เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 35 36 [37]
  พิมพ์  
อ่าน: 172094 เก็บตกมาจากการเดินทาง
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 540  เมื่อ 15 มี.ค. 13, 22:11

เรื่องขับรถเร็ว  จะขอเริ่มที่เรื่องบนทางหลวง

ผมว่าการกำหนดความเร็วในประเทศต่างๆ น่าจะเกือบทั่วโลก มีความเหมือนกันอยู่อย่างหนึ่ง คือ ความเร็วเดินทางของรถต่างๆบนถนนกับความเร็วที่กำหนดไม่สอดคลองกันเลย

ผมเห็นน้อยมากที่จะมีความใกล้เคียงพอที่จะเรียกว่าสอดคล้องกัน แล้วก็พบว่าบนทางด่วนและทางหลวงระหว่างเมืองเท่าที่เคยเดินทางหรือเคยขับรถมา รถทั้งหลายจะใช้ความเร็วที่ประมาณ 120 กม./ชม. ซึ่งบนทางเหล่านี้ส่วนมากจะมีป้ายบอกกำหนดความเร็วไม่เกิน 80 กม./ชม. เป็นหลัก  เคยเห็นในเยอรมันและออสเตรียเท่้านั้นกระมังที่เห็นป้ายกำหนดไม่เกิน 120 กม./ชม.  อ้อ ในไทยก็มีบนเส้นทางมอเตอร์เวย์สายตะวันออก 

เอาเป็นว่ารถทั้งหลายทำผิดกันเกือบทั้งนั้น  แล้วก็เป็นเรื่องแปลกอีกเหมือนกัน ที่ตำรวจทางหลวงอนุโลมให้วิ่งในความเร็วเกินในระดับนี้แต่จะยังไม่จับ จะไปจับอย่างจริงจังที่ระดับความเร็วไปประมาณ 140 กม./ชม. ในญี่ปุ่น ในไทย ในยุโรปก็เหมือนๆกัน   ในสหรัฐฯไม่ได้ไปนานแล้วเลยไม่ทราบ น่าจะยังใช้ 55 ไมล์/ชม. ตามกฏหมาย (ประมาณ 88 กม./ชม.)  แต่จะอนุโลมให้เกินแล้วไปจับที่ความเร็วเท่าใดไม่ทราบ แต่เดิมสมัยก่อนโน้น ให้ถึง 60 ไมล์  รถในอเมริกาจึงนิยมมี cruise control เพื่อให้รถมันเหยียบ-ผ่อนคันเร่งอัตโนมัติ ในพิกัดความเร็วเดินทางคงที่ๆเรากำหนด ไม่ต้องคอยพะวงเรื่องความเร็วจะเกิน 

เครื่องจับความเร็วก็เหมือนๆกันทั้งโลก คือ ใช้ที่เราเรียกว่าเรดาร์    วิธีการก็มีอยู่สองแบบเหมือนๆกันอีก คือ แบบจุดหนึ่งวัด แล้ววิทยุไปให้อีกจุดหนึ่งจับ กับวิธีการใช้กล้องถ่ายภาพ แล้วส่งใบสั่งไปให้ที่บ้าน

ในยุโรปนั้นกำหนดความเร็วเรียกได้ว่าเหมือนกัน คือ บนถนนระหว่างเมืองที่เป็นถนนแบบมีคูขั้นกลาง แยกขาเข้าและขาออกจากกัน ให้ใช้ความเร็วได้ไม่เกิน 120 กม./ชม. แต่รถทั้งหมดจะวิ่งที่ความเร็วประมาณ 130 -135  จะเริ่มจับหากความเร็วเกินไปกว่า 140 กม./ชม.  เมื่อใดที่ถนนสองฟากมาอยู่ชิดกัน และใช้แท่งปูนหรือราวเหล็กกั้นแบ่ง ความเร็วสูงสุดกำหนดที่ 100 กม. จะเริ่มจับที่ 120 กม. เมื่อเข้าเขตชานเมือง (เริ่มมีบ้านประปราย) กำหนดความเร็วคือ 80 กม. อันนี้เข้มงวดพอประมาณ แต่เมื่อใดเข้าเขตชุมชน (มีบ้านเรืองอาคารมาก) ความเร็วจะเหลือเพียง 50 กม. หรือหากเป็นถนนแคบจะเหลือเพียง 30 กม.  อันนี้เข้มงวดที่สุด มีป้ายบอกอยู่ป้ายเดียว แล้วก็เริ่มเขตการจับจะจุดปักป้ายนั้นแหละ   ก่อนจะถึงป้าย หลายๆแห่งจะมีจ่าเฉยยืนอยู่  ของเราเป็นหุ่นเท่าตัวคน ของเขาเป็นรูปถ่ายสีของจ่ายืนยิ้มแฉ่ง รูปขนาดเท่าตัวจ่า ติดไว้กับแผ่นไม้ที่ตัดตามรูปของจ่า เขาจะเอาไปปักไว้ค่อนข้างจะกลมกลืนไปกับธรรมชาติ  ใครเห็นก็อดที่จะสดุ้งแล้วก้มมองเข็มวัดความเร็วบนไมล์ในทันที 

การดักจับรถเร็วของเรา ตำรวจมักจะซ่อนตัว    ของฝรั่ง ไม่เลย  ยืนจังก้าส่องกล้องเครื่องวัดความเร็วอยู่ตามโค้งถนน  ดูเหมือนจะเห็นตัวง่าย ไม่ง่ายนะครับ เพราะว่าสีของเคื่องแบบมันค่อนข้างจะกลืนไปกับฉากภูมิประเทศด้านหลัง แบบนี้คือการจับแล้วปรับเลย ถือเป็นการกระทำความผิดซึ่งหน้าของผู้ขับรถ  ต่างกับการส่งไบสั่งไปที่บ้าน อันนี้ความผิดคือผู้เป็นเจ้าของรถ
บันทึกการเข้า
ศานติ
ชมพูพาน
***
ตอบ: 190

อดีตศัลยแพทย์ช่องอกเส้นเลือด (เกษียณ) ปัจจุบันเป็นช่างไม้


ความคิดเห็นที่ 541  เมื่อ 16 มี.ค. 13, 03:19

อเมริกาตอนนี้ Interstate highway ส่วนใหญ่ให้ 70 ไมล์ต่อชม. (112 กม./ชม.) ถ้าขับเกินสัก 3-4 ไมล์ต่อชม.ก็ไม่โดนจับ แต่ 80 โดนแน่ ตอนนี้มีกฎใหม่ ว่าถ้ามีรถตำรวจ รถกู้ รถพยาบาล หยุดอยู่ข้างทาง รถที่ผ่านมาจะต้องเปลี่ยนไปวิ่งอีก lane เลย ไม่ใช่เพียงแต่เบี่ยงไปครึ่งคัน เป็นต้น ถ้าเปลี่ยน lane ไม่ได้ต้องลดความเร็วลงให้ต่ำกว่า speed limit 20 ไมล์ต่อชม. ไม่ใช่ลดลง 20 จากที่ขับอยู่

อเมริกันบางแห่งใช้กล้อง แต่ส่วนใหญ่ใช้ตำรวจจอดข้างทางตรงโค้ง บางทีจอดที่ลุ่มรอจับรถที่พ้นเนินขึ้นมา ถ้าจะให้ได้ความเร็วที่แท้จริง แนวยิงเรดาร์หรือเลเซ่อร์ต้องให้ใกล้กับแนวรถวิ่งที่สุด ถ้าจอดนอกทางมากๆ หรือระยะสั้น จะเกิดมุมระหว่างทางรถวิ่งกับเส้นทางเรดาร์ ทำให้ตัวเลขที่อ่านได้ต่ำกว่าความจริง (Cosine error) ไม่ได้โดนจับมานานแล้วแต่สมัยนี้เขาใช้ปืนเลเซอร์จับ ตอนใช้เรดาร์ถ้าไปแขึ้นศาลตำรวจสาบานไม่ได้ว่าคันไหนแน่ เพราะ beam เป็นรูปกรวยกว้างหลายองศา รถวิ่ง lane ในอาจเร็วกว่า lane นอก หรือถ้ารถใหญ่คู่มากับรถเล็ก ความเร็วที่อ่านได้จะเป็นของเป้าใหญ่ ถ้าไปเถียงในศาลอาจชะนะความ แต่การจับโดยเลเซ่อร์นั้นเขาใช้เล็งแบบปืน โดย impulse ของเลเซอร์ไม่กระจายออกเป็นกรวยแบบเรดาร์ เลยแน่ใจสาบานได้ว่าคันไหนที่ขับเร็ว

จับกันตรงๆไม่มีใครว่า แต่บางเมืองมี speed trap หารายได้สำหรับตำรวจกับสำหรับอัยการ โดยได้มาจากค่าปรับคนต่างถิ่นที่เผลอผ่านมา ทำโดยลด speed limit อย่างชนิดที่ต้องเบรคตัวโก่ง 65 ลดลงเป็น 55 เป็น 45 เป็น 35 แบบปล่อยคันเร่งอย่างเดียวไม่พอ ต้องเบรคด้วย มีรถตำรวจนั่งรออยู่แล้ว ออกใบสั่งเดี๋ยวนั้น บางแห่งต้องขับตามรถตำรวจไปโรงพักไปจ่ายเงินเลย  สมัยนี้ชักน้อยลงเพราะ American Automobile Association เขาประกาศชื่อเมืองพวกนี้  โทร.มือถือมี application ที่ใช้ข้อมูลจาก GPS ไปเตือนว่ามีจุดจับตรงไหนบ้าง คนขับเวลาเห็นจุดจับก็ text ไปศูนย์ทำให้ข้อมูลมีมากขึ้นทุกที  เส้นทางที่เขาจับถ้าทำกันซื่อๆเขาจะมีป้ายบอกว่ามีกล้องหรือมีการตรวจจับ ได้ผลในแง่ป้องกันอุบัติเหตุมากกว่าการแอบจับ เพราะว่าที่จริงแล้ว จุดประสงค์ก็คือความปลอดภัย ไม่ใช่หารายได้เข้าคลัง  โดยมากถ้าขับเร็วเกินกำหนดไม่ถึง 15 ไมล์ต่อชม. ก็เสียค่าปรับอย่างเดียวอาจถึง 2500-3000 บาท ถ้าเกินกว่านั้นจะโดนข้อหาขับรถโดยประมาทอีก ต้องขึ้นศาล มีหวังโดนยึดใบขับขี่ชั่วคราว บริษัทประกันก็รู้ ปีหน้าเบี้ยประกันแพงขึ้นไปอีก บางคนไม่หลีกทางให้รถตำรวจที่จอดจับคันอื่น (เปิดไฟแดงไว้) โดนปรับ 10,000 บาท

ถ้าใครไปเที่ยวแล้วโดนจับ เขาแนะนำว่าให้นั่งอยู่ในรถ เปิดไฟเพดานโดยเฉพาะถ้ามืดหรือจวนมืด ห้ามเปิดประตูออกไปยืนโดยเด็ดขาดเพราะตำรวจโดนยิงตายไปหลายคนแล้ว แล้วเอมือวางบนพวงมาลัยให้เห็นได้ชัด โดยมากตำรวจจะใช้เวลาสอบดูหมายเลขทะเบียนรถว่ามีข้อมูลว่าโดนขะโมยหรือเปล่า เจ้าของมีคดีติดตัวหรือเปล่า อาจกินเวลาหลายนาที แล้วค่อยเดินมาที่รถ  เพื่อขอดูใบขับขี่กับทะเบียนรถ ถ้าคนขับมีใบอนุญาตพกอาวุธต้องบอกเขาตอนนี้ ว่าพกอยู่หรือเปล่า พกไว้ที่ไหน สมมุติว่าพกไว้ที่เอวแต่ใบขับขี่อยู่ในกระเป๋าสตางค์ข้างหลังก็ต้องบอกเขาก่อนจะล้วง หรือถ้าอาวุธอยู่ในตู้ข้างคนโดยสารแล้วใบทะเบียนก็อยู่ที่เดียวกัน ต้องถามเขาว่าเขาจะให้ทำยังไง ทั้งนี้เพราะแทบทุกรัฐใน database ใบขับขี่ เขาเอาใบอนุญาตพกพ่วงไปด้วย เขาสอบชื่อในใบขับขี่ก็รู้ว่ามีใบอนุญาตพกหรือไม่ ถ้าไม่บอกก่อน จู่เปิดตู้จะเอาใบทะเบียน เขาเห็นปืนจะยุ่งกันใหญ่
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 542  เมื่อ 16 มี.ค. 13, 22:07

^
ขอบคุณครับ

สมัยผมเรียนอยู่ที่นั่น ความเร็วสูงสุดที่ปรากฎในหน้าปัทม์ของรถทั่วไปอยู่ที่ประมาณ 90-100 ไมล์  ตอนเร่งความเร็วบน ramp เพื่อให้ได้ความเร็วประมาณ 50-55 ไมล์/ชม. เพื่อ merge เข้าไปกับจราจรบนทางหลวงนั้น อัตราเร่งดีมาก  เร่งต่อไปได้ถึงประมาณ 70 ไมล์ จากนั้นก็จะเริ่มอืดแล้ว แล้วก็อืดๆ
   
ปัจจุบันนี้รถยนต์ทั่วไปได้ปรัปรุง (หรือปลดล็อคคันเร่ง) ให้สามารถเหยียบไปถึงความเร็วประมาณ 120 กม. (ประมาณ 75 ไมล์) โดยไม่รู้สึกอืด จะเริ่มรู้สึกอีดเมื่อเกิน 140 กม.ขึ้นไป  มาตรวัดความเร็วก็แสดงไปถึงประมาณ 180 โน่น

ในยุโรปนั้น ความเร็วเดินทาง 130 -140 กม./ชม. เป็นเรื่องปรกติ  ความเร็วสูงสุดตามมาตรวัดของรถจะมากกว่า 200 กม./ชม.ทั้งนั้น อัตราเร่งของรถจะรู้สึกว่าอืดเมื่อเข้าไประดับความเร็วประมาณ 170 กม./ชม.     ดังที่เคยเล่ามาแล้ว (ในกระทู้ใหนจำไม่ได้) เมื่อใดที่ถนน Autobahn เป็น 8 หรือ 10 เลน ซึ่งจะมีระยะทางประมาณ 10-20 กม. ก็หมายความว่าช่วงของถนนแบบนี้จะไม่จำกัดความเร็ว เมื่อนั้นบรรดานั่งซิ่งทั้งหลายก็จะไปด้วยความเร็วสุดกู่ คือ มากกว่า 200 กม./ชม.
แท้จริงแล้วจะว่าไม่จำกัดความเร็วก็ไม่ใช่ เขาอนุญาตให้ขับถึงความเร็วประมาณ 200 กม. เกินกว่านั้นก็จะถูกจับเหมือนกัน   ที่ได้เล่ามาแล้วว่ากล้องถ่ายภาพจับความเร็วนั้นมักจะถ่ายภาพที่ความเร็วเกิน 140 กม. พอความเร็วถึงระดับประมาณ 170 กม.ถาพถ่ายก็จะไม่ชัดเจน ไม่เห็นป้ายทะเบียน  ตำรวจเขาก็เลยต้องใช้วิธีวิ่งไล่จับ  ก็จะมีรถตำรวจแต่งเครื่องยนต์สำหรับความเร็วสูงมาก ซึ่งมักจะเป็นพวกรถสปอร์ตสองที่นั่ง ไม่มีตราตำรวจ พอจะไล่ก็ต้องเอาไฟแว๊ปๆติดบนหลังคาแล้วไล่กวดจับเอา   
รู้เช่นนี้ บรรดานักซิ่งหรือนักหาโอกาสซิ่ง ที่ขับรถในทางหลวงปรกติ จึงหาโอกาสช่วงที่รถไม่มาก ขับมันที่ 170+ ไปเลย กล้องก็จะจับภาพไม่ได้ แถมถนนแบบนี้ก็จะไม่มีรถตำรวจที่มีความเร็วสูงจัดประจำการอยู่ด้วย
บันทึกการเข้า
ศานติ
ชมพูพาน
***
ตอบ: 190

อดีตศัลยแพทย์ช่องอกเส้นเลือด (เกษียณ) ปัจจุบันเป็นช่างไม้


ความคิดเห็นที่ 543  เมื่อ 18 มี.ค. 13, 20:54

เพื่อนเขาเพิ่งซื้อ Audi มาใหม่ เขาบอกว่าในคู่มือมีข้อความว่ารถสามารถขับได้เกิน135 ไมล์ (216 กม.) ต่อชม. แต่ทางบริษัทจงใจตั้งเครื่องให้รถวิ่งได้ไม่เกินนั้น เพราะยางรถไม่ได้ออกแบบให้วิ่งเกิน 135 ไมล์ต่อขม. แล้วในคู่มือยังแถมต่อว่าถ้าต้องการขับเร็วกว่านั้นให้เปลี่ยนยางรถเป็นยางที่พิกัดสูงขึ้นแล้วนำรถไปอู่ของบริษัทเพื่อปรับเครื่องให้วิ่งได้เร็วขึ้น

เมื่อสองอาทิตย์ที่แล้วขับรถผ่าน Atlanta, Georgia ตอนหัวค่ำ บนทางหลวง (Interstate highway) 4 lane รถแน่นขนาดเว้นระยะ 2-3 ช่วงคันเท่านั้นแต่ขนาดผมขับ 72-73 ไมล์ต่อชม.(เกินกำหนดไปหน่อย)ก็มีคนแซงอยู่ตลอดเวลา  แบบนี้ตำรวจจับไม่ไหวนอกจากจะทำประเจิดประเจิ้อมาก  ถ้าจับขึ้นมาก็เกิดรถติดกัน แย่ไปอีก พ้นมาได้ก็โล่งอก
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 544  เมื่อ 23 มี.ค. 13, 21:16

โทษของการขับรถเร็วเกินกว่าอัตาที่กำหนด ไม่ว่าจะเร็วมากว่ามากหรือไม่มากนัก โทษก็คือการปรับ  หากเร็วมากกว่ามากๆก็อาจจะมีเพิ่มเติมที่จะต้องไปกองทะเบียนเพื่อไปนั่งดูเทปอุบัติเหตุที่น่ากลัวต่างๆ ครึ่งชั่วโมงบ้างหรือเต็มชั่วโมงก็มี และอาจจะครั้งเดียวหรือสองสามครั้งก็ได้ แล้วก็มีการสลักหลังใบขับขี่ ถูกตัดคะแนน หากถูกตัดคะแนนจนหมดก็คงยากที่จะได้ใบขับขี่รถต่อไป

โทษที่หนักกว่าการขับรถเร็วที่เคยทราบและเห็นมา คือ การขับรถด้วยอาการมึนเมา ยิ่งหากเมาแล้วขับ แล้วเกิดมีอุบัติเหตุ แถมหนีอีกด้วยละก็  คือ ถูกยึดใบขับขี่สถานเดียว  แล้วก็ให้ใบขับขี่ใหม่ เป็นประเภทขับได้เฉพาะรถขนาดเล็ก และขับได้เฉพาะถนนในเมือง ไม่อนุญาตให้ขับบนทางหลวงไปตลอดชีวิต  พวกชนแล้วหนีก็จะได้รับผลดังนี้เช่นกัน

พูดถึงเรื่องนี้ ก็มีข้อควรทราบไว้ด้วยว่า เรามักจะเข้าใจว่า ใบขับขี่สากลที่ทำในเมืองไทยนั้น สามารถจะใช้ขับขี่รถได้ในทุกประเทศทั่วโลก  ครับ ใช้ได้ในหลายประเทศ และก็ใช้ไม่ได้ในหลายประเทศเช่นกัน ขึ้นอยู่กับความตกลงที่มีระหว่างกันครับ   
บันทึกการเข้า
ศานติ
ชมพูพาน
***
ตอบ: 190

อดีตศัลยแพทย์ช่องอกเส้นเลือด (เกษียณ) ปัจจุบันเป็นช่างไม้


ความคิดเห็นที่ 545  เมื่อ 23 มี.ค. 13, 21:51

ในสหรัฐฯ กฎหมายการจราจรขึ้นกับแต่ละรัฐถึงแม้จะขับบน highway ของประเทศ เช่น Interstate หรือ National highway ดังนั้นพอข้ามรัฐกฎหมายที่ใช้บังคับอาจเปลี่ยนกระทันหัน เช่นความเร็วสูงสุดลดจาก 70 เป็น 65 ไมล์ต่อชม.ทั้งๆที่ทางหลวงเดียวกัน

ในแง่ใบขับขี่สากลก็เหมือนกัน รัฐส่วนใหญ่ที่ผมรู้ไม่ยอมรับใบขับขี่สากลแต่ยอมรับใบขับขี่ประเทศ ไม่ว่าไทย จีน อังกฤษ โดยเปรียบเสมือนแต่ละประเทศก็เป็นรัฐ สมัยโน้นตอนมาอเมริกาใหม่ๆ ต้องการจะเช่ารถ ผมเอาใบขับขี่ตลอดชิวิตของไทยให้เขาดู นอกจากจะอ่านตัวเลขไทย ชื่อภาษาไทย ไม่ออกแล้ว ยังหาวันหมดอายุไม่ได้ เขาไม่เคยเห็นใบอนุญาตที่ไม่หมดอายุ  ดูออกอย่างเดียวคือรูปถ่าย

สมัยฝึกงานอยู่ฟิลาเดลเฟีย ได้ความรู้อย่างหนึ่งว่า ถ้าโดนใบสั่งแล้วเราไม่ยอมความ คือไม่ยอมเสียค่าปรับ เขาจะมีหมายศาลให้ไปขึ้นศาล ตำรวจที่ออกใบสั่งจะต้องไปศาลด้วย สมัยนั้นวันขึ้นศาลเขามักจะนัดตรงกับวันหยุดประจำสัปดาห์ของตำรวจคนนั้น ถ้าเราไปศาลแล้วพยานโจทย์ (ตำรวจ) ไม่ไป ศาลอาจเลื่อนการพิจารณา หรือ สั่งถอนฟ้องเพราะไม่มีพยาน โดยเฉพาะถ้าเป็นเรื่องเล็กน้อย เช่น ถึงทางแยกมีป้ายให้หยุดแต่ไม่หยุดสนิทเพียงแต่ขับผ่านช้าๆ หรือจอดเกินเวลา จอดที่ที่ไม่ให้จอด แต่ต้องเสียเวลาไปนั่งรอกว่าเขาจะเรียก
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 546  เมื่อ 24 มี.ค. 13, 22:42

ผมไปเรียนอยู่ในรัฐย่านกลางดง KKK และพวก Red neck   ในยุคที่ยังคงมีการย้ายถิ่นฐานของคนผิวสีทางใต้ขึ้นไปอยู่ทางเหนือ เราเป็นพวกผิวสีเหลือง จึงเป็นความโชคดีอย่างหนึ่งที่เขาไม่มายุ่งกับเราในเชิงของการกระทำความรุนแรง จะมีก็เพียงมอง แล้วก็อาจมีการปฏิบัติที่อาจจะดูแคลนอยู่บ้าง ที่ตัวเองได้พบเจอก็มี อาทิ เขาพูดภาษาอังกฤษได้ใหม เขากินอาหารแบบที่เรากินกันหรือเปล่า  รู้จัก (อาหารหรือสิ่งของ) ด้วยเหรอ เป็นต้น   แต่หากไปเที่ยวตามฟาร์มต่างๆ คุยกับชาวบ้านจริงๆ กลับกลายเป็นอีกแบบหนึ่ง คือกลายเป็นแหล่งเรียนรู้โลกกว้างของพวกเขา คำถามที่ถูกถามประจำ คือ มาจากใหน ประเทศอะไร อยู่ที่ใหนในโลก เรื่องของภาษา อาหาร วัฒนธรรม การแต่งกาย ฯลฯ

พวกเพื่อนนักศึกษาฝรั่งที่มาจากรัฐอื่นมักจะถูกจับเรื่องขับรถ โดยเฉพาะในเขตของบาง county ทั้งที่ผิดจริงและไม่ผิดจริง  พื้นความคิดของคนในกลุ่มที่เล่ามาตอนต้นนี้ เป็นไปในทางเดียวกันหมด ตั้งแต่ผู้รักษากฏหมายไปจนถึงผู้พิพากษา  จึงลงเอยด้วยการถูกปรับอย่างอย่างหนักกว่าปรกติ   สำหรับคนไทยเรา (มีไม่มากนัก ทั้งรัฐมีสัก 50 คนกระมัง) ทำชื่อเสียงไว้ดีมาก พอถึงศาลๆปล่อยหมด ศาลให้เหตุผลกับตำรวจว่า เมืองไทยเขาขับกันอย่างนี้แหละ 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 547  เมื่อ 27 มี.ค. 13, 21:29

ผมมีข้อสังเกตอย่างหนึ่งเกี่ยวกับป้ายจราจร

ในประเทศที่ประชาชนค่อนข้างปฏิบัติตนอยู่ในกรอบของกฎหมาย  ป้ายจราจรต่างๆจะเป็นลักษณะบอกให้ปฏิบัติอย่างนั้นอย่างนี้มากกว่าที่ที่จะบอกว่าห้ามทำอย่างนั้นอย่างนี้  เรียกว่าเป็นป้ายที่ให้ความรู้สึกในทางของความสุภาพและให้ข้อมูล มากกว่าที่จะเป็นป้ายแบบคำสั่งห้าม  ตัวอย่างเช่น แทนที่จะเป็นป้ายห้ามเลี้ยวซ้ายหรือเลี้ยวขวา ก็จะเป็นป้ายบอกให้บอกให้เลี่ยวซ้ายหรือเลี้ยวขวา  หรือ แทนที่จะมีป้ายห้ามจอดควบคู่ไปกับสีที่ทาไว้ที่ขอบถนน ก็ไปติดป้ายไว้ที่บริเวณที่อนุญาตให้จอดได้  ป้ายห้ามแซงแทบจะไม่เคยเห็น มีแต่บอกว่าถนนแคบควบคู่ไปกับใช้เส้นแบ่งกลางถนนเป็นเส้นทึบคู่
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 548  เมื่อ 27 มี.ค. 13, 22:47

ทำให้นึกถึงกฎระเบียบบางอย่างที่เคยพบมา

ลองสังเกตดูนะครับ รถในยุโรปนั้นเกือบจะไม่มีการแต่งรถเลย  จำได้ว่าผมไม่เคยเห็นร้านประดับยนต์ที่ขายอุปกรณ์แต่งรถและสิ่งอำนวยความสดวกภายในรถ  เช่นตะกร้าทิ้งผงในรถ ผมต้องซื้อไปจากเมืองไทย ฝรั่งเห็นชอบใจมาก ถามว่าซื้อได้ที่ใหน   ผมคิดว่า บางทีของฝากจากเมืองไทยที่เราอยากจะให้กับเพื่อนฝูงฝรั่งนั้น อาจะลองเป็นของพวกประดับยนต์เล็กๆน้อยก็น่าจะได้ เช่น พวงกุญแจรถ ที่วางโทรศัพท์ น้ำหอม เป้นต้น

เหตุที่รถในยุโรปไม่มีการแต่งนั้น อาจจะเป็นด้วยเรื่องของการประกันเป็นหลักใหญ่  คือ ประกันจะถือว่าผิดเื่งื่อนไข หากมีการเพิ่มเติมหรือปรับแต่งรถแตกต่างไปจากที่อนุญาตให้ทำได้ตามคู่มือ เช่น ยางและกะทะล้อรถจะเปลี่ยนอาจจะเปลี่ยนให้ใหญ่หรือเล็กลงได้ตามที่กำหนดไว้ในคู่มือ  ดังนั้น รถแทบจะทุกคันจึงเข้าอู่ตัวแทนตามกำหนดเวลาที่กำหนด เรามีหน้าที่ใช้ อู่มีหน้าี่ทำการซ่อมบำรุง เมื่อเกิดเรื่องเกิดอุบัติเหตุใดๆ ประกันจะมาบอกว่าเราทำผิดเงื่อนไข เราดัดแปลงรถ เราไม่บำรุงรักษาตามที่ผู้ผลิตกำหนดไม่ได้ เพราะว่าทุกอย่างอู่ตัวแทนเป็นผู้ทำให้
 
แต่ก็มีอยู่อย่างหนึ่งที่เราต้องทำ คือ ต้องเปลี่ยนยางให้ถูกต้องตามฤดูกาล (มีเดือนกำหนดอีกด้วย) ใช้ยางหน้าหนาว 6 เดือน ยางหน้าร้อน 6 เดือน ใช้ยางผิดฤดูกาลก็ผิดเงื่อนไขการประกัน แถมตำรวจยังจับอีกด้วย เป็นอันว่า ซื้อรถมามียาง 4 เส้น อะไหล่อีก 1 เส้น (ซื้อฤดูกาลใหนก็จะได้ยางในฤดูนั้น) แล้วก็ต้องซื้ออีกอย่างน้อย 4 เส้น (ยางพร้อมกะทะ) หากจะให้ปลอดภัย ก็อาจจะต้องซื้อยางอะไหล่เพิ่มอีก 1 เส้น  เป็นอันว่า ก็จะต้องมีที่เก็บสำหรับยางชุดที่ไม่ได้ใช้     นี่ก็คงจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่รถในยุโรปยังคงใช้กะทะเหล็กกันอยู่ จะต้องซื้อหากะทะล้อแม็กมา 8 เส้นเชียวหรือ

ในสหรัฐฯนั้น เป็นอีกลักษณะหนึ่งที่ต่างไปจากยุโรปมาก  การแต่งรถ รวมทั้งการแปลงรถ สามารถกระทำได้ เป็นอิสระเสรีอย่างหนึ่งที่จะคิดจะทำได้  ผมว่ามันเป็นลักษณะพื้นฐานของการคิดและเป็นปรัชญาในจิตสำนึกของอเมริกันชน ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของ invention และ innovation    แต่ทั้งหลายก็ต้องปฏิบัติตามกรอบของกฏหมาย เช่น ต้องมีการรับรองทางด้านวิศกรรม ต้องไม่เป็นอัตนรายต่อผู้อื่นและสาธารณะชน เป็นต้น เรียกว่า เมื่อรัฐให้สิทธิเสรีภาพแก่คุณ คุณก็ต้องมีหน้าที่ระวังผลกระทบต่างๆ และต้องมีความรับผิดชอบต่อผลจากการกระทำของคุณ

ของเรานั้นต้องเรียกว่าแต่งกันเปรอะ แล้วแต่งแล้วก็ใช้งานไม่สอดคล้องสภาพที่แต่งมา
 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 549  เมื่อ 01 เม.ย. 13, 22:47

วกกลับมาที่เรื่องป้ายจราจรอีกหน่อยนึง

ป้ายบอกเส้นทางหลวงที่ดี (ที่สุด) เท่าที่ผมเคยเห็นมา คือ ของเยอรมันและออสเตรียครับ แต่ละป้ายที่บอกจะปักไว้ข้างทาง เป็นป้ายขนาดใหญ่ จะบอกสองระยะ คือ ที่ระยะประมาณ 1 กม. จะเป็นป้ายบอกทางแยกว่าจะแยกไปเมืองอะไร (เมืองระดับอำเภอ) พอใกล้ประมาณสัก 500 เมตร ก็จะมีป้ายบอกอีก ป้ายนี้จะบอกรายละเอียดเพิ่มเติมว่า ออกไปตามถนนแยกนี้จะไปสามารถไปยังเมือง (เมืองระดับอำเภอและตำบล) อะไรได้บ้าง  ดังนั้น เราจึงสามารถขับรถไปยังเมืองต่างๆได้โดยไม่ต้องกลัวหลง ขอเพียงจำชื่อเมืองบางเมืองที่เราพอจะคุ้นเคยได้ก็เพียงพอ เดี๋ยวก็วนออกมาได้ ด้วยข้อมูลบนแผ่นป้ายบอกทางเช่นนี้ ผมจึงมีโอกาสขับรถเที่ยวในวันหยุด ไปแทบจะทุกเมืองเล็กเมืองน้อย ทำให้ได้เห็นอะไรต่างๆมากมาย
     
ป้ายของเรานั้น ก็จัดว่าใช้ได้ดีเป็นส่วนมาก แต่อย่าไว้ใจมากนัก เชื่อตามป้ายยังหลงได้ บางทีก็อ่านแล้วก็งง บอกเป็นชื่อถนนก็มี บอกเป็นชื่อสถานที่ทางภูมิศาสตร์ก็มี บอกเป็นชื่อจังหวัดแล้วก็หายไปกลายเป็นชื่อปลายทางอื่นๆ บางทีเชื่อตามป้ายก็แทบจะเปลี่ยนเลนไม่ทัน    บนทางด่วนใน กทม. ป้ายบอกพระราม 9 มีเต็มไปหมด ไม่รู้ว่าอยู่ตรงใหนบ้าง ท่านที่ขับรถทั้งหลายคงทราบสภาพเหล่านี้ดี

สำหรับป้ายบอกชื่อถนนในเมืองนั้น ผมว่าของไทยดูจะดีได้ระัดับทีเดียว  ที่ดูยากและหายาก ต้องอังกฤษ ไอร์แลนด์ และออสเตรีย พวกเล่นเขียนด้วยตัวอักษรเก่า แถมอยู่ตามมุมกำแพงหรือมุมผนังอาคาร บางแห่งก็ระดับสายตา บางแห่งก็ต้องแหงนมองเลยทีเดียว พวกนี้เป็นเมืองเก่า ถนนคดไปโค้งมา ยิ่งยากเข้าไปอีก  แต่เขาก็มีระบบช่วยคนขับรถต่างถิ่น คือ มีแผ่นป้ายเท่าไม้กระดานแผ่นเดียว ปักอยู่ข้างถนนเป็นระยะๆ เพื่อบอกทางออกให้ไปยังถนนหลวงนอกเมืองได้อย่างรวดเร็ว
 
ป้ายบอกเส้นทางบนถนนหลวงของอเมริกานั้น อยู่ในเกณฑ์ที่อ่านเข้าใจง่าย ถนนมีระบบที่ค่อนข้างจะชัดเจน คือ ป้ายตรงทางแยกออกจะแยกเป็น exit A และำ exit B แต่ละ exit จะแยกออกไปทางซ้ายหรือขวาของถนนหลวง   ขับรถในเมืองจะไปใหนมาใหนก็ไม่ยากนักเพราะระบบถนนตัดกันเป็นบล๊อก

ที่แย่ที่สุด คือ ในญี่ปุ่น แทบจะไม่มีชื่อถนนเลย มีแต่ป้ายบอกทางเข้าเมือง พอเข้าเขตเมืองก็จะเป็นป้ายบอก (ชื่อ) สถานที่ จากนั้นก็เดาเอาเอง จอดถามบ้าง ดูเดาตามเสาไฟฟ้าบ้าง   หากเป็นบ้านนอก ไปไม่รอดเลยครับ ใช้ Navigator อย่างเดียวจริงๆ

ที่รองแย่ คือ ในอิตาลี ป้ายในถนนหลวงก่อนเข้าเมืองบอกทั้งชื่อสถานที่และชื่อถนนคละกันจนแยกแทบไม่ออก  ถนนทุกถนนรวมทั้งตรอกซอยมีชื่อหมดไม่ว่าจะสั้นจะยาว เนื่องจากเป็นเมืองเก่า ถนนจึงมีลักษณะเหมือนใยแมลงมุม ถนนแต่ละช่วงมักจะมีชื่อต่างกันไป ถนนเส้นเดียวกันจึงมักจะมีหลายชื่อ  แล้วก็ถนนหลายเส้นมีชื่อเดียวกันแม้อยู่ต่างสถานที่กัน  งงดีครับ    ที่จริงปารีสก็พอๆกัน

เมื่อไปเที่ยวตามแผนที่ จะำได้เข้าใจระบบคิดต่างๆตามที่เล่ามาครับ หากใช้แท็กซี่ก็จะได้ไม่ถูกหลอก มันพาวิ่งอ้อมไปมา แท้จริงเดินเอาก็ได้
บันทึกการเข้า
ศานติ
ชมพูพาน
***
ตอบ: 190

อดีตศัลยแพทย์ช่องอกเส้นเลือด (เกษียณ) ปัจจุบันเป็นช่างไม้


ความคิดเห็นที่ 550  เมื่อ 02 เม.ย. 13, 04:11

ระบบของไทยผมว่าอาจง่ายสำหรับคนที่รู้จักเส้นทาง แต่สำหรับคนที่ต้องใช้แผนที่แล้วสับสนครับ เพราะป้ายบนทางหลวงมักจะไม่บอกว่าจะแยกไปทางหลวงสายไหน กลับบอกว่าจะไปย่านหรือตำบลอำเภอไหน ส่วนในแผนที่บอกว่าจะแยกไปทางหลวงหมายเลขเท่าไหร่ เช่นป้ายบอกว่าไป ดาวคะนอง แต่ในแผนที่ไม่มี มีแต่หมายเลขเส้นทาง สมัยอยู่เมืองไทยก็ไม่รู้ว่าดาวตะนองอยู่ที่ไหน รู้แต่ว่าเป็นถิ่นนักเลง  ไม่ว่าผมขับภริยาอ่านแผนที่ หรือภริยาขับผมดูแผนที่ ก็ปวดหัวพอๆกัน ถ้าจำไม่ผิดหมายเลขทางหลวงหลายแห่งใช้ตัวเลขไทย รู้แต่ตัวเลขอาระบิคไม่รู้ตัวเลขไทย ก็หมดท่า
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 551  เมื่อ 02 เม.ย. 13, 16:53

เห็นด้วยกับคุณหมอศานติอย่างมากครับ ป้ายบอกทางในประเทศไทยมีประโยชน์สำหรับคนรู้ทางเท่านั้น ถ้าไม่รู้ทางนี่หมดท่าเลยครับ

ส่วนในญี่ปุ่นนั้น ผมเคยได้มีโอกาสขับทางสั้นๆ หนหนึ่ง ขาไปคนญี่ปุ่นตั้งจุดหมายให้ใน gps แต่ผมลืมถามวิธีตั้งจุดหมายกลับบ้านเสียสนิท gps ของเขานั้นเป็นภาษาญี่ปุ่นล้วน พยายามป้อนชื่อเมืองเข้าไปได้ผลลัพธ์ออกมาหลายแสน POI สุดท้ายจนปัญญาก็เลือกสุ่มๆมาจุดหนึ่งในเมืองนั้น มาถึงแล้วอาศัยถามชาวบ้านเอา เขาพยายามช่วยเราอย่างมาก แต่เขาพูดภาษาอังกฤษได้น้อยมาก ส่วนผมพูดภาษาญี่ปุ่นไม่ได้เลย สุดท้ายขับกลับบ้านได้ เพราะมีแม่บ้านลูกเล็กท่านหนึ่งช่วยขับนำทางไปจนถึงสถานีรถไฟ ซึ่งแถวนั้นผมรู้จักทางแล้วครับ ชื่นชมน้ำใจคนญี่ปุ่นจริงๆ

ผมมีป้ายที่ถ่ายมาจากข้างทางหลวงในเยอรมันมาฝาก เชิญท่านทั้งหลายลองทายกันดูว่าหมายถึงอะไรนะครับ



บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
หน้า: 1 ... 35 36 [37]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.083 วินาที กับ 19 คำสั่ง