เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 19802 สามัคคีปรองดอง
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



 เมื่อ 02 มิ.ย. 12, 20:56

สามัคคีปรองดอง

๏ ได้เวลาปรองดองแล้วน้องพี่
ปรองดองต่อยตีเป็นบ้าหลัง
ได้เวลาปรองดองเสียงดังดัง
ปรองดองตามสั่งไม่ยั้งมือ

๏ ได้เวลาปรองดองเข้าดึงดัน
ปรองดองห้ำหั่นไม่มีหือ
ตาต่อตาฟันต่อฟันให้ร่ำลือ
ปรองดองโหมกระพือเข้ายุแยง

๏ ได้เวลาปรองดองไม่ต้องเดา
ปรองดองของเขาของเราแข่ง
จับมือปรองดองเข้าทิ่มแทง
ปรองดองขัดแย้งแย่งปรองดอง

๏ ได้เวลาปรองดองแต่โดยดี
ปรองดองเข้าขยี้เข้าทุบถอง
เหยียบย่ำย่อยยับเป็นก่ายเป็นกอง
เพื่อให้สมใจปองสมใจนัก

๏ ได้เวลาปรองดองหน้าด้านด้าน
ทุกหย่อมทุกย่านลุยให้หนัก
ร่วมสงครามปรองดองเสียเต็มรัก
เข่นฆ่าคึกคักทุกทุกคน

๏ ได้เวลาปรองดองอย่างมืดดำ
ปรองดองขยี้ขย้ำทุกแห่งหน
สะใจปรองดองบันดาลดล
เอาเสียให้ปี้ป่นเซ่นปรองดอง !

นายทิวา
หนังสือพิมพ์คมชัดลึก วันอาทิตย์ที่ ๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๕

 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 02 มิ.ย. 12, 21:13

เดี๋ยวในเรือนไทยนี่ก็จะไม่ปรองดองดอก
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 02 มิ.ย. 12, 21:41

แมวกับหนู

๏ สำรวจรู้ลู่ทางทุกอย่างพร้อม 
แมวก็ย่อมจับหนูแล้วกินหนู 
กระหยบยอบหมอบมองคอยจ้องดู 
แมวก็รู้หนูก็รู้อยู่กับใจ 

๏ ถึงแม้แมวจะไม่ทำอะไรหนู 
หนูก็รู้ทำอะไรแมวไม่ได้ 
สับขาหลอกหยอกเล่นจะเป็นไร 
เมื่อรู้หนูอยู่ในเงื้อมมือแมว 

๏ รักกันหนาสามัคคีกันดีเถิด 
จะประเสริฐสร้างค่าปราการแก้ว 
ปรองดองเถิดปรองดองปรองดองแล้ว 
จะผ่องแผ้วหมดจดทุกโทษกรรม 

๏ สามัคคีปรองดองก้องกลบหู 
เอ้า...แมวหนูปรองดอง...หนึ่งสองส้ำ 
ตะปบปุบตะครุบปับขยับย้ำ 
เขี้ยวขย้ำขยอกขยด...หมดเวลา 

๏ แมวกับหนูชูหางวางท่าเขื่อง 
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า 
ปรองดองกันอย่างไรไม่นำพา 
แมวก็บ้าหนูก็บอพอพอกัน ! 

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ 
วันพฤหัสบดีที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๕

 ยิงฟันยิ้ม 
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 03 มิ.ย. 12, 00:15

สามัคคี
พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

อันบุคคลใดๆ ถึงใหญ่หลวง
เก่งกว่าคนทั้งปวงทุกแห่งหน
มีสติปัญญารักษาตน
ดระนั้นยังไม่พ้นอันตราย

ราชสีห์ตัวเดียวเที่ยวกลางป่า
ถูกหมูหมากัดป่นจนฉิบหาย
เพราะหมามากปากช่วยกันกัดตาย
อาจทำลายราชสีห์ผู้มีฤทธิ์

เพราะฉะนั้นจึงควรชวนกันพร้อม
ต่างปราณีประนอมน้อมจิตต์
ร่วมกำลังกายาและความคิด
ผูกสนิทปรองดองผู้ต้องใจ

คณะใดไร้สามัคคีรส
จะกอบการใดหมดไม่ดีได้
แม้คณะยินยอมพร้อมใจ
การใดๆ จะสมอารมณ์จินต์

ถึงแม้มีผู้ใดที่ใจพาล
จะคิดผลาญมิได้ดังถวิล
กำลังสามัคคียิ่งคีรินทร์
ยืนอยู่สิ้นสุดฟ้าและธาตรี ฯ
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 03 มิ.ย. 12, 00:19

จรรยานักกีฬา
คำประพันธ์  ท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา  มาลากุล
ทำนอง  ฝรั่งโยสะลัม

เมื่อแมวหมาเล่นกีฬามันท้ากัด
จงใจฟัดเหวี่ยงปล้ำขม้ำหมาย
แต่พวกเรายุวชนคนผู้ชาย
กีฬารายรักเล่นให้เป็นคุณ

ไม่ทะเลาะเบาะแว้งแย่งชนะ
ไม่เกะกะกวนยั่วให้หัวหมุน
เพราะเรามีมารยาทชาติสกุล
ไม่หุนหันหยาบคายร้ายเกเร

เมื่อแมวหมาเล่นกีฬามันท้ากัด
เพราะเป็นสัตว์ไร้คิดจิตจึงเขว
แต่คนดีมีใจไม่รวนเร
ย่อมฮาเฮเล่นกีฬาประสามิตร
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 04 มิ.ย. 12, 17:48

จรรยานักกีฬา
คำประพันธ์  ท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา  มาลากุล
ทำนอง  ฝรั่งโยสะลัม .....

พึมพำกับเพลงนี้มาหลายปี ไม่เคยร้องได้จบ ไม่เคยจำเนื้อได้หมด
บรรทัดแรกร้องได้เต็มปากเต็มเสียง บรรทัดที่สองยังแม่นเนื้อเพลงแต่เบาเสียงลง บรรทัดที่สามพึมพำทั้งเนื้อเพลงและเสียงร้อง บรรทัดที่สี่ดำน้ำสนิทชนิดไม่โผล่เลย

ขอบคุณครับที่ได้เอามาลง ทำให้นึกถึงความหลังเมื่อเกือบ 50 ปีมาแล้ว
 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
srisiam
สุครีพ
******
ตอบ: 857


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 05 มิ.ย. 12, 09:53

'









 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 05 มิ.ย. 12, 11:02

เชื้อวงศ์วายรักร้อย                   ริษยา  กันเฮย
ปรปักษ์เบียนบีฑา                    ง่ายแท้
ร่วมสู้ร่วมรักษา                       จิตร่วม  รวมแฮ
หมื่นอมิตร บ มิแพ้                   เพราะพร้อมเพรียงผจญ

จาก โคลงสุภาษิตอีศปปกรณำ เรื่องบิดากับบุตรทั้งหลาย พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๕ ทรงแปลมาจากนิทานอีสปฉบับภาษาอังกฤษ

 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 06 มิ.ย. 12, 11:13

"ปรองดอง" ของคุณเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

 ยิงฟันยิ้ม


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
han_bing
นิลพัท
*******
ตอบ: 1622



ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 06 มิ.ย. 12, 15:55

พระบรมราโชวาท พระราชดำรัส เกี่ยวกับความสามัคคี

 

 

 

"...ความสามัคคีนี้ หมายถึงว่ามีสิ่งใดที่อาจ ขัดแย้งซึ่งกัน และกันบ้าง ก็ต้องปรองดองกันเสีย และหา ทางออกโดยที่ไม่ทะเลาะเบาะแว้ง กันเพราะความสามัคคีเป็นกำลังอย่างสูงสุดของ หมู่ชน..."

 

ความตอนหนึ่ง ในพระบรมราโชวาท

พระราชทานแก่กลุ่มชาวไร่ หมู่บ้านตัวอย่าง โครงการไทย-อิสราเอล

จังหวัดเพชรบุรี

วันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๑๓

 

 

 

 

 "...ความพอพระราชหฤทัยของพระราชาอยู่ที่ว่า แต่ ละคนจะทำหน้าที่ของตัวด้วยความตั้งใจ มีความคิดพิจารณาที่รอบคอบ ไม่ทะเลาะเบาะแว้ง กัน ส่งเสริมความสามัคคี และปฏิบัติงานเพื่อประโยชน์ส่วนรวม..."

 

 

 

ความตอนหนึ่ง ในพระบรมราโชวาท

พระราชทานแก่ผู้ที่ได้รับ พระราชทานเหรียญราชรุจิ

ณ พระตำหนักจิตรดารโหฐาน

วันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๑๓

 

 

 

 

"...ชาติของเรารักษาเอกราชอธิปไตยมาได้จนถึงทุก วันนี้ด้วยความสามัคคี ผู้ใดเดือดร้อนก็ได้รับการ บรรเทาความเดือดร้อนนี่เป็นหลักสำคัญของการปกครอง ประเทศไทยมาแต่โบราณกาล..."

 

 

 

ความตอนหนึ่ง ในพระราชดำรัส

พระราชทานแก่คณะกรรมการบริหารและอาสาสมัคร มูลนิธิราชประจำนุเคราะห์ฯ

ณ เวทีลีลาศสวนอัมพร

วันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๐๘

 

 

 

 

"...ประเทศไหนถ้าประชาชนพลเมือง มีความสามัคคีกลมเกลียว กันดี มีระเบียบวินัย ประเทศนั้นก็เจริญและอยู่ ในฐานะดีจึงเห็น ได้ว่าความสามัคคีกลมเกลียวกันระหว่างคนในชาติ และ ความเข้าใจรักษาระเบียบวินัยเป็นปัจจัยสำคัญอันหนึ่ง ที่จะช่วยนำประเทศชาติสู่ความวัฒนาถาวร..."

 

 

 

ความตอนหนึ่ง ในพระราชดำรัส

เนื่องในโอกาสเสด็จฯ ออกให้ประชาชนเฝ้า

ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม

วันที่  ๑๙ มกราคม ๒๕๐๔

 

 

 

 

"... การที่ประเทศของเราได้รักษาอธิปไตย และดำรงฐานะมา ด้วยดีได้ตลอดมานั้น ก็ด้วยอาศัยความร่วมมือ ของทุกๆฝ่าย ต่างช่วยกันปฏิบัติงานเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ ด้วย ความสามัคคีและความพร้อมที่จะเสียสละ เพื่อประโยชน์ ของส่วนรวม...”

 

 

 

ความตอนหนึ่ง ในพระบรมราโชวาท

ในพีธีตรวจพลสวนสนาม เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา

ณ ลานพระราชวังดุสิต

๓ ธันวาคม ๒๕๐๔

 

 

 

"...สามัคคี คือการเห็น แก่บ้านเมืองและช่วยกันทุก วิถีทางเพื่อที่จะสร้างบ้านเมืองให้เข้มแข็ง ด้วย การเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน ทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริตอย่างตรงไปตรง มา นึกถึงประโยชน์ส่วนรวม เพราะประโยชน์ส่วนรวม นั้น คือความมั่นคงของบ้านเมือง..."

 

 

 

ความตอนหนึ่ง ในพระราชดำรัส

พระราชทานในพิธีประดับยศนายตำรวจชั้นนายพล

ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน

วันที่  ๑๕ มกราคม ๒๕๑๙

 

 

 

 

"...เมืองไทยนี้อยู่ได้ด้วยความสามัคคี ด้วยความเข้ม แข็ง ด้วยความเสียสละ อาศัยความเห็นอกเห็นใจ ซึ่งกันและกัน และถ้ารักษาความ เห็นอกเห็นใจนี้แล้ว ประเทศชาติของเราก็จะ เป็นที่อาศัยที่อุดมสมบูรณ์และน่าสบายต่อไปชั่ว กาลนาน..."

 

 

 

ความตอนหนึ่ง ในพระราชดำรัส

พระราชทานในพิธีพระราชทานธงประจำรุ่นลูกเสือชาวบ้านจังหวัดขอนแก่น

ณ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

วันที่  ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๙

 

 

 

 

 "...บ้านเมืองไทยสามารถฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ ได้โดยดี เพราะว่าจิตใจสามัคคีและแสดงออกซึ่งสามัคคี ถ้าตราบใด เรารักษาความสามัคคีความเห็นอกเห็นใจซึ่งกัน และกันไว้ได้ เราก็จะอยู่ได้อย่างมีความ สุขตราบนั้น..."

 

 

 

ความตอนหนึ่ง ในพระราชดำรัส

พระราชทานแก่คณะประชาชนจังหวัดราชบุรี

ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน

วันที่  ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๓๑

 

 

 

 

"...ความสามัคคีนั้นหมายถึงความเห็นใจซึ่งกันและกัน ทั้งในทางส่วนบุคคลทั้งในด้านวิชาการ ต้องเห็น ใจว่าแต่ละคนมีหน้าที่ มีความรู้ในวิชาการของ แต่ละคน ถ้าดำเนินวิชาการนั้นๆไปตามลำพัง หรือตามแนวเดียว เท่านั้นเอง ก็จะไม่สามารถที่จะดำเนินได้โดยดี..."

 

 

 

ความตอนหนึ่ง ในพระบรมราโชวาท

พระราชทานแก่คณะกรรมการจัดงานสุรสีห์รำลึก

ณ พระตำหนักจิตรดารโหฐาน

วันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๒๒

 

 

 

 

"... ความสามัคคีนี้ เป็นคุณธรรมสำคัญประการหนึ่ง ซึ่งหมู่ชน อยู่รวมกันจำเป็นต้องมี ต้องถนอมรักษาและ ต้องนำมาใช้อยู่สม่ำเสมอ ถ้าแต่ละฝ่ายเข้ามาร่วมกันทำงานด้วยความ ตั้งใจดี ด้วยความสามัคคี ความรู้ความสามารถ และ ด้วยความคิดที่สร้างสรรค์ งานก็สำเร็จสมบูรณ์งด งามตามประสงค์ทุกอย่าง..."

 

 

 

ความตอนหนึ่ง ในพระราชดำรัส

ในการเสด็จออกมหาสมาคม งานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา

วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๓๐

 

 

 

 

"...คราวใดที่ชาวไทยมีความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่ง ใจเดียวกัน ร่วมแรงร่วมใจกันเพื่อประเทศชาติแล้ว ชาติก็ได้รอดพ้นจากภัยพิบัติสู่ความสุขความ เจริญ แต่คราวใดที่ขาดความสามัคคีกลมเกลียวกัน ก็ต้อง ประสบเคราะห์กรรมกันทั้งชาติ จึงเป็นหน้าที่ของ เราทั้งหลาย ที่จะต้องร่วมใจกันปฏิบัติหน้าที่ ให้ดีที่สุด..."

 

 

 

ความตอนหนึ่ง ในพระบรมราโชวาท

ในพิธีสวนสนามทหารรักษาพระองค์

ณ ลานพระราชวังดุสิต

วันที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๐๕

 

 

 

 

"...ความสามัคคีพร้อมเพรียงแห่งหมู่คณะ ที่จะเกิดมี ขึ้นได้นั้น ย่อมจะเนื่องมาจากความคิด ความเห็น และใจจริงที่มุ่งหมายและยึดมั่นในสิ่งใดสิ่ง หนึ่งรวมกัน..."

 

 

 

ความตอนหนึ่ง ในพระบรมราโชวาท

พระราชทานแก่สมาคมนักเรียนไทยในรัฐเยอรมันฯ เพื่ออัญเชิญลงพิมพ์ในหนังสือ เพื่อนไทย

สิงหาคม ๒๕๒๑

 

 

 

 

"...ประเทศของเรารักษาเอกราช อธิปไตยและอิสรภาพให้ สมบูรณ์มั่นคงมาได้จนถึงทุกวันนี้ เพราะคนไทย ทุกหมู่เหล่ารู้รักความสามัคคี และรู้จักทำหน้าที่ของแต่ละฝ่ายให้ประสานส่งเส ริมกัน เมื่อทุกคนมุ่งใจปฏิบัติดังนี้ ความถูก ต้องเรียบร้อย ความพัฒนาก้าวหน้า และความมั่นคง เป็นปึกแผ่นจึงบังเกิดขึ้น..."

 

 

 

ความตอนหนึ่ง ในพระบรมราโชวาท

ในพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณและสวนสนามทหารรักษาพระองค์

ณ ลานพระราชวังดุสิต

วันที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๓๔

 

 

 

 

"...ประเทศชาติกำลังพัฒนาในทุกด้านและต้องการ ความสามัคคีความเรียบร้อย ผลดีทั้งปวงดังกล่าวจะ เกิดขึ้นได้ ด้วยประชาชนมีหลักของใจอันมั่นคง มีศรัทธาและปัญญาอันถูกต้อง ปฏิบัติตนอยู่ในทาง ที่เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม..."

 

 

 

ความตอนหนึ่ง ในพระบรมราโชวาท

พระราชทานเพื่อเชิญไปอ่านในการประชุมใหญ่ของสมาคมพุทธศาสนาทั่วราชอาณาจักร

ณ จังหวัดกาฬสินธุ์ 

วันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕ ๑๒

 

 

 

 

 "...สามัคคีหรือการปรองดองกันไม่ได้หมายความว่าคน หนึ่งพูดอย่างหนึ่งคนอื่นต้องพูดเหมือนกันหมด ลงท้ายชีวิตก็ไม่มีความหมาย ต้องมีความแตกต่างกัน แต่ต้องทำงานให้สอด คล้องกัน แม้จะขัดกันบ้างแต่ต้องสอดคล้องกัน..."

 

 

 

ความตอนหนึ่ง ในพระราชดำรัส

พระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา

ณ ศาลาดุสิตตาลัย

วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๓๖

 

 

 

"...ความสามัคคีปรองดองเป็นอันหนึ่งอันเดียว กับความ รักใคร่เผื่อแผ่ช่วยเหลือกันฉันญาติพี่น้องสอง ประการนี้ คือ คุณลักษณะสำคัญของไทย ที่ช่วยให้ชาติบ้านเมืองอยู่รอดเป็นอิสระ และเจริญมั่นคงมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน..."

 

 

 

ความตอนหนึ่ง ในพระราชดำรัส

พระราชทานแก่ประชาชนชาวไทย เนื่องในวันขึ้นปีใหม่ ๒๕๓๒

 

 

 

 

"...ทุกๆคนในชาติ ย่อมมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติ ถ้า แต่ละคนต่างปฏิบัติหน้าที่ของตนให้เป็นผลดีที่ สุดที่จะกระทำได้ ด้วยความรักชาติและมีความสามัคคีกลมเกลียวกัน แล้วชาติของเราจะเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้น..."

 

 

ความตอนหนึ่ง ในพระบรมราโชวาท

ในพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณและสวนสนามของทหารรักษาพระองค์

ณ ลานพระราชวังดุสิต

วันที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๐๔

 

 

 

 

 "...ความสามัคคี เป็นคุณสมบัติประจำตัวของคนไทย ที่ได้ อบรมสืบทอดกันมาแต่บรรพบุรุษโดยไม่ขาดสาย ทั้งนี้ เพราะคนไทยตราบตระหนักว่าหมู่ คณะที่มีสามัคคีแน่นแฟ้นสมบูรณ์ย่อมมีกำลังกล้า แข็งทั้งในการคิดและการปฏิบัติ..."

 

 

 

ความตอนหนึ่ง ในพระบรมราโชวาท

พระราชทานในการประชุมใหญ่สามัคคีสมาคม

วันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๓๔

 

 

 

 

"...ตามประวัติศาสตร์ของเราจะเห็นได้ว่า คราวใด ที่ชาวไทยมีความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ชาติก็รอดพ้นจากภัยพิบัติสู่ความเจริญรุ่งเรือง แต่ คราวใดที่ขาด ความสามัคคีกลมเกลียวกัน ก็ต้องประสบเคราะห์กรรมทั้ง ชาติ..."

 

 

 

ความตอนหนึ่ง ในพระบรมราโชวาท

ในพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามของทหารรักษาพระองค์

ณ ลานพระราชวังดุสิต

วันที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๐๕

 

 

 

 

"...ความสามัคคีนี้ เป็นคุณธรรมสำคัญประการหนึ่ง ซึ่งหมู่ ชนผู้อยู่ร่วมกันจำเป็นต้องมี ต้องถนอมรักษา และต้องนำมาใช้อยู่สม่ำเสมอ เนื่องด้วยสรรพกิจการงานที่เป็นส่วนรวมทุกด้าน ทุกระดับ ต้องอาศัยบุคคลหลายฝ่ายร่วมกันทำกิจกรรม

 

 

 

ความตอนหนึ่ง ในพระราชดำรัส

ในการเสด็จออกมหาสมาคม เนื่องในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา

วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๓๐

ที่มา http://www.thaihealth.or.th/healthcontent/special_report/12556

 
บันทึกการเข้า
han_bing
นิลพัท
*******
ตอบ: 1622



ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 06 มิ.ย. 12, 15:57

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงเน้นเรื่องความสามัคคีของคนในชาติ มุ่งให้คนไทยมีความรักใคร่กลมเกลียว สมัครสมานสามัคคี มีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน อันจะนำพาประเทศชาติไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง คงความเป็นชาติไทยไว้ได้ ดังความตอนหนึ่งในพระบรมราโชวาท พระราชทานแก่ทหารรักษาพระองค์ในพิธีตรวจพลสวนสนาม เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา วันพุธ ที่ 3 ธันวาคม 2512 ว่า

    " . . . ชาติของเรารักษาเอกราชอธิปไตยมาได้จนถึงทุกวันนี้ด้วยความสามัคคี คนไทยเราแต่ละคน รู้จักประโยชน์ส่วนรวมของชาติ รู้จักปฏิบัติหน้าที่ให้สอดคล้องและเกื้อกูลกัน ผลการปฏิบัติของเรานั้นจึงเกิดเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ ซึ่งสามารถกำจัดและป้องกันภัยต่างๆ มิให้ทำอันตรายแก่เราได้ แม้จะมีศัตรูคิดร้าย บุกรุกคุกคามอย่างหนักหนาเพียงใด เราก็ยังไม่เพลี่ยงพล้ำ ขอให้ทุกคนสำนึกตระหนักว่า ความสมัครสมานสามัคคีของเรานั้นเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ที่จะต้องรักษาไว้ให้ยั่งยืนอยู่ตลอดไป หากเรามีความประมาท เราแตกสามัคคีกันเมื่อใด เราก็จะเป็นอันตรายย่อยยับลงเมื่อนั้น ไม่มีใครอื่นที่ไหนจะช่วยเราได้นอกจาก ตัวเราเอง..."

     และกระแสพระราชดำรัส ที่พระราชทานแก่ประชาชนชาวไทย ในโอกาสขึ้นปีใหม่ 2494 ดังความตอนหนึ่งว่า

         " . . . ประวัติศาสตร์ได้แสดงให้ปรากฏตลอดมาว่า ชาติใดเสื่อมสูญย่อยยับอับปางไป ก็เพราะประชาชาติขาดสามัคคีธรรม แตกแยกเป็นหมู่คณะ เป็นพรรคเป็นพวก คอยเอารัดเอาเปรียบ ประหัสประหารซึ่งกันและกัน บางพรรคบางพวก ถึงกับเป็นไส้ศึกให้ศัตรูมาจู่โจมทำลายชาติของตนดังนี้ ข้าพเจ้าจึงขอชักชวนพี่น้องชาวไทยทั้งหลาย ให้ระลึกถึงพระคุณของบรรพบุรุษ ซึ่งได้กอบกู้รักษาบ้านเกิดเมืองนอนของเรามานั้นให้จงหนัก แล้วถือเอาความสามัคคี ความยินยอมเสียสละส่วนตัวเพื่อประโยชน์ยิ่งใหญ่ของประเทศชาติ เป็นคุณธรรมประจำใจอยู่เนืองนิจ จึงขอให้พี่น้องชาวไทยทั้งหลาย จงบำเพ็ญกรณีกิจของตนแต่ละคน ด้วยซื่อสัตย์สุจริต ขยันหมั่นเพียร อดทนและกล้าหาญ แล้วอุทิศความเสียสละส่วนตัว ความเหน็ดเหนื่อยลำบากยากแค้น เป็นพลีบูชาบรรพบุรุษ ผู้ซึ่งได้ก่อสร้างชาติเป็นมรดกตกทอดมาถึงพวกเราชาวไทยจนบัดนี้"

ที่มา http://hilight.kapook.com/view/28143
บันทึกการเข้า
han_bing
นิลพัท
*******
ตอบ: 1622



ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 06 มิ.ย. 12, 16:02

ใครจะไม่สามัคคี ใครจะไม่ปรองดอง ข้าพเจ้าขอเคารพความคิดของทุกๆท่าน อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้าหวาดหวั่นว่า หากเรายังเกลียดชัง ไม่ให้อภัยกัน ผลที่ได้จะเหมือนกับบทความหนึ่งในเรือนไทย ที่ว่าด้วย

"เล่าเรื่องฆ่าการล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา" http://www.reurnthai.com/index.php?topic=5130.0

ทางที่ดีข้าพเจ้าคิดว่า เราควรยึดมั่นพระราชดำรัสว่าด้วยความ "สามัคคี" ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นที่ตั้งในการดำเนินชีวิตจะดีที่สุด

ข้าพเจ้าเคารพในความคิดของทุกๆท่าน แต่นี้คือ ความคิดส่วนตัวของข้าพเจ้า และความคิดส่วนตัวของข้าพเจ้านี้ ข้าพเจ้า "เชื่อ" แนวทางที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานมา

ต้องขออภัยถ้าขัดใจ
บันทึกการเข้า
Sujittra
พาลี
****
ตอบ: 326


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 12 มิ.ย. 12, 18:44

ใครจะไม่สามัคคี ใครจะไม่ปรองดอง ข้าพเจ้าขอเคารพความคิดของทุกๆท่าน อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้าหวาดหวั่นว่า หากเรายังเกลียดชัง ไม่ให้อภัยกัน ผลที่ได้จะเหมือนกับบทความหนึ่งในเรือนไทย ที่ว่าด้วย

"เล่าเรื่องฆ่าการล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา" http://www.reurnthai.com/index.php?topic=5130.0

ทางที่ดีข้าพเจ้าคิดว่า เราควรยึดมั่นพระราชดำรัสว่าด้วยความ "สามัคคี" ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นที่ตั้งในการดำเนินชีวิตจะดีที่สุด

ข้าพเจ้าเคารพในความคิดของทุกๆท่าน แต่นี้คือ ความคิดส่วนตัวของข้าพเจ้า และความคิดส่วนตัวของข้าพเจ้านี้ ข้าพเจ้า "เชื่อ" แนวทางที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานมา

ต้องขออภัยถ้าขัดใจ


ผมคิดว่าคงไม่มีใครไม่เห็นกับท่านหรอกขอรับ

แต่สิ่งที่ผมอยากจะกราบเรียนทุกท่านในที่นี้คือ หลายครั้งที่เราปนเประหว่างความถูกผิด กับ ความเห็นต่าง(ซึ่งควรต้องปรองดองและสามัคคี)

ไม่แปลกหรอกครับที่คนตั้งแต่สองคนจะมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน (บางครั้งเราอยู่คนเดียว เรายังมีความเห็นที่ "ไม่ตรงกับตนเอง" เพียงแค่เพราะ "เวลา" ที่แตกต่างกัน)

แต่นั่นจะต้องไม่ใช่เรื่องที่กฎหมายหรือกฎของสังคมกำหนดว่าเป็น "ความผิด" มิเช่นนั้นแล้วสังคมนั้นจะดำรงอยู่ไม่ได้ด้วยความราบรื่น หรือใครพอจะยกตัวอย่างสังคมที่อยู่ด้วยความราบรื่นโดยไม่มีกฎหมายกฎระเบียบให้กระผมได้รู้จักบ้าง

แต่ถ้าใครหรือคนส่วนใหญ่เห็นว่าปรองดงได้แม้ว่าเรื่องนั้นจะผิดกฎหมาย ผมก็ต้องขอเสนอให้พวกเราปรองดองกับคนในคุกด้วย นั่นคือต้องปลดปล่อยคนเหล่านี้ทั้งหมด ยกโทษให้แก่คนเหล่านี้ทั้งหมด มิเช่นนั้นจะกลายเป็นว่าเราเลือกปรองดองเฉพาะกับผู้ที่มีกำลังต่อรอง ส่วนคนที่ไม่มีกำลังต่อรองเราก็จะย่ำยี (ขอโทษที่ใช้คำรุนแรง แตบังเอิญกลอนพาไปครับ)

ที่เสนอมานี้มิใช่เป็นการประชดประชันครับ แต่เป็นเรื่องของตรรกะทั้งสิ้น

คำว่า "สามัคคี" เป็นคำศักดิ์สิทธิ์และทรงพลานุภาพ เป็น "อกาลิโก" เป็นคำที่พระองค์ท่านตรัสมาตลอดรัชกาลของพระองค์ท่าน จำเป็นที่เราจะต้องเข้าใจโดยถ่องแท้ว่า อะไรที่เรียกว่า "สามัคคี"
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.048 วินาที กับ 19 คำสั่ง