เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 [3] 4 5 ... 37
  พิมพ์  
อ่าน: 171898 เก็บตกมาจากการเดินทาง
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 30  เมื่อ 08 มิ.ย. 12, 21:08

อ้างถึง
อยากฟังการผจญภัยต่อไปในเดคคา จนถึงวันกลับ ว่าจะมีรสชาติเผ็ดเค็มประการใดบ้าง    จากนั้นจะเล่าประสบการณ์อันหาได้ยากของการผจญห้องน้ำเมืองจีน  รวมแล้ว 5 ทริปให้ฟังกัน   
เรื่องห้องน้ำเมืองจีนเป็นเรื่อง thriller ของนักท่องเที่ยวไทย   จะเป็นรองก็แต่อินเดียเท่านั้นค่ะ

เชิญก่อนเลยครับ

ท่านผู้อ่านแหว่ะกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว ผมจะเล่าห้องน้ำที่สนามบินเมืองมะริดของพม่าให้แหว่ะต่อ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 31  เมื่อ 08 มิ.ย. 12, 21:19

แล้วผมจะขอตามต่อไปเวียดนามและเขมรครับ

คุณนวรัตน์ จะไม่ต่อบันเทิงสาระที่ไปผจญมาในเมืองเดกกา ไปอีกสักหน่อยเหรอครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 32  เมื่อ 08 มิ.ย. 12, 21:38

มีเหตุจะสัญจรไปต่างเมือง 2 วัน      กลับมาเมื่อไรจะเล่าเรื่องห้องน้ำต่อ
เชิญคุณตั้งและคุณนวรัตน เล่าประสบการณ์การเดินทางไปก่อนนะคะ

ใช่  เรื่องออกเสียง stress ของภาษาฝรั่งเป็นเรื่องปวดหัวของคนไทย เพราะเราไม่มีระบบเน้นเสียงหนักเบาแบบเขา    เราใช้ stress ที่ตัวหลัง   water =  วอเต้อ   แทนที่จะเป็น ว้อเถ่อะ   
เรื่องนี้พูดกันได้อีกยาว  จึงขอข้ามไปก่อนค่ะ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 33  เมื่อ 09 มิ.ย. 12, 07:16

มาต่อตามคำสั่ง

ก่อนอื่น ผมขออธิบายหน่อยนะครับ ก็มันนานมาแล้วจนผมไม่แม่นชื่อเมืองหลวงของบังคลาเทศ ตอนที่แล้วไปเขียนว่าเดกกาบ้าง ดักกาบ้าง มาเห็นอีกทีก็สายเกินแก้ เดี๋ยวนี้ เขาให้เรียกว่า ธากา ภาษาอังกฤษเขียนว่า Dhaka เดิมเขียนว่าDacca คนบังคลาเทศพูดออกเสียงว่าดั๊กก้า เรื่องนี้ก็ทำนองเดียวกับที่คุณตั้งบ่นอยู่ข้างต้น เอาเถอะ มันจะเรียกอย่างไรก็ช่าง เพราะผมคงไม่ไปอีกแล้วเมืองนี้

คืนนั้น ผมหลับเป็นตาย โรงแรมที่บังคลาเดสพิมานผูกปิ่นโตไว้สำหรับผู้โดยสารที่ตกเครื่องบินจากความผิดพลาดของเขานั้น ไม่ใช่โรงแรมห้าดาวตามมาตรฐานสากล แต่เจ้าหน้าที่ภาคพื้นดินของเขาลอยหน้าลอยตาบอกผมว่า Best hotel in Dacca เมื่อผมถามที่สนามบินว่า โรงแรมที่จะจัดให้น่ะ ดีไหม แต่ก็ช่างมัน ผมเหนื่อยเต็มทีที่จะวิจารณ์ ขอบ่นนิดเดียวว่าไม่คุ้มราคาห้องที่ผมต้องควักกระเป๋าจ่ายเอง ห้องมันเล็ก และอับๆทึบๆ ไม่เหมือนโฮเต็ลในญี่ปุ่นที่ห้องแม้จะเล็กแต่มีDesignที่ลงตัว ที่สำคัญคือความสะอาด  นี่..เขายังจะให้ผู้โดยสารคนละเชื้อชาติที่ไม่รู้จักกัน  นอนร่วมห้องเล็กๆขนาดเดินหลีกกันแทบจะไม่พ้น …เฮ้อ

เช้าวันรุ่งขึ้น ผมก็ตื่นตามเวลาของผมแต่ที่โน่นยังเช้าอยู่มาก ทานขนมปังไข่ดาวของโรงแรมแล้ว เลยออกไปเดินเล่นดูชีวิตตามถนนหนทางภายนอกเพื่อฆ่าเวลา ผมต้องรอให้บริษัทเปิดตามเวลาทำการก่อน จึงจะติดต่อลูกค้าผมได้เพราะเวลานั้น โลกยังไม่มีโทรศัพท์มือถือ ย่านที่โรงแรมตั้งอยู่จอแจมาก แต่ไม่มีอะไรน่าดูเลย ก้าวพ้นโรงแรมไปก็เจอขอทานตั้งแถวรอต้อนรับอยู่ ต้องทำไม่รู้ไม่ชี้รีบเดินไปก่อนโดนสะกิด ชีวิตบนถนนของเมืองดักก้าไม่มีอะไรน่าดู สกปรก มีอย่างเดียวที่ทำให้ผมตื่นตะลึงได้ก็คือ ขนมปังที่วางขายแบกะดินเต็มไปหมด แต่มันขึ้นราเป็นดวงเขียวๆมากบ้างน้อยบ้างเห็นชัด ก็ยังมีคนยากจนซื้อเพราะมันถูก ไม่รู้เหมือนกันว่าคนขายไปเอามาจากไหนมากมาย  ต้องเป็นของที่กิจการใดกิจการหนึ่งทิ้งออกมาแน่ๆ

ผมเดินไปเดินมา พยายามหนีขอทาน  เห็นท่าจะไม่รุ่ง เลยกลับโรงแรมดีกว่า

กว่าลูกค้าจะมารับผมที่โรงแรมก็สายโด่ง ผมถามเขาว่านี่เป็นโรงแรมที่ดีที่สุดของที่นี่หรือ เขาบอกว่าใช่แล้ว แต่มีโรงแรมเชอราตันที่กำลังจะเปิด ดีกว่านี้  มื้อกลางวันๆนั้นเขาพาผมไปทานอาหารในภัตตาคารที่นั่น ซึ่งโรงแรมเปิดขายเป็นการPre-opening  อาหารก็รสชาดงั้นๆ แต่ที่นั่นน่ะเป็นที่แรกและที่เดียวที่พอจะหาความสำราญตาได้บ้างในเมืองนั้น

ตอนออกจากโรงแรม เขาพาผมไปกระทรวงเกษตร คือลูกค้าคนนี้เขาต้องการเข้าประมูลขายของ(ท่อน้ำบาดาลขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง๑๒นิ้ว ทำด้วยไฟเบอร์กลาสซึ่งผลิตในโรงงานที่ผมทำงานอยู่) ให้กับกรมน้ำบาดาล เลยต้องการให้ผมนำชิ้นตัวอย่างของท่อไปให้วิศวกรใหญ่ที่นั่นทดสอบความแข็งแรง และเพื่อตอบคำถามด้วยตัวผมเอง ระหว่างการเดินทางที่เขาขับรถพาผมไปตามถนน เขาก็จะบีบแตรปิ้นๆไล่สามล้อไปตลอดทาง ซึ่งก็ไม่ได้ผลอะไร เพราะคนขี่รถสามล้อไม่เคยสนใจรถยนต์ จะปิ้นๆก็ปิ้นๆไป  รถทุกคันก็บีบแตรปิ้นๆไปตลอดทาง
ผมแทบจะบ้าตาย ไม่รู้มันจะปิ้นๆกันไปถึงไหน แต่เห็นอย่างนี้ละนะ เขาไม่ได้หงุดหงดใส่กันหรอก ยิ้มให้กันด้วยซ้ำ ลองเป็นเมืองไทยซี คงจะได้ชกกันกลางถนนหลายคู่

เมื่อไปถึง ผมก็ได้เห็นวัฒนธรรมบังคลาเทศอย่างหนึ่ง ก่อนลงจากรถ ลูกค้าของผมทวงบุหรี่อเมริกันที่เขาย้ำนักย้ำหนาให้ผมซื้อมาให้ด้วยสองห่อตามโควต้า แล้วแกก็แกะออกมาซองหนึ่งใส่กระเป๋าเสื้อ ที่เหลือใส่กระเจมส์บอนด์ไว้ก่อน  พอไปถึงที่ทำงานของกรมน้ำบาดาล ก็จะทักทายคนนั้นคนนี้ แล้วควักกระเป๋า เคาะซองเอาบุหรี่ออกมาให้คนละตัว ผู้ที่ได้รับจะแสดงความดีใจอย่างออกนอกหน้า รีบดับบุหรี่ตัวเดิมเอาเก็บไว้ดูดต่อแล้วก็รีบคาบตัวที่ได้มาใหม่ ลูกค้าของผมจะยื่นไฟแช๊กยี่ห้อดูปองต์กาไหล่ทอง ที่เวลาเปิดฝาจะมีเสียงดัง ปิ๊ง ยื่นไปจ่อแล้วจุดไฟให้ แต่บางคนก็เอาไปสูดดมทำท่าหอมชื่นใจแล้วยกมือห้ามจุดไฟแซ๊ก เก็บบุหรี่ตัวนั้นใส่กระเป๋าเสื้อไว้ก่อน  ลูกค้าของผมให้วิธีนี้เบิกทางไปเรื่อยๆ สิ้นบุหรี่ไปสองสามซองกว่าจะถึงนายช่างใหญ่ แล้วทำพิธีกรรมยื่นบุหรี่เช่นเดียวกันนั้นก่อนการเจรจาเป็นเรื่องเป็นราวจะเริ่มต้น

อีกอย่างหนึ่งที่ผมอยากจะเล่าก็คือ คนบังคลาเทศยังติดหมากเหมือนคนไทยสมัยก่อน ส่วนใหญ่ปากจะเคี้ยวหมากแย๊บๆ และบ้วนน้ำหมากแดงๆเหมือนสีเลือดไปทั่ว ตึกที่ทำงานที่ผมไปนี้สูงสามสี่ชั้น ไม่มีลิฟท์ ต้องเดินขึ้นกระไดไป ทุกชานพัก จะมีกระป๋องใหญ่ๆขนาด๒๐ลิตร ตั้งไว้ที่มุม๒กระป๋อง แต่ละกระป๋องน้ำหมากจะล้นออกมานองอยู่กับพื้นแดงเถือกไปหมด เพราะใครผ่านไปผ่านมาก็บ้วนปรี๊ด ผมเห็นกับตา ถังมันเต็มแล้วก็บ้วนไปที่ฝาผนัง เวลาจะเดินผ่านแต่ละชั้นต้องเขย่งก้าวกระโดด ไม่ให้รองเท้าย่ำลงไปบนน้ำหมาก แต่ก็โดดกันพ้นบ้างไม่พ้นบ้าง พาเอาน้ำหมากแดงๆเลอะบันไดต่อไปอีกหลายขั้น ผมก็อยากจะทำเลอะเหมือนกัน แต่ไม่ใช่น้ำหมากเหมือนเขา  หากเป็นอาหารเมื่อเช้าที่ยังย่อยไม่หมดอยู่ในกระเพาะ

นายช่างใหญ่นั่งอยู่ในคอกเล็กๆประจำตำแหน่งมุมหนึ่งของห้องที่มีลักษณะคล้ายกับห้องเรียน  พวกที่ไม่มีคอกก็นั่งโต๊ะเรียงกันอย่างแออัด หลังจุดบุหรี่แล้ว เขาก็คุยกันด้วยภาษาของเขาที่ผมฟังไม่รู้เรื่อง นานๆจะถามให้ผมตอบสักที มีตอนหนึ่งลูกค้าหันมาบอกผมว่า เขายินดีรับชิ้นตัวอย่างไปทดสอบ ถ้าได้ผลอย่างไรจะแจ้ง และถ้าผมมาคราวหน้า หัวหน้าจะพาออกไปชนบท ดูที่หน่วยงานเขากำลังเจาะน้ำบาดาล  ผมได้ฟัง ใจก็เตลิดเปิดเปิง เมืองหลวงยังขนาดนี้ บ้านนอกจะขนาดไหน
 
ตอนบ่าย ตามโปรแกรมลูกค้าจะพาไปกระทรวงสาธารณะสุข เพื่อขายสินค้าอีกตัวหนึ่ง แต่หลังอาหาร เขาโทรศัพท์ไปยืนยันการนัดหมายแล้วบอกผมว่า คนที่จะไปหาไม่เข้าออฟฟิศแล้ว ให้ผมเลื่อนวันเดินทางกลับ รุ่งขึ้นไปพบตอนช่วงเช้าจะได้ไหม ผมบอกว่าเสียใจนะครับ ผมเลื่อนไม่ได้  เขาบอกว่างั้นไม่เป็นไร ไว้มาคราวหน้าก็แล้วกัน

แต่จนถึงวันนี้ ก็ไม่มีวันนั้น เพราะตอนเปิดซองราคาแม้จะได้อยู่ในShortlist แต่ผมไม่ได้ไปต่อรองราคา แจ้งไปทางลูกค้าให้ดำเนินการแทน ปรากฏว่าเจ้าเดิมที่ผูกขาดขายอยู่ เป็นของทำในอินเดียค่าขนส่งถูกกว่าไปจากเมืองไทยมากอยู่แล้ว ยังฟันราคาลงมาแบบต้องการขจัดคู่แข่ง  แต่ผมก็ไม่ได้เสียดายเลยที่ไม่สามารถขายของให้บังคลาเทศ

ขากลับผมไม่มีอะไรจะเล่า เครื่องบินคนละลำกับขามา ถึงบ้านเรียบร้อยดีครับ


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 34  เมื่อ 09 มิ.ย. 12, 11:33

อ้างถึง
มาต่อตามคำสั่ง

พลอยได้อานิสงส์จากคุณตั้ง. ฟังเรื่งเดคคาจนจบ.   ยิ้ม

อยู่ระหว่างเดินทางตรงกับชื่ิอกระทู้.    ที่โรงแรมมี wifi.เลยแวะเข้ามาได้ค่ะ
เกริ่นเรื่ิองห้องน้ำก่อน
อเมริกาถือเรื่องสุขาเป็นสิ่งสำคัญ.    เท่าที่เห็นมาจากท่องเที่ยว. เจอห้องน้ำสาธารณะมาหลายสิบแห่ง.  ไม่เคยเห็นที่ไหนถูกละเลยตามบุญตามกรรม
ทุกแห่งมีคนทำความสะอาดทุกวัน. สุขภัณฑ์อยู่ในสภาพดีเยี่ยม กระดาษพร้อม.  น้ำไหลแรง
ผิดกับจีน ซึ่งดูเหมือนจะไม่สนใจไยดี. สุขาจีนจึงกลายเป็นทุกขาของคนไทยที่จำต้องใช้เวลาไปจีน
ถ้าเป็นศูนย์การค้าใหญ่ๆก็พอจะทันสมัย.   แต่ถ้าเป็นในเมือง แม้แต่ในภัตตาคารใหญ่ๆ. ทุกขาเหล่านี้สำแดงตัวในระยะไกลด้วยกลิ่นอบอวล. ชนิดเดินหลับตาใช้จมูกอย่างเดียวก็รู้ว่าอยู่ตรงไหน
มีบ่อยมากที่ทุกขาในจีนเสีย กดน้ำไม่ลงแต่น้ำแฉะเจิ่งนองพื้น.    ยังไม่รวมทุกขาที่ไม่มีประตู. หรือมีแต่ไม่มีกลอน
เด็ดกว่านี้คือทุกขาชนิดส้วมคู่.   คือเขาทำส้วมซึมสองอันคู่ในห้องเดียว ให้ใช้ได้สองคนพร้อมกัน
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 35  เมื่อ 09 มิ.ย. 12, 18:42

ระหว่างรอเรื่องไปปลดทุกข์กายในห้องสุขาด้วยความทุกข์ใจ  จะขอย้อนไปถึงความหงุดหงิดของคุณนวรัตน์เรื่องคำสะกดภาษาไทยกับภาษาอังกฤษ ซึ่งผมก็มีความหงุดหงิดในอีกมุมหนึ่งด้วย

แต่เดิมนั้น เรามีตัวอักษรที่ใช้แทนหรือเทียบเคียงกับอักษรภาษาอังกฤษอย่างหนึ่ง รวมทั้งวิธีการแปลเสียงภาษาไทยไปเป็นภาษาอังกฤษ ที่ใช้ต่างไปจากปัจจุบัน
เมื่อสมัยก่อนนั้น ผมก็เห็นว่ามันแปลกและดูไม่สอดคล้องกับการออกเสียงที่เราได้เรียนรู้มาเลย ซึ่งไม่ทราบว่าด้วยเหตุผลกลใด ในปัจจุบันนี้ (เริ่มตั้งแต่เมื่อไรก็ไม่ทราบ) จึงได้เปลี่ยนไปหมด ได้เห็นที่เขาเขียนในปัจจุบันแล้วก็ทำให้รู้สึกหงุดหงิด เช่น สถานีรถไฟหาดใหญ่นั้น สมัยก่อนเขียนว่า Haad Yai แต่ในปัจจุบันนี้เขียนว่า Hat Yai นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติก็เลยต้องอ่านว่า แฮดใหญ่ ไม่ใช่หาดใหญ่   และยังมีอีกมากเกี่ยวกับชื่อสถานที่นี้ ตามป้ายใน กทม. ก็เยอะโขทีเดียว มันก็เป็นปัญหาสำหรับแท็กซี่และสามล้อเครื่องต่างๆ รวมทั้งคนอื่นๆและผมด้วย นักท่องเที่ยวบอกสถานที่ๆจะไปอย่างไรก็ไม่มีใครเข้าใจ ต้องควักเอาแผนที่ออกมาแสดงกัน แล้วก็มีเสียง อ้อ ด้วยกันทั้งคู่ แล้วก็ใช่ว่าคนที่ถูกถามนั้นจะอ่านภาษาอังกฤษในแผนที่ออก ยังต้องเสียเวลาพยายามอธิบายกันข้างทางอีกนานกว่าจะถึงบางอ้อกัน จราจรก็ติดขัดไป

ในเรื่องของตัวอักษรภาษาไทยแทนเสียงตัวอักษรภาษาอังกฤษนั้น ผมว่าในเรื่องอื่นๆก็พอทน แต่ในเรื่องหนังสือเดินทางนี่ซิ มันก็สร้างปัญหาพอสมควรเลยทีเดียว ตั้งแต่ไปขอวีซ่า จนตรวจคนเข้าเมือง   สมัยก่อน ตัว ภ สะกดด้วย bh สมัยใหม่สะกดด้วย ph หรือตัว ว ที่สะกดด้วย w ก็มี v ก็มี  หรือคำว่า ดี ที่สะกดด้วย di หรือ dee  หรือ เสียงของสระ อู แทนที่จะแทนด้วย oo ก็ใช้ u       ครอบครัวหนึ่งจะเดินทางด้วยกัน แต่ละคนไปทำหนังสือเดินทาง พ่อเคยเดินทางมาก่อนก็สะกดนามสกุลอย่างหนึ่ง สำหรับลูกเจ้าหน้าที่เขาก็สะกดให้อีกอย่างหนึ่ง  ไปขอวีซ่าก็ยุ่งพอแล้ว แทนที่จะง่ายก็กลายเป็นว่าสับสนต้องเอาตัวไปยืนยันกัน พอต้องผ่าน ตม.ขาเข้า ก็ยุ่งต่อไปอีก   ไอ้ที่แย่กว่านั้นก็คือ ประกาศในสนามบินหรือที่อื่นๆ คนประกาศเขาก็อ่านตามที่เขาเห็นว่่าภาษาอังกฤษต้องอ่านออกเสียงอย่างไร คนฟังก็ไม่รู้ว่าการประกาศนั่นกำลังเรียกตนเอง ซึ่งเรื่องนี้มิใช่เกิดเฉพาะกับคนไืทย คนชาติอื่นๆก็เยอะเหมือนกัน

คิดให้หงุดหงิดก็หงุดหงิด คิดให้เป็นเรื่องอื่นก็สบายใจ เช่น เมื่อต้องผ่าน ตม.เขาก็จะตรวจสอบในคอมพิวเตอร์ หากเคยเกิดปัญหาเข้าเมืองมาก่อน เปลี่ยนวิธีสะกดชื่อในหนังสือเดินทางให้ประหลาดไปเลยก็อาจรอดได้เหมือนกัน (ไม่ยกตัวอย่างละครับ)

ทำให้นึกถึงเรื่องป้ายชื่อร้านค้าจีนที่แปลชื่อเป็นภาษาอังกฤษติดหราอยู่หน้าที่ทำการ (เรื่องจริงในฮ่องกง) หจก.ฟุคหยู เขียนด้วยภาษาจีนบรรทัดบนแล้วมีภาษาอังกฤษในบรรทัดถัดลงมา คำแรกแทนที่จะแทนเสียงด้วย oo กลับไปใช้ u คำหลังแทนที่จะแทนเสียงด้วย u กลับไปใช้ oo  ก็นึกถึงผลกันเอาเองนะครับ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 36  เมื่อ 09 มิ.ย. 12, 19:12

อันนี้ ขออย่าได้คิดว่าเป็นเรื่องโฆษณานะครับ
ผมเห็นว่าเป็นเรื่องที่มีประโยชน์อย่างมากสำหรับทุกๆคน เพื่อการศึกษา เพื่อการตรวจสอบตนเอง และเพื่อการประเมินตนเองว่า เราเข้าใจอะไรดีพอหรือยัง หรือจะต้องพัฒนาตนเองไปอีกมากน้อยเพียงใด
ผมเดินทางและใช้ชีวิตอยู่ในต่างประเทศมาพอควร ก็ยังเห็นว่าตนเองก็ยังไม่พ้นไปจากสภาพดังกล่าวนี้  จึงไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดอะไร

http://www.engrish.com/
บันทึกการเข้า
กระต่ายหมายจันทร์
พาลี
****
ตอบ: 284


ศศ (สะสะ) แปลว่ากระต่ายและกวาง


ความคิดเห็นที่ 37  เมื่อ 09 มิ.ย. 12, 21:04

ขอมาร่วมแจมกระทู้นี้อีกคนนะคะ เนื่องด้วยเป็นคนที่เดินทางมากมายเช่นกัน มีเรื่องเล่ามาแบ่งปันกันค่ะ

เห็นคุณเทาชมพูเล่าเรื่อง ตม. ที่อเมริกา แล้วก็นึกถึงปีก่อนไปซานฟราน รอๆๆๆ แถว ตม. ยาวเหยียดจนขาแข็งตามปกติ พอผ่านตรวจเอกสารไปได้ โดนเรียกไปตรวจกระเป๋า เจ้าหน้าที่ชายชาวอเมริกันตาสีฟ้าหันมาหายิ้มให้แล้วพูดว่า

เจ้าหน้าที่: "คนไท้?"
ตัวเอง: "Yes" (แบบงงๆ)
เจ้าหน้าที่: "มี หมูย๊อง ฝ่อยท้อง มั๊ย" (พูดไปเอามือจับๆ ของในกระเป๋าเป็นพิธี)
ตัวเอง: "No ไม่มี" (ชักสับสนไม่รู้จะตอบภาษาอะไรดี)
เจ้าหน้าที่: "ขอบคุ๊ณขับ" (พร้อมยิ้มให้อย่างหวานหยด)

เลยสอบถามเจ้าหน้าที่ต่อ ทราบว่ามีภรรยาเป็นคนไทย ชอบเรียกคนไทยที่สนามบินเพราะอยากคุยด้วย คนไทยน่ารัก ชอบสอนภาษาไทยให้ด้วย เลยชมไปว่าพูดไทยเก่งนะ แม้จะไม่ชัดแบบคนไทยแต่ก็ฟังออกนะว่าพูดอะไร เจ้าหน้าที่มีแอบเขินหนึ่งที ก่อนปล่อยจากจุดตรวจกระเป๋าไปแบบแฮปปี้ทั้งคนตรวจและคนถูกตรวจ  ยิ้มกว้างๆ ยิ้มกว้างๆ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 38  เมื่อ 09 มิ.ย. 12, 21:08


เอ็นไก่ทอด = N letter fried chicken

หนังไก่      =  chicken movie

รายการบนสุด ให้ทายว่าเป็นอาหารอะไร

chicken praises

 ยิงฟันยิ้ม


บันทึกการเข้า
กระต่ายหมายจันทร์
พาลี
****
ตอบ: 284


ศศ (สะสะ) แปลว่ากระต่ายและกวาง


ความคิดเห็นที่ 39  เมื่อ 09 มิ.ย. 12, 21:26

ต่อด้วยบังคลาเทศจากเรื่องเล่าของคุณนวรัตน์

เมืองหลวงของบังคลาเทศ ออกเสียงอย่างภาษาอังกฤษคือ ดั๊กก้า ส่วนคนท้องถิ่นออกเสียงว่า ฮั๊กก้า ... ต่ายมีเหตุให้ต้องไปทำงานเข้าๆ ออกๆ บังคลาเทศมาเกือบสิบปีแล้วค่ะ ก็ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของประเทศมากพอสมควร ... ล่าสุดก็เพิ่งกลับมาเมื่อประมาณสองสัปดาห์นี้เองค่ะ ... ตอนนี้โรงแรมที่ดั๊กก้าที่พอจะอยู่สบายหน่อยคือเรดิสัน (อยู่ใกล้ๆ สนามบิน) และเวสทิน (ในตัวเมือง) ค่ะ สองโรงแรมนี้เต็มตลอด

ส่วนโรงแรมที่เคยดีในอดีตอย่างเชอราตัน (ซึ่งตอนนี้ถูกซื้อไปแล้วและเปลี่ยนชื่อเป็น Ruposhi Bangla) กับแพนแปซิฟิก ก็มีปัญหารถติดอย่างมหาศาลเพราะทำเล และเรื่องความปลอดภัย (เชอราตันเคยโดนระเบิดไปหนึ่งครั้ง)

ฝากภาพตลกน่าทึ่งอันนึงให้ดูค่ะ ถ่ายเมื่อปีที่แล้ว ระหว่างเดินทางจากตัวเมืองดั๊กก้าไปอีกเขตหนึ่งชื่ออุททาร่าซึ่งเป็นเขตอุตสาหกรรม ถนนหลักระหว่างเขตนี้เป็นถนนแคบๆ สองเลน ซึ่งปกติรถติดอยู่แล้ว แต่วันนั้นมันผิดปกติมาก รถแทบไม่ขยับเลย ผ่านไปชั่วโมงกว่า กระดื๊บไปได้สักสามสิบเมตรก็เห็นสาเหตุว่า มีรถตู้คอนเทนเนอร์จอดเสียอยู่เลนตรงข้าม รถจึงติดสนั่นเพราะรถสองเลนมาเบียดเหลือเลนเดียว เข้าใจว่ารถจะดับ ก็นั่งกลุ้มอยู่ว่าจะไปได้ยังไง ทันใดนั้นชาวบังคาเทศที่ทนรถติดไม่ไหวก็พากันเฮโลไปเข็นรถประมาณยี่สิบกว่าคน ตอนแรกก็นึกปรามาสอยู่ในใจว่า คนยี่สิบกับรถคอนเทนเนอร์ จะไหวหรือ แต่ผ่านไปห้านาที ความมหัศจรรย์ก็เกิดขึ้น รถเคลื่อนจากผิวถนนไปยังไหล่ทางได้จริงๆ น่าทึ่งสุดๆ เลยค่ะ  เจ๋ง เจ๋ง เจ๋ง

บันทึกการเข้า
กระต่ายหมายจันทร์
พาลี
****
ตอบ: 284


ศศ (สะสะ) แปลว่ากระต่ายและกวาง


ความคิดเห็นที่ 40  เมื่อ 09 มิ.ย. 12, 21:27


เอ็นไก่ทอด = N letter fried chicken

หนังไก่      =  chicken movie

รายการบนสุด ให้ทายว่าเป็นอาหารอะไร

chicken praises

 ยิงฟันยิ้ม

ขอทายว่า "ยำไก่ยอ" ค่ะ  ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 41  เมื่อ 09 มิ.ย. 12, 21:57

ข้อความโดย: กระต่ายหมายจันทร์
อ้างถึง
... ต่ายมีเหตุให้ต้องไปทำงานเข้าๆ ออกๆ บังคลาเทศมาเกือบสิบปีแล้วค่ะ ก็ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของประเทศมากพอสมควร ... ล่าสุดก็เพิ่งกลับมาเมื่อประมาณสองสัปดาห์นี้เองค่ะ

เดี๋ยวนี้เขาเลิกกินหมากกันหรือยังครับ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 42  เมื่อ 09 มิ.ย. 12, 22:14

เดาว่าคงยังกินกันอยู่

เห็นที่พม่าก็ยังกินกันอยู่เป็นล่ำเป็นสัน

แผงขายหมากพลู ของสำคัญของชาวพม่า

มีทั่วไปทุกมุมถนน


 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
กระต่ายหมายจันทร์
พาลี
****
ตอบ: 284


ศศ (สะสะ) แปลว่ากระต่ายและกวาง


ความคิดเห็นที่ 43  เมื่อ 09 มิ.ย. 12, 22:16

ข้อความโดย: กระต่ายหมายจันทร์
อ้างถึง
... ต่ายมีเหตุให้ต้องไปทำงานเข้าๆ ออกๆ บังคลาเทศมาเกือบสิบปีแล้วค่ะ ก็ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของประเทศมากพอสมควร ... ล่าสุดก็เพิ่งกลับมาเมื่อประมาณสองสัปดาห์นี้เองค่ะ

เดี๋ยวนี้เขาเลิกกินหมากกันหรือยังครับ

ไม่ค่อยเห็นแล้วค่ะ เปลี่ยนมาสูบบุหรี่แทน  ร้องไห้ ร้องไห้
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 44  เมื่อ 09 มิ.ย. 12, 23:16

อ้างถึง
เห็นที่พม่าก็ยังกินกันอยู่เป็นล่ำเป็นสัน

อ้างจาก: เพ็ญชมพู
อ้างถึง
แผงขายหมากพลู ของสำคัญของชาวพม่า

มีทั่วไปทุกมุมถนน

จากรูป แสดงว่ายังไม่พัฒนา

รูปนี้ก็ จากประเทศที่ยังไม่พัฒนาเหมือนกัน


บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 [3] 4 5 ... 37
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.095 วินาที กับ 20 คำสั่ง