อาจารย์นิตยา กาญจนะวรรณ ตอบคำถามคุณตั้ง ไว้ดังนี้
อาจารย์ เปลื้อง ณ นคร ซึ่งเคยเขียนคอลัมน์ภาษาไทย ใน ฟ้าเมืองไทย ได้กล่าวไว้ว่า
"ไม้ไต่คู้ หรือ ไม้ตายคู้ นี้ปรากฏในหนังสือจินดามณีของพระโหราธิบดี สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เข้าใจว่านักปราชญ์คิดใช้ในสมัยนั้น แต่ก็คงไม่ได้ใช้กันแพร่หลาย เพราะดูตามหนังสือเก่า พบยังเขียน เหน เปน ซึ่งควรจะเขียน เห็น เป็น
มาในสมัยท่านอาจารย์พระยาอุปกิตศิลปสารจึงได้บัญญัติใช้ไม้ไต่คู้แน่นอนขึ้น เพื่อบอกเสียงอ่านให้แน่นอน เช่น คำว่า เปน นั้นอาจอ่านว่า เปน (สระเอ น สะกด) หรือ สระเอะ น สะกด ก็ได้ ดังนั้น จึงต้องกำหนดลงไปให้แน่นอน ว่าถ้าจะให้อ่านออกเสียงสั้นก็ต้องเขียน เปะน แต่เป็นการประสมตัวแบบนี้ไม่มีใช้ จึงต้องเปลี่ยนสระอะเป็นไม้ไต่คู้ แล้วเอาไปไว้บนพยัญชนะ คือ เป็น เท่ากับ เปะน ดังนี้ เรียกว่าสระอะเปลี่ยนรูปเป็นไม้ไต่คู้"
(จากหนังสือ ตอบปัญหาภาษาไทย, บำรุงสาส์น, พ.ศ. ๒๕๒๔, หน้า ๗๙)
นอกนี้อาจารย์เปลื้องยังได้กล่าวต่อไปอีกว่า
"ควรกำหนดไว้ว่าตัวอักษรนั้นมาทีหลังเสียง เรามีเสียงพูดกันก่อน แต่เสียงนั้นเปล่งออกมาแล้วหายไป เราจึงต้องหาทางเก็บเสียงเอาไว้ จึงคิดตัวอักษร หรือตัวหนังสือขึ้น เพื่อใช้เก็บเสียง หรือแทนเสียง แล้วก็บัญญัติวิธีใช้ตัวหนังสือในการที่จะใช้แทนเสียงนั้นๆ คนที่จะอ่านหนังสือก็ต้องรู้วิธีอาน จึงจะออกเสียงได้ถูกต้อง
สมัยสุโขทัย ที่ออกเสียงสั้น แต่ไม่มีไม้ไต่คู้บังคับ เช่น เจบ เหน เปน มาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชคงจะเห็นขัดข้อง ที่จะเก็บเสียงให้ตรง จึงบัญญัติใช้ไม้ไต่คู้ขึ้น แต่ก็ยังใช้ไม่แพร่หลายนัก
อย่างคำว่า เปน นั้นยังใช้กันมาจนถึงรัชกาลที่ ๕ มาบัญญัติให้เขียน เป็น ในรัชกาลที่ ๖"
(เรื่องเดียวกัน, หน้า ๘๑)
ข้อความที่ยกมาให้ดูนี้คงจะช่วยตอบคำถามได้ว่า ใครเป็นฝ่ายเขียนผิด หรือไม่มีใครเขียนผิดเลย แต่เป็นวิวัฒนาการอย่างหนึ่ง
หากจะลองตรวจสอบดูพจนานุกรมไทยเก่าๆ ก็จะได้ดังนี้คือ
พจนานุกรมไทย-ไทย ฉบับของ เจ คาสเวล และ เจ เอช แชนด์เลอร์ (พ.ศ. ๒๓๘๙) เก็บไว้ว่า
เปน นั้นคือไม่ตาย อนึ่งคือบังเกิดเหมือนคำพูดว่า เปนสูญเปนจันทร์
(หน้า ๕๓๐)
แต่ คำว่า "เปน" ก็ได้กลายเป็น "เป็น" ไปแล้ว ดังที่ปรากฏใน สัพะ พะจะนะ พาสาไท ของ ปาเลอกัว (พ.ศ. ๒๓๙๗) ที่ว่า
เป็น To live, to be, to know. _ He lives still. _ He is an honest man.
(หน้า ๕๒๖)
ต่อมาเมื่อ Bishop J.L. Vey นำมาปรับปรุงใหม่เป็น ศิรพจน์ภาษาไทย์ พจนานุกรมไทย-ฝรั่งเศส-อังกฤษ ฉบับ Bishop J.L. Vey (ค.ศ. ๑๘๙๖/พ.ศ. ๒๔๓๙) ก็ระบุไว้ว่า
เป็น To live, to be, to exist, to know.
(หน้า ๖๔๑)
พจนานุกรม ฉบับแรกนั้นเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๓ ฉบับที่ ๒ เกิดในสมัยรัชกาลที่ ๔ ส่วนฉบับที่ ๓ เกิดในสมัยรัชกาลที่ ๕ หลังจากที่ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว ๒๘ ปี (เสด็จขึ้นครองราชสมบัติเมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๑๑ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอันใดที่คณะนักปราชญ์ผู้ปรับปรุงพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถานจะเลือกกำหนดให้เขียนคำนี้ว่า เป็น โดยมีไม้ไต่คู้กำกับไว้ด้วย
