เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 [3] 4 5 ... 8
  พิมพ์  
อ่าน: 49358 ว่าด้วยหนังสือพิมพ์ราชกุมาร
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 30  เมื่อ 28 พ.ค. 12, 23:51

พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย  อาจารยางกูร) ท่านมีพื้นเพเป็นชาวแปดริ้ว 
ท่านเป็นมหาเปรียญ ๗ ประโยคมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๓  ได้เป็นพระราชาคณะที่พระประสิทธิสุตคุณ
อยู่ที่วัดสระเกศ  ในสมัยรัชกาลที่ ๔  แล้วลาสิกขามารับราชการในสมัยรัชกาลที่ ๔
ความรู้ภาษาไทยภาษาบาลีของท่านเจ้าคุณนับว่าเป็นเลิศ   ตำราภาษาไทยของท่านหลายเล่ม
เป็นเครื่องยืนยันความรู้ความสามารถท่านได้อย่างดี   เสียดายที่อาจารย์สอนภาษาไทยสมัยนี้
ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากผลงานของท่าน   หนังสือตำราภาษาไทยของท่านยังหาซื้อได้อยู่ ไม่ขาดตลาด
มีทั้งถูกและแพง

พระยาอิศรพันธุ์โสภณ (ม.ร.ว.หนู  อิศรางกูร) นี่ก็เก่งภาษาไทยเหมือนกัน  แต่ผลงานท่านมีน้อย
เรื่องหนึ่งที่เกี่ยวกับท่านจำได้ติดใจ  คือ เรื่องที่รัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าให้ท่านตรวจแก้บทละครเรื่องมิกาโด
ที่ทรงแปลหรือพระเจ้าลูกยาเธอทรงแปลจำไม่ได้  ท่านแก้สำนวนแปลบทละครจนกลายเป็นสำนวนแปลบาลี
(เรียกว่า ติดสำนวนวัด)  รัชกาลที่ ๕ ทอดพระเนตรเห็นดังนี้  จึงทรงนำมาปรับเป็นพระราชนิพนธ์ ชื่อ
เทศนาเรื่องมิกาทุระ  สำนวนแปลเป็นอย่างพระแปลบาลีทีเดียว  หนังสือเรื่องนี้ หาอ่านยากอยู่สักหน่อย
เพราะพิมพ์ไม่กี่ครั้ง และพิมพ์เผยแพร่ไม่มาก

พระยาอิศรพันธุ์โสภณ (ม.ร.ว.หนู  อิศรางกูร) เป็นมหาเปรียญ ๗ ประโยค อยู่วัดบรมนิวาศ 
ลาสิกขาเป็นฆราวาสในสมัยรัชกาลที่ ๔  รับราชการในกรมสรรพากร สังกัดกรมท่า  แล้วย้ายมารับราชการ
ในกระทรวงวัง   ท่านได้เป็นพระยา  แต่ไม่ได้รับพระราชทานพานทองจนกระทั่งถึงแก่อนิจกรรม
แต่ได้รับพระราชทานโกศบรรจุศพมีเกียรติยศเสมอด้วยพระยาพานทอง
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 31  เมื่อ 29 พ.ค. 12, 06:47

มาเข้ากระทู้นี้แล้วได้ความรู้ใหม่หลายเรื่อง ต้องขอขอบคุณคุณหลวงเล็กครับ
และที่ดีใจอย่างแรงคือได้ทราบว่าอนุสาวรีย์ที่ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่ในตัวเมืองฉะเชิงเทรา ไม่ไกลจากวัดหลวงพ่อพระพุทธโสธรนัก ผมขับรถผ่านไปนับสิบๆครั้งแล้ว ไม่ทราบว่าเป็นของท่านผู้ใด คิดว่ารัชกาลที่๔แต่ใจไปตำหนิผู้สร้างว่าพระพักตร์ไม่เหมือน เครื่องประดับต่างๆก็ไม่มี ว่าจะจอดรถดูก็แดดร้อน จะมาทำการบ้านต่อก็ลืม บัดนี้เข้าเวปเจอโดยบังเอิญ

อนุสาวรีย์พระยาศรีสุนทรโวหาร(น้อย อาจารยางกูร)  ตั้งอยู่บริเวณสามแยกถนนศรีโสธรตัดใหม่ ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา สร้างขึ้นเพื่อยกย่องปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย ท่านเกิดเมื่อ พ.ศ. 2364 ในสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นปราชญ์ชาวฉะเชิงเทรา ที่มีชื่อเสียงในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาศรีสุนทรโวหาร โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้เป็นองคมนตรีที่ปรีกษาราชการและทำหน้าที่เป็นเลขานุการสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน เป็นผู้มีความรู้แตกฉานทั้งภาษาไทย ภาษาขอม บาลีสันสฤต และการแต่งคำประพันธ์ฉันทลักษณ์เป็นอย่างดี ผลงานสำคัญที่เป็นคุณเอนกอนันต์แก่ประเทศชาติ คือท่านได้แต่งแบบเรียนภาษาไทยไว้หลายเล่ม ได้แก่ มูลบทบรรพกิจ วาหนิติ์นิกร อักษรประโยค สังโยคพิธาน ไวพจน์พิจารณ์ พิศาลการันต์ อนันตวิภาค เขมรากษมาลา ปกีรณพจนาดถ์ พรรณพฤกษา สัตวาภิธาน และนิติสารสาธก สมเด็ยพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินประกอบพิธีเปิดอนุสาวรีย์ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2542

(จากเว็บไซต์จังหวัดฉะเชิงเทรา)

ผมขอน้อมจิตระลึกพระคุณท่านบรมครูภาษาไทย ณ โอกาสนี้ ด้วยบทนมัสการอาจริยคุณ ประพันธ์โดยตัวท่านเองที่เด็กไทยทุกคนต้องกล่าวพร้อมกันในวันครูทุกๆปี


    ปาเจราจริยาโหนฺติ    คุณุตฺตรานุสาสกา
ปญฺญาวุฑฺฒิกเร เต เต   ทินฺโนวาเท นมามิหํ


  อนึ่งข้าคำนับน้อม      ต่อพระครูผู้การุณย์
โอบเอื้อและเจือจุน     อนุศาสน์ทุกสิ่งสรรพ์
  ยัง บ ทราบก็ได้ทราบ   ทั้งบุญบาปทุกสิ่งอัน
ชี้แจงและแบ่งปัน       ขยายอรรถให้ชัดเจน
  จิตมากด้วยเมตตา    และกรุณา บ เอียงเอน
เหมือนท่านมาแกล้งเกณฑ์   ให้ฉลาดและแหลมคม
  ขจัดเขลาบรรเทาโม   หะจิตมืดที่งุนงม
กังขา ณ อารมณ์      ก็สว่างกระจ่างใจ
  คุณส่วนนี้ควรนับ     ถือว่าเลิศ ณ แดนไตร
ควรนึกและตรึกใน     จิตน้อมนิยมชม
 


บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 32  เมื่อ 29 พ.ค. 12, 10:28

ขยับจะเข้าหลายทีแล้วครับ คุณเพ็ญชมพูเฉือนไปก่อนแทบชนกลางอากาศทุกครั้ง

มาเข้ากระทู้นี้แล้วได้ความรู้ใหม่หลายเรื่อง ต้องขอขอบคุณคุณหลวงเล็กครับ

หามิได้ครับคุณนวรัตน  กระทู้เกิดขึ้นมาไม่ใช่เพราะตัวผมเป็นต้นเหตุ  แต่เพราะมีสหายท่านหนึ่ง
ได้ไต่ถามหลังไมค์เกี่ยวกับเรื่องหนังพิมพ์ราชกุมารมา  ทำให้ผมได้ค้นข้อมูล  ค้นไปค้นมา
แล้วก็เกิดอยากรู้เรื่องโรงเรียนราชกุมารและเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีกมากมาย  และยังได้รู้ว่า
ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ยังไม่มีใครรวบรวมเอาเขียนให้เป็นเรื่องราว  ต้องอาศัยปะติดปะต่อเรื่องจากเอกสารต่างๆ
และความช่วยเหลือจากคนอ่าน   ฉะนั้น  ถ้าความดีจากกระทู้นี้จะบังเกิดมี  ย่อมไม่ใช่เฉพาะตัวผมคนเดียว
แต่ยังมีคุณเพ็ญฯ คุณนวรัตน  คุณหนุ่มสยาม ฯลฯ ที่ได้มาช่วยกันเพิ่มเติมข้อมูลให้ละเอียดกว้างขวาง
ส่วนเรื่องชนกันกลางอากาศนั้น  ก็เป็นธรรมดาครับ  บางทีช้าเร็วเพียงเสี้ยวนาทีก็มีผลเหมือนกัน
แต่ทั้งนี้ ใครค้นหาได้เร็วตอบได้ไว ก็ไม่ได้หมายว่า  จะถูกต้องเสมอไป  เพราะข้อมูลในโลกออนไลน์
มีทั้งที่ถูกและผิด  ต้องตรวจสอบให้ดีครับ
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 33  เมื่อ 29 พ.ค. 12, 10:41

อยากจะทราบวิชาการที่เรียนในโรงเรียนราชกุมาร ว่าในคาบ ในวันหนึ่งบรรจุวิชาอะไรลงไป

ทั้งนี้ในระยะเวลาดังกล่าว การศึกษาของไทยเริ่มเบ่งบานมาได้สักพักหนึ่งแล้ว มีโรงเรียนเอกชนก็มีแล้ว โรงเรียนแห่งแรกที่วัดมหรรณฯ ก็เกิดแล้ว จึงอยากถามคุณหลวงดูว่า วิชาการในแต่ละคาบ เรียนอะไรบ้าง  ฮืม
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 34  เมื่อ 29 พ.ค. 12, 12:55

^ ออกขุนตั้งคำถามได้ดีมาก  แต่หาคำตอบได้ยาก    ผมยังค้นไม่เจอคำตอบที่กระจ่างแจ้ง
มีแต่ข้อมูลที่กล่าวถึงเรื่องนี้อย่างรวมๆ ไม่ได้มีการระบุการแบ่งคาบ รายวิชาที่สอน  และโปรแกรมรายวิชา
ที่สอนใน ๑ สัปดาห์    ครั้นจะอนุมาน (เดา หรือสันนิษฐานเทียบเคียง)  ก็เกรงว่าจะผิดพลาดได้
เพราะการเรียนการสอนเจ้านายย่อมไม่กำหนดตายตัว  อย่างโรงเรียนทั่วไป    อาจจะเรียนเฉพาะครึ่งวันเช้า
แล้วบ่ายก็ว่าง  ไม่มีการเรียนการสอน  หรือถ้าหากิจกรรมอื่นๆ ให้นักเรียนทำเพื่อเพิ่มทักษะ  ก็เป็นได้

อย่างไรก็ดี คาดว่า  ตารางเรียนของโรงเรียนราชกุมารอาจจะคล้ายกันกับตารางเรียนของโรงเรียนมหาดเล็ก
ซึ่งอยู่ใกล้กัน   แต่ที่ทราบแน่ๆ ว่าสอนวิชาอะไรบ้าง  ก็มี วิชาหนังสือไทย และหนังสืออังกฤษ เป็นหลัก
หนังสือไทยนี้  คงใช้ตำราแบบเรียนของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย  อาจารยางกูร)  แล้วใช้หนังสือ
พงศาวดารไทย พงศาวดารจีนบ้าง  วรรณคดีไทยเป็นแบบฝึกอ่าน  

ทั้งนี้ในปีก่อนที่จะเริ่มเปิดกิจการของโรงเรียนราชกุมาร  ก็ได้มีการแต่งตำราเรียนขึ้นมาหลายเล่ม
แต่ก็ยังหนักไปทางตำราเรียนหนังสือไทยและแบบหัดอ่าน   ที่เป็นตำราวิชาอื่นมีน้อย
แต่หลังปี ร,ศ, ๑๑๙ เป็นไป  ตำราเรียนเริ่มมีมากขึ้นและมีเนื้อหาวิชาที่หลากหลาย

ถ้าออกขุนจะช่วยหาข้อมูลว่า โรงเรียนราชกุมาร  สอนวิชาอะไรบ้าง จัดแบ่งคาบเรียนแต่ละวันในแต่ละสัปดาห์อย่างไร
ก็ดีไม่น้อย  

ทั้งนี้  ต้องขอบบอกว่า  วิชาการที่สอนของแต่ละโรงเรียนในสมัยรัชกาลที่ ๕ โดยมากเน้นไปที่ วิชาหนังสือไทย
และวิชาเลข   ส่วนวิชาภาษาอังกฤษนั้น  ยังต้องอาศัยครูฝรั่งเป็นผู้สอน ซึ่งก็มีน้อยนัก   โรงเรียนตามวัด
ก็เป็นแต่พระสงฆ์ หรือมหาเปรียญ หรือทิดลาสิกขามาทำหน้าที่เป็นครูสอนหนังสือ  ซึ่งก็รู้แต่ภาษาไทยเป็นพื้น
อีกอย่าง  แต่ละโรงเรียนก็กำหนดการเรียนการสอนไม่เหมือนกันนัก  ขึ้นอยู่กับโรงเรียนแลครูผู้สอนจะจัดการ
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 35  เมื่อ 29 พ.ค. 12, 13:05

ขอแก้ไขข้อมูลเล็กน้อย

พอมาถึงปีรัตนโกสินทรศก ๑๑๒ ข้อมูลที่ได้ระบุว่า

ข้าราชการในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช

พระยาเทเวศร์วงษวิวัฒน์ (ม.ร.ว.หลาน)
พระอาจาริย์มอแรนต์
เจ้าหมื่นไวยวรนารถ
นายจ่ายง
นายจ่าเรศ บาญชีเงิน (คนนี้ต่อมา คือ พระยาสุรนันทน์นิวัทธกุล (กริ่ม  สุรนันทน์))

ข้าราชการโรงเรียนราชกุมาร สังกัดกระทรวงวัง

หลวงราชบุตรบำรุง  หัวหน้ามหาดเล็ก  (ชื่อ เนตร  ยังไม่ทราบนามสกุล)
มิสเตอร์ เชยมส์  อาจาริย์
มิสเตอร์ เลวิส  อาจาริย์
มิสเตอร์ โรล์ฟ  อาจาริย์
ขุนบำนาญวรวัจน์  อาจาริย์
ขุนบัญญัติวรวาท  อาจาริย์
นายนกยูง  อาจาริย์  (ใช่นายนกยูง ที่แปล "ความพยาบาท" หรือเปล่า?)

บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 36  เมื่อ 29 พ.ค. 12, 13:18

กิจกรรมของโรงเรียนราชกุมาร

ร.ศ. ๑๑๑ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงจัดแสดงนิทราชาคริต เป็นภาพนิ่งชุดเด็กขึ้นอีกของโรงเรียนราชกุมาร

๑. หม่อมเจ้าจุลดิศ ดิศกุล

๒. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต

๓. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม

๔. พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าไตรทศประพันธ์ กรมหมื่นเทววงศ์วโรทัย

๕. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์

๖. หม่อมเจ้าสุธาสิโนทัย เทวกุล

๗. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสมมติวงศ์วโรทัย กรมขุนศรีธรรมราชธำรงฤทธิ์

๙. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

๑๐. หม่อมเจ้าถาวรมงคลวงศ์ ไชยันต์

๑๑. พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้านิพันธ์ภาณุพงศ์ กรมหมื่นภาณุพงศ์พิริยเดช

๑๒. พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดนัยวรนุช

๑๓. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร

๑๔. สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ

๑๕. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน




๘. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศร์ ?

 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 37  เมื่อ 29 พ.ค. 12, 13:33

ผมจะขอข้ามรายละเอียดเรื่องโรงเรียนราชกุมารไว้ก่อน  แต่ถ้าใครมีรายละเอียดจะเพิ่มเติมก็เชิญลงได้

ผมจะขอเล่าประวัติมหาเสวกตรี พระยาสุรนันทน์นิวัทธกุล (กริ่ม  สุรนันทน์) แต่พอสังเขป
แล้วจะได้เข้าเรื่องหนังสือพิมพ์ราชกุมารต่อไป


พระยาสุรนันทน์นิวัทธกุล (กริ่ม  สุรนันทน์)  

-เป็นบุตรพระยาอภัยพิพิธ (เสพ  สุรนันทน์) กับคุณหญิงเปลี่ยน

-เกิดปีระกา เดือน ๔ วันศุกร์ ขึ้น ๑๔ ค่ำ  (๒๔ เมษายน ๒๔๐๓)

-เริ่มเรียนหนังสือที่โรงเรียนโรงละครหลังวัดพระแก้วในพระบรมมหาราชวัง
สอบไล่ได้ชั้นพิศาลการันต์ อันเป็นหลักสูตรสูงสุดในขณะนั้น เมื่อปี ๒๔๑๙

-อายุได้ ๑๖ ปี บิดาพาเข้าเฝ้าฯ ถวายตัวรับราชการในตำแหน่งมหาดเล็กวิเศษ หน้ายามไชยขรรค์ เวรศักดิ์
ได้เบี้ยหวัดปีละ ๘ บาท

-๒๔๒๑  เป็นมหาดเล้กรับใช้ในพระที่นั่งบรมราชสถิตย์มโหฬาร  เบี้ยหวัด ๑๖ บาท

-๒๔๒๗ ได้เบี้ยหวัดเพิ่มเป้น ๔๐ บาท

-๒๔๒๙ เป็นนายรองพิจิตรสรรพการ  เบี้ยหวัด ๖๐ บาท เงินเดือน ๕ บาท

-๒๔๓๐ เป็นผู้ดูแลเก็บรักษาเครื่องทรงพระอักษรของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ  เบี้ยหวัด ๘๐ บาท

-๒๔๓๑ เงินเดือนขึ้นเป็น ๑๐ บาท

-๒๔๓๓ เป็นนายสนิท หุ้มแพรนายยามเวรศักดิ์  เบี้ยหวัด ๑๒๐ บาท

-๒๔๓๔ เบี้ยหวัดเพิ่มเป็น ๑๖๐ บาท เงินเดือน ๓๐ บาท

-๒๔๓๖ เป็นนายจ่าเรศ  ปลัดเวรฤทธิ์ และรับราชการในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ
สยามมกุฎราชกุมาร  เงินเดือน ๖๐ บาท

-๒๔๔๑  เป็นเลขานุการในกองบัญชาการ กรมมหาดเล็ก  เงินเดือน ๑๒๐ บาท

-๒๔๔๒  เป็นหลวงเดช นายเวรเวรเดช  เงินเดือน ๑๖๐ บาท

-๒๔๔๗  เป็นผู้ดูแลโรงเรียนราชกุมาร  เงินเดือน ๒๐๐ บาท

-๒๔๔๙ เป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงเรียนมหาดเล้ก  เงินเดือน ๓๐๐ บาท

-๒๔๕๒ โปรดเกล้าฯ ให้มารับราชการในสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้ากรมหลวงนครราชสีมา  เงินเดือน ๓๔๐ บาท

-๒๔๕๓ เป็นพระยาบำรุงราชบริพาร  จางวางมหาดเล็ก เงินเดือน ๔๐๐ บาท

-๒๔๕๕  รับราชการในกองทะเบียน กรมมหาดเล็ก  เงินเดือน ๖๐๐ บาท

-๒๔๕๖  ได้ยศจางวางตรี  ในกรมมหาดเล็ก  เงินเดือน ๗๐๐ บาท

-๒๔๕๘  เป็นปลัดบาญชี  กรมมหาดเล็กรับใช้

-๒๔๖๓  โปรดเกล้าฯ ให้ออกจากราชการเพื่อรับพระราชทานบำนาญเนื่องจากสูงอายุและรับราชการมานาน
รับบำนาญปีละ ๔๒๐๐ บาท

-๒๔๗๐ เป็นพระยาสุรนันทน์นิวัทธกุล

-สมรสกับคุณหญิงแฝง  ธิดาพระยาอร่ามมณเฑียร (โหมด  หงสกุล) เมื่อ ๒๔๒๒

-มีบุตรธิดา  ๔  คน  ๑  บุตรไม่มีชื่อถึงแก่กรรมแต่เยาว์  ๒  คุณหญิงบุนนาค พิทักษ์เทพมณเฑียร
๓  พระพี่เลี้ยงหวน  อนุภาณสิศยานุสรรค์   ๔  พระภูมีสวามิภักดิ์ (เกริ่ม  สุรนันทน์)

-๒๔๖๕  ป่วยเป็นอัมพาต  เดินไม่ได้

-๑๑ เมษายน ๒๔๘๐  ถึงแก่อนิจกรรม  อายุ ๗๖ ปี ๑๑ เดือน ๑๗ วัน

บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 38  เมื่อ 29 พ.ค. 12, 23:02

นำหนังสือพิมพ์ของโรงเรียนราชกุมารมาให้ชม ราคาฉบับละ ๑ สลึง ใช้ชื่อว่า "กุมารวิทยา" ตรงกลางเป็นตราอาร์มห้าเหลี่ยม แหลมลงล่าง พื้นที่ภายในแบ่งเป็น ๓ ช่อง ช่องซ้ายเป็นรูปวงหน้าสวมมงกุฎ ช่องขวาเป็นตราพระเกี้ยวบนหมอน ด้านล่างเป็นหนังสือกางไว้  บนกรอบห้าเหลี่ยมเป็นตราพระราชจักรีวงศ์ คือ จักรและตรี

พิมพ์ที่โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ กุมารวิทยา บริษัท


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 39  เมื่อ 29 พ.ค. 12, 23:06

มิสเตอร์โรเบิตร์ มอรันต์ หรือที่เรียกว่า ครูโรฟ ได้รับเงินพระราชทานค่าจ้างสอนปีละ ๖๐๐ ปอนด์ พร้อมบ้านพักอาศัย (ตกเดือนละ ๕๐ ปอนด์) และชะตาชีวิตของครูโรฟ หันเหไปเมื่อเกิดวิกฤตการณ ร.ศ. ๑๑๒ ครูโรฟถูกเลิกจ้างและเดินทางกลับบ้านที่อังกฤษ ไปรับราชการที่ประเทศอังกฤษจนได้รับตำแหน่ง "เซอร์"
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 40  เมื่อ 30 พ.ค. 12, 10:31



        นิยมคุณหนุ่มสยามที่กรุณาโพสรูปหายากมาให้ดูกัน     

รู้จักแต่มิสเตอร์มอรันต์ค่ะ           แล้ว "โรฟ"  นี่จะไปหาอ่านได้จากไหนคะ   
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 41  เมื่อ 30 พ.ค. 12, 11:06

ภาพนี้เจอในเวป บรรยายว่าเป็นโรงเรียนราชกุมารสมัยรัชกาลที่๕

ท่านชมกันแล้ว คิดว่าใช่หรือไม่ใช่?


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 42  เมื่อ 30 พ.ค. 12, 12:09

คำบรรยายภาพมีเพียงว่า "โรงเรียนในสยาม"


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 43  เมื่อ 30 พ.ค. 12, 12:51

^

ขอบคุณครับ ชัดขึ้นเยอะเลย

ไม่ใช่โรงเรียนธรรมดาๆแน่ๆ
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 44  เมื่อ 30 พ.ค. 12, 13:00

ประวัติเซอร์โรเบิร์ต  มอแรนต์ (อย่างสังเขป) จากเอกสารทางไทย

เซอร์โรเบิร์ต  มอแรนต์  เป็นชาวอังกฤษ
เกิดเมื่อวันที่ ๗ เมษายน ๒๔๐๖  ณ ตำบลแฮมสเต็ค  กรุงลอนดอน
เป็นบุตรนายและนางโรเบิร์ต  มอแรนต์  
มร.มอแรนต์ ได้เดินทางเข้ามาปฏิบัติราชการในสยามนาน ๗ ปี
จากนั้นได้เดินทางกลับไปยังประเทศอังกฤษ รับราชการอยู่ ๒๕ ปี
ได้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงศึกษา และปลัดกระทรวงสาธารณสุข
ถึงแก่กรรมเมื่อปี ๒๔๖๒  สิริอายุได้  ๕๗  ปี


มร.มอแรนต์  เริ่มเรียนหนังสือที่โรงเรียนอนุบาลใกล้บ้าน
แล้วย้ายไปเรียนชั้นประถมที่โรงเรียนฮีทเมานต์ เมื่อปี ๒๔๑๔
จากนั้น  ได้ไปเป็นนักเรียนประจำที่โรงเรียนวินเชสเตอร์  เมื่อปี ๒๔๑๙
ในระหว่างที่เรียนหนังสืออยู่นั้น  มร.มอแรนต์มีนิสัยเด่นอย่างหนึ่ง คือ
ชอบเดินเล่นเป็นระยะทางไกลๆ  ชอบเล่นกีฬายิมนาสติก  ชกมวย  และสควอช
ต่อมา  ได้เข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด เมื่อปี ๒๔๒๔
มร.มอแรนต์ เป็นนักเรียนดีแต่มีฐานะยากจน  ทางมหาวิทยาลัยจึุงได้หาทุนมาช่วยเหลือ
จำนวน ๒ ทุน

ในระหว่างที่ปิดภาคเรียน  มร.มอแรนต์ ยังได้หารายได้โดยรับจ้างเป็นครูพิเศษ
เมื่อเรียนจบในระยะเวลา ๔ ปี ก็ได้ปริญญาอักษรศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยม
...

บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 [3] 4 5 ... 8
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.072 วินาที กับ 20 คำสั่ง