มีเรื่อง ภาษาอังกฤษภารตะ เขียนโดย คุณธวัช จันทร์สาส์น มาให้อ่าน
เมื่อผมได้อ่านหนังสือ Guiness Record เล่มหนึ่งซึ่งบันทึกสุดยอดสถิติโลกสารพัดด้าน ผมสุดดีใจเมื่ออ่านพบว่าสถิติพระมหากษัตริย์ในโลกที่ครองราชบัลลังก์นานที่สุด คือ พระเจ้าแผ่นดินของไทย หนังสือเล่มนี้พิมพ์พระปรมาภิไธยของพระองค์เป็นภาษาอังกฤษว่า King Bhumibol Adulyadej
ผมนำเรื่องนี้มากล่าวถึงก็เพราะเมื่อได้นำเรื่องนี้ไปให้ลูกศิษย์อ่านในชั้นแล้วเขาถามว่า ทำไม พระนาม “ภูมิพล” จึงไม่ใช้อักษรตัว P แต่ใช้ Bh และตัวอื่น ๆ ด้วยทำไมดูแปลก ๆ ไป
เรื่องการสะกดแบบนี้เป็นเรื่องของภาษาอังกฤษที่เราเรียกว่า Pali-English คือ บาลีอังกฤษ หรือ จะว่าภาษาอังกฤษแบบบาลี ก็สุดแล้วแต่
อันว่าภาษาบาลีหรือสันสกฤตเป็นภาษาที่ใช้ในคำสอนของพระพุทธศาสนาซึ่งเราเคารพเทิดทูน ภาษาบาลีจึงถือว่าเป็นภาษาสูงศักดิ์ เราจึงนำภาษาบาลี(รวมทั้งสันสกฤต)มาตั้งชื่อเฉพาะต่างๆ เช่น ชื่อวิทยาการ ชื่อสถานที่และชื่อกับนามสกุล ดังที่เห็นกันทั่วไป
แต่ในอังกฤษบาลีดูจะมีเสียงตัวอักษรหลายตัวที่ไขว้สลับกันกับเสียงอักษรภาษาอังกฤษแท้ อ้าว…..อย่าเพิ่งปวดหัวสิครับ ใจเย็น ๆ น่า มาดูอะไรสนุก ๆ กันดีกว่า
สองบรรทัดต่อไปนี้บอกไว้เสียก่อนนะครับว่า เป็นการเทียบเมื่อนำมาเขียนนะครับ
ในอังกฤษแท้ P = พ B = บ D = ด G = ก K = ค SH = ช
ในบาลีอังกฤษ P = บ, ป B = พ D = ท G = ค K = ก SH = ศ, ษ BH = ภ
นี่ยังไงที่ผมว่ามันไขว้กันอยู่
ตัว P กับ B ในภาษาอังกฤษบาลีนั้นตอนอ่านออกเสียงก็ออกเสียงปกติ แต่พอนำมาเขียน มันจะกลับกันไปเลยคนละอย่างเลยครับ เช่น
Buddha แม้เราหรือฝรั่งจะอ่านออกเสียงว่า “บุดด้า” แต่เมื่อนำมาเขียนสิครับ เรามิได้เขียนว่า “บุดด้า” เพราะตัว B ในอังกฤษบาลี เทียบกับอักษร “พ” ครับ เราจึงเขียนว่า “พุทธ” ไงล่ะครับ หรือคำว่า Bihar State ท่านคิดว่าเป็นรัฐอะไรครับ คงไม่มีใครเขียนเป็นไทยว่า “บิฮาร์” เพราะที่ถูกต้องเป็น “รัฐพิหาร”
มาดูตัว P บ้าง ตัว P ในอังกฤษแบบบาลี เมื่อเขียนเป็นไทยมักใช้ตัว “บ” หรือ “ป” แทนที่จะเป็น “พ” เหมือนอังกฤษปกติ เช่น Pali เขียนเป็นไทยก็ “บาลี” (หรือ “ปาลี” แต่ไม่ค่อยได้ยินมากนัก) ชื่อเมือง Jaipur ก็คือ “ไชยปุระ”
ตัว k ล่ะ ในอังกฤษปกติ k = ค แต่ อังกฤษแบบบาลี k = ก เช่น Sanskrit ไม่มีใครเขียนว่า “สันสคริต” มีแต่ “สันสกฤต” หรือชื่อมหาวิทยาลัย Chulalongkorn แน่นอน เขียน “จุฬาลงกรณ์” อีกคำคือพระราชวงศ์จักรีของไทย สะกดเป็นบาลีอังกฤษก็ว่า Chakri ไม่มีใครสะกดเป็นอย่างอื่น
เสียง “ค” แทนที่จะเป็นตัว k แบบอังกฤษปกติ กลับเป็นตัว g แทน ตัวอย่างเช่น การทำกายบริหารดัดตนท่าโน้นท่านี้ที่เรียกว่า “โยคะ” ก็สะกดเป็นบาลีอังกฤษว่า “yoga” มิใช่ “YOKA” เพราะคำว่า “โยคะ” ไม่ใช่ของฝรั่งแต่เป็นของดินแดนภารตะ ถ้าอย่างนั้น คำว่า Buddha Gaya ใครๆก็ทราบดีว่าคือ “พุทธคยา” นั่นแหละ อีกคำคือ GURU ใครจะเขียนเป็นคำไทยว่าอย่างไรระหว่าง “กุรุ” กับ “คุรุ” ??
ตัว B เมื่อกี้เราคุยกันว่าเขียนเป็นไทยได้ตัว “พ” สำหรับ “ภ” ก็ใช้ bh เช่นนามสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เขียนเป็นอังกฤษว่า Chulabhorn Research Institute
เวียนหัวหรือเปล่าครับ…….. เอางี้ดีกว่า มาดูตัวอย่างคำต่อไปนี้ที่มีในภาษาอังกฤษ ท่านลองเอากระดาษปิดสดมภ์ด้านคำไทยไว้สิครับเผื่อจะลองคิดเขียนออกมาเป็นคำไทยเล่นๆแก้ง่วงดู ว่าน่าจะเขียนว่าอย่างไร อาจจะหายง่วงหายเวียนหัวก็ได้นา
SHIVA พระศิวะ KARMA กรรมะ
KRISHNA พระกฤษณะ DHARMA ธรรมะ
BRAHMA พระพรหม RAJA, RAJAH ราชา
MAHARANEE มหารานี PUNDIT บัณฑิต
BHRATAR ภารตะ VISHNU พระวิษณุ
VEDA เวท MADHYA PRADESH มัธยประเทศ
GANDHI คานธี HIMALAYA หิมาลัย
BRAHMAN พราหมณ์ SADHU สาธุ
NIRVANA นิวรณ์ GAUTAMA SIDDHARTA โคตมะ สิทธัตถะ
NANDA DEVI นันทาเทวี
HINAYANA หินยาน MAHABHARATA มหาภารตะ
MAHANADI มหานที AHIMSA อหิงสา
MAHAYANA มหายาน SRINAGAR ศรีนคร
VARANASI พาราณสี JAVA ชวา
NAGPUR นาคปุระ SAMSARA วัฏสงสาร
เอ….พอเขียนมาถึงตรงนี้ก็อดที่จะวกกลับไปพูดย้อนอีกสักนิดไม่ได้ครับ อย่างคำว่า SAMSARA นี่น่ะ ถ้าฝรั่งออกเสียงคำนี้ก็จะได้ว่า “แซมซ้าร่า” อะไรทำนองนี้ หรือคำว่า “MAHANADI” ฝรั่งก็จะพูด “เมอะฮ้าน่าดี้” ทำนองนี้เหมือนกัน และคำอื่น ๆ ที่ยกตัวอย่างมาทั้งหมดฝรั่งจะออกเสียงตามแบบฝรั่งไป ผมเพียงแต่จะบอกท่านว่าคำเหล่านี้ที่มีต้นตอมาจากภาษาบาลีสันสกฤต เวลานำมาเขียนเป็นไทย ก็จะปรับให้เป็นแบบคำไทยบาลี “เมอะฮ้าน่าดี้” ก็เป็น “มหานที” ด้วยประการฉะนี้ แต่เดี๋ยวนะครับ ช้าก่อน…ยังไม่เอวัง…………
ท่านลองกลับไปดูคำว่า Himalaya, Hinayana, Mahayana สิครับ ถ้าเป็นฝรั่งอ่านก็จะออกเสียงว่า หิม้าล่ะย่ะ หิน้าย่ะน่ะ มะฮ้าย่ะน่ะ…. เออ..พอมาเขียนเป็นไทย กลับกลายเป็น “หิมาลัย หินยาน และ มหายาน” เป็นงั้นไป หรือแม้แต่ “มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย” ก็สะกด Mahachulalongkorn Rajavidayalaya ทำนองเดียวกัน ถึงจะเขียนต่างไปจากเดิมแต่ความหมายก็ยังคงไว้มิได้เปลี่ยนแปลง
พูดง่าย ๆ ก็เหมือน “แก้ว” ในคำไทย พอเป็นบาลีว่า “รัตน” (อ่านว่า รัด-ตะ-นะ) คนไทยคงไม่ชอบเสียง “รัด-ตะ-นะ” เพราะยืดยาว… เลยเอาทัณฑฆาตหรือไม้การันต์มาใส่ไว้บังคับมิให้ออกเสียงเสียเลย กลายเป็น “รัตน์” แบบนี้ แล้วก็อ่านว่า “รัด” เข้าท่าดีไหมล่ะ แต่ถึงจะเขียน “รัตน์” สั้น ๆ อ่านว่า “รัด” สั้น ๆ ก็ยังคงมีความหมายเหมือน “รัตนะ” “รัตนา” หรือ “รัตนัง” ทุกประการ คือ “แก้ว” ทั้งหมด
ท่านครับ….นึกได้อีกนิด ตอนอ่านหนังสือ Guinness Record เล่มที่ว่า ได้เจอเรื่องหญิงเก่งชาวอินเดียคิดเลขได้เร็วที่สุดในโลก ชื่อว่า Shakuntala Devi นี่ก็ “ศกุนตลา เทวี” เพราะดีนะครับ
ก่อนปิดท้าย ผมฝากให้ทายเล่นสนุก ๆ ว่า แม่น้ำสายหนึ่งทางตอนเหนือของอินเดียและปากีสถานทางตะวันออกเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ของชาวฮินดู ยาวประมาณ ๑,๕๖๐ ไมล์ ไหลไปทางตะวันออกเฉียงใต้ของภูเขาหิมาลัยลงไปจนถึงอ่าวเบงกอล แม่น้ำสายนี้ ภาษาอังกฤษเขียนว่า Ganga และฝรั่งออกเสียง “กังก้า”
คำถามถามว่า ได้เจ้าแม่น้ำ “กังก้า” นี่น่ะ ถ้าจะเขียนเป็นคำในภาษาไทย จะเขียนว่าอย่างไร
ผมว่าท่านตอบได้ครับ…มั่นใจ…. ถ้าตอบไม่ได้เหลือบมองคำตอบข้างล่างครับแล้วจะร้อง “เฮ้ย..”
Ganga คือ แม่น้ำคงคา ครับ
