เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 18 19 [20] 21 22 ... 37
  พิมพ์  
อ่าน: 171899 เก็บตกมาจากการเดินทาง
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 285  เมื่อ 18 ส.ค. 12, 18:55

เคยเห็นแต่ต้นพลับที่ปลูกไว้ในบ้าน ไม่เคยมีใครชวนชิมสักที  หาความรู้จาก คุณวิกกี้ เธอบอกว่าพลับมีทั้งพันธุ์หวานและฝาด

ต้องถามคุณตั้งว่า พันธุ์ที่ปลูกในและหน้าบ้าน หวานหรือฝาด 

 ฮืม
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 286  เมื่อ 18 ส.ค. 12, 20:36

กลับมาแล้วครับ ถอยรถเขาบ้านเสร็จก็รีบเปิดอ่านเรือนไทยแบบเร็ว
ขอตอบเรื่องลูกพลับก่อนครับ

เท่าที่ประสบมา ลูกพลับที่ขายกันในญี่ปุ่นนั้นมี 2 รูปทรง คือ ทรงเหลี่ยม และ ทรงรูปไข่ (ใบใหญ่ๆ)   
ที่คนญี่ปุ่นนิยมซื้อกินแบบสดๆกันนั้นเป็นทรงรูปสี่เหลี่ยมแป้น (เหมือนมีอยู่สี่โหนกพู) และนิยมกินแบบที่เนื้อไม่นิ่มเละ คือ สุกแบบที่เนื้อยังกรอบอยู่ แล้วก็ต้องกรอบแบบนิ่ม มิใช่กรอบแบบแข็งๆ   เป็นลูกพลับคล้ายกับที่เราเห็นเอามาวางขายกันอยู่ในท้องตลาดขณะนี้ (ผลละประมาณ 5 บาท)   ที่ผมไม่ทราบก็คือ ต้นกำเนิดของสายพันธุ์ลูกพลับรูปทรงที่ว่านี้เป็นของจีนหรือของญี่ปุ่น  ที่แน่ๆก็คือที่เห็นวางขายในท้องตลาดของไทยนั้นนำเข้ามาจากจีนแน่ๆ  ซึ่งพันธุ์นี้ก็เป็นพันธุ์ที่ญี่ปุ่นทำสวนปลูกขายกันอยู่ในญี่ปุ่น
สำหรับพันธุ์ที่มีผลเป็นทรงรูปไข่นั้น คนญี่ปุ่นไม่นิยมนำมากินสดๆกัน แต่นิยมที่จะเอามากินแบบเอามาตากแห้ง  ซึ่งก็มิใช่พลับแห้งในลักษณะและรูปแบบที่คนจีนเขาทำกัน (อย่างที่มีขายกันในไทย) คือ ทับให้แบนตากให้แห้งแข็ง มีคราบขาวๆติอยู่ตามผิว   พลับแห้งของญี่ปุ่นที่ทำกันนั้นจะเป็นทรงทับแบนเหมือนกัน แต่จะไม่แห้งจนแข็ง จะเป็นเนื้อนิ่มๆ ไม่มีคราบขาวๆ พลับแห้งที่คนญี่ปุ่นทำนี้มีราคาค่อนข้างสูง จะไม่ค่อยเห็นวางขายในตลาด แต่ละผลจะใส่ในซองพลาสติกแยกจากกัน   ผมคิดว่าคงจะไม่ค่อยมีคนได้เห็นและรู้จักกัน  เนื่องจากมันเสียง่ายมาก จึงเป็นลักษณะของการทำออกมาขายน้อย และมักจะใช้วิธีสั่งผู้ขายว่าจะเอาวันใหน  ได้มาแล้วก็เก็บได้อีกสองสามวันเท่านั้น  สำหรับผมนั้นเห็นว่าเป็นของที่มีรสชาติอร่อยมากเลยทีเดียว   
ผมได้มีโอกาสเห็นวิธีการทำและได้เคยสนทนาก้บคนทำ (ผ่านล่าม)  เขาบอกว่าเขาจะใช้เฉพาะพลับทรงรูปไข่เท่านั้น ผลที่จะเก็บมาทำนั้นจะต้องมีก้านติดมาด้วย เมื่อลูกพลับแก่จัดได้ที่แล้ว เก็บมา เอาเชือกหรือด้ายผูกที่ก้านแล้วแขวนผึ่งแดดและลมสลับกันจนได้ที่ (หากจะเทียบเคียงก็คงจะคล้ายๆกับขนาดเนื้อของกล้วยตากที่ใช้กล้วยค่อนข้างสุก) จึงนำมากอให้แบนลง   จะเรียกว่าเป็นวิธีการถนอมผลไม้ก็คงไม่ผิดแต่ก็คงจะไม่ถูกนัก เพราะว่ามันก็เป็นวิธีการทำให้ความฝาดของลูกพลับหายไป

ถึงตรงนี้ คงพอจะเป็นคำตอบว่าสำหรับข้อสงสัยของคุญเพ็ญชมพูและคุณพวงแก้วแล้วนะครับ

สำหรับการทำให้ความฝาดของลูกพลับหายไปนั้น แต่เดิมนั้นใช้วิธีการแช่ลูกพลับในน้ำปูนขาว ซึ่งเป็นวิธีการปรกติแต่ดั้งเิดิมของพลับที่เราเรียกว่าพลับจีนทั้งหลาย พลับที่คนไทยปลูกกันก็ใช้วิธีนี้  แต่ในปัจจุบันนี้ วิทยาศาสตน์ก้าวหน้ามาก ผมเพิ่งสั่งซื้อมาเลยทราบ คนขายจะถามว่าจะเอาไปกินตั้งแต่วันใหน เมื่อคัดลูกพลับได้แล้วเขาก็เอาใส่ถุงพลาสติก ใส่ก๊าซเพื่ิอบ่มลงไปแล้วปิดถุง ใช้เวลาสักสามสี่วันก็กินได้แล้ว 
บันทึกการเข้า
พวงแก้ว
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 287  เมื่อ 18 ส.ค. 12, 23:49

ขอบคุณสำหรับคำตอบเรื่องลูกพลับ คุณตั้งกลับมาถึงบ้านเหนื่อยๆน่าจะพักก่อนก็ได้นะคะ

แต่ก็ขอบคุณอีกครั้งที่กรุณาตอบทันทีที่มาถึงค่ะ...


ต้องกลับไปพิจารณาอีกครั้งว่าพลับที่เห็นรูปทรงอย่างไรแน่ คิดว่ากลมแป้นมากกว่ารูปไข่

รู้สึกแปลกใจว่าพลับที่เห็นเหมือนเป็นการปลูกแบบไม่ค่อยตั้งใจ ไม่เหมือนผลไม้ที่ให้ผลแบบอื่นที่ตั้งใจปลูก

ทางไปเซ็นได มีพลับปลูกอยู่ ข้างถนนเหมือนมะม่วงแก้ว แถวบ้านเรา

เคยสงสัยว่า ถ้าพลับฝาดจนต้องทิ้งขว้าง น่าเสียดายเพราะคนไทยมีฝีมือเรื่องเอาชนะรสที่ขม หรือฝาด

เช่นบรเพ็ด  ตะลิงปลิง มะยม พุทรา ล้วนทานลำบากแต่คนไทยก็จัดการได้ อร่อยมาก

เมื่อคนญ๊่ปุ่นรู้วิธีปรับปรุงรสเช่นกันจึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจมากเช่นกันค่ะ
บันทึกการเข้า
พวงแก้ว
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 288  เมื่อ 19 ส.ค. 12, 22:16

เคยตั้งใจว่าถ้าไปญี่ปุ่นอยากไปดูสวนหิน ที่โด่งดัง แต่ไม่มีโอกาสสักที

ใครที่พอจะเล่าสู่กันฟังได้ กรุณาเล่าให้ฟังบ้างได้ไหมคะ

ทั้งเนื้อหิน ทั้งการออกแบบและปรัชญาที่แฝงไว้ คงน่าสนใจมาก
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 289  เมื่อ 20 ส.ค. 12, 14:11

คุณพวงแก้วต้องไปดูที่วัดเรียวอันจิ ทีเกียวโต

อ่านคำบรรยายไป ดูภาพไป อาจจะบรรลุสัจธรรมของเซนได้

 ยิงฟันยิ้ม


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ

คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ

คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ

คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 290  เมื่อ 20 ส.ค. 12, 14:24

ปริศนาจากสวนหิน โดย พระไพศาล วิสาโล

คงไม่มีก้อนหินที่ไหนสามารถดึงดูดความสนใจของผู้คนได้มากมายเท่ากับ กลุ่มก้อนหินที่วัดเรียวอันจิแห่งเมืองเกียวโต วัดนี้เป็นที่กล่าวขานทั่วโลกว่ามีสวนเซนที่งดงามและลึกซึ้งยิ่ง แต่สวนดังกล่าวหามีต้นไม้ขึ้นสักต้นไม่ ยกเว้นตะไคร่น้ำและมอสแล้ว ในสวนมีแต่ก้อนหินที่จับกันเป็นกลุ่ม ๆ บนลานกรวดล้วน ๆ แต่รูปลักษณ์และตำแหน่งของหิน รวมทั้งลูกคลื่นบนลานกรวดสีขาว กลับมีมนต์ขลัง ตรึงใจผู้คนมานานหลายศตวรรษแล้ว และคงจะต่อไปนานเท่านาน

สวนหินนั้นกำลังบอกอะไรแก่เรา ? ภูเขาทะยานพ้นก้อนเมฆ ? หมู่เกาะกลางสมุทร? ผู้คนในห้วงสังสารวัฏ? หรือโลกสมมติที่กำเนิดจากปรมัตถ์? นี้เป็นปริศนาที่สายตาทุกคู่พยายามหาคำตอบ แต่ไม่เคยมีคำเฉลยจาก “ศิลปิน” ผู้จัดสวนนี้เลย หรือว่าคำตอบที่แท้และถูกต้องที่สุดนั้นหามีไม่ จะมีก็แต่คำตอบจากใจของแต่ละคน เราคิดอย่างไร เรียนรู้มาอย่างไร ก็เห็นอย่างนั้น เด็ก ๆ อาจเห็นเพียงแค่ก้อนหินธรรมดา ขณะที่นักท่องป่าเห็นขุนเขาและเสือทะยาน ส่วนนักพรตเห็นความว่างเปล่าของชีวิต

แต่ไม่ว่าจะเห็นอะไร สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันก็คือ ไม่เคยมีใครเห็นก้อนหินในสวนแห่งนี้ครบ ๑๕ ก้อนเลยเลย ไม่ว่าจะมองจากมุมไหนในทิศทั้งสี่ เราจะเห็นก้อนหินได้อย่างมากที่สุดเพียง ๑๔ ก้อน หินหนึ่งหรือสองก้อนจะถูกบังและหลบหนีจากสายตาเราไปได้เสมอ

นี่เป็นปริศนาอีกข้อหนึ่งจากสวนหิน แต่ปริศนาข้อนี้ดูเหมือนจะเฉลยไม่ยาก พุทธศาสนาแบบมหายานนั้นถือว่า หมายเลข ๑๕ เป็นสัญลักษณ์แห่งความสมบูรณ์พร้อม สวนหินแห่งนี้อาจกำลังบอกเราว่า ปุถุชนคนเรานั้นไม่มีวันที่จะเห็นความจริงได้ครบถ้วน ไม่ว่าจะพยายามเพียงใด ย่อมมีความจริงบางส่วนบางแง่ที่เรามองไม่เห็น หรือคลาดจากสายตาของเราไป

ต้นไม้ในสายตาของบางคนหมายถึงอากาศและน้ำ ในสายตาของเด็ก ต้นไม้คือความสนุกที่จะได้ป่ายปีน แต่อีกหลายคน มันหมายถึงซุงที่สามารถแปรเป็นเงินได้ จริงอยู่เมื่อเอาทุกคนมายืนอยู่หน้าต้นไม้ ทุกคนย่อมเห็นต้นไม้เหมือนกัน กระนั้นความจริงบางส่วนก็ยังขาดหายไป ต้นไม้ที่เราแลเห็น ไม่ใช่แค่ต้นไม้เฉย ๆ หากยังมีดวงอาทิตย์ หมู่เมฆ หยาดฝน สายลม รวมอยู่ในนั้นด้วย ปราศจากองค์ประกอบดังกล่าว ต้นไม้ก็หามีอยู่ไม่ ถ้าเห็นต้นไม้ว่าเป็นเพียงแค่ต้นไม้ นั่นก็หมายความว่าเรายังเห็นต้นไม้ไม่ครบถ้วน ถึงที่สุดแล้วในต้นไม้แต่ละต้นนั้นมีโลกทั้งโลกอยู่ หรืออาจจะรวมทั้งจักรวาล ถ้าเช่นนั้นต้นไม้ที่เราเห็นก็เป็นเพียงแค่ส่วนเสี้ยวเดียวเท่านั้นของความจริง

บ่อยครั้งเรามักยึดถือเอาภาพที่เห็น เสียงที่ได้ยิน รวมทั้งความคิดนึกในใจเราว่าเป็นความจริงแท้ เมื่อเราเห็นบางคนมีอากัปกิริยาบางอย่าง เราก็อนุมานไปแล้วว่าเขากำลังคิดมิดีมิร้ายกับเรา แทนที่จะตระหนักว่านั่นเป็นแค่การคาดคะเน กลับทึกทักเอาว่าเป็นความจริง แล้วเราก็ยึดติดกับ “ความจริง” ดังกล่าว แล้วก็เลยเห็นการกระทำอื่น ๆ ของเขาไปในทางร้ายเสียหมด ครั้นมีคนอื่นมาท้วงติง ชี้ให้เห็นว่าเขาไม่ใช่เป็นคนอย่างนั้น เรากลับยืนกรานหนักแน่น เพราะเชื่อว่าสิ่งที่เราคิดนั้น “จริง” ส่วนคำทักท้วงของเขานั้น “ไม่จริง” หนักเขาก็ไม่พอใจ ฉุนเฉียว จนอาจเกรี้ยวกราด เพื่อนที่ท้วงติง ทั้งหมดนี้ก็เพราะไปหมายมั่นว่าความคิดของเรานั้นเป็นความจริงแท้

ผู้คนทุ่มเถียง วิวาท และเบียดเบียนกันซ้ำแล้วซ้ำเล่า ก็เพราะความหมายมั่นดังกล่าว หากเพียงแต่ทุกคนตระหนักว่าสิ่งที่ตนเห็นหรือคิดนั้น เป็นได้อย่างมากแค่ความจริงบางส่วนเท่านั้น

จิตใจเราจะเยือกเย็นลง และสังคมจะสงบสุขกว่านี้ เราจะอ่อนน้อมถ่อมตนลง และใจกว้างมากขึ้น เพราะตระหนักว่า ถึงแม้เขาเห็นต่างจากเรา แต่เขาก็อาจเข้าถึงความจริงในส่วนที่เรามองไม่เห็นก็ได้

คนที่ยึดมั่นถือมั่นกับความคิดความเห็นของตน เมื่อไปสวนหินวัดเรียวอันจิ ย่อมอดไม่ได้ที่จะโต้แย้งกับเพื่อนที่นั่งชมสวนคนละมุม เพราะเห็นก้อนหินไม่เท่ากัน คนหนึ่งยืนยัน ๑๓ อีกคนยืนยัน ๑๔ ตราบใดที่ยังยืนยันจากสิ่งที่ตนเห็น ก็ย่อมผิดทั้งคู่

ถ้าต้องการเห็นก้อนหินครบทั้ง ๑๕ ก้อนในสวนเรียวอันจิ มีทางเดียวเท่านั้น นั่นคือมองจากเบื้องบน หรือจากที่สูงมาก ๆ ไม่ใช่มองจากระดับพื้นดิน ความจริงแท้ก็เช่นกัน เราจะเห็นได้ก็ต่อเมื่อไม่ยึดติดกับความคิดและการรับรู้ของตัว หากพร้อมที่จะหลุดออกมาจากความคิดและการรับรู้ ยิ่งความจริงระดับปรมัตถ์ด้วยแล้ว ต่อเมื่อเราอยู่เหนือโลก ไม่ติดในโลก เราถึงจะเห็นหรือเข้าถึงได้

การติดในโลกหมายถึงติดยึดตัวตนหรือสิ่งที่สำคัญมั่นหมายว่าเป็นของตน ไม่ว่า ชื่อเสียง เงินทอง อำนาจ ตลอดจนความคิดความเชื่อ สิ่งเหล่านี้ใช่ว่าจะไร้ประโยชน์ แต่มันมีประโยชน์ต่อเมื่อรู้จักใช้ และรู้จักวาง ไฟฉายนั้นมีประโยชน์เมื่อใช้ส่องในความมืด แต่ถ้าเราถือไฟฉายไปตลอด จะกินข้าว เข้าห้องน้ำ มือก็ยังจับยังยึดไฟฉายไว้ ก็ย่อมติดขัด ในยามนี้สิ่งที่ควรทำเป็นอย่างแรกคือวางไฟฉายลง

รู้จักวางเสียบ้าง เราจะเห็นอะไรได้ชัดขึ้น และชีวิตจะเบาลงมาก
 
 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
พวงแก้ว
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 291  เมื่อ 20 ส.ค. 12, 16:56

ขอบคุณคุณเพ็ญชมพูคะ เคยไปเกียวโต แต่ไปไม่ถึงสวนหิน น่าเสียดาย...

ได้รับฟัง"ปริศนาจากสวนหิน โดยพระไพศาล วิสาโล" ก็รู้สึกเหมือนส่องกระจกดูเงาตัวเอง

คือแค่มนุษย์ปุถุชนอย่างเราจะเห็นอะไรมาก...ยังมีอะไรอีกมากที่เรามองไม่เห็น...

เป็นสัจจะธรรม ที่จริงแท้คะ

ปรัชญาเซ็นอ่านทีไรก็ได้สติและปัญญาทุกที ขอบคุณคะ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 292  เมื่อ 21 ส.ค. 12, 18:20

พูดถึงสวนหินที่วัดเรียวอันจิ ที่เกี่ยวโต ทำให้นึกได้ว่า ที่เกียวโตมีอาหารประจำถิ่นอยู่เมนูหนึ่ง คือ เต้าหู้ต้ม จัดเป็นอาหารมีราคาเลยทีเดียว นอกจากนั้นยังมีอีกมากมายหลายวิธีที่ใช้เต้าหู้ทำอาหารจานอร่อย   ซุปมิโสะ ก็ต่างไปจากของโตเกียว ใช้มิโสะสีน้ำตาลเข้มไม่ใช้สีน้ำตาลอ่อน ซึ่งเป็นลักษณะของมิโสะที่ใช้กันในภูมิภาคคันไซ (ญี่ปุ่นตอนใต้  คันโตคือญี่ปุ่นตอนเหนือ)  ว่าไปแล้ว อาหารของเกียวโตเป็นอาหารสุขภาพมากกว่าที่อื่นๆ
   
อาหารชุดแบบ Kaiseki ในเกียวโตก็แพงมากกว่าที่อื่นๆประมาณ 10,000 เยน  (ราคาปรกติของ Kaiseki โดยทั่วไปอยู่ที่ประมาณไม่เกิน 20,000 เยนต่อคน)

เมนูที่อร่อยแบบง่ายๆอีกเมนูหนึ่ง คือ เอามิโสะสีเข้มๆนี้มาคลุกกับเห็ดที่หั่นเป็นชิ้นเล็กๆใส่น้ำตาลเล็กน้อยแล้ววางบนใบหูกวางปิ้งบนเตาถ่าน กินกับข้าวสวยร้อนๆ เหมือนกับการกินเต้าหู้ยี้กับข้าวต้มของเรา


 

   
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 293  เมื่อ 21 ส.ค. 12, 18:41

ภูมิภาคคันไซ (ญี่ปุ่นตอนใต้  คันโตคือญี่ปุ่นตอนเหนือ) 

คันไซหมายถึงฝั่งตะวันตก ส่วนคันโตคือฝั่งตะวันออก

 ยิงฟันยิ้ม


บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 294  เมื่อ 21 ส.ค. 12, 19:13

ขอขยายความเรื่องอาหารแบบ Kaiseki

Kaiseki คือ อาหารเป็นคอร์สที่จัดเสิร์ฟแบบแยกให้แต่ละคน คล้ายกับคอร์สอาหารที่จัดแบบฝรั่งเศส หรือที่จัดในกาลาดินเนอร์ หรือที่จัดในการเลี้ยงรับรองอย่างเป็นพิธีการ  ต่างกับโต๊ะจีนนำอาหารมาวางตรงกลางเป็นจานรวมให้กับทุกคน  โต๊ะจีนเหมาะสำหรับการจัดแยกนั่งเป็นโต๊ะๆละไม่เกิน 10 คน  แต่ Kaiseki กับของฝรั่งนั้นจะเป็นโต๊ะเดียวยาวขนาดใหนเพียงใดก็ได้

ชุดอาหารแบบ Kaiseki นั้น อาหารแต่ละชนิดที่จัดมาในแต่ละจานมีเพียงสองสามชิ้นเท่านั้น เมื่อจบคอร์สก็จะอิ่มพอดีๆ (ไม่รู้สึกหลามหรือมากเิกินไปเหมือนกับของฝรั่ง หรือเหลือเบอะบะเหมือนกับโต๊ะจีน)  วิธีการจัดก็เป็นศิลป์ของแต่ละพ่อครัว บ้างก็เอาอาหารหลากหลายมาวางกองอยู่ตรงหน้าพร้อมๆกัน บ้างก็จัดมาทีละจาน หมดแล้วก็เก็บไปเอาจานใหม่มาวางแทน บ้างก็จัดมาเป็นชุดย่อยๆแฝงในชุดใหญ่ เช่น ชุดปลาดิบ ชุดเทมปุระ เป็นต้น    สวยงามดี อร่อยดี แต่ก็แพงดีเหมือนกันครับ   ในชุดอาหารแบบ Kaiseki นี้ ไม่เคยเห็นมีข้าวปั้นซูชิเลยครับ และที่เคยเห็นว่าแปลกไป คือ เป็นการจัดเอาอาหารแบบฝรั่งมาแทนอาหารญี่ป่น เช่น อกเป็ดย่าง เนื้อย่าง อะไรทำนองนี้    อาหารชุดแบบ Kaiseki พวกนี้จะเป็นการกินเนื้อสัตว์ในช่วงแรกๆ ตบท้ายด้วยชุดข้าวที่มาพร้อมกับซุปมิโสะและผักดองเท่านั้น  

หากไปเที่ยวญี่ปุ่นแล้วเกิดมีเงินเหลือมากมาย อยากจะลองกินแบบ Kaiseki ก็พอใด้ครับ ขออย่าได้ไปลองในร้านอาหารในโรงแรมก็แล้วกัน มันจะไม่ต่างไปจากการนั้นกินอาหารในภัตตาคารแบบเห็นโต๊ะกันเท่าใดนัก  หากจะลองจริงๆคงจะต้องไปร้านอาหารที่ขายอาหารแบบ Kaiseki โดยเฉพาะ ซึ่งมีห้องแยก มองเห็นวิวต้นไม้จากหน้าต่างกระจก นั่งห้อยขาในหลุมหรือนั่งขัดสมาธิ  เมื่อคิดจะกินแพงแล้วก็คงจะต้องกินให้ครบชุดไปเลย เิริ่มด้วยเบียร์ กัมไป (ชนแก้ว) เสร็จก็ตามด้วยสาเกร้อนในระหว่างการกิน ตบท้ายด้วยชาเขียวดีๆ  จะไปสุดๆก็ต้องสั่งเกอิชามาจากโตเกียวเลย บวกไปอีกเป็นแสนเยน   ใช้เวลาไม่เกิน 2 ชั่วโมง (ดูจะเป็นกฏเกณฑ์ของเวลาในการนั่งกินในร้านอาหารในญี่ปุ่น)



 

  
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 295  เมื่อ 21 ส.ค. 12, 19:20


คันไซหมายถึงฝั่งตะวันตก ส่วนคันโตคือฝั่งตะวันออก

 ยิงฟันยิ้ม

ขอบพระคุณครับ ถูกต้องครับ
 
ผมเอาแบบที่เรามักจะเห็นภาพว่าประเทศญี่ปุ่นวางตัวในแนวเหนือใต้ครับ
 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 296  เมื่อ 22 ส.ค. 12, 11:54

ตัวอักษร 関 คันโต (関東) และคันไซ (関西) เป็นตัวอักษรที่ญี่ปุ่นย่อมาจากอักษรจีน 關 (ระบบเขียนย่อของจีนแผ่นดินใหญ่เขียนเป็น 关) อ่านว่า กวาน แปลว่า ด่าน

คันโตก็คือตะวันออกของด่าน และคันไซก็คือตะวันตกของด่านนั่นเองครับ

ชื่อคันโตนี้จะพ้องกับชื่อกวานตงในประเทศจีน คือพื้นที่ทางตะวันออกนอกด่านซานไห่ ทางอีสานของจีน ซึ่งก็คือพื้นที่ที่เคยตั้งเป็นประเทศแมนจูกัวในกระทู้ข้างบ้านนี้เองครับ

wiki บอกว่าในปัจจุบันพื้นที่คันโตในความรับรู้ของคนญี่ปุ่นนับจากทางตะวันออกของด่านตรวจที่ฮะโกะเน่ แต่เห็นได้ว่าพื้นที่ทางคันโตก็พอจะสอดคล้องอยู่ แต่พื้นที่คันไซนั้นห่างออกไปทางตะวันตกอีกมาก น่าคิดว่า "ด่าน" ที่แบ่งแยกคันโตกับคันไซนี้ไม่น่าจะเป็นด่านที่ฮะโกะเน่

ด่านที่ฮะโกะเน่นี้ความจริงเป็นเพียงด่านหนึ่งในหลายสิบด่านบนเส้นทางชายฝั่งทะเลตะวันออก หรือที่เรียกว่าโตไคโด (東海道) ซึ่งเป็นเส้นทางสำคัญเชื่อมต่อระหว่างศูนย์กลางอำนาจแถบเกียวโต (บริเวณคันไซ) และศูนย์กลางอำนาจที่เอะโดะ (บริเวณคันโต) เป็นไปได้หรือไม่ครับ ว่า "ด่าน" ที่ว่านี้หมายถึงโตไคโดทั้งสายนี่แหละครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 297  เมื่อ 22 ส.ค. 12, 18:36

ได้ความรู้เพิ่มอย่างคาดไม่ถึงเลยครับ

ผมได้มีโอกาสไปจังหวัด Gifu เพื่อไปชมการแสดงการจับปลาอาหยุในแม่น้ำ Nagara ด้วยวิธีการแบบโบราณด้วยนก Cormorant และไปเที่ยวเมือง Ena ซึ่งเจ้าหน้าที่ของจังหวัดพาไปดูเส้นทางเดินสมัยก่อนโน้น เขาบอกว่าเป็น Highway เชื่อมต่อระหว่างเกียวโตกับเอโดะ จำได้คลับคล้ายคลับคลาว่า เขาใช้คำว่า Kanto route (ซึ่งน่าจะให้ความหมายไปในทำนองว่าเป็นเส้นทางมุ่งตะัวันออก) เส้นทางนี้จะไปตามร่องเขาผ่านเมือง Matsumoto จากนั้นจึงจะตัดมาผ่าน Hagone เพื่อเข้าสู่เอโดะ
ภูมิประเทศของเมือง Ena นี้มีลักษณะเป็นแ่อ่งกระทะ จึงกลายเป็นเมืองที่พักแรมสำคัญของนักเดินทาง ที่นี่จึงมีกระดานติดเอกสารข่าวสารต่างๆให้ผู้ที่เดินทางได้ทราบทั้งพวกที่เดินทางมาจากทางเอโดะและพวกที่เดินทางมาจากเกียวโต  จาก Ena ก็จะต้องเดินขึ้นเขาไปลงยังเมือง Matsumoto ซึ่งก็เป็นเมืองที่พักกลางทางอีกแห่งหนึ่ง ผมจำได้ว่าไม่เคยได้ยินคำอธิบายที่ใช้คำว่าคันโตกับคันไซ เกี่ยวกับเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างเกียวโตกับเอโดะเส้นนี้ที่เมืองนี้ จะไปได้ยินอีกอีกครั้งก็แถว Hagone   และที่โตเกียว

ผมเห็นคล้อยกับความเห็นที่คุณ Crazyhorse สงสัยอยู่นั้น มีความเป็นไปได้มากว่า คันโตกับคันไซ นั้นอาจะเป็นคำบอกกล่าวถึงทิศทางที่คนเดินทางบนเส้นทางนี้กำลังมุ่งจะไป มากกว่าที่จะหมายถึงย่านพื้นที่     
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 298  เมื่อ 23 ส.ค. 12, 19:40

เดี๋ยวจะเป็นเรื่องของญี่ปุ่นมากไป เลยจะขอแยกลงข้างทางไปถนนเล็กๆแวะกินอาหารสักหน่อย

เมื่อเราเดินทางไปกับทัวร์นั้น เขาจะจัดการเรื่องอาหารให้เราเกือบจะทุกมื้อ จะมีเพียงบางมื้อที่ให้เราหากินเอง  ที่จริงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะถูกต้องแล้ว คนไทยไม่ค่อยจะคุ้นกับการนั่งแยกโต๊ะอาหารกันหากมาด้วยกัน เรามักจะขอต่อโต๊ะ ทั้งๆที่บ่อยครั้งมากเรากินอาหารแบบจานใครจานมัน มิใช่สั่งกับข้าวมากินเป็นสำรับรวมกัน
 
ร้านอาหารในต่างประเทศเกือบจะทุกประเทศ จะจัดโต๊ะสำหรับ 4 คนเป็นหลัก อาหารในราคาปรกติก็มักจะขายในร้านอาหารที่มีพื้นที่จำกัด ไม่มีพื้นที่ใหญ่โตเหมือนกับร้านอาหารที่เรียกว่าภัตตาคาร ดังนั้น หากเราไปกินกัน 5 คนก็เริ่มจะเป็นปัญหาแล้ว ยิ่งคนมากกว่านี้และประสงค์จะนั่งร่วมโต๊ะเดียวกัน ยิ่งยากขึ้นไปอีก ดังนั้นหากเรารวมสมัครพรรคพวกไปเที่ยวด้วยกันมากกว่าจำนวนหนึ่งก็จะเริ่มมีปัญหาในการหาร้านกินข้าว ซึ่งมิใช่เฉพาะในเรื่องของอาหารเท่านั้น แม้กระทั่งการเดินทางก็ยุ่งยาก รถแทกซี่ในหลายประเทศจำกัดให้ผู้โดยสารนั่งได้ไม่เกิน 2-3 คน ไปด้วยกัน 3 คนบางทีก็มีปัญหาแล้ว จะต้องใช้รถ 2 คัน  ผมเห็นว่า หากจะจัดกลุ่มไปเที่ยวกันเอง จำนวน 4 คนจึงเป็นจำนวนที่เหมาะที่สุด จะทำอะไรก็ดูจะคล่องตัวไปหมดมากที่สุด หากมีเพียงสองคนยิ่งสุดยอดไปเลย คล่องตัวเป็นที่สุดครับ

ทัวร์ไทยนิยมพาลูกทัวร์ไปกินในร้านอาหารจีน ก็เพราะเหตุหลักนี้เอง แต่ละโต๊ะสามารถปรับได้ระหว่าง 8 -12 คน ประกอบกับเป็นลักษณะของอาหารคล้ายๆกันกับในเมืองไทยที่ลูกทัวร์กินได้แม้จะรู้สึกไม่ถูกปากและอร่อยก็ตาม  ก็เป็นลักษณะของอาหารในโต๊ะจีนตามปรกติ คือ มีซุป (ไข่คน) มีปลา (นึ่ง) มีผัดผัก ....ตบท้ายด้วยผลไม้  บางทัวร์ก็ได้ร้านจีนแต่ละร้านที่ดีหน่อย บางทัวร์ก็แทบจะกินอาหารซ้ำซากแม้ว่าจะกินต่างร้านกัน

ที่จะขอเสวนา คือ เรื่องของการใช้ตะเกียบซึ่งในประเทศที่ใช้ตะเกียบเป็นอุปกรณ์ในการกินเขาถือกัน และใช้ดูระดับของคนในสังคมพร้อมๆกันไปด้วย   
ตะเกียบจีนเป็นตะเกียบยาว ปลายใหญ่และกลม  ตะเกียบญี่ปุ่นสั้นกว่าตะเกียบจีนและเป็นทรงปลายเรียวแหลม ตะเกียบเกาหลีเป็นโลหะมีขนาดสั้นกว่าของญี่ปุ่น แถมเป็นแ่ท่งแบนๆอีกด้วย เล็กอีกต่างหาก  ในวัฒนธรรมการใช้ตะเกียบนี้ มีที่เหมือนๆกันอยู่ คือ สามารถใช้ตะเกียบช่วยคีบอาหารให้คนอื่นได้ ด้วยการวางอาหารที่คีบนั้นลงในถ้วยข้าวหรือภาชนะ ทั้งนี้ จะต้องกลับตะเกียบใช้ด้านที่ไม่ได้ใช้คีบอาหารเข้าปาก   ห้ามใช้ตะเกียบกับตะเกียบคีบรับอาหารกัน การใช้ตะเกียบคีบรับสิ่งของต่อกันเป็นเรื่องของการคีบกระดูกคนตาย (ดูได้จากภาพในการล้า่งป่าช้า) ห้ามทำเลยครับ     
การวางตะเกียบบนโต๊ะัแบบจีน จะวางตะเกียบหันด้านปลายออกไปทางด้านหน้าของผู้ใช้ (ลักษณะพุ่งตรงไปหาผู้ที่นั่งอยู่ด้านตรงข้าม)  การวางแบบญี่ปุ่นจะวางด้านเหนือของจานหรือชุดอาหารในลักษณะขนานกับโต๊ะ (ไม่ให้ปลายตะเกียบชี้ไปทางผู้ที่นั่งอยู่ตรงกันข้าม)  การวางตะเกียบแบบเกาหลีนั้น เหมือนกับวางแบบญี่ปุ่นแต่แทนที่จะวางอยู่ด้านเหนือของจานอาหาร ก็วางอยู่ด้านล่างของจานอาหาร (จำได้ไม่แม่นแล้วครับ) 

บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 299  เมื่อ 25 ส.ค. 12, 19:31

^
ข้าวญี่ปุ่นเป็นข้าวเมล็ดสั้น ออกไปทางข้าวเหนียว คือไม่ร่วนซุย ญี่ปุ่นใช้ตะเกียบเป้นช้อนคีบข้าวกิน ไม่ยกถ้วยพุ้ยเข้าปากเหมือนกับวิธีการกินของจีน เพราะข้าวที่คนจีนกินกันนั้นเป็นข้าวเมล็ดยาวร่วนซุยแบบข้าวสวยที่เรากินกัน

การกินน้ำซุปของญี่ปุ่นก็ต่างกับของจีน ญี่ปุ่นจะยกถ้วยซดเลย แต่จีนนั้นใช้ช้อนตัก ในกรณีที่ซุปนั้นมีกะดูก ก้าง หรือเปลือก (หอยปู) ญี่ปุ่นจะไม่ค่อยกิน (แทะ ดูด) เนื้อนั้น หากจะกินก็จะคายกระดูก ก้าง หรือเปลือกนั้น ลงกลับไปในถ้วยซุป ในขณะที่จีนจะคายออกมาวางไว้บนโต๊ะข้างถ้วย  ผมว่าสนุกก็ตรงที่ใช้ตะเกียบปลิ้นกระดูกหรือก้างปลาหรือปู แล้วคีบกลับมาวางทิ้ง ง่ายที่สุดก็คือใช้มือ แต่ทำไม่ได้ 

อีกอย่างหนึ่ง คือ อาหารที่ตัดเป็นชิ้นทั้งของจีนและญี่ป่นนั้น มักจะตัดเป็นคำโตๆ ไม่สบายปากเราที่จะเคี้ยวด้วยคำโตๆ ต่างจากแบบที่เราได้รับการสอนกันมาให้ตักอาหารใส่ปากแต่พอคำที่ง่ายต่อการเคี้ยวแบบหุบปาก จะใช้ตะเกียบสองขาแยกอาหารชิ้นนั้น มันก็ลำบาก และไม่ดูจะขัดกับธรรมเนียมของเขา แถมจะคีบมาใส่ปากใช้ฟันกัดแบ่งก็ทั้งขัดกับธรรมเนียมและการใช้กำลังขอตะเกียบเพื่อดึงทึ้งให้ขาดออกจากกัน

อาหารจีนจะเสิร์ฟเป็นจานใหญ่ ให้ทุกคนแบ่งกินกันเอง หากยังไม่หมดก็จะยังวางอยู่อย่างนั้น ตามธรรมเนียมของจีนจะให้แขกเป็นผู้ตักก่อนเสมอทุกจาน ก่อนการกินจะมีการกัมไป อวยพรกันด้วยเหล้าจอกเล็กๆ และในระหว่างกินก็สามารถจะอวยพรกันได้เรื่อยๆ มิใช่จะเป็นผู้สันทัดกรณีอะไรนะครับ ได้มาจากการปฎิบัติและการบอกเล่าในช่วงหนึ่งของการเป็นเจ้าหน้าที่ประสานงาน (Liaison officer) ต้อนรับคณะ รมช.จีนสมัยก่อนโน้น เลยเล่าสู่กันฟัง  ที่ดูจะแปลกไปไม่เหมือนกับที่รู้มานี้ก็คือ เมื่อคราวไปเข้าร่วมประชุมที่ปักกิ่งครั้งหนึ่ง ซึ่งรัฐบาลจีนต้อนรับที่ศาลาประชาคม พอกล่าวสุนทรพจน์เสร็จเท่านั้น อาหารก็ทะยอยออกมาเป็นสายจนต้องวางซ้อนจานกัน รวมทั้งของหวานด้วย เลยไม่รู้ว่าธรรมเนียมที่แท้จริงเป็นอย่างไร
 
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 18 19 [20] 21 22 ... 37
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.08 วินาที กับ 20 คำสั่ง