รัฐบาลส่งเจ้าหน้าที่จากกรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรีไปเตรียมงาน โดยให้จัดเตรียมอุปรณ์ที่จะใช้ในการปลงศพทหารและการแสดงมหรสพต่าง ๆ ซึ่งการนำมหรสพไปแสดงนั้นเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลและเอกชน
ฝ่ายรัฐบาลนั้น พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ติดต่อมหรสพที่มีชื่อเสียงจากกรุงเทพฯไปแสดง ได้แก่ โขนนั่งราวจากสำนักพระราชวัง มีพระยานัฎกานุรักษ์เป็นผู้ควบคุม โขนของพระยาบำเรอภักดี โขนและละครของเจ้าพระยาวรพงศ์ จำอวดคณะสีสมิง กองแตรวงของทหารเรือ กองแตรวงคณะลูกเสือโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย การแสดงจำอวดของนายสนิธ เกษธนัง
ฝ่ายเอกชนนั้น นายแป้น รัตนสาส์น นายเฮง ศรีสมเคราะห์ และนายแช่ม เพ็ชร์พล ได้ขอนำการแสดงของตนไปสมทบด้วยคือ ละครรำ ระบำจำอวด แจ๊สแบนด์ ซึ่งรวมกันเป็นโรงเดียวในนามของคณะ "นารีสยาม" และวงปี่พาทย์ของนายพยอม เกิดไพโรจน์ นอกเหนือจากการแสดงแล้วยังมีผู้บริจาคหมากสำเร็จให้แก่รัฐบาลจำนวน ๑๐,๐๐๐ ห่อ เพื่อนำไปแจกให้ชาวนครราชสีมา ส่วนชาวนครราชสีมาได้จัดการแสดงพื้นเมืองมาร่วมด้วย คือเพลงโคราช ภาพยนตร์ ลิเก และการต่อยมวย เป็นต้น
เพื่อให้งานครั้งนี้มีความยิ่งใหญ่มีผู้ไปร่วมงานมาก ๆ รัฐบาลจึงให้กรมรถไฟหลวงลดค่าโดยสารจากกรุงเทพฯถึงนครราชสีมาเป็นพิเศษแก่ผู้ที่จะไปร่วมงานปลงศพทหารและทำขวัญเมืองนครราชสีมา อีกทั้งจัดรถโดยสารให้กับครอบครัวนายทหารในกองรบและนายทหารที่จะไปนครราชสีมา
รัฐมนตรีที่เดินทางไปร่วมงานครั้งนี้ได้แก่ พระยาประเสริฐสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หลวงนฤเบศร์มานิต หลวงสิริราชไมตรี หลวงสินธุสงครามชัย และหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ส่วนหลวงพิบูลสงครามไม่ได้ไปเนื่องจากป่วย
ข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่นครราชสีมาหลังการสู้รบสิ้นสุดนำมาจาก หนังสือ "การเมืองในอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี" ของคุณสายพิน แก้วงามประเสริฐ
