เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 3 4 [5] 6 7 ... 23
  พิมพ์  
อ่าน: 131179 กบฎบวรเดช นี่ทหารการเมืองเขาเล่นอะไรกัน?
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 60  เมื่อ 26 มิ.ย. 12, 20:33

ยินดีต้อนรับคุณravioสู่ห้องสมุดเรือนไทยครับ เข้ามาแล้วอย่าอ่านเฉยๆ ต้องเขียนด้วยเหมือนที่โน่นนะครับ

คำตอบสำหรับคุณประกอบ ท่านที่ยิงตัวตายที่ดอนเมืองคือพันตรีหลวงหาญสงคราม(จิตร อัคนิทัต) ซึ่งครอบครัวของท่านเชื่อว่าตายเพราะโดนทหารฝ่ายรัฐบาลสังหาร ตามนี้ครับ

http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=jinchaya&month=11-2008&date=17&group=2&gblog=1

ส่วนอีกท่านหนึ่งที่ยิงตัวตายบนรถไฟขณะอยู่แถวสูงเนินชื่อ พันตรีหลวงโหมชิงชัย(เวก สู่ไชย) ผมตรวจสอบข้อมูลอื่นๆหลายฉบับแล้วว่า ขอแก้ว่าท่านมิได้เป็นพี่น้อง(ลูกพี่ลูกน้อง)กัน แต่เป็นรุ่นพี่รุ่นน้องในโรงเรียนเสนาธิการทหารครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 61  เมื่อ 26 มิ.ย. 12, 22:59

ปัญหาคือ กองบัญชาการของคณะราษฎร์สายทหารที่วังปารุสก์มีการวางกองกำลังรักษาความปลอดภัยหนาแน่น ทั้งรถหุ้มเกราะติดปืนกล และรังปืนกลประจำฐานที่มั่น มิได้หละหลวมเหมือนวังบางขุนพรหมครั้งปฏิวัติ๒๔๗๕ นั่นกรมพระนครสวรรค์ท่านมิได้ระแวงว่าใครจะปฎิวัติ เพราะทราบดีกันอยู่แล้วว่าพระเจ้าอยู่หัวจะพระราชทานอำนาจบริหารให้เป็นประชาธิปไตยอยู่แล้ว ติดขัดเพียงเจ้านายและขุนนางแก่ๆบางคนที่ต้องการแก้ร่างธรรมนูญการปกครองโน่นนี่นั่น แต่ไม่นานก็คงอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลง

การจู่โจมด้วยอาวุธเบาเข้ายึดวังปารุสก์ของพระยาศรีโดยไม่มีใครบาดเจ็บล้มตาย คงเป็นไปไม่ได้เลย น่าจะรบกันเละ และขึ้นอยู่กับทหารในพระนครด้วยว่าจะเล่นกับฝ่ายใด มันเสี่ยงเหมือนโยนหัวโยนก้อยเหมือนกัน ใครเพลี่ยงพล้ำคงถูกรุมแบบหมาหมู่สู้หมาวัด เอาไม่อยู่แน่ครับ

จริง ๆ ไม่ต้องรบก็ได้นะครับ เพราะถ้าท่านเจ้าคุณศรีฯ ออกตัวเป็นหัวหน้าแต่ต้น ผมเชื่อว่าเกมจบไวกว่านี้ครับ อย่างที่ทราบ ๆ กันว่า ทหารหลายนายถอนตัวเพราะ "พระองค์เจ้าบวรเดช" นี่ล่ะครับ


ถ้าถึงเวลานั้น เหลือแค่วังปารุสก์ ไม่ต้องรบก็ได้ แค่ตัดการสื่อสารออกให้หมด แล้วทางฝ่ายเจ้าคุณศรีฯ ไปป่าวประกาศทางวิทยุแทน เจ้าคุณพหลฯ ก็แพ้แบบไม่ต้องสงสัยครับ ล้อมให้อดข้าวสัก 1 อาทิตย์ ไม่ยอมแพ้ให้มันรู้ไปครับ ว่าคนไม่กินข้าวแล้วจะไม่ตาย

เจ้าคุณทรงฯ ตอนนั้นยังอยู่เชียงใหม่ สร้างโรงเรียนรบพิเศษ ไม่มีทางลงมาช่วยทันหรอกครับ

สังเกตว่ายุทธวิธีจู่โจมเข้าจับบุคคลสำคัญๆของบ้านเมืองเป็นตัวประกัน เพื่อยึดอำนาจ  แทนที่จะใช้กำลังรบเข้าห้ำหั่นทำสงครามกลางเมืองกัน  เป็นเรื่องทำกันมาหลายครั้งในบ้านเมืองเรา นับแต่พ.ศ. 2475
ก็สำเร็จบ้างไม่สำเร็จบ้าง
-ที่สำเร็จ  
คือเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) นำโดยพลเอก สุนทร คงสมพงษ์ ได้ยึดอำนาจจากรัฐบาล  เมื่อเวลา 11.30 น. พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรีถูกจี้ตัวบนเครื่องบินซี 130 ระหว่างเดินทางไปเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ เพื่อนำพลเอก อาทิตย์ กำลังเอก ไปถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม
พลเอกชาติชายถูกควบคุมตัวอยู่ 15 วัน จึงได้รับการปล่อยตัวออกมา   รสช.ก็เข้าบริหารประเทศจนเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ

- ที่ไม่สำเร็จ คือกบฏพลเอกฉลาด หิรัญศิริ”
วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ.2520  พลเอกฉลาด หิรัญศิริ อดีตรองผู้บัญชาการทหารบก นำกำลังทหารส่วนหนึ่งเข้ายึดศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก สวนรื่นฤดี, กองบัญชาการทหารสูงสุดส่วนหน้า สนามเสือป่า, กรมประชาสัมพันธ์ และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย โดยควบคุมตัวนายทหารสำคัญคือ พลเอก ประเสริฐ ธรรมศิริ รองผู้บัญชาการทหารบก พลเอก ประลอง วีระปรีย์ เสนาธิการทหารบก และพลตรี อรุณ ทวาทศิน ผู้บัญชาการกองพลที่ 1 เอาไว้เป็นตัวประกัน   ส่วนพลเอก เสริม ณ นคร ผู้บัญชาการทหารบกเป็นเป้าหมายเหมือนกัน  แต่พลเอกเสริมหลบหนีออกจากบ้านพักไปทันก่อนทหารจะไปจับตัว  เลยรอดไปได้
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 62  เมื่อ 27 มิ.ย. 12, 06:16

กลุ่มคณะปฏิวัติ อ้างชื่อพลเอกประเสริฐ ธรรมศิริ เป็นหัวหน้า ออกอากาศผ่านทางวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย  ส่วนรัฐบาลในตอนนั้นพลเรือเอก สงัด ชลออยู่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ฮึดสู้ฝ่ายปฏิวัติ ประกาศทางทีวีช่อง 5 ว่ากำลังทหาร 3 เหล่าทัพและตำรวจยังเป็นของรัฐบาล  ส่วนพลเอก ประเสริฐ ธรรมศิริถูกบีบบังคับและแอบอ้างชื่อ

สถานการณ์ทางฝ่ายปฏิวัติเริ่มทรุดหนักเมื่อกองกำลังในกรุงเทพไม่ยอมเข้าร่วมก่อการด้วย ฐานอำนวยการที่สวนรื่นฤดีถูกปิดล้อมจากรถถังของฝ่ายรัฐบาล   การออกอากาศของกลุ่มผู้ก่อการยุติลงเมื่อสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยถูกทางการตัดกระแสไฟฟ้า
ความระส่ำระสายภายในเกิดขึ้นเมื่อพลตรีอรุณ ทวาทศินถูกพลเอกฉลาด หิรัญศิริยิงเสียชีวิต 
ทหารบางส่วนยอมวางอาวุธและมอบตัวกับฝ่ายรัฐบาล  ฝ่ายรัฐบาลมีมือสำคัญอีกท่านหนึ่งคือพลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด เข้าเจรจากับกลุ่มผู้ก่อการจนได้ข้อยุติในวันเดียว

รัฐบาลออกแถลงการณ์ยินยอมให้หัวหน้าของกลุ่มผู้ก่อการ 5 คนคือ พลเอก ฉลาด หิรัญศิริ พันโท สนั่น ขจรประศาสน์ พันตรี บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ พันตรี วิศิษฐ์ ควรประดิษฐ์ และพันตรี อัศวิน หิรัญศิริ บุตรชายของพลเอกฉลาดลี้ภัยการเมืองออกนอกประเทศได้ เพื่อแลกเปลี่ยนกับการปล่อยตัวพลเอกประเสริฐ ธรรมศิริ กับพลเอกประลอง วีระปรีย์   การยึดอำนาจก็จบลงโดยไม่เสียเลือดเนื้อทหารและประชาชน

แต่เหตุการณ์พลิกผันไปตอนจบ  ผู้ก่อการทั้ง 5 ไม่ได้ลี้ภัยออกนอกประเทศ แต่ถูกรัฐบาลจับตัวดำเนินคดีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 21 ถอดยศ และประหารชีวิตพลเอกฉลาด หิรัญศิริ และจำคุกตลอดชีวิตผู้ก่อการที่เหลืออีก 4 คน ซึ่งต่อมาได้ลงโทษจำคุกตลอดชีวิตเพิ่มอีก 8 คน รวมเป็น 12 คน นอกจากนั้นยังมีผู้ได้รับโทษลดหลั่นลงมาอีก 11 คน ซึ่งในจำนวนนี้มีพลเรือนที่พลเอกฉลาดชักชวนมา อาทิ นายพิชัย วาสนาส่ง นายสมพจน์ ปิยะอุย นายวีระ มุสิกพงศ์ ภายหลังทั้งหมดได้รับการนิรโทษกรรมเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2520

สาเหตุที่พลเอกฉลาดถูกประหารชีวิต  มาจากพลตรีอรุณ ในฐานะผู้บัญชาการกองพลที่ 1 ขัดขวางหรือไม่ให้ความร่วมมือไม่ว่าจะในลักษณะใด จึงถูกยิงเสียชีวิต พลเอกฉลาดจึงถูกดำเนินคดีในข้อหา “กบฏและฆ่าคนตาย”
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 63  เมื่อ 27 มิ.ย. 12, 07:23

ท่านอาจารย์เทาชมพูเล่าเรื่องนี้ก็ดีแล้ว ความจริงมันดูเหมือนว่าจะเป็นวัฒนธรรมของทหารการเมืองตั้งแต่ยังเป็นสยามมาจนเป็นประเทศไทยที่มักจะไม่ฆ่าล้างผลาญกันจริงๆ แค่เอาอาวุธออกมาประลองกำลังแบบอวดกันหอมปากหอมคอ พอรู้ว่าใครเป็นหมู่ใครเป็นจ่าก็จบ

ปฏิวัติครั้งนั้นเหตุที่พลเอกฉลาด หิรัญศิริถูกประหารชีวิตมันไปเข้าลักษณะความผิดทางคดีอาญาเข้าให้ด้วยเพราะท่านไปใช้ปืนกลมือยิงพลตรีอรุณ ทวาทศินเสียชีวิตอย่างไม่มีเหตุผลเท่าที่ควร แบบว่า ไม่ได้เป็นการตายจากการต่อสู้ในสนามรบ แต่เป็นห้องประชุมกองทัพบก ข่าวว่าท่านรู้ตัวดีอยู่เมื่อทราบว่าเขากำลังนำตัวไปประหารแล้ว เดินเข้าหลักเองอย่างไม่สะทกสะท้านสมชายชาติทหาร

ส่วนคนอื่นๆหลายคนตามชื่อที่ระบุก็ได้ไปใช้ชีวิตในยุโรปชิวๆรอจนมีประกาศนิรโทษกรรม จึงกลับมาเล่นการเมืองใหม่ดังที่เห็นๆกัน จะมีคนหนึ่งก็คุณพิชัย วาสนาส่ง รุ่นพี่สถาปัตย์ของผมที่ท่านไปเอาดีที่กรมประชาสัมพันธ์  เป็นจัดรายการวิทยุเสียงทุ้มน่าฟัง อยู่ดีๆวันนั้นเขาเอาปืนมาจี้ให้อ่านประกาศคณะปฏิวัติออกอากาศเพราะเจ้าเก่าคือคุณอาคม มกรานนท์ผู้ประกาศข่าวหยุดในวันนั้น ท่านก็อ่านไป ไหนได้พอเขาฟัดกันจบ รัฐบาลก็จับไปแจ้งข้อหากบฏเอาตัวไปติดคุก ตั้งแต่นั้นมา พอใครปฏิวัติอีกผู้ที่เผ่นเป็นคนแรกก่อนทหารเข้ายึดสถานีคือผู้ประกาศข่าว ทหารต้องอ่านกันเอง
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 64  เมื่อ 27 มิ.ย. 12, 07:36

ก็แค่แตกแถวออกจากกระทู้เล็กน้อยค่ะ 
ใครไม่รู้ใช้คำกริยา "เล่น" + การเมือง    มันก็ตรงกับเหตุการณ์ในอดีตจริงๆ ว่าออกมาในรูปของการเล่นมากกว่าทำจริง  คือแสดงกำลังกันนิดหน่อยพอให้ชาวบ้านที่ฟังวิทยุกันอยู่ได้ออกปากว่า "ปฏิวัติกันอีกแล้วหรือ"
จากนั้นก็รอดูว่าที่ทำงานจะหยุดหรือเปล่าวันนี้   ถ้าไม่หยุดก็ออกไปทำงานทำการกันตามปกติ

กลับจากงาน ก็ค่อยดูข่าวทีวีภาคค่ำเพื่อรู้รายละเอียดอีกที  ว่าตอนนี้ใครเป็นผู้บริหารประเทศแทนนายกฯคนที่เห็นหน้ากันอยู่เมื่อวานนี้   

ถ้าทหารยึดอำนาจจากนายกฯพลเรือนมักจะทำได้สำเร็จ     แต่ยึดอำนาจจากนายกฯทหารด้วยกันมักจะยากกว่า  พลเอกเปรมท่านก็เป็นนายกฯคนหนึ่งที่สู้กับรัฐประหารมาหลายครั้ง แล้วรอดไปได้คือชนะทุกครั้ง จนท่านวางมือจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไปเอง ด้วยคำว่า "ผมพอแล้ว"

ตอนหลังๆนี้ยึดอำนาจแบบก่อนๆไม่ค่อยมีแล้ว   รูปแบบเริ่มเปลี่ยนแปลงไป  จากรถถังออกมาวิ่งตามถนน กลายมาเป็นเสื้อสีต่างๆกระจายกำลังเต็มพื้นที่ถนน      ที่เคยประกาศต่อสู้กันไปมาเป็นสงครามทางคลื่นกระจายเสียง ก็เปลี่ยนมาเป็นศึกกลางเมือง เผาบ้านเผาเมืองกัน
ยังเดาไม่ได้ว่าต่อไปจะเป็นรูปแบบไหนค่ะ

คืนพื้นที่กระทู้ให้ท่านเจ้าของกระทู้บรรเลงมหากาพย์ต่อไป
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 65  เมื่อ 27 มิ.ย. 12, 07:48

ตั้งแต่นั้นมา พอใครปฏิวัติอีกผู้ที่เผ่นเป็นคนแรกก่อนทหารเข้ายึดสถานีคือผู้ประกาศข่าว  ทหารต้องอ่านกันเอง

สองสามปีมานี้   เจอพลตรีประพาส ศกุนตนาคในงานของศิลปินแห่งชาติสาขาดนตรีไทยท่านหนึ่ง   ท่านเกษียณมานานหลายปีแล้วแต่ยังสมาร์ทอยู่    ผู้คนในงานเขาเย้ากันว่าจำเสียงท่านได้มากกว่าเห็นหน้าเสียอีก   เพราะเมื่อใดเสียงหรือหน้าท่านปรากฏหน้าขึ้นมาหน้าจอ ก็เป็นอันรู้ว่าประเทศเกิดเรื่องใหญ่ขึ้นแล้ว   
น้ำเสียงทุ้มหนัก ชัดเจน นำมาด้วยคำว่า "ประกาศ..ประกาศ"

นายพลท่านนี้ได้รับฉายาว่าเป็น "โฆษกคณะปฏิวัติ" เนื่องจากทำหน้าที่อ่านประกาศของคณะรัฐประหารหรือคณะปฏิรูป แล้วแต่จะคณะนั้นจะตั้งชื่อตนเองว่าอะไร   เช่น
- เป็นผู้อ่านประกาศของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ในเหตุการณ์รัฐประหาร เมื่อปี พ.ศ. 2534 
- อ่านประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี พ.ศ. 2535
- อ่านประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (คปค.) ในการรัฐประหารเมื่อปี พ.ศ. 2549
   เป็นคนอ่านประกาศได้อย่างปลอดภัยที่สุด   ไม่ต้องเจอเรื่องอะเมซซิ่งอย่างคุณพิชัย วาสนาส่ง


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 66  เมื่อ 27 มิ.ย. 12, 07:56

กลับไปดูทหารการเมืองปฏิวัติทหารการเมืองครั้งแรกต่อ

วันที่ ๑๘ ตุลาคม
ทหารรัฐบาลถึงชุมทางบ้านพาชีตอน ๔ โมงเย็น แล้วหยุดพัก
พระองค์เจ้าบวรเดชได้ทรงมอบหมายให้พันเอกพระยาศรีสิทธิสงครามนำกำลังทหารรวมทุกเหล่าประมาณ ๓๐๐นาย ทำหน้าที่กองระวังหลัง ทำลายเส้นทางและรบหน่วงเวลา เพื่อให้กำลังส่วนใหญ่ภายใต้บังคับบัญชาของพันโทพระปัจจานึกพินาศไปตั้งหลักได้ที่ปากช่อง ส่วนพระองค์ได้เสด็จไปนครราชสีมาพร้อมพระยาเสนาสงคราม
 
พระยาศรีสิทธิสงครามวางกำลังทหารหน่วยทำลายรางไว้ที่สถานีแก่งคอย  แล้วให้กำลังที่เหลือล่วงหน้ามายึดภูมิประเทศใกล้ผาเสด็จ เหนือแก่งคอยขึ้นไปตรงหลักกิโลเมตรที่ ๑๔๐ ซึ่งทางรถไฟเริ่มคดเคี้ยวและสูงชันขึ้นทีละน้อยไม่สามารถวิ่งเร็วได้ ให้ตั้งรังปืนกลจุดแรกไว้ และตั้งอีก๕จุด ที่กิโลเมตร ๑๔๑, ๑๔๒, ๑๔๓, ๑๔๔  พร้อมทั้งดัดแปลงภูมิประเทศ วางพลซุ่มยิงไว้อีกหลายแนวในช่วง๔กิโลเมตรนี้ ซึ่งฝ่ายรุกต้องเดินเท้าเข้ารบอย่างเดียวไม่สามารถใช้ยานพาหนะใดๆได้เลย ฝ่ายตั้งรับจะได้เปรียบตามหลักยุทธศาสตร์มาก

ส่วนทหารอุดรธานีที่ถ่วงเวลาเดินทัพ จนตกรถไฟวันเคลื่อนพลเข้าพระนครตามนัดของพระองค์เจ้าบวรเดช บัดนี้ทราบข่าวว่าพระองค์เจ้าบวรเดชถอยทัพ ก็กลับคึกคักจะลงมาช่วยฝ่ายรัฐบาลปราบกบฏ รีบจัดทับเดินทางมาขึ้นรถไฟที่ขอนแก่น


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 67  เมื่อ 27 มิ.ย. 12, 07:59

วันที่๑๙ตุลาคม
พระองค์เจ้าบวรเดชและพระยาเสนาสงครามคุมกองกำลังเดินทางต่อจากสถานีจันทึก ระยะทางที่เหลือแค่เจ็ดสิบกิโลเมตรใช้เวลาวันหนึ่งเต็มๆ เพราะต้องหยุดซ่อมทางมาตลอด กว่าจะถึงนครราชสีมาเอาตอนสาย และได้รับการต่อต้านจากตำรวจของพระขจัด จึงต้องยิงไปบ้างด้วยอาวุธหนักของทหารที่เหนือชั้นกว่า พระขจัดเห็นทีจะสู้ไม่ได้ก็ต้องถอยไปรวมกันกับพวกที่อุบล

พระองค์เจ้าบวรเดช ทรงแค้นพระทัยที่กองพันทหารราบที่๑๗จากอุบลมากที่มีลูกเล่นจัด แปรพักตร์ไปเข้ากับรัฐบาลไม่พอยังทำลายทางหนีของเพื่อนที่เคยจะร่วมเป็นร่วมตายกัน ก่อนหลบเข้าบ้านที่เมืองอุบล พระองค์จึงให้พระยาเสนาสงครามเตรียมกำลังทหาร๔๐๐คน จะขึ้นไปยึดจังหวัดบุรีรัมย์ไว้เป็นที่มั่นก่อน แล้วหาจังหวะตีเมืองอุบลแก้แค้น

ครั้นได้ข่าวว่าทหารอุดรกำลังจะขึ้นรถไฟจากขอนแก่นมาโจมตี พระองค์เจ้าบวรเดชจึงสั่งให้แบ่งทหารราบเดนตายบางส่วนขึ้นไปสกัด  ทหารอุดรจึงหยุดดูเชิงที่สถานีบ้านไผ่ แล้วรายงานลงมาว่าจะป้องกันไม่ให้พวกกบฏใช้เส้นทางนี้ไปไหน

ทหารรัฐบาลที่มาจากกรุงเทพเริ่มติดตามฝ่ายกบฏใกล้ถึงสถานีแก่งคอยซึ่งตั้งอยู่ทีเชิงเขาหลักกิโลเมตรที่๑๒๔ ก็ต้องหยุดขบวนรถ เพราะถูกหน่วยต่อต้านของพระยาศรีสิทธิสงครามยิงปะทะ พระเริงรุกปัจจามิตรจำเป็นจัดหน่วยรบเป็นหมวดหมู่ ค่อยๆรุกคืบหน้าขึ้นไปตามทางรถไฟ แต่การต้านทานที่หนาแน่นทำให้ไม่คืบหน้าไปเท่าที่ควร
 
ศึกครั้งนี้ รัฐบาลใช้สงครามจิตวิทยานำทัพอย่างได้ผล โดยการใช้ใบปลิวไปทิ้งตามฐานที่มั่นต่างๆเกลี้ยกล่อมให้ทหารโคราชกลับใจ รวมทั้งตั้งสินบนนำจับพระองค์เจ้าบวรเดช๑๐๐๐๐บาท พันเอกคนละ๕๐๐๐ บาท ผบ.พัน คนละ๑๐๐๐บาท และ ผบ.ร้อยคนละ๕๐๐บาท และการที่หลวงพิบูลแต่งตั้งพระเริงรุกเป็นแม่ทัพขึ้นมาโคราชแทนตนนั้น ก็เป็นความฉลาดเลิศ ด้วยเหตุว่าท่านผู้นี้เป็นเชื้อสายของเจ้าเมืองโคราชที่รบชนะทัพลาวของเจ้าอนุ  คนโคราชรู้จักท่านดีและให้ความเคารพนับถือมาก และใจฝ่อหากต้องรบกับท่าน

ดังนั้นแนวรับดงพระยาเย็นที่พระองค์เจ้าบวรเดชวางไว้ที่ปากช่อง ทหารโคราชที่หมดกำลังใจต่อสู้จึงหาโอกาสหลบหนีเข้ามอบตัวต่อฝ่ายรัฐบาลมากขึ้นทุกวัน หรือนำอาวุธประจำกายหนีกลับบ้านไปก็มี จนที่สุดเหลือประมาณ๓๐๐คน รวมทั้งทหารปืนใหญ่ซึ่งมีแต่ปืนที่ไม่มีกระสุนจริงแล้วด้วยเท่านั้น  พันโทพระปัจจานึกทหารเอกพระองค์บวรเดชต้องออกมาคุมแนวรบด้วยตนเองเพื่อสร้างขวัญให้กับผู้ที่เหลือ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 68  เมื่อ 27 มิ.ย. 12, 08:11

รูป



บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 69  เมื่อ 27 มิ.ย. 12, 08:14

วันที่ ๒๐ ตุลาคม
กองพันทหารราบที่๖เข้าโจมตีหน่วยต่อต้านของพระยาศรีสิทธิสงครามแต่เช้า แต่ทหารรัฐบาลถูกยิงบาดเจ็บสองสามนาย โชคดีที่บางตอนสามารถใช้รถข.ต.กำบังทำการรุกคืบไปทีละนิด สุดท้ายสามารถยึดสถานีแก่งคอยได้ พวกกบฏยังอาศัยชัยภูมิที่ดีกว่า ใช้พลจำนวนน้อยรบพลางถอยพลางยันกำลังพลขนาดใหญ่อย่างได้ผล


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 70  เมื่อ 27 มิ.ย. 12, 08:16

วันที่ ๒๑ ตุลาคม
หลวงพิบูลมาตรวจแนวรบ ฟังพันตรีหลวงวีระโยธาผู้บังคับกองพันทหารราบที่๖บรรยายสรุป  สั่งเสียข้อราชการแล้วจึงกลับพระนคร

วันนี้ฝ่ายรัฐบาลค่อยรุกคืบคลานได้ทีละน้อย และส่งหน่วยย่อยซึ่งมีทหารเรือมาร่วมด้วยขึ้นไปยังทับกวาง


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 71  เมื่อ 27 มิ.ย. 12, 08:19

หลวงวีระโยธาผู้นี้ได้รับการอวยตำแหน่งโดยพระยาทรงสุรเดช ให้มาคุมกองพันที่สำคัญที่สุดของพระนคร เพราะตั้งจ่อหลังวังปารุสก์อยู่ ในฐานะที่เป็นเด็กในคาถาเคยใช้ให้ติดตามพระประศาสตร์ไปจับกุมตัวกรมพระนครสวรรค์ที่วังบางขุนพรหมสำเร็จมาแล้ว ทำให้หลวงพิบูลเขม่นมากถือว่าเป็นหอกข้างแคร่ แต่ผลงานที่ทุ่งบางเขนดี ใช้ได้ ครั้งนี้ลองวัดใจอีกครั้งแต่งตั้งให้ได้รับหน้าที่สำคัญ คุมหน่วยรบหลักนำทัพขึ้นลุยดงพระยาเย็น ซึ่งท่านก็ได้พิสูจน์ความเป็น“มืออาชีพ” เสร็จศึกครั้งนี้ได้เป็นเด็กในคาถาของนายคนใหม่ที่ขึ้นมาดับรัศมีนายคนเก่า


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 72  เมื่อ 27 มิ.ย. 12, 08:25

วันที่๒๒ ตุลาคม
แนวหน้าของฝ่ายรัฐบาลรุกถึงทับกวาง ได้รับการต่อต้านนิดหน่อย ทหารเจ็บสี่ห้านาย ทางรถไฟจากนั้นไปถูกรื้อหมด ทหารต้องลงเดิน ทำให้เป็นเป้าปืนกลหนักของพวกกบฏได้ง่าย

ทางโคราช พระยาเสนาสงครามคุมกำลังทหารขึ้นไปยึดจังหวัดบุรีรัมย์ได้

ส่วนจังหวัดอุบลส่งกองกำลังผสมทหาร ตำรวจ ข้าราชการและพลเรือนอาสาสมัคร เข้ามาตั้งทัพสกัดกั้นที่สพานข้ามลำเปรี๊ยะ(ลำพระเพลิง)จังหวัดสุรินทร์

ที่จังหวัดขอนแก่น กองทหารอุดรธานีอาศัยความสด บุกเข้าตีฝ่ายกบฏที่ยึดอำเภอพลแตกพ่ายไม่เป็นขบวนเพราะกรอบเกรียมและหมดใจจะสู้รบ
 
ภาคกลาง ทหารฝ่ายรัฐบาลจากปราจีนบุรีส่งกำลังทหารราบ ๑ กองร้อยเข้าคุมสถานการณ์ทางช่องตะโก และทางจังหวัดฉะเชิงเทรา ทหารเรือได้ส่งเรือเร็วไปลอยลำในแม่น้ำบางปะกง เพื่อรักษาการทั่วไป

เย็นวันนั้น แนวหน้าของฝ่ายรัฐบาลเข้ายึดทับกวางได้ในที่สุด ทหารฝ่ายกบฏถอยไปหินลับ ขณะนั้นกองกำลังส่วนหัวหอกของฝ่ายรัฐบาลได้เคลื่อนตัวถึงหลักกิโลเมตรที่ ๑๔๐ ห่างจากหินลับเพียง ๔ กิโลเมตร


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 73  เมื่อ 27 มิ.ย. 12, 08:41

วันที่๒๓ ตุลาคม
วันนี้เป็นวันตัดสินโชคชะตา ต่างฝ่ายต่างใช้อาวุธนานาชนิดเข้าโรมรันกันดุเดือดตลอดทั้งวัน โดยฝ่ายรัฐบาลมุ่งจะเข้ายึดหินลับจากฝ่ายกบฏให้ได้ ตอนเช้าหลวงวีระโยธาให้ ร้อยโทซัน นำกองร้อย๑ และหมู่ปืนกลเบาเดินหน้าไปตามทางรถไฟ พอเจอปืนกลหนักของฝ่ายกบฏยิงสกัด ก็ต้องรบพลางหลบพลาง รุกคืบหน้าไปได้ช้ามาก

เลยบ่ายสองไปแล้ว หลวงวีระโยธาให้ว่าที่ร้อยตรีตุ๊ จารุเสถียร นำหมวดไปตีโอบหลังรังปืนกล แต่หลงทางเพราะภูมิประเทศเป็นป่าหาตำแหน่งยาก ห้าโมงเย็นเห็นจะได้ หมวดของว่าที่ร้อยตรีตุ๊มาโผล่ที่ทางรถไฟหน้าทหารของร้อยโทซัน ห่างรังปืนกลหนักที่หลัก๑๔๒ของฝ่ายกบฏไม่ถึง๕๐เมตร ก็เลยสั่งทหารติดดาบปลายปืนหมายตะลุมบอน จ่านายสิบสุข สังขไพรวัลย์ลูกน้องว่าที่ร้อยตรีตุ๊ ยิงนำไปถูกหัวสิบโทน้อย พลปืนกลเลือดสาด พลยิงอีก๔นายของฝ่ายกบฏก็ชูมือยอมจำนน
 
ร้อยโทซัน คุมปืนกลหนักและเชลยกลับฐานเพราะรบมาตั้งแต่เช้าหิวข้าวเต็มที แต่ว่าที่ร้อยตรีตุ๊เพิ่งได้ลั่นกระสุนนิดหน่อยยังไม่สะใจ ขอนำหมวดลุยต่อแล้วเดินข้ามศพทหารกบฏสองสามศพไปข้างหน้าเอาเคล็ด

ใกล้มืดเย็นวันนั้น พระยาศรีสิทธิสงครามกับร้อยตรีบุญรอด เกษสมัย นายทหารคนสนิทออกจากฐานที่ตั้งใกล้สถานีหินลับมาตรวจความพร้อมรบที่วางไว้ตามจุดต่างๆ ซึ่งคาดว่าทหารรัฐบาลจะเข้าโจมตีต่อในตอนกลางคืน  หาทราบไม่ว่ารังปืนกลหนักที่วางเป็นแนวต้านทานไว้ที่หลัก๑๔๒ แตกไปแล้วไม่ถึงชั่วโมง เมื่อมาถึงเสาโทรเลขต้นที่ ๔ ของหลัก๑๔๓ในช่องเขาขาด ซึ่งมีความกว้างเพียงเท่าที่ตัวรถจะผ่านไปได้ หมวดของว่าที่ร้อยตรีตุ๊โผล่มาอีกด้านหนึ่งห่างกันไม่ถึง๒๐เมตรแล้วเปิดฉากยิงทันที กระสุนนัดหนึ่งโดนพระยาศรีสิทธิสงครามเข้าที่สีข้างล้มลง แต่มิได้เสียชีวิตทันที ร้อยตรีบุญรอด ทส.ของท่านรอดตายเพราะชื่อดีถูกจับเป็นเชลย
ครั้นสิ้นแม่ทัพ ทหารฝ่ายกบฏก็หมดกำลังใจที่จะสู้รบต่อไป

กองพันทหารราบที่๖เข้ายึดสถานีหินลับได้สำเร็จในคืนนั้น 
แนวต้านทานอันดับต่อไปของฝ่ายกบฏที่ปากช่องเหลือห่างออกไปแค่๓๕กิโลเมตร 


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 74  เมื่อ 27 มิ.ย. 12, 08:46

หลวงพิบูลได้ทราบรายงานนี้ดีใจสุดขีดขนาดเดินทางขึ้นมาทันทีเพื่อดูศพ พอถึงแก่งคอยมาต่อไม่ได้เพราะทางขาดยังซ่อมไม่เรียบร้อย  ต้องนำศพพระยาศรีสิทธิสงครามใส่รถโยกไปให้ดูที่นั่น และท่านก็สลดใจที่เห็นทหารเลวเหยียบศพพระยาศรีสิทธิสงครามมา ถึงกับด่าว่าจะทำอะไรก็ให้ไว้เกียรตินายทหารชั้นผู้ใหญ่กันบ้าง
 
เมื่อว่าที่ร้อยตรีตุ๊นี้ตอนเดินทางกลับมาถึงหัวลำโพงนั้น หลวงพิบูลได้บุกขึ้นไปหาถึงบนรถเพื่อจับมือแสดงความยินดี บอกว่าเธอได้เลื่อนยศเป็นร้อยโทแล้ว และกำลังจะได้ติดเหรียญกล้าหาญด้วย ต่อมาชีวิตราชการทหารของท่านผู้นี้ก็รุ่งโรจน์ถึงระดับยศสูงสุด คน๑๔ตุลารู้จักดีในนามว่าจอมพลประภาส จารุเสถียร


บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 3 4 [5] 6 7 ... 23
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.118 วินาที กับ 20 คำสั่ง