พระเจ้าแผ่นดินในสมัยปลายอยุธยานั้น คำราษฎรมักเรียกพระองค์ท่านกันว่า ‘ขุนหลวง’
แต่คำเป็นทางการ ใช้ว่า ‘สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว’ ซึ่งหากเอ่ยถึงพระองค์ท่านในปัจจุบัน (ของขณะนั้น) ก็ว่า ‘สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว’ เฉย ๆ ทุกพระองค์ไม่ต้องออกพระนาม ซึ่งเป็นพระนามจารึกในพระราชสุพรรณบัฏอันยาวยืด และมีศัพท์แสงจำยาก
ดังนั้น เมื่อขึ้นแผ่นดินใหม่ ราษฎรจึงพากันเรียก ‘ขุนหลวง’ แผ่นดินก่อน ๆ โดยขนานพระนามกันเอาเองตามพระราชอุปนิสัย และประพฤติเหตุ ซึ่งพระนามที่เรียกกันเอาเองนี้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์ว่าเป็น ‘พระนามตามที่ปากตลาดเรียก’
อย่างเช่น ‘ขุนหลวงเสือ‘ เป็นพระนามตามที่ปากตลาดเรียก (ต่อมาถึงสมัยปลาย ๆ รัตนโกสินทร์ คำว่า ‘ขุนหลวง‘ พ้นสมัยแล้ว จึงเรียกเปลี่ยนเป็นพระเจ้าเสือ แล้วจดหมายเหตุก็เลยพลอยใช้ว่า ‘สมเด็จพระพุทธเจ้าเสือ‘ ไปด้วย)
ขุนหลวงเสือนั้น เรียกพระนามตามปากตลาดอีกพระนามหนึ่งว่า ‘ขุนหลวงสรศักดิ์’ เพราะเมื่อสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ท่านรับราชการเป็นที่ ‘หลวงสรศักดิ์’ อันที่จริง เป็นที่ยอมรับกันในพระราชพงศาวดารว่า จริง ๆ แล้วท่านเป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช หากแต่พระราชทานเจ้าจอมมารดาของท่านแก่พระเพทราชา ขณะตั้งครรภ์อยู่หลวงสรศักดิ์ (หรือชื่อเดิมว่า ‘เดื่อ’) จึงเป็นลูกเลี้ยงของพระเพทราชา ซึ่งว่ากันว่า พระเพทราชา เกรงใจมาก ทำนองเดียวกับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระราชทานเจ้าจอมมารดาปราง แก่เจ้าพระยานคร (พัฒน์) ขณะตั้งครรภ์เจ้าพระยานคร (น้อย) นั้น
จากคอลัมน์เวียงวัง
เรื่องขุนหลวงในพระบรมโกศ โดย จุลลดา ภักดีภูมินทร์ นิตยสารสกุลไทย
