เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 15 16 [17] 18 19 ... 23
  พิมพ์  
อ่าน: 131182 กบฎบวรเดช นี่ทหารการเมืองเขาเล่นอะไรกัน?
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 240  เมื่อ 01 ก.ค. 12, 20:50

ในขณะที่บ้านพระยาทรงทำขนมกล้วยขายหารายได้มายาไส้ พระองค์เจ้าบวรเดชดำรงพระองค์ที่นั่นอย่างไร คนภายนอกตระกูลคงจะยากที่จะได้ทราบ นอกจากที่หลุดๆมาว่า สมัยที่ทรงลี้ภัยอยู่ในเวียดนาม ได้ดำรงพระชนม์ชีพโดยการรับย้อมผ้ามาก่อน เมื่อเสด็จกลับเมืองไทยจึงได้นำความชำนาญทางนี้ มาเปิดโรงงานเล็กๆเพื่อพิมพ์ลายบนผ้าขาวจำหน่ายให้แก่นักท่องเที่ยวที่ไปหัวหิน

โขมพัสตร์อาภรณ์ทรงคุณค่าทุกยุคสมัย  

เราเดินทางมาพบกับอีกบทหนึ่งของความทรงจำจากอดีต ร้านโขมพัสตร์ ร้านจำหน่ายผ้าฝ้ายพิมพ์ลายไทยที่รุ่งเรืองมาพร้อมๆ กับเมืองหัวหิน คำว่า โขมพัสตร์ แปลว่า ผ้าขาว หมายถึง ผ้าขาวที่นำมาพิมพ์ลาย เป็นผ้าพิมพ์ลายไทยแท้ๆ แบบโบราณ ซึ่งเขียนลายด้วยมือและพิมพ์ด้วยมือเรียกว่าเป็นงานปราณีตจากฝีมือคนล้วนๆ ไม่ใช้เครื่องจักรแต่อย่างใด
 
 จุดกำเนิดของร้านโขมพัสตร์เริ่มขึ้นในปีพ.ศ. 2492 เมื่อพลเอกพระวรวงค์เธอพระองค์เจ้าบวรเดช และหม่อมเจ้าหญิงผจงจิตร กฤดากร เสด็จลี้ภัยการเมืองไปประทับอยู่ที่เมืองไซ่ง่อน ประเทศเวียดนาม ณ ที่นั่นทรงตั้งโรงย้อมผ้าแพรแบบคนญวน แต่พอสงครามเลิกทั้งสองก็เสด็จกลับประเทศไทย และเนื่องจากทรงมีที่ดินที่หัวหิน จึงโปรดให้สร้างโรงย้อมและพิมพ์ผ้าย้อมๆ เช่นเดียวกับที่ไซ่ง่อนขึ้นที่นี่ เพื่อให้คนในท้องถิ่นมีรายได้ และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น


 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 241  เมื่อ 01 ก.ค. 12, 20:52

^อะโห เสือปืนไวจริงๆ นับถือ นับถือ

ก่อนหน้าที่จะเสด็จกลับ สงครามโลกครั้งที่๒อุบัติขึ้นใหม่ๆ ญี่ปุ่นยกทัพเข้าอินโดจีน ทรงเห็นว่าอยู่ไซ่ง่อนคงจะไม่ปลอดภัยแล้วจึงอพยพมาอยู่ที่กรุงพนมเปญจวบจนสงครามยุติ แล้วเมื่อเมืองไทยเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ จอมพลป.พิบูลสงครามหมดอำนาจแถมยังเป็นจำเลยในคดีอาชญากรสงครามด้วย  และรัฐบาลนายควงได้ประกาศนิรโทษกรรมต่อผู้ที่ต้องคดีทางการเมืองทั้งหมดทุกยุคทุกสมัย  พ.ศ.๒๔๘๙บรรดาผู้ที่ลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศต่างก็ทยอยกันกลับบ้านเกิดเมืองนอน แต่พระองค์เจ้าบวรเดชยังคงมิได้เสด็จกลับจนกระทั่งปี๒๔๙๑ นับเป็นเวลาถึง๑๕ปีที่เสด็จอยู่ต่างประเทศ

ในปี๒๔๙๒ พระองค์เจ้าบวรเดชได้ทรงเปิดโรงงาน“โขมพัสตร์”ตามที่คุณเพ็ญชมพูนำมาลงไว้ข้างบน ธุรกิจของพระองค์ไปได้ด้วยดี และยังยืนยงคงกระพันมาจนทุกวันนี้ สมัยผมยังเด็กๆ ไปหัวหินทีไรผู้ใหญ่ต้องพาไปแกร่วที่ร้านโขมพัสตร์ เซ็งแทบแย่ ไม่ทราบว่าร้านท่านยังอยู่ในซอยฝั่งตรงข้ามกับตลาด ข้างๆมีร้านก๋วยเตี๋ยวเป็ดชื่อดัง คนแน่น แต่ไม่ค่อยอร่อยเท่าไหร่เจ้านั้นหรือเปล่า
 
พระองค์เจ้าบวรเดชสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่๑๖พฤศจิกายน๒๔๙๖ ทรงพระชนมายุยืนถึง๗๖ปี๗เดือน


บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 242  เมื่อ 01 ก.ค. 12, 20:57

เรื่องพระองค์เจ้าบวรเดช  จำได้ว่า เจ้านายสตรีองค์หนึ่งทรงบันทึกไว้พอสมควร
ทั้งเรื่องก่อนก่อการและหลังก่อการ  ถ้าจะเอามาเล่าในเรือนไทยเห็นต้องทำ...ไว้จนอ่านไม่รู้เรื่อง
เพราะในฉบับพิมพ์ท่านไม่ได้ลงไว้  

ในหนังสืองานพระศพเขียนไว้ว่า  เมื่อเสด็จกลับมาเมืองไทย
ได้ทรงตั้งกิจการพิมพ์ผ้าลายที่ไหนสักแห่ง   ไม่แน่ใจว่ากิจการนั้นเป็นอย่างไรบ้าง แต่คงไปได้ด้วยดี

ตอนที่พระองค์เจ้าบวรเดชจะทรงก่อการ  พลตรี หลวงจบกระบวนยุทธ ได้เล่าไว้ด้วยว่า
ท่านถูกเอาชื่อเข้าไปเกี่ยวกับคณะก่อการครั้งนั้นด้วย  คุณหลวงพลอยถูกนายทหารคณะราษฎรบางคน
ไม่ไว้วางใจและใส่ความด้วย   เพราะคุณหลวงเป็นคนที่รู้จักคุ้นเคยทั้งสองฝ่าย

เข้ามาเยี่ยมกระทู้แต่เท่านี้  คงไม่รบกวนกระทู้ให้เสียอรรถรสนะครับ ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 243  เมื่อ 01 ก.ค. 12, 21:12

ขอบคุณที่มาเยี่ยมครับ เจ้านายสตรีที่ว่า คุณหลวงหมายถึงหม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย และหนังสือเรื่องความทรงจำ*หรือเปล่า
...ที่ทรงเขียนถึงพระองค์เจ้าบวรเดชนั้น คนจุดอย่าจุดเสียดีกว่า ไม่ต้องเดาก็ทราบว่าหมายถึงใคร

เรื่องใส่ความ ตอนนั้นสนุกเขาละ อยากให้ใครโดนแป่กก็ใส่ความเข้าไว้ก่อน หลวงอดุลแกบ้าจี้ ใครถูกรายงานแกก็ไปหิ้วเขามาหมด รักนายเหลือเกิน

หมายถึง"สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น "*
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 244  เมื่อ 01 ก.ค. 12, 21:24

ว่ากันว่า  ตอนที่พระองค์เจ้าบวรเดชจะก่อการนั้น  ได้ไปทรงชักชวนเจ้านายหลายคนแม้แต่รัชกาลที่ ๗
แต่ไม่มีพระองค์ใดทรงร่วมมือด้วย  เพราะทุกพระองค์ทรงทราบว่าพระองค์เจ้าบวรเดชเป็นคนเช่นไร
ที่ทรงพระดำริจะก่อการนั้น เขาว่ามี hidden agenda ไม่ลงรอยกับคณะราษฎร  แต่เอาเรื่อง...มาเป็นประเด็นหลัก

อันที่จริงเรื่องกบฏบวรเดชนี่  เอกสารที่หอจดหมายเหตุมีหนาเป็นร้อยๆ หน้า 
อ่านดูก็สนุกดีเหมือนกัน   เอ  จำได้ว่า มีหนังสือที่มีภาพถ่ายตอนปราบกบกบวรเดชด้วยนี่ครับ
ถ้าคุณนวรัตน เอามาลงประกอบกระทู้ด้วยสักเล็กน้อยคงจะเพิ่มอรรถรสในกระทู้ได้มาก
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 245  เมื่อ 01 ก.ค. 12, 21:32

^
จะให้เอาเอกสาร หรือเอารูปมาประกอบครับ

ถ้าเอกสาร ผมไม่เคยเข้าไปค้นในหอจดหมายเหตุ
แต่รูปนี่ คุณเอนก นาวิกมูลไปเอามาตีพิมพ์หมดแล้ว ผมก็เอาลงไปครบแล้วนี่ครับ ยังมีที่ไม่ได้อยู่ในกระทู้นี้อีกเหรอ?
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 246  เมื่อ 01 ก.ค. 12, 21:39

ขอบคุณคุณนวรัตนมาก ที่ค้นคว้ามาให้ตามคำขอค่ะ     รวมคุณเพ็ญชมพูที่มาร่วมหาข้อมูลให้ด้วย  ทำให้กระทู้นี้มองเห็นตอนจบของกบฏบวรเดชได้ครบถ้วน    ถ้าขาดบั้นปลายของพระองค์เจ้าบวรเดชเสียก็เหมือนหนังขาดท่อนจบท้ายสุด    ผู้ที่เข้ามาอ่านกระทู้นี้อาจจะไม่รู้ว่าทรงหนีไปแล้วเป็นตายร้ายดีอย่างไร

จะว่าไปก็นับว่าพระองค์เจ้าบวรเดชทรงดวงดีกว่านายทหารที่ร่วมรบฝ่ายเดียวกัน   แม้ว่าทรงระหกระเหินไปอยู่ต่างถิ่นยาวนานถึง ๑๕ ปี  แต่ก็ยังดำรงพระชนม์อยู่ได้ปลอดภัย  มีอาชีพเลี้ยงองค์   ประคององค์มาได้จนถึงช่วงเวลาได้รับนิรโทษกรรม  ในวัยชราก็ทรงอยู่ในประเทศได้อย่างสงบ   กิจการผ้าโขมพัสตร์ก็เจริญรุ่งเรืองดี   ท่านน่าจะเป็นคนเดียวในกบฏบวรเดชที่พอจะเรียกได้ว่าจบลงอย่างแฮปปี้เอนดิ้งตามอัตภาพ
จากพระนิพนธ์ "สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น "ของม.จ. พูนพิสมัย  ดูเหมือนจะไม่ทรงให้เครดิตพระองค์เจ้าบวรเดชเอาเลย เกี่ยวกับเรื่องส่วนพระองค์บางเรื่อง   ข้อนี้น่าจะสะท้อนความรู้สึกนึกคิดของสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ได้เช่นกัน

คุณหญิงทรงสุดา ยอดมณี หลานสาวคุณหลวงจบกระบวนยุทธเล่าถึงคุณตาไว้ในหนังสือ กังหันต้องลม   จำได้คร่าวๆว่าคุณหลวงโดนมรสุมหลายอย่างทั้งการงานและส่วนตัว   แม้หันไปทำธุรกิจก็ไม่วายโดนกลั่นแกล้ง  
มรณกรรมของคุณหลวงทำให้จอมพลถนอม กิตติขจรตัดสินใจเดินทางกลับประเทศไทยมาร่วมงานศพ แล้วบานปลายเป็นเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๑๙  
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 247  เมื่อ 01 ก.ค. 12, 22:02

^
จะให้เอาเอกสาร หรือเอารูปมาประกอบครับ

ถ้าเอกสาร ผมไม่เคยเข้าไปค้นในหอจดหมายเหตุ
แต่รูปนี่ คุณเอนก นาวิกมูลไปเอามาตีพิมพ์หมดแล้ว ผมก็เอาลงไปครบแล้วนี่ครับ ยังมีที่ไม่ได้อยู่ในกระทู้นี้อีกเหรอ?


คุณนวรัตนลองไปอ่านเอกสารที่หอจดหมายเหตุดูสิครับ
เอกสารชุดนี้  จำได้ว่ายืมต้นฉบับเอกสารอ่านได้  ไม่ต้องอ่านจากไมโครฟิล์มให้ปวดนัยน์ตา

ส่วนรูปนั้น  ผมเคยเห็นจากหนังสืองานศพเล่มหนึ่ง  รูปซ้ำกับที่เคยเห็นบ้าง
ไม่เคยเห็นบ้าง และมีเรื่องเล่าอีกไม่กี่สิบหน้ากระดาษ เสียดายว่าไปกับน้ำเสียแล้ว 
แต่คงไม่จำเป็นแล้วกระมัง   เพราะที่คุณนวรัตนเอามาลงนี่ ก็น่าจะสมบูรณ์แล้ว

อันที่จริง  อยากอ่านความเห็นของแหล่งข้อมูลนอกประเทศไทยบ้าง
ว่าเขารู้สึกอย่างไรกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเมืองไทยในครั้งนั้น
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 248  เมื่อ 01 ก.ค. 12, 22:30

ขอบคุณสำหรับข้อมูลและข้อแนะนำครับ

หนังสือศิลปวัฒนธรรมประจำเดือนมิถุนายน หน้าปกเป็นเรื่องปฏิวัติ๒๔๗๕ ได้ลงบทความของหนังสือพิมพ์ฝรั่งที่รายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และคำแปล ผมอ่านแล้วเห็นว่าฝรั่งเขียนได้ดี เป็นกลาง และใกล้เคียงความจริงที่สุด เมื่อเทียบกับที่คนไทยเขียนในเล่มนั้น

พอดีหนังสือไม่ได้อยู่ตรงนี้ ผมจำรายละเอียดไม่ได้ ต้องหาโอกาสอ่านเอาเองนะครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 249  เมื่อ 01 ก.ค. 12, 22:31


อันที่จริง  อยากอ่านความเห็นของแหล่งข้อมูลนอกประเทศไทยบ้าง
ว่าเขารู้สึกอย่างไรกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเมืองไทยในครั้งนั้น

เข้าไปอ่านได้ที่นี่  แต่ถ้าอยากอ่านให้จบต้องสมัครสมาชิกเองค่ะ
http://www.time.com/time/magazine/article/0,9171,753959,00.html

SIAM: Not Without Blood
Monday, Oct. 23, 1933

Not many monarchs can take a revolution with the bland aplomb of Siam's spunky little King Prajadhipok who, having been through three in the past two years, last week faced his fourth.

When the shooting started His Majesty asked with interest who was leading the rebels. "Sire," he was told, "they are led by Prince Bavaradej. He has captured the Royal Airdrome and is marching on Bangkok." "What? Prince Bavaradej!" cried King Prajadhipok. "Inform the populace at once of my deep regret that a member of the Royal Family should be...

To read the entire article, you must be a TIME subscriber.
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 250  เมื่อ 01 ก.ค. 12, 22:39

http://www.unz.org/Pub/LiteraryDigest-1933nov04-00014a02?View=PDF


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 251  เมื่อ 01 ก.ค. 12, 22:51

หนังสือพิมพ์ที่สิงคโปร์และมลายาลงข่าวนี้ น่าสนใจเหมือนกัน ยิงฟันยิ้ม
แต่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงแหล่งข้อมูลนี้  ทั้งๆ ที่อยู่ใกล้ๆ เมืองไทยแท้ๆ  ฮืม
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 252  เมื่อ 02 ก.ค. 12, 07:14

ผมเจอข่าวเล็กๆ  ลงในหนังสือพิมพ์สเตรทไทม์ของสิงคโปร ช่วงหลังสงคราม ที่สะท้อนให้เห็นถึงความความสัมพันธ์ของพระองค์เจ้าบวรเดชและอดีตผู้ใต้บังคับบัญชา

เรื่องของผู้ก่อการกบฏชาวสยามคนหนึ่ง

ปัจจุบันรัฐบาลยุคใหม่ของสยามกำลังจะลืมเรื่องที่เคยเกี่ยวข้องกับการปฏิวัติรัฐประหารแล้ว อดีตผู้ก่อการกบฏบางคนที่ถูกขับไล่ไปนอกประเทศจึงได้กลับบ้านและมาเล่าเรื่องของตน
หนึ่งในนั้น นายสารภี บุญยมัติ (อดีตร้อยโทขุนสารภีพิชิต)ผู้ซึ่งหนีไปอินโดจีนหลังการปฏิวัติล้มเหลว บัดนี้อยู่ในกรุงเทพแล้ว
ระหว่างสถานการณ์อันแสนสาหัส เขาต้องอยู่อีกทางหนึ่งกับภรรยา ผู้ซึ่งกลัวว่าสามีคงจะตายไปแล้วหรือไม่ก็ถูกจับตัวอยู่ในคุกแห่งใดแห่งหนึ่ง

ภรรยาผู้กล้าหาญ

เขาเขียนจดหมายจากไซ่ง่อนฉบับหนึ่งถึงภรรยา แต่ไม่ถึงมือเพราะได้ออกจากเขตทหารไปแล้ว เธอได้พยายามทุกหนทางที่จะหาข่าวของสามี ด้วยการเดินทางไปตามโรงพยาบาลสนาม และเข้ากรุงเทพเพื่อเยี่ยมคุกขังพวกก่อการกบฏที่กระทรวงกลาโหมและที่เรือนจำมหันตโทษ
กว่าเจ็ดเดือนต่อมา เธอจึงได้ทราบว่าสามียังไม่ตายและอยู่อย่างปลอดภัยในไซ่ง่อน

พระอาคันตุกะ
ถึงทางการจะไม่ออกหนังสือเดินทางให้ครอบครัวของผู้ก่อการกบฏ แต่เธอก็มีความกล้าหาญที่จะเดินทางไปอุดรกับลูกน้อย เพื่อลงเรือกลไฟล่องไปตามแม่น้ำโขง จนในที่สุดก็ถึงไซ่ง่อน
ในวันที่ได้มาอยู่ร่วมกันอีกครั้งหนึ่งนั้น ทั้งหมดได้รับอนุญาตให้พักยังที่ประทับของพระองค์เจ้า แต่ต่อมาพวกเขาก็ต้องไปจากที่นั่น
เงินทองค่อยๆหมดลง และท้ายที่สุดนายสารภีจึงตัดสินใจเดินทางกลับสยาม




คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 253  เมื่อ 02 ก.ค. 12, 09:06

ที่ นายพลตรีพระยาทรงอักษร (บิดาคุณหญิงพรรณชื่น รื่นสิริ)ท่านได้เขียนถึงพระองค์เจ้าบวรเดชไว้ว่า จอมพล พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนครชัยศรีสุรเดช
โปรดปราน พลเอก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช มาก ทรงเรียกพระนามว่าบ๊อบบี้นั้น คงจะเป็นจริง
เพราะกล่าวกันว่า พระองค์เจ้าบวรเดชทรงเป็นนายทหารที่นิยมการรักษาวินัยแบบตึงเป๊ะ ตามแบบทหารเยอรมัน เช่นเดียวกับเสด็จในกรมเสนาบดีกลาโหม
มีเรื่องเล่ากันอีกว่า ความที่ทรงถือพระองค์ว้่เป็น "เจ้า" จึงทำให้ไม่ค่อยจะทรงเป็นที่นิยมในหมู่นายทหารด้วยกัน  จึงทรงถูกย้ายไปเป็นทูตที่ปารีสเสียหลายปี
จนถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  เมื่อพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจรูญศักดิ์กฤดากร ทรงมีปัญหากับตุลาการจนเกิดการเฉื่อยงานไปทั้งกระทรวงยุติธรรม
จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจรูญศักดิ์กฤดากร ออกไปเป็นทูตที่ฝรั่งเศส  จนไปมีเรื่องวิวาทกับนายปรีดี  พนมยงค์ อันเป็นชนวนให้เกิดการปฏิวัติ ๒๔๗๕
แล้วทรงเรียกพระองค์เจ้าบวรเดชซึ่งเวลานั้นยังทรงเป็นหม่อมเจ้ากลับเข้ามาเป็น จเรทหารปืนใหญ่ สมัยนี้คงเป็นผู้บัญชาการศูนย์การทหารปืนใหญ่ 
แต่เมื่อเสด๋จในกรมเสนาบดีกลาโหมสิ้นพระชนม์ลงใน พ.ศ. ๒๔๕๗ แล้ว  ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๕๘ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายเจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐศักดิ์ (เชย  กัลยาณมิตร)
อุปราชมณฑลภาคพายัพ  ลงมาเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย  จึงได้โปรดให้โอนย้ายหม่อมเจ้าบวรเดชไปเป็นอุปราชมณฑลภาคพายัพ  ขาดจากราชการทหารไปอีกคราว
ในระหว่างที่ทรงรับราชการเป็นอุปราชมณฑลภาคพายัพนั้น  มีเจ้านายผู้ใหญ่หลายพระองค์เสด๋จตรวจราชการคือ
พ.ศ. ๒๔๕๘ นายพลเอก สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ  เสนาธิการทหารบก  และพระรัชทายาท และสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์
พ.ศ. ๒๔๕๙  จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช  จเรทหารทั่วไป
พ.ศ. ๒๔๖๓ นายพลตรี สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนครราชสีมา  ผู้บัญชาการกองพลที่ ๑ รักษาพระองค์  และพระรัชทายาท
พ.ศ. ๒๔๖๕  จอมพล สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนครสวรรค์วรพินิต  เสนาธิการทหารบก
(พระอิสริยยศในขณะนั้น)

ค้นดูรายงานการเสด็จตรวจราชการของเจ้านายทั้ง ๔ พระองค์แล้ว  มีรายละเอียดเฉพาะแต่ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนครราชสีมา ที่กราบบังคมทูลล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ ว่า
พระองค์เจ้าบงรเดช อุปราชมณฑลภาคพายัพนั้นมักจะเสด็จไปประทับที่ตำหนักบนดอยสุเทพ  ไม่ค่อยจะเสด็จมาทรงทรงงานที่ศาลารัฐบาล  เวลามีราชการด่วนก็ใช้โทรศัพท์
ขึ้นไปทูลให้ทรงวินิจฉัย  เอกสารราชการต่างๆ ก็ต้องนำไปถวายให้ทรงงานที่ตำหนักบนดอยสุเทพ 

อาจจะเป็นเพราะคำกราบบังคมทูลรายงานของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนครราชสีมาเมื่อปลาย พ.ศ. ๒๔๖๓  ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๖๕ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้
นายพลโท พระวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช ออกจากราชการ (ในราชกิจจานุเบกษาลงว่า ทรงลาออกจากราชการ)  แล้วโปรดเกล้าฯ ให้
พระยาสุรบดินทรสุรินทรฦาชัย (พร  จารุจินดา - ต่อมาเป็น เจ้าพระยาสุรบดินทรสุริรนทรฦาชัย) ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญงานปกครองออกไปเป็นอุปราชมณฑลภาคพายัพแทน

ที่หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย  ดิศกุล ทรงนิพนธ์ไว้ในสิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็นก็คงจะมิใช่สิ่งที่เกินเลย  เพราะเมื่อพระองค์เจ้าบวรเดชกลับเข้ามารับราชการทหารในรัชกาลที่ ๗
ก็ทรงมีเหตุวิวาทกับกับในกรมกำแพงเพชรฯ  จนถึงในกรมฯ ทรงประชดว่า จะส่งเครื่องบินไปทิ้งระเบิดที่หงสาวดี
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 254  เมื่อ 02 ก.ค. 12, 10:55

ขอบคุณคุณวีหมีมากที่เข้ามาให้ความรู้

ต้องรบกวนต่ออีกนิด
อ้างถึง
จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจรูญศักดิ์กฤดากร ออกไปเป็นทูตที่ฝรั่งเศส  จนไปมีเรื่องวิวาทกับนายปรีดี  พนมยงค์ อันเป็นชนวนให้เกิดการปฏิวัติ ๒๔๗๕
^
ช่วยขยายความหน่อยเถิดครับ
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 15 16 [17] 18 19 ... 23
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.063 วินาที กับ 20 คำสั่ง