ไม่ใช่ฝีมือ John Thomson ครับเนื่องจากภาพที่ถ่ายที่ Zoom เข้าไปนั้นวัดราชประดิษฐ์ยังไม่สร้างเลย (แต่ John Thomson เข้ามาหลังการฉลองวัดราชประดิษฐ์ ต้องเห็นหลังคาโบสถ์วัด) แล้ว John Thomson ได้ภาพเหล่านี้มาได้อย่างไร 
คุณพิพัฒน์ พงศ์รพีพร ได้ให้คำตอบไว้ในการบรรยาย ณ แกเลอรี่ริมคลอง วันเสาร์ที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๕๓ หัวข้อเรื่อง
"การแอบอ้างผลงานของ มิศฟะรันซิสจิต โดยช่างภาพระดับโลก"
เมื่อพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จกรุงลอนดอน พ.ศ. ๒๔๔๐ คราวประพาสยุโรปครั้งแรก มีผู้มาขอเฝ้าเป็นจำนวนมาก ชายสูงวัยผู้หนึ่งเข้ามาแนะนำตัวว่า ข้าพระพุทธเจ้าเป็นผู้ฉายพระรูปพระองค์เมื่อคราวโสกันต์ พ.ศ.๒๔๐๙ สามสิบปีมาแล้ว และได้ถวายรูปเหล่านั้น ทรงตอบแทนไปตามสมควร ปัจจุบันรูปชุดนี้ยังเก็บรักษาที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ชายคนนั้นชื่อ จอห์น ทอมสัน ชาวสก็อตผู้เป็นช่างภาพชั้นนำแห่งยุโรป ปีนั้นอายุ ๖๐
ทอมสัน เป็นเจ้าของผลงานสำคัญมากมายมาตั้งแต่เมื่อสามสิบปีก่อน จากการบุกไปถ่ายรูปนครวัดที่ป่าลึกเมืองเขมร เข้าไปบันทึกภาพประเทศจีนสมัยพระนางซูสีไทเฮา และที่สำคัญที่สุดคืองานชุด Street Life in London ผลงานภาพถ่ายบันทึกสังคมชุดแรกของโลก ในปีที่เสด็จยุโรปนั้น ทอมสันย่างเข้าบั้นปลายของอาชีพแล้ว ต่อมาได้ขายรูปถ่ายและฟิล์มทั้งหมดให้กับมหาเศรษฐีเภสัชอุตสาหกรรม Sir Henry Solomon Wellcome (1853-1936) ปัจจุบันเราสามารถศึกษาข้อมูลชุดนี้ได้ ผ่านทางเวบไซต์สถาบันเวลลคัม
ทอมสันมาปักหลักทำธุรกิจที่สิงค์โปรกับพี่ชาย เปิดห้องภาพและขายอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง วันหนึ่งได้อ่านหนังสือของอองรี มูโอต์ นักสำรวจผู้ยิ่งใหญ่ เรื่องนครโบราณในป่าดงดิบของเขมร ก็เกิดแรงบันดาลใจที่จะเข้ามาตามรอยบ้าง ทอมสันขอแยกตัวจากพี่ชาย คงจะได้เงินส่วนแบ่งมามากพอ จึงเตรียมการที่จะเข้ามาสำรวจเขมรได้ เขามีหัวทางธุรกิจ ก่อนเข้ามาก็จ้างหมอบลัดเลให้ลงข่าวไว้ล่วงหน้า บอกกล่าวว่าจะเข้ามา และยินดีรับถ่ายรูปผู้สนใจในบางกอก นี่ก็คงเป็นการระดมทุนไปด้วยในตัว ทอมสันอยู่ในบางกอกประมาณหกเดือน ตั้งแต่เดือนกันยายน ๒๔๐๘ จนถึงต้นปี ๒๔๐๙ เพื่อรอหนังสืออนุญาตเข้าเขมร (ขณะนั้น เขมรยังเป็นประเทศราชของสยาม) ระหว่างนั้นก็ออกท่องเที่ยวไปถึงเพชรบุรีและอยุธยา
สรุปความว่า ในที่สุดภารกิจก็สำเร็จตามความประสงค์ ได้เนกะตีฟมาทั้งหมด ๖๐ แผ่น หมอปลัดเล ได้ลงประกาศอีกครั้งว่า ผู้สนใจเชิญมาดูได้ก่อนที่ช่างภาพจะเดินทางไปอังกฤษ เพื่อไปสร้างชื่อว่าเป็นช่างภาพผู้เชี่ยวชาญเอเชีย บรรยาย พิมพ์หนังสือการสำรวจของตน และขายรูปให้กับผู้สนใจ รวมทั้งกลับมาถ่ายรูปเมืองจีนอีก ในปีต่อ ๆ มา
ทุกวันนี้ เราจะพบผลงานของทอมสันในเอกสารหลักเกี่ยวกับเอเซียยุคล่าอาณานิคม รูปถ่ายจริง ๆ ก็มีขายตามงานประมูลเสมอ ๆ ในพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ภาพถ่ายชั้นนำทุกแห่ง ต้องมีงานของเขา นักศึกษาส่วนใหญ่ยกย่องว่า เพราะความมานะอุตสาหของทอมสัน บวกกับฝีมือถ่ายรูป ในระดับศิลปิน เราจึงมีประจักษ์พยานชั้นยอด ในการทำความเข้าใจอดีตและชีวิตจิตใจของเอเชีย ตรงช่วงรอยต่อของการปลี่ยนไปสู่ความทันสมัย นักเขียนเหล่านั้นและผู้เชี่ยวชาญอีกมากมาย ไม่รู้เลยว่า บางส่วนของผลงานระดับโลกดังกล่าว ล้วนแต่ใช้รูปถ่ายฝีมือนายจิต โดยไม่อ้างอิง และทำให้ชาวโลกคิดว่า เป็นผลงานของตนเอง