เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 73630 สอบถามเกี่ยวกับการย่อคำค่ะ (ร.ร. รร. เป็นต้น)
MrMiu
อสุรผัด
*
ตอบ: 29


 เมื่อ 25 พ.ค. 12, 23:09

คำที่สงสัยและจำเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวัน เห็นจะไม่พ้น

"โรงเรียน" และ "โรงพยาบาล"

เป็นเรื่องที่ข้องใจอย่างมากว่าใช้ย่ออย่างไร

จากความเข้าใจปกติแล้ว จะเข้าใจว่า

ร.ร. = โรงเรียน / รร. = โรงแรม

ร.พ. = โรงพยาบาล


แต่ทว่า อ่านเจอจากบางที่ได้กล่าวไว้ว่า

"ตามหลัก โรงพยาบาล ใช้ รพ.
โรงเรียน และ โรงแรม ใช้ รร."



ใคร่ขอความกรุณาผู้รู้ช่วยชี้แจงด้วยค่ะ  เศร้า
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 26 พ.ค. 12, 10:34

ร.ร.  =  โรงเรียน
ร.พ. =  โรงพยาบาล
ส่วนรร.  เคยเห็นเป็นตัวย่อของคำว่าโรงแรม

เดี๋ยวคุณเพ็ญชมพูคงจะมาบอกเองละค่ะ  ถ้าตอบผิด
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 26 พ.ค. 12, 14:24

รอยอินท่านมีเจตนารมณ์ให้ตัวย่อมีจุดที่อักษรตัวสุดท้ายเพียงจุดเดียว ยกเว้นตัวที่ใช้กันมาก่อนแล้ว

การเขียนตัวย่อตามหลักเกณฑ์ของท่านรอยอินมีดังนี้

๑. ใช้พยัญชนะต้นของพยางค์แรกของคำเป็นตัวย่อ

    ๑.๑ ถ้าเป็นคำคำเดียวให้ใช้ตัวย่อตัวเดียว แม้ว่าคำนั้นจะมีหลายพยางค์ก็ตาม

ตัวอย่าง

           (๑) ๕ วา = ๕ ว.

           (๒) จังหวัด = จ.

           (๓) ๓.๐๐ นาฬิกา = ๓.๐๐ น.

           (๔) ศาสตราจารย์ = ศ.

    ๑.๒ ถ้าใช้ตัวย่อเพียงตัวเดียวแล้วทำให้เกิดความสับสน อาจใช้พยัญชนะต้นของคำถัดไปเป็นตัวย่อด้วยก็ได้

ตัวอย่าง

           (๑) ทหารบก = ทบ.

           (๒) ตำรวจ = ตร.

           (๓) อัยการ = อก.

๒. ถ้าเป็นคำสมาสให้ถือเป็นคำคำเดียว และใช้พยัญชนะต้นของพยางค์แรกเพียงตัวเดียว

ตัวอย่าง

           (๑) มหาวิทยาลัย = ม.

           (๒) วิทยาลัย = ว.

๓. ถ้าเป็นคำประสม ใช้พยัญชนะต้นของแต่ละคำ

ตัวอย่าง

           (๑) ชั่วโมง = ชม.

           (๒) โรงเรียน = รร.

๔. ถ้าคำประสมประกอบด้วยคำหลายคำ มีความยาวมาก อาจเลือกเฉพาะพยัญชนะต้นของคำที่เป็นใจความสำคัญ ทั้งนี้ไม่ควรเกิน ๔ ตัว

ตัวอย่าง

           (๑) คณะกรรมการประสานงานโครงกรอันเนื่องมาจากพระราชดำริ = กปร.

           (๒) สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ = สปช.

๕. ถ้าใช้พยัญชนะต้นของแต่ละคำแล้วทำให้เกิดความสับสน ให้ใช้พยัญชนะต้นของพยางค์ถัดไปแทน

ตัวอย่าง

           (๑) พระราชกำหนด = พ.ร.ก.

           (๒) พระราชกฤษฎีกา = พ.ร.ฎ.

๖. ถ้าพยางค์ที่มี ห เป็นอักษรนำ เช่น หญ หล ให้ใช้พยัญชนตัวที่ออกเสียงเป็นตัวย่อ

ตัวอย่าง

           (๑) สารวัตรใหญ่ = สวญ.

           (๒) ทางหลวง = ทล.

๗. คำที่พยัญชนะต้นเป็นอักษรควบกล้ำหรืออักษรนำ ให้ใช้อักษรตัวหน้าตัวเดียว

ตัวอย่าง

           (๑) ประกาศนียบัตร = ป.

           (๒) ถนน = ถ.

           (๓) เปรียญ = ป.

๘. ตัวย่อไม่ควรใช้สระ ยกเว้นคำที่เคยใช้มาก่อนแล้ว

ตัวอย่าง

           (๑) เมษายน = เม.ย.

           (๒) มิถุนายน = มิ.ย.

           (๓) เสนาธิการ = เสธ.

           (๔) โทรศัพท์ = โทร.

๙. ตัวย่อต้องมีจุดกำกับเสมอ ตัวย่อตั้งแต่ ๒ ตัวขึ้นไปให้จุดที่ตัวสุดท้ายเพียงจุดเดียว ยกเว้นตัวที่ใช้กันมาก่อนแล้ว

ตัวอย่าง

           (๑) ตำบล = ต.

           (๒) รองศาสตราจารย์ = รศ.

           (๓) พุทธศักราช = พ.ศ.

๑๐. ให้เว้นวรรคเล็กหน้าตัวย่อทุกแบบ

ตัวอย่าง

           (๑) ประวัติของ อ.พระนครศรีอยุธยา

           (๒) มีข่าวจาก กทม.ว่า

๑๑. ให้เว้นวรรคระหว่างกลุ่มอักษรย่อ

ตัวอย่าง

           (๑) ศ. นพ.

           (๒) รศ. ดร.

๑๒. การอ่านคำย่อ ต้องอ่านเต็ม

ตัวอย่าง

           (๑) ๐๕.๐๐ น. อ่านว่า ห้า-นา-ลิ-กา

           (๒) อ.พระนครศรีอยุธยา อ่านว่า อำ-เพอ-พระ-นะ-คอน-สี-อะ-ยุด-ทะ-ยา

ยกเว้นกรณีที่คำเต็มนั้นยาวมากและคำย่อนั้นเป็นยอมรับกันทั่วไปแล้ว อาจอ่านตัวย่อเรียงตัวไปก็ได้

ตัวอย่าง

           ก.พ. อ่านว่า กอ-พอ

ที่มา : หนังสือหลักเกณฑ์การใช้เครื่องหมายวรรคตอนและเครื่องหมายอื่น ๆ หลักเกณฑ์การเว้นวรรค หลักเกณฑ์การเขียนคำย่อ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พิมพ์ครั้งที่ ๖  หน้า ๖๗-๗๐

ดังนั้น รร. จึงหมายถึงทั้งโรงเรียนและโรงแรม   และ รพ. จึงหมายถึงทั้งโรงพยาบาลและโรงพิมพ์

หากสับสน รอยอินท่านแนะให้ดูที่บริบท

 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 26 พ.ค. 12, 21:23

รอยอินท่านมีเจตนารมณ์ให้ตัวย่อมีจุดที่อักษรตัวสุดท้ายเพียงจุดเดียว ยกเว้นตัวที่ใช้กันมาก่อนแล้ว.....
การเขียนตัวย่อตามหลักเกณฑ์ของท่านรอยอินมีดังนี้
    ๑.๒ ถ้าใช้ตัวย่อเพียงตัวเดียวแล้วทำให้เกิดความสับสน อาจใช้พยัญชนะต้นของคำถัดไปเป็นตัวย่อด้วยก็ได้ ตัวอย่าง
           (๑) ทหารบก = ทบ.
           (๒) ตำรวจ = ตร.
          (๓) อัยการ = อก.
.........

กรณีคำย่อ "อก." นี้    กระทรวงอุตสาหกรรมก็ใช้คำย่อนี้เช่นกัน  หากปรากฎในเอกสารที่ใช้ประกอบในคดีความศาล ก็คงจะอ่านด้วยความระมัดระวัง  ยิงฟันยิ้ม

ขอถามต่อคุณเพ็ญชมพูไปอีกสักนิดว่า คำว่า "เปน" ที่ใช้ในพระราชหัตถเลขาสมัยก่อนๆนั้น ด้วยเหตุใดจึงกลายเป็นว่าในปัจจุบันนี้ต้องมีไม้ไต่คู้กำกับด้วยครับ

บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 26 พ.ค. 12, 21:39

อาจารย์นิตยา กาญจนะวรรณ  ตอบคำถามคุณตั้ง ไว้ดังนี้

อาจารย์ เปลื้อง ณ นคร ซึ่งเคยเขียนคอลัมน์ภาษาไทย ใน ฟ้าเมืองไทย ได้กล่าวไว้ว่า
 
"ไม้ไต่คู้ หรือ ไม้ตายคู้ นี้ปรากฏในหนังสือจินดามณีของพระโหราธิบดี สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เข้าใจว่านักปราชญ์คิดใช้ในสมัยนั้น แต่ก็คงไม่ได้ใช้กันแพร่หลาย เพราะดูตามหนังสือเก่า พบยังเขียน เหน เปน ซึ่งควรจะเขียน เห็น เป็น
 
มาในสมัยท่านอาจารย์พระยาอุปกิตศิลปสารจึงได้บัญญัติใช้ไม้ไต่คู้แน่นอนขึ้น เพื่อบอกเสียงอ่านให้แน่นอน เช่น คำว่า เปน นั้นอาจอ่านว่า เปน (สระเอ น สะกด) หรือ สระเอะ น สะกด ก็ได้ ดังนั้น จึงต้องกำหนดลงไปให้แน่นอน ว่าถ้าจะให้อ่านออกเสียงสั้นก็ต้องเขียน เปะน แต่เป็นการประสมตัวแบบนี้ไม่มีใช้ จึงต้องเปลี่ยนสระอะเป็นไม้ไต่คู้ แล้วเอาไปไว้บนพยัญชนะ คือ เป็น เท่ากับ เปะน ดังนี้ เรียกว่าสระอะเปลี่ยนรูปเป็นไม้ไต่คู้"
 
(จากหนังสือ ตอบปัญหาภาษาไทย, บำรุงสาส์น, พ.ศ. ๒๕๒๔, หน้า ๗๙)
 
นอกนี้อาจารย์เปลื้องยังได้กล่าวต่อไปอีกว่า
 
"ควรกำหนดไว้ว่าตัวอักษรนั้นมาทีหลังเสียง เรามีเสียงพูดกันก่อน แต่เสียงนั้นเปล่งออกมาแล้วหายไป เราจึงต้องหาทางเก็บเสียงเอาไว้ จึงคิดตัวอักษร หรือตัวหนังสือขึ้น เพื่อใช้เก็บเสียง หรือแทนเสียง แล้วก็บัญญัติวิธีใช้ตัวหนังสือในการที่จะใช้แทนเสียงนั้นๆ คนที่จะอ่านหนังสือก็ต้องรู้วิธีอาน จึงจะออกเสียงได้ถูกต้อง
 
สมัยสุโขทัย ที่ออกเสียงสั้น แต่ไม่มีไม้ไต่คู้บังคับ เช่น เจบ เหน เปน มาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชคงจะเห็นขัดข้อง ที่จะเก็บเสียงให้ตรง จึงบัญญัติใช้ไม้ไต่คู้ขึ้น แต่ก็ยังใช้ไม่แพร่หลายนัก
 
อย่างคำว่า เปน นั้นยังใช้กันมาจนถึงรัชกาลที่ ๕ มาบัญญัติให้เขียน เป็น ในรัชกาลที่ ๖"
 
(เรื่องเดียวกัน, หน้า ๘๑)
 
ข้อความที่ยกมาให้ดูนี้คงจะช่วยตอบคำถามได้ว่า ใครเป็นฝ่ายเขียนผิด หรือไม่มีใครเขียนผิดเลย แต่เป็นวิวัฒนาการอย่างหนึ่ง
 
หากจะลองตรวจสอบดูพจนานุกรมไทยเก่าๆ ก็จะได้ดังนี้คือ
 
พจนานุกรมไทย-ไทย ฉบับของ เจ คาสเวล และ เจ เอช แชนด์เลอร์ (พ.ศ. ๒๓๘๙) เก็บไว้ว่า
 
เปน นั้นคือไม่ตาย อนึ่งคือบังเกิดเหมือนคำพูดว่า เปนสูญเปนจันทร์
 
(หน้า ๕๓๐)
 
แต่ คำว่า "เปน" ก็ได้กลายเป็น "เป็น" ไปแล้ว ดังที่ปรากฏใน สัพะ พะจะนะ พาสาไท ของ ปาเลอกัว (พ.ศ. ๒๓๙๗) ที่ว่า
 
เป็น To live, to be, to know. _ He lives still. _ He is an honest man.
 
(หน้า ๕๒๖)
 
ต่อมาเมื่อ Bishop J.L. Vey นำมาปรับปรุงใหม่เป็น ศิรพจน์ภาษาไทย์ พจนานุกรมไทย-ฝรั่งเศส-อังกฤษ ฉบับ Bishop J.L. Vey (ค.ศ. ๑๘๙๖/พ.ศ. ๒๔๓๙) ก็ระบุไว้ว่า
 
เป็น To live, to be, to exist, to know.
 
(หน้า ๖๔๑)
 
พจนานุกรม ฉบับแรกนั้นเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๓ ฉบับที่ ๒ เกิดในสมัยรัชกาลที่ ๔ ส่วนฉบับที่ ๓ เกิดในสมัยรัชกาลที่ ๕ หลังจากที่ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว ๒๘ ปี (เสด็จขึ้นครองราชสมบัติเมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๑๑ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอันใดที่คณะนักปราชญ์ผู้ปรับปรุงพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถานจะเลือกกำหนดให้เขียนคำนี้ว่า เป็น โดยมีไม้ไต่คู้กำกับไว้ด้วย

 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 26 พ.ค. 12, 21:55

ขอบพระคุณมากครับ  สงสัยมานานแล้วครับ

แล้ว ณ กับ ณ. ละครับ  เขียนอย่างไรผิด อย่างไรถูก
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 26 พ.ค. 12, 22:15

ณ  [นะ] บ. ใน, ที่, เป็นคําบ่งเวลาหรือสถานที่ว่า ตรงนั้นตรงนี้, ถ้าใช้นําหน้าสกุล หมายความว่า แห่ง เช่น ณ อยุธยา ณ ระนอง.

ณ ไม่ใช่คำย่อ  จึงไม่ต้องมีจุดตามหลังให้พะรุงพะรัง

ป.ล. (รอยอินท่านให้ใช้ ๒ จุด - ๒ มาตรฐานหรือเปล่านี่) ขออนุญาตแก้คำผิด เกร็ดความรู้ ไม่ใช่ เกล็ดความรู้

 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
MrMiu
อสุรผัด
*
ตอบ: 29


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 28 พ.ค. 12, 00:45

ขอบคุณมากๆเลยค่ะ สำหรับความรู้  อายจัง

แต่พอลองไปหาศึกษาอ่านดูดีๆ ก็พบว่าแต่ก่อนเป็น ร.ร. แต่ถูกปรับให้มาเป็น รร. ซะนี่

อยากให้กลับไปใช้ ร.ร. เหมือนเดิมมากกว่าค่ะ ไม่สร้างความสับสนให้ด้วย  ร้องไห้
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.054 วินาที กับ 19 คำสั่ง