เรื่องการรอจังหวะไฟข้ามถนน เท่าที่ผมเคยเห็น ผมว่าคนญี่ปุ่นเคร่งครัดที่สุด บางครั้งบนถนนสายเล็ก มองไปสุดสายตาไม่ว่าขวาหรือซ้ายก็ไม่เห็นรถสักคัน แต่ไฟข้ามถนนยังเป็นไฟแดง คนก็ยืนรออยู่อย่างนั้นแหละครับ คนต่างชาติ(บางชาติ)เห็นถนนว่างขนาดนั้นก็เดินข้ามทันที ผมเห็นกับตาว่าคนญี่ปุ่นหลายคนทำหน้าตาเหวอมาก หลังจากอึ้งไป 5 วินาที คนญี่ปุ่นบางคนก็เอาบ้าง ขอข้ามด้วยคน แต่ก็ยังมีบางคนที่อดทนยืนรอต่อไปอย่างมีวินัยน่านับถือเสียจริงๆ ครับ
ราวยี่สิบกว่าปีที่แล้ว ผมได้คุยกับเพื่อนรุ่นพี่ (หรือรุ่นอา) ท่านหนึ่งที่เคยใช้ชีวิตอยู่ในญี่ปุ่นอยู่นานจนคนญี่ปุ่นไม่รู้ว่าเป็นคนต่างชาติแม้นั่งคุยอยู่ด้วยกันเป็นชั่วโมง พี่ท่านนี้เล่าให้ฟังว่าภาษีทะเบียนรถยนต์ในญี่ปุ่นนั้นตรงข้ามกับบ้านเรา คือบ้านเรารถยิ่งเก่าภาษียุ่งถูก ในขณะที่ในญี่ปุ่นมีแต่จะแพงขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับเรื่องที่จอดรถที่ต้องมีเตรียมสำหรับรถทุกคัน และราคารถยนต์ใหม่ที่ไม่สูงนัก คนส่วนใหญ่จึงต้องเปลี่ยนรถบ่อย (เมื่อเทียบกับคนไทย) รถที่จะเลิกใช้นั้นไม่ใช่ว่าจะเอาไปจอดอยู่ริมถนนจนผุพังเกะกะได้แบบบ้านเรานะครับ แล้วจะเอาไปทิ้งที่ไหน? ในเมื่ออุปสงค์มากกว่าอุปทานอย่างมาก คนจะทิ้งรถต้องโทรไปตามเซียงกงมาเอารถไป และแทนที่จะได้เงินจากมูลค่ารถที่จะทิ้ง กลับต้องจ่ายค่าลากรถไปให้กับเซียงกงอีกด้วยแน่ะ
หะแรกพวกเซียงกงได้รถมาก็เอาไปแยกส่วนทำลาย แต่ชาติ "กำลังพัฒนา" บางแห่งเห็นว่าอะไหล่จากรถอายุแค่ไม่กี่ปีพวกนี้ยังดีอยู่แท้ๆ ก็ไปขอซื้อกันในราคาถูกๆมาขายเป็นอะไหล่รถยนต์มือสองในไท.. อุ๊ปส์... ขออภัย ในชาติเหล่านั้นครับ พวกอู่แท็กซี่บางแห่งก็ลงทุนไปกว้านซื้ออะไหล่พวกนี้เองถึงที่ด้วยเหตุที่มีความต้องการใช้อะไหล่เพื่อซ่อมรถเป็นจำนวนมาก
ทราบมาว่าธุกิจนี้ (ในเวลานั้น) เป็นธุรกิจที่ทำกำไรได้ดีมากๆ แต่คนที่ทำงานนี้ต้องถึงลูกถึงคน มีความรู้เรื่องอะไหล่และการประเมินสภาพเป็นอย่างดี อีกทั้งต้องทนงานหนักพร้อมจะลุยคุ้ยเขี่ยกองอะไหล่ที่จมอยู่ในน้ำมันเครื่องสูงครึ่งแข้งได้ทุกวัน วันละหลายๆชั่วโมงครับ
ขออภัยที่ออกนอกเรื่องไปเสียไกลครับ
