ปริศนาจากสวนหิน โดย พระไพศาล วิสาโล คงไม่มีก้อนหินที่ไหนสามารถดึงดูดความสนใจของผู้คนได้มากมายเท่ากับ กลุ่มก้อนหินที่วัดเรียวอันจิแห่งเมืองเกียวโต วัดนี้เป็นที่กล่าวขานทั่วโลกว่ามีสวนเซนที่งดงามและลึกซึ้งยิ่ง แต่สวนดังกล่าวหามีต้นไม้ขึ้นสักต้นไม่ ยกเว้นตะไคร่น้ำและมอสแล้ว ในสวนมีแต่ก้อนหินที่จับกันเป็นกลุ่ม ๆ บนลานกรวดล้วน ๆ แต่รูปลักษณ์และตำแหน่งของหิน รวมทั้งลูกคลื่นบนลานกรวดสีขาว กลับมีมนต์ขลัง ตรึงใจผู้คนมานานหลายศตวรรษแล้ว และคงจะต่อไปนานเท่านาน
สวนหินนั้นกำลังบอกอะไรแก่เรา ? ภูเขาทะยานพ้นก้อนเมฆ ? หมู่เกาะกลางสมุทร? ผู้คนในห้วงสังสารวัฏ? หรือโลกสมมติที่กำเนิดจากปรมัตถ์? นี้เป็นปริศนาที่สายตาทุกคู่พยายามหาคำตอบ แต่ไม่เคยมีคำเฉลยจาก “ศิลปิน” ผู้จัดสวนนี้เลย หรือว่าคำตอบที่แท้และถูกต้องที่สุดนั้นหามีไม่ จะมีก็แต่คำตอบจากใจของแต่ละคน เราคิดอย่างไร เรียนรู้มาอย่างไร ก็เห็นอย่างนั้น เด็ก ๆ อาจเห็นเพียงแค่ก้อนหินธรรมดา ขณะที่นักท่องป่าเห็นขุนเขาและเสือทะยาน ส่วนนักพรตเห็นความว่างเปล่าของชีวิต
แต่ไม่ว่าจะเห็นอะไร สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันก็คือ ไม่เคยมีใครเห็นก้อนหินในสวนแห่งนี้ครบ ๑๕ ก้อนเลยเลย ไม่ว่าจะมองจากมุมไหนในทิศทั้งสี่ เราจะเห็นก้อนหินได้อย่างมากที่สุดเพียง ๑๔ ก้อน หินหนึ่งหรือสองก้อนจะถูกบังและหลบหนีจากสายตาเราไปได้เสมอ
นี่เป็นปริศนาอีกข้อหนึ่งจากสวนหิน แต่ปริศนาข้อนี้ดูเหมือนจะเฉลยไม่ยาก พุทธศาสนาแบบมหายานนั้นถือว่า หมายเลข ๑๕ เป็นสัญลักษณ์แห่งความสมบูรณ์พร้อม สวนหินแห่งนี้อาจกำลังบอกเราว่า ปุถุชนคนเรานั้นไม่มีวันที่จะเห็นความจริงได้ครบถ้วน ไม่ว่าจะพยายามเพียงใด ย่อมมีความจริงบางส่วนบางแง่ที่เรามองไม่เห็น หรือคลาดจากสายตาของเราไป
ต้นไม้ในสายตาของบางคนหมายถึงอากาศและน้ำ ในสายตาของเด็ก ต้นไม้คือความสนุกที่จะได้ป่ายปีน แต่อีกหลายคน มันหมายถึงซุงที่สามารถแปรเป็นเงินได้ จริงอยู่เมื่อเอาทุกคนมายืนอยู่หน้าต้นไม้ ทุกคนย่อมเห็นต้นไม้เหมือนกัน กระนั้นความจริงบางส่วนก็ยังขาดหายไป ต้นไม้ที่เราแลเห็น ไม่ใช่แค่ต้นไม้เฉย ๆ หากยังมีดวงอาทิตย์ หมู่เมฆ หยาดฝน สายลม รวมอยู่ในนั้นด้วย ปราศจากองค์ประกอบดังกล่าว ต้นไม้ก็หามีอยู่ไม่ ถ้าเห็นต้นไม้ว่าเป็นเพียงแค่ต้นไม้ นั่นก็หมายความว่าเรายังเห็นต้นไม้ไม่ครบถ้วน ถึงที่สุดแล้วในต้นไม้แต่ละต้นนั้นมีโลกทั้งโลกอยู่ หรืออาจจะรวมทั้งจักรวาล ถ้าเช่นนั้นต้นไม้ที่เราเห็นก็เป็นเพียงแค่ส่วนเสี้ยวเดียวเท่านั้นของความจริง
บ่อยครั้งเรามักยึดถือเอาภาพที่เห็น เสียงที่ได้ยิน รวมทั้งความคิดนึกในใจเราว่าเป็นความจริงแท้ เมื่อเราเห็นบางคนมีอากัปกิริยาบางอย่าง เราก็อนุมานไปแล้วว่าเขากำลังคิดมิดีมิร้ายกับเรา แทนที่จะตระหนักว่านั่นเป็นแค่การคาดคะเน กลับทึกทักเอาว่าเป็นความจริง แล้วเราก็ยึดติดกับ “ความจริง” ดังกล่าว แล้วก็เลยเห็นการกระทำอื่น ๆ ของเขาไปในทางร้ายเสียหมด ครั้นมีคนอื่นมาท้วงติง ชี้ให้เห็นว่าเขาไม่ใช่เป็นคนอย่างนั้น เรากลับยืนกรานหนักแน่น เพราะเชื่อว่าสิ่งที่เราคิดนั้น “จริง” ส่วนคำทักท้วงของเขานั้น “ไม่จริง” หนักเขาก็ไม่พอใจ ฉุนเฉียว จนอาจเกรี้ยวกราด เพื่อนที่ท้วงติง ทั้งหมดนี้ก็เพราะไปหมายมั่นว่าความคิดของเรานั้นเป็นความจริงแท้
ผู้คนทุ่มเถียง วิวาท และเบียดเบียนกันซ้ำแล้วซ้ำเล่า ก็เพราะความหมายมั่นดังกล่าว หากเพียงแต่ทุกคนตระหนักว่าสิ่งที่ตนเห็นหรือคิดนั้น เป็นได้อย่างมากแค่ความจริงบางส่วนเท่านั้น
จิตใจเราจะเยือกเย็นลง และสังคมจะสงบสุขกว่านี้ เราจะอ่อนน้อมถ่อมตนลง และใจกว้างมากขึ้น เพราะตระหนักว่า ถึงแม้เขาเห็นต่างจากเรา แต่เขาก็อาจเข้าถึงความจริงในส่วนที่เรามองไม่เห็นก็ได้
คนที่ยึดมั่นถือมั่นกับความคิดความเห็นของตน เมื่อไปสวนหินวัดเรียวอันจิ ย่อมอดไม่ได้ที่จะโต้แย้งกับเพื่อนที่นั่งชมสวนคนละมุม เพราะเห็นก้อนหินไม่เท่ากัน คนหนึ่งยืนยัน ๑๓ อีกคนยืนยัน ๑๔ ตราบใดที่ยังยืนยันจากสิ่งที่ตนเห็น ก็ย่อมผิดทั้งคู่
ถ้าต้องการเห็นก้อนหินครบทั้ง ๑๕ ก้อนในสวนเรียวอันจิ มีทางเดียวเท่านั้น นั่นคือมองจากเบื้องบน หรือจากที่สูงมาก ๆ ไม่ใช่มองจากระดับพื้นดิน ความจริงแท้ก็เช่นกัน เราจะเห็นได้ก็ต่อเมื่อไม่ยึดติดกับความคิดและการรับรู้ของตัว หากพร้อมที่จะหลุดออกมาจากความคิดและการรับรู้ ยิ่งความจริงระดับปรมัตถ์ด้วยแล้ว ต่อเมื่อเราอยู่เหนือโลก ไม่ติดในโลก เราถึงจะเห็นหรือเข้าถึงได้
การติดในโลกหมายถึงติดยึดตัวตนหรือสิ่งที่สำคัญมั่นหมายว่าเป็นของตน ไม่ว่า ชื่อเสียง เงินทอง อำนาจ ตลอดจนความคิดความเชื่อ สิ่งเหล่านี้ใช่ว่าจะไร้ประโยชน์ แต่มันมีประโยชน์ต่อเมื่อรู้จักใช้ และรู้จักวาง ไฟฉายนั้นมีประโยชน์เมื่อใช้ส่องในความมืด แต่ถ้าเราถือไฟฉายไปตลอด จะกินข้าว เข้าห้องน้ำ มือก็ยังจับยังยึดไฟฉายไว้ ก็ย่อมติดขัด ในยามนี้สิ่งที่ควรทำเป็นอย่างแรกคือวางไฟฉายลง
รู้จักวางเสียบ้าง เราจะเห็นอะไรได้ชัดขึ้น และชีวิตจะเบาลงมาก
