หลังเหตุการณ์สู้รบจบลง ข้าราชการพลเรือนและทหารของจังหวัดนครราชสีมาจำนวนมากถูกสอบสวนและลงโทษฐานร่วมมือกับฝ่ายกบฏ โดยเฉพาะผู้นำเมืองนครราชสีมาคืออำมาตย์เอกพระยานายกนรชน (เจริญ ปริยานนท์) สมุหเทศาภิบาล มณฑลนครราชสีมา ซึ่งขณะเกิดเหตุได้ให้ความร่วมือกับฝ่ายกบฏ แม้ว่าพระยานายกนรชนจะเปลี่ยนใจหันมาสวามิภักดิ์ต่อฝ่ายรัฐบาลเมื่อเห็นว่าฝ่ายกบฏถูกปราบปรามจนเกือบจะพ่ายแพ้แล้ว ถึงกับเดินทางมาต้อนรับกองรบฝ่ายรัฐบาลที่สถานีรถไฟสูงเนินเมื่อว้นที่ ๒๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ เพื่อรายงานให้ทราบว่าบรรดานายทหารที่เข้ากับฝ่ายกบฏพร้อมที่จะกลับมาสวามิภักดิ์ต่อรัฐบาล แต่ก็ไม่ทำให้พระยานายกนรชนรอดพ้นจากการถูกลงโทษได้ ศาลพิพากษาให้จำคุกพระยานายกนรชน ๒๐ ปี แล้วกระทรวงมหาดไทยยังมีคำสั่งให้ถอดยศและบรรดาศักดิ์ตลอดจนเรียกเครื่องราชอิสริยาภรณ์และสัญญาบัตรยศต่าง ๆ ที่เคยได้รับกลับคืนอีกด้วย
ผู้นำสำคัญของเมืองนครราชสีมาอีกคนหนึ่งคือพันเอกพระประยุทธอริยั่น (เชื้อ มโหตตระ) ผู้บังคับการทหารบกนครราชสีมา ถูกนำตัวขึ้นศาลพิเศษในข้อหา "ซ่องสุมผู้คนและสรรพศาสตราวุธโดยเจตนาเพื่อทำลายล้มล้างรัฐบาล เพื่อเปลี่ยนการปกครองของประเทศสยามตามระบอบรัฐธรรมนูญให้เป็นอย่างอื่น" ศาลพิพากษาให้ประหารชีวิต ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงให้จำคุกไว้มีกำหนด ๑๖ ปี
นอกจากนี้ยังมีทหาร ข้าราชการ และประชาชนถูกจับในฐานะร่วมมือกับฝ่ายกบฏ ๒๓๕ คน
รัฐบาลมีคำสั่งให้พระยากำธรพายัพทิศ (ดิศ อินทโสฬศ) ปลัดมณฑลประจำจังหวัดลำปาง มาดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาและทำการแทนสมุหเทศาภิบาลมณฑลนครราชสีมาตั้งแต่วันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๖ และะให้พันโทพระเริงรุกปัจจามิตร (ทอง รักสงบ) ซึ่งขณะเหตุการณ์กบฏปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้บังคับการกองรบของฝ่ายรัฐบาลและมีตำแหน่งรองจากหลวงพิบูลสงครามมารักษาการตำแหน่งผู้บังคับการจังหวัดนครราชสีมาแทนพันเอกประยุทธอริยั่น ตั้งแต่วันที่ ๒๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ และได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้บังคับการจังหวัดทหารบกนครราชสีมาตั้งแต่วันที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ อีกยี่สิบวันต่อมายังได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บังคับการมณฑลทหารบกที่ ๓
