ในตอนต้น ผลงานของหลวงสรสิทธฯคืบหน้าไปด้วยดี เพราะมีบุคคลสำคัญของจังหวัดเข้าร่วมมือด้วยเต็มที่ คือนายพันเอก พระยาสุรพันธ์เสนีย์(อิ้น บุนนาค) สมุหเทศาภิบาล และที่สำคัญยิ่งก็คือพระยาวิเศษฦาชัย (ม.ล.เจริญ อิศรางกูร) เจ้าเมืองหรือผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี
พระยาทั้งสองท่านเป็นขุนนางผู้ใหญ่ที่ชาวเมืองเพชรบุรีเคารพนับถือกันมาก เมื่อท่านประกาศแข็งข้อกับรัฐบาล ชาวบ้านชาวเมืองก็เฮโลกันเข้ามาสนับสนุน เห็นได้จากเมื่อระดมพลใหญ่ ก็มีทหารกองหนุนรีบรุดมารายงานตัวเข้าประจำการมากมาย จนเกินจำนวนที่ต้องการ
บางตอนจากบันทึกของนายพันเอก พระยาสุรพันธ์เสนี (อิ้น บุนนาค) สมุหเทศาภิบาลมณฑลราชบุรีในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพของท่านเอง
หน้า ๑๕
"ในขณะที่ข้าพเจ้าอยู่ในราชการ และดำรงตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลราชบุรีอยู่นั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จแปรพระราชฐานประทับร้อนที่สถานตากอากาศหัวหิน ณ ที่พระราชวังไกลกังวล การเสด็จแปรพระราชฐานครั้นนี้อยู่ในความรับผิดชอบของข้าพเจ้า ตามประเพณีเดิมมาหรือจะเรียกว่าตามหน้าที่ก็ว่าได้ ในเวลานั้นเองได้มีกองทหารจังหวัดนครราชสีมาลุกขึ้นแข็งอำนาจ ภายใต้การนำของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช เพื่อต่อสู้กับรัฐบาล"
หน้า ๑๗, ๑๙, ๒๑
"แม้ข้าพเจ้าไม่มีความประสงค์ที่จะยกกำลังทหารทั้งราชบุรีและเพชรบุรีไปต่อสู้กับทหารของรัฐบาล ข้าพเจ้ามีความประสงค์อยู่อย่างเดียวเท่านั้น คือ จะป้องกันและรักษาความปลอดภัยของพระมหากษัตริย์ตามหน้าที่ของข้าพเจ้าเท่านั้น"
"ในวันที่ ๑๒ สื่งที่สำคัญที่สุด ก็คือได้กำชับไปว่า เราไม่ได้ระดมทหารครั้งนี้เพื่อไปรบราฆ่าฟันกับใตร เพียงแต่เราต้องการกำลังทหารมาเพื่อป้องกันและถวายความปลอดภัยแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเราเท่านั้น"
"ข้าพเจ้าเป็นทหารตั้งแต่น้อยคุ้มใหญ่ ก็ได้ยินแต่คำว่า ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ มันจับเข้าไปในสายเลือดแล้ว ละลายอยู่ในนั้น ในสายเลือดของข้าพเจ้า"
"เราเริ่มจ่ายทหารออกประจำอยู่ตามจุดสำคัญ ๆ หลายแห่ง เพื่อป้องกันมิให้ทหารฝ่ายใดก็ตามไม่ว่าจะฝ่ายพระองค์เจ้าบวรเดช หรือทหารฝ่ายรัฐบาล ไม่ให้ล่วงล้ำเลยจังหวัดเพชรบุรีลงไปทางใต้ได้ ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพื่อจะถวายความปลอดภัยแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นที่ตั้ง
