เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 25 26 [27] 28 29 ... 37
  พิมพ์  
อ่าน: 171901 เก็บตกมาจากการเดินทาง
พวงแก้ว
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 390  เมื่อ 28 พ.ย. 12, 23:13

มีเพื่อนที่เป็นนักท่องเน็ต ช่วยค้นหาให้ ไปเจอภาคภาษาจีน จัดการโหลดมาลงแผ่น

กำลังเดินทางมาให้ชมถึงบ้าน ...ดีใจมากคะ เหมือนได้พบเพื่อนเก่าที่จากกันไป

ไม่รู้ว่าจะได้เจอกันอีกไหม แล้วโชคก็ช่วย...ขอบคุณกระทู้นี้ที่ทำให้นึกได้คะ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 391  เมื่อ 30 พ.ย. 12, 18:40

หายไปจากหน้าจอหลายวันครับ

ขอย้อนไปต่อเรื่องของการขอบคุณ อีกสักหน่อย
เมื่อเขาทำอะไรให้เรา เราก็ขอบคุณเขา  ในทำนองเดียวกัน เมื่อเราทำอะไรให้เขา เขาก็ของคุณเรา   ในภาษาไทย มันก็เป็นมารยาทที่เราก็จะตอบรับคำขอบคุณนั้น เช่น ไม่เป็นไรครับ ยินดีครับ วลีอื่นๆที่ใช้นอกจากที่กล่าวมานี้แทบจะไม่มี   ในโลกทางตะวันตก เขาก็มีเหมือนกัน แต่เขามีวลีที่ใช้มากกว่าเรา ซึงวลิทั้งหลายเหล่านั้น เรามักจะพูดไม่ออก นึกไม่ทัน ทำให้กลายเป็นมารยาทที่ไม่ดีของเราไป  วลีที่เราควรจำ ควรใช้ และมีความสุภาพ คือ  you're welcome และ my pleasure   ที่น่าสนใจก็คือ มีคนไทยจำนวนมากใช้คำตอบรับว่า no sweat ก็ไม่ทราบว่าเราไปถูกฝังมาตั้งแต่เมื่อใดว่า มีความหมายตรงกับคำว่า ไม่เป็นไร  คำนี้แท้จริงแล้วใช้กับเพื่อนหรือคนที่สนิท และเป็นไปในเชิงของความหมายว่า ไม่ได้ทำให้เดือดร้อน (ที่ได้ช่วยเหลือ)  จึงเป็นคำที่ไม่ค่อยจะสุภาพในนัยหนึ่ง พยายามลบออกคำนี้ความจำไปได้เลยครับ

ทำให้นึกถึงคำทักทายอีกด้วย หากไม่เคยรู้จักกันเลยและเป็นการพบกันครั้งแรก ใช้คำว่า How do you do คำตอบคงรู้กันแล้วว่าจะตอบอย่างไร แต่เมื่อรู้จักกันแล้ว หรือรู้สึกสนิทกัน หรือพบกันค่อนข้างบ่อย จึงมักจะใช้คำว่า How are you    เห็นคนไทยใช้คำว่า How are you กันจนเป็นปรกติ  กลายเป็นมารยาทที่ไม่ค่อยจะดีเท่าใดนัก  ฝรั่งเขาก็ถือการใช้คำพูดที่เหมาะสมกับระดับความสนิทสนมเหมือนกับเราเหมือนกัน

เคยได้ยินโจ๊กเรื่องหนึ่งใหมครับ
ผู้นำฝ่ายหนึ่งไม่สันทัดการใช้ภาษาอังกฤษมากนัก แต่ก็พยายามจะพูดเพื่อทำให้ดูเป็นมิตรและสร้างความอบอุ่นในสัมพันธภาพ ลงมาจากเครื่องบินพบฝ่ายเจ้าบ้านก็จับมือแล้วก็ทักทาย พูดว่า Who are you (พูดผิดไปจากที่ท่องจำมาว่า How are you) ฝ่ายเจ้าบ้านเป็นคนติดตลก ก็ตอบไปว่า I am Ms.  ... husband. Thank you, and you? ผู้มาเยือนก็ตอบไปตามที่ท่องมาว่า Me too. 
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 392  เมื่อ 30 พ.ย. 12, 19:00

ดิฉันไม่ค่อยจะได้ใช้ How do you do?  เข้าใจว่าคนอังกฤษ และอเมริกันทางฝั่งตะวันออกซึ่งได้รับอิทธิพลของอังกฤษอยู่มาก นิยมใช้กัน  แต่ทางฝั่งตะวันตก   ยังไม่เคยได้ยินใครฮาวดูยูดู    ถ้าเจอคนวัยเดียวกัน ไม่มีพิธีรีตองอะไรมาก  พอถูกแนะนำให้รู้จักกัน  ก็ Nice to meet you  เขาก็ตอบมาด้วยประโยคเดียวกัน  
แต่ถ้าอีกฝ่ายเขาค่อนข้างจะมีเกียรติมีหน้ามีตา หรืออายุมากกว่า เป็นท่านอะไรสักคน   ก็ต้องเติมประโยคให้ครบ I'm very pleased to meet you. หรือลดดีกรีพิธีรีตองหน่อยก็ It's very nice to meet you.  
จากนั้น พูดจาสนทนากันตามมารยาทสองสามคำ พอจะผละไปเพราะถึงเวลาต้องไปคุยกับคนอื่น ก็ nice meeting you. เปลี่ยนคำกริยาจาก to meet มาเป็น meeting  เพราะเจอกันแล้ว

แต่ถ้าเดินสวนกัน  เรามองหน้าเขาหรือเขามองหน้าเรา ทั้งๆเป็นคนแปลกหน้า  ก็ต้องยิ้ม เขาก็ hello เราก็ hello กลับ หรือสั้นกว่านี้ก็ Hi เฉยๆ แล้วเดินต่อไป  ไม่ต้องไปหยุดถามไถ่ทุกข์สุขกันมากกว่านั้น  เขาจะตกใจเอา

อย่างอื่นก็อย่างที่คุณตั้งบอกละค่ะ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 393  เมื่อ 30 พ.ย. 12, 19:31

คำทักทายอีกคำหนึ่งที่เราคงจะต้องใช้ให้ติดปาก เป็นคำที่ใช้กันทั้งวัน คำว่า Good Morning อรุณสวัสดิ์ ใช้ในช่วงเช้าถึงก่อนเที่ยง ใช้ไปเถอะครับกับทุกคนที่พบ จะย่นย่อเหลือ morning คำเดียวก็ยังได้อยู เขาก็จะตอบกลับมาด้วยคำนี้เหมือนกัน   เราอาจจะรู้สึกกระดากปากและรู้สึกขัดกับช่วงเวลาที่จะใช้คำนี้ในตอนสายมากๆแล้ว ก็ใช้คำว่า Good day ก็ได้ หรือเลี่ยงไปเลยใช้คำว่า Hi หรือ Hello ก็ได้  หลังบ่ายไปตลอดจนไม่ว่าจะเริ่มโพล้เพล้จึงใช้คำว่า Good Afternoon  หลังโพล้เพล้มืดค่ำแล้วจึงใช้คำว่า Good Evening   คำว่า Goodnight ใช้เพียงสองกรณี คือ เมื่อจะลากลับหรือจากกันในช่วงมืดค่ำจริงๆ และเมื่อจะเข้านอน

คนอิตาลีมีคำทักทายที่ค่อนข้างง่ายและมีความสุภาพพอสำหรับการใช้ในวาระที่ไม่เป็นทางการ คือ คำว่า salve (เรามักจะได้ยินคล้ายเสียงว่า เชาวววว) และอีกคำหนึ่งว่า Ciao (เรามักจะได้ยินคล้ายเสียงว่า เซ หรือ ซี) คำหลังนี้ใช้ในความหมายว่า bye เมื่อจากกันอีกด้วย

คนออสเตรียมีคำทักทายอีกแบบหนึ่ง ใช้เหมือนกับคำว่า สวัสดี ของคนไทย คือ คำว่า Gruss gott ใช้ได้ทั้งวัน  แถมหากเป็นผู้หญิงยื่นมือให้เพื่อจะเช็คแฮนด์ ก็อาจจะถูกจับมือยกขึ้นไปจุมพิตอีกด้วย (ไม่ได้ทำการจุมพิตจริงๆหรอกครับ เป็นเพียงการแสดงการให้เกียรติแก่สตรีผู้นั้นอย่างสูง) ยังเป็นสิ่งที่ปฏิบัติกันอยู่ในปัจจุบันนะครับ

ที่เล่ามาก็เป็นการแสดงถึงอัธยาศัยต่างๆที่พึงกระทำในต่างประเทศ    แต่ละประเทศ แต่ละชาติพันธุ์ แม้จะไม่เหมือนกัน แต่อย่างน้อยก็พอจะทำให้เราได้รับการต้อนรับ การช่วยเหลือ และความเห็นอกเห็นใจในช่วงที่เราเดินทางไปในต่างถิ่น

ระวังไว้เหมือนกันสำหรับบางประเทศและบางกลุ่มคน  คนฝร้่งเศส เยอรมัน ออสเตรีย และญี่ปุ่น ไปใช้ภาษาของเขาตอบรับ yes, no แบบแสดงตนเป็นผู้รู้ อาจจะได้รับการตอบสนองแบบเขาไม่ยอมที่จะพูดภาษาอังกฤษโต้ตอบกับเราอีกเลย  

การเดินทางไปท่องเที่ยวในต่างประเทศ จึงควรที่จะใช้ภาษาอังกฤษล้วนๆไปเลย    บังคับให้เขาใช้ภาษาอังกฤษกับเรา มากกว่าที่จะถูกเขาบังคับให้เราต้องไปเข้าใจในภาษาที่เขาพูด  

บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 394  เมื่อ 30 พ.ย. 12, 19:58

ที่คุณเทาชมพูบอกกล่าวมานั้น ถูกต้องเลยครัีบ   

ประโยคเหล่านั้น ก็ใช้กันเป็นสากลในยุโรปเหมือนๆกันครับ  เป็นการใช้ในลักษณะกึ่ง formal อีกด้วย ในนัยว่าเรามีสถานะภาพทางสังคมทัดเทียมกัน ไม่เกี่ยวกับวัย ระดับชั้นยศและตำแหน่ง   ทั้งนี้ทั้งนั้น ทั้งหมดที่ผมกล่าวมาและที่คุณเทาชมพูได้กล่าวมา ยังขึ้นอยู่กับกริยาท่าทางที่ใช้ประกอบร่วมกับคำพูดเหล่านี้อีกด้วยครับ 

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 395  เมื่อ 01 ธ.ค. 12, 08:32


ทำให้นึกถึงคำทักทายอีกด้วย หากไม่เคยรู้จักกันเลยและเป็นการพบกันครั้งแรก ใช้คำว่า How do you do คำตอบคงรู้กันแล้วว่าจะตอบอย่างไร แต่เมื่อรู้จักกันแล้ว หรือรู้สึกสนิทกัน หรือพบกันค่อนข้างบ่อย จึงมักจะใช้คำว่า How are you    เห็นคนไทยใช้คำว่า How are you กันจนเป็นปรกติ  กลายเป็นมารยาทที่ไม่ค่อยจะดีเท่าใดนัก  ฝรั่งเขาก็ถือการใช้คำพูดที่เหมาะสมกับระดับความสนิทสนมเหมือนกับเราเหมือนกัน

ถ้าจะแปลเทียบกับวัฒนธรรมไทย   How do you do  ก็พอจะเทียบได้กับ สวัสดีครับ หรือ เป็นเกียรติ(หรือยินดี) ที่ได้รู้จักครับ    ส่วน How are you นั้น พอจะเทียบได้กับ "เป็นไงมั่งล่ะคุณ"   
ถ้าได้รับการแนะนำให้รู้จักกันครั้งแรก   เราคงไม่ทักใครคนนั้นว่า "เป็นไงมั่งล่ะคุณ"  จริงไหมคะ   แต่ถ้าเจอกันบ่อยๆจนคุ้นหน้าคุ้นตากันดี  ก็ค่อยพูดกันได้ไม่เป็นไร
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 396  เมื่อ 01 ธ.ค. 12, 18:07

^
ครับ ก็เป็นเช่นนั้น

พบกันแล้ว ทักกันด้วยคำพูดแล้ว ก็ไปถึงการจับมือ   ผู้ชายจะต่างคนต่างยื่นมือออกมาเพื่อจับมือกัน  สำหรับกรณีชายกับหญิง เป็นมารยาทอย่างหนึ่งที่ฝ่ายชายจะไม่ยื่นมือออกไปก่อน จะต้องรอให้ฝ่ายหญิงยื่นออกมาเสียก่อน     สำหรับผู้ชายด้วยกัน จับมือก็คือจับมือ คือต้องกระชับให้แน่น นั่นหมายถึงมีการบีบเล็กน้อย และก็มิใช่บีบกันจนเจ็บมือ หรือไม่มีการบีบเลย   ระหว่างชายกับหญิง ก็จะต้องจับแบบกระชับเหมือนกัน ไม่มีการบีบ แต่ก็มิใช่จับแบบหยิบ ยกเว้นในงานที่เป็นพิธีและเป็นทางการและในกรณีที่ฝ่ายหญิงมีระดับชั้นยศหรือฐานะทางสังคมที่สูงกว่า ที่การจับมือจะออกไปทางสัมผัสและเป็นลักษณะหยิบมากกว่าจับแบบประสานเต็มมือ เราจะจับมือพร้อมไปกับการก้มศรีษะเล็กน้อย

หลังจากจับมือแล้ว ในบางประเพณีวัฒนธรรมก็มีการสวมกอดด้วย ไปถึงขั้นเอาแก้มชนกันก็มี (cheek to cheek) หรือจุ๊บก็มี (cheek kissing)  ทำกันระหว่างชายกับชายก็มี หญิงกับชายก็มี หญิงกับหญิงก็มี  การกระทำดังกล่าวนี้ มิใช่เรื่องที่จะทำกันเปรอะหรือเป็นปรกติ มันเป็นการกระทำที่สื่อความหมายในบางเรื่อง เช่น ต่างคนต่างก็ได้ยินหรือรู้จักชื่อกันมานาน ติดต่อกันมานานโดยไม่เคยพบกันเลย ซึ่งต่างคนต่างก็นิยมชมชอบในการกระทำของแต่ละคน เป็นต้น  ช่วงตรงนี้แหละครับที่จะมีการพูดว่า nice to meet you หรือ ...very please to meet you หรืออื่นๆ

ผมเคยเจอ แต่ไม่ได้เป็นฝ่ายเริ่มต้น ก็มีทั้งที่ยังอยู่ในวัยสาวและที่เป็นผู้สูงอายุ  ก็เพิ่งได้รู้ว่าหญิงฝรั่งที่เป็นผู้สูงอายุนั้น ก็มีการโกนขนที่ใบหน้า เหมือนผู้ชายโกนหนวดโกนเครา ขนขาวๆที่มองไม่ค่อยจะเห็นนั้น แข็งเอาเรื่องเลยทีเดียว   

บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 397  เมื่อ 01 ธ.ค. 12, 18:29

ก่อนจะลืมไป ขอแทรกเรื่องการพูดไว้อีกนิดนึงครับ

เรื่องของการปฏิเสธ 
คนไทยค่อนข้างจะเป็นคนขี้เกรงใจพอสมควรในกรณีการปฏิเสธกับคนต่างชาติ ทั้งๆที่เราเองก็มีคำปฏิเสธที่เด็ดขาดเหมือนกับของเขา....ไม่ครับ ขอบคุณ...  ส่วนมากคนไทยจะไม่ใช้คำว่า No thanks ซึ่งเป็นคำที่ใช้ได้อย่างสุภาพเพียงพอและแทบจะใช้ได้ในทุกกรณีหรือทุกสถานการณ์  เรากลับไพล่ไปใช้คำว่า no sweat (ไม่เป็นไร) แทน  คนต่างชาติก็งงซิครับ  บางทีก็หนักไปกว่านั้น เริ่มด้วยคำว่าขอบคุณแล้วต่อด้วยคำอธิบายเหตุผลในการปฏิเสธ  ก็เลยงงกันทั้งสองฝ่าย กลายเป็นเรื่องไปใหนมาสามวาสองศอก กลายเป็นปฏิบัติการค้างไม่รู้ว่าจะลงจากเรื่องนี้อย่างไรดี เก้ๆกังๆกันทั้งคู่

No thanks เป็นคำที่ควรจะใช้ให้ติดปากเมื่อจะเดินทางไปใหนๆในต่างแดนครับ และก็ไม่จำเป็นที่จะต้องต่อไปด้วยคำอื่นๆอีก 
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 398  เมื่อ 01 ธ.ค. 12, 21:05

ขอแถมเรื่องคำปฏิเสธอีกนิด  นึกขึ้นได้ค่ะ
คำว่า  no ของฝรั่ง ใช้นำหน้า แล้วต้องต่อด้วยประโยคปฏิเสธเสมอ      ผิดกับคนไทยที่เอ่ยคำว่า ไม่ แล้วก็ต่อด้วยประโยคตอบรับก็ได้    เข้าใจกันดีทั้งสองฝ่าย
ถ้าแม่ถามลูกว่า "วันนี้ไม่ไปหาเพื่อนหรือ "  ลูกตอบว่า "ครับ  วันนี้ไม่ไป"   แม่ก็เข้าใจดีว่าไม่ไป
แต่ฝรั่งจะงง   เพราะถ้าถามว่า Aren't you going to  see your friend to day?   ลูกตอบว่า Yes , I'm not   แม่ไม่รู้ว่าจะไปหรือไม่ไปกันแน่    
ถ้า yes, ก็คือไป   ถ้าไม่ไป ต้อง no  นำหน้า  จะมา yes แล้วต่อด้วยคำปฏิเสธแบบไทยไม่ได้

ถ้าแอร์หรือสจ๊วตต่างชาติเห็นคุณไม่แตะอาหารบนเครื่องเลย  จะเป็นเพราะกินไม่ลงหรือเมาเครื่องบินก็ตาม   เขาเกิดหวังดี  ถามว่า ไม่รับประทานอะไรเลยรึคะ/ครับ    เราเผลอไปตอบ yes เข้า  แทนที่จะกลายเป็น ครับ ไม่กิน  (คุณยกไปได้เลยครับ)  กลายเป็นว่า ครับ  กินครับ  เขาก็เลยไม่ยกอาหารกลับไป  เราก็อาจจะพาซื่อสงสัยว่าทำไมไม่ยกไปสักที

บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 399  เมื่อ 02 ธ.ค. 12, 19:33

ไปต่อกันเรื่อง ทิป

ตั้งแต่เดินทางมา เห็นอยู่เพียงสองประเทศจริงๆที่ไม่ต้องให้ทิป คือ ออสเตรีย กับ ญี่ปุ่น ทั้งสองประเทศนี้ไม่รับทิปจริงๆ อย่าไปทำเลยนะครับ  เขาเห็นว่าเป็นการดูถูก จะว่าเป็นการดูถูกอย่างมากเอาเลยทีเดียวก็ได้ เขาถือว่างานที่เขาทำก็มีเกียรติเหมือนกับงานที่ทุกคนทำ เป็นเพียงลักษณะงานที่ต่างกัน รายได้ก็พอๆกับงานลักษณะอื่นๆ และก็เป็นงานเป็นหน้าที่ในความรับผิดชอบของเขา

สุดยอดที่เคยพบมาคือที่ออสเตรีย ครั้งหนึ่งมีงานเลี้ยงใหญ่ คนประมาณ 50 คน คือ คนของเราเต็มพื้นที่ส่วนหนึ่งของร้าน  ตามปรกติ พนักงานเขาจะรับผิดชอบแบ่งเป็นโซนและจำนวนโต๊ะ คนหนึ่งก็ประมาณ 10 โต๊ะ ก็มีพนักงานสองคน เป็นร้านซี่โครงหมูย่าง ตามธรรมเนียมของเขา เขาก็จะมาถามเป็นโต๊ะๆที่ละโต๊ะว่าจะสั่งอะไรกัน  เราเห็นไม่ทันการแน่ๆ ก็เลยบอกว่าเอาอย่างนี้  ยกเบียร์มาเป็นถาดเลย ไม่ต้องถามว่าใครจะกินหรือไม่ เดี๋ยวหมดเอง พนักงานก็งง เห็นท่าว่าจะไม่ทันการใดๆแน่ๆ เราก็เอาเงิน 4000 ชิลลิ่ง (ก่อนจะเปลี่ยนเป็นยูโร) ยัดใส่มือ บอกเก็บไว้ก่อน เดี๋ยวค่อยว่ากัน แล้วบอกว่าเอาซี่โครงหมูย่างมา วางไปเลยตามโต๊ะต่างๆ จนกว่าจะบอกว่าพอ   พอเสร็จงาน คิดเงินเสร็จ จะกลับแล้ว พนักงานก็เอาเงินที่ทิปล่วงหน้าไปนั้นมาคืนให้ 2000 ชิลลิ่ง แล้วบอกว่ามากเกินไป  เคยเห็นที่ใหนใหมครับว่า มีการทอนเงินค่าทิป   เลยต้องขอถอนคำพูดว่าที่ออสเตรียไม่มีทิป อันนี้เป็นกรณีพิเศษจริงๆครับ

บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 400  เมื่อ 02 ธ.ค. 12, 19:46

การทิปตามปรกติก็จะเป็นเรื่องในร้านอาหาร  ก็จะให้ประมาณ 10% ของบิลที่เรียกเก็บสำหรับอาหารมื้อนั้นๆ  เป็นนักท่องเที่ยวคงไม่ต้องคิดมาก จะขาดจะเกินเล็กน้อยหรือไม่ให้เลยก็คงไม่เป็นไร (แต่อาจจะเป็นผลสำหรับคนไทยรุ่นหลังๆที่มาเที่ยว)   10% นี้คิดค่อนข้างง่าย คิดว่าในสหรัฐฯในปัจจุบันนี้ต้องให้ทิป 15% อันนี้คิดยากขึ้น แถมต้องทิป (?) หรือจ่ายค่าของหรือกระเป๋าที่ใส่ในที่เก็บของท้ายรถแท็กซี่ นับเป็นจำนวนแต่ละชิ้นอีกด้วย  คุณเทาชมพูคงจะให้ความกระจ่างได้ดี   เรื่องค่าบรรทุกของทีใส่ท้ายรถนี้ ไม่เคยเจอในประเทศอื่นๆเลยครับ

ในกรณีที่จ่ายด้วยบัตรเครดิต แล้วไม่มีเงินสดพอทิป จะทำอย่างไรดี  มันก็มีวิธีการ คุณเทาชมพูก็จะเล่าได้ดีอีกเช่นกันครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 401  เมื่อ 02 ธ.ค. 12, 20:00

ในเรื่องทิป อเมริกาตรงข้ามกับญี่ปุ่นและออสเตรียเลยละค่ะ    เขาถือว่าทิปเป็นส่วนหนึ่งของแรงงาน    ไม่มีเงิน ก็ไม่มีงาน    ถ้าพนักงานทำอะไรให้แม้แต่เล็กน้อยเช่นถือไก่ย่างเคเอฟซีมาส่งให้ที่รถ เราก็ต้องทิป    ถ้าไม่ทิปเพราะไม่รู้อีโหน่อีเหน่ตามประสาคนไปต่างแดนใหม่ๆ  คราวหน้าเขาไม่เดินมาส่งให้   

เรื่องแทกซี่กับจำนวนกระเป๋านี้ดิฉันไม่รู้จริงๆค่ะ    เพราะไปอเมริกาทีไรไม่เคยนั่งแทกซี่    มีเจ้าภาพเอื้อเฟื้อเวลาไปไหนมาไหน    ถ้าไม่มีเจ้าภาพ  เราก็ขับรถของเราเอง   ต้องส่งลูกตบกลับไปให้คุณตั้งอีกครั้ง 
อีกอย่างพวกเราเป็นคนเคยชินกับกระเป๋าใบเดียว   ไม่หิ้วอะไรพะรุงพะรังอยู่แล้ว    ต่อให้ขึ้นแทกซี่ก็ไม่ต้องนับกระเป๋าอยู่ดีละค่ะ

ส่วนคำถามสุดท้าย ถ้าเงินสดไม่พอทิป  มีแต่บัตรเครดิต จะทำยังไง    คำตอบคือเวลาไปกินอาหาร เขาส่งสลิปใบเสร็จมาให้ว่าค่าอาหารมื้อนั้นเท่าไหร่    เราก็เขียนด้วยลายมือ บวก 10 หรือ 15% ลงไปบนสลิปนั้น    จากนั้นเขาก็ชาร์จค่าทิปรวมเข้าไปเวลารูดบัตร   เป็นอันเสร็จ   ไม่ต้องควักเงินสดออกมานับให้เสียเวลาว่าจะขาดจะเกินหรือไม่

ตอบการบ้านได้แค่นี้ค่ะ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 402  เมื่อ 02 ธ.ค. 12, 20:33

เรื่องแทกซี่กับจำนวนกระเป๋านี้ดิฉันไม่รู้จริงๆค่ะ    เพราะไปอเมริกาทีไรไม่เคยนั่งแทกซี่    มีเจ้าภาพเอื้อเฟื้อเวลาไปไหนมาไหน    ถ้าไม่มีเจ้าภาพ  เราก็ขับรถของเราเอง   ต้องส่งลูกตบกลับไปให้คุณตั้งอีกครั้ง 
อีกอย่างพวกเราเป็นคนเคยชินกับกระเป๋าใบเดียว   ไม่หิ้วอะไรพะรุงพะรังอยู่แล้ว    ต่อให้ขึ้นแทกซี่ก็ไม่ต้องนับกระเป๋าอยู่ดีละค่ะ

สมัยก่อนนั้น แท็กซี่คิดใบละ 50 เซ็นต์ คอนหลังนี้ไม่ทราบ  คิดแม้กระทั่งกับจำนวนถุงกระดาษที่ใส่ของช๊อปปิ้งมาจากซุปเปอร์มาเก็ต  เสียค่ารถตามมิเตอร์แล้ว ยังต้องเสียค่าเปิดกระโปรงท้าย (ค่าขนของแต่ละชิ้นอีกด้วย) แถมทิปคนขับอีก หยุมหยิมและแยอะแยะทีเดียวครับ

ส่วนคำถามสุดท้าย ถ้าเงินสดไม่พอทิป  มีแต่บัตรเครดิต จะทำยังไง    คำตอบคือเวลาไปกินอาหาร เขาส่งสลิปใบเสร็จมาให้ว่าค่าอาหารมื้อนั้นเท่าไหร่    เราก็เขียนด้วยลายมือ บวก 10 หรือ 15% ลงไปบนสลิปนั้น    จากนั้นเขาก็ชาร์จค่าทิปรวมเข้าไปเวลารูดบัตร   เป็นอันเสร็จ   ไม่ต้องควักเงินสดออกมานับให้เสียเวลาว่าจะขาดจะเกินหรือไม่

ครับ สลิปสำหรับเซ็นชื่อจะมีช่องใ้ห้บวกเพิ่มค่าทิป  สมัยก่อนนั้นต้องคิดว่าจะเป็นตัวเลขเท่าไร แล้วก็ต้องบวกรวมให้เสร็จว่าการรูดครั้งนั้นๆจะรวมเป็นเงินเท่าใด   ฟังจากคุณเทาชมพูแล้ว สมัยนี้ง่ายมาก เพียงเขียนว่าจะ + กี่เปอร์เซ็นต์ก็พอแล้ว
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 403  เมื่อ 03 ธ.ค. 12, 18:20

เมื่อการทิปกลายเป็นส่วนหนึ่งของค่าใช้จ่ายที่ผนวกเข้ามาในการใช้จ่ายของเรา กลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่จะต้องกระทำ กลายเป็นเรื่องที่อาจจะถูกทวงถามเอาหรือถูกพูดกระทบแรงๆ  เราก็คงต้องคิดแล้วละครับว่า ในการเดินทางครั้งหนึ่งๆนั้น หากเราจะไม่ยอมทำอะไรด้วยตนเองเลย เราก็จะต้องบวกเงินที่ต้องจ่าย (ที่จ่ายไปกับการให้ทิปนี้) ไปอีกประมาณ 10%  ก็เป็นเงินมากโขอยู่นะครับ   การเดินทางของเราจึงต้องพยายามลดการพึ่งพาอาศัยการบริการโดยบริกรให้เหลือน้อยที่สุด   

ปัญหามันมีอยู่อย่างหนึ่ง คือ เมื่อจะออกเดินทาง เราก็จะต้องมีการแลกเงิน ซึ่งเรามักจะไม่นิยมเงินปลีก เหรียญหรือธนบัตรใบเล็กๆ  เมื่อถึงเวลาจำเป็นจะต้องให้ทิป เราก็จะไม่มีเศษเงินเพียงพอ     คงจะต้องถือเป็นกฏไว้อย่างหนึ่งว่า เมื่อใดจะเดินทาง เราควรจะต้องมีเงินย่อยติดกระเป๋าไว้พอสมควร หากไม่ได้มาจากการแลกเงิน ก็ต้องพยายามแตกเงินให้เป็นใบย่อยๆด้วยการซื้อของแถวสนามบินที่จะบินออกไปนั้น โดยขอรับเงินทอนเป็นสกุลเงินของประเทศปลายทางที่เราจะเดินทางไป   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 404  เมื่อ 03 ธ.ค. 12, 18:50

เลยต้องต่อไปเรื่องของการใช้เงิน

การใช้เงินในสหรัฐฯก็มีปัญหาเหมือนกัน ธนบัตรใบละ 100 ดอลลาร์ มีปัญหาการปลอมแปลงมาก การจ่ายเงินสดจำนวนมากๆด้วยธนบัตรใบละร้อยจึงมักจะมีปัญหา ไม่รับบ้าง ถูกสอบถามบ้าง หรือไม่ก็ถูกขอให้ชำระด้วยบัตรเครดิต หรือด้วย personal cheque    ในทำนองเดียวกัน การจ่ายด้วยธนบัตรใบละ 20 ดอลลาร์จำนวนมากในคราวเดียวกันก็มีปัญหาเหมือนกัน กรณีธนบัตรใบละ 20 นี้ไม่ใช่เรื่องของธนบัตรปลอม แต่เป็นเรื่องของที่มาอันไม่บริสุทธิ์ของเงิน คือ อาจจะถูกมองว่า มาจากการค้ายาหรือของผิดกฏหมายอื่นๆ     การใช้เงินจับจ่ายใช้สอยในสหรัฐฯที่ดีที่สุดและสะดวกที่สุด ก็คือ การใช้บัตรเครดิต  คุณเทาชมพูคงจะยืนยันได้   แต่ก็อย่าลืมขอขยายวงเงินการใช้บัตรและช่วงคาบเวลาก่อนการเดินทางนะครับ   

ในยุโรปไม่ค่อยจะมีปัญหาเหมือนกับอเมริกา แท้จริงแล้วประเทศในยุโรปยังนิยมใช้เงินสดมากกว่าการรูดบัตร บางแห่ง การรูดบัตรดูจะเสียเวลามากกว่าการใช้เงินสดเสียด้วยซ้ำไป     หากเป็นญี่ปุ่น ใช้เงินสดเลยครับ การใช้บัตรค่อนข้างจะกลายเป็นเรื่องยุ่งและช้ามากๆ   

อย่างไรก็ตาม ก็ต้องควรจะระวังเรื่องการใช้บัตรเหมือนกัน โดยเฉพาะในประเทศย่านเอเซียทั้งหลาย  ผมเคยโดนเมื่อครั้งอยู่ในญี่ปุ่นแล้วกลับมารูดบัตรที่เมืองไทยในห้างดัง มาธุระคืนเดียว รูดครั้งเดียว เจอดีเลย  ดีว่าไ้ด้เห็นทันการจึงได้แจ้งทันและยกเลิกการใช้บัตรหมายเลขนั้นๆ 

 
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 25 26 [27] 28 29 ... 37
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.088 วินาที กับ 20 คำสั่ง