เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 34 35 [36] 37
  พิมพ์  
อ่าน: 171906 เก็บตกมาจากการเดินทาง
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 525  เมื่อ 08 ก.พ. 13, 21:40

บางแห่ง เช่นที่ Prague ต้องซื้อตั๋วรถจากร้านบุหรี่เท่านั้นครับ ไม่สามารถไปซื้อบนรถได้ ผมเคยเจอร้านบุหรีปิด ไม่รู้จะซื้อตั๋วยังไง tram วิ่งผ่านหน้าไปแท้ๆ แต่ขึ้นไม่ได้ ดังนั้นเมื่อมีโอกาส จะซื้อไว้หลายๆ ใบ เก็บเอาไว้ใช้เมื่อไหร่ก็ได้ครับ เพราะตั๋วแบบนี้ใช้ได้กับรถทุกสาย

เมื่อขึ้นไปแล้วต้องเอาตั๋วไป validate ที่เครื่องที่อยู่บนรถ เครื่องนี้จะพิมพ์หมายเลขสายรถ เวลา และทิศทางที่รถวิ่งไป เอาไว้ให้นายตรวจมาตรวจสอบได้ หากมีตั๋ว แต่ไม่ validate นายตรวจขึ้นมาเจอก็โดนปรับหนัก ระบบนี้ใช้ในหลายๆ เมืองในยุโรปด้วยครับ นอกจากจะใช้กับรถเมล์แล้ว ยังใช้กับรถไฟด้วย แต่ถ้าเป็นรถไฟ เครื่อง validate จะอยู่ที่ชานชาลาในสถานีรถไฟครับ

การใช้ระบบรถสาธารณะพวกนี้ หากเป็นการเดินทางในเมืองที่รถไม่ได้ติดมาก จะพบว่าหากเดินทางสักสองสามคนขึ้นไป บางทีค่า taxi อาจจะถูกกว่า (เช่นในบางกอกเมืองฟ้าอมร) ผมเคยเจอว่าในมิวนิคจะมีตั๋วหมู่ ซื้อตั๋วในราคาประมาณเท่าตั๋วสองใบเศษๆ แต่ใช้เดินทางได้พร้อมๆ กัน 4 หรือ 5 คน ถ้ามีเด็กหลายคนอาจได้ถึง 6 คนด้วยครับ นับว่าเป็นการจูงใจให้ใช้รถสาธารณะที่ดีทีเดียวครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 526  เมื่อ 09 ก.พ. 13, 19:03

^
ใช่ครับ   ในยุโรปเกือบทั้งหมดจะต้องซื้อตั๋วรถเมล์หรือรถรางจากร้านขายบุหรี่ที่เรียกว่า Tabak ซึ่งมักจะเป็นร้านคูหาเล็กๆ แต่ป้าย Tabak ใหญ่เห็นได้ชัดเจน  นอกจากจะเป็นร้านแบบคูหาในตึกแถวแล้ว  ก็ยังมีร้านที่เป็นแบบตู้ (Box หรือ Kiosk) ตั้งอยู่บนทางเท้าขางถนน เรียกว่า Tabak Kiosk  ร้าน Tabak พวกนี้ ที่จริงแล้วไม่ได้ขายแต่บุหรี่เท่านั้น ยังขายหนังสือพิมพ์และวารสารต่างๆด้วย

ตั๋วรถนอกจากจะมีแบบรายวัน มีแบบกลุ่มแล้ว ยังมีแบบเป็นสัปดาห์ด้วย (ซึ่งจะต้อง validate แต่ละวันที่ใช้  ผมเรียกว่าต๊อกตั๋ว)  ในเวียนนา ออสเตรีย มีตั๋วแบบเดือน และแบบปีด้วย ซึ่งจะเป็นแบบบัตรที่ระบุช่วงเวลาที่สามารถจะใช้ตั๋วได้ ไม่ต้องทำการต๊อกใดๆเมื่อขึ้นรถ ตั๋วปีนี้ดีนะครับ จ่ายค่าตั๋วเท่ากับสิบเดือนเท่านั้น (แถมให้สองเดือนหรือลดราคาให้สองเดือน)   การต่อรถพวกนี้ไม่ค่อยจะยุ่งยากนัก เช่น สาย 38 จะมีทั้งช่วงที่ใช้รถรางและช่วงที่ใช้รถบัส  ทำให้จำนวนหมายเลขของเส้นทางเดินรถไม่มากเหมือนอย่างของเรา

เรื่องรถประจำทางหรือรถรางที่ดูเหมือนกับจะขึ้นฟรีในยุโรปนี้ แท้จริงแล้วมันพอมีเหตุผลรองรับอยู่เหมือนกัน  หลักใหญ่ก็คือการให้บริการนักท่องเที่ยว เหมือนกับเป็นการลงทุนของเมืองต่างๆเพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางไปใหนมาใหนได้สะดวก ระบบบริการรถเมล์หรือรถรางจึงดูเหมือนจะขาดทุน แต่ที่จริงแล้วกลับกลายเป็นว่า เป็นการนำพานักท่องเที่ยวให้เอาเงินไปกระจายจ่ายให้กับธุรกิจในชุมชนที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว  ซึ่งก็คือการกระจายรายได้แบบโดยตรงถึงผู้คนในท้องถิ่นที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวเลย ไม่ต้องผ่านระบบการจัดการของรัฐที่จะเก็บเป็นภาษีแล้วจัดเป็นงบประมาณแบ่งส่วนส่งให้กับท้องถิ่นไปพัฒนาท้องที่ต่างๆ  (เสมือนหนึ่งเป็นระบบการ subsidized ของรัฐ ที่ไม่ผิดหลักการการบิดเบือนตลาด)   ผมว่าแนวคิดแบบนี้น่าสนใจเหมือนกันนะครับ   บางทีเราอาจจะต้องหันมาพิจารณารูปแบบการส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบใ้ห้เกิดการกระจายรายได้ที่เป็นรูปธรรม โดยตรง และในทันทีในลักษณะทำนองนี้ ก็น่าจะลองคิดดู

การท่องเที่ยวในยุโรปนั้น มีทั้งคนในประเทศของตนเอง คนในประเทศข้างเคียง และคนจากโพ้นทะเล  จัดเป็นเรื่องที่สร้างรายได้ให้กับประเทศและชุมชนท้องถิ่นอย่างมาก  ประชากรของแต่ละประเทศมีไม่มากนัก ส่วนมากจะอยู่ในเกณฑ์ประมาณ 10 +/- ล้านคน  แต่แต่ละประเทศจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาปีละประมาณ 40 +/- ล้านคน      ผมเคยคิดดังๆให้ผู้ใหญ่หลายคนฟังว่า ทำไมจะต้องมุ่งคิดค้าขายกับประเทศนั้นประเทศนี้เป็นการเฉพาะ (เช่น ขยายตลาดกุ้ง ไก่ อาหารต่างๆ ฯลฯ) เพื่อให้มีปริมาณการส่งออกมากขึ้น เพิ่มปริมาณการค้าขายให้มากขึ้นเป็นการใหญ่  ทำไมไม่คิดที่จะส่งเสริมการค้าขายสินค้าที่มีเป้าหมายกับนักท่องเที่ยวที่มีมากมายและหลากหลายเผ่าพันธุ์ในแต่ละปีในประเทศเหล่านั้น     เวียนามดูจะคิดแบบที่ผมว่านี้ สินค้าของเขาึจึงมีเกร่อไปหมด ตั้งแต่เสื้อผ้าราคาถูกไปจนถึงเครื่องปั้นดินเผา เวียดนามดูเหมือนจะจับตลาดใน Prague   ลาวก็ทำเหมือนกัน โดยการเปิดร้านขายอาหารไทยเต็มไปหมด (เช่น แทบจะเรียกได้ว่า ร้านอาหารไทยในบูดาเปสทั้งหมด มีเจ้าของเป็นคนลาว) ลาวดูเหมือนจะจับตลาดใน Budapest         



   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 527  เมื่อ 10 ก.พ. 13, 17:51

พูดถึงบูดาเปสและปราค เลยทำให้นึกถึงชื่อเมืองหลายเมืองในยุโรปที่ชาวถิ่นเขาเรียกกัน ซึ่งอาจทำให้เรางงๆได้เหมือนกัน 

ในอดีตนั้น เมืองต่างๆในยุโรปมักจะมีลักษณะเป็นนครรัฐ แล้วก็ถูกรวมเข้ามาเป็นอาณาจักร เป็นจักรวรรดิ ปกครองโดยมหาอำนาจ ชื่อเมืองเดิมก็ได้ถูกเปลี่ยนไปเป็นชื่อใหม่ ตอนหลังมีการแบ่งเขตการปกครอง มีเส้นเขตแดนชัดเจน แยกเป็นลักษณะแต่ละประเทศ ชื่อเมืองที่เปลี่ยนไปบ้างก็กลับมาใช้ชื่อเดิม พอเิิกิดการล่มสลายของอิทธิพลรัสเซีย เกิดประเทศใหม่ขึ้นมา ก็มีการเปลี่ยนชื่อเมืองอีก   

เอาละครับ แต่ละประเทศจึงมีชื่อเรียกเมืองของตนอย่างเป็นทางการ (ของตน)  มีชื่อเรียกทางการเหมือนกันแต่เป็นแบบที่สากลเขาเรียกกัน แล้วก็มีชื่อเมืองที่เรียกโดยประเทศที่เคยปกครองเดิม

อาทิ   เมือง Milan อิตาลีเรียกว่า Milano    เมือง Venice อิตาลีเรียกว่า Venezia    เมือง Florence อิตาลีเรียก Firenze   เมือง Bratislava เมืองหลวงของ Slovakia ออสเตรียเรียกว่า Presburg (ป้ายบอกทางในออสตรียบางป้ายยังใช้ชื่อนี้)    เมือง Munich  เยอรมันเรียกว่า Muenchen    เมือง Cologne เยอรมันเรียก Koeln    เมือง Prague เช็ดเรียกว่า Praha    ประเทศ Switzerland ก็เรียกว่า Suisse  เหล่านี้เป็นต้น

ครั้งหนึ่งผมขับรถออกจากสวิสตามป้ายจะเข้าไปเยอรมัน จากป้ายใหญ่ ถนนใหญ่ ก็เข้าสู่เมืองชายแดนเล็กๆ  เหลือป้ายปักบอกทางขนาดกว้างเท่าไม้กระดานแผ่นนึง เขียนว่า Allemagne  หะแรกก็งง นึกไม่ทัน   แล้วก็อ้อ คือ เยอรมัน นั่นเอง       

บันทึกการเข้า
พวงแก้ว
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 528  เมื่อ 11 ก.พ. 13, 15:14

แผนกนำภาพมาประกอบคะเมืองบูดา-เปส(เรียกชื่อรวมทั้งฝั่งซ้าย -ขวา )
มีแม่น้ำดานูบผ่านกลางเมืองเหมือนกรุงเทพกับฝั่งธนบุรีเลย
บูดาคือส่วนของเมืองเก่า เปสอยู่ฝั่งตรงข้ามเป็นเขตเมืองใหม่ใช่ไหมคะ
(ที่เห็นเป็นตึกสีขาวเล็กๆ ไกลสายตา)


บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 529  เมื่อ 11 ก.พ. 13, 19:00

ครับ   

บูดาเปส เป็นเมืองแฝดสองเมือง (บูดา กับ เปส) อยู่คนละฝั่งแม่น้ำกัน  พื้นที่ของฝั่งบูดามีลักษณะป็นเนินลอนคลื่น (หรือเขา)  พื้นที่ฝั่งเปสมีลักษณะเป็นที่ราบเกือบทั้งหมด   คนส่วนมากก็จะกล่าวกันว่าฝั่งเมืองบูดาเป็นเืมืองเก่า และฝั่งเมืองเปสเป็นเมืองใหม่   สำหรับผมนั้น เท่าที่เคยอ่านพบมา ทั้งสองฝั่งทั้งสองเมืองมันก็เก่าพอๆกันนั่นแหละครับ ต่างกันตรงที่ ฝั่งบูดาจะเป็นพื้นที่ตั้งของฝ่ายปกครอง ส่วนฝั่งเปสจะเป็นพื้นที่ของฝ่่ายประชาชนทำธุรกิจต่างๆ

เมืองแฝดนี้ คั่นกลางด้วยแม่น้ำดานูป  ก็เลยจะขอขยายความเรื่องแม่น้ำสายนี้หน่อยนึง

แม่น้ำดานูป (Danube) นี้เป็นชื่อที่คนทั่วโลกเขาเรียกกัน  แต่ในท้องถิ่นจะมีชื่อแปลกๆออกไปตามสำเนียงและภาษาของแต่ละประเทศแม่น้ำนี้ไหลผ่าน   ที่ออกเสียงเพี้ยนๆไปจนแทบจะกลายเป็นชื่อของแม่น้ำอีกสายหนึ่ง ก็คือ ดาโน (Danau) และ โดเนา (Donau)  แม่น้ำนี้เป็นเส้นทางหลักของการติดต่อค้าขายของชนชาติต่างๆในยุโรป จึงมีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของยุโรปผูกพันกับพื้นที่ตลอดเส้นทางที่มันไหลผ่าน  หากจำได้ไม่ผิด ชนชาติที่เป็นนักเดินทางค้าขายและเชื่อมโยงระบบเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ ชนชาติ Serb และ Slav    ในปัจจุบันนี้ แม่น้ำดานูปหลายช่วงมากได้ถูกปรับเลี่ยนเส้นทางโดยขุดร่องให้ลึกขึ้นและเป็นเส้นตรงมากขึ้น สำหรับการเดินเรือสินค้าต่างๆ  ตลอดจนมีการสร้างเขื่อนดินตลอดสองฝั่งของแม่น้ำ (artificial levee) เพื่อกันน้ำท่วม  จึงเหลือส่วนของแม่น้ำที่ยังคงเป็นแม่น้ำเดิม ซึ่งส่วนของแม่น้ำเดิมพวกนี้ (มักเรียกว่า Alte Donau) ในปัจจุบันได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของนักท่องเที่ยวทั้งหลาย

ก่อนที่จะลืมเล่าไป  ซื่อเสียงของแม่น้ำดานูปนี้ดังมากๆขนาดที่หลายคนคงฝันเห็นความสวยงามของมัน ตามท่วงทำนองเพลง Blue Danube (An der schoenen blauen Donau - The Beautiful Blue Danube) ของ Strauss   หลายคนคงอยากจะนั่งเรือล่องไปตามลำน้ำนี้ เหมือนนั่งเรือล่องแม่น้ำเจ้าพระยาของเรา   อืม์ อย่าได้ลองนะครับ เรือเขาใช้เวลานานมากๆ (มากๆ) บนเรือมีแต่เบียร์กับไวน์ เมาแล้วเมาอีกละครับ นั่งกันจนเบื่อไปเลย มันมีเพียงบางช่วงเท่านั้นที่สองฝั่งแม่น้ำสวย  เอาเวลานั่งรถไปแวะเป็นที่ๆ ที่ทัวร์เขาพาไปก็พอแล้ว ที่เขาพาไปนั้นแหละคือที่สวยๆทั้งนั้น จะได้ใช้เวลาไปเที่ยวที่อื่นคุ้มค่ากว่านั่งเรือเยอะแยะครับ   

 
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 530  เมื่อ 11 ก.พ. 13, 19:10

บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 531  เมื่อ 13 ก.พ. 13, 21:40

ฟังเพลงแล้วเลยทำให้นึกถึงอีกเรื่องหนึ่ง

สมัย ร.5 เสด็จประพาสยุโรปนั้น รู้สึกว่าจะเป็นยุคของเพลง Waltz พวกนี้ครับ

เพื่อเพิ่มควมสุนทรีย์ให้อีกสักหน่อย

ทุกวันสิ้นปีจะมีการแสดงการบรรเลงเพลงในเวียนนา ที่เรียกว่า Neujahrskonzert ซึ่งเพลงเกือบทั้งหมดจะเป็นของ Strauss   น่าฟังมากครับ   ในแต่ละปีก็จะมีวาทยากรดังๆมากำกับวงคนตรี   ที่อยากจะแนะนำให้พอให้ได้รับรู้ว่า วาทยากรเก่งๆนั้นเป็นอย่างไร  ก็ลองเข้าไปในยูทูบ  ลองหาเพลง Radetzky March ที่แสดงใน Vienna New Year Concert ของแต่ละปี  ตั้งใจฟังเปรียบเทียบกัน   เราก็จะพอแยกออกได้ว่า วาทยากรคนใหนกำกับเพลงได้ดีและเพราะพริ้งมากๆ  ที่แนะนำเพลงนี้และในงานแสดงนี้ก็เพราะ เป็นเพลงที่เราค่อนข้างจะคุ้นมากและเห็นความต่างของการเล่นดนตรีได้ค่อนข้างจะชัดเจน  วงที่เล่นก็วงเดิม นักดนตรีที่เล่นในแต่ละปีก็แทบจะเป็นคนเดิมทั้งหมด   
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 532  เมื่อ 13 ก.พ. 13, 22:00

หามาให้ฟังพอเป็นตัวอย่างค่ะ

บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 533  เมื่อ 14 ก.พ. 13, 18:45

พูดถึงปร๊าคและบูดาเปส  ทำให้นึกถึงอีกเื่รื่องหนึ่ง  คือ ของหายและรถยนต์หาย 

หากเรารู้จักเพื่อนที่เขามีรถ ไม่ว่าเพื่อนจะเสนอที่จะขับรถพาเราไปเที่ยวหรือเราจะขอให้เพื่อนพาไปเที่ยว   กรุณาอย่ากระทำและกรุณาปฏิเสธไปเลยครับ  ไปสร้างความอึดอัดใจให้กับเพื่อนเปล่าๆ   ประการแรก สถานที่จอดรถก็มีไม่มาก แถมรถถูกขโมยอีก  สถานการณ์แย่มากพอที่บริษัทประกันจะระบุไว้ในกรมธรรม์เลยว่า ยกเว้นประเทศเช็คและฮังการี (รวมทั้งประเทศอื่นๆในยุโรปตะวันออก)     ในอิตาลี โดยเฉพาะที่มิลานก็ไม่เบาเหมือนกัน ขนาดประตูห้องนอนยังใช้ระบบล็อกแบบตู้เซฟเลย  หน้าต่างต้องปิด ลงกลอนให้ดี เขาจะใช้ระบบมู่ลี่ไม้ระแนงที่ยกขึ้นลงเหมือนประตูเหล็กตามห้องแถวของเรา  เป็นรูปแบบที่ดังมากพอขนาดเป็นที่รู้จักกันในหมู่สถาปนิกว่าเป็น style แบบอิตาลี
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 534  เมื่อ 16 ก.พ. 13, 18:16

ไปเรื่องการจราจรกันดีใหมครับ

คงทราบกันอยู่แล้วว่า รถยนต์มีทั้งขับชิดซ้ายและขับชิดขวา  แล้วก็คงทราบเช่นกันอยู่ว่าพวกขับชิดซ้ายรับมาจากอังกฤษ ส่วนขับชิดขวานั้นไม่แน่ใจว่าจากอิทธิพลของชาติมหาอำนาจใด (เข้าใจว่าจะเป็นจากฝรั่งเศสและอเมริกัีน)   ลึกๆของที่มาที่ไปของการขับชิดซ้ายหรือชิดขวาก็มีอยู่เหมือนกัน  นัยว่ามันมาจากสองเรื่อง คือ เรื่องนึงมาจากการขี่ม้าสัญจรที่ต้องการปล่อยมือขวาให้ว่าง เพื่อจะได้ใช้ในการทักทายหรือชักอาวุธสู้กัน จึงเป็นที่มาของการนั่งขับรถด้านขวา (ขับชิดซ้ายของถนน)   และอีกเรื่องนึงมากจากการขับรถม้าโดยนั่งชิดซ้าย เพื่อจะได้ใช้มือขวาขยับแซ่บังคับม้า จึงเป็นที่มาของการนั่งขับรถด้านซ้าย (ขับชิดขวาของถนน)     แต่กับเรือนี้ดูจะเหมือนกันหมดทั้งโลก คือ ชิดขวาเสมอ แต่ก็มีข้อยกเว้น คือ หากเป็นเรือที่อยู่ในขาขึ้นทวนน้ำ จะต้องเบียดติดโค้งด้านใน และเรือขาล่องจะต้องอยู่ด้านนอกของโค้งเสมอ

ก็ปรากฏว่้าในช่วงประมาณทศวรรษที่สองของ ค.ศ.1900 ประเทศในยุโรปก็ได้ทะยอยเปลี่ยนจากการขับรถชิดซ้่ายไปเป็นชิดขวากันดังในปัจจุบัน ด้วยความสมัครใจก็มี ด้วยการถูกบังคับก็มี (ช่วงสงคราม) และด้วยต้องการเพิ่มพูนประโยชน์ทางเศรษฐกิจก็มี   

เกิด AEC ขึ้นมา ไม่รู้ว่าไทยคิดจะเปลี่ยนไปขับชิดขวาหรือไม่  ไม่แน่นะครับ (อาจจะเป็นโครงการเพื่อสร้างให้กระเป๋าตุงกันอีกครั้งก็เป็นได้) ก็เพราะรอบตัวเราที่มีอาณาเขตติดต่อกัน และเป็นที่ซึ่งเราเราหวังจะให้เป็นแหล่งฐานทางอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจต้นน้ำของเรา (พม่า ลาว เขมร เวียดนาม) ต่างก็ขับชิดขวาทั้งนั้น ยกเว้นมาเลย์เซียเท่านั้น  แถมเรายังอยากจะเป็น hub ทาง logistic อีกด้วย จะให้สำเร็จง่ายๆก็คงต้องยอมไปเหมือนเขา จะไปบังคับให้เขายอมมาเหมือนเรา คงยาก    แถมหน่อย ตู้ container ตามมาตรฐานสากล ที่เห็นลากกันทั่วเมืองไทยนั้น ขนาดกว้าง ยาว สูง ของมันไม่ถูกต้องตามกฎหมายไทยเกือบทั้งนั้น

พอครับ ว่าจะไปเรื่องของวิธีการจัดการกับการผิดกฏจราจรเขาทำกันอย่างไรบ้าง
บันทึกการเข้า
พวงแก้ว
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 535  เมื่อ 26 ก.พ. 13, 19:41

แค่การจราจรที่กำลังจะเป็นจราจลบนถนนทุกวันนี้ก็ปวดหัวจะแย่แล้วค่ะ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 536  เมื่อ 11 มี.ค. 13, 19:29

ขออภัยที่หายไปดื้อๆเสียนานครับ

ก็มีเหตุผลอยู่สองประการ คือ รำคาญจมูกตันและน้ำมูกที่ข้น เป็นต่อเนื่องมาเป็นเดือนเลย เดี๋ยวก็ทั้งสองข้าง เดี๋ยวก็ข้างเดียว  แล้วอีกประการหนึ่งก็ว่าจะรอฟังวิสัยทัศน์ของผู้สมัครเป็นผู้ว่า กทม. ในการหาเสียงของเขาทั้งหลายนั้น  ซึ่งฟังแล้วก็ให้เป็นอันรู้สึกไปในทาง -ve ว่า ความเป็น กทม. เมืองหลวงของประเทศนี้ หน้าตาจะเป็นอย่างไรต่อไป

ในระหว่างพักหายไปนี้ ก็ได้ไปตรวจที่ รพ. ผลที่พบของความเจ็บป่วยนี้ ทำให้ต้องไปค้นหาอ่านข้อมูลที่เกี่ยวข้องอย่างค่อนข้างจะเข้มข้นและละเอียดพอควรตามเว็ปไซด์ทางการแพทย์ และการวิจัยต่างๆเท่าที่จะหาอ่านได้ พร้อมๆไปกับการจัดการความพร้อมในทุกๆด้าน

นี่แหละครับจึงทำให้หายไปเสียนาน   
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 537  เมื่อ 11 มี.ค. 13, 19:44

ขอให้หายจากอาการป่วยเร็วๆนะคะ


บันทึกการเข้า
พวงแก้ว
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 538  เมื่อ 12 มี.ค. 13, 20:38

ขอให้หายป่วยโดยเร็วกลับมาเล่าเรื่องต่างๆให้พวกเราฟังอีกนะคะ


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 12 มี.ค. 13, 23:14 โดย admin » บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 539  เมื่อ 12 มี.ค. 13, 21:15

ขอบพระคุณมากๆสำหรับคำอวยพรครับ

บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 34 35 [36] 37
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.173 วินาที กับ 19 คำสั่ง