เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 14 15 [16] 17 18 ... 23
  พิมพ์  
อ่าน: 131173 กบฎบวรเดช นี่ทหารการเมืองเขาเล่นอะไรกัน?
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 225  เมื่อ 30 มิ.ย. 12, 22:34

.


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 226  เมื่อ 30 มิ.ย. 12, 22:37

^


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 227  เมื่อ 30 มิ.ย. 12, 22:49

 ร้องไห้


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 228  เมื่อ 01 ก.ค. 12, 08:02

อ่ะ..ก็ได้ครับ

เดี๋ยว...จะรีบทำให้เลย  ณ  บั ด น  า   ว...


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 229  เมื่อ 01 ก.ค. 12, 10:06

 ยิ้มกว้างๆ


บันทึกการเข้า
dotdotdot
อสุรผัด
*
ตอบ: 10


ความคิดเห็นที่ 230  เมื่อ 01 ก.ค. 12, 11:30

เมื่อเป็นฝ่ายชนะอย่างเด็ดขาดแล้ว รัฐบาลเผด็จการคณะราษฎร์ก็กระทำการตัดไม้ข่มนาม เพื่อจะกวาดล้างพวกนิยมกษัตริย์ต่อไป โดยใช้พวกเจ้าบางองค์มาช่วยเสริมบารมี     ผู้ใดไม่ยอมก้มหัวให้ก็อย่าหวังจะได้เป็นสุขอยู่อย่างอิสระชน

สมาชิกเก่า  คุณ dotdotdot ที่กรุณาบ่ายหน้ากลับมาเรือนไทยหลังจากหายไปนาน  เพื่อมาเข้าชั้นเรียนวิชานี้โดยเฉพาะ  จะต้องเจอ จุดจุดจุด ให้กลุ้มใจอีกไหมเนี่ย ว่าเจ้าบางองค์ ที่เราต้อง...จุดจุดจุด นั้นคือองค์ไหน

ที่จริงก็พอจะรู้ๆกันอยู่ ไม่ใช่ความลับในประวัติศาสตร์ว่า  การเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475  เจ้าบางองค์ก็มิได้ทรงแอนตี้   บางองค์อาจจะมีข้อจำกัดว่าแข็งขืนไม่ได้   ก็ต้องทำองค์เป็นต้นอ้อลู่ลมไปทั้งๆไม่ได้เต็มพระทัย   บางองค์ก็วางองค์เป็นคนนอกคือไม่เกลียดไม่รัก    แต่บางองค์นั้นดูเหมือนจะเห็นดีเห็นงามไปด้วยทีเดียว
จุดจุดจุด ทั้งหมดค่ะ  ยิ้มเท่ห์

ไม่ครับ ผมตาม อจ นวรัตน์ มาเรื่อยๆ มาเจอคำอธิบาย "ประชาธิปไตย" ได้สะใจก็เลยต้อง สาธุ หน่อย จะพิมพ์มากกว่านั้นก็กลัวจะสกดผิดครับ นี่ผมตอบ อจ เทาชมพู แล้วขอลาพักด้วยครับ ต้องเดินทางกลับ คงจะอีกนานกว่าจะเข้าห้องเรียนครับ

...

บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 231  เมื่อ 01 ก.ค. 12, 16:07

แล้วที่ซึ่งคุณ. . .จะกลับไปนี่ ไม่มีอินทรเนตรหรือครับ ?
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 232  เมื่อ 01 ก.ค. 12, 20:10

ก่อนที่คุณนวรัตนจะเลกเชอร์วิชาประชาธิปไตย ๑๐๑ ตอนบั้นปลายของพระองค์เจ้าบวรเดช

ขออนุญาตเสนอเกร็ดบางตอนของเรื่องกบฏบวรเดชจากบทความของนักเขียน ๒ ท่าน

๑. คุณจุลลดา ภักดีภูมินทร์ เขียนไว้ในนิตยสารสกุลไทย ฉบับที่ ๒๔๖๗ ปีที่ ๔๘ ประจำวันอังคารที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๔๕    

พระองค์เจ้าบวรเดช ท่านเป็น พระองค์เจ้าชั้นพระวรวงศ์เธอ คือชั้นพระราชนัดดาในพระเจ้าแผ่นดิน  เรียกกันอย่างสามัญว่า พระองค์เจ้าตั้ง มิใช่พระองค์เจ้าโดยสิทธิกำเนิด ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ทรงพระราชนิพนธ์ใช้ว่า ‘by right’

เรื่องเกิดขึ้นเมื่อครั้งเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นประชาธิปไตย พ.ศ.๒๔๗๕ ครั้งนั้นทรงเป็นเสนาบดีกระทรวงกลาโหม เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองได้เพียง ๑ ปี ๓ เดือน ในเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๔๗๖ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช เป็นแม่ทัพยกทหารมาจากโคราช มายึดดอนเมือง เกิดสู้รบกับทหารกรุงเทพฯที่บางเขน ทางการสมัยนั้นจึงเรียกเหตุการณ์ครั้งนั้นว่า ‘กบฏบวรเดช’ แต่องค์แม่ทัพและพวกนายทหารผู้ใหญ่ ผู้น้อยที่ร่วมด้วยเรียกพวกของตนว่า คณะกู้บ้านกู้เมือง ทว่าเมื่อฝ่ายที่ยกมาพ่ายแพ้จนองค์แม่ทัพต้องเสด็จหนีไปเขมร จึงต้องเป็น ‘กบฏบวรเดช’ อยู่หลายสิบปี ทางการครั้งนั้นได้สร้างอนุสาวรีย์ไว้ตรงหลักสี่ให้เรียกว่า ‘อนุสาวรีย์ปราบกบฏ’ เวลานี้อนุสาวรีย์ก็ยังมีอยู่ แต่เรียกกันใหม่ว่า ‘อนุสาวรีย์หลักสี่’

ในการปะทะกันครั้งนั้น มีผู้เขียนเรื่องราวและเหตุแห่งการที่ต้องสู้รบกันหลาย ‘ปาก’ แล้วแต่ว่าจะมองในด้านใด และผู้เขียนเป็นฝ่ายใด   แต่ที่น่าเชื่อเห็นจะเป็นเรื่องในประวัติของหม่อมในหม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร ผู้เป็นเจ้าน้องของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช คือ หม่อมศรีพรหมา กฤดากร ณ อยุธยา ความว่า

“เมื่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่คณะราษฎร์สัญญาว่าจะหยิบยื่นให้ประชาราษฎร ด้วยการชิงสุกก่อนห่ามมาแต่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๗ มีทีท่าว่าจะเป็นเผด็จการยิ่งขึ้นทุกทีแล้วนั้น พระองค์เจ้าบวรเดชจึงทรงคิดการนำทหารหัวเมืองมาบังคับให้รัฐบาลลาออก ให้มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ในการนี้หม่อมเจ้าสิทธิพรได้ร่วมเป็น ‘กบฎ’ ด้วย โดยเป็นทำนองเสนาธิการฝ่ายพลเรือนเคลื่อนขบวนมากับเจ้าพี่ของท่านแต่โคราช สั่งสอนอบรมประชาธิปไตยให้แก่ราษฎร ตามระยะทางเรื่อยมา...”

และหม่อมศรีพรหมา เล่าจากปากของท่านว่า

“เมื่อพระองค์เจ้าบวรเดชมาทรงชวนท่านให้ร่วมงานด้วยนั้น ท่านทรงปรึกษาฉัน ฉันทูลท่านว่า ถ้าท่านจะทำอะไรให้เป็นประโยชน์แก่บ้านเมืองแล้ว แม้จะเสี่ยงสักเพียงไรฉันก็เห็นด้วยและสนับสนุนท่านเต็มที่”

‘ท่าน’ คือ หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร

เมื่อเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช ทรงลี้ภัยไปเขมร หม่อมเจ้าสิทธิพร ถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ท่านโดนจำคุกอยู่ ๑๑ ปีเต็ม ก็ได้พระราชทานนิรโทษกรรมออกมา

๒. คุณนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ เขียนไว้ในหนังสือ "ความคิด ความรู้และอำนาจการเมืองในการปฏิวัติสยาม ๒๔๗๕" จัดพิมพ์โดยสถาบันสยามศึกษา สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๓๓

จากการสู้รบเกือบสองสัปดาห์ ฝ่ายรัฐบาลเสียชีวิต ๑๕ คน รวมทั้งพันตรีหลวงอำนวยสงคราม (ถม เกษโกมล) ผู้นำคนหนึ่งของคณะราษฎร ส่วนฝ่ายกบฏเท่าที่ทราบจำนวนเสียชีวิต ๘ คน รวมทั้งพันเอกพระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ) และพันตรีหลวงพลหาญสงคราม (จิตร อัคนิทัต)

นักข่าวต่างประเทศได้กล่าวว่า

"…นี่มันรบอะไรกัน..ถ้าปริ๊นซ์บวรเดชจะไปจ้างชาวเม็กซิกันสัก ๑๐ คนมารบ ก็น่าจะได้เห็นการรบที่มีรสชาติกว่านี้"

ความเสียหายของราษฎรในบางเขนและดอนเมือง จากการสำรวจของรัฐบาลเพื่อที่จะให้เงินทดแทนนั้น มีราษฎรตาย ๑ คน และพระภิกษุมรณภาพ ๑ รูป ราษฎรที่บาดเจ็บสาหัสมี ๑ คน และมีอาคารบ้านเรือนที่พักอาศัยเสียหาย รวม ๔๘ รายการ รัฐบาลตั้งงบพิเศษสำหรับค่าใช้จ่ายไว้ ๑๐๐,๐๐๐ บาทจากกระทรวงการคลัง และได้รับบริจาคจากราษฎรอีก ๑๗๑,๖๕๙.๒๕ บาท ส่วนฝ่ายกบฏนั้นได้เบิกจ่ายออกจากที่ตั้งรวมแล้วเป็นจำนวน ๕๙,๘๓๔.๐๓ บาท

ผลที่ตามมาที่ต้องกล่าวถึง คือ การตั้งศาลพิเศษของรัฐบาล ซึ่งในสายตาของผู้พัวพันกับกบฏ เห็นว่าไม่ยุติธรรม และต่อมากลายเป็นข้อโจมตีของคณะราษฎรเสมอ ถ้าหากพิจารณาในสภาพแวดล้อมทางประวัติศาสตร์ กล่าวคือ ฝ่ายพลเรือนต้องการให้มีการยกเลิกกฎอัยการศึกโดยเร็ว ซึ่งยกเลิกได้เมื่อ ๒๙ ตุลาคม ๒๔๗๖ ส่วนการใช้กฎอัยการศึกกับพวกกบฏนั้นรัฐบาลเห็นว่ารุนแรงเกินไป และจะใช้ศาลปกติก็ดูจะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ จึงมีการตั้งศาลพิเศษขึ้น ผู้ที่เกี่ยวข้องมี ๖๐๐ คน ถูกฟ้องศาล ๘๑ คดี จำเลย ๓๑๘ คน ในจำนวนนี้ถูกพิพากษาลงโทษ ๒๓๐ คน ต่อมาได้มีการพระราชทานและอภัยโทษจากประหารชีวิตเป็นจำคุกตลอดชีวิต และจากจำคุกตลอดชีวิตถูกเนรเทศไปเกาะตะรุเตา

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงได้รับผลสะเทือนเป็นอย่างมากด้วย ในระหว่างมีเหตุการณ์สู้รบ พระองค์เสด็จโดยเรือเร็วขนาดเล็กจากหัวหินลงไปสงขลา เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกเข้าใจผิดว่าอยู่กับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด มีพระราชกระแสเตือนรัฐบาลเกี่ยวกับการดำเนินการปราบกบฏ และผู้ต้องสงสัยเสมอ และในวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๔๗๖ ทรงมีพระราชกระแสถึงรัฐบาลให้ยุติการจลาจลอย่างละมุนละม่อม ทรงกล่าวว่า

"เป็นการสมควรที่รัฐบาลจะประกาศอภัยโทษ ให้แก่ผู้ที่ร่วมก่อการจลาจล ตลอดทั้งนายทหารและบุคคลที่ไม่ใช่เป็นหัวหน้าหรือคนสำคัญในการกระทำครั้งนี้เสียโดยเร็ว"

แต่รัฐบาลปฏิเสธพระราชกระแสนั้น ด้วยหลักการที่ว่าต้องดำเนินคดีให้ถึงที่สุดก่อน จึงจะพิจารณาให้อภัยโทษ

เมื่อมีการจับกุมผู้ที่พัวพันกับกบฏ นายทหารรักษาพระราชวัง คือ พันโทหม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท พันตรีจมื่นรณภพพิชิต และร้อยเอกหลวงศรสุรกาน ก็ถูกจับกุมตัวด้วย ราชเลขาธิการในพระองค์ คือ หม่อมเจ้าวิบูลย์สวัสดิ์วงศ์ ต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ ราชเลขาธิการในพระองค์คนใหม่คือ พระองค์เจ้าอาทิพย์ทิพอาภา เป็นเจ้านายเอียงไปทางคณะราษฎร หลังจากนั้นมีข้อขัดแย้งกับรัฐบาลอีกเรื่องคือ พระราชบัญญัติอากรมรดก คือทรงยับยั้ง แต่สภาลงมติลับยืนยันร่างเดิม และทรงไม่ลงพระปรมาภิไธยในร่างพระราชบัญญัติแก้วิธีลงโทษประหารชีวิต รวม ๓ ฉบับ ทางสภาก็จัดวางแบบประกาศใช้พระราชบัญญัติที่พระมหากษัตริย์ไม่ทรงลงพระปรมาภิไธยขึ้น ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร (สามัญ) ครั้งที่ ๖ พ.ศ. ๒๔๗๗ สภาผู้แทนได้พิจารณาพระราชบันทึกรวม ๖ ข้อของพระองค์ และลงมติว่า "ตามที่รัฐบาลได้ปฏิบัตินั้น เป็นการชอบแล้ว" และในท้ายที่สุดทรงสละราชสมบัติ เมื่อวันที่  ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๗

 เศร้า  
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 233  เมื่อ 01 ก.ค. 12, 20:13

ขอบคุณมากครับคุณเพ็ญชมพู

เรื่องของพระองค์เจ้าบวรเดชนอกเหนือจากการเป็นหัวหน้ากบฏแล้ว มีให้ศึกษาค้นคว้าน้อยมาก ตั้งแต่ใจอ่อนตกปากรับคำเจ้าของวิกท่านแล้ว ผมได้ใช้ทั้งอินทรเนตรและไอถ่างเนตรหาข้อมูลตามหนังสือต่างๆที่มีตั้งลังสองลัง ก็หามาได้เพียงนิดหน่อย เอามาลงพอแก้กระษัยได้แต่คงไม่เต็มอิ่ม

อ้างถึงเทาชมพู
ความคิดเห็นที่ 24    
อ้างถึง
พระองค์เจ้าบวรเดช แม้ว่าดำรงพระยศเพียงแค่หม่อมเจ้าเมื่อประสูติ แต่หม่อมเจ้าองค์นี้ก็ทรงเป็นถึง"หลานปู่" ในรัชกาลที่ ๔ เพราะพระบิดาเป็นพระราชโอรสลำดับที่ ๑๗ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากฤษดาภินิหาร กรมพระนเรศร์วรฤทธิ์ ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่น หรือกลิ่น

เจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่นเป็นสตรีทันสมัยไฮเทคในรัชกาลที่ ๔ แหม่มแอนนาสรรเสริญว่าเป็นเจ้าจอมมารดาที่สนใจร่ำเรียนภาษาอังกฤษจนถึงขั้นพยายามแปลเรื่อง ‘Uncle Tom’ s Cabin’ ด้วยตนเอง ด้วยความซาบซึ้งกับเนื้อเรื่อง ถึงขั้นยอมปล่อยนางทาสในวังให้เป็นอิสระ เมื่อแหม่มแอนนากลับบ้านกลับเมืองแล้ว เจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่นยังเขียนจดหมายเป็นภาษาอังกฤษถึงครูของท่านหลายครั้ง
จึงไม่น่าสงสัยที่ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศร์วรฤทธิ์ จะทรงเรียนภาษาอังกฤษเก่งมาแต่ยังทรงพระเยาว์ เมื่อถึงรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เป็นราชทูตประจำกรุงอังกฤษ และสหรัฐอเมริกาควบกัน เมื่อเสด็จไปประจำอยู่ในอังกฤษก็ทรงนำครอบครัว ทั้งหม่อมและพระโอรส ๔ องค์ เสด็จไปด้วยกัน
พระโอรสทั้งสี่คือ ม.จ.จรูญศักดิกฤดากร (พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจรูญศักดิ์กฤดากร) ม.จ.บวรเดช (พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช ม.จ.เศรษฐศิริ และ ม.จ. สิทธิพร

หม่อมเจ้าบวรเดช กฤดากร ทรงศึกษาวิชาทหารจากเยอรมนี จนสำเร็จกลับมารับราชการทหาร ทรงเสกสมรสกับ เจ้าหญิงทิพวัน ณ เชียงใหม่ ธิดาของเจ้าเทพดำรงรักษาเขตกับเจ้าแม่พิมพา กนิษฐาของพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เมื่อ พ.ศ. 2445 จากนั้นทรงรับตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เป็นเวลา 3 ปี หม่อมเจ้าบวรเดชได้รับแต่งตั้งให้เป็นอุปราชมณฑลพายัพ ที่เชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2458-2462
 
ในรัชกาลที่ 7 ทรงดำรงตำแหน่งสำคัญ เป็นถึงเสนาบดีกระทรวงกลาโหม เมื่อ พ.ศ. 2471 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้สถาปนาเป็น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช เมื่อ พ.ศ. 2472

ผมขอขยายความต่อจากข้างบนนี้เลยนะครับ

พ.ศ. ๒๔๔๕ขณะนั้นดำรงพระยศเป็นร้อยตรี พระองค์เจ้าบวรเดชได้ทรงเสกสมรสครั้งแรกกับเจ้าทิพวัน ณ เชียงใหม่ โดยได้รับการสนับสนุนจากพระราชชายาเจ้าดารารัศมี งานนี้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุ์ ทรงเป็นองค์ประธานในพิธี ทั้งสองมีพระธิดาด้วยกันองค์หนึ่งแต่สิ้นขณะคลอด
ต่อมาทรงได้เจ้าบัวนวล ณ เชียงใหม่ พระขนิษฐาของเจ้าหญิงทิพวัน เป็นพระชายาคนที่สอง มีพระโอรส๑คน
 
พ.ศ.๒๔๔๖ได้ย้ายไปทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก มณฑลนครราชสีมา

พ.ศ. ๒๕๕๒ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯโปรดให้ไปทรงรับตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปารีส เป็นเวลาสามปี และได้มีโอกาสสนองพระเดชพระคุณถวายพระอภิบาลแด่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าประชาธิปก เเละเจ้านายอื่นๆที่เสด็จไปทรงศึกษาวิชาอยู่ในยุโรปในเวลานั้นหลายพระองค์
 
พ.ศ. ๒๔๕๕หลังเสด็จจากกลับจากกรุงปารีส เข้ารับราชการในกองทัพบกดังเดิม

พ.ศ. ๒๔๕๘ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯทรงพระกรุณาโปรดให้เป็นอุปราช และสมุหเทศาภิบาลมณฑลพายัพตามลำดับ
 
 พ.ศ. ๒๔๖๕ ทรงลาออกจากราชการทั้งที่อยู่ในตำแหน่งนี้ เพื่อประกอบอาชีพส่วนตัวในฐานะกสิกร  ทรงตั้งหลักแหล่งอยู่ ณ บ้านแม่หนองหาร อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่

ถ้าคุณวีหมีเข้ามาอ่านตรงนี้ โปรดช่วยขยายความหน่อยเถิดครับ ว่าเกิดอะไรขึ้น


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 234  เมื่อ 01 ก.ค. 12, 20:18

หลังจากปฏิวัติซ้อนไม่สำเร็จแล้วกลายเป็นกบฏ พลเอกพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช ถูกยำใหญ่ในทุกสื่อจนทำให้ภาพพจน์ของท่านย่ำแย่ ไม่ได้เป็นฮีโร่ทั้งฝ่ายผู้แพ้ผู้ชนะ และฝ่ายเป็นกลาง อย่างไรก็ดี พลตรีพระยาทรงอักษร (บิดาคุณหญิงพรรณชื่น รื่นสิริ อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา)ท่านได้เขียนถึงเจ้านายองค์นี้ไว้ คุณเปลว สีเงินได้นำมาเรียบเรียงในคอลัมน์ประจำ ผมเจอเข้าก็ลอกบางตอนมาผัดๆๆใส่เครื่องปรุงเพิ่ม แล้วเอาผักชีโรยหน้ามาเสนอท่านอีกที

"ข้าพเจ้าได้มีโอกาสรับใช้จอมพลพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนครชัยศรีสุรเดชโดยใกล้ชิด จึงได้ทราบว่าพระองค์ท่านโปรดปรานพลเอกพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าบวรเดชมาก ทรงเรียกพระนามว่าบ๊อบบี้(เอ ชื่อนี้ท่านอากาศทรงยืมไปใช้ในละครแห่งชีวิตหรือเปล่าน๊อ)...ทรงเชื่อพระปรีชาสามารถของพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าบวรเดชอยู่มากด้วย…………

….ในสมัยรัชกาลที่๗ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พลเอกพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าบวรเดชกลับเข้ารับราชการเป็นผู้ช่วยเสนาบดีกระทรวงกลาโหม แล้วได้ดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารบก เมื่อวันที่๕สิงหาคม๒๔๖๙ ..จนกระทั่งทรงรับตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงกลาโหม …แต่…พระองค์ท่านต้องประสบอุปสรรคในความหวังดีต่อประเทศชาติ จนไม่สามารถทรงทนรับราชการอยู่ได้

….โดยที่ข้าพเจ้าคนหนึ่งที่ทรงโปรดปราน พระองค์ท่านจึงพอพระหฤทัยสนทนากับข้าพเจ้าในเรื่องต่างๆ...ข้าพเจ้าได้ทราบพระอัธยาศัยอย่างแน่ชัดว่า พระองค์ท่านทรงนิยมลัทธิประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ และเพราะเหตุที่พระองค์ได้ทรงสนับสนุนในการที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริจะพระราชทานรัฐธรรมนูญแก่ประเทศไทย มาตั้งแต่ก่อนสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครองนั่นเอง ทำให้ผู้ไม่เห็นพ้องด้วยเพิ่มความไม่พอใจในพระองค์ท่านยิ่งขึ้น

วันหนึ่งข้าพเจ้าได้ถวายความเห็นว่า ในวันเฉลิมพระนครครบ๑๕๐ปีนั้น มีกำหนดการที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจะพระราชทานกระแสพระราชดำรัสแก่ประชาชนที่ท้องสนามหลวง สมควรจะมีข้อความในพระราชดำรัสไว้เสียด้วยว่าจะพระราชทานรัฐธรรมนูญแก่ประเทศไทย เมื่อได้มีพระราชดำรัสแก่ประชาชนไว้เช่นนั้นแล้วก็คงจะไม่มีใครขัดขวางต่อไป พระองค์ท่านพอพระหฤทัยและได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณา แต่อาจเนื่องจากข้อความที่จะมีพระราชดำรัสแก่ประชาชนในครั้งนั้นต้องผ่านอภิรัฐมนตรีก่อน ข้อความที่มีพระราชประสงค์จะพระราชทานรัฐธรรมนูญแก่ประเทศไทย จึงถูกงดเสีย

พลเอกพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าบวรเดช...เมื่อทรงเห็นว่าจะทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติไม่ได้เต็มที่ ก็กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งสำคัญๆถึง๒ ครั้ง โดยไม่ทรงอาลัยในลาภยศ…
...ส่วนพระอัธยาศัยของพระองค์ท่านนั้น ผู้ที่ไม่เคยเข้าถึงโดยใกล้ชิดมักจะคิดไปว่าทรงถือพระองค์ และทรงเกรี้ยวกราด แต่ผู้ที่เข้าถึงโดยใกล้ชิดย่อมจะทราบได้ดีว่า พระองค์ท่านทรงเป็นสุภาพชนอย่างแท้จริง...

..ทรงเป็นผู้บังคับบัญชาที่ดีที่สุดที่ข้าพเจ้าได้เคยประสบมา ทรงแนะนำสั่งสอนผู้ใต้บังคับบัญชาให้เกิดความรู้ความคิดโดยกว้างขวาง ทรงสั่งงานแก่ผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างละเอียดถี่ถ้วน ทรงถือเหตุผลและฟังความคิดเห็นของผู้ใต้บังคับบัญชา ทรงมีพระหฤทัยหนักแน่น ห่วงใยให้ความร่มเย็นและความเป็นธรรมแก่ผู้ใต้บังคับบัญชา ไม่เกรี้ยวกราดเหยียดหยามผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างใดเลย


ครับ นี่คือใจความในบทบันทึกของพลตรีพระยาทรงอักษรที่ทำให้เห็นภาพอีกด้านหนึ่งของพระองค์เจ้าบวรเดช  ในแง่ความนิยมประชาธิปไตยของพระองค์


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 235  เมื่อ 01 ก.ค. 12, 20:20

ส่วนอีกภาพหนึ่งที่ชัดเจนมากก็คือบทสนทนาระหว่างพระองค์กับพระยาพหล ซึ่งอยู่ในหนังสือเรื่อง“สายลับพระปกเกล้า” ผมไม่กล้าลงในกระทู้เป็นตัวพิพม์ เดี๋ยวบางท่านอาจจะมาสงสัยว่าผมใส่ไข่แถมไปด้วย สแกนมาให้อ่านสดๆดีกว่


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ

คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ

บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 236  เมื่อ 01 ก.ค. 12, 20:31

^
เมื่อผมเขียนในตอนต้นๆกระทู้ถึงเหตุการณ์ตอนนี้ก็ไม่กล้าใส่บทสนทนาของท่านทั้งสองลงไป เพราะมันเหมือนนวนิยายไปหน่อยแม้อาจจะเป็นเรื่องจริงก็ตาม
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 237  เมื่อ 01 ก.ค. 12, 20:32

พระองค์เจ้าบวรเดชทรงเสกสมรสอีกครั้งหนึ่งกับหม่อมเจ้าผจงรจิตร กฤดากร ธิดาองค์เล็กในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศวรฤทธิ์ พระขนิษฐาต่างมารดาของพระองค์เอง และมีพระธิดาด้วยกัน๓คน พระชายาองค์นี้เองที่หอบหิ้วกันไปตกทุกข์ได้ยากกับพระองค์ในต่างด้าวต่างแดน


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 238  เมื่อ 01 ก.ค. 12, 20:39

ขณะประทับลี้ภัยการเมืองอยู่ในไซ่ง่อนนั้น ไม่มีใครเขียนถึงพระองค์มากนัก หนังสือทั้งหมดที่ผมเอาออกมาค้น ปรากฏเพียงสองเล่มเท่านั้นที่เอ่ยถึงท่านไว้ไม่กี่บรรทัด

พลโทประยูร ภมรมนตรีเขียนประวัติชีวิตของตนเองเมื่อต้องไปเป็นกงสุลใหญ่สยามประจำฮานอยไว้ว่า ก่อนไปหลวงอดุลเดชจรัสอธิบดีกรมตำรวจฝากงานให้ไปติดตามสืบข้อมูลพวกกบฏที่หนีไปอยู่ที่นั่นให้หน่อย มีค่าใช้จ่ายสมนาคุณให้ด้วยก้อนหนึ่ง พลโทประยูรรับจ๊อบมาแต่ก็ไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเพราะตำรวจฝรั่งเศสปรามๆทั้งสองฝ่ายไว้ไม่ให้มาเล่นสงครามการเมืองกันต่อในบ้านเมืองเค้า

บังเอิญวันหนึ่งพลโทประยูรไปหาหมอตรวจประสาทหัวใจ(โรคอะไรนั่น?) เปิดประตูคลินิกผางเข้าไป เจอพระองค์เจ้าบวรเดชประทับอยู่ก่อนแล้วแบบสองต่อสอง พลโทประยูรเขียนว่าพอทอดพระเนตรเห็นก็ทรงสะดุ้ง ผมคิดว่าคงสะดุ้งทั้งคู่นั่นแหละแต่คนเขียนไม่เห็นตัวเอง เมื่อรีบไหว้โดยพลัน พร้อมกับทูลว่าตนมาที่นี่เพราะเป็นคนไข้เหมือนกัน(ไม่ได้มาอุ้มไปนั่งยาง) และออกตัวว่าในฐานะกงสุลสยาม ตนมีหน้าที่รักษาประโยชน์และเกียรติของคนไทยเท่านั้น ขออย่าได้ทรงหวาดระแวง ซึ่งพระองค์เจ้าบวรเดชก็ทรงยิ้มและตอบขอบใจ พอกำลังจะสนทนาเรื่องอื่นๆ หมอก็ออกมาเชิญเสด็จเข้าไปในห้องตรวจโรค


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 239  เมื่อ 01 ก.ค. 12, 20:44

อีกเล่มหนึ่งคือเรื่อง"ชีวิตพระยาทรงในต่างแดน"
ความจริงผมก็เคยเขียนไว้แล้ว ผู้เขียนหนังสือดังกล่าวได้เล่าว่า พวกกบฏที่ลี้ภัยสมัย๒๔๗๖มีความเป็นอยู่อย่างยากจนแร้นแค้น ต่างกันมากกับชีวิตนายทหารที่เคยกับชีวิตความเป็นอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี ผมเดาเอาเองว่า ก่อนแยกย้ายจากกันพระองค์เจ้าบวรเดชน่าจะประทานเงินให้คนละจำนวนหนึ่งเพื่อเป็นทุนรอนในการเอาชีวิตรอด ก่อนที่จะ“ตัวใครตัวมัน” บัดนี้บางคนหมดเนื้อหมดตัว เพราะค้าขายไม่เป็น ขาดทุนยับสู้คนจีนคนญวนเจ้าถิ่นไม่ได้  ต้องไปเป็นกรรมกรรับจ้างแรงงาน เป็นยามเฝ้าโกดังยามค่ำคืน ผู้ที่มีงานทำดีที่สุดคือรับจ้างฝนพลอย
 
พระองค์เจ้าบวรเดชกับพระยาทรงสุรเดชนั้น ถือว่าอยู่คนละขั้วสุดๆ อยู่ที่นั่นหลายปีทั้งสองเคยเดินสวนกันบนถนนหน้าตลาดกลางกรุงไซง่อนครั้งเดียวจริงๆ และครั้งนั้นหลังจากที่สบสายตากันโดยบังเอิญ ไม่มีใครสะดุ้ง ไม่มีใครทักใคร ต่างฝ่ายต่างเดินผ่านเหมือนคนไม่รู้จักกัน

ในขณะที่บ้านพระยาทรงทำขนมกล้วยขายหารายได้มายาไส้ พระองค์เจ้าบวรเดชดำรงพระองค์ที่นั่นอย่างไร คนภายนอกตระกูลคงจะยากที่จะได้ทราบ นอกจากที่หลุดๆมาว่า สมัยที่ทรงลี้ภัยอยู่ในเวียดนาม ได้ดำรงพระชนม์ชีพโดยการรับย้อมผ้ามาก่อน เมื่อเสด็จกลับเมืองไทยจึงได้นำความชำนาญทางนี้ มาเปิดโรงงานเล็กๆเพื่อพิมพ์ลายบนผ้าขาวจำหน่ายให้แก่นักท่องเที่ยวที่ไปหัวหิน


บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 14 15 [16] 17 18 ... 23
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.044 วินาที กับ 20 คำสั่ง