ขอตอบกระทู้ด้วยเรื่องชวนหัวและเกร็ดความรู้เรื่อง Asean จาก ดร. สมเกียรติ อ่อนวิมล
ต้นฉบับ อ่านได้ที่
https://www.facebook.com/notes/%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%A3%E0%B8%95%E0%B8%B4-%E0%B8%AD%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%A1%E0%B8%A5-somkiat-onwimon/%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%8B%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%99-%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD-%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3/228762177182512“อาเซียน คือ อะไร?”โดย สมเกียรติ อ่อนวิมล
“อาเซียน คือ อะไร?” คำถามนี้ไม่น่าจะต้องมาถามกันในเวลานี้ ในประเทศนี้ เพราะเวลานี้เป็นปี 2554/2011 อาเซียนมีอายุ 44 ปีแล้ว อีกทั้งอาเซียนก็เกิดในประเทศไทยและโดยความคิดของผู้นำไทยตั้งแต่แรกเริ่ม คนไทยรุ่นปี 2510 และรุ่นปัจจุบัน น่าที่จะมีความรู้พื้นฐานอย่างง่ายๆที่ควรจะรับรู้สืบต่อกันมาผ่านการเรียนการสอนในระบบโรงเรียน และผ่านข้อมูลข่าวสารสาธารณะจากสื่อสารมวลชนและประสบการณ์ผ่านกาลเวลา 44 ปี
แต่แล้วก็มีเหตุทำให้ต้องตั้งคำถามเช่นนี้กันอีก ราวกับว่าเรายังไม่รู้จักอะไรเกี่ยวกับอาเซียนกันอย่างแท้จริงเลย
ปี 2554 นี้มีการจัดงานเกี่ยวกับอาเซียนกันมาก ทั้งที่่จัดโดยส่วนราชการ ทั้งที่จัดโดยสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั้งที่จัดโดยภาครัฐ และ ที่จัดโดยภาคเอกชน บรรดางานต่างๆที่ผมมีโอกาสไปร่วมโดยตรงเป็นส่วนตัวเพราะได้รับเชิญเป็นผู้ร่วมเวทีเสวนาอภิปรายด้วยนั้นก็มีบางงานที่จัดโดยขาดความรู้ความเข้าใจพื้นฐานว่า “อาเซียน คือ อะไร?” โดยการแสดงออกมาโดยการตั้งชื่องาน และการจัดรูปแบบของงาน ไม่ว่าการตั้งชื่องานผิดๆ หรือ การจัดรูปแบบงานพลาดพลั้ง จะเป็นความผิดพลาดทางเทคนิควิชาการ หรืออาจเป็นความไม่รู้ลึกซึ้งของบริษัทผู้รับจัดงาน (เรียกว่า “Event Organizer” ซึ่งเป็นที่นิยมใช้บริการกันในยุคปัจจุบัน) ก็สุดแล้วแต่

ที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 11-13 กันยายน 2554 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ) กระทรวงศึการธิการ (ศธ.) จัดงานประชุมสัมมนาชื่องาน “การจัดการศึกษามัธยมศึกษาอย่างมืออาชีพสู่ประชาคมอาเซียน พ.ศ.2558” ชื่องานไม่มีประเด็นให้ถกเถียงเรื่องความถูก-ผิด แต่รูปแบบการจัดงานบนเวทีและนิทรรศการรอบๆงานมีความไม่ถูกต้องในนิยาม “อาเซียน” เพราะการประดับธงชาติและการแสดงนิทรรศการรวมประเทศต่างๆมากไปกว่ารัฐสมาชิกอาเซียนที่มีสิบประเทศ ปรากฏว่ามีการประดับธงชาติของประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย ร่วมอยู่บนเวทีและในงานด้วย แถมในตอนแรกยังใช้ธงชาติผิด โดยใช้ธงชาติของไต้หวันแทนที่จะเป็นธงชาติสาธารณประชาชนจีน ทำให้ต้องรีบแก้ปัญหาเปลี่ยนธงชาติสองจีนกันพัลวันเมื่อถูกผู้แทนสถานกงสุลจีนทักท้วง แต่การจัดงานอาเซียนโดยนำเสนอภาพงานเป็นอาเซียนผสมกับประเทศคู่เจรจาอื่นอีกหกประเทศ ทั้งๆที่มิใช่สมาชิกอาเซียนก็จัดกันไปจนจบงาน

ที่ศูนย์การประชุมเมืองทองธานี นนทบุรี วันที่ 26 กันยายน 2554 กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและทรัพยากรมนุษย์ (พม.) จัดงาน“เปิดเสรีอาเซียน 2558 : สังคมไทยก้าวทันการเปลี่ยนแปลง” งานนี้ผิดตั้งแต่การตั้งชื่องาน และ ผิดต่อไปถึงรูปแบบการตกแต่งประดับเวที การจัดนิทรรศการและการแสดงในงาน :
ชื่องาน “เปิดเสรีอาเซียน” ผิดเพราะอาเซียนเกิดมาก็เสรีแต่แรกเริ่ม ไม่มีการปิดมา 44 ปี แล้วจะมาหาทางเปิดเสรีในปีนี้หรือปีหน้า หรือปีไหนๆ ความผิดนี้ค้นหาต้นตอได้ว่ามาจากการเขียนนโยบายรัฐบาลชุดใหม่ที่เขียนผิดในเรื่องนโยบายการศึกษา ดูในโยบายรัฐบาลข้อ 4.1.7 เขียนว่านโยบายการศึกษาของรัฐบาลฯพณฯนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตรจะ “เพิ่มขีดความสามารถของทรัพยากรมนุษย์ เพื่อรองรับการเปิดเสรีประชาคมอาเซียน” อธิบายความผิดของรัฐบาลตามตัวอักษรได้ว่า รัฐบาลไม่รู้จักว่าประชาคมอาเซียนคืออะไร รัฐบาลสับสนระหว่าง “เขตการค้าเสรีอาเซียน” กับ “ประชาคมอาเซียน” รัฐบาล (หรือผู้เขียนนโยบายให้รัฐบาล) ใช้คำว่า “ประชาคม” กับ “เขตการค้า” เสมือนเป็นเรื่องและคำเดียวกัน จึงทำให้เข้าใจผิดต่อไปว่ามีการปิดอาเซียนมานานจนกำลังจะถึงวันเปิดอาเซียนในเร็ววันนี้ จะเปิดอะไรของอาเซียนก็สุดแล้วแต่

ธงชาติที่ประดับในงานก็ใช้ธงชาติ 16 ประเทศ แถมไม่มีธงอาเซียนในบางแห่งที่จัดแสดง งานนี้มีธงชาติของ 10 รัฐสมาชิกอาเซียน กับธงชาติของประเทศที่มิใช่สมาชิกอาเซียนอีก 6 ประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และ อินเดีย นอกจากนั้นภาพธงชาติต่างๆบนหน้าปกเอกสารแจกในงานก็มีธงชาติของ 16 ประเทศในขนาดที่แตกต่างกัน ใหญ่บ้างเล็กบ้าง ธงชาติลาว พม่า เวียดนาม บรูไนเล็ก มีขนาดมากจนน่าน้อยใจ หรืออาจเป็นชนวนประท้วงได้ก็มีบ้าง ภาพธงชาติออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย มีขนาดใหญ่กว่าภาพธงชาติรัฐสมาชิกอาเซียนบางประเทศอีกด้วย
การแสดงเปิดงานบนเวทีก็เป็นการแสดงที่เป็นตัวแทนของ 16 ประเทศทั้งหมดที่ว่ามานี้ มีนักแสดงแต่งกาย กล่าวทักทาย การฟ้อนรำและร้องเพลง บนเวทีแสดงความเป็น 16 ประเทศ 16 วัฒนธรรม เป็นการแสดงมากกว่าความเป็นอาเซียนไปอีก 6 ประเทศ
ตัวอย่างที่ยกมาบางส่วนสะท้อนความผิดพลาดทางเทคนิคข้อมูลความรู้ แม้จะไม่ถึงขนาดวิกฤติ แต่ว่าถ้าปล่อยให้เกิดความผิดพลาดเช่นนี้อยู่เป็นประจำ นานๆไปเด็กและเยาวชนที่เห็นความผิดเช่นนี้เกิดบ่อยๆอาจจะเข้าใจผิดต่อไปเป็นการถาวรได้
เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐาน ขอแก้ไขความผิดให้ถูกต้องดังนี้ :
อาเซียนมีสมาชิก 10 ประเทศ ตามลำดับอักษรชื่อประเทศดังนี้ : 1. Brunei Darussalam (บรูไน ดารุสซาลาม), 2. Kingdom of Cambodia (ราชอาณาจักรกัมพูชา), 3. Republic of Indonesia (สาธารณรัฐอินโดนีเซีย), 4. Lao People’s Democratic Republic (สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว - สปป ลาว), 5. Malaysia (มาเลเซีย), 6. Republic of the Union of Myanmar (สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า), 7. Republic of the Philippines (สาธารณรัฐฟิลิปปินส์), 8. Republic of Singapore (สาธารณรัฐสิงคโปร์), 9. Kingdom of Thailand (ราชอาณาจักรไทย), และ 10. Socialist Republic of Vietnam (สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม)
ประเทศอื่นๆไม่เกี่ยวข้องเป็นสมาชิกอาเซียน แต่มีสถานภาพเป็นประเทศที่เข้ามามีความร่วมมือกับอาเซียนในรูปแบบหรือ “กรอบความร่วมมือ” ต่างๆกันไป หากร่วมมือกันมากสม่ำเสมอและใกล้ชิดมากก็เรียกว่า “ประเทศคู่เจรจา” หรือ “Dialogue Partner” ประเทศ จีน ญี่ปุ่น และ สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) ถือเป็นประเทศคู่เจรจาในกรอบที่ตั้งชื่อเป็นทางการว่า “อาเซียน+3” หรือ “ASEAN+3” ส่วน ออสเตรเลีย อินเดีย และ นิวซีแลนด์(ลำดับชื่อตามลำดับอักษร) ก็เป็น “ประเทศคู่เจรจา” อีกสามประเทศที่เข้ามารวมกับประเทศ+3 กลายเป็น +6 เป็นกรอบความร่วมมือขยายกว้างขึ้น เรียกเป็นทางการว่า “ASEAN+6” ในปี 2554 นี้อาเซียนรับสหรัฐอเมริกาและรัสเซียเข้ามาเป็นประเทศคู่เจรจาอีกสองประเทศ ยังผลให้มีกรอบ “ASEAN+8” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างอาเซียน 10 ประเทศกับอีก 8 ประเทศคู่เจรจรา ดังนั้นจากนี้ไปเราจะได้พบคำว่า “ASEAN+3”, “ASEAN+6”, “ASEAN+8” และ “ASEAN+1” อยู่เป็นระยะๆ ซึ่งมีความหายดังนี้:
ASEAN+3 หมายถึง ASEAN+China+Japan+Republic of Korea
ASEAN+6 หมายถึง ASEAN+China+Japan+Republic of Korea+Australia+India+New Zealand
ASEAN+8 หมายถึง ASEAN+China+Japan+Republic of Korea+Australia+India+New Zealand+Russia+USA
ASEAN+1 หมายถึง ASEAN+ประเทศใดประเทศหนึ่งใน 8 ประเทศคู่เจรจา คำนี้ใช้ในกรณีที่มีการประชุมระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาประเทศหนึ่งประเทศเดียว
ประเทศอื่นที่มิใช่สมาชิก และมิได้มีสถานภาพเป็นประเทศคู่เจรจา อาจมีสถานภาพความสัมพันธ์กับอาเซียนในรูปแบบที่แตกต่างกัน สุดแต่ความเข้มข้นสม่ำเสมอและลักษณะความสัมพันธ์ กฎบัตรอาเซียนหมวด 12 ข้อ 44 บัญญัติในเรื่องสถานภาพของภาคีภายนอกว่าประเทศอื่นๆที่มิใช่สมาชิอาเซียนอาจได้รับสถานภาพแสดงบทบาทความสัมพันธ์กับอาเซียนอย่างเป็นทางการ ดังนี้ :
Dialogue Partner (ประเทศคู่เจรจา)
Sectorial Dialogue Partner (ประเทศหุ้นส่วนเจรจาเฉพาะสาขา)
Development Partner (หุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา)
Special Observer (ผู้สังเกตการณ์พิเศษ)
Guest (ผู้ได้รับเชิญ)
สถานภาพอื่นที่อาเซียนอาจกำหนดจัดตั้งเพิ่มใหม่ต่อไปได้
ดังนั้นอาเซียนจึงมีสมาชิกเพียง 10 ประเทศ การจัดงานต่างๆที่เกี่ยวกับอาเซียนโดยเฉพาะ หากมิได้เป็นงาน “อาเซียน+” จะต้องปรากฏภาพและธงของอาเซียนตั้งอยู่เป็นธงแรกสุดแล้วตามด้วยธงชาติสมาชขิกอาเซียน 10 ประเทศตามลำดับชื่อประเทศ จะไม่มีธงชาติประเทศคู่เจรจาและประเทศอื่นใดที่มิใช่สมาชิกอาเซียนมาเกี่ยวข้องด้วย
ในเรื่องการ “เปิดเสรี” และ “การสร้างประชาคมอาเซียน” นั้นแยกอธิบายได้ว่ามีเพียงเรื่อง “เขตการค้าเสรีอาเซียน” หรือ “ASEAN Free Trade Area” เรื่องเดียวเท่านั้นที่จะพูดเรื่องปิดเรื่องเปิดได้ เพราะอาเซียนมีความตกลงให้ภูมิภาคอาเซียนในขอบเขตภูมิรัฐศาสตร์ของรัฐสมาชิกทั้งสิบประเทศให้เปิดทำการค้ากันอย่างเสรีได้หลังจากที่อยู่กันมาแบบปิด ประเทศใครก็ประเทศของตน ตั้งแต่อาเซียนรับเรื่องเขตการค้าเสรีอาเซียนตามข้อเสนอของนายกรัฐมนตรีอานันท์ ปันยารชุน ของไทย และต่อมามีความตกลงก่อตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจากการประชุมสุดยอดอาเซียนที่บาหลีเมื่อปี 2003 เขตการค้าเสรีก็ค่อยๆเปิดกว้างมากขึ้นและหวังจะเกิดความสมบูรณ์ในปี 2015 อันเป็นทีบรรลุเป้าหมายของการสร้างประชาคมอาเซียนที่ครอบคลุม “ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน” “ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” และ “ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน” ทั้งหมดเรียกรวมเป็นภาพกว้างว่า “ประชาคมอาเซียน” ดั้งนั้นเขตเศรษฐกิจการค้าของอาเซียนเปิิดแล้ว และเปิดนานแล้ว ที่ถือว่าเปิดเป็นทางวการก็เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2554 แต่ในทางปฏิบัติเขตการค้าเสรีอาเซียนค่อยๆเปิดตามความตกลงเรื่องการลดหรือยกเลิกข้อกีดขวางการค้าเสรีระดับต่างๆมาแต่แรกเริ่มแล้ว หลังจากที่ปิดมานานโดยธรรมชาติของความเป็นรัฐ
“ประชาคมอาเซียน” นั้นเป็นภาพรวมของชีวิตความเป็นอยู่ในสิบประเทศสมาชิกอาเซียนที่พยายามหลอมรวมความรู้สึกนึกคิดและจิตวิญญาณให้เข้าด้วยกันให้เป็นประชาคมเดียวกันในเรื่องวิสัยทัศน์ เรื่องอัตลักษณ์ และเรื่องความเป็นประชาคม เพื่อให้รู้สึกเป็น “คนบ้านเดียวกัน” ในที่สุด ความรู้สึกร่วมที่ว่านี้ ค่อยๆทำ ค่อยเป็นค่อยไป โดยหวังว่าในปี 2558/2015 จะบรรลุเป้าหมายที่คาดหวังในระดับที่พึงพอใจว่าจะเรียกเป็นประชาคมที่มีองค์ประกอบสมบูรณ์ในขั้นแรกเริ่มได้แล้วจะได้พัฒนากันต่อๆไป
สมเกียรติ อ่อนวิมล
30 กันยายน 2554