เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 5326 เมื่อแรกมี "โรงไฟฟ้าหลวงสามเสน"
art47
องคต
*****
ตอบ: 739


 เมื่อ 09 มิ.ย. 12, 21:06



เรื่องนี้คัดมาจากความทรงจำของ อำมาตย์ตรี หลวงรัชฎการโกศล (เกตุ กะรัสนันทน์)

พิมพ์รวมอยู่ในหนังสือ

"ประวัติพระยาสุขุมนัยวินิต (สวาท สุขุม)"

แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ พระยาสุขุมนัยวินิต (สวาท สุขุม) ณ เมรุวัดมกุฎกษัตริยาราม วันอังคารที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๔๙๗




ขอเชิญติดตามได้ ณ บัดนี้....
บันทึกการเข้า
art47
องคต
*****
ตอบ: 739


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 09 มิ.ย. 12, 21:13


คำนำ

ความมุ่งหมายในการเขียนเรื่องนี้มีอยู่ว่า ภายในเวลา ๔๐ ปีเศษ การเปลี่ยนแปลงในกิจการบ้านเมืองได้เจริญก้าวหน้าไปมาก
โดยเฉพาะกิจการของโรงไฟฟ้าหลวง ได้ขยายขอบเขตการงานไปอย่างกว้างขวางเกินกว่าความมุ่งหมายในชั้นเดิม
เวลานี้ผู้ริเริ่มก่อสร้างโรงไฟฟ้าก็ล่วงลับไปตามอายุขัย เรื่องราวที่เป็นมาแต่แรกก็นับวันจะสูญสิ้นตามไปด้วย ข้าพเจ้าได้รู้เห็นกิจการชั้นหลัง
คือเมื่อเริ่มการก่อสร้างแล้ว แต่ถึงกระนั้นก็อาจกล่าวได้ว่า ผู้ที่รู้เห็นขนาดข้าพเจ้าเท่าที่มีชีวิตอยู่ก็เห็นจะมีสัก ๒-๓ คนได้กระมัง
ข้าพเจ้าเข้าใจว่าประวัติของโรงไฟฟ้าหลวงนั้น ทางราชการคงจะเห็นได้รวบรวมขึ้นไว้แล้ว แต่ถึงอย่างนั้นข้อความที่ข้าพเจ้าจะเล่า
ก็อาจเป็นส่วนประกอบเบ็ดเตล็ด (ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๕๗-๒๔๖๘) ตามทัศนะของเอกชนผู้ที่ได้ผ่านงานมากว่า ๒๕ ปี

โดยเหตุว่าเรื่องนี้เขียนจากความทรงจำ จึงต้องขออภัย หากมีผิดพลาดคลาดเคลื่อน บางทีจะมีประโยชน์แก่ผู้ใคร่รู้เรื่องเก่าๆ บ้าง
แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือเป็นอนุสรณ์แก่ผู้ทรงริเริ่ม คือพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปิยะมหาราช
บันทึกการเข้า
art47
องคต
*****
ตอบ: 739


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 09 มิ.ย. 12, 21:46

สภาพของโรงไฟฟ้าที่ได้เห็นครั้งแรก

เมื่อวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๗ เวลาเช้า ข้าพเจ้าได้ขึ้นรถรางจากปากตรอกวัดสามพระยาไปลงที่สี่แยกบ้านพายัพ ถนนราชวัตร
(คือถนนนครชัยศรี) รถรางสมัยนั้นไม่มีรถพ่วง แบ่งเป็น ๒ ชั้น ชั้นที่ ๑ มีเบาะปลอกขาวสะอาด ซึ่งไม่ใคร่แน่นนอกจากเวลามีงาน
ถึงชั้น ๒ ก็พอมีที่นั่งและยืนได้สบาย ถนนเวลานั้นยังไม่ได้ลาดยางแอสฟัลด์ สองข้างถนนถึงสะพานเทเวศน์ก็มีสภาพเหมือนปัจจุบันนี้
มีโรงแถวไม้ฝั่งตะวันออก เลยวัดอินทรวิหารไปไม่มีตลาด และไม่มีคนคับคั่ง ข้ามสะพานเทเวศร์ไปก็เป็นวังกรมหลวงราชบุรี
และกรมหลวงปราจิณ เป็นที่ว่างเป็นสวน เกือบจะเรียกได้ว่าไม่มีบ้านริมถนน ที่ที่เป็นเขตวังสวนกุหลาบและท่าวาสุกรีก็เป็นที่สวนที่บ้านญวน
มีป่าช้าพวกเข้ารีต ต้นไม้ครึ้ม หญ้ารก สวนสุนันทาก็ยังไม่แล้ว มีต้นก้ามปูเป็นดง ตอนสี่แยกซังฮี้ (ถนนราชวิถี) ฝั่งตะวันตกมีบ้านบ้าง
ใกล้สี่แยกสามเสนก็มีบ้านของพระสรรพการ (โรงพยาบาลวชิระ) เป็นบ้านใหญ่ที่สุดในย่านนั้น นอกจากนั้นก็เป็นบ้านเรือนไม่ใหญ่โต
อยู่ห่างๆ กัน วังสุโขทัยก็ยังเป็นที่สวน พอข้ามสะพานกิมเซ่งหลี (สะพานโสภณ) ก็เป็นที่สวนอีก มีบ้านฝรั่งทางตะวันออก ๒-๓ หลัง
การจราจรในถนนน้อย มีรถม้าและรถลาก (รถเจ๊ก) มากหน่อย รถยนต์มีน้อย คนเดินก็ไม่มาก

ที่สี่แยกบ้านพายัพ ข้าพเจ้าลงจากรถรางเดินไปตามถนน ซึ่งเกือบจะเรียกว่าถนนดิน ไปทางตะวันตก สองข้างถนนก็เป็นสวนอีก
สุดถนนเป็นแม่น้ำมีบ้านของกระทรวงมหาดไทย เรียกว่าบ้านพายัพ ข้าพเจ้าจำสภาพในครั้งนั้นได้ดี เพราะเกิดความกลัวเนื่องจาก
ความเปลี่ยวเปล่าของถนน มันช่างเงียบอะไรอย่างนั้น ผิดกับถนนแถบกระทรวงนครบาล (กระทรวงมหาดไทยบัดนี้) ลิบลับ เดินมาจนใกล้ถึง
แม่น้ำทางฝั่งเหนือของถนน เห็นหลังคาสังกะสีสูง และได้ยินเสียงและเห็นคนทำงานทางฝั่งใต้ของถนน เป็นกำแพงสูง มีประตูเหล็กใหญ่
คือ วังกรมหมื่นสรรควิสัยนฤบดี ซึ่งเป็นสำนักงานของโรงไฟฟ้าสุขาภิบาล ที่ข้าพเจ้าจะไปรายงานตัว

มองเข้าไปในประตู กำแพงซึ่งปิดอยู่ เห็นตัวตึกใหญ่ แต่ปิดประตูหน้าต่างหมด ไม่เห็นมีคนสักคนเดียวที่ตึกนั้น ข้าพเจ้านึกสงสัย
ชักกลัวว่าจะผิด เพราะสภาพที่ปรากฏนั้นประดุจดังว่า เป็นคฤหาสน์ร้างอันลึกลับ ข้าพเจ้าชักลังเลใจ จะเข้าไปดีหรือย่างไร
จะถามใครก็ไม่มีคน ตลอดทางที่ลงจากรถรางก็ไม่มีที่ใดสมจะเป็นวัง นอกจากที่นี่ หลังซองหนังสือนำส่งตัวของนายอีริค เซนต์เย. ลอสัน
ผู้บังคับการกรมกองตระเวน ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาข้าพเจ้า ก็เขียนเพียง "แจ้งความมายัง หลวงสวัสดิเวียงชัย ผู้อำนวยการโรงไฟฟ้าสุขาภิบาล"
ถามพวกเพื่อนเขาก็ชี้แจงว่าให้ไปที่วังพระองค์ดิลก ซึ่งตรงกับที่ที่ข้าพเจ้าเห็นอยู่นั้น

ข้าพเจ้ายืนดูอยู่ครู่หนึ่ง เมื่อไม่เห็นมีใครก็ทำใจกล้า เข้าไปในประตู เดินตามถนนที่เป็นวงโค้งหน้าตึกเข้าไปที่ประตู มีมุขที่จอดรถ
ประตูก็ปิดและไม่มีท่าทางว่าจะมีคน ข้างในเงียบสงัด ข้าพเจ้าคิดว่าคงจะมีคนเฝ้าอยู่ทางหลัง จึงเดินอ้อมไปทางลานหลังตึก ณ ที่นั้น
มีตึกชั้นเดียวลักษณะเป็นโรงรถ ห้องคนใช้ ครัว เห็นมีประตูเปิดอยู่จึงเดินไปที่ห้องนั้น ก็ได้พบนายแถบ จิตราคนี (หลวงสฤษดิ์บรรณาการ)
ซึ่งเคยรู้จักที่กรมสุขาภิบาล ณ ที่ห้องนี้เอง ที่ข้าพเจ้าได้ยื่นหนังสือนำส่งตัวแก่ท่านผู้อำนวยการ หลวงสวัสดิ์เวียงชัย
(พระยาสุขุมนัยวินิต (สวาท สุขุม)) และข้าพเจ้าก็ได้รับบรรจุเป็นนายเวรอยู่ในกองกลางแต่นั้นมา
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 10 มิ.ย. 12, 20:17

เล่มนี้เรื่องยาวนะท่าน ท้ายเล่มมีการหาแหล่งถ่านหินเคียนซา

มีแต่ตัวหนังสือเยอะแยะ เข้ามาช่วยแนบแผนที่ประกอบจักได้สนุกกับการเดินทาง .... เห็นสะพานกิมเซ่งหลีไหมพนาย  แลบลิ้น


บันทึกการเข้า
art47
องคต
*****
ตอบ: 739


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 10 มิ.ย. 12, 21:17

ท่านผู้อำนวยการที่ข้าพเจ้าพบครั้งนั้น ข้าพเจ้าเคยรู้จักมาก่อนแล้วตั้งแต่ท่านยังเป็นหนุ่มอยู่ที่บ้านวัดสามพระยา เห็นท่านที่งานวัดเบญจมบพิตร
ควงคู่กับสุภาพสตรีสาวสวยและทันสมัยที่สุดในยุคนั้น แต่ท่านไม่รู้จักข้าพเจ้า ในเวลาพบท่านที่สำนักงานนั้นท่านมีครอบครัวแล้ว
ท่านเป็นคนร่างเล็กและบอบบาง หน้ายิ้มแย้มแจ่มใสใจดีและสุภาพไม่ถือยศศักดิ์

ในสำนักงานนี้นอกจากท่านผู้อำนวยการแล้ว ก็มีผู้ช่วยผู้อำนวยการ (พระพินิตเลขา (เนียม สีตะบุตร)) ซึ่งเป็นผู้ชักนำให้ข้าพเจ้าให้ยื่นใบสมัคร
นับว่าท่านเป็นผู้มีอุปการคุณเบื้องต้นในการที่ข้าพเจ้าได้ทำงานในโรงไฟฟ้าหลวง งานของข้าพเจ้าก็มีการแปลหนังสือโต้ตอบภาษาอังกฤษ
ซึ่งมีศัพท์ใหม่ๆ ซึ่งไม่เคยรู้มากมาย ผิดกันทั้งสำนวนโวหารที่ข้าพเจ้าเคยชินเมื่อยอยู่กรมกองตระเวน แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือ ให้แปลสัญญา
และรายการก่อสร้างเป็นสมุดปกแข็งยาว ๑๒ นิ้วเศษ กว้างประมาณ ๘ นิ้ว หนาตั้ง ๑ นิ้ว สัญญานี้ทำกับบริษัท เอ. อี. ยี. (แอลจิเมน อิเล็กตริกซิตัส
เกสเชลชาฟต์) แห่งกรุงเบอร์ลินกับรัฐบาลสยาม กระทรวงนครบาล ลงนามโดยอัครราชทูตที่เบอร์ลิน (หม่อมเจ้าไตรทศประพันธ์ ภายหลังเลื่อน
เป็นกรมหมื่นเทววงศ์วโรทัย) กรมสุขาภิบาลเป็นเจ้าของเรื่อง และได้ลงนามกันมาตั้งปีกว่าก่อนงานก่อสร้างแล้ว ก็ไม่ยักแปลเสียแต่แรก
เพิ่งมาให้ข้าพเจ้าแปลในภายหลัง เมื่อย้ายจากกรมกองตระเวนยังไม่ทันถึงเดือน แต่ดีหน่อยที่ได้รับแจ้งว่าไม่เป็นการด่วน มีเวลาก็ทำ งานอื่นมี
ก็ทำงานอื่นก่อน ฉะนั้นข้าพเจ้าจึงทำบ้างหยุดบ้าง เพราะงานหนังสืออังกฤษก็มีทำกัน ๒ คน คือเลขานุการกับข้าพเจ้าเท่านั้น รวมทั้งพิมพ์
ลงทะเบียน และจัดให้นักการส่งเสร็จ

นอกจากนี้ข้าพเจ้ายังได้รับมอบหน้าที่ให้จัดระเบียบการเก็บหนังสือให้เป็นเรื่องหมวดหมู่ตามวิธีที่ใช้กันในสมัยนั้น งานในสำนักงานก็มีงานโต้ตอบ
ระหว่างผู้แทนบริษัท เอ. อี. ยี. ที่กรุงเทพฯ มีรายงานไปกรมสุขาภิบาลและกระทรวงนครบาล และงานเบ็ดเตล็ด มีแผนกบัญชี ซึ่งมี
นายตันบุญฮวดเป็นสมุห์บัญชี กับเสมียนอีกคนหนึ่งอยู่ห้องติดกัน ทั้งหมดดูเหมือนจะมีเสมียนพนักงานไม่ถึง ๑๐ คน
บันทึกการเข้า
art47
องคต
*****
ตอบ: 739


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 10 มิ.ย. 12, 21:33

ข้าพเจ้ารู้สึกเหงา เหี่ยวใจ ไม่สนุกในการทำงาน เงียบก็เงียบ เรื่องก็จืด ไม่เหมือนงานที่กรมกองตระเวน ซึ่งข้าพเจ้ามีตำแหน่งนายเวรเทียบเท่า
สารวัตรแขวง มีหน้าที่เป็นนายทะเบียนอาวุธปืน ตาม พ.ร.บ. ซึ่งเพิ่งออกใหม่ บังคับใช้ในกรุงเทพฯ เป็นตัวอย่างแห่งแรก และเป็นพนักงาน
หนังสือต่างประเทศ เพราะหนังสือราชการถึงกงสุล และห้างร้านต่างประเทศทำเป็นภาษาอังกฤษทั้งนั้น มิหนำซ้ำกลางวันก็หาอาหารรับประทาน
ได้ยาก มีแม่ค้าหาบเร่ ๒-๓ หาบ บางวันถ้าฝนตกก็ไม่มี ต้องออกไปหารับประทานที่ห้องแถวโรงสีกิมเซ่งหลี ริมถนนสามเสน ถ้าฝนตกก็ไปไม่ได้
ทำให้บังเกิดความอึดอัดไม่ชอบใจ คิดจะไปหางานที่อื่นต่อไปอีก

ในเวลาว่างๆ ข้าพเจ้าเข้าไปดูโรงจักร ซึ่งกำลังก่อสร้าง เห็นเครื่องจักรตั้งอยู่บนโรงแล้ว แต่เครื่องขนแกลบและยุ้งแกลบสำรองยังไม่เสร็จ งานส่วน
ใหญ่นับว่าเสร็จ ยังมีงานแม้จะไม่ใช่งานใหญ่ ก็เป็นงานจำเป็น เช่น การปักเสาพาดสาย ตั้งหม้อแปลง ฯลฯ อันเรียกได้ว่าเพิ่งเริ่ม นอกจากนี้การ
ปรับปรุงพื้นที่และอาคารที่สร้างแล้วก็ยังมีอีกมาก โรงไฟฟ้าเท่าที่จำได้ก็มีเท่านี้ แต่ดูเวลานั้นก็เป็นของใหญ่โตและแปลก ปล่องไฟทำด้วยเหล็ก
ไม่สูงใหญ่เท่าใด ถ้าเปรียบกับปล่องคอนกรีตที่สร้างขึ้นภายหลังก็นับว่าเล็กมาก

ข้าพเจ้าได้ทราบในเวลาต่อมาว่า ตึกใหญ่ที่ปิดนั้นยังมีพระศพเจ้าของวัง และทรัพย์สมบัติของท่านก็ยังไม่ได้ขนย้าย จึงต้องตั้งสำนักงานชั่วคราว
ขึ้นที่ตึกคนใช้ แต่เดิมนั้นงานเกี่ยวกับโรงไฟฟ้า กรมสุขาภิบาลเป็นผู้ดำเนินการ ครั้นเมื่องานจวนเสร็จ ก็ต้องมีเจ้าหน้าที่โดยเฉพาะเพื่อดำเนินการ
ตามลักษณะการพาณิชย์ ดังนั้นจึงได้แยกงานออกจากกรมสุขาภิบาล ตั้งสำนักงานขึ้นต่างหาก มีผู้อำนวยการเป็นผู้รับผิดชอบ ฉะนั้นการที่ข้าพเจ้า
เห็นมีพนักงาน ๔-๕ คนก็เป็นของธรรมดา เพราะในขณะนั้นทางผู้ใหญ่ก็สอดส่องกวดขันในเรื่องการใช้จ่ายของสำนักงาน แม้โต๊ะ เก้าอี้ ก็เป็น
ของกำมะลอ ทำด้วยไม้ฉำฉา ซึ่งเป็นหีบใส่เครื่องจักรมาแต่นอก โต๊ะผู้อำนวยการก็ไม่พิเศษอะไร ไม่มีเครื่องตบแต่ง มีเก้าอี้ไม้ก้นถักหวาย
สำหรับรับแขก ๒-๓ ตัว เท่านั้น

ท่านผู้อำนวยการและผู้ช่วยก็เป็นคนทำงานจริงๆ อยู่ที่ไหนๆ ถ้ามีหนังสือจะต้องเซ็นก็ตามไปให้เซ็นได้ ทำงานกันแต่เช้าจนเย็น ไม่ได้ไปไหน
เพระยิ่งนานวันเข้างานก็มากขึ้น การติดต่อก็ชักจะกว้างขวาง เสียงพิมพ์หนังสือทั้งไทยและฝรั่งก็ชัดดังไม่ใคร่ขาดเสียง จึงต้องมีผู้ช่วยพิมพ์อีก
๑ คน คือนายทาบ จิตราคนี (หลวงสมานอัคนี) ต่อมาก็มีพวกช่างไฟฟ้ามาทำงานช่าง เช่น นายหริ่ง ทรรทรานนท์ (พระวิชิตอัคคีการ) นายชั้น
ลวะเปารยะ (น.ท. พระชำนาญโทรกิจ) นายยิน อมาตยกุล (ขุนสรรพชวลิต)

เมื่อพระราชทานเพลิงพระศพเจ้าของวังแล้ว สำนักงานก็ได้ย้ายไปอยู่ที่ตึกใหญ่ กิจการก็เป็นรูปเจริญขึ้นทุกด้าน แต่ก่อนที่จะเล่าต่อไปถึง
การดำเนินงาน เห็นควรทราบพอสังเขปว่าโรงไฟฟ้าเกิดขึ้นเพราะเหตุใด ผู้ใดเป็นผู้ริเริ่ม
บันทึกการเข้า
art47
องคต
*****
ตอบ: 739


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 11 มิ.ย. 12, 09:44

มูลเหตุที่ตั้งโรงไฟฟ้า

ภายหลังรัชกาลที่ ๕ เสด็จกลับจากประพาสยุโรปเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๘ แล้ว ก็ได้ขยายเขตพระนครขึ้นมาทางเหนือ ตัดถนนใหญ่ๆ หลายสาย
และที่สำคญที่สุดก็คือการส้รางพระราชวังดุสิต อันประกอบด้วยพระที่นั่งและพระตำหนักเจ้านายฝ่ายในหลายหลัง มีพระที่นั่งอนันตสมาคมเป็นองค์ใหญ่
และงามที่สุด ในเวลานั้นการจำหน่ายไฟฟ้าเป็นการผูกขาดของบริษัทไฟฟ้าสยาม จำกัด มีเขตสัมปทานจดคลองบางลำภูฝั่งใต้ ไปตามลคลองทะลุ
แม่น้ำเจ้าพระยาที่คลองขุดใหม่ตอนล่าง (คลองผดุงกรุงเกษม) ในเขตดังกล่าวนี้บริษัทไฟฟ้าสยามมีสิทธิจำหน่ายไฟฟ้าได้แต่ผู้เดียว และรัฐบาล
รับซื้อสำหรับใช้ในพระราชวังและสถานที่ราชการต่างๆ จำนวนหนึ่ง ในราคาพิเศษ

ครั้นเมื่อบ้านเมืองขยายออกไปทุกด้าน จำนวนผู้ใช้ไฟก็มากขึ้น ทางเหนือไฟฟ้ามีไปถึงบางกระบือ ทางใต้ถึงถนนตก แต่เขตสัมปทานก็ยัง
มิได้ขยายตามไปด้วย ในการสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคม นายช่างไฟฟ้าได้คำนวณการประดับตกแต่งไฟฟ้าในพระที่นั่งแล้ว ประมาณว่ามี
จำนวนมากกว่าที่ใช้ในพระราชวังดุสิตหลายเท่า อนึ่งในระยะเวลานั้น กระทรวงนครบาลก็ได้รับพระบรมราชานุมัติให้สร้างการประปา สำหรับแจกจ่าย
เป็นสาธารณสงเคราะห์ ตั้งโรงสูบเครื่องกรอง ฯลฯ ที่ปลายถนนราชวัตร (ถนนนครชัยศรี) ทางตะวันออก อันจะต้องใช้กำลังไฟฟ้าสำหรับเครื่องยนต์
เป็นจำนวนมาก บริษัทไฟฟ้าเห็นว่ากำลังเครื่องทำไฟฟ้าเท่าที่มีอยู่ก็เต็มกำลังการจำหน่ายอยู่แล้ว หากมีไฟฟ้าใช้เพิ่มขึ้นอีกตามการคำนวณ
ก็ไม่สามารถส่งไฟฟ้าให้ได้ตามที่ต้องการ นอกจากจะต้องสั่งเครื่องไฟฟ้าเพิ่มเติมอีกและขอสัมปทาน ฯลฯ กับรัฐบาลใหม่ กระทรวงนครบาลอันมี
ท่านเจ้าพระยายมราชเป็นเสนาบดีให้พิจารณาปัญหานี้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง เห็นว่ารัฐบาลสมควรทำไฟฟ้าเสียงเองจะได้ประโยชน์และ
สะดวกกว่าให้บริษัททำ จึงได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลขอพระราชทานกระแสพระราชดำริ ก็ได้รับพระบรมราชานุญาตให้จัดทำไฟฟ้าเอง โรงไฟฟ้า
จึงได้เกิดขึ้น

เมื่อบริษัทไฟฟ้าได้ทราบพระราชประสงค์ บริษัทก็ยินดีเวนคืนการจำหน่ายไฟฟ้านอกเขตสัมปทาน ให้แก่กระทรวงนครบาล รัฐบาลจึงมีสิทธิตั้ง
โรงไฟฟ้าได้โดยไม่ผิดสัญญา ซึ่งรัฐบาลระวังนักที่จะรักษาให้เป็นที่เชื่อถือของชาวต่างประเทศ
บันทึกการเข้า
art47
องคต
*****
ตอบ: 739


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 11 มิ.ย. 12, 10:09

ในการวางโครงการสร้างโรงไฟฟ้านั้น นาย เอฟ. บี. ชอ ชาวอังกฤษ นายช่างไฟฟ้ากรมโยธา เป็นผู้คำนวณ โดยถือการต้องการของพระที่นั่ง
อนันตสมาคม กับการประปา ซึ่งนายแอล เดอ ลา โมโฮเตียร์ ชาวฝรั่งเศส นายช่างใหญ่สุขาภิบาล ผู้อำนวยการการสร้างประปาเป็นผู้คำนวณ
และกำหนดรายการต่างๆ ของเครื่องทำไฟฟ้า หม่อน้ำ ฯลฯ อย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้ว จึงเรียกประกวดราคา เมื่อรัชกาลที่ ๕ สวรรคตแล้ว
มีบริษัทต่างๆ ส่งรายการและราคาเข้าประกวดหลายราย ผลของการประกวด ได้แก่ บริษัท เอ. อี. ยี. แห่งกรุงเบอร์ลิน โดยเหตุที่การติดต่อ
สื่อสารในสมัยนั้นมีทางไปรษณีย์ส่งทางเรือกับโทรเลข ฉะนั้นจึงกินเวลานานเกือบ ๒ ปี กว่าจะตกลงทำสัญญากันได้ และการทำสัญญาครั้งนั้น
กระทรวงนครบาลก็มิได้ทำเอง แต่ขอให้อัครราชทูตลงนามแทน อัครราชทูตเป็นผู้ชำระเงินค่าสิ่งของตามที่ระบุไว้ในสัญญา กระทรวงพระคลัง
โอนเงินไปจ่ายเป็นเงินปอนด์ มีรายจ่ายเป็นเงินบาททางกรุงเทพฯ

การก่อสร้างโรงไฟฟ้าเริ่มตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๖ ในรัชกาลที่ ๖ ตามที่ได้รับพระบรมราชานุญาตในรัชกาลที่ ๕ และที่ตั้งโรงไฟฟ้าริมแม่น้ำ
กับโรงสูบน้ำการประปาก็อยู่ในถนนนครไชยศรี อันมีสายไฟฟ้าแรงสูงและท่อถ่ายน้ำล้างเครื่องกรอง เข้าใจว่าการตัดถนนสายนี้ก็เพื่อการติดต่อ
ระหว่างโรงไฟฟ้ากับโรงสูบการประปา เป็นการประสานงานกันอย่างเหมาะสม พิจารณา ณ บัดนี้ก็เห็นได้ชัดว่า พระราชดำริที่ทรงให้สร้างการประปา
นั้น เป็นการบำรุงสุขของประชาราษฎรโดยแท้ และตั้งแต่มีน้ำประปาสำหรับใช้แทนน้ำในแม่น้ำลำคลองแล้ว อหิวาตกโรคก็ไม่ระบาด เกิดขึ้นก็ปราบ
ระงับได้โดยง่าย นับว่าท่านผู้พระราชทานกำเนิดการประปาได้ทรงบำรุงราษฎรให้ปลอดภัยจากโรคร้ายได้สำเร็จ ส่วนการไฟฟ้านั้นเล่าก็เป็นอุปกรณ์
สำคัญสำหรับการประปา และเป็นประโยชน์ในทางอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจอย่างดี แต่ก่อนที่จะเห็นผลดังกล่าวนี้ ท่านผู้บริหารงานก็ต้องฝ่า
อุปสรรคนานาประการ ดังจะเล่าต่อไป
บันทึกการเข้า
Mae Chan
อสุรผัด
*
ตอบ: 3


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 16 ต.ค. 13, 16:23

บังเอิญได้อ่านหนังสือฉบับที่เจ้าพระยายมราช ทำขึ้นทูลเกล้าถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ เกี่ยวกับความเห็นในเรื่องการตั้งโรงไฟฟ้าแล้วความยาวกว่า 15 หน้า แล้วมีความประทับใจในการปฏิบัติราชการโดยไม่ย่อท้อ มีการพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการไทย หรือชาวต่างประเทศที่รับราชการอยู่ในขณะนั้น มาลองดูเนื้อความที่ว่ากัน
         
          เจ้าพระยายมราช ได้มอบหมายให้นายแอฟ. บี. ชอ ช่างไฟฟ้าในกองก่อสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคมดำเนินการประมาณการเปรียบเทียบข้อดี ข้อเสีย ความคุ้มทุน นายช่างแอฟ. บี. ชอ ได้จัดทำรายงานการประมาณการและความเห็นยืนยันว่า การจัดตั้งโรงไฟฟ้าเองโดยมีขนาดกำลังผลิต ๑,๐๐๐ กิโลวัตต์ ( สำหรับความต้องการใช้ไฟ ๑๑๒,๐๐๐ ยูนิตต่อปี ) จะประหยัดและคุ้มค่ากว่าการซื้อไฟฟ้าจากเอกชน
           จากนั้นมองซิเออร์ เอ. โอดางต์ ได้พิจารณารายงานฉบับนี้แล้ว ทำการศึกษาข้อมูลการใช้ไฟย้อนหลังพบว่ามีความต้องการใช้ไฟสูงขึ้นเรื่อยๆ พร้อมเปรียบเทียบราคาค่าไฟฟ้าต่อยูนิตในกรณีซื้อจากบริษัทกับราคาที่จะผลิตเอง แล้วจึงสรุปเป็นความเห็นว่าหากจะต้องสร้างโรงไฟฟ้าแล้วต้องสร้างโรงไฟฟ้าขนาดกำลังผลิต ๑,๒๐๐ กิโลวัตต์ ( สำหรับความต้องการใช้ไฟ ๓,๐๐๐,๐๐๐ ยูนิตต่อปี ) แต่ทั้งนี้ไม่แน่ใจเรื่องราคาต้นทุนต่อยูนิต 
   นายแอฟ. บี. ชอ จึงได้จัดทำรายงานเพิ่มเติมมาอีกครั้งเปรียบเทียบข้อดี  ข้อเสียโดยเน้นย้ำเรื่องเครื่องจักรของบริษัทซึ่งเป็นแบบเก่าเหมาะกับการจ่ายไฟส่องสว่างไม่เหมาะกับโรงประปาและโรงทำฝิ่น พร้อมยืนยันว่าโรงไฟฟ้าขนาด ๑,๐๐๐ กิโลวัตต์น่าจะพอเพียงต่อความต้องการ     
             มองซิเออร์ ดีดีเอ ช่างในกรมศุขาภิบาลได้รับมอบหมายให้ตรวจรายงานของนายช่างทั้งสอง แล้วมีความเห็นว่า สิ่งที่จะต้องพิจารณาคือ ผลกระทบที่จะเกิดในระยะสั้นและระยะยาว ในระยะสั้นเป็นการพิจารณาในแง่ความประหยัด  ส่วนในระยะยาวเป็นการพิจารณาในเรื่องความเป็นอิสระ เพราะเมื่อได้ทำการเทียบเคียงราคาก็เห็นว่าราคาไล่เลี่ยกัน  ความปรากฏดังนี้ “ จะถือความมัธยัดหรือความเปนอิศรแก่การ ถ้าคิดว่าประปาเปนการใหญ่แลเปนการสำคัญของบ้านเมือง ก็ไม่ควรให้แรงไฟฟ้าซึ่งเปนกำลังทำการอันสำคัญไปอยู่ในมือผู้อื่น.... แต่ถ้าจะเดินทางมัธยัดก็ควรซื้อแต่ต้องได้ความมั่นคงเพียงพอ......การประปาแต่เดิมก็กะว่าจะถือความมัธยัดเปนหลัก แต่ทางเดินของราชการก็บ่งให้ถือความเปนอิศร เช่นในตำบลที่ใกล้เคียงเหล่านี้มีโรงทำเครื่องไฟฟ้าของรัฐบาลเองแล้วถึง ๒ แห่ง คือ ของกรมทหาร ๑ ของกรมรถไฟ ๑ ยังจะมีที่บริเวณสวนดุสิต ๑ รวม ๓ โรงดังนี้ โดยเฉภาะประปาก็ชอบด้วยเหตุผล เมื่อมีโอกาสให้ได้ความมัธยัดและความเปนอิศรของการเช่นนี้ ถึงจะเสียค่าแรงไฟแพงขึ้นอีกบ้างจากราคาบริษัทขายก็ควรใช้ ด้วยการสำคัญมิได้ตกอยู่ในมือผู้อื่น แลทั้งเปนบริษัทต่างประเทศ แต่ถ้ามีเหตุพลาดพลั้งในการที่คิดนี้ การประปาก็คงตามหลังไปด้วยไม่น้อยเหมือนกัน ”             
            เจ้าพระยายมราช เสนาบดีกระทรวงนครบาล จึงได้สรุปความเห็น ๖ ข้อดังนี้
“ (๑)  ถ้าคิดจะทำควรคิดเสียในเวลานี้ เพราะต่อไปจะได้ความลำบากยิ่งขึ้น จึ่งเห็นว่าควรคิด
   (๒) ประเทศอื่น โดยเฉภาะประเทศยี่ปุ่น เขาพยายามที่จะเหนี่ยวการสำคัญให้กลับมาอยู่ในมือทุกอย่าง ตลอดจนการตั้งธนาคาร ทำไมเราจะไม่คิดเหนี่ยวการสำคัญกลับมาบ้าง
   (๓) การอื่น ๆ บางอย่างที่คิดยังเพียงแต่คะเนว่าจะได้ ก็ยังต้องคิด นี่เปนสิ่งซึ่งเห็นได้ว่าจะได้จริง มิใช่คาดคะเน เพราะรู้จากการจ่ายเงินแลการตรวจแรงไฟอยู่ทุก ๆ เดือน
   (๔) โดยเฉภาะประปาแล้ว ถึงว่าจะซื้อได้ราคาต่ำแลมีสัญญากันแน่นอน ก็ยังจะต้องทำสัญญากันให้นานปี ตามควรที่บริษัทจะต้องลงทุนเปลี่ยนแปลงการสำหรับที่จะส่งแรงไฟให้ประปา การทำสัญญากับบริษัทตามที่เปนมาแล้ว ในเวลาที่ทำเราก็นึกว่าดีที่สุดสำหรับเวลานั้น แต่เมื่อการล่วงไปนาน ๆ ก็ยังมีช่องที่ให้เกิดความขัดข้องได้ต่างๆ ถ้ายิ่งการสำคัญเช่นประปาก็จะยิ่งเดือดร้อนหนักขึ้น ถ้าเมื่อมีช่องทางที่จะเปนทางให้บีบคั้น คือ ขึ้นราคาหรืออย่างใดได้ แลเปนธรรมดาที่เขาคงจะทำเมื่อมีทางเพื่อหมายประโยชน์ ทั้งไม่มีทางที่จะยักย้ายไปซื้อหรือหาที่อื่นได้ทันที ก็เมื่อรู้สึกแลได้เคยมาแล้วในความลำบากต่อสิ่งซึ่งแลไม่เห็นในเวลาแรกเช่นนี้ ควรหรือที่เราจะไม่คิดหลีกความลำบากของการซื้อของที่มีผู้ขายแห่งเดียวก็ได้รู้สึกอยู่เฉภาะเวลานี้แล้ว คือ เรื่องจะติดโคมถนนราชดำเนินกลางเปนตัวอย่าง บริษัทรู้ว่าเราต้องการเร็ว แลนอกจากบริษัทนี้ก็ไม่มีทางจะซื้อได้จากไหน จึงตั้งราคาให้แพงไว้เพื่อว่ากล่าวเอาบุญคุณหรือแลกเปลี่ยน ถ้ายิ่งการสำคัญราคาของความขัดข้องก็ยิ่งขึ้นตามส่วนเช่นนี้เปนต้น
   (๕) เมื่อทางเดินอันเปนที่แน่ใจได้ตั้งลงว่าจะทำเองแล้ว ข้อสงสัยไสยอันเปนของที่จะต้องมีก็ไม่ควรคิดระแวงจนเกินไป ข้อที่จะคิดก้เพียงแต่ว่าของใช้ที่เปนของเราเองกบของที่เช่าเขามาใช้ใครจะดีกว่ากัน
   (๖) จึงเห็นว่า สมควรจะทำแลต้องทำ ส่วนทุนรอนแลที่ทางนั้นเมื่อได้รับพระราชทานวินิจฉัยแล้ว จึงคิดตอนที่สองเปนรายการอีกส่วนหนึ่ง”
      นี่คือ ตัวอย่างหนึ่ง ของข้าราชการที่ดี ทีควรถือเปนตัวอย่าง   

บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.054 วินาที กับ 19 คำสั่ง