เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3 ... 37
  พิมพ์  
อ่าน: 171790 เก็บตกมาจากการเดินทาง
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


 เมื่อ 05 มิ.ย. 12, 19:41

กระทู้นี้ คงจะเป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับสิ่งที่ได้พบเห็นมาในช่วงของชีวิตการทำงานที่ได้มีโอกาสเดินทางไปในที่ต่างๆ  และก็ขอเชิญสมาชิกทุกท่านร่วมวงเล่าประสบการณ์และความรู้ต่างๆที่ได้พบเห็นมาด้วยครับ

เคยได้ยินคำเปรียบเปรยเกี่ยวกับคณะนักท่องเที่ยวไทยว่า  “ขึ้นเป็นหลับ ขยับเป็นแดก แยกเป็นหลง ลงเป็นซื้อ”  และอีกวลีหนึ่งว่า  “ชะโงกทัวร์”
ผมชอบคำเปรียบเปรยข้างต้นนี้มาก เพราะตรงกับความจริงที่ปรากฎ   

เรื่องที่จะเล่าต่อจากนี้ไป ผมคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับทุกคน

เมื่อเราจะเริ่มเดินทางกัน จึงจะขอเริ่มที่เรื่องของ หนังสือเดินทาง หรือ Passport

หนังสือเดินทางนั้น คือเอกสารที่ทางราชการของประเทศต่างๆออกให้กับบุคคลใดๆ (เสมือนหนึ่งเป็นบัตรประจำตนของบุคคลนั้นๆ) เพื่อใช้ในการเดินทางไปมาระหว่างประเทศต่างๆ โดยมีข้อมูลสำคัญ คือ ชื่อ รูปร่าง หน้าตา วันเดือนปีเกิด เพศ และสถานที่เกิด
หนังสือเดินทางของประเทศใดๆที่ออกให้กับบุคคลใดๆนี้ มิได้แสดงว่าผู้ถือหนังสือเดินทางนั้นจะต้องมีถิ่นพำนักอยู่ในประเทศที่ออกหนังสือเดินทางให้ และก็มิได้หมายความว่าผู้ถือหนังสือเดินทางนั้นๆ จะสามารถเดินทางเข้าประเทศที่ออกหนังสือเดินทางนั้นให้ได้อีกด้วย

หนังสือเดินทางมีหลายรูปแบบและมีได้หลายสี เช่น ของไทยใช้สีน้ำตาลสำหรับบุคคลธรรมดาทั่วไป  (Ordinary Passport) ใช้สีน้ำเงินสำหรับข้าราชการที่เดินทางไปในภารกิจหรือทำหน้าที่ทางราชการ (Official Passport ) และสีแดงสำหรับเจ้าหน้าที่ทางการทูตหรือบุคคลระดับรัฐมนตรีขึ้นไป (Diplomatic Passport) 
รูปแบบอื่นๆของหนังสือเดินทาง มีอาทิ หนังสือเดินทางชั่วคราว (Temporary Passport ) ใช้สำหรับกรณีตัวจริงหายในระหว่างการเดินทาง  หนังสือเดินทางสำหรับครอบครัว (พ่อ แม่ ลูก) ซึ่งผู้ถืออาจจะใช้เดินทางผู้เดียวได้ แต่คนในครอบครัวไม่สามารถใช้ได้ จะใช้ได้ก็ต่อเมื่อมีผู้ถือร่วมเดินทางไปด้วย (Family Passport)  และหนังสือเดินทางสำหรับกลุ่มคน (Group หรือ Collective Passport) ใช้ในกรณีเช่นคณะนักเรียนนักศึกษาเดินทางเป็นกลุ่มไปยังประเทศใดประเทศหนึ่ง
สำหรับข้าราชการที่ลาไปเรียนนั้นอาจจะได้รับหนังสือเดินทางแบบบุคคลธรรมดา แต่จะมีการประทับคำว่า Gratis  เพื่อให้ทราบว่าเป็นคนของภาครัฐ แต่มิได้เดินทางในลักษณะการปฎิบัติหน้าที่ของรัฐ

เมื่อหนังสือเดินทางหายในระหว่างการเดินทาง สิ่งแรกที่ต้องกระทำคือ แจ้งสถานกงสุล หรือสถานทูต ซึ่งจะออกหนังสือเดินทางชั่วคราวให้ ซึ่งสำหรับของไทยนั้นมักจะออกหนังสือสำคัญที่เรียกว่า CI (Certificate of Identity) เพื่อให้สามารถเดินทางกลับบ้านได้     หนังสือเดินทางชั่วคราวและ CI นี้ไม่สามารถจะใช้เดินทางต่อเนื่องไปประเทศอื่นๆได้ เนื่องจากจะไม่ปรากฎตราประทับวีซ่าของประเทศที่จะเดินทางต่อไป  (จะยกเว้นก็กรณีการเดินทางในยุโรปที่ป็นเขต Schengen)  โดยหลักก็คือ เพื่อเดินทางตรงกลับบ้านสถานเดียว ซึ่งโดยนัยก็คือ จะได้ไม่ไปลอยเคว้งเป็นบุคคลไร้สัญชาติ ไร้ที่อยู่ กลับเข้าประเทศบ้านเกิดของตนเองก็มีปัญหายุ่งยาก

เรื่องหนังสือเดินทางหายนี้ เป็นกรณีที่เกิดเป็นประจำ  ฝ่ายนักท่องเที่ยวก็คงจะต้องบ่นว่าทำไมฝ่ายรัฐจึงยุ่งยากวุ่นวายมาก คล้ายกับไม่ให้บริการ   
ข้อเท็จจริงบางประการก็คือ การแจ้งหายนั้นไม่เป็นความจริงในหลายๆกรณี   มีตั้งแต่ขายหนังสือเดินทางให้คนต่างชาติ   แอบหลบทำงานแล้วถูกนายจ้างยึดหนังสือเดินทางเป็นประกัน (ต้องการกลับบ้าน เพื่อไปทำหนังสือเดินทางใหม่ แล้วก็กลับมาใหม่)  ฯลฯ
เคยต้องช่วยกรณีหนังสือเดินทางของคนของฝ่ายรัฐหาย  ดูก็เป็นเรื่องปรกติ  แต่ที่ไม่ปรกติก็คือ ในประวัติ (ข้อมูล) ได้หายมาหลายครั้งแล้ว  สุดท้ายเมื่อได้รับเล่มใหม่แล้ว ก็แจ้งว่าหาเจอแล้ว  ผมคิดว่าคนในระดับผู้บริหารที่เดินทางบ่อยเช่นนี้คงจะต้องหน่อมแน้มเอาการทีเดียว  เฮ้อ...ได้แต่ปลง
ก็คงจะต้องเห็นใจเจ้าหน้าที่บ้างในเรื่องเช่นนี้ มิฉะนั้นเราก็จะมีคนไทยเถื่อนเต็มไปหมด ถือหนังสือเดินทางไทยอยู่ในประเทศไทยยังพูดไทยไม่ได้สักคำก็มีมากมายอยู่มิใช่หรือ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 05 มิ.ย. 12, 20:54

ต่อเรื่องหนังสือเดินทางอีกเล็กน้อย  เพื่อจะได้มีความเข้าใจครับ
ด้วยความมีจริยธรรม ข้าราชการที่เดินทางไปท่องเที่ยวส่วนตัวก็ควรจะต้องไม่ใช้หนังสือเดินทางราชการ (Official Passport) และหากมิใช่นักการทูตไปในราชการทางการทูตก็มิควรจะใช้หนังสือเดินทางทางการทูต (Diplomatic Passport) ใช่ใหมครับ

ในโลกของความเป็นจริงนั้น  อาจจะไม่ต้องของวีซ่าเข้าในหลายประเทศหากใช้หนังสือเดินทางของบุคคลธรรมดา แต่อาจจะต้องขอวีซ่าหากใช้หนังสือเดินทางราชการและหนังสือเดินทางเจ้าหน้าที่ทางการทูต และก็เป็นไปในทำนองกลับกัน

ความต่างก็มีอยู่บ้างเมื่อเดินทางถึงประเทศนั้นๆ คือ จะมีการจัดช่องเฉพาะสำหรับหนังสือเดินทางทางการทูตแยกออกไป แต่สำหรับหนังสือเดินทางอื่นๆนั้นจะใช้ช่องเดียวกัน ความสะดวกสะบายก็ต่างกันตรงที่ไม่ต้องรอนานเท่านั้น และก็อาจจะไม่ถูกซักถามมากหรือไม่มีการซักถามจากเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง

หนังสือเดินทางการทูตหรือที่เราเรียกกันว่า Passport แดงนั้น มิได้หมายความว่าบุคคลนั้นๆจะได้รับสิทธิ์หรือการยกเว้นใดๆ ผู้ได้รับเอกสิทธิ์ทางการทูต (Immune) นั้น มิใช่ฝ่ายรัฐผู้ออกหนังสือเดินทางเป็นผู้ให้ ผู้ให้เอกสิทธิ์คือรัฐฝ่ายรัฐที่เราเดินทางเข้าไป ซึ่งเขาจะพิจารณาให้เป็นคนๆไป ซึ่งในแต่ละปีจะมีรายชื่อประกาศและปรากฎอยู่ในหนังสือ Diplomatic List ของแต่ละประเทศ ซึ่งบุคคลในรายชื่อเหล่านั้นก็จะต้องเคารพและปฏิบัติตามกฎหมายของเขา เพียงแต่ว่าอยู่นอกอำนาจศาลของเขาเท่านั้น  เอาเป็นว่าจอดรถในที่ห้ามก็ถูกใบสั่งได้เหมือนกัน ทำผิดมากๆ วุ่นวายกับเขามากๆ เขาก็ขอให้เอากลับไป เขาถอนเอกสิทธิ์ได้
 
การใช้หนังสือเดินทางราชการและทางการทูตจึงต้องใช้ด้วยความรู้สึกและด้วยการปฏิบัติที่รักในเกียรติภูมิ เกียรติศักดิ์ รักในศักดิ์ศรีของประเทศชาติ และมีความภูมิใจในประเทศของตน 


 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 05 มิ.ย. 12, 21:15

ถัดมาจากเรื่องหนังสือเดินทาง ก็มาถึงเรื่องของวีซ่า (VISA)

วีซ่า ก็คือ การอนุญาตให้บุคคลใดๆเข้ามาในเขตอาณาของตนได้ 
วีซ่าเป็นเรื่องของงานทางมหาดไทย (Interior affairs) ที่ไปฝากไว้กับงานกงสุลของสถานทูต เป็นเรื่องของการอนุญาตเบื้องต้นให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งเดินทางเข้าประเทศของตนได้ ซึ่งเมื่อบุคคลนั้นๆเดินทางมาในเขตอาณาแล้ว ก็อาจจะถูกปฏิเสธโดยฝ่ายตรวจคนเข้าเมือง (Immigration) ไม่อนุญาตให้เข้าเมือง (แม้จะได้รับวีซ่ามาแล้วก็ตาม)

วีซ่าจึงเป็นอีกเรื่องที่ควรทราบ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 06 มิ.ย. 12, 01:58

จำได้ว่าหนังสือเดินทางสมัยไปเรียนหนังสือในต่างแดน เป็นเล่มสีน้ำเงิน
ต่อมาเมื่อไปต่างประเทศอีกหลายครั้ง  แต่ไม่ได้ไปเรียน   หนังสือเดินทางเปลี่ยนเป็นชนิดสีน้ำตาล   ก็ยังใช้มาจนทุกวันนี้  

ทำหนังสือเดินทางที่กรุงเทพไม่ยากเลย  ขอชมแผนกหนังสือเดินทางของกระทรวงการต่างประเทศว่าอำนวยความสะดวกได้ดี   แม้ว่ามีคนไปขอหนังสือเดินทางกันแน่นขนัดก็ตาม  ก็ทำได้รวดเร็วลื่นไหลพอใช้  ไม่รู้สึกว่านานจนอึดอัด

ส่วนวีซ่า  ถ้าไปทัวร์ก็ไม่มีปัญหา บริษัททำให้เสร็จ  ไม่ต้องยุ่งยากก  ถ้าไปเองเป็นส่วนตัวถึงต้องไปขอวีซ่าเอง   การไปอังกฤษตอนนี้มีบริการรับทำวีซ่า ทำให้สะดวกขึ้นมาก  แค่ไปยื่นหลักฐานที่บริษัทเขาให้เขารับเรื่อง  จากนั้นเขาก็ติดต่อสถานทูตเอง   เราไม่ต้องไปยืนเข้าคิวอยู่หน้าและในสถานทูตอย่างเมื่อก่อน  
นัดวันเสร็จ  พอได้วีซ่าเรียบร้อยก็ไปรับจากบริษัทมาได้เลย  
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 06 มิ.ย. 12, 08:20

ประเทศไปยากที่สุดคือสหรัฐอเมริกา  จำได้ว่าต้องไปเข้าคิวแต่เช้าตรู่อยู่หน้าสถานทูต    ครั้งแรกไปขอแบบฟอร์มที่ต้องกรอกละเอียดยิบ กรอกยากกรอกเย็นอะไรยังงั้นก็ไม่รู้   พร้อมหลักฐานสำคัญอีกเพียบ   จากนั้นก็ต้องไปเข้าคิวอีกครั้งเพื่อไปยื่นเรื่อง  หลักฐานที่เรามีจะทำให้ทางสถานทูตมั่นใจว่า ยังไงเข้าประเทศเขาแล้วก็กลับออกมาแน่   ไม่หลบหนีหายเข้าไปเป็นโรบินฮู้ดอยู่ในประเทศเขา

เรื่องนี้จะโทษพี่กันก็ไม่ได้  เห็นใจเขาอยู่เหมือนกันว่าคนไทยจำนวนหนึ่งทำเสียชื่อประเทศไทย ด้วยการขอวีซ่าเข้าไปได้แล้วก็หลบหนีไปทำงานที่นั่น   เครดิตของเราจึงเสียไป ทำให้คนไทยที่ตั้งใจไปเรียน หรือไปธุระต่างๆอย่างตรงไปตรงมาพลอยลำบากถูกเพ่งเล็งไปด้วย

เรื่องหลบหนีเข้าเมืองด้วยวิธีต่างๆ  ยังมีอยู่จนทุกวันนี้   2-3 ปีก่อนระหว่างแวะนั่งกินกาแฟสตาร์บั๊คอยู่ในร้านเล็กๆ เจอสาวไทยที่แต่งงานกับคนอเมริกันเข้ามาทักทายว่าเป็นคนไทยด้วยกันใช่ไหม    คุยกันไปมาตามประสา  เธอก็เล่าว่า ไม่นานมานี้มีคนไทยที่มาตั้งถิ่นฐานอยู่ในอเมริกานานแล้ว ถึงแก่กรรม   ญาติพี่น้องทางประเทศไทยก็ทำวีซ่าขอมาร่วมงานศพ เป็นการแสดงความอาลัยครั้งสุดท้ายต่อผู้ตาย   ทางสถานทูตสหรัฐก็เห็นใจ  ตกลงประทับตราให้เข้ามา
พอเข้ามาได้  ญาติพวกนั้นถือโอกาสไม่กลับบ้านเลย   กลายเป็นหลบหนีเข้าเมืองมาหางานทำที่นี่ ทิ้งหนังสือเดินทางไปดื้อๆ   เอาเป็นว่าทางการเขาจับได้เมื่อไร ส่งตัวกลับ ก็ค่อยกลับกันตอนนั้น

ส่วนบางประเทศเช่นญี่ปุ่น ได้ข่าวว่าไม่ต้องทำวีซ่า    ชาวญี่ปุ่นไปไหนมาไหนได้ทั่วโลกตามสบาย
ไต้หวัน ก็ได้ข่าวว่าปีหน้า ชาวไต้หวันจะเข้าอเมริกาได้โดยไม่ต้องทำวีซ่าแล้ว   แสดงว่าเครดิตเขาดีมาก
ส่วนของเรา  เห็นจะต้องรออีกนาน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 06 มิ.ย. 12, 08:23

หนังสือเดินทางไทย แบบต่างๆ


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 06 มิ.ย. 12, 08:24

รูปถ่าย และรายละเอียดของผู้ถือหนังสือเดินทาง    ขึ้นเครื่องบินเมื่อไร  ก็ต้องเปิดกรอกแบบฟอร์มกันทั้งขาไปขากลับ   ที่ต้องกรอกแน่ๆคือ เลขที่หนังสือเดินทาง  ออกที่ไหน  ประเทศอะไร  วันเดือนปีเกิดฯลฯ


บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 06 มิ.ย. 12, 20:40

ขอบพระคุณครับ สำหรับรูปประกอบของคุณเทาชมพู

วีซ่ามีอยู่มากมายหลายประเภท (หลาย Category)  ที่เรารู้จักคุ้นๆกัน คือ วีซ่าประเภทนักท่องเที่ยว (Tourist Visa) ประเภทนักธุรกิจ (Business Visa) และประเภทนักเรียน (Student Visa) และที่ไม่ค่อยจะได้ยินกัน มีอาทิ วีซ่าออกนอกประเทศ (Exit Visa) (ในบางประเทศจะต้องมีการขออนุญาตเดินทางออกนอกประเทศ) วีซ่าสำหรับการเดินทางที่ต้องผ่านบางประเทศเพื่อไปยังอีกประเทศ (Transit Visa) วีซ่านักการทูต (Diplomatic Visa)  และ Visa on arrival ซึ่งมาขอที่สนามบินเมื่อเดินทางมาถึงแล้ว และอื่นๆอีกมากมาย

ดังที่ได้เล่าแล้วว่า ได้วีซ่าแล้วก็มิได้หมายความว่าเมื่อเดินทางไปถึงประเทศนั้นแล้ว ตม.จะอนุญาตให้เข้าประเทศนั้นได้ วีซ่าที่ได้มาจากสถานทูตของประเทศใดประเทศหนึ่งนั้น เป็นเพียงการกรองบุคคลขั้นต้น ซึ่งเมื่อเดินทางมาถึงปลายทาง ตม.อาจพิจารณาไม่ให้เข้าหรือให้เข้าด้วยข้อจำกัดบางอย่างด้วยเหตุผลที่ไม่ต้องไปต่อเถียงกับเขาเลย   ในภาพรวมง่ายๆก็คือ เมื่อเขารู้สึกว่าบุคคลนั้นๆมีบุคลิกลักษณะท่าทางและอะไรก็ตามที่ส่อถึงการปิดบังอำพรางเจตนารมภ์ที่แท้จริงในการเดินทางเข้าประเทศของเขา
จึงมีมากมายหลายคนที่มีวีซ่าแต่ก็ไม่คิดที่จะเดินทางไปจริงๆยังประเทศเหล่านั้น
ด้วยเหตุผลหลายประการ หลายประเทศจึงมีความเข้มงวดมากในการออกวีซ่าให้กับบุคคลต่างๆ โดยเฉพาะประเทศที่เป็นแหล่งขุดทองทำมาหากิน เป็นแหล่งลี้ภัยหรือหนีความยากจน หรือการให้ได้มาซึ่งวีซ่าของประเทศเขาเพื่อเหตุผลทางการเมือง ฯลฯ  จึงไม่ต้องแปลกใจที่เพราะเหตุใด ในใบแบบฟอร์มขอวีซานั้นจึงมีรายละเอียดหยุมหยิมไปหมด    inter alia : เรื่องที่อยู่ เรื่องญาติสนิทที่สามารถติดต่อได้ในกรณีฉุกเฉิน เรื่องการเรียกร้องค่าใช้จ่ายในกรณีต่างๆ ผู้รับประกันหรือหนังสือรับรอง เรื่องวัตถุประสงค์ในการเดินทาง เรื่องหนังสือเชิญ เรื่องโรคภัยไข้เจ็บ เรื่องติดยา เรื่องคดีความ เรื่องเคยไปมาแล้วหรือไม่ เรื่องที่พัก เรื่องกำหนดวันเดินทางไปและกลับ เรื่องจะไปทำอะไรจะไปทีใหนบ้าง  ฯลฯ สารพัดเรื่องจริงๆ แถมยังไม่พอ ต้องขอพบตัวเพื่อสัมภาษณ์ก็มี 
การยื่นขอวีซ่าด้วยตนเองเพื่อเดินทางแบบอิสระนั้น จึงจัดได้ว่าเป็นเรื่องยากกว่าการให้บริษัททัวร์ยื่นขอ เนื่องจากโปรแกรมของการทัวร์นั้นมีความชัดเจน มีผู้รับผิดชอบแทบจะในทุกกรณี  อย่างไรก็ตามบางครั้งคนในคณะทัวร์ไม่ได้รับวีซ่าก็มี   

วีซ่าที่ได้มานั้น ทั้งหมดจะมีการกำหนดเงื่อนไขและระยะเวลา เช่น มีผลจากวันใหนถึงวันใหน เป็นการอนุญาตให้ใช้เพื่อการเข้าได้เพียงครั้งเดียว (single entry) หรือเข้าได้หลายครั้ง (multiple entry) และภายในช่วงระยะเวลาใด เหล่านี้เป็นต้น   ที่เราไม่ค่อยจะได้อ่านในรายละเอียดกันในวีซ่าแต่ละประเภทนั้น ก็คือเงื่อนไขอื่นๆ เช่น ห้ามทำงานในระหว่างอยู่ในประเทศของเขา ฯลฯ เป็นต้น

เมื่อถึงด่านตรวจคนเข้าเมือง ตม.ก็จะเป็นผู้พิจารณาอนุญาตอีกว่าจะให้อยู่ในประเทศเขาได้กี่วัน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 07 มิ.ย. 12, 01:42

ต.ม.ในแต่ละประเทศเป็นหน่วยงานที่คนจำนวนมากไม่อยากเจอ  ต่อให้รู้ว่าตัวเองไม่น่าจะมีปัญหาอะไรเลยในการเข้าประเทศนั้นๆก็ตาม    เพราะพวกนี้มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอย่างคุณตั้งว่า คือสามารถสั่งให้เราหมดสิทธิ์เข้าประเทศเขาได้ทันทีโดยไม่ต้องฟังคำอธิบาย 

หลานของเพื่อนเป็นนักเรียนไทย   กลับไปเยี่ยมบ้าน  แต่ลืมดูไปว่าวีซ่านักเรียนเกือบจะหมดอายุแล้ว   พอเดินทางกลับมา ต.ม.เห็นวีซ่าจวนขาดอายุ ก็สั่งห้ามเข้าประเทศ   ลงจากเครื่องบินไม่กี่ชั่วโมงต้องหาทางนั่งเครื่องบินกลับไทย

ตม.ดุที่สุดที่เคยเจอคือตม.ของแอล.เอ   ส่วนใหญ่ที่ดุมากๆคือคนอเมริกันเชื้อสายเมกซิกัน   พวกนี้มักจะเข้มงวดกับคนต่างชาติโดยเฉพาะคนไทย   ตวาดเอ็ดตะโรอย่างไม่เกรงใจก็เรื่องหนึ่ง   ซักไซ้ไล่เลียงจับผิดถี่ยิบก็อีกเรื่อง     ถ้าเลือกได้ดิฉันจะไปลงที่ซีแอตเติ้ลมากกว่า เพราะเจ้าหน้าที่ตม.ที่นั่นสุภาพ  ซักถามอะไรก็พูดกันดีๆ   บริการเป็นมิตรอีกด้วย    แถมคิวก็ยังไม่แน่น  ไม่กี่นาทีก็ผ่านแล้ว     แต่ที่จำต้องไปแอล.เอ. ก็เพราะนั่งเครื่องไปซีแอตเติ้ลเป็นทางอ้อม กินเวลาเดินทางนานกว่าหลายชั่วโมง   ก็เลยต้องผจญกับตม.แอล.เอ.ต่อไป

ตม. ไทยสมัยก่อนก็ไม่ใช่ย่อย  เมื่อประมาณยี่สิบปีก่อน    เคยเจอทั้งชายและหญิงที่กร่างมาก   ตวาดคนไทยราวกับเป็นขี้ข้า   เหมือนผู้ที่ไปต่างประเทศเป็นผู้ทำผิดคิดร้ายอะไรมา    แต่เดี๋ยวนี้ชุดนั้นคงล้มหายตายจากกันไปหมดแล้ว  ตม.ปัจจุบันตรวจหนังสือเดินทางด้วยมารยาทดี   ไม่มีปัญหาอะไร
บันทึกการเข้า
tidlek
อสุรผัด
*
ตอบ: 2


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 07 มิ.ย. 12, 02:54

จากเมนูอาหารป่า มาเป็นเก็บตกมาจากการเดินทาง
ตามมาอ่านอยู่นะครับ

ได้เคยมีโอกาสเดินทางโดยเครื่องบินไปประชุมที่ประเทศเพื่อนบ้าน จึงต้องไปทำหนังสือเดินทางซึ่งก็เป็นไปตามปกติ
เมื่อถึงวันเดินทางก็ต้องผ่าน ต.ม.ความที่เป็นครั้งแรกในชีวิตก็อดที่จะตื่นเต้นไม่ได้ ด้วยไม่รู้ว่าตามขั้นตอนต้องทำอะไรบ้าง เมื่อคนข้างหน้าซึ่งอยู่ในคณะเดียวกันเข้าไปที่เคาเตอร์ของ ต.ม.จึงเดินตามเข้าไปและยื่นหน้าเข้าไปดู เจ้าหน้าที่ ต.ม.ต้องบอกให้ถอยกลับไปยืนรอตรงจุดยืนรอที่ทาสีดำเป็นรูปพื้นรองเท้าไว้ เพราะว่าจะต้องบันทึกภาพทีละคนด้วย นึกถึงทีไรก็ขำตัวเองตื่นเต้นจนไม่ได้มองอะไรให้ถี่ถ้วน
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 07 มิ.ย. 12, 06:27

เพื่อนผมคนหนึ่งภรรยาเป็นคนเยอรมันมีลูกชายด้วยกันอยู่ที่โน่น ครั้งหนึ่งพ่อมาเมืองไทยลูกชายอายุสิบขวบสั่งให้เอาลูกงูเหลือมกลับไปฝาก เขาก็หาได้ตัวนึงยาวสักสองศอก เอาใส่ถุงผ้ามัดปากให้มันขดอยู่ในกระเป๋าเดินทางโหลดขึ้นเครื่องไป ถึงโน่นผ่านต.ม. มาที่ศุลกากร เมื่อก่อนโน้น แม้ยังไม่มีเครื่องเอกซเรย์ ปกติทางยุโรปก็ไม่ค่อยจุกจิกเรื่องตรวจรื้อกระเป๋านักเดินทางทุกใบเหมือนทางเอเซีย แต่เขาก็ใช้วิธีสุ่ม ชี้เอากระเป๋าใบนั้นของเพื่อนให้ยกขึ้นมาบนแท่นแล้วเปิดให้ดู เอามือล้วงควานไปใต้เสื้อผ้าเจอถุงดังกล่าวเข้าก็เอามือบีบๆ ถามเพื่อนผมว่าเอาอะไรมา เพื่อนบรรยายให้ฟังว่าอากาศบนเครื่องบินในห้องเก็บกระเป๋าคงหนาวมาก งูมันขดตัวแข็งทื่อไม่กระดุกกระดิก ก็จึงรีบตอบไปว่าไส้กรอก เขาก็พยักหน้าแล้วส่งสัญญาณมือให้ปิดกระเป๋า รอดฉากหวาดเสียวไปอย่างฉิวเฉียด

เขาเล่าเรื่องงูตัวนี้ต่อไปอย่างสนุกสนาน มันกลายเป็นสัตว์เลี้ยงประจำบ้าน อยู่มาจนฤดูหนาววันหนึ่งมันหายไป ช่วยกันหาทั่วห้องก็ไม่เจอ บังเอิญมองไปเห็นหน้าต่างบานหนึ่งแง้มอยู่ เลยเปิดออกมองลงไปข้างล่าง พบว่ามันนอนเด่นไม่ไหวติงอยู่บนหิมะที่ขาวโพลน ทุกคนรีบวิ่งลงไปดู เข้าใจว่ามันตายแล้ว เพราะแข็งโป๊กไปหมดทั้งตัว ลูกชายร้องห่มร้องไห้ใหญ่โต เพื่อนบอกว่าเขาหยิบมันขึ้นมาเป็นท่อนเหมือนหยิบไม้เท้าคดๆของพระฤาษี แต่สังเกตุตามันดูเหมือนยังมีชีวิต เลยเอาไปวางอังไออุ่นไว้เหนือเตาผิงห้องนั่งเล่น  สักพักใหญ่ๆ มันจึงค่อยๆขยับตัวได้แล้วเลื้อยลงมาเอง

เอ...นี่ไม่รู้ว่าผมเขียนลงผิดกระทู้หรือเปล่า หรือว่าควรจะไปลงไว้ที่กระทู้ว่าด้วยอาหารป่า
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 07 มิ.ย. 12, 08:29

เอ...นี่ไม่รู้ว่าผมเขียนลงผิดกระทู้หรือเปล่า หรือว่าควรจะไปลงไว้ที่กระทู้ว่าด้วยอาหารป่า

กระทู้ "สัตว์ประหลาด" ก็คงพอได้

 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 07 มิ.ย. 12, 08:52

ถ้าอนาคตของเจ้างูเหลือมตัวนั้นกลายเป็นงูเหลือมผัดเผ็ด  ก็คงจะย้ายไปลงกระทู้อาหารป่าได้ค่ะ  ยิ้ม

กระทู้นี้เป็นการคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน แบบเบาๆ อย่างที่คุณตั้งบอกไว้ในค.ห.แรก   เพราะฉะนั้นจะเลี้ยวไปทางไหนก็ถือว่าไม่ออกนอกทาง  ขอให้เกี่ยวกับการเดินทางก็พอ
เรื่องที่จะเล่าตอนนี้  ขอเหมาว่าอยู่ในหัวข้อก็แล้วกัน   เพราะไม่รู้จะเอาไปลงกระทู้ไหนอีก  ยังไงก็ถือว่ามันเกิดขึ้นตอนเดินทางมาที่นี่( แก๊งค์ลูกน้ำยังไม่ออกมาทายกันสักคน ว่าที่ไหน)
 
วันนี้ออกไปเก็บภาพดอกไม้สวยๆจะมาฝากชาวเรือนไทย     ตอนออกไปฟ้าใส แดดดี    สักพัก  มองไปทางภูเขาเห็นทิวเมฆชักก่อตัวเหนือยอดเขา  ยังปรารภว่านั่นคงเป็นฝนตกบนภูเขาแน่ๆ   ดีที่เราไม่ได้ขึ้นไปเที่ยวกัน
สักพัก   เมฆฝนเคลื่อนตัวมาเหนือท้องทุ่ง   อย่างในภาพนี้ละค่ะ

ถ้าเป็นฟ้าของประเทศไทย  มืดคลุ้มฝนแบบนี้ไม่แปลกเพราะไทยอยู่ในเขตมรสุม  แต่ที่นี่นับว่าไม่ปกติธรรมดา    เมฆหนาหนักจนฟ้ามืดไปหมดแบบนี้ ไม่ใช่อากาศประจำของที่นี่



บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 07 มิ.ย. 12, 08:56

ขากลับ   ฟ้ากว้างถูกคลุมด้วยเมฆมืด ที่ไม่ใช่เมฆฝนธรรมดา


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 07 มิ.ย. 12, 09:07

กลับมาถึงบ้าน จึงรู้ว่าพายุทอร์นาโด(หรือที่นี่ออกเสียงว่าทอร์เนโด) กำลังมุ่งหน้ามาทางตะวันออก เข้ามาเยี่ยมเยียนในเขตนี้ละค่ะ
ทีวีประกาศเตือนให้หลบอยู่แต่ในบ้าน  ในห้องที่มีผนังกั้นมิดชิด  อย่าอยู่ข้างหน้าต่าง(กระจก) หรือถ้าอยู่นอกบ้านให้รีบหลบเข้าที่กำบัง)
แต่ในเมื่อยังห่างเมืองอยู่อีกหลายสิบไมล์   ก็เลยทำใจกล้าเปิดประตูออกไปถ่ายรูปท้องฟ้าใกล้บ้านมาให้ดู   ข้างนอกลมนิ่ง อากาศชวนอึดอัด  ชาวบ้านร้านถิ่นหลบเข้าบ้านกัน ไม่มีใครออกมาเดินตามถนน

ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่เจอพายุทอร์นาโด      ประมาณ ๓ ปีก่อน มันลงเมืองใกล้ๆห่างไปประมาณ ๑๐ ไมล์   ตอนทอร์นาโดพัดผ่าน   ต้นไม้ใหญ่น้อยเขย่าเหมือนถูกมือพญายักษ์จับถอนรากถอนโคน    เสียงอื้ออึงไปหมด      แต่ว่าครู่เดียวมันก็ผ่านไป  แล้วไปถอนรากถอนโคนเมืองใกล้ๆแทน  จนเหลือแต่ซาก   
เคราะห์ดีมันเกิดตอนกลางวัน  ผู้คนออกจากบ้านไปทำงานหรือเรียนหนังสือกันหมด  เลยไม่มีใครตาย (หรือตายแค่คนสองคน)  ถ้าเกิดตอนกลางคืนที่คนอยู่บ้าน  น่ากลัวจะตายกันมากกว่านี้แยะ


บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3 ... 37
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.045 วินาที กับ 19 คำสั่ง