เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 3 4 [5] 6 7 8
  พิมพ์  
อ่าน: 49369 ว่าด้วยหนังสือพิมพ์ราชกุมาร
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 60  เมื่อ 31 พ.ค. 12, 08:45

รอชม หนังสือพิมพ์ราชกุมาร จนผ่านไป ๔ หน้าแล้ว คุณหลวง ก็ยังรำหน้าม่าน ไม่จบขบวน ขออาราธนา ขึ้นตัวหนังสือให้ชมเทอญ



คุณหนุ่มสยาม

        โปรดสั่งวงซ้อมฉุยฉายไว้คอยท่า

ฉุยฉายก็แล้ว เชิญแขกก็แล้ว .... กลัวแต่เกรงว่า จะปิดวิกหนี  ยิงฟันยิ้ม ยิงฟันยิ้ม ยิงฟันยิ้ม

ขึ้นเรือนมาเพลาเช้า  ตะวันฉายแสงแจ่มจ้า  บรรยากาศกำลังแจ่มใสอยู่แท้ๆ
ก็ต้องหยิบดาบมามารำกรายที่หน้าม่านแต่เช้า  ซึ่งดูจะไม่เข้ากับบรรยากาศยามเช้า
แต่ด้วยความจำเป็นบางประการ  ก็ต้องทำ

ท่านทั้งหลาย  ผู้มีความกระหายใคร่รู้ในสรรพวิชาการต่างๆ ย่อมแสวงหาความรู้อยู่เสมอ
แลการแสวงหาความรู้นี้  แต่ละคนก็มีวิธีการเรียนรู้แตกต่างกันไปตามพื้นฐานและอัธยาศัยของตน
ความรู้บางอย่างเป็นของใหม่  ไม่ใช่เรื่องที่คนทั่วไปเข้าใจรู้จักกันอย่างซึมทราบ
เมื่อผู้ใดผู้หนึ่งจะเริ่มศึกษาค้นคว้าหรือนำไปถ่ายทอดแก่ผู้อื่น  จำต้องพิจารณาพื้นฐานความรู้ของตน
หรือผู้ที่รับฟังด้วย   จริงอยู่ในห้องเรียนเดียวกัน  นักเรียนบางคนอาจจะมีพื้นความรู้ยิ่งกว่า
นักเรียนคนอื่นๆ ด้วยอาศัยเหตุว่าได้พบได้เห้นได้อ่านมามาก  อันทำให้ได้เปรียบนักเรียนในห้อง
แต่นั่นจะเป็นเหตุให้ผู้สอนจะทำการรวบรัดตัดความเข้าสู่เนื้อหาหลักที่ต้องการสื่อต้องการถ่ายทอด
โดยไม่ได้คำนึงถึงนักเรียนคนอื่นๆ ที่มีพื้นฐานประสบการณ์น้อยหาได้ไม่  หากทำเช่นนั้น
ผู้ที่รู้มากก็จะกระโดดก้าวพ้นกำแพงไป  ส่วนคนที่เหลือซึ่งยังมีความรู้ไม่กว้างพอ  ก็จะต้องมานั่งหาความรู้
เพิ่มเติม  เพื่อปะติดปะต่อเรื่องราวความรู้ที่อยู่ในระหว่าง  เพื่อจะเข้าใจสิ่งใหม่นั้น  แน่นอนว่าย่อมจะมีคำถามตามมาอีกมาก
คำถามเหล่านี้  หลายคำถามเป็นคำถามที่พึงไขความเสียก่อน  เพื่อให้ผู้รับฟังได้มีพื้นความรู้พอๆ กัน

หากจะยกตัวอย่างในกระทู้นี้  ก็พึงยกเรื่องตำแหน่งที่ตั้งโรงเ้รียนราชกุมาร  บางท่านก็ยังชี้ตำแหน่งคลาดเคลื่อน
ครูอาจารย์ในโรงเรียนแห่งนั้นมีใครบ้าง แต่ละคนมีประวัติอย่างไร  หลายคนก็ไม่ทราบ  หรือทราบแต่เพียงผิวเผิน
ยังไม่แน่ใจว่าถูกต้องหรือไม่  เมื่อเป็นเช่นนี้  ก็ควรจะทำความเข้าใจ ค้นหาข้่อมูลมาสอบสวนจนแน่ใจว่า
สิ่งที่ได้เล่ามานี้ถูกต้องเชื่อถือได้   

ฉะนั้น  ที่ผ่านมา ๔ หน้ากระทู้  บางท่านอาจจะไม่พอใจ  เห็นว่าผมใจเย็นมัวแต่รำฉุยฉายหน้าม่าน
หรือมัวแต่ขี่ม้ารำทวนเลียบค่ายข้าศึก  ไม่ยอมบุกประจันบานประมือกับปรปักษ์ให้เห็นฝีมือ
แท้จริงแล้ว  หาเป็นเช่นนั้นไม่   การที่ผมหน่วงให้เนิ่นช้ามาถึง ๔ หน้ากระทู้นี้  จะว่าเป็นการเรียกแขกเข้าเรียนก็ได้
แต่ก็พึงเข้าใจด้วยว่า  ใน ๔ หน้ากระทู้นี้  หาใช่ผมมารำอยู่คนเดียวไม่  มีหลายท่านมาช่วยกันรำเป็นสนุกสนาน
รื่นเริงด้วยความรู้อันเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ทั้งสิ้น  บางคนมีใจเอื้อเฟื้อหาข้อมูลตรงโน้นตรงนี้มาใส่มาเสริมเพิ่มให้ 
บางคนหาภาพมาประกอบเรื่องให้คนอ่านเข้าใจ  ในเมื่อยังมีหลายเรื่องที่ยังไม่แน่ใจ  ก็ต้องค้นคว้าตรวจสอบ
ให้แน่ใจและเข้าใจไปในแนวทางเดียวกันก่อน  จากนั้นจะเคลื่อนกระบวนต่อไปอย่างไร  ก็ย่อมจะสะดวกดาย

แน่นอนว่า  ท่านที่ใจร้อน  อาจจะทนรอมิไหว  ด้วยเวลานาทีของท่านมีค่า   หากมาเสียเวลากับละครเบิกโรงเช่นนี้
อาจจะทำให้พลาดโอกาสอันอื่นไปด้วย เหมือนเจรจาซื้อหนังสือเก่า  บางทีคนขายมีเวลาน้อย  อยากจะปล่อยของ
แต่คนซื้อเจรจาต่อรองราคาอยู่จนออกจะหน่าย  คนขายอาจจะตัดสินไม่ขายแล้วเอาไปเสนอขายคนอื่นรายถัดไปทันที


แต่การเรียนรู้จะเอาความเร่งรีบเป็นที่ตั้งไม่ได้   ผมอยากให้ผุ้สนใจทุกคนมีส่วนร่วมกับกระทู้นี้
จึงไม่รีบเล่าเรื่องหนังสือพิมพ์ราชกุมารทันที   เพราะถ้าเป็นเช่นนั้น  ผมสแกนหน้าเอกสาร ๑๐-๒๐ หน้า
มาลงทีเดียว  แล้วปิดกระทู้เป็นอันจบ  ใครไม่เข้าใจก็ปล่อยให้เป็นไปยถากรรม  ถ้าทำเช่นนั้นจะเกิดประโยชน์แก่คนส่วนน้อย
ดุลปลายนิ้วอันแห้งที่คนผู้หนึ่งได้วางลงบนจานเมล็ดงา  ย่อมได้เมล็ดงาติดไม่มาก 

ผมขออนุญาตรำดาบในยามเช้าแต่เพียงเท่านี้  เนื่องจากมีภารกิจต้องไปตรวจเอกสารราชการในต่างท้องที่

ส่วนพิณพาทย์ตะโพนของออกขุนที่รับเชิญมาตามคำของคุณวันดี  ถ้าช่วงนี้ยังว่างงาน ไม่มีใครจ้างไปไปที่ไหน
ก็ฝากบรรเลงหน้าม่านไปพลางๆ ก่อน  ส่วนใครจะทนรอไม่ได้   กรุณาไปเยี่ยมเยือนกระทู้อื่นก่อนก็ได้

อ้อ  ส่วนเรื่องปิดวิกหนีนั้น  ไม่คิดจะทำ  ด้วยเห็นแก่ประโยชน์ความรู้ที่เป็นที่ตั้ง  ไม่ใช่ชื่อเสียงของตัวผมเอง
ฉะนั้น  อย่าได้คิดเกรงกลัวไปเองให้ฟุ้งซ่านจนธาตุทั้งสี่ในร่างกายแปรปรวนไปเลยครับ
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 61  เมื่อ 31 พ.ค. 12, 09:22



        เมื่อมีดาบกับม่านก็คงเป็นขุนแผนแสนศักดิ์

         รำได้หมดจดสง่างาม   น่าส่งไปในงานหนังสือเก่ากลางเดือนหน้านัก
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 62  เมื่อ 31 พ.ค. 12, 09:52

มร.มอแรนต์ เมื่อมารับราชการเมืองสยาม ได้แต่งหนังสือแบบเรียนภาาษอังกฤษไว้ ๕ เล่ม คือ
แบบเรียนเล่ม ๑ สอนอ่าน    แบบเรียนเล่ม ๒ สอนเขียน  แบบเรียนเล่ม ๓ สอนแปลอังกฤษเป็นไทย
แบบเรียนเล่ม ๔ สอนแปลไทยเป็นอังกฤษ   และแบบเรียนเล่ม ๕ สอนการเขียนจดหมายและไวยากรณ์
แบบเรียนทั้ง ๕ เล่มนี้ เป็นแบบเรียนที่ มร.มอแรนต์ แต่งขึ้นเพื่อใช้สอนนักเรียนไทยโดยเฉพาะเชียวนะ.

แบบเรียนภาษาอังกฤษ บันไดเล่ม ๑  เสอรฺ โรเบิต มอแรนดฺ เรียบเรียง


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 63  เมื่อ 31 พ.ค. 12, 10:01

(ต่อ)


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 64  เมื่อ 31 พ.ค. 12, 10:07

ตัวอย่างหนังสือจาก เว็บหนังสือหายาก

 ยิงฟันยิ้ม


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 65  เมื่อ 31 พ.ค. 12, 10:27

หลังจากที่ เสอรฺ โรเบิต มอแรนดฺ เดินทางกลับประเทศอังกฤษแล้ว ท่านก็ยังเป็นธุระดูแลนักเรียนทุนหลวงของกระทรวงธรรมการอยู่  

คราเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) นักเรียนทุนหลวงกระทรวงธรรมการไปศึกษาวิชาครูต่อที่ประเทศอังกฤษ ณ วิทยาลัยฝึกหัดครูเบอโรโรด (Borough Road College) ณ เมืองไอส์ลเวิซท์ (Isleworth) ทางใต้ของกรุงลอนดอน เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๙ ก็อยู่ภายใต้การดูแลของท่านเสอรฺ โรเบิต มอแรนดฺ

ข้อมูลจาก คุณวิกกี้

 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 66  เมื่อ 31 พ.ค. 12, 16:28

ท่านทั้งหลาย  วันนี้ผมได้ไปตรวจเอกสารราชการมา  
ได้ข้อมูลน่าสนใจเกี่ยวกับโรงเรียนราชกุมารและโรงเรียนราชกุมารี
แต่ครั้นจะเอามาลงเผยแพร่ในกระทู้นี้  ก็เห็นว่ายังไม่ถึงเวลา
ควรจะชะลอไว้จนกว่าจะเลยกลางเดือน ๗ ไปแล้ว

อนึ่ง  มีข้อมูลเรื่องนายมอแรนต์น่าสนใจอยู่พอสมควร  
ตอนท้ายของการสอน  นายมอแรนต์แผลงฤทธิ์จนฝ่ายสยามเห็นจะจ้าง
ให้เป็นพระอาจารย์สอนพระราชกุมารต่อไปมิได้  เหตุผลมาจากตัวนายมอแรนต์
ทำให้ทรงเบื่อหน่ายนั่นเอง

ครูโรล์ฟ มีปัญหาสุขภาพ  หมอไนติงเกลแนะนำให้ไปรักษาตัวที่ยุโรป
ไม่เช่นนั้นคงได้ฝังที่เมืองไทย   ยังมีครูอีกหลายคน  ทุกคนมีเรื่องให้ทรงหนักพระทัย
เช่น  ขอขึ้นเงินเดือน   ขอโน่นขอนี่  

อ้อ  ที่น่าสนใจอีกประการคือ  การบ้านแบบฝึกหัดของบรรดาพระราชโอรสพระราชธิดาในรัชกาลที่ ๕
เป็นลายพระหัตถ์แท้จริง (ที่ไม่ใช่มหาดเล็กคัดเขียนถวาย)

นอกจากนี้ยังตารางเรียนวิชาการของโรงเรียนราชกุมารที่ใครบางคนอย่างเห็นนักหนา
ก้มีให้ดู  

อีกหน่อย  แถมท้าย  ผมอยากจะให้ท่านช่วยกันทายว่า  โรงเรียนราชกุมารีนั้นตั้งอยู่ที่ไหน
ในพระบรมมหาราชวัง ฮืม ยิงฟันยิ้ม

บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 67  เมื่อ 31 พ.ค. 12, 16:31

^
^
พระที่นั่งอัมรินทรวินิจฉัย

 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 68  เมื่อ 31 พ.ค. 12, 16:32

อ้อ  ลืมไป  ขอบคุณคุณเพ็ญฯ ที่มีแก่ใจหาแบบเรียนที่นายมอแรนต์แต่มาประกอบกระทู้
มีแค่เล่มเดียวหรือครับ  ถ้าครบชุดก้จะดีไม่น้อย   แถวทุ่งพระเมรุจะขายไหมหนอ
จะไปซื้อสัก ๒-๓ ชุด  อิอิ  (ไม่เอาดีกว่า  เดี๋ยวหอบกลับบ้านไม่ไหว) ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 69  เมื่อ 31 พ.ค. 12, 16:33

พระที่นั่งอัมรินทรวินิจฉัย

ทำไมถึงเป็นที่นั่น  ขอเหตุผลครับ
บันทึกการเข้า
piyasann
พาลี
****
ตอบ: 379


ความคิดเห็นที่ 70  เมื่อ 01 มิ.ย. 12, 09:34

ท่านทั้งหลาย  วันนี้ผมได้ไปตรวจเอกสารราชการมา  
ได้ข้อมูลน่าสนใจเกี่ยวกับโรงเรียนราชกุมารและโรงเรียนราชกุมารี
แต่ครั้นจะเอามาลงเผยแพร่ในกระทู้นี้  ก็เห็นว่ายังไม่ถึงเวลา
ควรจะชะลอไว้จนกว่าจะเลยกลางเดือน ๗ ไปแล้ว


คุณหลวง กล่าวเสียจนอยากรู้ต่อ เรื่องโรงเรียนราชกุมารนี้ อยากทราบมานานแล้ว แต่ไม่ได้ใส่ใจค้นหาเรื่องราวเสียที  วันนี้ โชคดี ที่คุณหลวงเปิดประเด็น กระทั้งไปตรวจเอกสารราชการมาเผยแพร่ ยินดียิ่งแล้วครับ 

บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 71  เมื่อ 01 มิ.ย. 12, 17:06

นอกจากวิชาสามัญดังที่คุณหลวงได้หยิบยกขึ้นกล่าวแล้ว  ไม่ทราบว่าในโรงเรียนราชกุมารมีการสอนวิชาเพลงอาวุธด้วยหรือไม่ครับ?  เคยได้ฟังจอมพลประภาส  จารุเสถียร ท่านเล่าให้ฟังว่า เมื่อครั้งท่านเป็นนักเรียนนายร้อยนั้น  ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ เสด็จไปงานโรงเรียนนายร้อย ในวันนั้นทรงรำทวนซึ่งเป็นยุทธกีฦาอย่างหนึ่งให้ครูและนักเรียนนายร้อยได้ชม  ท่่านว่าตลอดชีวิตของท่านไม่เคยเห็นผู้ใดรำทวนได้งดงามเสมอเหมือนล้นเกล้าฯ อีกเลย
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 72  เมื่อ 03 มิ.ย. 12, 10:41

อันที่จริงก็อยากรู้ต่อไปว่า  แล้วมร.มอแรนต์ได้อะไรเป็นสิ่งตอบแทนพระราชทาน
ในการเป็นพระอาจารย์ตลอดเวลาที่รับราชการเมืองไทย นอกจากเงินเดือนและบ้านพักพระราชทาน ฮืม ฮืม

เก็บตกเรื่องมร.มอแรนต์ จาก

รายละเอียดการเปิดโรงเรียนราชกุมาร ขอเชิญอ่านได้จาก ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๙ หน้า ๓๘๑ - ๓๘๓


บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 73  เมื่อ 04 มิ.ย. 12, 09:45

อันว่าวิชาความรู้ที่สอนกันในโรงเรียนราชกุมารเขาแบ่งเป็นคาบวิชาอย่างไร
ผมได้คัดลอกมาแต่เอกสารราชการกระทรวงธรรมการ  เชิญทัศนาให้จุใจ

ชั้นที่ ๒

เวลาทรงเรียนภาษาไทย

ตอนบ่ายเวลาเดียว

วันจันทร์     อ่านพระราชพงศาวดารย่อ         เรียงจดหมายสั้นๆ

วังอังคาร     อ่านหิโตปเทศ                     เรียงนิทานง่ายๆ

วันพุธ        อยุด                                อยุด

วันพฤหัสบดี   อ่านสยามไวยากรณ์              เรียงคำเลกเชอร์

วันศุกร์       อ่านภูมิสาตร                      เรียงคำถาม

วันเสาร์       อยุด                              อยุด
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 74  เมื่อ 04 มิ.ย. 12, 09:49

ชั้นที่ ๕

เวลาทรงเรียนภาษาไทย

ตอนเช้าเวลาเดียว

วันจันทร์   อ่านเรียนเร็ว เล่ม ๓     เขียนปกีรณำพจนาตถ์

วันอังคาร   อ่านวิชาน่ารู้            เรียงจดหมายเรื่องสั้นๆ

วันพุธ      อ่านอักขรวิธี            สอบคำใช้

วันพฤหัสบดี  อ่านคำแปล           เขียนหิโตปเทศ

วันศุกร์      อ่านพระราชพงศาวดารย่อ    เรียงนิทานง่ายๆ

วันเสาร์     อ่านภูมิสาตร            เขียนพระราชพงศาวดารย่อ

บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 3 4 [5] 6 7 8
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.084 วินาที กับ 20 คำสั่ง