เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
อ่าน: 15003 ขออนุญาตเรียนถามความรู้เรื่อง "วรรณกรรมจากทัณฑสถาน" ครับผม
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


 เมื่อ 08 มิ.ย. 12, 14:35

เรียนท่านอาจารย์เทาชมพู ตลอดจนท่านผู้ทรงคุณวุฒิทุกๆท่านที่เคารพยิ่ง ณ เว็ปไซต์เรือนไทยครับ

   ขณะนี้ ผมกำลังฟังหนังสือเสียงเรื่อง “ขัง ๘” อยู่ครับ แรกทีเดียว เข้าใจว่า ประสบการณ์ของ “ดาวไสว ไพจิตร” ในทัณฑสถานหญิงเป็นเรื่องจริงเสียอีก ต่อมา ใช้อินทรเนตรค้นหา จึงพบว่า แท้แล้ว “ขัง ๘” คือนวนิยายจากปลายปากกาของนักเขียนผู้ประพันธ์ผลงานอย่าง “ชุมแพ”, “ไผ่กำเพลิง” ฯลฯ อันระบือลือลั่นนั่นเอง ทว่าถึงขัง ๘ จะเป็นเรื่องแต่ง แต่ผู้ประพันธ์ท่านก็เคยต้องคดี “กบฏสันติภาพ” และถูกจองจำมาแล้ว เมื่อทราบประวัติของท่านคร่าวๆ ผมก็เกิดแรงบันดาลใจใคร่รู้เรื่องหนึ่งขึ้นมาครับ

แม้ว่า    “คุก” เปรียบเสมือนนรกบนดิน กักขังอิสรภาพทางร่างกายของมนุษย์ หาก “คุก” ก็มิอาจหน่วงเหนี่ยวเสรีภาพทางใจของผู้ใดได้ วรรณกรรมหลายเรื่องเกิดขึ้นจากคุก หรือมิฉะนั้น ผู้เขียนก็ได้แรงบันดาลใจจากการต้องทัณฑกรรมใน คุก ผมไม่ทราบจริงๆครับว่ากรมราชทัณฑ์เคยจัดนิทรรศการแสดงผลงานวรรณกรรมจากทัณฑสถานบ้างหรือไม่ เคยได้ยินแต่จัดจำหน่ายสินค้าที่ประดิษฐ์จากฝีมือผู้ต้องขังครับ ถ้าหากจัดจริงๆ คงมีหนังสือหลายเล่ม ทั้งตำราวิชาการ นวนิยาย บทกวี สารคดี ฯลฯผมพยายามนึกรายนามวรรณกรรมอันมีต้นกำเนิดจากแดนตะราง แต่ก็นึกได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้นครับ อาทิพจนานุกรมไทย/อังกฤษ ของท่าน ส. เศรษฐบุตร งานหลากหลายชิ้นของท่านจิตร ภูมิศักดิ์ เช่น “ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ”นวนิยายแปลเรื่อง “แม่” ของท่านแมกซิม กอกี้ บทกวีในนามปากกา “กวีการเมือง” “กวีศรีสยาม” เคยได้รับข้อมูลว่า นวนิยาย “ภูตพิศวาส” ของท่านสุวัฒน์ วรดิลก ก็กำเนิดขึ้นในคุก (ถ้าผิดพลาด ผมกราบขออภัยด้วยครับ) นอกจากนั้นแล้วยังนึกไม่ออก จึงตั้งกระทู้นี้ขึ้นเพื่อขอวิทยาทานจากทุกท่านครับ ท่านใดทราบว่า วรรณกรรมเรื่องไหนบ้าง เขียนขึ้นในคุก หรือผู้เขียนได้แรงบันดาลใจจากคุก โปรดเมตตาให้ความรู้ผมผู้มืดมนทางปัญญาด้วยเถิดครับ

ขอแสดงความนับถืออย่างสูงยิ่ง
ชูพงค์ ตรีวัฒน์สุวรรณ


บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 08 มิ.ย. 12, 15:04

เรียนคุณชูพงค์

ผลงานเกี่ยวกับเรื่องคุก มีนักเขียนท่านหนึ่งที่ผมมีหนังสืออยู่คือ ชีวิตในพันธนาการ - คุก จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์สารคดี

เป็นเรื่องราวที่บอกเล่าผ่านจากเรื่องจริงจากหลาย ๆ คนที่ผ่านการเข้าในคุก เหตุและคดีต่าง ๆ อ่านแล้วก็รับรู้เรื่องราวได้เป็นอย่างดี

นักเขียนท่านนี้ชื่อว่า คุณอรสม สุทธิสาคร ซึ่งเป็นนักเขียนที่ท้าทายกระแสสังคมในยุคนั้น นอกจากนี้ท่านยังได้เขียนหนังสืออีกมากมาย เช่น สนิมดอกไม้, มือปืน ซึ่งการเขียนเรื่องพวกนี้ท่านต้องเข้าไปสัมภาษณ์มือปืน โสเภณี คนคุก ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่ผู้หญิงคนหนึ่งจะเข้าไปหาข้อมูล

คุณอรสม สุทธิสาคร พื้นเพเป็นคนจังหวัดจันทบุรี ท่านเขียนหนังสือเชิงสารคดี ไม่ใช่เขียนนิยาย ซึ่งการเขียนแนวสารคดี

ท่านเคยให้สัมภาษณ์ว่า “เริ่มจากการวางแผนล่วงหน้า ปกติจะวางแผนล่วงหน้า ๒ ปี สมมุติว่าปี ๒๕๔๖ ก็จะมองไปแล้วถึงปี ๔๘ ว่าเรื่องที่จะทำคืออะไร ตรงนี้มัน สำคัญสำหรับนักเขียนที่ทำเป็นอาชีพแล้ว”
การเลือกเรื่อง “เราจะเลือกเรื่องที่เราสนใจ เพราะว่าถ้าไม่สนใจ ไม่รักแล้วจะไม่มีแรงบันดาลใจ โดยส่วนตัวถือว่าความรักเป็นแรงบันดาลใจที่เอกอุมาก เมื่อเราเลือกเรื่องได้แล้ว เราเริ่มสนุกกับมัน เราก็จะวางแผนงานว่าถ้าทำ
เรื่องนี้ โครงเรื่องจะประมาณไหน” ตัวอย่างสารคดีเรื่อง มือปืน “ขั้นแรกเลยต้องถามตัวเองว่าอยากทำเพราะอะไร หลักในการทำงานเขียนสารคดีของเรา คือ อยากให้คนอ่านรู้เท่าทันชีวิต และใช้ชีวิตด้วยความไม่ประมาท และให้บทเรียนที่ผิดและพลาดไปแล้วของคนที่อาจจะเป็นคนในมุมมืดของสังคมให้เป็นเสมือนครู เป็นบทเรียนที่มีค่า เป็นครูที่ยิ่งใหญ่ เพราะเราเรียนรู้จากความเป็นจริง”
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 08 มิ.ย. 12, 15:08

ส่วนบทความนี้ขอคัดลอกจากหน้าหนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก ครับ

เปลือยชีวิต13นักโทษประหาร

"อิสรภาพบนเส้นบรรทัด" เปลือยชีวิต13นักโทษประหาร : โต๊ะรายงานพิเศษ



                   ไม่บ่อยนักที่นักโทษประหารจะมีโอกาสถ่ายทอดเรื่องราวภายในสถานที่คุมขังเด็ดขาดใน "คุกบางขวาง" ผ่านงานเขียนเผยแพร่สู่สายตาสาธารณชน หลังจากบรรดานักโทษกว่า 30 ชีวิต ผ่านการฝึกฝนจากนักเขียนสารคดีระดับแนวหน้าของประเทศ แล้วคัดเหลือเพียง "นักเขียน-นักโทษ" ฝีมือคุณภาพ 13 คน ตามโครงการฝึกอบรม "เรื่องเล่าจากแดนประหาร" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในโครงการกำลังใจ ของสำนักกิจการในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ที่ต้องการเสริมสร้างกำลังใจให้แก่นักโทษประหาร และเป็นการพัฒนาศักยภาพด้านงานเขียนเชิงสร้างสรรค์ไปในคราวเดียวกัน

"นัทธี จิตสว่าง" ที่ปรึกษาโครงการกำลังใจในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เล่าถึงโครงการนี้ว่า เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2553-มีนาคม 2554 โดยสำนักกิจการในพระดำริฯ ร่วมกับเครือข่ายพุทธกาเพื่อพระพุทธศาสนาและสังคม นำคณะนักเขียนที่มีชื่อเสียงเช่น อรสม สุทธิสาคร, วิวัฒน์ พันธวุฒิยานนท์, วีระศักดิ์ จันทร์ส่องแสง, พระไพศาล วิสาโล, ประมวล เพ็งจันทร์, เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์, ศักดิ์ศิริ มีสมสืบ, ไพวรินทร์ ขาวงาม, ศุ บุญเลี้ยง และดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ มาฝึกอบรมงานเขียนเชิงสร้างสรรค์ให้นักโทษในเรือนจำบางขวาง

การฝึกอบรมงานเขียนดังกล่าวใช้เวลาทุกๆ วันจันทร์ เป็นเวลา 4 เดือน โดยได้คัดเลือกนักโทษที่มีแววในการเขียนจำนวน 30 คน มาฝึกฝนขัดเกลาจนสามารถเขียนงานออกมาได้ดี หลังจากนั้นจึงคัดเลือกงานเขียนของนักโทษเหลือ 13 เรื่อง แล้วนำไปตีพิมพ์เป็นหนังสือ “อิสรภาพบนเส้นบรรทัด 13 นักโทษประหาร” ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักพิมพ์สารคดีในการจัดพิมพ์และวางจำหน่ายให้ โดยรายได้ส่วนหนึ่งจะนำเข้าสมทบทุนในโครงการกำลังใจฯ ต่อไป
       
                    “เรื่องราวในหนังสืออิสรภาพบนเส้นบรรทัดฯ ทั้งหมด เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในคุก ตัวนักโทษเป็นผู้เขียนเล่าเรื่องเอง เชื่อว่าผู้ที่มีโอกาสได้อ่านหนังสือเล่มนี้จะได้ประโยชน์และได้แง่คิดในการยับยั้งชั่งใจไม่ให้ตัวเองกระทำผิด” นัทธี บอก
        และเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม ที่ผ่านมา กระทรวงยุติธรรม และกรมราชทัณฑ์ เปิดคุกแดน 14 เรือนจำบางขวาง เปิดตัวหนังสือ "อิสรภาพบนเส้นบรรทัด 13 นักโทษประหาร" มีโอกาสพบปะนักเขียนทั้ง 13 ชีวิตอย่างใกล้ชิด และหนึ่งในนั้นคือ  นพ.วิสุทธิ์ บุญเกษมสันติ นักโทษในคดีฆาตกรรม พญ.ผัสพร บุญเกษมสันติ ซึ่งเคยเป็นคดีดังเมื่อหลายปีก่อน
       
                    นพ.วิสุทธิ์ เจ้าของนามปากกา “หมอธรรมดา” เจ้าของงานเขียนเรื่อง “ชีวิตคือการเรียนรู้” ตีพิมพ์ในหนังสืออิสรภาพบนเส้นบรรทัดฯ เป็นเรื่องที่ 6 เล่าถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นในคุกที่เป็นประสบการณ์ใหม่ที่ตัวเขาจะต้องเรียนรู้หลังชีวิตหมดอิสรภาพ แม้กระทั่งวิธีการถอดกางเกงขณะที่ขาทั้งสองข้างถูกพันธนาการด้วยโซ่ตรวน ล้วนเป็นสิ่งที่เขาต้องเรียนรู้ใหม่
       
                    นพ.วิสุทธิ์ สะท้อนอีกว่า ไม่คิดว่าจะมีโอกาสได้เป็นนักเขียนทั้งที่ยังถูกจองจำอยู่ในคุก ต้องขอบคุณกระทรวงยุติธรรม และผู้ที่เกี่ยวข้องที่ให้โอกาส ที่ผ่านมาหลายคนอาจคิดว่า เป็นนักโทษประหารแล้วไร้ความหมายไม่จำเป็นต้องพัฒนา ต้องก้มหน้ารับกรรมรอความตาย แต่ความจริงไม่เป็นเช่นนั้น กลับมีการให้โอกาสได้ฝึกฝน
       
                    “ตลอดระยะเวลา 4 เดือนที่ผมและเพื่อนอีก 30 ชีวิตอยู่ระหว่างการฝึกอบรมงานเขียน ช่วงเวลาที่เราจะรอคอยทุกสัปดาห์ คือวันจันทร์เช้าถึงบ่าย เพราะจะได้มีโอกาสฝึกฝนงานเขียน มีโอกาสได้พบกับนักเขียนมืออาชีพที่มาช่วยฝึกอบรมให้เราเขียนเป็น กระทั่งวันนี้มีโอกาสได้เห็นงานเขียนของตัวเองได้ตีพิมพ์เป็นหนังสือทำให้รู้สึกมีกำลังใจมากขึ้น” นพ.วิสุทธิ์ ขยายความ
       
                    นอกจากนี้ยังมีนักโทษซึ่งศาลพิพากษาให้ประหารชีวิตอีก 12 คนที่มีโอกาสได้กลายเป็นนักเขียน โดยแต่ละคนได้กลั่นกรองประสบการณ์ชีวิตในเรือนจำบางขวางมาถ่ายทอดผ่านตัวหนังสือ และเลือกที่จะใช้นามปากกาแทนการเปิดเผยชื่อและนามสกุลจริง
       
                    "ปลาช่อน" นามปากกาของอดีต “จ่าสิบตำรวจ” มือสืบสวนของตำรวจปราบปรามยาเสพติด ซึ่งจับพลัดจับผลูกลายเป็นนักโทษประหารในคดีค้ายาเสพติด ซึ่งได้เปลือยชีวิตเรื่องราวในคุกผ่านงานเขียนเรื่อง “นกในเรือนจำนรกในเรือนใจ” บอกว่า ติดคุกมาแล้ว 9 ปี จนทุกวันนี้ปลงในชะตาชีวิต หันหน้าพึ่งพระธรรมจนเพื่อนนักโทษพากันเรียกว่า “มัคนายกวัดบางขวาง” ไปกันหมดแล้ว ไม่คิดว่าวันหนึ่งจะมีโอกาสได้เป็นนักเขียน 
       
                    “เรื่องราวที่นำมาเขียนเป็นการแฉถึงการแอบใช้โทรศัพท์ของนักโทษในเรือนจำบางขวาง ซึ่งเป็นเรื่องจริงที่ผมเห็นมากับตา ไม่ได้ต่อเติมเสริมแต่งใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งในเรือนจำห้ามเด็ดขาดไม่ให้นักโทษแอบใช้โทรศัพท์ แต่ก็มีการฝ่าฝืน ซึ่งผู้ฝ่าฝืนก็จะถูกลงโทษ” นักโทษประหารที่มีโอกาสได้เป็นนักเขียนเจ้าของนามปากกา "ปลาช่อน" บอก
       
                    “พิมเสน” นามปากกาของนักโทษประหาร เจ้าของผลงานเขียนเรื่อง “อยู่คุก(ก็ได้)ขี่เบนซ์” เป็นอีกคนที่ไม่เคยคิดว่าชั่วชีวิตจะได้มีโอกาสเป็นนักเขียน โดยเรื่องราวที่เขาเขียนถึงเป็นการแฉการกระทำของนักโทษในเรือนจำบางขวางที่ตกอยู่ในสภาพไม่แตกต่างจากตัวเขา
       
                    “คำว่าขี่เบนซ์ ในคุกนั้นไม่ใช่การขับรถเบนซ์อย่างที่คนภายนอกเข้าใจ แต่เป็นการกระทำกับอวัยวะเพศ เพื่อให้ผิดรูปไปจากเดิม ซึ่งเป็นเรื่องกิเลสของมนุษย์ ที่คนในคุกต่างเชื่อกันว่าผ่าเบนซ์แล้วจะทำให้ผู้หญิงชอบ ทั้งที่ความจริงแล้วไม่รู้ว่าจะได้มีโอกาสใช้มันหรือไม่" พิมเสน บอก
       
                    เรื่องราวที่กลั่นกรองจากชีวิตจริงจากนักโทษประหารทั้ง 13 คน ถ่ายทอดผ่านตัวหนังสือ รวบรวมไว้ในหนังสือ “อิสรภาพบนเส้นบรรทัด 13 นักโทษประหาร” กรมราชทัณฑ์ และกระทรวงยุติธรรม คาดหวังว่าจะเป็นอุทาหรณ์ให้ผู้ที่มีโอกาสได้อ่านได้รับรู้รับทราบถึงเรื่องราวของชีวิตหลังหมดอิสรภาพ เพื่อให้เกิดความยับยั่งชั่งคิดในการดำรงชีวิตแต่ละวัน โดยหนังสือเล่มนี้หาซื้อได้

ที่มา http://www.komchadluek.net/detail/20111217/117915/%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%9513%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B9%82%E0%B8%97%E0%B8%A9%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A3.html
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 08 มิ.ย. 12, 15:14

กวีจากทัณฑสถาน

ในสมัยก่อน สุนทรภู่ กวีแห่งกรุงรัตโกสินทร์ก็ใช้เวลาว่างจากการอยู่ในคุก เขียนกลอนตลาดเป็นตอน ๆ ออกมาขาย ซึ่งคือ "พระอภัยมณี"

ในสมัยก้าวหน้าทางความคิด จิตร ภูมิศักดิ์ ก็ได้ใช้เวลาต่าง ๆ เขียนบทความ บทเพลง ออกจากคุก เช่น กวีบทที่ชื่อ "แสงดาวแห่งศรัทธา"

พร่างพรายแสง ดวงดาวน้อยสกาว
ส่องฟากฟ้า เด่นพราวไกลแสนไกล
ดั่งโคมทอง ส่องเรืองรุ้งในหทัย
เหมือนธงชัย ส่องนำจากห้วงทุกข์ทน
พายุฟ้า ครืนข่มคุกคาม
เดือนลับยาม แผ่นดินมืดมน
ดาวศรัทธา ยังส่องแสงเบื้องบน
ปลุกหัวใจ ปลุกคนอยู่มิวาย
ขอเยาะเย้ย ทุกข์ยากขวากหนามลำเค็ญ
คนยังคง ยืนเด่นโดยท้าทาย แม้นผืนฟ้า
มืดดับเดือนลับมลาย ดาวยังพราย
ศรัทธาเย้ยฟ้าดิน ดาวยังพราย อยู่จนฟ้ารุ่งราง..
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 08 มิ.ย. 12, 15:30

ผมมีหนังสือที่เขียนเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ในเรือนจำ (คำนี้ฟังดูดีกว่า คุก)
ชื่อ "คอมมิวนิสต์ลาดยาว"  คุณทองใบ  ทองเปาด์  ทนายรางวัลแมกไซไซ
เป็นผู้เขียน  เล่าเรื่องบรรยากาศของผู้ต้องหาที่ต้องถูกจำที่เรือนจำลาดยาว
ด้วยข้อหากระทำการอันเป็นคอมมิวนิสต์   หนังสือเล่มนี้ผมเคยอ่านเมื่อเรียนมหาวิทยาลัย
แต่อ่านไม่จบ  เพราะหนังสือหนาหลายหน้า และต้องเอาเวลาไปอ่านหนังสือเรื่องอื่นๆ ต่อ
เคยพยายามหาซื้อหนังสือนี้  แต่ก็หาซื้อไม่ได้  จะถ่ายสำเนาทั้งเล่ม ก็หลายบาท
จึงรั้งรอมาจนกระทั่งทนายทองใบ ถึงแก่กรรมด้วยปัจจุบันโรค   หลังจากนั้นไม่นาน
ผมก็ได้หนังสือคอมมิวนิสต์ลาดยาวมาครอบครอง (เป็นโชคดีภายหลังน้ำท่วมห้องเก็บหนังสือ
ที่บ้านแห้งไปหมาดๆ)  ทีนี้ได้อ่านจบ  ชอบหนังสือเล่มนี้มาก   อ่านไปก็นึกคนเขียนว่า
ถ่ายทอดได้สนุกสนานและน่าเห็นใจในเวลาเดียวกัน

ตอนนี้หนังสือไม่อยู่ในมือ   ต้องไปเปิดโรงนา เอ๊ย ห้องหนังสือที่บูรณะใหม่ก่อน
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 08 มิ.ย. 12, 15:49

ในสมัยก้าวหน้าทางความคิด จิตร ภูมิศักดิ์ ก็ได้ใช้เวลาต่าง ๆ เขียนบทความ บทเพลง ออกจากคุก เช่น กวีบทที่ชื่อ "แสงดาวแห่งศรัทธา"

คุกขังเขาได้ แต่หัวใจอย่าปรารถนา

ผลงานสำคัญของจิตรระหว่างอยู่ในคุก

ความเป็นมาของคำสยาม, ไทย, ลาว และ ขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 08 มิ.ย. 12, 15:52

บางส่วนจาก คำนำ โดย อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๙



บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 08 มิ.ย. 12, 15:58

          รพีพร (สุวัฒน์ วรดิลก) ซึ่งถูกจับกุมพร้อมภริยา(ใจ ยาจก) - เพ็ญศรี พุ่มชูศรี
สร้างบทละครโทรทัศน์เรื่องขุนศึก ในระหว่างถูกจองจำ โดยใช้นามแฝง

http://www.manager.co.th/drama/ViewNews.aspx?NewsID=9550000059204

             ปี 2502 ขุนศึกเป็นละครโทรทัศน์สมัยช่อง 4 บางขุนพรหม

             อารีย์ นักดนตรี(ผู้รับบทแม่หญิงเรไร) เคยเล่าผ่านทีมสกู๊ปพิเศษของ ASTV ผู้จัดการออนไลน์ว่า

             คนที่รู้ว่า “สุวัฒน์ วรดิลก” (รพีพร - ล่วงลับแล้ว) เป็นคนเขียนบทโทรทัศน์ในสมัยนั้นมีเพียง 4 คน
คือ ครูสัมพันธ์(ผู้จัด) - สกล พันธุ์มณี, อารีย์ นักดนตรี และกำธร สุวรรณปิยะศิริเท่านั้น แม้แต่จำนง รังสิกุล
(หัวหน้าฝ่ายผลิตรายการ) ก็ไม่ทราบ …
      
             เมื่อปี พ.ศ. 2500 สุวัฒน์ วรดิลกได้นำคณะศิลปินไทย เดินทางไปแสดงที่ประเทศจีน
รัฐบาลไทยขณะนั้นมีนโยบายต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ ประจวบกับเดินทางกลับมาในช่วงที่ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
ทำการปฏิวัติล้มอำนาจ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ส่งผลให้นักเขียนอย่างสุวัฒน์ถูกจับกุมคุมขังเป็นเวลา 4 ปี
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 08 มิ.ย. 12, 16:02

           “ตอนนั้น คุณสุวัฒน์ต้องลหุโทษอยู่ในคุก เรื่องนี้แม้แต่นายก็ไม่ทราบเรื่อง เพราะช่อง 4
เป็นสถานีโทรทัศน์ของรัฐบาล ถ้าความลับนี้หลุดออกไปจะเป็นอย่างไร สำหรับนาย เราคิดว่า ถ้านายรู้
อาจจะไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย แต่ท่านอาจจะตำหนิว่า ทำงานล่อแหลมและเสี่ยงเกินไปเท่านั้นเอง
แต่ถ้ารัฐบาลรู้จะเดือดร้อนกันใหญ่”
       
             ละครขุนศึก เรื่องนี้ สุวัฒน์ วรดิลก ใช้นามแฝง “สุมทุม บุญเกื้อ” ในการเขียนบทโทรทัศน์
ชื่อ “สุมทุม” นี้คือ น้องชายของไม้เมืองเดิม
             คืนหนึ่ง ทั้ง 4 คนนัดแนะกันไปหาสุมทุม บุญเกื้อ เพื่อให้สมอ้างว่า เป็นคนเขียนบท
เจ้าตัวอนุญาตให้ใช้ชื่อได้ แต่มีข้อแม้ว่า ขอตรวจบทละครโทรทัศน์ก่อนทุกครั้ง ขณะเดียวกันก็ติดต่อ
กับสุวัฒน์ผ่านทางน้องสาวที่ชื่อ “น้อย” ซึ่งเป็นครูสอนหนังสืออยู่ที่โรงเรียนดรุโณทยาน ครูน้อยได้นำ
เอาจดหมายของครูสัมพันธ์ซ่อนไว้ใส่ก้นปิ่นโตเข้าไปให้ ในจดหมายฉบับนั้นแจ้งความประสงค์ และ
แจ้งตัวนักแสดงและทีมงานทั้งหมด บทที่ทำออกมานั้น มาเดือนต่อเดือน และล่วงหน้า 2 อาทิตย์
ก่อนการแสดงสดในห้องส่ง
       
             สุวัฒน์ วรดิลก เคยเล่าให้อารีย์ฟังว่า “พี่เขียนบทออกจากลหุก็ถูกผู้คุมแกล้ง ขอยืมหนังสือ
ไปอ่านแล้วไม่คืน พี่ก็เลยต้องดำน้ำเอา แล้วมันก็ไม่ตรงตามบท คุณทัติ(ผู้กำกับละคร)ก็เลยต้องแก้ไขให้
แต่ก็ไม่มาก”
       
             นักแสดงบางคนที่เคยเล่นละครเรื่องอื่นที่สุวัฒน์เขียนบทมาก่อน ต่างพูดกันว่า เหมือนสำนวน
ฝีปากของสุวัฒน์เลย อารีย์ นักดนตรีจึงได้แต่พูดเฉไฉไปว่า
       
          “จะเหมือนกันได้ยังไงคะ ถ้าเราได้คุณสุวัฒน์เขียนบทละก็ ไม่รู้จะสนุกกว่านี้อีกกี่เท่า เสียดายที่พวกเรา
ไม่เคยมีโอกาสร่วมงานกันเหมือนพี่สวลีและคุณอดิศักดิ์(เศวตนันทน์-สามีผู้ล่วงลับไปแล้วของคุณสวลี)”
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 08 มิ.ย. 12, 16:23

บางส่วนจาก คำนำ โดย อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๙
.

หากคุณเพ็ญฯ มีเวลาก็ช่วนอนุเคราะห์พิมพ์บทความที่แนบภาพประกอบออกมาให้คุณชูพงค์ได้อ่านด้วยครับ คิดว่าแนบภาพมาคุณชูพงค์คงไม่ทราบถึงบทความอันแสนดีชิ้นนี้
บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 08 มิ.ย. 12, 17:46

กราบขอบพระคุณคุณหนุ่มสยาม คุณหลวงเล็ก คุณเพ็ญชมพู คุณศิลา เป็นอย่างยิ่งครับ สำหรับความรู้ใหม่ที่ช่วยเติมสติปัญญาให้ผมนอกจากจะอ่านสนุกแล้ว ยังกระตุ้นความใฝ่รู้ให้ผมเพียรเสาะแสวงหาหนังสือซึ่งท่านกล่าวถึงมาอ่านอีกด้วยครับ

   คุณหลวงเล็กกล่าวถึงเรื่อง “คอมมิวนิสต์ลาดยาว” หนังสือเล่มนี้ ผมเคยได้ยินครับ เมื่อตอนมีการจัดคอนเสิร์ตเพลงของท่านจิตร ภูมิศักดิ์ ผู้บรรยายให้ข้อมูลว่า หนังสือคอมมิวนิสต์ลาดยาวนั่นเอง บรรจุเนื้อร้อง ตลอดจนโน้ตเพลงที่ท่านจิตรแต่งไว้ และวงดนตรี “กรรมาชน” นำมาแกะ ทำเป็นอัลบัมเพลงชุดหนึ่ง แต่เทปชุดดังกล่าวจะบันทึกเสียงปีใด ผมไม่แน่ใจข้อมูลแล้วหละครับ
 
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 08 มิ.ย. 12, 18:20

วรณกรรมจากทัณฑสถานตามที่คุณชูพงศ์ตั้งเป็นกระทู้นั้น  เท่าที่ได้อ่านจากความเห็นที่ผ่านมาพอแบ่งได้ดังนี้

๑.เป็นวรรณกรรมที่ผู้เขียนเขียนขึ้นในระหว่างที่ต้องขังอยู่ในเรือนจำ  โดยไม่ได้มีเนื้อหาเกี่ยวกับชีวิตในเรือนจำ
งานเขียนประเภทนี้มีหลายเรื่อง  เช่นงานของจิตร  ภูมิศักดิ์   งานของกรุณา  กุศลาศัย  เป็นต้น
งานเหล่านี้  มีทั้งที่เป็นงานวิชาการ  และงานแปล  เรื่องบันเทิงคดีก็มี  งานเขียนเหล่านี้  ผู้ต้องขังเขียนขึ้น
เพื่อให้เวลาว่างในเรือนจำให้เป็นประโยชน์  นอกเหนือจากการอ่านหนังสือ

๒.เป็นวรรณกรรมที่ผู้เขียนเขียนเล่าเรื่องราวการใช้ชีวิตในเรือนจำ  โดยอาจจะเขียนในระหว่างใช้ชีวิตในเรือนจำ
หรือพ้นจากเรือนจำไปแล้ว  มีทั้งที่เป็นเรื่องจริงและเรื่องแต่งจากประสบการณ์จริง

๓.เป็นวรรณกรรมที่ผู้เขียนอาจจะไม่เคยอยู่ในเรือนจำแต่พยายามถ่ายทอดการใช้ชีวิตในเรือนจำในบางแง่มุม
ออกมาให้ผู้อยู่นอกเรือนจำได้รับรู้ 


หนังสือคอมมิวนิสต์ลาดยาวนั้น  สำคัญมาก เพราะคุณทองใบได้บันทึกเกี่ยวกับจิตรไว้มากพอสมควร
นับว่าเอกสารหรือบันทึกร่วมสมัยอีกเล่มหนึ่งที่น่าหามาเก็บไว้อ่าน   ชอบอ่านตอนที่ผู้ต้องขังหากิจกรรมต่างๆ
ทำเพื่อความรื่นเริง  เช่น  จัดงานสงกรานต์  เป็นต้น   

จิตรเป็นนักอ่านหนังสือมาตั้งแต่ยังเป็นนักเรียนนักศึกษา  มีเรื่องเล่าว่า  หนังสือที่หอพระสมุด ตึกแดง
บางเล่มไม่มีชื่อคนอื่นยืมอ่าน  แต่มีชื่อจิตรไปยืมอ่านอยู่คนเดียว  โดยเฉพาะหนังสือประวัติศาสตร์
ที่เป็นภาษาต่างประเทศ  ความรู้จากการอ่านนี้เอง  ที่ทำให้จิตรสามารถเขียนหนังสือในระหว่างต้องขังได้
แม้จะไม่ตำราอยู่กับตัวในขณะนั้นตาม  นับว่าความจำของจิตรดีเลิศมาก  แต่ก็มีที่จำพลาดคลาดเคลื่อนไปเหมือนกัน
เสียดายว่า  ที่คนรุ่นหลังอ่านงานของจิตรแล้ว  แทนที่จะได้ช่วยแก้ไขในสิ่งที่บกพร่องในงานของจิตร
แต่กลับยกขึ้นบูชาบนหิ้งไม่แก้ไขไม่ทักท้วงไม่ศึกษาต่อยอดและวิจารณ์ไม่ได้  สิ่งที่จิตรได้ค้นคว้าไว้
จึงไม่งอกงามอย่างที่จิตรตั้งใจ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 08 มิ.ย. 12, 20:31

จิตรเป็นนักอ่านหนังสือมาตั้งแต่ยังเป็นนักเรียนนักศึกษา  มีเรื่องเล่าว่า  หนังสือที่หอพระสมุด ตึกแดง
บางเล่มไม่มีชื่อคนอื่นยืมอ่าน  แต่มีชื่อจิตรไปยืมอ่านอยู่คนเดียว  โดยเฉพาะหนังสือประวัติศาสตร์
ที่เป็นภาษาต่างประเทศ  ความรู้จากการอ่านนี้เอง  ที่ทำให้จิตรสามารถเขียนหนังสือในระหว่างต้องขังได้
แม้จะไม่ตำราอยู่กับตัวในขณะนั้นตาม  นับว่าความจำของจิตรดีเลิศมาก  แต่ก็มีที่จำพลาดคลาดเคลื่อนไปเหมือนกัน
เสียดายว่า  ที่คนรุ่นหลังอ่านงานของจิตรแล้ว  แทนที่จะได้ช่วยแก้ไขในสิ่งที่บกพร่องในงานของจิตร
แต่กลับยกขึ้นบูชาบนหิ้งไม่แก้ไขไม่ทักท้วงไม่ศึกษาต่อยอดและวิจารณ์ไม่ได้  สิ่งที่จิตรได้ค้นคว้าไว้
จึงไม่งอกงามอย่างที่จิตรตั้งใจ

จิตรได้ออกตัวเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ในคำนำของหนังสือความเป็นมาของคำสยามฯ เช่นกัน

ข้อเขียนของข้าพเจ้าชิ้นนี้ กระทำในภาวะที่จำกัดและไร้ความสะดวกเป็นอย่างยิ่ง, แน่นอน, ย่อมต้องมีที่บกพร่องผิดพลาดอันเกิดจากการศึกษาค้นคว้าไม่รอบด้านเพียงพอ. ท่านผู้อ่านหรือผู้ค้นคว้าอื่น ๆ ย่อมมีสิทธิเต็มที่ที่จะวิจารณ์และชี้ที่บกพร่องผิดพลาดอย่างตรงไปตรงมา, อันจะเป็นบ่อเกิดแห่งความรู้ที่ถูกต้อง. ข้าพเจ้าเตรียมพร้อมอยู่แล้วที่จะรับผิดอย่างชื่นตาในทุกแห่งที่มีการผิดพลาด และพร้อมที่จะแก้ไขที่ผิดให้ถูกต้องตามคำวิจารณ์หรือชี้แจงที่มีหลักฐานเหมาะสมนั้น ๆ.

จิตร  ภูมิศักดิ์

 ยิงฟันยิ้ม


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 08 มิ.ย. 12, 21:40

ในบทที่ ๕ เกี่ยวกับจารึกจามปา จิตรได้เล่าถึงประสบการณ์ในการค้นคว้าจากหนังสือในหอสมุดแห่งชาติ  

หนังสือที่ต้องการก็หาไม่เจอ ใครหนอหยิบติดมือไป

 ขยิบตา


บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 09 มิ.ย. 12, 08:00



        อย่าลืมอ่านงานของนายวรรณนะคะ       ท่านติดคุกอยู่ ๑๗ ปี

เขียนบทความขายเลี้ยงตัวได้ตลอด         หนังสือและตำราของท่านที่ทิ้งไว้ที่บ้านสูญไปเกือบหมด

เพราะทางบ้าน "ดิ้นรนคุ้ยเขี่ย"  หาเงินมาเลี้ยงลูกเล็ก

       หมู่นี้งานของท่านที่เป็นที่รู้จักดี และที่ไม่เคยเห็นหลุดออกมาสู่เงื้อมมือของนักสะสมประมาณสองชุดค่ะ

ชุดหลังนั้นเป็นหนังสือปกสวยทำด้วยเงินทั้งปกหน้าและปกหลัง   เล่าถึงงานทั้งชีวิตที่ผ่านมา  มี ๔ เล่มค่ะ
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.076 วินาที กับ 19 คำสั่ง