ่อที่ข้าพเจ้ากล่าวไปข้างต้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมแบบชาวลาวที่พัฒนา เรื่องราวเป็นดังนี้

"ความเชื่อเกี่ยวกับพิธีบวงสรวงเซ่นไหว้ผีบรรพบุรุษหรือเจ้านาย เป็นพิธีที่แสดงออก ถึงวิธีการ

ดำรงชีวิตดั้งเดิมของชาวอีสาน ที่มีอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของความเชื่อในอำนาจลึกลับเหนือธรรมชาติ โดยเชื่อว่า พวกเขาสามารถติดต่อกับดวงวิญญาณ ผีเจ้านายหรือผีบรรพบุรุษได้ โดยผ่านคนทรง ซึ่งเป็นผู้นำในการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ เกี่ยวกับการบวงสรวงเซ่นไหว้ บุคคลที่ประกอบพิธีกรรมกลุ่มนี้ ได้แก่ บัวนางหรือนางเทียม และข้าเฝ้าจะประกอบด้วย พ่อโกย แม่โกย กวนจ้ำ สมุนหมอปิ๊ว ควาญช้าง ควาญม้า โดยบัวนาง หรือนางเทียม   ทำหน้าที่เข้าทรงหรือเป็นร่างทรงให้แก่ผีบรรพบุรุษ   หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า ผีเจ้านายให้มาเข้าทรง ส่วนข้าเฝ้าหรือข้าพระบาท   เป็นผู้ทำหน้าที่บริวารเฝ้าดูแลคอยปรนนิบัติรับใช้ผีคณะเข้าทรง และคอยตบแต่งจัดเตรียมสถานที่และอุปกรณ์ในการประกอบพิธีกรรม บรรดาข้าเฝ้าเหล่านี้ จะมาจากการเลือกโดยดวงวิญญาณผีบรรพบุรุษหรือผีเจ้านาย ขณะที่เข้าร่างทรง  ข้าเฝ้าจะมี ๒ ฝ่าย คือฝ่ายหญิงและฝ่ายชาย ฝ่ายชายเรียกว่า “แสน” ฝ่ายหญิงเรียกว่า “นางแต่ง” ดังนั้น “นางเทียม” “แสน” และ “นางแต่ง” จึงเป็นสมมุติบุคคล  ที่มีบทบาทและหน้าที่ในการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ เพื่อบวงสรวง   เซ่นไหว้วิญญาณผีบรรพบุรุษหรือผีเจ้านาย    ตลอดจนการบนบานและการแก้บนผีบรรพบุรุษ     หรือผีเจ้านายของชาวชัยภูมิ จะทำเป็นพิธีใหญ่และมีการสืบทอดกันมานานตั้งแต่อดีต จนกลายเป็นประเพณีสำคัญของจังหวัดไปแล้ว เช่น งานบวงสรวงเจ้าพ่อพญาแล หรือประเพณีบุญเดือนหก จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในวันพุธแรกของเดือน ๖ ของทุกปี ณ บริเวณศาลเจ้าพ่อพญาแล ตำบลหนองปลาเฒ่า อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ และงานประเพณีเลี้ยงเดือนเลี้ยงปี ของชาวอำเภอคอนสาร ในวันขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๓ และวันขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๖ ของทุกปี  ณ ศาลเทพารักษ์และศาลหน้ารูปปั้นหลวงพิชิตสงคราม  อำเภอคอนสาร

ซึ่งความมุ่งหมายของพิธีกรรม เพื่อเป็นการตอบแทนบุญคุณบรรพบุรุษ ที่สร้างบ้านแปงเมืองและปกป้องคุ้มครองลูกหลานให้อยู่เย็นเป็นสุข ปลอดภัยจากอุบัติภัย ดลบัลดาลให้เกิดความสำเร็จ      แก่ ลูกหลาน และเป็นการขอขมาลาโทษต่อบรรพบุรุษ  หากลูกหลานได้ทำล่วงเกินด้วยประการทั้งปวง"

ที่มา http://kanchanapisek.culture.go.th/thai/index.php?option=com_content&view=article&id=930%3A2553-04-23-19-%25M-%25S&catid=318%3A2553-04-23-19-%25M-%25S&Itemid=63


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.06 วินาที กับ 20 คำสั่ง