เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2] 3 4
  พิมพ์  
อ่าน: 26741 เรียนถามถึงคำศัพท์ที่ผมหาความหมายไม่ได้
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 12 มิ.ย. 12, 13:30

แต่ในที่นี้  ต้องถือเอาคำว่า ชำนัน เป็นสำคัญด้วย  ชำนัน ไม่ได้แปลว่า แบก
ฉะนั้นรูปที่เอามาก็พอจะเทียบกับคำว่า สิงห์ชำนันนนทรี ได้

อย่างไรก็ตาม  ชำนันนนทรี และนนทรีชำนัน  ต้องพิจารณาความหมายและลักษณะกันต่อไป
บันทึกการเข้า
art47
องคต
*****
ตอบ: 739


ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 12 มิ.ย. 12, 13:31

สิงโตเมืองล้านนา


บันทึกการเข้า
art47
องคต
*****
ตอบ: 739


ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 12 มิ.ย. 12, 13:32

สิงโต (แม่) เมืองจีน (เหยียบลูกน้อย)


บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 12 มิ.ย. 12, 17:40


กาพย์ฉบัง ๑๖
๑๖
•   พรายพรายสิหาศน์มลังเมลือง                         แก้วเก้ากนกเนือง
พิสุทธแสงอาภา

•   อับแสงสุริยรังรจนา                                   ดุจมือแมนมา
พิจิตรด้วยแก้วแกมกล

•   เจ็ดชั้นบันเจิดหาวหน                                  เพรียมพรายอำพล
โพยมพยับยับแยง

•   บานปัทมกระหลับแคลงแคลง                         รายรัตนเรืองแสง
วิโรจโชติชัชวาลย์

•   พริ้งพรายเหมหงษพิศดาร                             คือเห็จเหิรทยาน
ยะยาบยย้ายยักยนต์

•   สูงส่งฟ้าหล้าสากล                                    ไตรโลกเล็งฉงน
ดั่งสับตแสงแสงพัน

•   กรงนาคมกรเกี้ยวกัน                                  คือเศียรอนัน-
ตนาคดูดาลแสดง

•     บันบดขบวนเขบจชรุแชรง                             แก้วเก้าฝังแฝง
ประกดประกิจยรรยง

•     ครีบครุธชำนันนิศกลง                                 ฟ้าหล้าลาญหลง
คือภาพกระพือโดยถวิล


•   ขนอบขนองรายรัตนาจิน                               ดาดาษมณิน
มณีดำกลคาคำ
[/quote]

 ยิงฟันยิ้ม

คำประพันธ์ด้านบนนี้  มีคำศัพท์น่าสนใจหลายคำ  อย่าง ปัทมกระหลับ  ครีบครุธ นิศกลง
เอ  คำเหล่านี้ควรจะแปลว่าอะไร และน่าจะเป็นส่วนใดของอาคารสิ่งก่อสร้าง
อย่างนี้ต้องขอความช่วยเหลือจากนายช่างสถาปนิกแล้วกระมัง   ดูชะรอยว่าจะเป็นเครื่องบนนะเนี่ย
บันทึกการเข้า
virain
นิลพัท
*******
ตอบ: 1655


AmonRain


ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 12 มิ.ย. 12, 20:59

แต่ในที่นี้  ต้องถือเอาคำว่า ชำนัน เป็นสำคัญด้วย  ชำนัน ไม่ได้แปลว่า แบก
ฉะนั้นรูปที่เอามาก็พอจะเทียบกับคำว่า สิงห์ชำนันนนทรี ได้

อย่างไรก็ตาม  ชำนันนนทรี และนนทรีชำนัน  ต้องพิจารณาความหมายและลักษณะกันต่อไป



ผมหาตัวอย่างสิงห์เหยียบยักษ์มาไม่ได้เลยครับ เพราะแบบแผนในงานสถาปัยกรรมที่ทำสืบต่อกันมา
โดยเฉพาะที่ฐานที่เป็นชั้นซ้อนจะเป็นท่าแบกเสียส่วนใหญ่ ผมเลยขอตั้งสมมุติฐานเอาไว้ก่อนว่า
ชำนันนนทรีนั้นใกล้เคียงกับท่ายักษ์แบบมากที่สุดเท่าที่ผมหาหลักฐานได้ครับ


ส่วนเรื่องสิงห์เหยีบที่คุณluanglek และคุณart47 กล่าวถึง เป็นเรื่องที่น่าสนใจและตรงตามความหมายดีครับ
ผมจะลองหาหลักฐานมาเทียบดูก่อน ว่ามีงานลักษณะอย่างที่กล่าวถึงในศิลปะอยุธยาหรือไม่
ขอบคุณมากครับ


บันทึกการเข้า
virain
นิลพัท
*******
ตอบ: 1655


AmonRain


ความคิดเห็นที่ 20  เมื่อ 12 มิ.ย. 12, 21:12

ส่วนชำนันครุฑ ที่คุณเพ็ญชมพูนำมาเพิ่มเติม ก็นับเป็นสัตว์ที่อยู่ในกระบวนท่าแบกเหมือนกันครับ
ส่วนใหญ่ที่พบในศิลปะอยุธยานั้นจะมี ครุฑ นรสิงห์ สิงห์ และก็ยักษ์ครับ

ผมเลยยังติดใจคำว่าชำนันนี้มากครับ
แต่ก็มีตัวอย่างงานชิ้นหนึ่งจากวัดจุฬามณี เป็นส่วนเหงาของหน้าบัน
เขาทำเป็นรูปครุฑยุดนาคครับ อันนี้ชำนันจริงๆ
พระนารยณ์ชำนันครุฑ


บันทึกการเข้า
art47
องคต
*****
ตอบ: 739


ความคิดเห็นที่ 21  เมื่อ 12 มิ.ย. 12, 22:40

เรียนถาม คุณ virain หน่อยนะครับ

ภาพฐานเสมาวัดสระบัว ที่ คห. 19 นั้น ชั้นบนคือครุฑ แต่ชั้นล่างนั้นคือสัตว์ชนิดใดในหิมพานต์
หน้าตาคล้ายไก่ แต่ร่างกายบึกบึนนัก  ยิ้มเท่ห์


ปล. ผมเพิ่งจะไปเมืองเพชรพลีมาเมื่อกลางเดือนที่แล้ว ผ่านวัดสระบัวแว้บๆ
เห็นถนัดๆ ว่า ทางวัดท่านทำศาลาครอบฐานใบเสมาสิ้นเสียแล้ว บดบังเกือบหมด
คงไม่มีทางถ่ายภาพได้งามๆ อย่างเช่นก่อนอีกเลย  ร้องไห้
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 22  เมื่อ 13 มิ.ย. 12, 09:38


๏ ชั้นสิงหโสภาคยชั้น      ฉานคลี
สิงหชำนันนนทรี      เถ่อหน้า
พิศเพียรพ่างโกษี      สุรโลก
สมสมภารล้นหน้า      เลิศล้ำสากล ฯ


ธ ก็เสด็จยังปราสาท ให้หาราชศิลปี มีโองการบังคับ ให้สำหรับพระเมรุ เกณฑ์กำหนดทุกกรม
ให้แต่งพนมอัษฐทิศ พิพิธราชวัติฉัตร กลิ้งกลดธวัชบรรฎาก หลายหลากภาคบุษบก
กระหนกวิหคเหมหงส์ บรรจงภาพจำเนียม ลางพนมเทียมอัสดร ลางมกรเทียมยยับ
ประดับขับเข็นรถ อลงกฎคชสาร อลงการคชสีห์ สารถีสถิตชักรถ ชดกรกระลึงกุมแสง
รำจำแทงองอาจ เผ่นผงาดขับสารสีห์ เทียมนนทรีชำนรรสึงห์
ดึงไดฉบับจับกัน สรรพ์อสุราสุรครุฑ มนุษย์ภุชงค์คนธรรพ์ บรรเขบ็จภาพเรียงราย


•   พระลานแลล้ำเภรี                                     ชำนันนนทรี
ถงัลคือตนตื่นตา


ตัวอย่างจากโคลงนิราสนครสวรรค์   ผมมาคิดใคร่ครวญดู ต้องพิจารณาการแบ่งคำเวลาอ่านด้วย
เพราะการแบ่งคำมีผลต่อการตีความและแปลความหมายด้วย

ถ้าในแบ่งอ่านว่า สิงหชำนัน/นนทรี       เถ่อหน้า 
ตีความได้ว่า ที่ชั้นฉานคลีนั้น (คงหมายถึงพื้นยกเป็นลานกว้าง)
ประดับด้วยรูปสิงห์ยืน (ไม่ใช่สิงห์นั่ง) และรูปยักษ์นนทรี ตั้งเถ่อหน้า
(เถ่อหน้าแปลว่าอะไร แหงนหน้า?  เชิดหน้า? ช่วยกันตีความต่อไป)

แต่ถ้าแบ่งอ่าน สิงหชำนันนนทรี/      เถ่อหน้า
ตีความได้ว่า  ที่ชั้นฉานคลีนั้น ประดับด้วยรูปสิงห์เหยียบยักษ์นนทรี ยืนเถ่อหน้า

หรือว่า  โคลงตรงนี้ ผู้แต่งต้องการใช้ในความหมายว่า ยักษ์นนทรียืนเหยียบสิงห์
เพียงแต่ลักษณะบังคับของโคลงทำให้ผู้แต่งต้องสลับที่คำเพื่อฉันทลักษณ์
ตรงนี้อาจจะมีผู้แย้งว่า ตำแหน่งคำที่ ๒ ในวรรคนี้ ไม่ใช่คำเอกหรือคำตาย
ถือว่าผิดฉันทลักษณ์โคลง   ก็ขอไขความว่า  โคลงโบราณนั้น  ท่านถือเอาสระอำ
ในคำสองพยางค์ซึ่งส่วนมากเป็นคำแผลงจากคำภาษาเขมร ลงในตำแหน่งคำเอกได้
มีบ้างเหมือนกันที่คนสมัยหลังไม่ทราบ เอาไม้เอกไปใส่ให้ก็มี  ด้วยหมายจะให้ถูกตำแหน่งเอก
การใช้คำสองพยางค์ที่มีสระอำที่พยางค์หน้าลงในตำแหน่งเอกในโคลง แม้ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
ก็ยังเห็นมีใช้อยู่บ้าง  เช่นในโคลงนิราศนรินทร์ บทที่ว่า

๑๒๙
๏ แว่วแว่วเสาวณิตน้อง      นางทรง เสียงฤๅ
สรวลกระซิกโสตพะวง      ว่าเจ้า
คล้ายคล้ายดำเนินหงส์      หาพี่ ฤๅแม่
อ้าใช่อรเรียมเศร้า      ซบหน้ากันแสง ฯ


๑๓๐
๏ พวงจาวเจิดแจ่มแก้ว      จักรพรรดิ พี่เอย
สมเสมอสมรรัตน์      แท่งแท้
จำเริญจำเราสวัสดิ์      สังวาส
เล็งเลียบดินฟ้าแพ้      ภพนี้ฤๅหา ฯ


บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 23  เมื่อ 13 มิ.ย. 12, 09:52

ตัวอย่างในลิลิตพระลอ


ธ ก็เสด็จยังปราสาท ให้หาราชศิลปี มีโองการบังคับ ให้สำหรับพระเมรุ เกณฑ์กำหนดทุกกรม
ให้แต่งพนมอัษฐทิศ พิพิธราชวัติฉัตร กลิ้งกลดธวัชบรรฎาก หลายหลากภาคบุษบก
กระหนกวิหคเหมหงส์ บรรจงภาพจำเนียม ลางพนมเทียมอัสดร ลางมกรเทียมยยับ
ประดับขับเข็นรถ อลงกฎคชสาร อลงการคชสีห์ สารถีสถิตชักรถ ชดกรกระลึงกุมแสง
รำจำแทงองอาจ เผ่นผงาดขับสารสีห์ เทียมนนทรีชำนรรสึงห์
ดึงไดฉบับจับกัน สรรพ์อสุราสุรครุฑ มนุษย์ภุชงค์คนธรรพ์ บรรเขบ็จภาพเรียงราย


ตรงนี้  น่าพิจารณาว่า  คนแต่งสลับคำหรือเปล่า  แต่ถ้าพินิจว่า  ร่ายมีลักษณะบังคับเพียงจำนวนคำต่อวรรค ๕ คำ
ไม่มีบังคับเอกโทอย่างโคลง  ก็ไม่มีเหตุอันใดที่คนแต่งลิลิตพระลอจะต้องสลับคำอย่างที่ผู้แต่งโคลงนิราศนครสวรรค์ทำ
ดูความหมายแปลได้ว่า  รูปสารถีชักรถ(ประดับพระเมรุ) แขนอ่อนมือถืออาวุธ (แสง มาจาก เสง ในภาษามอญแปลว่ามีด หรือของมีคม)
ทำท่ารำเงื้อแทงดูองอาจ  ขับรถพาหนะเทียมสิงห์เผ่นผงาด  ดูดั่ง (เทียม แปลว่า เหมือน) ยักษ์นนทรียืนเหยียบสิงห์...


ส่วนจากพระสุธนคำฉันท์

•   พระลานแลล้ำเภรี                                     ชำนันนนทรี
ถงัลคือตนตื่นตา

จะแปลว่าอย่างไร  ท่านอื่นน่าจะแปลได้   ผมไม่ขอแปลละกัน

บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 24  เมื่อ 13 มิ.ย. 12, 14:51

(๑๙. กรมพระคชบาล)

..................................

พลาย   นายชำนันคชกาน    ๑
         นายชำนาญคชผจง  ๑
พัง      นายจำนงคชผจอง   ๑
         นายจำนองคชเลิศ   ๑

ชำนัน น่าจะแปลว่า ขี่ ได้ด้วย

 ยิงฟันยิ้ม      
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 25  เมื่อ 13 มิ.ย. 12, 16:22

(๑๙. กรมพระคชบาล)

..................................

พลาย   นายชำนันคชกาน    ๑
         นายชำนาญคชผจง  ๑
พัง      นายจำนงคชผจอง   ๑
         นายจำนองคชเลิศ   ๑

ชำนัน น่าจะแปลว่า ขี่ ได้ด้วย

 ยิงฟันยิ้ม      

อาจจะเป็นไปได้ครับ  ถ้าบรรดาศักดิ์ดังกล่าวไม่ได้ตั้งขึ้นมาเพื่อให้คล้องจองกับนายชำนาญคชผจง
แต่เพราะบรรดาศักดิ์นายชำนันคชกานเป็นบรรดาศักดิ์คู่กับนายชำนายคชผจง
คำว่าชำนันในราชทินนามดังกล่าว จะถือเอาตามตัวที่เขียนเสียทีเดียวไม่ได้
เพราะคนเขียนอาจจะเขียนหรือคัดลอกตามความเข้าใจหรือตามเสียงอ่าน  ทำให้รูปคำเกิดไปพ้องกันเข้า
ปกติราชทินนามที่เป็นคู่คล้องจองกัน  มักจะมีความหมายล้อกัน   
คำว่า ชำนัน ใน นายชำนันคชกาน  ถ้าพิจารณาเทียบกันราชทินนาม นายชำนายคชผจง
ก็สันนิษฐานได้ว่า  เดิมน่าจะเขียนว่า  นายชำนัญคชการ  ชำนัญ คำนี้ แปลว่า รู้  เข้าใจ
นัยว่าแผลงมาจาก ชัญ หรือ ชัญญ์  คำว่า ชำนัญ นี้พ้องเสียงกับคำว่า ชำนัน  แต่ความหมายต่างกัน

อนึ่ง  ราชทินนามข้าราชการย่อมไม่ตั้งมาด้วยความหมายดาดๆ 
มักตั้งให้ความหมายที่แสดงคุณวิเศาของผู้ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์นั้น
ว่าเป็นผู้มีความรู้ความชำนาญในราชการด้านใด  ถ้าตั้งว่านายชำนันคชการ
จะแปลว่านายผู้ขี่ช้าง  ก็ดูจะไม่ได้แสดงคุณสมบัติอะไร และคำว่า การ ก็ดูจะเกินความจำเป็น
แต่ถ้าเป็นนายชำนัญคชการ  อาจแปลได้ว่านายผู้มีความรู้เกี่ยวกับการงานอันเกี่ยวกับช้าง ฟังดูดีกว่ามาก

ฉะนั้น  ลำพังค้นได้คำที่มีรูปเหมือนกับที่ต้องการ  แล้วจะทึกทักสันนิษฐานเอาว่า
เป็นคำคำเดียวกัน  โดยไม่พิจารณาบริบท ก็ย่อมตกม้าตายด้วยประการฉะนี้แล

บันทึกการเข้า
virain
นิลพัท
*******
ตอบ: 1655


AmonRain


ความคิดเห็นที่ 26  เมื่อ 13 มิ.ย. 12, 19:12

ขอบคุณคุณluanglek ครับ ผมพอจะเข้าใจแล้ว

๏ ชั้นสิงหโสภาคยชั้น      ฉานคลี
สิงหชำนันนนทรี      เถ่อหน้า
พิศเพียรพ่างโกษี      สุรโลก
สมสมภารล้นหน้า      เลิศล้ำสากล ฯ

ถ้าแปลตามที่คุณluanglek แนะนำมาผมก็พอจะมโนภาพออก เพียงพอที่จะนำหลักฐานมาประกอบต่อกันได้ครับ

แล้วถ้าเป็นโคลงบทนี้ล่ะครับ

  ครีบครุธชำนันนิศกลง                                 ฟ้าหล้าลาญหลง
คือภาพกระพือโดยถวิล

คำว่านิศกลงหมายถึงอะไรครับ
บันทึกการเข้า
virain
นิลพัท
*******
ตอบ: 1655


AmonRain


ความคิดเห็นที่ 27  เมื่อ 13 มิ.ย. 12, 19:20

เรียนถาม คุณ virain หน่อยนะครับ

ภาพฐานเสมาวัดสระบัว ที่ คห. 19 นั้น ชั้นบนคือครุฑ แต่ชั้นล่างนั้นคือสัตว์ชนิดใดในหิมพานต์
หน้าตาคล้ายไก่ แต่ร่างกายบึกบึนนัก  ยิ้มเท่ห์


ปล. ผมเพิ่งจะไปเมืองเพชรพลีมาเมื่อกลางเดือนที่แล้ว ผ่านวัดสระบัวแว้บๆ
เห็นถนัดๆ ว่า ทางวัดท่านทำศาลาครอบฐานใบเสมาสิ้นเสียแล้ว บดบังเกือบหมด
คงไม่มีทางถ่ายภาพได้งามๆ อย่างเช่นก่อนอีกเลย  ร้องไห้



ถ้าให้เดาเล่นๆผมก็มองว่าเป็นกากนาสูรมังครับ

แต่งานปูนปั้นเมืองเพชรบุรีแต่งซ่อมได้แนบเนียนดี วัดนี้ผ่านเวลามาเป็นร้อยปีอาจมีการซ่อมไปแบบไม่ตรงรูปรอยเดิม?
ตุ๊กตาพวกนี้มีโกลนเป็นดินเผาแล้วมาปั้นปูนพอกครับ เป็นกรรมวิธีที่มีมานมนาน และนิยมกันมากด้วยครับ
งานนี้ต้องลองไปพิจารณากันใกล้ๆอย่างจริงจังอีกทีครับ

ส่วนเรื่องหลังคาครอบซุ้มเสมา ผมเคยเห็นในภาพถ่ายเก่านะครับ มาบูรณะกันคราวนี้เขาคงตั้งใจจะทำตามภาพถ่ายเก่ามั้งครับ


บันทึกการเข้า
virain
นิลพัท
*******
ตอบ: 1655


AmonRain


ความคิดเห็นที่ 28  เมื่อ 13 มิ.ย. 12, 22:18

ตัวอย่างในลิลิตพระลอ


ธ ก็เสด็จยังปราสาท ให้หาราชศิลปี มีโองการบังคับ ให้สำหรับพระเมรุ เกณฑ์กำหนดทุกกรม
ให้แต่งพนมอัษฐทิศ พิพิธราชวัติฉัตร กลิ้งกลดธวัชบรรฎาก หลายหลากภาคบุษบก
กระหนกวิหคเหมหงส์ บรรจงภาพจำเนียม ลางพนมเทียมอัสดร ลางมกรเทียมยยับ
ประดับขับเข็นรถ อลงกฎคชสาร อลงการคชสีห์ สารถีสถิตชักรถ ชดกรกระลึงกุมแสง
รำจำแทงองอาจ เผ่นผงาดขับสารสีห์ เทียมนนทรีชำนรรสึงห์
ดึงไดฉบับจับกัน สรรพ์อสุราสุรครุฑ มนุษย์ภุชงค์คนธรรพ์ บรรเขบ็จภาพเรียงราย


ตรงนี้  น่าพิจารณาว่า  คนแต่งสลับคำหรือเปล่า  แต่ถ้าพินิจว่า  ร่ายมีลักษณะบังคับเพียงจำนวนคำต่อวรรค ๕ คำ
ไม่มีบังคับเอกโทอย่างโคลง  ก็ไม่มีเหตุอันใดที่คนแต่งลิลิตพระลอจะต้องสลับคำอย่างที่ผู้แต่งโคลงนิราศนครสวรรค์ทำ
ดูความหมายแปลได้ว่า  รูปสารถีชักรถ(ประดับพระเมรุ) แขนอ่อนมือถืออาวุธ (แสง มาจาก เสง ในภาษามอญแปลว่ามีด หรือของมีคม)
ทำท่ารำเงื้อแทงดูองอาจ  ขับรถพาหนะเทียมสิงห์เผ่นผงาด  ดูดั่ง (เทียม แปลว่า เหมือน) ยักษ์นนทรียืนเหยียบสิงห์...




น่าจะเทียบได้กับภาพนี้   จิตรกรรมจากหอไตรวัดระฆังครับ


บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 29  เมื่อ 14 มิ.ย. 12, 08:38

คุณ virain มีความรู้ความชำนาญด้านศิลปะมากกว่าผม
ผมรู้แต่คำและวรรณคดี  จำเป็นต้องพึ่งคุณvirain ในการสันนิษฐานความหมายของคำ
วรณคดีไทยโบราณนั้น  ผู้แต่งจะบรรยายสิ่งก่อสร้างแต่ส่วนอย่างละเอียด
รายละเอียดแต่ละส่วนอาจจะไม่ปรากฏหรือกลายรูปร่างไปในศิลปะการก่อสร้างชั้นหลัง
ทำให้เทียบเคียงหาความหมายที่แท้จริงไม่ได้  ต้องไปดูสิ่งก่อสร้างหรืองานศิลปะที่ร่วมยุคสมัย
กับวรรณคดีเรื่องนั้นๆ  บางทีต้องข้ามไปดูศิลปะสิ่งก่อสร้างของประเทศเพื่อนบ้านด้วย

รูปยักษ์เหยียบสิงห์นี้  ผมยังสงสัยต่อไปว่า  ถ้าว่าตามโคลงนิราศนครสวรรค์ในบทข้างต้น


๏ ชั้นสิงหโสภาคยชั้น      ฉานคลี
สิงหชำนันนนทรี      เถ่อหน้า
พิศเพียรพ่างโกษี      สุรโลก
สมสมภารล้นหน้า      เลิศล้ำสากล ฯ

ประติมากรรมลักษณะที่ว่าตั้งอยู่อย่างไร  อยู่รอบฐานปัทม์ของชั้นฉานคลี?
หรืออยู่ตรงสองข้างบันไดทางขึ้นไปบนชั้นฉานคลี เหมือนอย่างทวารบาล ?
ตรงนี้หน้าพิจารณา  และตกลงแล้ว สิงห์ หรือยักษ์ นั้น  ทำท่าแบกอยุ่ด้วยหรือเปล่า
อย่างนี้อาจจะต้องลงพื้นที่สำรวจโบราณสถานที่เมืองนครสวรรค์กระมัง

ส่วนคำว่า นิศกลง ความหมายนั้นแปลว่า งาม  แต่ที่มาของคำยังไม่ได้ลองค้นดูครับ
เพราะยังไม่มีเวลา  ค้นได้เมื่อไรจะเอามาบอก
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2] 3 4
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.074 วินาที กับ 20 คำสั่ง