เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3
  พิมพ์  
อ่าน: 53933 การพระศพ จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


 เมื่อ 05 มิ.ย. 12, 07:14

จากลิงค์ที่คุณไตรวุธนำมาให้ชาวเรือนไทย ซึ่งผมได้ตามเข้าไปดูและต่อไปยังลิงค์อื่นๆ จนได้เจอภาพที่คนส่วนใหญ่ยังไม่เคยได้เห็นมาก่อน เพราะเป็นภาพที่เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลอาณานิคมดัตช์ ในอินโดนีเซียถ่ายไว้เมื่อปี ๒๔๙๑ ก่อนที่จะยอมถอนตัว มอบเอกราชคืนแก่เจ้าของประเทศ

รูปถ่ายดังกล่าวมีอยู่เพียง๔รูป (และไปได้ในเวปอื่นอีก๑รูป) ระบุว่าเป็นรูปพิธีการส่งพระศพ “เจ้าชายบริพัตรแห่งสยาม” กลับสู่มาตุภูมิ

จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ซึ่งต่อไปผมจะขอเรียกพระนามอย่างสั้นว่า “ทูลกระหม่อมบริพัตร” มีอันต้องนิราศจากเมืองไทยคราวที่เกิดปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฏรเมื่อปี๒๔๗๕ ผมจะไม่ขอเล่ารายละเอียดเรื่องนี้ซ้ำเพราะอยู่ในมหากาพย์การเมืองไทยยุคต้นที่ผมเขียนไว้แล้ว หากท่านใดยังไม่เคยอ่านและสนใจ โปรดคลิ๊กเข้าไปตามลิงค์ข้างล่าง ตั้งแต่ คคห.ที่๙ เป็นต้นไปครับ

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=3363.0


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 05 มิ.ย. 12, 07:20

ทูลกระหม่อมบริพัตรประสูติเมื่อวันพุธที๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๒๔ ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที๓๓ ใน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี ทรงมีพระนามเดิมว่า สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์  ทรงมีพระเชษฐภคินีร่วมพระชนนีเพียงพระองค์เดียวสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ สุขุมขัติยกัลยาวดี กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร์

เมื่อทรงเจริญพระชันษาได้๘พรรษา ทรงเข้ารับการศึกษาวิชาภาษาไทย ณ โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ และวิชาภาษาอังกฤษกับ นาย โรเบิร์ด มอแรนด์ ที่โรงเรียนพระราชกุมารในพระบรมมหาราชวังร่วมกับเจ้านายพระองค์อื่น ๆ
หลังพระราชพิธีโสกันต์เมื่อพระชนม์ได้๑๓พรรษา ก็โปรดเกล้าฯให้เสด็จไปทรงศึกษาต่อในยุโรป ในตอนแรกทรงศึกษาที่ประเทศอังกฤษ หลังจากนั้น๒ปีจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เสด็จไปทรงศึกษาต่อในวิชาการทหารที่ประเทศเยอรมนี

พ.ศ. ๒๔๔๔ ทรงจบการศึกษาพระราชทานยศ Fhnrich (ร้อยตรี) จากสมเด็จพระจักรพรรดิไกเซอร์ วิลเฮล์มที่๒ ในโอกาสนี้ กองทัพบกไทยได้ขอพระราชทานยศร้อยตรี กรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ ถวายแด่พระองค์ด้วย ทรงเข้ารับราชการในกองทัพบกเยอรมนี และเข้าเรียนในวิทยาลัยการสงคราม  ทรงได้รับการเลื่อนยศเป็นนายร้อยโท และจบหลักสูตรในเดือนสิงหาคม ด้วยระดับคะแนนยอดเยี่ยม ได้รับพระราชทานประกาศนียบัตรชมเชยเป็นพิเศษจากสมเด็จพระจักรพรรดิไกเซอร์อีกด้วยในเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๔๖  หลังศึกษาอยู่ในต่างประเทศทั้งหมดรวมแล้วกว่า๙ปี
ขณะดำรงพระยศเป็นนายร้อยเอก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะปรับปรุงกองทัพบกสยาม จึงโปรดเกล้าฯให้ทูลกระหม่อมบริพัตรเข้าเฝ้าสมเด็จพระจักรพรรดิไกเซอร์เพื่อกราบบังคมทูลลาออกจากตำแหน่งนายทหารกองทัพบกเยอรมนี และเสด็จกลับประเทศในเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๔๕


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 05 มิ.ย. 12, 07:33

ทูลกระหม่อมบริพัตรทรงดำรงตำแหน่งที่สำคัญทางการทหารตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ เช่น ตำแหน่งเสนาธิการทหารบก ผู้บัญชาการกรมทหารเรือ เสนาบดีกระทรวงกลาโหม เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย  หลังจากนั้น ยังทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงทหารเรือ พระองค์แรก ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ เป็นอภิรัฐมนตรี และผู้สำเร็จราชการรักษาพระนคร ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ แน่นอนว่า พระองค์เป็นบุคคลสำคัญที่สุดของบ้านเมืองพระองค์หนึ่งในยุคนั้น

ขณะเกิดปฏิบัติการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๕ ทูลกระหม่อมบริพัตรทรงถูกผู้ก่อการระดับทหารเสือ๑ใน๔คนหนึ่ง คนๆนี้พระองค์ทรงชุบเลี้ยงมาตั้งแต่ยังเป็นเด็กวัดอยู่ต่างจังหวัด ให้ศึกษาเล่าเรียนจนสอบได้ทุนไปเรียนจนจบจากโรงเรียนนายร้อยเยอรมัน กลับมารับราชการก็ได้ดิบได้ดีจนได้เป็นนายทหารใหญ่ ยังสนองพระคุณท่านด้วยการนำรถถังชนประตูวังบางขุนพรหมเข้าไปเอาปืนจี้ บังคับเชิญเสด็จไปประทับในฐานะตัวประกัน ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม รวมแล้ว ๙ วัน
หลังจากเหตุการณ์คลี่คลาย คณะปฏิวัติได้ยื่นคำขาดให้เสด็จออกจากประเทศสยามอย่างถาวร และต่อรองให้ลงพระนามมอบวังบางขุนพรหมไว้เป็นของรัฐบาลด้วย เมื่อได้สิ่งที่ต้องการแล้ว ก็ยินยอมให้เสด็จกลับมาที่วังเพียงวันเดียวเพื่อเตรียมพระองค์ รุ่งขึ้นวันที่ ๓ กรกฎาคม เวลา๑๑.๐๐น. ก็ต้องเสด็จออกจากประเทศไทยด้วยรถไฟขบวนพิเศษ ซึ่งกำหนดจะวิ่งตลอดไม่มีหยุดพักจนกว่าจะถึงปลายทางที่ปีนัง


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 05 มิ.ย. 12, 07:35

ทูลกระหม่อมบริพัตรทรงมีเวลาเตรียมพระองค์ไม่ถึง ๑๒ ชั่วโมง ก่อนที่จะต้องทิ้งวังและปล่อยให้ข้าราชบริพารร่วม ๔๐๐ ชีวิตดูแลตัวเอง โดยทรงมีเงินส่วนพระองค์ติดไป ๙,๐๐๐ บาทสำหรับอนาคตของทั้งครอบครัวที่ยังไม่มีใครรู้ว่าจะไปประสพอะไร  คณะผู้ก่อการได้จัดขบวนรถถังและรถหุ้มเกราะห้อมล้อมรถ นำเสด็จจากวังบางขุนพรหมไปยังสถานีหัวลำโพง บนรถไฟที่ประทับยังมีตำรวจอีกสองกองร้อย ตามเสด็จไปควบคุมพระองค์จนถึงชายแดนไทย

ตรงนี้ต้องขอให้อ่านที่พระองค์เจ้าอินทุรัตนาบริพัตร พระธิดาของทูลกระหม่อมบริพัตรเอง ทรงนิพนธ์ไว้ ตีพิมพ์ในหนังสือที่ระลึก งานพระราชทานเพลิงศพ นายสง่า ณ ระนอง
 
      ในที่สุด พวกเขาปล่อยพ่อ ท่านแม่ และหม่อมแม่ออกมากลับวัง หลวงประดิษฐ์ มาแจกหนังสือเดินทางพร้อมลายเซ็น เราก็เตรียมตัวกันจะออกจากประเทศ ก็ยังไม่รู้ว่าจะไปไหน
       เจ้าคุณประดิพัทธ์หอบกระเป๋าเดินทางมา พาลูกชายรุ่นๆมาด้วย ร้องไห้กันทั่วหน้า เจ้าคุณว่า “ขอตามเสด็จ จะพาไปอยู่บ้านของตระกูล ณ ระนอง ที่ปีนัง”
       พ่อว่า “ทางคณะราษฎร์ประกาศว่า ใครมาติดต่อสนิทสนมกับพวกตระกูลบริพัตร จะถูกจับกุม ไต่สวนปลดออกจากตำแหน่งราชการ เจ้าคุณอย่ามากับฉันเลย”
       ท่านเจ้าคุณตอบว่า “พวกเกล้ากระหม่อมเป็นจีน ได้พระเจ้าแผ่นดินในพระราชวงศ์จักรีชุบเลี้ยง พระราชทานนามสกุล สุขสบายกันอยู่ในประเทศไทย ก็จะขอตอบแทนพระคุณในครั้งนี้ มันจะฆ่า ก็ไม่เสียดายชีวิต”
       พ่อว่าเจ้าคุณมากับเรา แต่พวกลูกหลานในตระกูล ณ ระนอง ยังอยู่ในเมืองไทยกัน เขาจะลำบาก ถูกกลั่นแกล้ง เจ้าคุณประดิพัทธ์ท่านตอบว่า
       “ใต้ฝ่าพระบาทไม่ต้องเป็นห่วง เกล้ากระหม่อมก่อนจะมานี่ ได้เรียกพวกคนในตระกูล ณ ระนอง มาประชุมบอกแล้วว่าจะตามเสด็จ แล้วถ้าเขาจะมาแกล้งก็ทนรับ เขาจะมาฆ่าก็ยอมตายกัน ตอบแทนผู้มีพระคุณ”
เราจึงได้ไปอยู่บ้านของตระกูล ณ ระนอง บนภูเขา อากาศดี สบายมาก การต้อนรับก็เป็นแบบเหมือนญาติสนิทกัน
       แต่ปีนังใกล้เมืองไทย ไปมาสะดวก เป็นที่นิยมของคนไทย ทุกครั้งที่รถเข้าเรือเข้า จะมีคนไทยมา พวกอยากมาดูสำหรับเอากลับไปลือคุยกัน พวกนักข่าว และพวกรับจ้างให้มาฆ่าพ่อของเรา
       ครั้งหนึ่งพ่อพาเรานั่งรถไฟลงไปในเมือง ขากลับขึ้นมา มีผู้ชายตัวดำล่ำมานั่งตรงข้ามพ่อในรถไฟฟ้าและจ้องหน้า ฉันได้ยินผู้ใหญ่พูดกันว่า มีการจ้างคนมาฆ่าพ่อ ฉันเลยนึกกลัวพ่อจะถูกฆ่า เพราะดูที่กระเป๋ากางเกงของเขาคล้ายจะมีปืน ฉันก็เลยลุกไปนั่งตักพ่อ เอาตัวบังไม่ให้เขามองพ่อ พอถึงสถานีบนภูเขาเราก็ลง รีบเดินกลับบ้าน ฉันเห็นคนนั้นยืนมองตามเราอยู่ห่างๆ เพราะตามสถานีจะมีเจ้าหน้าที่แลตำรวจ เราขอให้เขาดูแลให้
       แต่พ่อไม่สบายใจ เราก็ไม่สบายใจ พ่อเลยตัดสินพระทัยย้ายไปอยู่บันดุง เมืองที่รัชกาลที่ ๕ เคยโปรด และสมัยนั้นไม่ค่อยมีคนไทยไปเกาะชวา บันดุงไกลจากจาร์กาต้า สมัยนั้นมีถนนดีมากจากจาร์กาต้าผ่านปาจั๊ก ไปบันดุง มีโรงแรมเล็ก สะอาด อาหารอร่อย มีเครื่องบิน KLM บินระหว่างจาร์กาต้ากับบันดุง
       ในที่สุด ทูลกระหม่อมบริพัตรก็ได้พบและอยู่ที่ที่เย็นสบาย สะดวก และสงบร่มเย็น ปลอดภัยจริงๆ เราเริ่มก็อยู่บ้านเช่า ปีแรกก็ยากจนกัน เพราะคณะราษฎร์ไม่อนุญาตให้ทางเมืองไทยส่งเงินของพ่อไปให้พ่อ เราไม่มีคนใช้ เราก็จัดระบบกันเช่นนี้
       เด็จย่า (กรมหลวงทิพยรัตน์) พ่อ ท่านแม่ และเจ้าคุณประดิพัทธ์ห้ามทำงานบ้าน ส่วนพี่ห้าองค์และหม่อมแม่จัดเวรกันเป็น ๓ ชุด ชุดละ ๒ คน ผลัดกัน ชุดหนึ่งไปจ่ายกับข้าว อีกชุดทำกับข้าว อีกชุดทำความสะอาดบ้าน หมุนเวียน น้องชายกับฉันยังเล็กอยู่ก็วิ่งรับใช้ทั่วไป กุ(หรือนายสง่า ณ ระนอง ลูกชายพระยาประดิพัทธภูบาล)รับใช้ดูแลพ่อของกุ และบางครั้งก็มาช่วยยกของหนักๆ บางวันก็ช่วยพ่อตัดต้นไม้
       น้องชายของฉันเรียนภาษาดัทช์๖ เดือน (จากไม่รู้เลยสักคำ) ก็เข้าโรงเรียนฝรั่งใกล้บ้าน เดินไปเดินกลับ อยู่บ้านก็ทำการบ้านและวิ่งรับใช้ทั่วไป
       ท่านเจ้าคุณแนะนำปรึกษากับพ่อว่า อยู่อย่างนี้ไม่ได้ ต้องรวบรวมเข้าทุนกิจการอะไรที่ทำรายได้สักอย่าง พอดีทางเมืองไทยเกิดอนุมัติให้ส่งเงินของพ่อมาให้บ้าง พ่อมีเพื่อนแล้วเป็นคนดัทช์ ออสเตรียน เยอรมัน และอเมริกัน ก็ปรึกษากัน
       วันหนึ่ง พ่อกับฉันเดินเล่นผ่านร้านและเอเย่นต์ขายจักรยาน พ่อว่าใครๆ แนะให้พ่อเข้าหุ้นกับบริษัทขายรถยนต์ แต่ดูแล้ว คนที่นี่ขี้เหนียว ถึงรวย มีรถยนต์ ถ้าจะไปไหนที่พอถีบจักรยานไปไหว ก็เก็บรถยนต์ไว้ในโรงรถ ใครจะมีตำแหน่งสูงแค่ไหนก็ใช้จักรยาน คนจนก็ใช้จักรยาน พอดีเจ้าของกิจการเดินออกมา เห็นพ่อเข้าก็จำได้ว่าเป็น Prins van Siam (เจ้าฟ้าแห่งสยาม) เขาเชิญพ่อเข้าไปคุยในออฟฟิศ ต่อมาพ่อก็ลงทุนกับเขา และทั้งสองก็กลายเป็นเพื่อนที่ดีกันมาตลอดชีวิต


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 05 มิ.ย. 12, 07:39

พระยาประดิพัทธภูบาล ผู้กตัญญู ชื่อเดิม คอ ยู่เหล ณ ระนอง เป็นบุตรของพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอ ซิมก๊อง) เกิดที่ปีนัง จบการศึกษาเนติบัณฑิตอังกฤษ จึงชำนาญทั้งภาษาอังกฤษ ไทย จีน และมลายู เริ่มรับราชการในสมัยรัชกาลที่ ๕ โดยเป็นล่ามกิตติมศักดิ์ประจำสถานทูตสยามในลอนดอนก่อนที่จะบรรจุเป็นข้าราชการกระทรวงต่างประเทศ  เมื่อเป็นหลวงสุนทรโกษา ได้ติดตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ และพระบรมวงศานุวงศ์ ไปต่างประเทศแทบจะทั่วโลก

เมื่อครั้งสยามเกิดกรณีพิพาทกับฝรั่งเศส พ.ศ.๒๔๓๖ ทางราชการให้ท่านเป็นอัยการฟ้องคดีพระยอดเมืองขวาง
ครั้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าฯ ได้เป็นพระยาประดิพัทธภูบาล ดำรงตำแหน่งกงสุลใหญ่ประจำสิงคโปร์ และปีนัง ในเครือจักรภพอังกฤษ

ท่านรอดจากวิบากกรรมทางการเมืองของไทยมาได้จนถึงที่สุดแห่งชีวิต โดยถึงแก่อนิจกรรมในสมัยรัชกาลที่ ๙ เมื่ออายุ ๙๖ ปี


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 05 มิ.ย. 12, 07:54

สรุปว่าที่ปินัง พระยาประดิพัทธภูบาล ได้นำเสด็จทูลกระหม่อมบริพัตรไปประทับที่บ้านของตระกูล ณ ระนองอยู่ได้ ๑๘ วัน ก็ทรงตัดสินพระทัย เสด็จต่อไปเมืองเมดานในเกาะสุมาตรา อาณานิคมของดัตช์  ก่อนจะเสด็จปัตตาเวีย ซึ่งเป็นเมืองหลวง ต้องประทับอยู่โรงแรมที่นั่นประมาณ๑เดือน จึงทรงหาบ้านเช่าสำหรับคนทั้งครอบครัวใหญ่ได้ ปีหนึ่งต่อมาจึงทรงตัดสินพระทัยซื้อที่ดินบนเนินเขานอกเมืองบันดุง เพื่อทรงปลูกตำหนัก “ประเสบัน” สำหรับประทับส่วนพระองค์ ตำหนัก “ปันจาระกัน” สำหรับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้านภาพรประภา กรมหลวงทิพยรัตนกิริฏกุลินี ซึ่งทรงเป็นพระขนิษฐคินีในพระสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี ตำหนัก “ดาหาปาตี” สำหรับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้านิภานพดล กรมขุนอู่ทองเขตรขัติยนารี ซึ่งเจ้านายเหล่านี้ตามเสด็จมาหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ไม่นานทั้งสิ้น ในอาณาเขตพระตำหนักทั้งสามมีสวนไม้ดอกไม้ใบที่ประทานชื่อว่า “สะตาหมัน” ถนนหน้าพระตำหนักนี้มีลักษณะเป็นวงเวียน ชาวบันดุงจึงเรียกว่า Bandarun Siam แปลว่าวงเวียนสยาม ซึ่งยังคงเรียกกันอยู่จนทุกวันนี้

 ต่อมาได้ทรงซื้อที่ดินเพื่อการเกษตรที่ตำบลปาเล็มบัง ในเกาะสุมาตราอีกแปลงหนึ่ง เพื่อทรงปลูกผลไม้เมืองหนาว เช่น สตรอเบอรี่ และไม้ประดับ ตลอดจนกล้วยไม้ ทรงโปรดสวนเกษตรนี้มากประทานชื่อว่า “สวนสวรรค์”




บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 05 มิ.ย. 12, 07:56

ทูลกระหม่อมบริพัตรทรงดำรงพระชนม์ชีพปลอดจากการเมืองโดยสิ้นเชิง  โปรดที่จะทรงพระอักษรทั้งภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน ทรงศึกษาภาษาชวา จนสามารถทรงพระนิพนธ์แปลอิเหนาจากภาษาชวามาเป็นภาษาไทยได้   นอกจากนั้น ยังทรงนิพนธ์เพลงไทยเดิมไว้ถึง๑๗เพลง ที่กินใจมากบทหนึ่งนั้น ประทานชื่อว่า “สุดถวิล”

เพราะทรงโปรดดนตรีไทยเป็นชีวิตจิตใจนี่เอง ในโอกาสที่เจริญพระชันษาครบ ๖๐ ปี พระโอรสธิดาจึงได้จัดให้นักดนตรีจากวังบางขุนพรหม นำโดยนายเทวาประสิทธิ์ พาทยโกศลและคุณหญิงไพฑูรย์กิตติวรรณไปบรรเลงถวายเป็นของขวัญ  ทูลกระหม่อมบริพัตรจะทรงดนตรีอย่างมีความสุขกับนักดนตรีวงนี้ทุกวันตลอดช่วงเวลาที่พำนักอยู่ ตั้งแต่เช้าไปจนถึงบ่าย และบางครั้งถึงค่ำหากว่าไม่ทรงมีพระธุระที่ใด ระยะนั้นทรงพระสำราญมากถึงกับออกพระโอษฐ์ว่า ได้เล่นพิณพาทย์สนุกจริงๆสมกับที่อดอยากมานาน แต่แล้วก็ทรงปรารภว่า เห็นจะเป็นคราวสุดท้าย พระองค์แก่แล้วโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียนมากขึ้น คงจะอยู่ไปได้ก็คงอีกไม่เท่าใด

ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ เมื่อคณะนักดนตรีกลับกรุงเทพไม่นานนัก ทูลกระหม่อมบริพัตรก็เริ่มประชวรด้วยพระโรคพระวักกะและพระหทัยเรื่อยมา จนทรงมีพระอาการหนักขึ้นๆ ทรงปวดตั้งแต่พระพาหาลงมาที่พระกรและพระอุระ แพทย์ต้องถวายยาฉีดแก้ปวดตลอด บางครั้งถึงกับบรรทมราบไม่ได้ ต้องประทับบนเก้าอี้โซฟาเอนจึงบรรทมหลับ สุดท้าย ประชวรหนักอยู่ประมาณ ๗ วันเท่านั้น ก็สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๔๘๗  พระชันษา๖๓ ปี กับ ๗ เดือนเศษ


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 05 มิ.ย. 12, 07:59

ก่อนสิ้นพระชนม์ทรงมีพระประสงค์จะให้ประดิษฐานพระศพ ณ “สวนสวรรค์” ที่ทรงสร้างไว้ที่เกาะสุมาตรา แต่ในเวลานั้นสงครามประกาศเอกราชของอินโดนีเซียที่นั่นอยู่ในขั้นรุนแรง ไม่ปลอดภัยที่จะนำพระศพไป สมาชิกราชสกุลบริพัตรจึงซื้อที่ดินที่สุสานเทศบาล ทำแท่นประดิษฐานพระศพทูลกระหม่อมบริพัตรเป็นการถาวร ต่อมาเมื่อสงครามขยายตัวมาถึงเกาะชวา ส่งผลกระทบมากขึ้น พระชายา พระโอรสธิดา ตลอดจนเจ้านาย และข้าราชบริพารที่ตามเสด็จ ปรึกษากันแล้ว เห็นว่าสถานการณ์ในเมืองไทยดีขึ้นมากแล้ว สมควรจะกลับกรุงเทพก่อน พระศพทูลกระหม่อมบริพัตรจึงตกค้างอยู่ในบันดุง เป็นเวลาถึง ๔ ปี


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 05 มิ.ย. 12, 08:07

เมื่อสงครามโลกครั้งที่๒สงบลง บ้านเมืองคืนสู่สันติสุข พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลเสด็จนิวัตกลับประเทศไทยเป็นการถาวร มีผู้เสนอความคิดต่อรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งต่อมาได้รับสนองพระบรมราชโองการ ประสานงานไปยังรัฐบาลอาณานิคมของฮอลันดาที่จะอัญเชิญพระศพทูลกระหม่อมบริพัตรกลับสู่มาตุภูมิ

จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุมภฏพงษบริพัตร กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิ์พินิต พระโอรสองค์ใหญ่เป็นผู้แทนพระองค์ พร้อมด้วยพระราชองค์รักษ์และเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวัง เป็นผู้ไปอินโดนีเซียเพื่อปฏิบัติภารกิจในการอัญเชิญพระศพกลับประเทศไทย


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 05 มิ.ย. 12, 08:19

คณะผู้แทนพระองค์เสด็จถึงเมืองบันดุงในวันที่ ๒๖ กันยายน ๒๔๙๑ รัฐบาลอาณานิคมฮอลันดาได้จัดเจ้าหน้าที่ประสานงานและได้เริ่มขุดพระศพในวันรุ่งขึ้น โดยถ่ายพระอัฐิจากหีบพระศพเดิมลงใส่ในหีบพระศพทองใบเล็ก แล้วถวายพระเพลิงหีบพระศพเก่าที่สุสาน จากนั้นอัญเชิญหีบพระศพทองใบเล็กมาประดิษฐานในหีบใบใหญ่สีดำ คลุมด้วยธงชาติไทยแล้วอัญเชิญมาประดิษฐาน ณ กองบัญชาการทหารอาณานิคมฮอลันดา ประดับประดาด้วยดอกไม้อย่างสวยงาม หน้าหีบพระศพทอดพระคทาจอมพลและพระมาลาถวาย มีทหารดัตช์กองเกียรติยศ ๔ นาย ยืนเฝ้ามุมทั้ง๔ของหีบพระศพ

ต่อมาในตอนเช้าของวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๔๙๑ เป็นกำหนดการที่จะเคลื่อนพระศพทูลกระหม่อมบริพัตรมายังประเทศไทย

รัฐบาลอาณานิคมฮอลันดา ถวายพระเกียรติยศในฐานะจอมพล จัดขบวนแห่พระศพประกอบด้วยแตรวงนักเรียนและทหารจำนวน ๕๐ นาย มีนายทหารชั้นนายพล ๑๒ นายร่วมอัญเชิญหีบพระศพมาในรถ ซึ่งมีทหาร๔ นายเดินนำ  สองข้างทางที่พระศพผ่านไปขึ้นเครื่องบินนั้นมีแถวทหารกองพลพิเศษ ๕๐๐ นาย แถวทหารพลร่ม ๑๐๐ นาย และแถวทหารพิเศษอีก ๗๐๐ นายส่งเสด็จ อัญเชิญพระศพขึ้นเครื่องบินของบริษัท เค แอล เอ็ม

เมื่ออัญเชิญพระศพขึ้นไปแล้ว จึงอัญเชิญหีบทองเล็กออกจากหีบสีดำ ประดิษฐานบนพระแท่นที่จัดไว้มีดอกไม้ประดับงดงาม เมื่อเครื่องบินขึ้นแล้วได้บินวนรอบสนาม ๑ รอบ แล้วจึงออกเดินทางมุ่งหน้าสู่ประเทศไทย  เครื่องบินกองทัพอากาศฮอลันดา๘ลำตามส่งเสด็จถึงชายแดน



บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 05 มิ.ย. 12, 08:25

พระศพทูลกระหม่อมบริพัตรมาถึงกรุงเทพในเย็นวันนั้น  เจ้าหน้าที่อัญเชิญหีบพระศพไปยังพระที่นั่งทรงธรรม วัดเบญจมบพิตร ถ่ายพระศพซึ่งเหลือเพียงพระอัฐิลงในพระโกศทองน้อยแล้วตั้งประดิษฐานบนพระแท่นประดับฉัตร๕ชั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทานถวาย

ต่อมาได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ให้ประกอบพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพทูลกระหม่อมบริพัตร ในวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๔๙๓ ณ พระเมรุมาศท้องสนามหลวง หลังจากถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลแล้ว  ออกพระเมรุครั้งนั้น ได้พระราชทานพระโกศทองใหญ่สำหรับพระศพเป็นการถวายพระเกียรติยศสูงสุด  

หลังจากพระราชทานเพลิงแล้ว ได้อัญเชิญพระอัฐิทูลกระหม่อมบริพัตรขึ้นประดิษฐานบนพระวิมานพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ณ ที่เดียวกับสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงศรีรัตนโกสินทร์


บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 05 มิ.ย. 12, 08:42

เมื่อสงครามโลกครั้งที่๒สงบลง บ้านเมืองคืนสู่สันติสุข พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลเสด็จนิวัตกลับประเทศไทยเป็นการถาวร มีผู้เสนอความคิดต่อรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งต่อมาได้รับสนองพระบรมราชโองการ ประสานงานไปยังรัฐบาลอาณานิคมของฮอลันดาที่จะอัญเชิญพระศพทูลกระหม่อมบริพัตรกลับสู่มาตุภูมิ

จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุมภฏพงษบริพัตร กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิ์พินิต พระโอรสองค์ใหญ่เป็นผู้แทนพระองค์ พร้อมด้วยพระราชองค์รักษ์และเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวัง เป็นผู้ไปอินโดนีเซียเพื่อปฏิบัติภารกิจในการอัญเชิญพระศพกลับประเทศไทย

ขอบินเข้ามาเกาะดู ๆ และเพิ่มข้อมูลให้ดังนี้

บริเวณตำหนักที่บันดุง นั้นด้านหน้ามีวงเวียนตั้งอยู่ บรรดาพ่อค้าประชาชนต่างพากันขนานามวงเวียนแห่งนี้ว่า "บุนดะรันเซียม" แปลได้ว่า "วงเวียนไทย"

และเมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์แล้วเมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๔๘๗ พระประยูรยาญาติได้ซื้อที่ดินบรรจุพระศพอย่างถาวรที่สุสานเทศบาล ถนนปันดู "ตามพระประสงค์"

ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๑ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า พระศพสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ฯ ที่เกาะชวายังไม่ได้พระราชทานเพลิงตามประเพณี ในฐานะพระบรมวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ จึงโปรดเกล้าให้อัญเชิญพระศพกลับพระนคร และเมื่อมาถึงกรุงเทพฯ ก็ประดิษฐานพระศพที่พระที่นั่งทรงธรรม วัดเบญจมบพิตร
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 05 มิ.ย. 12, 09:02

ทหารยามเนเธอร์แลนด์ยืนเฝ้าพระศพที่สนามบินในระหว่างอัญเชิญพระศพขึึ้นเครื่องบิน


บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 05 มิ.ย. 12, 09:15

ความลำบากที่บันดุง

เมื่อคราวสงครามโลกคร้้งที่สองเกิดขึ้น บรรดาทหารญี่ปุ่นก็ต่างเข้าครอบครองบ้านหลังต่าง ๆ ไว้โดยการใช้กองกำลังเข้ายึด พวกเราก็ได้แต่เจรจาว่าเราเป็นสัมพันธมิตรกับญี่ปุ่น เราเป็นชาวสยาม แต่ก็ไม่เข้าใจ อธิบายภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส ก็แล้วก็ไม่เข้าใจ สุดท้ายมาจบที่ภาษาจีน "ไทยกั๋ว" ทหารญี่ปุ่นจึงได้ถอยกลับไป

หลังจากนั้นพี่น้องก็พากันมารวมอาศัยกันที่ตำหนักใหญ่ ปล่อยให้ทหารญี่ปุ่นเข้าไปอาศัยตำหนักที่ว่างนั้น อยู่จนสงครามสิ้นสุดลง พวกเราเข้าไปสำรวจพบว่า มีกองสาหร่ายทิ้งมากมาย คาดว่าเกิดจากการที่นำมาประกอบอาหารและทิ้งไว้ บรรดาเครื่องใช้ภายในบ้านล้วนสกปรก ห้องน้ำขึ้นหนอน และตราญี่ปุ่นของพ่อ ทหารญี่ปุ่นไม่รู้จักก็ได้ถูกทำลายเอาบางส่วนไป

บ่อยครั้งที่ท่านชาย พระองค์เจ้าสุขุมาภินันท์ถูกทหารญี่ปุ่นเรียกตัวไปกรมทหารไปสอบสวน และถามเรื่องราวเกี่ยวกับการเมืองไทย ซึ่งท่านชายก็ได้ปฏิเสธไปว่าพูดไม่ได้เพราะผิดกฏหมายเรื่องการเมือง เข้ามาตราที่ ๑๑ แห่งรัฐธรรมนูญไทย ห้ามไม่ให้เจ้าพูดเรื่องการเมือง

(ส่วน Chapter 11 ทางอเมริกาเป็นกฏหมายเรื่องการกันไม่ให้ล้มละลาย)
บันทึกการเข้า
ดีเจกบ
อสุรผัด
*
ตอบ: 10


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 05 มิ.ย. 12, 11:51

เวลาผ่านไปทางวังบางขุนพรหมทีไร ก็อดคิดถึงเรื่องที่ผ่านมาไม่ได้ ยึดของท่านมาสุดท้ายแล้วก็หาทำประโยชน์อะไรได้ไม่
 รูดซิบปาก
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.054 วินาที กับ 20 คำสั่ง