เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 16 17 [18] 19 20 ... 23
  พิมพ์  
อ่าน: 131200 กบฎบวรเดช นี่ทหารการเมืองเขาเล่นอะไรกัน?
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 255  เมื่อ 02 ก.ค. 12, 13:42

เรื่องพระองค์เจ้าจรูญศักดิ์ กับหลวงประดิษฐ์มนูธรรมนี้  ได้ยินผู้ใหญ่ท่านเล่าให้ฟังนานแล้วครับเลยออกจะเลือนๆ สักหน่อย
จำได้เลาๆ ว่า เป็นเพราะพระองค์เจ้าจรูญฯ นั้นท่านเป็นคนฉุนเฉียว  เวลานักเรียนไทยในปารีสไปที่สถานทูตก็ไม่ค่อยจะทรงต้อนรับ
ต่างจากนักเรียนไทยในอังกฤษ  เมื่อไปที่สถานทูตท่านเจ้าคุณภะรตราชา ท่านจะดูแลต้อนรับและเลี้ยงอาหารเป็นอย่างดี 
ถ้าท่านรู้ว่าใครไม่มีเงิน ท่านเจ้าคุณก็จะมีอุบายใช้ให้ล้างรถหรือทำงานเล็กๆ น้อยเพื่อให้ค่าตอบแทน  แต่ที่ปารีสนั้นตรงกันข้าม 
นักเรียนไทยมักจะมีปัญหาเวลาไปเบิกเงินเบี้ยเลี้ยงที่สถานทูต  ประกอบกับท่านทูตมักจะวางองค์เป็น "เจ้า"  เลยทำให้นักเรียน
ที่ได้รับความคิดเสรีนิยมแบบฝรั่งเศสพากันไม่พอใจ  เลยคบคิดที่จะจัดการกับเจ้า  แล้วเลยลามมาถึงความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครอง
บันทึกการเข้า
paganini
องคต
*****
ตอบ: 406

ทำงาน


ความคิดเห็นที่ 256  เมื่อ 02 ก.ค. 12, 14:07

จากบันทึกของ ประยูร ภมรมนตรี ตรงที่ อจ นวรัตน์ท่านได้สแกนมาลงไว้ในกระทู้พระยาทรงฯ  ผมรับรู้ได้ถึงอาการอย่างที่ว่าเลยครับคุณวีหมี ว่าเจ้าบางองค์ในยุคนั้นเขามีความคิดและการปฏิบัติต่อสามัญชนในแบบที่ยอมรับได้ยากอยู่เหมือนกัน 

ยังคิดเล่นๆ(อีกแล้ว) ว่าคณะราษฏร์ส่วนหนึ่งเป็นคนที่ใกล้ชิดเจ้ามาแต่ก่อน ดังนั้นเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงก็ยังถ้อยทีถ้อยอาศัย เกรงอกเกรงใจ อย่างมากสุดก็แค่เนรเทศ  หากทอดเวลายาวนานกว่านั้น ความกดดันเพิ่มพลังสถานการณ์สุกงอมกว่านั้น ความโกรธแค้นความชิงชังอาจจะนำไปสู่ชะตากรรมที่น่าสะพรึงกลัวมากกว่าที่เกิดขึ้น

หลายๆคนมักจะบอกว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เป็นการชิงสุกก่อห่าม และประนามคณะราษฎร์ไว้หลายประการ แต่คิดอีกแง่มุมถ้าคณะราษฏร์ไม่ทำ หลังจากนั้นก็จะมีคณะอื่นมาทำอยู่ดี และไม่มีหลักประกันอะไรเลยที่จะบอกว่าคณะอื่นๆนั้นจะนิ่มนวลละมุนละม่อมได้แบบคณะราษฏร์
บันทึกการเข้า
samun007
องคต
*****
ตอบ: 446


ความคิดเห็นที่ 257  เมื่อ 02 ก.ค. 12, 16:51


หลายๆคนมักจะบอกว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เป็นการชิงสุกก่อห่าม และประนามคณะราษฎร์ไว้หลายประการ แต่คิดอีกแง่มุมถ้าคณะราษฏร์ไม่ทำ หลังจากนั้นก็จะมีคณะอื่นมาทำอยู่ดี และไม่มีหลักประกันอะไรเลยที่จะบอกว่าคณะอื่นๆนั้นจะนิ่มนวลละมุนละม่อมได้แบบคณะราษฏร์


ส่วนตัวคิดว่า การประเมินว่าจะทำได้ละมุนละม่อมหรือไม่ ปัจจัยมีมีหลายอย่างที่ยังไม่ได้นำมาประกอบครับ

ผู้มีอำนาจในตอนนั้นเลือกที่จะไม่ทำอะไรคณะราษฏร์เลย ทางเลยสะดวก กลับกัน ถ้าผู้มีอำนาจเห็นชอบตามแนะนำของท่านเจ้าคุณอธิกรณ์ประกาศ อะไรจะเกิดขึ้น ?  แล้วคนในคณะราษฏร์จะอยู่เฉยหรือ ?  โดยเฉพาะท่านพจน์ ซึ่งพร้อมจะลุยตลอดเวลา

หรือแม้แต่ในขณะที่ทำการอยู่ เกิดมีทหาร หรือ ประชาชนลุกฮือขึ้นต่อต้านในวันที่  ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ เลย คณะราษฏร์ จะแก้ปัญหานี้อย่างไร ?

เพราะผมเชื่อว่า คงไม่มีการใช้กระสุนยาง หรือ แก๊สน้ำตา แน่ ๆ ครับ


บันทึกการเข้า
werachaisubhong
องคต
*****
ตอบ: 449



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 258  เมื่อ 02 ก.ค. 12, 17:01

เรื่องพระองค์เจ้าจรูญศักดิ์ กับหลวงประดิษฐ์มนูธรรม
เกิดเหตุการณ์กระตุ้นความรุ้สึกที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองยิ่งขึ้นคือได้เกิดความขัดแย้งระหว่างนักเรียนไทยในฝรั่งเศสกับพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจรูญศักดิ์กฤดากรเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศฝรั่งเศสและผู้ดูแลนักเรียนไทยในฝรั่งเศส อันเนื่องมาจากพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจรูญศักดิ์กฤดากรมีคำสั่งห้ามนักเรียนไทยในฝรั่งเศสไปร่วมประชุมสมาคมนักเรียนไทยในอังกฤษและไม่ออกหนังสือเดินทางให้นักเรียนไทยในฝรั่งเศสเหล่านั้นก็ได้ขัดขืนคำสั่งด้วยการส่ง ร้อยโท ประยูร ภมรมนตรีไปร่วมประชุมโดยร่วมกันเรี่ยไรค่าเดินทางและค่าที่พักให้และใช้วิธีหลบเลี่ยงคำสั่งที่ห้ามอกหนังสือเดินทางไปประเทศอังกฤษโดยใช้วิธีของหนังสือเดินทางไปประเทศเบลเยี่ยมก่อนแล้วขอวีซ่าจากประเทศเบลเยี่ยมเข้าประเทศอังกฤษการเดินทางไปประเทศอังกฤษของ ร้อยโทประยูร ภมรมนตรี ครั้งนี้เป็นที่สังเกตของหน่วยข่าวกรองทางการเมืองของอังกฤษประจำเนเธอร์แลนด์ (Dutch indian Political Intelligence) ซึ่งได้รายงานความเคลื่อนไหวว่า ร้อยโท ประยูร ภมรมนตรีเป็นสมาชิกของกลุ่มเอเซียติก (Asiatic Bloc) กลุ่มเอเซียติกมีจุดมุ่งหมายที่จะสร้างการปฏิวัติทางปัญญาให้แก่นักเรียนจากประเทศทางตะวันออกสถานทูตอังกฤษในประเทศไทยจึงติดต่อกับรัฐบาลไทยในเรื่องนี้จึงเป็นเหตุให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจรูญศักดิ์กฤดากรไม่พอพระทัยในการกระทำของนักเรียนไทยเหล่านี้เป็นอย่างมากประกอบกับได้มีความขัดแย้งในเรื่องค่าใช้จ่ายของนักเรียนทุนรัฐบาลเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราเดิมอัตราแลกเปลี่ยน 1 ปอนด์ เท่ากับ 60-70 แฟรงค์เมื่อค่าเงินลดต่ำลง 1 ปอนด์ มีค่าถึง 140-170 แฟรงค์ ค่าครองชีพในฝรั่งเศสสูงขึ้นนักเรียนไทยจึงเข้าชื่อกันทำหนังสือไปยังสถานทูตของรับเป็นเงินปอนด์แทน นายปรีดีพนมยงค์ ประธานนักเรียนไทยเป็นผู้ยื่นหนังสือเรื่องนี้เอกอัครราชทูตรทรงเห็นว่านักเรียนไทยที่ร่วมกันเขียนหนังสือร้องเรียนมีหัวรุนแรงจึงให้มีคำกราบบังคมทูลมายังพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวขอให้เรียกตัวนายปรีดี พนมยงค์ กลับประเทศไทยด้วยเหตุว่า “ เป็นหัวหน้าชักนำนักเรียนไทยขัดคำสั่งฑูต เป็นหัวหน้าสหบาล Syndicate ฝักใฝ่ในระบอบประชาธิปไตยอันจะเป็นภัยต่อพระราชบัลลังก์” ในเวลาเดียวกัน นายปรีดีพนมยงค์ ได้โทรเลขกราบบังคมทูลกล่าวหาว่าพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจรูญศักดิ์กฤดากรเป็นการถวายฏีกามาเช่นกัน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยให้ นายปรีดี พนมยงค์กลับประเทศไทยทันที แต่บิดนายปรีดีพนมยงค์ ได้ทูลเกล้าฯ ถวายฏีกาขอให้เลื่อนเวลาเรียกตัวนายปรีดีกลับประเทศไทยเป็นหลังการสอบไล่ปริญญาดุษฏีบัณฑิตทางกฏหมายให้สำเร็จเรียบร้อยประกอบกับเจ้าพระยามราช (ปั้น สุขุม) ได้กราบบังคมทูลให้เลื่อนเวลาเรียกตัวนายปรีดี กลับเช่นกันพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายปรีดีพนมยงค์ศึกษาต่อจนจบ โดยมีเงื่อนไขว่า นายปรีดี พนมยงค์จะต้องทำหนังสือขอขมาต่อพระวงวงศ์เธอพระองค์เจ้าจรูญศักดิ์กฤดากรและให้สัญญาว่าจะเชื่อฟังคำสั่งของเอกอัครราชทูตด้วย


ที่มาครับ http://writer.dek-d.com/Writer/story/viewlongc.php?id=360631&chapter=1
บันทึกการเข้า

ฅนเมียงแป้ มาอยู่ เจียงฮาย
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 259  เมื่อ 02 ก.ค. 12, 18:20

อ่านที่คุณ paganini  แสดงความเห็นเรื่องของเจ้าในสมัยรัชกาลที่ ๗ แล้ว  ขออนุญาตขยายความเพิ่มเติมครับ

เรื่องมีอยู่ว่า เมื่อสยามถูกคุกคามอย่างหนักโดยลัทธิล่าอาณานิคมในสมัยรัชกาลที่ ๕  จึงทำให้เกิดแนวพระราชดำริในการปฏิรูประบบราชการ
ซึ่งในการปฏิรูประบบราชการครั้งนั้นมีพระราชบันทึกแนวพระราชดำริเป็นหลักฐานอยู่ที่กรมราชเลขาธิการ
เมื่อล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ เสด็จกลับมาจากยุโรปแล้ว  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทรงเรียนรู้ราชการในกรมราชเลขาธิการ
ได้ทรงอ่านแนวพระราชดำริในการจัดการปกครองบ้านเมืองดังกล่าว  ประกอบกับล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ ทรงอำนวยการฝึกหัด
การบริหารราชการด้วยพระองค์เอง  การดำเนินพระบรมราโชบายในช่วงรัชกาลที่ ๔ - ๕ - ๖  จึงเป็นการส่งต่อกันมาเหมือนทีมวิ่งผลัด

ในสมัยรัชกลที่ ๖ ก็ทรงเตรียมสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ  และสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าฯ
กรมหลวงนครราชสีมา  ตามแนวทางที่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ ทรฝึกพระองค์มา  แต่เป็นชะตากรรมของประเทศไทยที่ทั้งสองพระองค์
เสด็จทิวงคตไปก่อนที่จะทรงรับรัชทายาท  เมื่อสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนครราชสีมาทิวงคตแล้ว  จึงโปรดให้เจ้าพระยามหิธรส่ง
พระราชบันทึกในรัชกาลที่ ๕ ไปถวายล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๗ ซึ่งทรงอยู่ในฐานะพระรัชทายาทเพื่อทรงศึกษา  แต่ระยะเวลาที่
ทรงเตรียมพระองค์นั้นราว ๑ ปีเท่านั้น  ไม่ทันได้ทรงเรียนรู้หลักราชการจากล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖  ก็ประจวบล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖
เสด็จสวรรคต  ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๗ ซึ่งเพิ่งเริ่มเรียนรู้ราชการแผ่นดินจึงได้รับรัชทายาท  เมื่อทรงรับรัชทายาทนั้นมีพระราชดำรัสกับ
เจ้าพระยามหิธรว่า ทรงเลื่อมใสในแนวพระราชดำริในล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ ที่ทรงปฏิรูปการปกครองในครั้งนั้นมาก

แต่ช่วงเวลาจากการปฏิรูปการปกครองมาถึงเวลาที่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๗ นั้นผ่านไปเป็นเวลาร่วม ๔๐ ปี  สถานการณ์บ้านเมืองเปลี่ยนแปลง
ไปจนไม่อาจเทียบได้กับยุคสมัยปฏิรูปการปกครอง  ที่เมื่อแรกเริ่มปฏิรูปการปกครองนั้นยังไม่มีคนสามัญที่มีความรู้ความสามารถพอที่จะทำ
หน้าที่บริหารบ้านเมืองได้  จึงต้องใชเจ้าเป็นกำลังหลัก  แต่เมื่อสิ้นรัชกาลที่ ๖ นั้น  เจ้าถูกลดบทบาทลงจนเกือบจะไม่มีบทบาทในราชการ
ที่คงอยู่ในราชการบางพระองค์ก็ต้องเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาเสนาบดีที่เป็นสามัญชน  เช่นในกรมกำแพงเพชร ผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวง
ต้องอยู่ใต้บังคับบัญชาเจ้าพระยาวงศานุประพัทธ เสนาบดีกระทรวงคมนาคม

แต่พอผลัดแผ่นดินเป็นรัชกาลที่ ๗  ด้วยความที่ทรงเลื่อมใสในแนวทางการปฏิรูปการปกครองของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕  เสนาบดีที่เป็น
สามัญชน ๗ ใน ๑๐ คนจึงต้องออกจากราชการ  และเปลี่ยนให้เจ้ากลับขึ้นมาเป็นเสนาบดี  ซึ่งเสนาบดีใหม่บางพระองค์ก็ไม่สามารถ
ปฏิบัติราชการได้จึงต้องมีการเปลี่ยนตัวเสนาบดีกันวุ่นวาย  แต่ที่สำคัญคือ การที่เจ้ากลับขึ้นมามีอำนาจอีกครั้ง  และบางพระองค์
ก็ทรงใช้อำนาจบาตรใหญ่จนเป็นที่ระอาของเจ้านายและประชาชน  จึงเป็นอีกชนวนหนึ่งที่คณะราษฎรหยิบยกขึ้นมาก่อการ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 260  เมื่อ 02 ก.ค. 12, 20:54

เข้ามาอ่านความเห็นของทุกท่านครับ ขอบคุณมาก บางเรื่องเป็นความรู้ใหม่ของผมทีเดียว
บันทึกการเข้า
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


ความคิดเห็นที่ 261  เมื่อ 02 ก.ค. 12, 23:59

คุณครูเยอะ นักเรียนอย่างเราสบายไป  เจ๋ง  ขอบพระคุณคุณครูทุกท่านนะคร๊าบบบ
บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 262  เมื่อ 03 ก.ค. 12, 08:23

เรื่องของพระองค์เจ้าจรูญศักดิ์กับนายปรีดีที่เกิดเหตุในปารีสนั้น พลโทประยูรบันทึกไว้สั้นๆเพียงเท่าที่นำมาให้อ่านนี้เท่านั้น

อย่างไรก็ดี เมื่อประมวลกับความเห็นบนๆแล้ว ความโกรธซึ่งกลายมาเป็นความเกลียดของนายปรีดีก็น่าจะเป็นที่เข้าใจได้ และเข้าใจลึกไปถึงสัจธรรมคู่กับโลกย์ที่ว่าทุกสรรพสิ่งล้วนเกิดจากเหตุ การที่พวกเจ้าในสมัยนั้นถูกเกลียดชังจนกระทบกระเทือนไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ก็เพราะการกระทำของพวกเจ้าเอง

ผมไม่ได้สรุปว่าพวกเจ้าไม่ดีนะครับ พวกเจ้าก็เป็นมนุษย์ที่มีทั้งคนดีและคนไม่ดีเช่นเดียวกับกลุ่มคนทั้งหลาย ดังคำเปรียบเปรยว่าปลาเน่าตัวเดียวก็ทำให้ปลาเป็นเหม็นไปทั้งข้อง

ประวัติศาสตร์ก็บอกเราอีกว่า ครั้นพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่เสด็จนิวัติพระนครระหว่างหยุดภาคการศึกษา ราษฎรพากันไปเฝ้าเสด็จอย่างล้นหลามด้วยใบหน้าอันเต็มไปด้วยความปิติสุข และไม่อยากให้พระองค์เสด็จไปไหนอีก ทำไมหรือครับ ก็เพราะเขาเลี่ยนเต็มทีกับพวกนักการเมืองที่อ้างว่ากระทำเพื่อประชาชน ซึ่งเขาเห็นแล้วว่ามันไม่จริง เพียงแต่เอาบาทาของพวกเจ้าออกไปแล้วเหยียบประชาชนต่อด้วยตีนของตนแทนเท่านั้น

ผมก็ไม่ได้ว่านักการเมืองยุคประชาธิปไตยทุกคนนะครับ แต่ท่านโชคร้ายที่อยู่ไปร่วมข้องกับปลาเน่าหลายตัวหน่อย เบ้งๆทั้งนั้นด้วย


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 263  เมื่อ 05 ก.ค. 12, 04:35

การปฏิรูปการปกครองของรัชกาลที่ ๕ เมื่อต้นรัชกาล  ดิฉันเข้าใจว่าเป็นการผลัดเปลี่ยนอำนาจเก่ากับอำนาจใหม่   มากกว่าจะเป็นเรื่องของเจ้า vs สามัญชน
อำนาจเก่าก็คืออำนาจของสมเด็จเจ้าพระยาและขุนนางที่เห็นอย่างเดียวกับท่าน    สืบทอดธรรมเนียมปฏิบัติมาตั้งแต่รัชกาลที่ ๔   แต่อิทธิพลตะวันตกที่แรงขึ้นทุกทีในรัชกาลที่ ๕ ก็ทำให้สยามต้องปรับตัวให้หนักกว่าในรัชกาลที่ ๔   คนรุ่นใหม่จึงต้องเข้ามามีบทบาทแทนคนรุ่นเก่าให้ได้  เพื่อจะก้าวตามฝรั่งให้เร็วหนักขึ้นไปอีก

คนรุ่นใหม่ในต้นรัชกาลที่ ๕  ที่จะทันฝรั่งก็คือเจ้านายที่ทรงศึกษาแบบฝรั่งกันมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์     ทุกพระองค์เป็นพระอนุชาที่พร้อมจะโดยเสด็จตามพระเจ้าอยู่หัวผู้ทรงเป็น "พี่ใหญ่"  มีความเลื่อมใสเคารพบูชากันมา     เมื่ออำนาจเปลี่ยนมือจากอำนาจเก่ามาสู่ใหม่ได้โดยไม่เสียเลือดเนื้อ   คนรุ่นใหม่ที่เป็นเจ้าก็ก้าวเข้าสู่การปฏิรูปได้อย่างเต็มตัว  บ้านเมืองก็พุ่งไปข้างหน้าในทางเดียวกัน เพราะการบริหารสอดคล้องไปในทางเดียวกัน

แต่..ในรัชกาลที่ ๗  ไม่เป็นเช่นนั้น
" เจ้า" ที่เคยเป็นกลุ่มคนหนุ่มไฟแรงในต้นรัชกาลที่ ๕ ต่างเสด็จไปสวรรค์กันเกือบหมดแล้ว     ที่เหลืออยู่ก็คือสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ที่ไม่ทรงมีสิทธิ์มีเสียงอะไรอีก     "เจ้า"ที่มีอำนาจมากที่สุดในรัชกาลที่ ๗ ไม่ใช่คนรุ่นใหม่หัวก้าวหน้า แต่เป็นคนรุ่นเก่าที่พอใจกับการมีอำนาจในมือ   ลังเลที่จะปล่อยอำนาจไปสู่คนรุ่นใหม่ที่ไม่ใช่ลูกหลานตัวเอง เพราะเดาไม่ได้ว่าบ้านเมืองเปลี่ยนมือไปแล้วจะเป็นอย่างไร   เจ้าจะกระทบกระเทือนหรือไม่
พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๗ ก็ทรงเกรงพระทัยเจ้ารุ่นเก่าอยู่มาก   ส่วนคนรุ่นใหม่ที่ทรงพระเมตตาอย่างนายปรีดี พนมยงค์ ก็ตัดสินใจแล้วว่าจะต้องเปลี่ยนระบอบการปกครองให้ได้   ความคิดของเขาเป็นอย่างไรอ่านได้จากประกาศคณะราษฎร์

จะว่าไปคนรุ่นใหม่ก็ชนะในรัชกาลที่ ๕   ต่อมาในรัชกาลที่ ๗ ก็ไม่แปลกที่ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย คือคนรุ่นใหม่ก็ชนะอีก   แต่ว่าผลจากชัยชนะของคนรุ่นใหม่ทั้งสองยุคนั้นแตกต่างกัน    การปฏิรูปในรัชกาลที่ ๕ ทำให้บ้านเมืองสมัยใหม่แบบตะวันตกได้อย่างรวดเร็ว  แต่การปฏิรูปการปกครองในรัชกาลที่ ๗ ทำให้ประชาธิปไตยไทยยังไม่เหมือนประชาธิปไตยตะวันตกจนบัดนี้  เป็นได้ก็ประชาธิปไดยแบบไทยๆ

มาดูกันดีกว่าในยุคมิลเลนเนี่ยม  เรามีคนรุ่นใหม่ที่จะปฏิรูปบ้านเมืองไปในทางไหน  และจะประสบความสำเร็จเหมือนรุ่นพี่ๆหรือไม่
บันทึกการเข้า
paganini
องคต
*****
ตอบ: 406

ทำงาน


ความคิดเห็นที่ 264  เมื่อ 05 ก.ค. 12, 07:59

ขอบคุณทุกท่านที่มาเสริมและตอบข้อสงสัยของผมในรายละเอียด  ได้ความรู้ใหม่มากๆเลยครับ  เรือนไทยจะกลายเป็นเรือนมยุรา  กระทู้นี้มีอายุสองปีเข้าไปแล้ว แต่ความเข้มข้นมิได้ลดลงไปเลย

ไอ้กระผมก็ขี้สงสัย ก็ขอสงสัยต่อว่าการที่เจ้านาย ชนชั้นปกครองสมัยก่อนต้องมีลักษณะที่กดขี่ข่มเหง เพราะเขาสอนกันมาเป็นทอดๆหรือเปล่าว่าต้องทำอย่างนี้ ไม่งั้นเดี๋ยวลูกน้องไม่เกรง เดี๋ยวจะเสียการปกครอง  เจ้านาย ขุนนางบางท่านอาจจะไม่ได้มีจิตใจที่ข่มเหงผู้ต่ำต้อยกว่าเป็นพื้นฐานก็ได้ แต่ประเพณีนิยม การวางตัวตามที่สั่งสอนกันมา เลยออกมาในรูปแบบนี้?

เพียงแต่ว่าคนไทยส่วนใหญ่ยังไม่มีวัฒนธรรมของเสรีชนสักเท่าไหร่เพราะพึ่งฟื้นจากสังคมที่มีทาสมาไม่กี่สิบปี  ถึงไม่ใช่ทาสก็เป็นไพร่ ความคิดที่จะพึ่งพาผู้มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่เลยยังไม่หายไปไหน (แม้กระทั่งปัจจุบัน)   แต่พวกนักเรียนนอก ไปเห็นวัฒนธรรมเสรีชนที่ต่างประเทศก็เลยเริ่มได้คิดกัน
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 265  เมื่อ 05 ก.ค. 12, 09:05

คุณ paganini ยกข้อความหนึ่งที่มักจะได้ยินนักวิชาการสมัยใหม่หยิบยกขึนมากรอกลูกศิษย์ว่า
"เจ้านาย ชนชั้นปกครองสมัยก่อนต้องมีลักษณะที่กดขี่ข่มเหง เพราะเขาสอนกันมาเป็นทอดๆหรือเปล่าว่าต้องทำอย่างนี้ ไม่งั้นเดี๋ยวลูกน้องไม่เกรง เดี๋ยวจะเสียการปกครอง"

คำตอบสำหรับคำถามนี้คงจะตอบด้วยตัวเองไม่ได้  ขอยกความตอนหนึ่งในพระราชหัตถเลขาที่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ กราบบังคมทูลล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ เมื่อคราวเสด็จเลียบมณฑลพายัพมาให้พิจารณาครับ

" “...ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานกราบบังคมทูลสรุปทั่วไป  ในส่วนการปกครองเห็นด้วยเกล้า ฯ ว่า  การเลือกข้าราชการขึ้นไปนั้นจะต้องกระทำโดยระวังมาก  ถ้าจะเลือกแต่เฉพาะผู้มีความสามารถในทางราชการทางใดทางหนึ่งเท่านั้น  เห็นด้วยเกล้า ฯ ว่าไม่พอ  จำจะต้องหาผู้มีความคิดกว้างขวางรู้จักผ่อนผันในทางการปกครอง  ถ้าจะทำไปให้สำเร็จจำจะต้องอาไศรยพวกเจ้านายและผู้เป็นใหญ่ในพื้นเมือง  คนไทยถึงแม้จะมีความสามารถปานใดถ้าไปเกิดเหตุให้เป็นที่บาดหมางหรือไม่ปรองดองกับคนในพื้นเมือง  ถึงแม้คนในพื้นเมืองนั้นจะไม่ขัดข้องก็คงยังลำบาก  เพราะที่ไหนเลยคนไทยที่ขึ้นไปจากเมืองได้จะทราบเหตุการณ์  และนิสัยใจคอของพลเมืองเท่าคนในพื้นเมืองเอง  เพราะฉะนั้นถ้าคนในเมืองไม่ช่วย  แม้การจะทำสำเร็จก็คงจะเป็นไปได้ชั่วคราว  ไม่ยั่งยืน  เห็นด้วยเกล้า ฯ ว่าข้อสำคัญคือ  ต้องพยายามที่จะกระทำให้ชาวเมืองเข้ากลมเกลียวกับเราได้  อย่าให้รู้สึกว่าพวกเราไม่ไว้ใจหรือตั้งใจไปกดขี่เอาแต่ตามอำเภอใจเรา   ผู้ที่เคยได้รับความนับถือในเมืองตนเองแล้ว  แม้มีผู้ใดประพฤติกิริยาอาการที่จะแสดงให้เห็นได้ว่าหมิ่นประมาทและไม่เห็นเป็นคนเท่ากันเช่นนั้น  ย่อมจะทำให้เจ็บใจหรืออย่างน้อยก็เพียงขุ่น ๆ เห็นด้วยเกล้า ฯ ว่าการที่ทำดีต่อไว้นั้นไม่มีที่เสียเลย  ในทางนี้พระยาสุรสีห์วิสิทธิศักดิ์เข้าใจดี  และความประพฤติของพระยาสุรสีห์ต่อพวกเจ้านายในเมืองลาวนั้นไม่มีที่ติ  ไปมีที่ผู้น้อยบ้างบางนาย  ที่ถือทิษฐิแข่งลาวแข่งไทยไม่รู้จักจบสิ้น  คนเหล่านี้ทำให้เป็นที่เดือดร้อนแก่ผู้ที่แลเห็นทางถูกแล้วเป็นอันมาก  การที่คนเหล่านั้นประพฤติเช่นที่กราบบังคมทูลมาแล้ว  เห็นด้วยเกล้า ฯ จะเป็นไปด้วยความเข้าใจผิด  คือเข้าใจว่าถ้าจะให้พวกลาวยำเกรงจำจะต้องไว้ยศ  ถือตัวไว้เสมอ ๆ  จำจะต้องให้รู้สึกว่าตนเป็นไทยเป็นนายลาว  ข้อนี้ถ้าจะนึกดูถึงใจชาวพายัพบ้าง  ก็พอจะแลเห็นได้ว่ามีสิ่งที่สะกิดใจทำให้ขุ่นอยู่สมอ  พอที่จะเชื่องได้ก็มาติดข้อที่กราบบังคมทูลนี้  ยังอีกประการหนึ่งคือข้าราชการผู้น้อยเหล่านี้เองที่ตั้งใจจะแสดงตนดีกว่าลาวนั้น  หาได้ทำไปให้ตลอดไม่  คือความประพฤติในส่วนตัวควรจะกระทำให้เป็นเยี่ยงอย่างแห่งทางดี  ก็แลประสงค์จะให้ลาวนับถือไทย  ควรจะต้องประพฤติให้เสมอต้นเสมอปลายจึ่งจะน่านับถือจริง...”
(ที่มา ; หอจดหมายเหตุแห่งชาติ.  ร.๕ ม๕๘/๔๔  เรื่อง รายงานราชการในมณฑลพายัพ (๑๑ กุมภาพันธ์ ๑๒๐ – ๑๐ กันยายน ๑๒๙).) 
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 266  เมื่อ 05 ก.ค. 12, 09:12

อีกฉบับเป็นพระราชหัตถเลขาที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตอบลายพระหัตถ์ที่ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ กราบบังคมทูลรายงานการตรวจราชการ
ในมณฑลพายัพ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘  ๑๐ ปี หลังจากเสด็จประพาสมณฑลพายัพ

"รายงานว่าด้วยการต่าง ๆ ในมณฑลภาคพายัพ   ตามที่ได้ออกไปตรวจราชการทหารมานั้น  ได้รับแล้ว  ได้ความพิสดารดีมาก  น่าประหลาดใจที่เรื่องถือตัวของข้าราชการกรุงเทพ ฯ ยังไม่หมดลงได้  เพราะฉันได้เปนผู้ทักท้วงขึ้นเอง  ตั้งแต่ครั้งไปตรวจมณฑลภาคพายัพ  และได้คอยเขี่ยกันอยู่เสมอ  แต่ก็เปนจริงที่เปนนิสัยคนไทยมักฟังเข้าหู ๑  ออกอีกหู ๑  เพราะฉะนั้นจะได้กำชับอุปราชคนใหม่ ให้เอาใจใส่ในเรื่องนี้ยิ่งขึ้น"
ที่มา : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ.  สบ.๐๐๑/๑๕, ๑๓.  รื่อง รายงานตรวจราชการมณฑลนครราชสีมา, อุบล, และมณฑลภาคพายัพ. พ.ศ. ๒๔๕๘.)

สรุปแล้วผู้ที่กดขี่ราษฎรนั้น คือ ข้าราชการระดับล่างๆ ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังเป็นกันอยู่  ส่วนเจ้านายนั้นก็มีบ้างเป็นบางพระองค์ซึ่งก็มักจะไม่ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยให้มีบทบาทในราชการนัก

บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 267  เมื่อ 05 ก.ค. 12, 10:50

ขอบคุณทุกท่านที่มาเสริมและตอบข้อสงสัยของผมในรายละเอียด  ได้ความรู้ใหม่มากๆเลยครับ  เรือนไทยจะกลายเป็นเรือนมยุรา  กระทู้นี้มีอายุสองปีเข้าไปแล้ว แต่ความเข้มข้นมิได้ลดลงไปเลย

คุณปากานินิกำลังอยู่ในเรือนมยุรา ซึ่งเดินหน้าไปอยู่ในอนาคตจากเวลานี้ ๒ ปี   ฮืม   ยิ้มเท่ห์
บันทึกการเข้า
paganini
องคต
*****
ตอบ: 406

ทำงาน


ความคิดเห็นที่ 268  เมื่อ 06 ก.ค. 12, 00:52

ขอบคุณครับคุณ V_Mee  แสดงว่าที่ผมถามนี่ตรงกับนักวิชาการสมัยใหม่เขาคิดกันเหรอครับเนี่ย? 
จริงๆไม่ได้ฟังมาจากใครนะครับ เพียงแต่ผมได้ยินได้ฟังคนรอบข้างตั้งแต่เด็กๆ อบรมต่อๆกันมาด้วยความคิดลักษณะนี้ พอมาเรียนรู้เรื่องประวัติศาสตร์เลยเอามันมาหลอมรวมกับพฤติการณ์บางส่วนของเจ้านายหรือข้าราชการในอดีต สรุปว่าพฤติการณ์เช่นนี้ไม่ได้มีเฉพาะเจ้า แต่สามัญชนก็เป็นกันเยอะ

คุณเพ็ญชมพูครับ  เขินเลย ฮ่าๆๆๆ เอะใจย้อนกลับไปดู อันนี้กระทู้ใหม่นี่นาาาาาาาาาาา  หน้าแตกเลย

ผมอ่านหลายกระทู้ไปพร้อมๆกันน่ะครับ เพราะมันเยอะมาก ผมนี่หลบหน้าไปจากเรือนไทยแห่งนี้ซะหลายปี ไปเพลิดเพลินกับเวปบอร์ดดนตรีหรือไม่ก็เฟซบุ๊ค กลับมาอีกทีก็เข้าห้องเรียนเรียนตามเพื่อนไม่ค่อยจะทัน  เลยสับสนว่ากำลังอ่านกระทู้เก่าหรือใหม่กันแน่
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 269  เมื่อ 06 ก.ค. 12, 01:39

 เมื่อดิฉันเกิดมา ระบบเจ้าขุนมูลนายก็จบไปเกือบ 20 ปีแล้ว. ตอนเล็กๆบ้านของยายที่เลี้ยงมา อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาตรงบางยี่ขันติิดกับวังแห่งหนึ่ง. ที่เรียกว่าวังเพราะเจ้าของท่านเป็นหม่อมเจ้า. แต่ความจริงก็คือเรือนไทยหลังย่อมๆมีนอกชานและท่าน้ำเล็กๆ ไม่ต่างจากบ้านของยาย และบ้านชาวบ้านอื่นๆแถวนั้น
ตัวท่านเจ้าของวังเป็นชายชราร่างผอมๆ ใจดี มีหม่อมวัยเดียวกัน.  มีลูกๆเป็นม.ร.ว. ที่มีลูกเต้าเป็นม.ล. เล็กๆวัยเดียวกับดิฉัน โดดน้ำเล่นตูมๆ. ดิฉันก็เลยไปเล่นที่นั่นบ่อยๆ
ไปกินข้าวกินขนม. เรียกท่านตาหม่อมยายตามหลานๆ. ท่านก็นับญาติด้วยดี. ไม่เห็นมีใครมาพูดว่าเราเป็นไพร่ ท่านเป็นเจ้า แบ่งชนชั้นวรรณะกัน  จนโตแยกย้ายกันไป.  ลูกหลานท่านซึ่งรับราชการก็เคยมาเยี่ยมพ่อแม่ดิฉัน. ตอนนั้นท่านตาท่านสิ้นไปนานแล้ว ก็ไม่เห็นว่าลูกหลานซึ่งมีคำนำหน้านั้นจะมีอภิสิทธิ์ใดๆเหนือกว่าคนอื่นในสังคม.  พวกเขาก็วางตัวสุภาพเรียบร้อยดีทุกอย่าง

ดิฉันเรียนจบ ทำงาน มีธุระปะปังต้องไปติดต่อหน่วยราชการต่างๆทั้งในเมืองหลวงและต่างจังหวัด   หลายครั้งทีเดียวพอรู้ว่าจะต้องไปติดต่องานก็ใจแป้วล่วงหน้าไว้ได้เลย.  เพราะท่านที่อยู่บนที่ทำการนั้น เจ้าประคุณเอ๋ย. เข้าถึงได้ยากเย็นอะไรยังงั้นก็ไม่รู้.    ปะเหมาะเคราะห์ร้ายท่านอาจจะทะเลาะกับคู่สมรสมาตั้งแต่เช้า. พอเห็นประชาชนเข้าก็เลยตาเขียวตาคว่ำ. ตวาดแว้ดว่าหลักฐานไม่ครบ ให้ไปหามาใหม่. เซ็นใหม่. ยื่นใหม่ ฯลฯ
ขนาดเป็นข้าราชการด้วยกันแท้ๆ ดูกันออกยังหนักขนาดนี้. แล้วตาสีตาสาที่งกๆเงิ่นๆมากับลูกหลานจะขนาดไหน.  บางครั้งได้ยินเสียงแหวๆเอ็ดลุงป้าว่ายังงั้นใช้ไม่ได้ ยังงี้ใช้ไม่ได้.   นึกสงสารจับใจ.   ถึงผ่านมานานหลายปีแล้วก็เถอะ
ดูชื่อของแต่ละท่านบนป้ายที่โต๊ะหรือผนังห้อง.   ก็เห็นเป็นสามัญชนเหมือนเราๆกันทุกคน. ไม่เห็นมีใครมีไตเติ้ลพิเศษมาแต่กำเนิด
ก็เลยสรุปจากประสบการณ์ว่าไม่ใช่เรื่องเจ้ากับข้า.   ไพร่หรืออำมาตย์ แต่เป็นอะไรขอเว้นวรรคให้สมาชิกเรือนไทยเติมคำกันเองค่ะ
 
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 16 17 [18] 19 20 ... 23
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.293 วินาที กับ 19 คำสั่ง